Saturday, 10 May 2025
World

ทำไม?? ‘เมียนมา’ กล้าด่า!! ‘ไทย’ ออกสื่อขนาดนั้น ชำแหละมหากาพย์ ‘แดนสแกมเมอร์’ ริมชายแดน ตอนที่ 1

(26 ม.ค. 68) เรื่องที่เอย่าเขียนนี้เริ่มต้นมาจากไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีข่าวใหญ่ที่ลงในหน้าสื่อของเมียนมาและไทยที่กล่าวว่าผู้นำเมียนมาอ้างว่าไทยให้การสนับสนุนสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่ริมชายแดนเมียนมา  ดังนั้นวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนรู้กันตั้งแต่ต้นว่าทำไมฝั่งเมียนมาถึงกล้าด่าไทยออกสื่อขนาดนั้น

เมืองโจร The Origin

ทุกท่านคงรู้จักกันว่าอาณาจกรสแกมเมอร์ตอนนั้ที่มีก็คือ ฉ่วยก๊กโก  เคเคปาร์ค หวันหยา บ้านช่องแคบและตรงบ้านวาเล่ย์  แต่ถ้าย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดเมืองโจรแห่งแรกนั่นก็คือ ฉ่วยก๊กโก

ฉ่วยก๊กโก ได้รับการอนุมัติครั้งแรกในยุคที่นางอองซานซูจียังรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐ   ซึ่งในขณะนั้นมีสัญญาชัดเจนว่ามีการตกลงกันว่าการพัฒนาเมืองมีขนาดแค่ไหน  แต่พอระยะเวลาผ่านไป ปรากฎว่ากลุ่มทุนจีนได้สร้างเกินพื้นที่ ทางกองทัพเมียนมาก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเข้าไปควบคุมดูแล เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จนในยุคนั้นเจ้าหน้าที่ถูกจับติดคุกไปหลายคน  พอหลังจากรัฐประหาร มิน อ่อง หล่ายได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเรื่องให้ยกเลิกใบอนุญาตแต่หลังจากเกิดการคว่ำบาตรจากต่างประเทศ  ทำให้ทางกองทัพต้องยกเลิกประกาศนี้เพราะความข้าวยากหมากแพงของชาวบ้านในพื้นที่

ต่อมาคือ เคเคปาร์ค นี่คือพื้นที่ของชิตตู ทีนี่มีประเด็นตรงที่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น สงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมาได้ผลักดันทหารเมียนมาในพื้นที่ให้ออกไปจากจุดนี้ ภายหลัฃสงครามสงบ กองกำลัง BGF ของชิตตูจึงเข้ามาควบคุมตรงนี้และสร้างสัมพันธ์กับจีนเทาในที่สุด

ส่วนที่บ้านช่องแคบที่นายซิงซิงโดนจับไปเรียกค่าไถ่นั้นเป็นของ DKBA ร่วมกับจีนเทา เช่นเดียวกันกับตรงบ้านวาเลย์อันนั้นเป็นของกองกำลัง KNU  และที่เมืองหวันหยาก็เช่นเดียวกันที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของชนกลุ่มน้อยในตอนนี้เพราะทางรัฐบาลกลางเมียนมาไม่สามารถเข้าไปจัดการควบคุมได้นั่นเอง

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อนุมัติส่ง!! ระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ ให้ ‘อิสราเอล’ หลัง ‘ไบเดน’ เคยสั่งระงับ!! เพราะกลัวสงคราม กระทบพลเรือน

(26 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดให้กองทัพสหรัฐส่งระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ให้อิสราเอล ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อดีตปธน.โจ ไบเดน เคยระงับไว้

หลายฝ่ายคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้น ขณะที่ไบเดนเคยระงับการจัดส่งระเบิดหนักดังกล่าว เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเรือน โดยเฉพาะประชาชนในเขตราฟาห์ในกาซา ระหว่างการทำสงครามของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์

“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สั่งการและจ่ายให้กับอิสราเอล แต่มีอย่างหนึ่งที่ไบเดนไม่ได้ทำ ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว!” ทรัมป์โพสต์ผ่านทรูธโซเชียลโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดใดเพิ่มเติม

