Friday, 4 July 2025
World

โลกหวั่น ‘อิหร่าน’ ปิดช่องแคบฮอร์มุซ อาจทำราคาน้ำมันพุ่ง 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

(19 มิ.ย. 68) ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ดร.ทิลัค โดชิ จากศูนย์วิจัยพลังงาน King Abdullah Petroleum Studies and Research Center ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเมินว่าหากอิหร่านตัดสินใจปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันสำคัญของโลก ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรืออาจทะลุ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10,950 บาท)

ด้าน ดร.คาซี โซฮัก นักเศรษฐศาสตร์พลังงาน ชี้ว่าหากย้อนดูปี 2008 ราคาน้ำมันเคยพุ่งสูงถึง 147 ดอลลาร์ โดยไม่มีความขัดแย้งใหญ่เกิดขึ้น ขณะที่ในปี 1973 ราคาน้ำมันเคยพุ่งขึ้นถึง 300% จากเหตุการณ์คว่ำบาตรน้ำมันระหว่างสงครามยมคิปปูร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตอบสนองต่อความเสี่ยงทางการเมืองได้อย่างรุนแรงเพียงใด 

มาร์ค อายูบ นักวิจัยนโยบายพลังงาน เสริมว่าแม้ไม่เกิดการปิดช่องแคบ แต่หากมีการโจมตีโครงสร้างน้ำมันของอิหร่าน ราคาน้ำมันก็อาจแตะระดับ 80–90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเฉพาะหากมีเป้าหมายที่แหล่งก๊าซสำคัญของอิสราเอล เช่น คาริช หรือ เลวีอาธาน ก็อาจทำให้ราคาขยับขึ้นอีก 5–10 ดอลลาร์

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า ราคาน้ำมันในระดับนี้ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และอาจเร่งให้ฝ่ายต่าง ๆ พยายามหาทางยุติสงครามโดยเร็ว เพื่อควบคุมผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดพลังงานโดยรวม

5 มหาวิทยาลัยในฮ่องกง ติดอันดับโลก QS ปี 2026 HKU ครองที่ 11 ของโลก รั้งอันดับ 2 เอเชีย

(20 มิ.ย. 68) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS ปี 2026 เผยผลล่าสุด มหาวิทยาลัยในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนก้าวหน้าก้าวกระโดด โดยมีถึง 5 สถาบันติด 100 อันดับแรกของโลก สะท้อนคุณภาพทางวิชาการและบทบาทที่โดดเด่นในเวทีโลก

มหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) ไต่ขึ้นถึงอันดับ 11 ของโลก ขึ้นจากอันดับเดิมถึง 6 ลำดับ ขณะที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ขยับมาอยู่ที่อันดับ 32 และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (HKUST) ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 44 ด้านมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง (HKPU) และมหาวิทยาลัยเมืองฮ่องกง (CityU) อยู่ในอันดับ 54 และ 63 ตามลำดับ

รายงานระบุว่า มหาวิทยาลัยฮ่องกง, มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง และโพลีเทคนิคฮ่องกง ทำอันดับได้ดีที่สุดในประวัติการจัดอันดับของสถาบัน โดยที่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ยังคงครองตำแหน่งอันดับ 2 ของเอเชีย ตอกย้ำบทบาทศูนย์กลางการศึกษาชั้นนำของภูมิภาค

ผู้นำจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กล่าวแสดงความยินดี พร้อมย้ำถึงแผนพัฒนาด้านนวัตกรรม วิจัย และความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อเสริมบทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการศึกษาระดับโลกและการพัฒนาระดับชาติ

ทั้งนี้ QS ได้ประเมินมหาวิทยาลัยกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก จาก 9 เกณฑ์ เช่น ชื่อเสียงทางวิชาการ ความสามารถในการจ้างงาน และผลงานวิจัย

UN คอนเฟิร์ม ‘กัมพูชา’ คือศูนย์กลาง ‘สแกมเมอร์โลก’ เชื่อมกลุ่มทุน-เครือญาติ ‘ฮุน เซน’ กวาดเงินหมื่นล้าน

(20 มิ.ย. 68) องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ชี้ว่ากัมพูชาได้กลายเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญของเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ระดับโลก โดยมีการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองปอยเปตที่ติดชายแดนไทย กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเจาะตลาดไทย

