Saturday, 10 May 2025
World

ผลโพลเผยคนอเมริกันมอง 4 ปีของไบเดน ทำสหรัฐแตกแยก ทิ้งผลงานผู้อพยพทะลัก

(22 ม.ค.68) ผลสำรวจจาก Rasmussen Reports ระบุว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าในช่วงการเป็นประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ระหว่างปี 2021-2024 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีความแตกแยกมากขึ้น

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นออนไลน์ในช่วงกลางเดือนมกราคมในการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,220 คน พบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าอเมริกาแตกแยกมากขึ้นหลังจากการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของไบเดน ขณะอีกที่ 30% มองว่า ระดับความแตกแยกในประเทศยังคงเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ไบเดนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง

มีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า รู้สึกว่าประเทศมีความแตกแยกน้อยลง ในขณะที่ 2% ไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว

การบริหารงานของไบเดนได้เผชิญความท้าทายกับปัญหาการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากชายแดนใต้ของสหรัฐฯ โดยมีตัวเลขผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทำสถิติสูงสุดติดต่อกันถึง 3 ปี มีผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมายมากกว่า 8 ล้านคนที่ข้ามเข้ามาในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและการป้องกันชายแดน (CBP)

ในอีกแง่หนึ่ง ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดย Ipsos และ Reuters การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จำนวน 1,077 คน  ระบุว่า คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สูงถึงเกือบครึ่งของผู้สำรวจความเห็น โดยร้อยละ  47% ของผู้ตอบความเห็นแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนทรัมป์ หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นครั้งที่สองในพิธีสาบานตนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ในการอภัยโทษผู้ต้องโทษประมาณ 1,500 คนที่ถูกตัดสินลงโทษจากเหตุการณ์ประท้วงที่อาคารรัฐสภา ขณะที่ 29% สนับสนุนการจัดการของประธานาธิบดีคนที่ 47 ในเรื่องการเมืองและความยุติธรรม

ในขณะเดียวกัน 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์ในด้านการตรวจคนเข้าเมือง โดย 56% สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า สหรัฐฯ ควร "ลดจำนวนผู้ขอลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตให้ข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญ"

สำหรับคะแนนความนิยมของทรัมป์ในช่วงเริ่มต้นของวาระแรกนั้นอยู่ที่ 43% และสูงสุดที่ 49% ในปี 2017 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 34% เมื่อสิ้นสุดวาระ

นักวิชาการไทยชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางจบเร็ว แฉลึก ‘ธุรกิจอาวุธ’ สหรัฐฯ ฟันกำไรจากวิกฤติ

(23 ม.ค.68) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจผลักดันให้ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียสิ้นสุดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย เชื่อว่าความขัดแย้งในยูเครนไม่น่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  

ผศ.ดร.กฤษฎา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

“ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการยุติสงครามจากเขาหรือทีมงานของเขา การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เงื่อนไขที่ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมรับได้” 

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นได้ว่าจุดยืนปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยาก”  

กฤษฎา ยังมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐพันลึกในสหรัฐฯ (Deep State) อาจไม่อนุญาตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองภายในและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำหนดและควบคุมโดยกลุ่มอำนาจรัฐพันลึก โดยเฉพาะบริษัทอาวุธที่มองว่าสงครามเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะในด้านการค้าอาวุธ”  

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังให้ความเห็นอีกว่า มีแนวโน้มที่บางประเทศยุโรปที่  'เริ่มถอนการสนับสนุนจากยูเครน' โดยเขากล่าวว่า “วาทกรรมที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย (Russophobia) ของประเทศในยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามักได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อชาติตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน แต่จะบุกประเทศอื่นต่อไป วาทกรรมนี้ทำให้ประเทศตะวันตกยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง”  

ตามรายงานของ Wall Street Journal ทรัมป์ได้มอบหมายให้ คีธ เคลล็อก ผู้แทนพิเศษด้านยูเครนของเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติความขัดแย้งในยูเครนภายใน 100 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “การเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่ทรัมป์สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเขาเคยกล่าวว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ขณะที่คีธ เคลล็อก กล่าวว่าเขาต้องการทำตามเป้าหมายภายใน 100 วัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ อาจหยุดการส่งอาวุธให้ยูเครน และย้ำถึงความพร้อมที่จะพบกับปูติน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ  

