Friday, 4 July 2025
World

‘ทรัมป์’ เตือน ‘อิหร่าน’ ไม่มีวันชนะสงครามนี้ แนะเปิดเจรจาก่อนจะสายเกินไป

(17 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เตือนอิหร่านให้รีบเปิดการเจรจากับอิสราเอลโดยด่วน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ผมคิดว่าอิหร่านจะไม่ชนะสงครามนี้ พวกเขาควรพูดคุยกัน และควรพูดคุยทันที ก่อนที่จะสายเกินไป” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

คำเตือนของทรัมป์มีขึ้นหลังการโจมตีล่าสุดของอิหร่านด้วยขีปนาวุธใส่เมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมจากฝั่งอิสราเอลอยู่ที่ 24 คน ขณะที่ทางการอิหร่านรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 224 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มการโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกองทัพอิสราเอลประกาศว่าได้ “ควบคุมท้องฟ้าเหนือกรุงเตหะรานอย่างสมบูรณ์” พร้อมทั้งทำลายฐานยิงขีปนาวุธของอิหร่านได้แล้วประมาณหนึ่งในสาม ด้านอิหร่านตอบโต้โดยขู่ว่าจะเปิดฉาก “การยิงขีปนาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” บนแผ่นดินอิสราเอล พร้อมกันนั้นยังมีรายงานว่าโรงพยาบาลพลเรือนในเมืองเคอร์มานชาห์ของอิหร่านถูกโจมตี จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่ง องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แสดงความกังวลถึงการปนเปื้อนทางรังสีและสารเคมีจากการโจมตีของอิสราเอลที่โรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่เมืองนาทานซ์ แม้ระดับรังสีภายนอกยังปกติ แต่ระบบจ่ายไฟหลักและเครื่องสำรองถูกทำลาย ทำให้การตรวจสอบและประเมินผลกระทบทำได้อย่างจำกัด

ขณะที่ภาพรวมในสนามรบจะตึงเครียดอย่างหนัก แต่เบื้องหลังมีรายงานว่าอิหร่านเริ่มส่งสัญญาณความต้องการเจรจา โดยผ่านตัวกลางจากชาติอาหรับ ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันโลกลดลงทันทีมากกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แสดงให้เห็นถึงความหวังเล็ก ๆ ในการคลี่คลายความขัดแย้ง หากคู่กรณียอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจังตามคำแนะนำของทรัมป์ก่อนที่จะสายเกินไป

ผู้นำ G7 หนุนอิสราเอล ย้ำมีสิทธิ์ตอบโต้อิหร่าน ด้าน ‘ทรัมป์’ ทิ้งประชุมด่วน!!...กลับมารับมือที่วอชิงตัน

(17 มิ.ย. 68) ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งเจ็ด (G7) ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน

ในแถลงการณ์ระบุว่า “เรายืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตัว และเรายังคงยืนหยัดเคียงข้างความมั่นคงของอิสราเอล” พร้อมเรียกร้องให้การแก้ไขวิกฤตกับอิหร่านนำไปสู่การลดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการหยุดยิงในฉนวนกาซา

ผู้นำ G7 ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องพลเรือนจากผลกระทบของความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงผันผวนและเปราะบางอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันโฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกจากการประชุม G7 ที่แคนาดาเร็วกว่ากำหนด และได้สั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเตรียมพร้อมหารือฉุกเฉินในห้องสถานการณ์ของทำเนียบขาว

คำสั่งเร่งด่วนของทรัมป์ยังรวมถึงการเรียกประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) เพื่อประเมินปฏิกิริยาตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อทั้งอิหร่านและอิสราเอล ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองภายในประเทศให้วอชิงตันแสดงบทบาทนำในวิกฤตนี้

‘อีลอน มัสก์’ เตือนสหรัฐฯ หนี้ท่วม!!..อาจล้มละลาย เพราะรายได้ภาษีหมดไปกับดอกเบี้ย ปีละ 1.2 ล้านล้าน

(17 มิ.ย. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้เป็นซีอีโอของเทสลา (Tesla) เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังใกล้จะล้มละลายทางการเงิน หากภาษีที่จัดเก็บได้จากประชาชนทั้งหมดต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้เท่านั้น โดยสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะสูงถึงราว 36–37 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 43.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของรายได้ภาษีทั้งหมด 

