Friday, 4 July 2025
World

เม็กซิโกสั่งเบรกแผนสร้างโรงงาน BYD หวั่นเสียข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แต่บราซิลอ้าแขนรับ

(4 ก.ค. 68) รัฐบาลเม็กซิโกปฏิเสธแผนของ BYD บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนในการตั้งโรงงานในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะภายใต้แรงกดดันทางการเมืองจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

แม้ BYD จะยืนยันว่าโรงงานในเม็กซิโกจะผลิตเพื่อขายในละตินอเมริกา ไม่ใช่ตลาดสหรัฐฯ แต่รัฐบาลเม็กซิโกกลับไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งไม่ขายที่ดินของรัฐ ไม่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และออกท่าทีห่างเหินจากธุรกิจจีน เพื่อรักษาผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ และแคนาดา

ในขณะเดียวกัน BYD ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยเร่งสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในบราซิล ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานได้กว่า 20,000 ตำแหน่ง และเดินหน้าส่งมอบรถยนต์ไปยังเม็กซิโกอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่าในปีที่ผ่านมา

แม้จะถูกขวางในเม็กซิโก แต่ BYD ยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยพยายามเร่งสร้างฐานการผลิตนอกจีน ท่ามกลางแรงกดดันทั้งจากการเมืองระหว่างประเทศและการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

รัสเซียเผยได้อาวุธนาโตถล่มเคียฟ หลังอดีตทหารยูเครนแปรพักตร์มอบให้

(4 ก.ค. 68) ทหารรัสเซียเปิดเผยว่า กลุ่มทหารยูเครนที่ผ่านการฝึกจากประเทศสมาชิกนาโต และได้แปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายรัสเซีย ได้นำอาวุธจากนาโตที่ยึดมาได้ส่งมอบให้กองกำลังรัสเซียใช้ต่อสู้ในสมรภูมิ

โดยอาวุธที่ส่งมอบให้หน่วยอาสาสมัคร 'Martyn Pushkar' ได้แก่ ปืนไรเฟิล M4 และ UAR-15 ปืนกล FN MAG เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. พร้อมกระสุน โดยใช้ในการสู้รบในพื้นที่หมู่บ้านโคมาร์ แคว้นโดเนตสค์ ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นแนวหน้าในการยึดคืนดินแดน

อดีตทหารยูเครนในหน่วยมาร์ติน ปุชการ์ (Martyn Pushkar) ระบุว่า อาวุธนาโตเหล่านี้มีความคุ้นเคยเพราะเคยฝึกในโปแลนด์ จึงใช้งานได้ดีกว่าปืน AK ของรัสเซีย แม้ปืนรัสเซียจะทนทานกว่า แต่อาวุธนาโตสะดวกต่อการใช้งานตามประสบการณ์ฝึก

ทั้งนี้ Martyn Pushkar เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ตั้งขึ้นโดยอดีตทหารยูเครนจากแคว้นซาโปริชเชีย ซึ่งแปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายรัสเซีย โดยกลุ่มนี้จะร่วมต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย และได้อ้างว่าต้องการปลดปล่อยดินแดนจากรัฐบาลยูเครน พร้อมช่วยรัสเซียยึดพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศกลับคืนมา

‘ซานตง’ เรือบรรทุกเครื่องบินจีน เยือนฮ่องกง ประชาชนคึกคัก!! แห่ชมแน่นอ่าววิกตอเรีย

(4 ก.ค. 68) เรือบรรทุกเครื่องบิน 'ซานตง' ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนสร้างขึ้นเอง ได้เดินทางเข้าสู่น่านน้ำฮ่องกงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เคียงข้างด้วยเรือรบกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) อีก 3 ลำ รวมถึงเรือพิฆาตติดขีปนาวุธ

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังฮ่องกงฉลองครบรอบ 28 ปี การส่งมอบจากอังกฤษคืนสู่จีน และถือเป็นหนึ่งในการแสดงแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของจีนในฮ่องกงตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เรือลำแรกของจีน 'เหลียวหนิง' เคยมาเยือนในปี 2017

สำหรับข้อมูลของเรือซานตง มีความยาว 315 เมตร น้ำหนักกว่า 70,000 ตัน จอดเทียบท่าบริเวณตะวันตกของอ่าววิกตอเรีย พร้อมเครื่องบินขับไล่ J-15 และเฮลิคอปเตอร์ Z-18 อยู่บนดาดฟ้า ขณะที่เรือรบลำอื่น ๆ จอดที่ฐานทัพเรือบนเกาะสโตนคัตเตอร์