ด้านปูตินกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียกำลังจับตาถ้อยแถลงของทรัมป์และทีมงานที่แสดงถึงความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3

จีนเปิดตัวรถบรรทุกไร้คนขับ ใช้ AI วิ่งลุยเหมืองสูง 5,000 เมตร กลางที่ราบสูงทิเบต

(23 ม.ค.68) รถบรรทุกไร้คนขับ ออกวิ่งขนส่งแร่ไปตามถนนลูกรังอันคดเคี้ยวที่เหมืองทองแดงอวี้หลงในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บริเวณที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ความสูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

โครงการขับเคลื่อนอัตโนมัติสุดล้ำนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ถือเป็นระบบขนส่งไร้คนขับระบบแรกของโลกที่ดำเนินการในเหมืองเปิดโล่ง ณ ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่ของจีนในการพัฒนาเหมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่สูงให้ทันสมัย  

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทิเบต อวี้หลง คอปเปอร์ มายนิง จำกัด ในเครือเวสเทิร์น มายนิง จำกัด (Western Mining Co.) กลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 19 และหัวเหวย (Huawei)  

ทีมงานประจำโครงการเผยว่ารถบรรทุกแร่ไร้คนขับสามารถปฏิบัติงานบนเส้นทางเหมืองทอดยาวหลายกิโลเมตรที่มีความกว้างขั้นต่ำ 20 เมตร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมสุดท้าทายบนพื้นที่สูง อีกทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการรับรู้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายประเภทเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเสถียรตลอดปี และมีอัตราการปฏิบัติงานออนไลน์สูงกว่าร้อยละ 99

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G คลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติยังกลายมาเป็นแนวโน้มสำคัญในการพัฒนาร่วมกันของระบบเหมืองแร่และยานยนต์ในจีน

เหอเหว่ย วิศวกรเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของหัวเหวย อธิบายว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเหมืองแบบดั้งเดิม รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจุดเด่นอยู่ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลย

รถบรรทุกเหมืองอัตโนมัติระบบไฮบริด น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) หรือระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ กล้อง เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร และระบบนำทางแบบบูรณาการ กำลังถูกใช้งานในพื้นที่เหมืองที่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งศักยภาพการรับรู้สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์และการตัดสินใจอัตโนมัติ ทำให้รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานด้วยความเร็วที่ตั้งไว้ได้แม้ในตอนกลางคืน

เหอกล่าวว่าเซ็นเซอร์หลายตัวทำหน้าที่เสมือน 'หูและดวงตา' ของรถบรรทุก ช่วยให้พวกมันสามารถ 'ได้ยินและมองเห็น' สิ่งรอบตัว อีกทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง การจดจำสิ่งกีดขวางแบบคงที่ การต้านทานการรบกวน และเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

"ตัวอย่างเช่น ไลดาร์ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถตรวจจับมนุษย์หรือสัตว์ป่า เช่น หมี ม้า หมาป่า และสัตว์บนที่ราบสูงอย่างจามรีได้ โดยรถบรรทุกจะหยุดโดยอัตโนมัติหรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย" เหอระบุ

นอกจากนั้น ทีมงานของโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยระบบการจัดตารางรถ ระบบการตรวจสอบ บริการแผนที่ความแม่นยำสูง ซึ่งทำหน้าที่เป็น 'สมอง' ของโครงการขับเคลื่อนไร้คนขับ เพื่อเอื้อให้รถบรรทุกสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เทียบจอดอย่างแม่นยำ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากระยะไกล หยุดรถทันทีเมื่อพบคนเดินเท้า และวางแผนเส้นทางการเดินรถ

ข้อมูลจากเวสเทิร์น มายนิง จำกัด เผยว่าระบบจัดการอัจฉริยะนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการบำรุงรักษาถนนและลดความถี่การซ่อมแซมรถบรรทุก โดยเมื่อเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม รถบรรทุกเหมืองขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 กลุ่ม รวม 10 คัน สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 6 ล้านหยวน (ราว 27.8 ล้านบาท) ต่อปี