มัสก์ชี้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภาระดอกเบี้ยจะกลืนกินงบประมาณของรัฐบาลจนไม่มีเงินเหลือไว้ใช้สำหรับสวัสดิการหรือการลงทุนด้านอื่น การจ่ายดอกเบี้ยในระดับนี้ได้กลายเป็น 'ต้นทุนอันดับสาม' ของรัฐบาล รองจากแพ็กเกจสวัสดิการและรายจ่ายทางทหาร 

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก Peterson Foundation ระบุว่า ความกดดันจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นและดอกเบี้ยที่เพิ่ม จะส่งผลลบต่อทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจ การลงทุนของภาคเอกชน และการเข้าไม่ถึงทุนของรัฐบาลกลาง รวมถึงอาจเข้าใกล้ช่วง 'วิกฤตสภาพคล่อง' หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดความเชื่อมั่นจนความต้องการพันธบัตรลดลง 

ทั้งนี้ อีลอน มัสก์ สนับสนุนแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดัง ที่เคยเสนอให้มีกฎหมายควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินนโยบายที่ทำให้เกิด การขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ มัสก์เห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจในการใช้งบประมาณแผ่นดิน และเตือนว่าหากไม่มีการควบคุมการใช้จ่ายอย่างจริงจัง สหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะ 'ล้มละลายโดยสมบูรณ์' ซึ่งจะทำให้ไม่เหลือพื้นที่ทางการคลังหรือทรัพยากรใด ๆ ให้บริหารประเทศในอนาคตอีกต่อไป

รัสเซีย ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 ราย สวนทางยูเครน ส่งคืนให้รัสเซียเพียงแค่ 78 ราย

(18 มิ.ย.68) สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ทางการยูเครนได้รับร่างของทหารที่เสียชีวิตในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีก 1,245 ร่าง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นการส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตรอบสุดท้ายตามที่ตกลงไว้ในการเจรจาที่อิสตันบูล ประเทศทูร์เคีย

ขณะที่ทางด้าน วลาดิมีร์ เมดินสกี ผู้ช่วยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัสเซีย เผยว่า รัสเซียได้ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 นาย และยูเครนได้ส่งร่างทหารรัสเซียกลับคืนมา 78 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่สื่อตะวันตก และ ยูเครน อ้างว่าทหารรัสเซีย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ยูเครนไม่สามารถนำมาแลกกันในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทำได้เพียงการส่งคืน 78 ร่างเท่านั้น

'ชาวกัมพูชา' ชุมนุมแสดงพลังกลางกรุงพนมเปญ ย้ำจุดยืนรักษาดินแดน - ต่อต้านผู้รุกราน

(18 มิ.ย.68) กระทรวงข้อมูลข่าวสารฯกัมพูชา ได้ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก "ក្រសួងព័ត៌មាន - Ministry of Information" ที่มีผู้ติดตาม 1.4 ล้านคน เผยแพร่ภาพของพลเมืองชาวกัมพูชาได้ออกมาแสดงพลังรักชาติ พร้อมสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการป้องดินแดนกัมพูชา โดยประชาชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมพากันโบกธงชาติกัมพูชา พร้อมถือรูป 'สมเด็จฮุน เซน' และรูปนายกรัฐมนตรี 'ฮุน มาเนต' รวมพลังเต็มพื้นที่ชุมนุม ย้ำจุดยืนต่อต้านผู้รุกรานดินแดน

ด้าน สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา โพสต์ภาพระบุข้อความว่า เป็นการมีส่วนร่วมของชาวกัมพูชา ในการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ย้ำจุดยืน กัมพูชาไม่ต้องการดินแดนของผู้อื่นแม้แต่ 1 มิลลิเมตร แต่จะปกป้องดินแดนกัมพูชาอย่างเด็ดขาด ไม่ให้ใครมาล่วงล้ำแม้เพียง 1 มิลลิเมตร เช่นกัน

ส่วนทางสำนักข่าวท้องถิ่นได้รายงานว่า นายฮุน มาณี ลูกชายของฮุนเซน จะเป็นผู้นำในการเดินขบวนในเช้าวันนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อกองทัพ และส่งเสริมความรักชาติ ในกรุงพนมเปญ

‘ฮุน เซน’ รับมีคลิปเสียงคุย ‘นายกฯ อิ๊งค์’ จริง ลั่นจำเป็นต้องบันทึกเสียงกันถูกบิดเบือน

