Friday, 4 July 2025
World

กลัวแล้ว! สหรัฐฯ วอนจีนช่วยคุยอิหร่าน หวั่นปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เขย่าน้ำมันโลกพุ่ง

(23 มิ.ย. 68) วอชิงตันส่งสัญญาณตรงถึงปักกิ่ง เมื่อมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนใช้อิทธิพลเกลี้ยกล่อมอิหร่านไม่ให้ปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” หลังสื่อ Press TV รายงานว่ารัฐสภาเตหะรานลงมติหนุนแผนดังกล่าว แม้คำตัดสินสุดท้ายยังอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน

รูบิโอเตือนว่าการปิดช่องแคบซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำมันราว 20 % ของโลกจะเขย่าตลาดพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งนำเข้าน้ำมันอิหร่านมากที่สุดในโลก “ถ้าเตหะรานทำจริงก็เท่ากับฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจ” เขากล่าว พร้อมกระตุ้นชาติอื่นให้จับตาเพราะจะเจอผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผลพวงมาจากสหรัฐฯ และอิสราเอลโจมตีเป้าหมายนิวเคลียร์หลักของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ พุ่งแตะ 78.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณ 2,865 บาท สูงสุดในรอบห้าเดือน ธนาคารเพื่อการลงทุน ‘โกลด์แมน แซคส์’ เตือนว่าหากการขนส่งในฮอร์มุซหยุดชะงัก ราคาน้ำมันอาจพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่าอิหร่าน “มีอะไรต้องเสียมากกว่าจะได้” เพราะการปิดช่องแคบอาจทำให้ชาติผู้ผลิตน้ำมันอ่าวเปอร์เซียกลายเป็นศัตรู และยังเสี่ยงทำให้จีน และลูกค้าหลักต้องออกมาคัดค้าน

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ตำหนิสหรัฐฯ ว่าเสียความน่าเชื่อถือจากการใช้กำลัง และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ยับยั้งการใช้กำลังที่รุนแรง และอย่าซ้ำเติมไฟสงคราม” บทบรรณาธิการ Global Times ยังระบุว่าการโจมตีของวอชิงตันทำให้สถานการณ์ตะวันออกกลาง “ส่อเค้าเลวร้ายจนควบคุมไม่ได้” 

อดีตทูตอิหร่านแฉ! สหรัฐฯ ลงมือเพราะอิสราเอลใกล้แพ้ เชื่อ ‘เนทันยาฮู’ บงการเบื้องหลัง ทำเนียบขาวแค่หุ่นเชิด

(23 มิ.ย. 68) เซย์เยด ฮุสเซน มูซาเวียน (Seyed Hossein Mousavian) อดีตเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RIA Novosti ว่าสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็เพราะอิสราเอลใกล้พ่ายแพ้ในการรบกับอิหร่าน โดยระบุว่า “หากอิสราเอลไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤต สหรัฐฯ ก็คงไม่แทรกแซง”

เซย์เยด มูซาเวียน ยอมรับว่าอิหร่านได้รับความเสียหายรุนแรงจากปฏิบัติการของสหรัฐฯ แต่เตือนว่า ผลสะท้อนจากการโจมตีกลับจะย้อนเล่นงานสหรัฐฯ เอง ทั้งด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้กำลังเสี่ยงลุกลาม

อดีตทูตอิหร่านตั้งข้อสังเกตว่า ทีมที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีทรัมป์อาจคาดการณ์ผลลัพธ์ของการโจมตีอิหร่านผิด หรือไม่ก็ไม่มีใครกล้าคัดค้านคำสั่งของทรัมป์เลย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ มากกว่าที่หลายฝ่ายคิด

โดยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เปิดฉากโจมตี 3 จุดสำคัญของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ได้แก่ นาทานซ์ ฟอร์โดว์ และอิสฟาฮาน โดยทรัมป์ยืนยันว่า เป้าหมายเพื่อ “ทำลายนิวเคลียร์ของอิหร่าน” พร้อมขู่จะใช้มาตรการที่รุนแรงยิ่งกว่านี้ หากเตหะรานไม่ยอมถอย