ฮ่องกงมีประวัติการต้อนรับเรือรบจากหลายประเทศมายาวนาน แม้หลังปี 1997 จีนยังอนุญาตให้เรือของกองทัพสหรัฐฯ มาเยือนได้เป็นระยะ แต่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้การเยือนเหล่านี้ค่อย ๆ ลดลงและถูกระงับในที่สุด

จอห์น ลี (John Lee) ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง กล่าวต้อนรับกองเรือจีน พร้อมเปิดให้ประชาชนจองตั๋วเข้าชม ซึ่งถูกจองหมดอย่างรวดเร็ว ประชาชนจำนวนมากมารอชมตามแนวชายฝั่ง บางรายเดินทางไกลจากต่างเมืองเพื่อเห็นเรือรบจีนกับตาตนเอง โดยระบุว่าการพัฒนาด้านกองทัพของจีนนั้น “น่าทึ่ง และไม่ใช่ทุกประเทศที่จะทำได้เช่นนี้”

‘รัสเซีย’ เซ็นรับรอง ‘ตาลีบัน’ อย่างเป็นทางการ ชาติแรกของโลกที่ยอมรับรัฐบาลอัฟกันฯ ยุคใหม่

(4 ก.ค. 68) รัฐบาลรัสเซียประกาศรับรอง 'รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน' ที่นำโดยกลุ่มตาลีบันอย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การยอมรับ หลังจากนายดมิทรี จิร์นอฟ (Dmitry Zhirnov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอัฟกานิสถาน เข้าพบนายอาเมียร์ ข่าน มุตตากี (Amir Khan Muttaqi) รัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน ณ กรุงคาบูล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ทางการอัฟกานิสถานระบุว่านี่คือ “ยุคใหม่ของความสัมพันธ์เชิงบวกและเคารพซึ่งกันและกัน” และเป็นตัวอย่างที่นานาประเทศควรศึกษา โดยรัสเซียแถลงว่าการรับรองครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสองประเทศ พร้อมยืนยันจะร่วมมือกับรัฐบาลคาบูลต่อไปในการต่อต้านการก่อการร้ายและยาเสพติด

รัสเซียเคยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ปิดสถานทูตในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2021 และยังเคยลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจฉบับแรกกับรัฐบาลตาลีบันในปี 2022 ซึ่งครอบคลุมการส่งออกน้ำมัน แก๊ส และข้าวสาลี อีกทั้งได้ถอดชื่อกลุ่มตาลีบันออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อปูทางสู่ความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบ

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลตาลีบันยังคงถูกประณามจากนานาชาติ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิสตรี เช่น ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย จำกัดการเดินทางโดยไม่มีผู้ชาย และบังคับแต่งกายตามกฎศาสนา จนถูกยูเอ็นระบุว่าเข้าข่าย “การแบ่งแยกทางเพศ”

ปัจจุบัน จีน ยูเออี อุซเบกิสถาน และปากีสถานได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงคาบูลแล้ว แต่ยังไม่มีประเทศใดนอกจากรัสเซียที่ประกาศรับรองรัฐบาลตาลีบันอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2021

‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ ถูกตะเพิดออกจากห้องทำงานทรัมป์ สื่อแฉ!! รัฐเกรงใส่ใจเรื่อง ‘เครื่องบินรบ F-47’ ที่กำลังประชุมลับ

(4 ก.ค. 68) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Meta ตกเป็นข่าวว่า ถูกขอให้ออกจากห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ระหว่างการประชุมลับเกี่ยวกับเครื่องบินรบล่องหน F-47 กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตามรายงานของ NBC ที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่บางรายกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับสื่ออีกสำนัก ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และถูกเข้าใจผิด โดยระบุว่า ซักเคอร์เบิร์กเข้ามาทักทายตามคำเชิญของทรัมป์ก่อนจะออกไปรอพบเป็นการส่วนตัวตามกำหนดนัดหมายเดิม

รายงานของ NBC ยังอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่หนุ่มอีกคนหนึ่งเข้ามาแสดงบางอย่างในแล็ปท็อปให้ทรัมป์ดู ก่อนจะออกไป และยังมีสายโทรศัพท์เข้าระหว่างการประชุมหลายครั้ง สร้างความไม่สบายใจให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมในห้อง ซึ่งควรเป็นการประชุมที่ปลอดภัยและเป็นความลับ