ฮุน เซน โพสต์เฟซบุ๊ก ยอมรับโทรศัพท์คุยกับ นายกฯ อิ๊งค์ และบันทึกเสียงไว้ แชร์ให้ผู้เกี่ยวข้องประมาณ 80 คน เผยคลิปเต็ม 17 นาที หลุดออกมาแค่ 9 นาที

(18 มิ.ย. 68) สมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อค่ำวันที่ 15 มิ.ย. ข้าพเจ้าได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีของไทยนาน 17 นาที 6 วินาที โดยมีล่าม

ตามปกติแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดหรือการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องทางการ จึงจำเป็นต้องบันทึกเสียงการสนทนาเพื่อความโปร่งใส รวมถึงเพื่อวัตถุประสงค์ภายในกัมพูชาด้วย

จากนั้น ข้าพเจ้าได้แบ่งปันการบันทึกเสียงการสนทนาของข้าพเจ้ากับนายกรัฐมนตรีของไทย ให้แก่บุคคลประมาณ 80 คน รวมถึงสมาชิกคณะกรรมการถาวรของพรรค วุฒิสภา ทีมรัฐสภา หน่วยงานกิจการต่างประเทศ หน่วยการศึกษา กลุ่มกิจการชายแดน และสมาชิกกองทัพ ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ เป็นไปได้ว่า บางคนไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีของไทย

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการสนทนาของเรา ผู้นำไทยได้กล่าวหาผู้นำกัมพูชาต่อสาธารณะว่า ดำเนินการทางการเมืองอย่าง 'ไม่เป็นมืออาชีพ' และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก

ส่วนเรื่องไฟล์เสียงที่หลุดออกมา ผมสังเกตว่ามีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเพียงประมาณ 9 นาทีเท่านั้น ดังนั้น หากฝ่ายไทยต้องการไฟล์เสียงแบบเต็ม ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเผยแพร่ไฟล์เสียงความยาว 17 นาที 6 วินาทีทั้งหมด

‘เซเลนสกี้’ ต้องกลับบ้านมือเปล่าอีกครั้ง หลัง ‘ทรัมป์’ เทนัดออกจากงาน G7 ก่อนกำหนด

(18 มิ.ย.68) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง หลังจากที่เขาลงทุนบินข้ามทวีป เดินทางมาแคนาดาเพื่อเข้าร่วมวงประชุมสุดยอดผู้นำ G-7 ที่เมือง  Kananaskis แต่ปรากฏว่าสวนทางกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะทรัมป์ขอตัวกลับกรุงวอชิงตัน ดีซี อย่างกะทันหัน โดยอ้างเหตุสถานการณ์ความรุนแรงระหว่าง อิสราเอล-อิหร่าน 

ทำให้เซเลนสกี้ไม่มีโอกาสได้เจอทรัมป์เป็นการส่วนตัว เพื่อขอความช่วยเหลือด้านอาวุธ และ ทุนสนับสนุนอีก แต่เมื่อไม่ได้เจอ ก็คือไม่ได้เงิน ต้องบินกลับบ้านอย่างผิดหวัง

ส่วน มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่เป็นเหมือนเจ้าภาพของงาน ก็ยอมให้เซเลนสกี้เข้าพบ หารือเป็นการส่วนตัว และได้มอบเงินช่วยเหลือให้เล็กน้อยเป็นขวัญถุงก่อนกลับบ้าน แต่ไม่ยอมออกแถลงการณ์ร่วมของ G-7 ให้กับเซเลนสกี้ในการแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนยูเครน 

ซึ่งเซเลนสกี้ คงต้องยอมรับว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่วาระสำคัญเร่งด่วนอีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่เกิดสงครามในกาซา เมื่อปี 2023 ตามมาด้วยความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน และล่าสุด การยิงถล่มกันระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

แต่ทั้งนี้ การนัดพบระดับผู้นำสหรัฐอย่างทรัมป์ และ เซเลนสกี้ ที่ในงาน G-7 มีการลงกำหนดการล่วงหน้า ยืนยันเป็นมั่นเหมาะแล้ว เซเลนสกี้ถึงยอมลงทุนบินข้ามน้ำ ข้ามทะเลกว่า 5,000 ไมล์ เพื่อมาหา 