อย่างไรก็ดี อิหร่านปฏิเสธว่าตนไม่มีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ โดยผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA ระบุเมื่อ 18 มิ.ย. ว่ายังไม่พบหลักฐานชัดเจนใด ๆ ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และรายงาน CNN ก็สอดคล้องกันว่าอิหร่านไม่มีแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ด้านอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอุซเบกิสถานกล่าวเสริมว่า อิหร่านได้แสดงความอดทนและสันติอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ถูกยั่วยุโดยอิสราเอลก็ตาม

อดีตผู้นำอิสราเอลเตือน! สหรัฐฯ คิดผิดถ้าหวังให้อิหร่านยอมแพ้

(23 มิ.ย. 68) เอฮุด โอลเมิร์ต อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera ชี้ว่าการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ อาจแค่ชะลอ ภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์อิหร่านช่วงสั้น ๆ แต่ผลข้างเคียงทางภูมิรัฐศาสตร์จะลุกลามไกลกว่าที่วอชิงตันคาดคิด

โอลเมิร์ต วิจารณ์ว่า การโจมตีเชิงป้องกันที่จะทำให้อิหร่านยอมจำนน เป็นความคิดที่หยิ่งทะนงและไม่สอดคล้องความจริง เพราะอิหร่านมีประชากรราว 90 ล้านคน มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี (ชาวเปอร์เซีย) ยากจะกดราบด้วยกำลังทหารเพียงครั้งเดียว

เขาย้ำว่ามาตรการทางการทหารแบบนี้ อาจสร้างวงจรความขัดแย้งใหม่ในตะวันออกกลาง เสี่ยงดึงชาติมหาอำนาจและพันธมิตรต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวพัน ทำให้เสถียรภาพของภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญความไม่แน่นอนยิ่งกว่าเดิม

‘ทรัมป์’ เผยข่าวดี ‘อิสราเอล-อิหร่าน’ ตกลงหยุดยิงชั่วคราว หากเป็นไปตามแผน สงครามเตรียมยุติภายใน 24 ชม.

(24 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่า อิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิงเพื่อยุติสงครามที่ดำเนินมานาน 12 วัน โดยแผนหยุดยิงนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคืออิหร่านจะหยุดยิงก่อนเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนตามเวลา EDT (เวลาท้องถิ่นฝั่งสหรัฐฯ) จากนั้นเมื่อครบ 12 ชั่วโมง อิสราเอลจะหยุดยิงตามอีก 12 ชั่วโมง หากทั้งสองฝ่ายทำตามแผนได้ครบ สงครามครั้งนี้ก็จะถือว่าสิ้นสุดลงภายใน 24 ชั่วโมง

ด้าน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน อับบาส อารักจี (Abbas Araghchi) ระบุผ่านโซเชียลมีเดียว่า ถ้าอิสราเอลหยุดโจมตีภายในเวลา 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอิหร่าน อิหร่านก็จะไม่ยิงตอบโต้เพิ่มเติม และจะพิจารณาว่าจะหยุดปฏิบัติการทางทหารอย่างถาวรหรือไม่ในภายหลัง

ข้อตกลงหยุดยิงนี้เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความขัดแย้ง โดยสงครามเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน จากการที่อิสราเอลกล่าวหาอิหร่านว่ากำลังเข้าใกล้การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และเปิดฉากโจมตีเชิงป้องกันล่วงหน้า ซึ่งอิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอัลอูเดดในกาตาร์ ฐานทัพสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แม้การโจมตีจะถูกสกัดได้ด้วยความช่วยเหลือจากกาตาร์ แต่นำมาซึ่งความกังวลว่าจะเกิดการขยายวงของสงคราม ทรัมป์เรียกการตอบโต้ของอิหร่านว่า “อ่อนแอ” พร้อมแสดงท่าทีต้องการลดความรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์

‘คาเมเนอี’ โพสต์ชัด ‘อิหร่านไม่ยอมจำนน’ หลังยิงขีปนาวุธตอบโต้สหรัฐฯ ในกาตาร์

(24 มิ.ย. 68) อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แสดงท่าทีแข็งกร้าวหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอัลอูเดดของสหรัฐฯ ในกาตาร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่ง 