รายงานระบุว่าอาชญากรรมไซเบอร์ไม่ได้จำกัดเฉพาะเขตชายแดนอีกต่อไป แต่ขยายเข้าสู่เมืองหลวงกรุงพนมเปญ และจังหวัดสำคัญอย่างบาเวตและพระสีหนุ แสดงให้เห็นถึงการฝังรากลึกของธุรกิจหลอกลวงในโครงสร้างประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และอำนาจรัฐ

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ถูกจับตามองคือ Huione Group บริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกับครอบครัวผู้นำกัมพูชา โดยเฉพาะนายฮุน โต หลานชายของอดีตนายกฯ ฮุน เซน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การฉ้อโกงทางไซเบอร์ และธุรกรรมผิดกฎหมายมูลค่ามหาศาลทั่วภูมิภาค

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำ Huione Group และตัดขาดจากระบบการเงินของอเมริกา พร้อมกับเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของ Huione Pay ในกัมพูชา ขณะที่บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน Elliptic ระบุว่าแพลตฟอร์ม Huione Guarantee ของกลุ่มนี้มีมูลค่าธุรกรรมต้องสงสัยรวมกว่า 27 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท

ด้านตำรวจไซเบอร์ไทยยืนยันพบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างกลุ่มพนันออนไลน์ในไทยกับบริษัทในกัมพูชา โดยเฉพาะ Huione Group ที่มีบทบาทสำคัญในการฟอกเงินจากการหลอกลวงแบบ Call-Centre และการพนัน ผ่านการแปลงเงินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลและนำกลับมาใช้ในระบบเศรษฐกิจจริง

กรณีนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่หลายฝ่ายในไทยเสนอให้รัฐบาลไม่ปล่อยให้กัมพูชายื่นข้อพิพาทชายแดนต่อศาลโลกฝ่ายเดียว พร้อมเรียกร้องให้นำประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่กัมพูชาถูกกล่าวหาทั่วโลกเข้าสู่การพิจารณาในเวทีสหประชาชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของภูมิภาคโดยรวม

‘ทรัมป์’ ขอเวลาตัดสินใจ 2 สัปดาห์ ว่าจะส่งทหารร่วมศึกอิสราเอล-อิหร่าน หรือไม่

(20 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จะตัดสินใจภายใน 2 สัปดาห์ว่าจะส่งกองกำลังเข้าแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหรือไม่ โดยระบุว่าขณะนี้ยังมี 'โอกาสสำคัญ' สำหรับการเจรจาทางการทูตกับอิหร่าน จึงขอเวลาประเมินสถานการณ์เพิ่มเติม

โฆษกทำเนียบขาว แครอลไลน์ ลีวิตต์ กล่าวว่า ทรัมป์ให้ความสำคัญสูงสุดกับการป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และยังไม่ปิดโอกาสสำหรับการเจรจา แม้จะมีรายงานว่าทรัมป์อนุมัติแผนโจมตีไซโลนิวเคลียร์ของอิหร่านแล้ว แต่ยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินการในทันที

ขณะที่ อิหร่านเตือนว่าหากสหรัฐฯ เข้าร่วมสงคราม จะยิ่งทำให้ภูมิภาคลุกเป็นไฟ โดยระบุว่า “นี่ไม่ใช่สงครามของอเมริกา” ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวเผยว่าเว็บไซต์ฟอร์โด ซึ่งเป็นโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่าน อาจตกเป็นเป้าหมายโจมตีหากการเจรจาล้มเหลว

ทั้งนี้ สถานการณ์ทวีความตึงเครียดหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธใส่โรงพยาบาลทางตอนใต้ของอิสราเอล ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 70 คน ด้านอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านหลายจุด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ใช้การทูตแทนการสู้รบ

จีนหวังสหรัฐฯ รักษาสัญญา รับนักเรียนจีนเรียนต่อ ตามที่ทรัมป์กล่าว

(20 มิ.ย. 68) กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนคัดค้านการเมืองนำหน้าความร่วมมือด้านการศึกษา พร้อมแสดงความหวังว่าสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่ายินดีต้อนรับนักศึกษาจีนไปเรียนต่อในสหรัฐฯ

กัว เจียคุน (Guo Jiakun) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าจีนติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ควรถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการเมือง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำว่าจีนคาดหวังให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของนักศึกษาและนักวิชาการจีนในสหรัฐฯ อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

อดีตทูตอังกฤษชี้ EU อุ้มยูเครนไม่ไหว ผลิตอาวุธสู้รัสเซียไม่ทัน - เศรษฐกิจเริ่มเสียสมดุล