และแหล่งข่าวยืนยันว่า เซเลนสกี้ มีคิวนัดเป็นลำดับที่ 3 ในตารางนัดหมายของทรัมป์ด้วยซ้ำ และไปถึงแคนาดาในช่วงบ่ายวันที่ 17 มิถุนายน ก่อนจะถึงคิวนัด  ก่อนที่จะรู้ว่า ทรัมป์ ยกเลิกคิวนัดทั้งหมดอย่างกะทันหัน และบินกลับดี.ซี.ไปก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่หลังงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ เพราะต้องการไปติดตามสถานการณ์ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน 

ทรัมป์ได้กล่าวก่อนขอตัวออกจากงานประชุมว่า "พวกเราจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับผู้นำชาติสมาชิกแสนวิเศษ แต่ผมจะต้องขอตัวบินกลับก่อน ด้วยเหตุที่เป็นที่รู้กัน และผมหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจ" 

แม้จะรู้ถึงเหตุจำเป็นของทรัมป์ แต่คณะทูตยูเครนก็อดแสดงความน้อยใจไม่ได้ ที่เห็นว่าทรัมป์ลดลำดับความสำคัญของสงครามในยูเครน ซึ่งนอกจากจะไม่พูดถึงแล้ว ทรัมป์ยังใช้สิทธิ์ฐานะชาติสมาชิกหลัก ขอให้ยับยั้งแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม G-7 ที่เกี่ยวข้องกับยูเครนด้วย โดยให้เหตุผลว่าถ้อยแถลงของเซเลนสกี้ต่อต้านรัสเซียมากเกินไป ที่อาจกระทบกับวาระการเจรจาระหว่างทรัมป์ กับปูติน ที่กำลังดำเนินอยู่

ซึ่งเป็นข้ออ้างที่จะให้พูดแบบตรง ๆ ก็คือ เหมือนดีดเซเลนสกี้ออกจากงาน เพราะหากเทียบกับการเจรจาระหว่าง สหรัฐ-อิหร่าน ที่ก็ยังดำเนินอยู่เหมือนกัน แต่อิสราเอลก็ยังยกพลไปโจมตีทางอากาศอิหร่านได้โครม ๆ ไม่เห็นทรัมป์จะว่าอะไรเลย

เท่ากับว่าทริปนี้ เซเลนสกี้มาเพื่อถ่ายรูปกับเจ้าภาพ และ กลับบ้านมือเปล่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่การทูตยูเครน ถึงกับแสดงอาการถอดใจว่า ในสัปดาห์หน้าที่จะมีงานประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก NATO ที่กรุงเฮก หากเซเลนสกี้จะเดินทางไปขอเข้าประชุมด้วย มันจะคุ้มหรือไม่ แม้ผู้นำเยอรมันจะออกมายืนยันว่า ทรัมป์จะเดินทางไปร่วมงานประชุม NATO ด้วยอย่างแน่นอนก็ตาม 

ถึงชาติพันธมิตรยุโรปจะปลอบใจเซเลนสกี้ และยืนยันว่ายังไงก็อยู่ข้างยูเครน แต่สำหรับเซเลนสกี้แล้ว มันไม่มีความหมายเลยถ้าสหรัฐอเมริกาไม่ลงมาช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง อย่างที่โจ ไบเดน เคยให้มาก่อน 

ซึ่งเซเลนสกี้ก็ต้องทำใจว่า ช่วงกระแสพีคสุดของยูเครนได้ผ่านไปแล้ว ต่อให้ในวันนี้ผู้นำสหรัฐยังเป็นโจ ไบเดน ก็ใช่ว่ายูเครนจะได้รับการสนับสนุนเหมือนเมื่อก่อน เพราะตอนนี้กระแสไหลมาที่ตะวันออกกลางหมดแล้ว และผลลัพธ์ของสงครามระหว่าง อิสราเอล-อิหร่าน อาจกลายเป็นจุดพลิกขั้วอำนาจในตะวันออกกลางได้นานอีกหลายสิบปีทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เซเลนสกี้ ต้องถอยกลับไปต่อคิวใหม่ เพราะหัวแถวไม่ว่างซะแล้ว

โฆษกรัสเซียฟาดแรงอิสราเอล ‘อย่าบีบอิหร่านเปลี่ยนระบอบ’ เตือนการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์คือหายนะ