บัญชีเมตา 'ฟอลโลว์' ทรัมป์เอง ทั้งที่เคยอันฟอลไปแล้วหลายรอบ

เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.68) ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของเมตา (Meta) บางรายเปิดเผยว่า บัญชีของพวกเขาได้กลับไปติดตามโปรไฟล์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, รองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมลาเนีย ทรัมป์ อีกครั้ง หลังจากที่ได้เลิกติดตามไปแล้ว  

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านคณะบริหาร บัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวจะถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ชุดใหม่ที่ได้รับเลือก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในปี 2560 และ 2564 เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งต่อจากบารัค โอบามา และโจ ไบเดนเข้ามารับตำแหน่งต่อจากทรัมป์  

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานบางรายระบุว่า แม้พวกเขาจะเลิกติดตามบัญชีของทรัมป์, รองประธานาธิบดี และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งไปตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 มกราคม แต่กลับพบว่าบัญชีของตัวเองกลับไปติดตามบัญชีเหล่านั้นอีกครั้งโดยไม่ตั้งใจ บางคนต้องกดเลิกติดตามซ้ำหลายครั้ง หรือถึงขั้นบล็อกบัญชีเหล่านั้น  

แอนนา สปริงเกอร์ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ผ่านเธรดส์ (Threads) ของเมตาว่า “ฉันและคนอื่น ๆ ได้เลิกติดตามทรัมป์และแวนซ์เมื่อวันจันทร์ แต่ต่อมาพบว่าบัญชีของตัวเองกลับไปติดตามพวกเขาอีกครั้ง ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความผิดพลาดของระบบหรือเกิดจากความตั้งใจ แต่ที่แน่ ๆ คือมันเกิดขึ้นจริง”  

จนถึงขณะนี้ เมตายังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวก็ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เช่นกัน  

เดมี โลวาโต นักร้องชื่อดังจากสหรัฐฯ โพสต์สตอรีบนอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามกว่า 150 ล้านคน เผยว่าเธอพบปัญหาเดียวกัน โดยระบุว่า “วันนี้ฉันเลิกติดตามหมอนี่มา 2 ครั้งแล้ว” พร้อมโพสต์ภาพที่บัญชีของเธอติดตามรองประธานาธิบดีแวนซ์  

ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า พวกเขาพบว่าบัญชีของตัวเองติดตามเมลาเนีย ทรัมป์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความผิดพลาดของระบบหรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่โปร่งใสในระบบของเมตา

ทรัมป์สั่งพนักงานรัฐแจ้งเบาะแส หากเจอโครงการหนุนความหลากหลายทางเพศ

(23 ม.ค.68) รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานรัฐรายงานหากพบว่ามีการซ่อนโครงการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก (Diversity, Equity, and Inclusion – DEI) โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางวินัยหากไม่รายงานภายใน 10 วัน

คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ในการยกเลิกโครงการ DEI ในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นการกลับลำนโยบายจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับ DEI

คำสั่งระบุว่ามีการปกปิดโปรแกรม DEI บางส่วนในรัฐบาลโดยใช้ภาษาที่คลุมเครือ ผู้ที่รายงานภายในเวลาที่กำหนดจะไม่ถูกลงโทษ แต่หากไม่รายงานภายใน 10 วันอาจเผชิญกับผลกระทบทางวินัย

คำสั่งนี้ได้ถูกส่งไปยังพนักงานหลายกระทรวง ซึ่งอ้างว่ามาจากรัฐมนตรีหลายคนในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ เช่น จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากมาร์โก รูบิโอ และจากกระทรวงยุติธรรม โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งจากรักษาการอัยการสูงสุด เจมส์ แมคเฮนรี

ทรัมป์มองว่าโครงการ DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันบางกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่เชื้อชาติและเพศมากกว่าคุณสมบัติของผู้สมัคร ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองกลับมองว่า DEI เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่มีมายาวนาน

การกระทำของทรัมป์ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง โดยศาสตราจารย์ไซคี วิลเลียมส์-ฟอร์สัน มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าวว่าความไม่พอใจในหมู่ชายผิวขาวกำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทรัมป์กลับมามีบทบาททางการเมืองได้ แม้จะเผชิญกับคดีความหลายคดี

ขณะเดียวกัน สส. แฮงค์ จอห์นสัน จากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์กำลังทำลายความก้าวหน้าที่คนผิวดำได้สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษ

นอกจากนี้ ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา ทรัมป์ยังได้ยกเลิกคำสั่งฝ่ายบริหารปี 2508 ของอดีตประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ที่ห้ามผู้รับเหมาของรัฐบาลกลางเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และยังพยายามกดดันบริษัทเอกชนที่รับงานจากรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ DEI โดยขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

ล่าสุด รัฐบาลทรัมป์ได้เรียกร้องให้พนักงานรัฐรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ DEI ที่อาจถูกซ่อนไว้ โดยกำหนดให้พนักงานแผนก DEI หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างภายในเวลา 17:00 น. ของวันพุธที่ 22 มกราคม และปิดเว็บเพจของหน่วยงาน DEI ทั้งหมดภายในเวลานี้

แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวว่า คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้แล้ว และหน่วยงานของรัฐบาลกลางจะต้องส่งแผนการเลิกจ้างพนักงานภายในวันที่ 31 มกราคม

ฝ่ายสนับสนุนสิทธิพลเมืองได้ออกมาต่อต้านการกระทำนี้ โดยมองว่าโครงการ DEI มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดเชื้อชาติที่ยาวนาน ขณะที่ทรัมป์และผู้สนับสนุนมองว่า DEI เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกันคนอื่น

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

จีนเรียกร้อง 'ไทย-เมียนมา' หยุดภัยคุกคามฉ้อโกงออนไลน์อย่างจริงจัง

(23 ม.ค. 68) หลิวจิ้นซง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนหวังว่าไทยและเมียนมาจะปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนด้วยมาตรการที่เข้มงวด และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

หลิวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการพบปะหารือแยกกับฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน และติน หม่อง ชเว เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำจีน โดยหลิวได้แสดงความกังวลและหารือถึงความร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หลิวกล่าวว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมร้ายแรงหลายคดีในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สำคัญของประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ

จีนหวังว่าทั้งไทยและเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ใช้มาตรการเข้มงวดปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชน และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วไป

ด้านเอกอัครราชทูตไทยและเมียนมาประจำจีนกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อกังวลของจีนและรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อหลายเหตุการณ์ฉ้อฉลที่เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาดผ่านมาตรการที่ครอบคลุมและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขัง กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแก๊งอาชญากรอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย เสริมสร้างการควบคุมชายแดนและกำกับดูแลพื้นที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งกลไกระยะยาวเพื่อกำจัดแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามพรมแดน

พิพิธภัณฑ์เยอรมนีปลดป้ายอวยยศอีลอน มัสก์ เชื่อปมเชียร์ขวาจัด - ชูมือคล้ายสัญลักษณ์นาซี

(23 ม.ค.68) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'Deutsches Museum' ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้ปลดแผ่นป้ายที่เคยยกย่องอีลอน มัสก์ ในฐานะนักสร้างแรงบันดาลใจด้านอวกาศออกจากนิทรรศการ โดยไม่มีการระบุเหตุผลอย่างชัดเจนถึงการนำป้ายดังกล่าวออก  

โฆษกของพิพิธภัณฑ์ชี้แจงว่า “การยกย่องบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สำคัญของนิทรรศการ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการยกย่องที่ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมเสริมว่าความสำเร็จตลอดชีวิตของบุคคลหนึ่งมักสามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมในภายหลังเท่านั้น  

ก่อนหน้านี้ ป้ายดังกล่าวได้นำเสนออีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ควบคู่กับนักบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์จรวดในอดีตอย่างแม็กซ์ วาลีเออร์ และแฮร์มันน์ โอเบิร์ธ ในส่วนจัดแสดง “ผู้สร้างแรงบันดาลใจจากอดีตและปัจจุบัน”  

อย่างไรก็ตาม มัสก์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นการใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สนับสนุนการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการสนับสนุนพรรคขวาจัด AfD ของเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขายังจุดกระแสความไม่พอใจจากการแสดงท่าทางคล้ายกับการทำความเคารพแบบนาซีระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ฉลองพิธีสาบานตนของทรัมป์

ชาติตะวันตกส่งทหารล็อตใหญ่ 50,000 นาย ช่วยรับมือสู้ศึกรัสเซีย ปูทางสู่การยุติสงคราม