(20 มิ.ย. 68) เครก เมอร์เรย์ อดีตทูตอังกฤษประจำอุซเบกิสถาน ให้สัมภาษณ์ว่า สหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนในระดับเดิมได้อีก เพราะงบกลาโหมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังทำให้เศรษฐกิจยุโรปเสียสมดุลและกลายเป็นภาระหนักขึ้นเรื่อย ๆ

เมอร์เรย์ชี้ว่า รัฐบาลยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษและเยอรมนี ทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปที่กองทัพ จนกระทบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งที่อุตสาหกรรมด้านกลาโหมถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีปัญหาคอร์รัปชันสูง และถึงแม้จะใช้งบเพิ่มแค่ไหน ยุโรปก็ยังไม่สามารถผลิตอาวุธได้มากพอให้ยูเครนใช้ต่อสู้กับรัสเซียได้

ข้อมูลล่าสุดจากเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต (NATO) ระบุว่า รัสเซียสามารถผลิตกระสุนได้มากเท่ากับที่นาโตใช้เวลาทำถึง 1 ปี ภายในเพียง 3 เดือนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการผลิตอาวุธของยุโรปยังห่างชั้นกับรัสเซียมาก ซึ่งเครก เมอร์เรย์มองว่านี่คือปัญหาที่อียูไม่สามารถหาทางออกได้ในเร็ววัน

ทั้งนี้ รัสเซียเคยเตือนหลายครั้งว่า การที่ชาติตะวันตกส่งอาวุธให้ยูเครนจะยิ่งทำให้สงครามยืดเยื้อ และทำให้นาโตถูกมองว่าเป็นฝ่ายร่วมรบโดยตรง ขณะที่เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ระบุชัดว่า รถหรือขบวนขนส่งใดก็ตามที่ขนอาวุธไปยังยูเครน จะถือเป็นเป้าหมายที่กองทัพรัสเซียสามารถโจมตีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

MIT เผยงานวิจัยชี้ ChatGPT บั่นทอนทักษะคิดวิเคราะห์ พบกลุ่มใช้ AI สมองทำงานน้อยลง จำงานตัวเองไม่ได้

(21 มิ.ย. 68) ทีมนักวิจัยจาก MIT Media Lab ในสหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษาใหม่ว่า การใช้ ChatGPT ในการทำงานด้านการเขียน อาจส่งผลลบต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะความสามารถในการคิดวิเคราะห์และจดจำงานวิชาการ งานวิจัยนี้ศึกษาจากอาสาสมัคร 54 คนอายุระหว่าง 18–39 ปี โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกใช้ ChatGPT กลุ่มที่สองใช้ Google Search และกลุ่มสุดท้ายไม่ใช้เครื่องมือใดเลยในการเขียนเรียงความ

การวัดคลื่นสมองผ่าน EEG (Electroencephalogram) เผยว่ากลุ่มที่ใช้ ChatGPT มีการทำงานของสมองต่ำที่สุด ทั้งในแง่ของการคิดเชิงบริหาร การมีสมาธิ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน ผู้ใช้ ChatGPT เริ่มพึ่งพาเครื่องมือมากขึ้นจนถึงขั้นคัดลอกงานจาก AI โดยตรงโดยไม่พยายามเขียนเอง ส่งผลให้เรียงความขาดความคิดต้นฉบับและถูกครูประเมินว่า 'ไร้จิตวิญญาณ'

ในทางตรงข้าม กลุ่มที่เขียนเองโดยไม่ใช้เครื่องมือใด ๆ แสดงคลื่นสมองที่เชื่อมต่อกันอย่างสูงในคลื่นอัลฟาและเดลตา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดสร้างสรรค์ การใช้ความจำ และการวิเคราะห์ความหมาย ส่วนกลุ่มที่ใช้ Google Search แม้จะมีสมองทำงานน้อยกว่ากลุ่มแรกเล็กน้อย แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและความพึงพอใจสูงกว่ากลุ่ม ChatGPT อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ เมื่อลองให้แต่ละกลุ่มเขียนเรียงความซ้ำอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขสลับกัน กลุ่มที่เคยใช้ ChatGPT กลับเขียนงานได้ยากลำบากเมื่อต้องลงมือเอง ขณะที่กลุ่มที่เคยเขียนเองกลับใช้ ChatGPT ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยังคงมีการคิดวิเคราะห์ของตนเองอยู่ ทีมวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ AI โดยไม่มีพื้นฐานการคิดที่ดี อาจทำให้สมองหยุดเรียนรู้ในระยะยาว