(19 มิ.ย. 68) มาเรีย ซาคาโรวา กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ออกมาแถลงอย่างชัดเจนว่า ‘อิสราเอลไม่มีสิทธิ์ที่จะบังคับให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง’ และเตือนว่าการโจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นอยู่ ‘ใกล้เคียงกับหายนะระดับมิลลิเมตร’

ซาคาโรวาเน้นถึงสิทธิของอิหร่านในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ทางสันติภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการลอบโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ถือเป็น ‘เกมอันน่าสยดสยอง’ ที่สามารถนำไปสู่ผลที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยย้ำว่าอิหร่านมีสิทธิ์ ‘มีและจะมี’ โรงงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพต่อไป

ขณะที่ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียชี้ว่า ขณะนี้อิหร่านกำลังรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากอิสราเอล และยอมรับความเป็นกลางของรัสเซียในการใช้มาตรการทางทหาร แต่จะยังคงให้การสนับสนุนในระดับการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงการลุกลามของวิกฤตการณ์

ขณะที่ชาติตะวันตกและสื่อระหว่างประเทศหลายแห่งเตือนว่าการมุ่งเป้า ‘เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง’ อาจนำไปสู่ความวุ่นวายในภูมิภาคและมิใช่ทางออกที่เหมาะสม เป้าหมายหลักควรเป็นการหยุดโครงการนิวเคลียร์ทางทหารของอิหร่านเท่านั้น

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแนวทางบีบบังคับให้อิหร่านเปลี่ยนผู้นำ และเรียกร้องให้เผชิญหน้าด้วยบทบาททางการทูตและการเจรจาที่จริงจังแทน ทั้งนี้ รัสเซียและชาติยุโรปยังคงผลักดันให้เปิดโต๊ะเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตอย่างสันติ

อิสราเอลคุมเข้มสื่อ ห้ามพูดเรื่องสงคราม ผิดเจอข้อหาหนัก ‘ภัยคุกคามด้านความมั่นคง’

(19 มิ.ย. 68) รัฐบาลอิสราเอลออกคำสั่งใหม่ ห้ามนักข่าว เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามภายในประเทศ หากไม่ได้รับอนุมัติล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ โดยระบุชัดว่ามาตรการนี้มีผล ‘ทุกกรณี’ เพื่อควบคุมข้อมูลในภาวะวิกฤต

คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมทั้งสื่อกระแสหลัก บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ สตรีมเมอร์ ไปจนถึงผู้ใช้งาน Telegram โดยไม่มีข้อยกเว้น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลก่อนการขออนุมัติ จะถูกพิจารณาว่าเป็นการ ‘คุกคามความมั่นคงของรัฐ’ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายความมั่นคง

การควบคุมนี้ส่งผลให้ช่องทางสื่อสารในประเทศต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลก่อนเผยแพร่ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สงครามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข่าวจากแนวหน้า การโจมตี หรือความเสียหายใด ๆ

‘เนทันยาฮู’ ยกย่อง ‘ทรัมป์’ เพื่อนแท้อิสราเอล หลังสหรัฐฯ หนุนเต็มที่ในสงครามกับอิหร่าน

(19 มิ.ย. 68) นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนในการ ‘ปกป้องน่านฟ้าอิสราเอล’ ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบกับอิหร่านที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 วัน

เนทันยาฮูกล่าวว่า อิสราเอลกำลังโจมตีด้วยพลังมหาศาลใส่ ‘ระบอบของอยาตอลเลาะห์’ โดยมุ่งเป้าไปที่โครงการนิวเคลียร์ ฐานยิงจรวด และศูนย์บัญชาการทางทหารของอิหร่าน แต่ก็ยอมรับว่าอิสราเอลก็สูญเสียอย่างหนักเช่นกัน

“เรากำลังเผชิญกับความสูญเสียอันเจ็บปวด แต่แนวหลังยังมั่นคง ประชาชนยังแข็งแกร่ง และรัฐอิสราเอลเข้มแข็งกว่าที่เคย” เนทันยาฮู กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่การปะทะเริ่มต้นเมื่อวันศุกร์ สำนักงานนายกรัฐมนตรีอิสราเอลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ขณะที่อิหร่านอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตในประเทศมากกว่า 220 ราย ซึ่งรวมถึงทหารระดับสูงและนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ โดยยังไม่มีการอัปเดตตัวเลขล่าสุดจากทางการเตหะราน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top