รายงานยังระบุเพิ่มว่า ทรัมป์มักชอบจัดการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ชอบเชิญแขกเข้ามาร่วมประชุมหรืออยู่นานกว่าที่กำหนด รวมถึงรับโทรศัพท์ระหว่างประชุม ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงต่อความลับของชาติในบางครั้ง

ด้านผลสำรวจล่าสุดจาก Tech Oversight Project ร่วมกับ Public Policy Polling ระบุว่า ผู้สนับสนุนทรัมป์ 63% ไม่ชอบซักเคอร์เบิร์ก และมองว่าเขาคือซีอีโอเทคโนโลยีที่น่ารังเกียจที่สุด ในกลุ่มบริษัทเทคฯ ชั้นนำของสหรัฐฯ เนื่องจากพฤติกรรมพยายามใกล้ชิดกับผู้นำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

บัณฑิตจีนวางแผนหลอกพ่อร่วมพิธีจบการศึกษา กลัวไม่ยอมมาเพราะจน!! สุดท้ายซ้อนแผนเซอร์ไพรส์พ่อ

(4 ก.ค. 68) หยาง กัวจง (Yang Guozhong) วัย 25 ปี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยกุ้ยโจวหมินจู่ (Guizhou Minzu University) พาคุณพ่อวัย 70 ปีจากหมู่บ้านห่างไกลกว่า 300 กิโลเมตร มาร่วมพิธีจบการศึกษาที่เมืองกุ้ยหยาง โดยอ้างกับพ่อว่าต้องมีลายเซ็นผู้ปกครองเพื่อใช้ในการรับปริญญาบัตร เพราะกลัวพ่อไม่ยอมเสียค่าเดินทางมาหา

ในวันพิธี บัณฑิตหยางให้พ่อสวมชุดครุยแทนตนเอง และมอบปริญญาบัตรให้พร้อมคำพูดสุดซึ้งว่า “พ่อครับ เกียรตินี้เป็นของพ่อ” สร้างความประทับใจให้ผู้ร่วมงานและชาวเน็ตจีนนับล้านคน

ก่อนหน้านั้น หยางใช้เวลาหลายเดือนในการส่งอาหารหาเงินเก็บ 5,000 หยวน (ราว 25,000 บาท) เพื่อพาพ่อเที่ยวเมืองใหญ่ พักโรงแรมครั้งแรก และตื่นตาตื่นใจกับตึกสูงในเมืองกุ้ยหยาง

แม้แผนพาพ่อไปเที่ยวปักกิ่งต้องพับไปเพราะงบไม่พอ แต่หยางกล่าวว่าเขารู้สึกซาบซึ้งที่พ่อแม่และพี่สาวห้าคนช่วยส่งเสียจนเรียนจบ และอยากให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของคนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว

ทั้งนี้ หยางเตรียมเดินทางไปทำงานที่มณฑลเจียงซีในเดือนกันยายนนี้ พร้อมบอกว่าคลิปของเขาเป็นไวรัลเพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจผู้สูงอายุและตอบแทนพ่อแม่ด้วยความกตัญญู

อ.อักษรศรี ชี้ สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีสุดโหดข่มขู่ - กดดันประเทศอื่น อาจทำให้โลกกลับสู่ 'กฎแห่งป่า' อีกครั้ง

(4 ก.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า สหรัฐฯ ใช้กฎแห่งป่า เจรจาการค้ากับไทย Law of the ungle 
“ใครอ่อนแอ ก็จะโดนฝ่ายที่แข็งแรงกว่าขย้ำ” จีนเคยเตือนแล้ว!!

พร้อมระบุ เพิ่มเติมว่า ทรัมป์ ใช้มาตรการภาษีสุดโหดไปข่มขู่และกดดันประเทศอื่น จะทำให้โลกกลับสู่ "กฎแห่งป่า" !!

กฎแห่งป่า คือ “ผู้ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะชนะ” ประเทศเล็กที่อ่อนแอจะเสียเปรียบและต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้ง ระเบียบโลกและกฎระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เคยได้ตกลงกันมาก็จะพังทลายในที่สุด

หวังอี้ ของจีน  เคยกล่าวว่า... “บนโลกนี้มีประเทศมากกว่า 190 ประเทศ ถ้าทุกประเทศเน้นย้ำเหมือนกันว่าประเทศของฉันต้องมาก่อนและหมกมุ่นอยู่กับแนวคิดนี้ กฎแห่งป่า หรือ The law of the jungle ก็จะกลับมาครองโลกอีกครั้ง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top