แม้งานวิจัยนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ และมีขนาดกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างจำกัด แต่นักวิจัยนำโดย นาตาเลีย คอสมีนา ยืนยันว่าควรเผยแพร่ข้อมูลนี้ทันทีเพื่อเตือนสังคมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหาก AI ถูกใช้ในภาคการศึกษาโดยไม่มีการควบคุม โดยเฉพาะกับเด็กที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่

ปัจจุบัน MIT Media Lab ยังทำการศึกษาผลของ AI ต่อสาขาอื่น เช่น การเขียนโปรแกรม ซึ่งเบื้องต้นพบผลลบเช่นกัน ด้านจิตแพทย์เด็กเตือนว่าการพึ่งพาโมเดลพื้นฐานที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลทางภาษา หรือเรียกว่า LLM  มากเกินไป อาจทำให้ความสามารถในการจดจำและการคิดอย่างยืดหยุ่นของเด็กเสื่อมถอยลงในระยะยาว

เด็กสาวบ้านนาจีน ใช้ไม้คานหาบกระเป๋ากลับบ้าน หลังสอบเกาเข่า สะท้อนความมุ่งมั่นเข้ามหาวิทยาลัย

(21 มิ.ย. 68) คลิปไวรัลจากเมืองกุ้ยหลิน มณฑลกวางสี ประเทศจีน เผยภาพ 'หลิว' นักเรียนมัธยมที่เพิ่งสอบเกาเข่าเสร็จ กำลังเดินกลับบ้านลำพังในเสื้อผ้าธรรมดา โดยใช้ไม้คานหาบกระเป๋าสัมภาระเดินกลับบ้านอย่างไม่อายใคร ขณะที่เพื่อนนักเรียนส่วนใหญ่มีผู้ปกครองขับรถมารับถึงที่ กลายเป็นภาพเรียบง่ายแต่กินใจผู้ชมทั่วจีน

หลิวเล่าว่าถุงใบโตบรรจุผ้าห่มหนา ถึงสามผืนเพราะเธอขี้หนาว ส่วนที่ดูเหมือนเธอเดินคนเดียวจริง ๆ นั้น มีแม่ขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังพร้อมกระเป๋าลาก โดยการสอบเกาเข่าครั้งนี้เธอบอกว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตนักเรียนจีนทุกคน

ขณะที่ครูประจำชั้นเผยว่า หลิวมาจากชนบท ขยัน และสู้ไม่ถอย ข่าวดังทำให้ชาวเน็ตร่วมเอาใจช่วย เจ้าของร้านชาในเฉิงตูเสนองานพิเศษช่วงปิดเทอม ส่วนทางด้านอดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประกาศพร้อมสนับสนุนค่าเล่าเรียน

อย่างไรก็ตาม หลิวขอบคุณน้ำใจทุกฝ่ายแต่ปฏิเสธเงินช่วยเหลือ เพราะอยากอยู่ใกล้แม่ที่บ้าน เนื่องจากพ่อและพี่ชายออกไปทำงานต่างถิ่น เหลือเพียงสองแม่ลูกดูแลกัน เธอบอกว่าครอบครัวให้ความรักเท่าเทียม “แม้ครอบครัวจะไม่ได้มีสิ่งสวยหรูเหมือนคนอื่น แต่การได้อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นก็เหมือนมีช่อดอกไม้ที่สวยที่สุดอยู่แล้ว”

ช่วงปิดเทอมหลิวตั้งใจตั้งแผงขาย 'เหลียงเฟิ่น' วุ้นถั่วเย็นริมทางเพื่อเก็บเงิน และหวังเข้าคณะศึกษาศาสตร์เป็นครูในอนาคต ชาวเน็ตพากันอวยพร  “คานไม้ไผ่ของเธออาจหนัก แต่ก้าวเดินมั่นคงยิ่งกว่าคำพูดใด ขอให้หนทางข้างหน้าบานสะพรั่ง”

อิสราเอลโวยอิหร่าน ยิงขีปนาวุธแบบ ‘คลัสเตอร์บอมบ์’ ระเบิดไม่เลือก - กระจายกลางอากาศ พุ่งสังหารพลเรือน

อิสราเอลเปิดเผยเมื่อวันที่ (19 มิ.ย.68) ว่า อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอล ซึ่งบรรจุระเบิดย่อยแบบ 'คลัสเตอร์มูนิชัน' (cluster submunitions) โดยมีเป้าหมายเจาะใส่พื้นที่พลเรือนหนาแน่น เพื่อเพิ่มความเสียหายและจำนวนผู้บาดเจ็บ โดยยังไม่ระบุพื้นที่เป้าหมายชัดเจน