คาเมเนอีโพสต์ข้อความบน X (เดิมคือ Twitter) ว่า “ประชาชนอิหร่านไม่ใช่ชาติที่ยอมจำนน” และยังระบุอย่างชัดเจนว่า “เรามิได้เริ่มโจมตีใคร และเราไม่มีวันยอมรับการถูกโจมตีจากใครเช่นกัน รวมถึงจะไม่ยอมจำนนต่อการรุกรานใด ๆ ทั้งสิ้น นี่คือหลักการของชาติอิหร่าน” 

แหล่งข่าวเผยว่า คาเมเนอี วัย 86 ปี รับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะถูกลอบสังหารจากอิสราเอลหรือสหรัฐฯ จึงได้หลบภัยอยู่ในบังเกอร์ พร้อมพูดคุยกับผู้บัญชาการผ่านคนใกล้ชิด และระงับการติดต่อสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยเตรียมกระบวนการเลือกผู้นำสูงสุดคนใหม่ไว้แล้ว โดยเสนอชื่อผู้สมัคร 3 รายให้สภาผู้เชี่ยวชาญคัดเลือก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าอิหร่านและอิสราเอลตกลงหยุดยิงภายใน 6 ชั่วโมง และจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อ 12 วันอย่างเป็นทางการภายใน 24 ชั่วโมง หากทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด 

แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่หลายประเทศทั่วโลกยังจับตามองอิหร่านอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดในอนาคต และโครงการนิวเคลียร์ที่ยังเป็นประเด็นร้อน องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ออกมาเตือนว่า อิหร่านกำลังเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินระดับที่ใช้ในทางสันติอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้นำอิหร่าน คาเมเนอี ก็ยืนยันชัดว่า เขาจะไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ เพราะเชื่อว่าจะไม่ช่วยให้การคว่ำบาตรถูกยกเลิก

ปากีสถานเสนอ ‘ทรัมป์’ ชิงโนเบลฯ หลังช่วยหยุดยิงอินเดีย-ปากีสถาน

(24 มิ.ย. 68) รัฐบาลปากีสถานประกาศแผนเสนอชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยชี้ว่าเขามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านการเจรจาทางการทูตที่เร่งด่วนและการใช้การค้าเป็นแรงผลักดัน

แม้อินเดียจะปฏิเสธว่าไม่มีการแทรกแซงจากสหรัฐฯ แต่ทางปากีสถานยืนยันว่า ทรัมป์มีส่วนช่วยเจรจาหยุดยิงที่เกิดขึ้นหลังการสู้รบต่อเนื่อง 4 วัน ซึ่งรัฐบาลปากีสถานยกย่องว่าทรัมป์แสดงความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด และมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้กลับถูกวิจารณ์จากบางฝ่าย เช่น มาลีฮา โลธี (Maleeha Lodhi) อดีตเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำสหรัฐฯ ที่มองว่าการสนับสนุนผู้นำที่เคยสนับสนุนการโจมตีในกาซาเป็นเรื่อง “บั่นทอนศักดิ์ศรีของชาติ” ขณะที่ทรัมป์เองก็ระบุผ่าน Truth Social ว่า แม้จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลายกรณี แต่เขา “จะไม่ได้รับรางวัลโนเบล ไม่ว่าจะทำอะไร”

ทรัมป์เคยประกาศว่าจะยุติสงครามในยูเครนและกาซาอย่างรวดเร็ว หากได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง และมักวิจารณ์รางวัลโนเบลของโอบามาในปี 2009 ว่าได้มาเร็วเกินควร ทั้งนี้ รางวัลโนเบลประจำปีนี้จะมีการประกาศผลในเดือนตุลาคม โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าทรัมป์จะได้รับการเสนอชื่อจริงหรือไม่

‘อิสราเอล’ โวยเตหะรานละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ‘อิหร่าน’ ย้ำไม่ได้ยิงก่อน!! ขอเตือนจะไม่ทนหากโดนซ้ำ

