COP 27 เวทีสำคัญถกแก้วิกฤตโลกร้อน มุ่งรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โลกร้อนที่กำลังคุกคามชีวิตกับ COP 27 จะมีผลเพียงใด

"We are on a highway to climate hell with our foot on the accelerator," UN Secretary General Antonio Guterres told the summit.

เรากำลังเหยียบคันเร่งบนถนนไฮเวย์ไปสู่ภูมิอากาศที่เลวร้ายราวนรกในขณะนี้ (นายกูเตอเรสกำลังบอกว่าโลกของเรากำลังพุ่งไปสู่ปัญหาภูมิอากาศที่ร้ายแรงในขณะนี้ ถ้าไม่ร่วมมือกันแก้ไข-ผู้เขียน)

นั่นคือคำเตือนของนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติที่พูดในการประชุม COP 27 ที่จัดขึ้นในอียิปต์ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๘ พฤศจิกายนนี้

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง ๒๖ ปีที่ผ่านมาและถือเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ

เรื่องภูมิอากาศโลกนี่เราคงคิดว่ายังอยู่ไกลตัว แต่ถ้าท่านลองใช้เวลาอ่านบทความนี้สักนิดจะเห็นว่าการประชุม COP ที่อียิปต์ในขณะนี้ มันกำลังใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีและน่าวิตกยิ่ง เพราะ ปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ กำลังคุกคามชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้

COP27 opened on Sunday with a warning from the UN that our planet is "sending a distress signal".

การประชุม COP 27 ที่เปิดไปเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ส่งคำเตือนที่น่าตกใจว่าโลกที่เราอาศัยอยู่กำลังส่งสัญญาเตือนภัยออกมาบ่อยครั้งขึ้น และประเทศต่างๆพึงจะได้ช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไม่ได้

ก่อนที่เราจะไปดูการประชุม COP 27 ของปีนี้หรือความพยายามของประเทศต่างๆที่จะลดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ climate change ขอพูดถึงคำ ๆนี้ ก่อนว่าส่งผลต่อ changing the weather อย่างไร

Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน, การใช้น้ำมันและก๊าซ เพื่อเป็นพลังงานที่มนุษย์ใช้เพื่อการดำรงชีวิตและทำธุรกิจต่างๆ การเผาไหม้พลังงานเหล่านี้ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปีเพราะมนุษย์เพิ่มการใช้พลังงานนี้ขึ้นทุกปี เมื่อโลกร้อนขึ้นได้ส่งผลต่อสภาพอากาศของโลก ๔ อย่างคือ ๑. อุณหภูมิโลกสูงขึ้น คลื่นความร้อนแผ่กระจายนานขึ้น ๒. แผ่นดินแห้งแล้งนานขึ้น ๓. ไฟป่าเกิดบ่อยขึ้น และ ๔. ฝนตกหนักมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะเราคงรู้ดีว่ามีผลต่อชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่นอินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนติดต่อกันมาห้าปีแล้ว  ปีที่แล้วในแคนาดาเมืองๆหนึ่งเกิดไฟไหม้เมื่ออุณหภูมิสูงถึง ๔๙.๖ องศาเซลเซียส เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในฝรั่งเศส สเปน และกรีซเป็นต้น ไฟป่าในสหรัฐกินพื้นที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำคนหนึ่งของสหรัฐบอกว่า ถ้าเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในที่หนึ่งและในอีกที่หนึ่งของโลกจะเกิดฝนตกอย่างรุนแรง

องค์กรระหว่างประเทศคือ Intergovernmental Panel on Climate change (IPCC) คาดว่าประชากรราว ๒๐ ล้านคนในอัฟริกาตะวันออกจะเผชิญกับความอดอยากจากปัญหาความแห้งแล้ง

สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือที่มาของการประชุม COP ที่สหประชาชาติพยายามขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักตัวอย่างง่าย ๆ บีบีซีภาษาอังกฤษรายงานว่าก่อนการประชุมใหญ่สหประชาชาติขอให้ประเทศที่จะเข้าประชุม (๒๐๐ ประเทศ) เสนอแผนการภูมิอากาศที่ประเทศนั้น ๆ มุ่งมั่นว่าจะพยายามทำแต่ปรากฏว่ามีเพียง ๒๕ ประเทศเท่านั้นที่เสนอมา 

ทีนี้มาดูกันว่าที่ประชุม COP 27 ที่อียิปต์เขาจะมีประเด็นสำคัญอะไรกันบ้าง มีอยู่ ๓ เรื่องสำคัญคือ ๑. ลดพฤติกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดมลพิษลง ๒. ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆในการเตรียมการหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และ ๓.ให้ความมั่นใจในความช่วยเหลือทางเทคนิคและให้เงินกับประเทศที่กำลังพัฒนาในสองประเด็นแรกที่กล่าวถึง

พร้อมกันนี้จะยังนำประเด็นจากการประชุม COP 26 เมื่อปีที่แล้วที่ยังทำไม่สำเร็จมาหารือกันอีก เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นน้ำท่วม น้ำแล้งให้ฟื้นคืนตัว แต่มิใช่จะให้เงินเฉพาะการป้องกันเท่านั้นหากแต่จะพยายามให้ประเทศเหล่านั้นลดการใช้ถ่านหินลงด้วย (เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก แต่ก่อให้เกิดมลพิษสูง)

ความสำคัญของการประชุม COP 27 ปีนี้ไม่ได้จำกัดวงแต่เพียงสิ่งที่กล่าวมาเท่านั้น แต่หัวใจที่รัฐบาลทุกประเทศและประชากรโลกต้องทำคือ พยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง ๑.๕ องศาเซลเซียสให้ได้  IPCC ชี้ว่าหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นไปแล้ว ๑.๑ องศาและถ้าหาก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับ ๑.๗-๑.๘ องศาเซลเซียส IPCC คาดว่าประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะผจญกับระดับความร้อนและความชื้นที่มีผลต่อชีวิตได้เลยและด้วยความตระหนักถึงอันตรายของความร้อนนี้จึงมีการลงนามในข้อตกลงปารีส  the Paris Agreement ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๙๔ ประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ๑.๕ องศา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปี ๗๘ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๑๐๐)

อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจในการประชุม COP 27 นี้คือ เรื่องเงินซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่คืบหน้า คือประเทศพัฒนาแล้วที่สัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือกับประเทศที่กำลังพัฒนาเมื่อไหร่ (ประเด็นเงินช่วยเหลือนี้มาจากการที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้ที่ส่งมลพิษออกมาทำลายสภาพอากาศมาก ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ยากจนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้ำแห้งจึงสมควรได้รับเงินช่วยเหลือ) และประเทศที่มีอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เช่น จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ฯ จะลดการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมของตนลงเพียงใด

อย่างไรก็ดีแม้การประชุม COP 27 จะยังไม่เสร็จสิ้นลงก็จริง แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่าบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลายได้ปล่อยให้ปัญหาโลกร้อนสายเกินไปเสียแล้วและไม่ว่าข้อตกลงในการประชุมครั้งนี้จะออกมาอย่างไร โลกจะไม่สามารถรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกินระดับ ๑.๕ องศาเซลเซียสได้

เรื่อง : อนุดี เซียสกุล


อ้างอิง : COP27: Why the latest UN climate conference matters, BBC News
COP27: Ukraine a reason to act fast on climate change - Rishi Sunak
COP27: What have global leaders done on climate change in 2022?
         : What is COP27 and why is it important?