รายงานจากสื่ออิสราเอลระบุว่า หัวรบของขีปนาวุธดังกล่าวแตกกระจายกลางอากาศที่ระดับความสูงประมาณ 7 กิโลเมตร ก่อนโปรยระเบิดย่อยราว 20 ลูกกระจายเป็นวงกว้างราว 8 กิโลเมตร เหนือพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล หนึ่งในระเบิดย่อยตกใส่บ้านในเมืองอาซอร์ (Azor) ทำให้บ้านเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

สำหรับระเบิดคลัสเตอร์เป็นอาวุธที่สร้างความขัดแย้งในระดับโลก เนื่องจากกระจายระเบิดย่อยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งบางส่วนอาจไม่ระเบิดทันทีและเป็นภัยหลงเหลือที่อันตรายต่อพลเรือนในระยะยาว โดยกองทัพอิสราเอลออกภาพกราฟิกเตือนภัยจากระเบิดที่ยังไม่ระเบิด เพื่อป้องกันความสูญเสียเพิ่มเติม

พลตรีเอฟฟี เดฟริน โฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า “การก่อการร้ายนี้จงใจโจมตีพลเรือน ด้วยอาวุธที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายแบบวงกว้าง” ขณะที่ ดาริล คิมบอลล์ ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์ควบคุมอาวุธ กล่าวว่า อิหร่านรู้อยู่แล้วว่าขีปนาวุธของตนอาจไม่แม่นยำ การใช้ระเบิดคลัสเตอร์จึงมีโอกาสโจมตีเป้าหมายพลเรือนมากกว่าเป้าหมายทางทหาร

ทั้งนี้ อิหร่านและอิสราเอลต่างไม่เข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศปี 2008 ที่ห้ามผลิต ครอบครอง และใช้งานระเบิดคลัสเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมี 111 ประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงให้การสนับสนุนยูเครนด้วยอาวุธลักษณะเดียวกัน และมีรายงานว่ารัสเซียเองก็ใช้ระเบิดชนิดนี้เช่นกันในสงครามกับยูเครน

ดีลการค้า ‘สหรัฐฯ–จีน’ ยังไม่ปลดล็อก ‘แร่หายาก’ ใช้ทางทหาร จุดขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลาย

(21 มิ.ย. 68) แม้สหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงหยุดยั้งข้อพิพาททางการค้าระลอกใหม่ที่กรุงลอนดอน แต่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการส่งออกแม่เหล็กแร่หายากที่ใช้ในงานทหารยังไม่คลี่คลาย โดยจีนยังไม่ให้คำมั่นเรื่องการอนุมัติส่งออกแม่เหล็กเฉพาะทางที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องบินรบและระบบขีปนาวุธของสหรัฐฯ

การเจรจาระหว่างสองประเทศกลับมาพัวพันกับประเด็นควบคุมการส่งออก โดยจีนแสดงท่าทีว่า จะไม่พิจารณาผ่อนคลายการส่งออกแม่เหล็กทหาร หากสหรัฐฯ ยังจำกัดการขายชิป AI ขั้นสูงให้จีน ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงเชื่อมโยงใหม่ระหว่างความมั่นคง เทคโนโลยี และการค้า

ขณะที่สหรัฐฯ เตรียมขยายมาตรการภาษีสินค้าจีนต่ออีก 90 วันเกินกำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันว่า ข้อตกลงนี้เป็น “ดีลที่ดี” และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แม้กระทรวงพาณิชย์และการต่างประเทศของทั้งสองประเทศยังไม่ให้ความเห็นทางการ

จีนยอมอนุมัติใบอนุญาตส่งออกแม่เหล็กแร่หายากให้ผู้ผลิตพลเรือนในสหรัฐฯ ผ่านช่องทางพิเศษ “green channel” แต่ยังไม่รวมแม่เหล็กเฉพาะทาง เช่น Samarium ซึ่งสำคัญต่อการผลิตอาวุธ ส่งผลให้การควบคุมของจีนในอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อข้อตกลงถาวร

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ความไม่ลงตัวด้านแร่หายากอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ระหว่างสองมหาอำนาจ และสะท้อนว่าความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ในการใช้การค้าเป็นเครื่องมือกดดันจีนยังคงต้องเผชิญอุปสรรคจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนยังผูกขาดทรัพยากรที่สำคัญระดับโลกอยู่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top