(23 ม.ค.68) เว็บไซต์สปุตนิกรายงานว่า รัฐบาลยูเครนเชื่อว่าบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกอาจส่งทหารอีกจำนวน 50,000 นาย มายังยูเครนเพื่อช่วยรับมือศึกรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ

ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟระบุว่า 
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้กล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งทหารไปยูเครนเพื่อรักษาความปลอดภัยหากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ทหารต่างชาติจะไม่ได้ถูกส่งไปยังเคียฟตามที่บางประเทศในยุโรปต้องการ พร้อมเสริมว่า ยูเครนต้องการกองทัพขนาดหนึ่งล้านนายซึ่งต้องรักษาไว้

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการหารือระหว่างเคียฟและพันธมิตรตะวันตก ว่า เจ้าหน้าที่ของยูเครนเชื่อว่า ตะวันตกอาจส่งทหารระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยบนแนวรบยาว 1,000 กิโลเมตร (621.4 ไมล์) 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า กำลังทหารประมาณ 40,000 นายอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งจนไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย และอาจไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ต้องการกำลังเสริม หากว่าต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทหารจำนวน 50,000 นายนี้จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกมัดลับของนาโต้ด้วย

ด้าน Camille Grand อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต้ เสริมว่า กองทัพนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มชั่วคราวที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยการเข้าร่วมจากประเทศในแถบบอลติกและนอร์ดิก

อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การหยุดความขัดแย้งในยูเครนไม่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย ในเดือนธันวาคม 2024 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการแค่การหยุดยิง แต่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนโดยมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศและประชาชนของตน

สหรัฐร่อนจดหมายถอนตัว WHO เป็นทางการ จับตา 'จีน' ผงาดชาติผู้สนับสนุนรายใหญ่แทน

(24 ม.ค.68) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระบุว่าได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันพุธ เกี่ยวกับการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ WHO โดยการถอนตัวนี้จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569

ทั้งนี้ กระบวนการถอนตัวจะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี หลังจากประเทศที่ต้องการลาออกแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการต่อ WHO โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องชำระค่าใช้จ่ายค้างชำระทั้งหมด ตามมติของสภาคองเกรสซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2491  

ปัจจุบัน สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO ด้วยสัดส่วนประมาณ 18% ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับปี 2567-2568 งบประมาณของ WHO อยู่ที่ประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 230,894 ล้านบาท)  ตามด้วยประเทศจีนมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งการออกของสหรัฐกำลังจะเปิดทางให้จีนกลายเป็นชาติผู้สนับสนุน WHO เป็นอันดับหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ยกเลิกการประชุมกับหน่วยงานภายนอก ระงับการเผยแพร่สิ่งพิมพ์บางฉบับ และสั่งให้พนักงานหยุดการเดินทาง หลังได้รับคำสั่งจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์  

แหล่งข่าวเผยว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา การประชุมระดับรัฐและรัฐบาลกลางเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโคนมและปศุสัตว์ในหลายรัฐ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) ได้ถูกยกเลิก นอกจากนี้ การฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขก็ถูกเลื่อนออกไป  

ปกติแล้ว การประชุมเกี่ยวกับไข้หวัดนก H5N1 จะจัดเป็นประจำ แต่แหล่งข่าวระบุว่าการประชุม 'One Health' ซึ่งมุ่งเน้นผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ ที่กำหนดจัดในวันพฤหัสบดีนี้ ถูกยกเลิกอย่างไม่คาดคิด  

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีมักส่งผลให้เกิดการชะลอการสื่อสารอยู่บ้าง แต่แหล่งข่าวกล่าวว่าการระงับกิจกรรมครั้งนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางผิดปกติ  

การยกเลิกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่โดโรธี ฟิงค์ รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำสั่งให้หยุดการเผยแพร่เอกสารและการสื่อสารต่อสาธารณะทั้งหมดทันที รวมถึงห้ามเจ้าหน้าที่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยคำสั่งนี้จะมีผลจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์  

ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มแสดงความกังวลต่อการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ แล้วเกือบ 70 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย CDC รายงานว่าส่วนใหญ่เป็นคนงานฟาร์มและมีอาการเพียงเล็กน้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top