(24 มิ.ย. 68) กระทรวงกลาโหมอิสราเอลออกแถลงการณ์ กล่าวหาว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลงหยุดยิง พร้อมสั่งให้กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ตอบโต้ด้วยการโจมตีอย่างรุนแรงต่อเป้าหมายภายในกรุงเตหะราน โดยรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัตซ์ (Israel Katz) ย้ำว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านใช้ความเงียบเป็นโอกาสในการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอิหร่านยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยพลเอกอับโดลราฮิม มูซาวี  (Abdolrahim Mousavi) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิหร่าน ระบุผ่านสื่อของรัฐว่า อิหร่านไม่ได้ยิงขีปนาวุธไปยังอิสราเอลในช่วงเวลาที่ผ่านมา และรายงานที่กล่าวหาอิหร่านนั้น ‘ไม่เป็นความจริง’

ในเวลาเดียวกัน สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านออกแถลงการณ์เตือนว่า หากอิสราเอลหรือพันธมิตรยังคงดำเนินการเชิงรุก อิหร่านจะตอบโต้ ‘อย่างเด็ดขาดและทันที’ โดยชื่นชมความสามัคคีและความอดทนเชิงยุทธศาสตร์ของชาวอิหร่านที่ทำให้ศัตรูต้องล่าถอย

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านระบุว่า อิหร่านพร้อมยุติปฏิบัติการทางทหาร หากอิสราเอลหยุดโจมตีเช่นกัน ซึ่งสะท้อนจุดยืนว่าการตอบโต้ของอิหร่านเกิดขึ้นเพื่อป้องกันตัว ไม่ใช่เป็นฝ่ายเริ่มโจมตี

สถานการณ์ล่าสุดยังคงตึงเครียด และมีความเสี่ยงที่จะปะทุเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีคำชี้แจงร่วมที่ชัดเจน ขณะที่ทั่วโลกจับตาอย่างใกล้ชิดถึงท่าทีและความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

‘รัสเซีย’ โต้ ‘ยูเครน’ กล่าวหาส่งศพปลอมยันเอกสารตรง เชื่อจัดฉากหวังทำลายภาพลักษณ์

เมื่อวันที่ (19 มิ.ย. 68) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีมหาดไทยยูเครน อีฮอร์ คลีเมนโก (Ihor Klymenko) กล่าวหาฝ่ายรัสเซียผ่านช่องทาง Telegram ว่ามีการ ‘ปลอมแปลง’ ศพในการส่งมอบร่างทหารยูเครน โดยอ้างว่ารัสเซียใส่ศพทหารตนเองลงในถุงหมายเลข 192/25 พร้อมแนบหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวและป้ายชื่อของทหารรัสเซียชื่อ เอ.วี. บูกาเยฟ (A.V. Bugayev)

อย่างไรก็ตาม เอกสารการส่งมอบระบุว่า ถุงหมายเลข 192/25 นั้น เป็นศพของทหารยูเครนชื่อ มิโคลา ดิดิก (Mykola Ivanovych Didyk) ซึ่งเสียชีวิตในการสู้รบเมื่อ 6 พฤษภาคม 2024 ที่เขตบัคมุต แคว้นดอแนตสก์ ประเทศยูเครน โดยในศพมีชุดเครื่องแบบทหารยูเครนและสำเนาบัตรทหารครบถ้วน และถูกฝังอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2025 ตามประกาศของสภาเมืองโอบูคอฟ

ส่วนศพของนายบูกาเยฟ ซึ่งยูเครนกล่าวอ้างนั้น เดิมทีถูกส่งจากรัสเซียในถุงหมายเลข 567 โดยไม่มีเอกสาร ป้ายชื่อ หรือสิ่งของระบุตัวตนใด ๆ แต่หลังจากยูเครนส่งถุงใบเดิมกลับคืนในภายหลัง กลับพบว่ามีเอกสาร ป้ายชื่อ และโทรศัพท์มือถือของบูกาเยฟอยู่ในถุง ทำให้รัสเซียสงสัยว่า ยูเครนอาจใส่หลักฐานเพิ่มเติมเข้าไปทีหลัง เพื่อสร้างเรื่องหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง

แหล่งข่าวจากรัสเซียระบุว่า ตอนนี้รัสเซียพร้อมจะส่งคืนศพทหารยูเครนอีกกว่า 3,000 ราย แต่ทางการยูเครนยังไม่ยอมรับกลับไป พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การกล่าวหารัสเซียในครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามของยูเครนในการโจมตีด้านข้อมูล ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ยูเครนเปลี่ยนผู้รับผิดชอบเรื่องการรับศพจากหน่วยข่าวกรองทหาร (GUR) มาเป็นหน่วยความมั่นคง (SBU) ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้ประเด็นเหล่านี้เพื่อบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของภารกิจมนุษยธรรมที่รัสเซียดำเนินการอยู่

นักวิเคราะห์อิสราเอลชี้สงครามกับอิหร่าน เปลี่ยนมุมมองชาวเทลอาวีฟ

(25 มิ.ย. 68) ผู้ใช้บัญชี X (เดิมคือ Twitter) นามว่า Sanna865 โพสต์ข้อความโดยอ้างถึงนักวิเคราะห์การเมืองชาวอิสราเอล ทิรา โคเฮน (Tira Cohen) ออกมาพูดว่า : “The war with Iran taught Tel Aviv settlers the meaning of what Gaza envelope settlers had been ...”

แปลได้ว่า: “สงครามกับอิหร่านครั้งนี้ ทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานในเทลอาวีฟเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซา ที่เคยประสบมาก่อน…”

สุดท้ายผู้ใช้บัญชี X ชื่อ Sanna865 ซึ่งระบุเพิ่มเติมว่า “And they didn't even experience half of it” หรือ “และพวกเขายังไม่ได้เผชิญแม้แต่ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่กาซาเคยประสบ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของระดับความรุนแรงที่ชาวกาซาต้องอดทนมาตลอดหลายปี

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ แฉเอง!! บึ้มอิหร่านล้มเหลว โครงการนิวเคลียร์ยังไม่ถูกทำลาย แผนยังเดินต่อได้

(25 มิ.ย. 68) รายงานจาก CNN โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปยัง 3 ฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ทั้งหมด แต่เพียงแค่ทำให้แผนงานของอิหร่านล่าช้าออกไปไม่กี่เดือนเท่านั้น จากการประเมินเบื้องต้นของหน่วยข่าวกรองกองทัพสหรัฐฯ (DIA)

แหล่งข่าวระบุว่า อุปกรณ์หมุนเหวี่ยงยูเรเนียม (centrifuges) ‘แทบไม่ได้รับความเสียหาย’ และยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับสูงที่อิหร่านครอบครองอยู่ ถูกเคลื่อนย้ายออกก่อนการโจมตี ทำให้เป้าหมายหลักไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะที่โรงงาน ฟอร์โดว์ (Fordow), นาทานซ์ (Natanz) และ อิสฟาฮาน (Isfahan) ซึ่งโครงสร้างใต้ดินยังอยู่รอดเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีกลาโหมจะยืนยันว่าการโจมตีครั้งนี้ ได้ทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดแล้ว แต่รายงานจากหน่วยข่าวกรองกลับให้ข้อมูลไม่ตรงกัน โดยนักวิเคราะห์ด้านอาวุธจาก Middlebury Institute ชี้ว่า สหรัฐฯ และอิสราเอลยังไม่สามารถทำลายโครงสร้างใต้ดินลึกที่สำคัญของอิหร่านได้ทั้งหมด

ล่าสุด ทำเนียบขาวยอมรับว่ามีรายงานการประเมินผลการโจมตีจริง แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในรายงาน พร้อมระบุว่าคนที่นำข้อมูลมาเปิดเผยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันผ่าน Truth Social ว่า “ภารกิจนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาจากทั้งสองพรรควิจารณ์ว่าเขา (ทรัมป์) “พูดเกินจริง” เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการโจมตีจะสามารถหยุดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top