ทรัมป์และไบเดนเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลอย่างเหนียวแน่น แม้รัฐบาลวอชิงตันตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยนเกี่ยวกับวิกฤติมนุษยธรรมในกาซาจากการโจมตีทางทหารของอิสราเอลต่อกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในปาเลสไตน์ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐห้ามขายอาวุธให้อิสราเอล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะนี้อิสราเอลและฮามาสอยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง โดยมีการแลกเปลี่ยนตัวประกันอิสราเอลกับนักโทษปาเลสไตน์ไปแล้วบางส่วน ซึ่งล่าสุดฮามาสได้ปล่อยตัวทหารหญิงอิสราเอล 4 คน แลกกับนักโทษปาเลสไตน์ 200 คน เมื่อวันเสาร์

ฮามาสจับตัวประกันอิสราเอลไว้ 250 ราย ในระหว่างบุกโจมตีอิสราเอลวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 1,200 ราย และจุดชนวนให้เกิดการนองเลือดครั้งล่าสุด ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ

ขณะที่การโจมตีทางทหารของอิสราเอลในกาซา คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 47,000 คน ตามข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขกาซา นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงคราม ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

สั่งขึ้นภาษีโคลอมเบีย 25% หลังไม่รับเครื่องบินเนรเทศผู้ลี้ภัยที่สหรัฐส่งกลับ

(27 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศมาตรการตอบโต้โคลอมเบียอย่างรุนแรง หลังจากโคลอมเบียปฏิเสธไม่ให้เครื่องบินทหารสหรัฐ 2 ลำ ซึ่งขนผู้อพยพที่ถูกเนรเทศตามนโยบายเข้มงวดของรัฐบาลชุดใหม่ ลงจอดในโคลอมเบีย  

ทรัมป์โพสต์ผ่าน Truth Social ว่าการกระทำของนายกุสตาโว เปโตร ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ที่ปฏิเสธเที่ยวบินดังกล่าว ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ พร้อมสั่งให้รัฐมนตรีพาณิชย์ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากโคลอมเบีย 25% โดยระบุว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น  

สหรัฐเตรียมเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากโคลอมเบียเป็น 50% ภายในหนึ่งสัปดาห์ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลโคลอมเบียเดินทางเข้าสหรัฐ และเพิกถอนวีซ่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและธนาคาร พร้อมเสริมความเข้มงวดในการตรวจสอบชายแดน  

ทรัมป์ย้ำว่า สหรัฐจะไม่ยอมให้โคลอมเบียละเมิดข้อผูกพันทางกฎหมายในการรับผู้อพยพกลับประเทศ ขณะเดียวกัน เขายังโพสต์ภาพของตัวเองพร้อมข้อความ FAFO ซึ่งสื่อถึงการตอบโต้ที่รุนแรง  

นายเปโตรแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของสหรัฐ โดยระบุว่าผู้อพยพไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนอาชญากร และโคลอมเบียพร้อมต้อนรับพลเมืองที่ถูกเนรเทศกลับบ้านบนเครื่องบินพลเรือน  

เปโตรยังเน้นว่า แม้จะมีชาวอเมริกัน 15,660 คนที่พำนักอย่างผิดกฎหมายในโคลอมเบีย แต่โคลอมเบียจะไม่ใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบเดียวกัน  

โคลอมเบียซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐในลาตินอเมริกา ตอบโต้โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 50% เช่นกัน  

โคลอมเบียเป็นประเทศลาตินอเมริกาลำดับที่สองที่ปฏิเสธเครื่องบินทหารสหรัฐ ต่อจากเม็กซิโก แต่ทรัมป์ไม่ได้ใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงกับเม็กซิโก  

ในปี 2023 การค้าระหว่างสหรัฐและโคลอมเบียมีมูลค่า 33,800 ล้านดอลลาร์ โดยโคลอมเบียได้ดุลการค้า 1,600 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่สหรัฐนำเข้าจากโคลอมเบียได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ กาแฟ และดอกกุหลาบ  

รัฐบาลของทรัมป์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากประเทศในลาตินอเมริกาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้อพยพ ซึ่งบางกรณีถูกมองว่าละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน  

การใช้เครื่องบินทหารขนส่งผู้อพยพถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการย้ายถิ่นฐานของทรัมป์ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันแรกที่เขารับตำแหน่งประธานาธิบดี

สหรัฐฯ เบี้ยวหนี้ยูเอ็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ อ้างเป็นผู้นำโลก แต่ทุ่มเงินหนุนสงครามยูเครน

(27 ม.ค. 68) เว็บไซต์ Global Times ของทางการจีนรายงานบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐฯ โดยว่ารัฐบาลวอชิงตันดี.ซี กำลังแสดงตัวอย่างให้โลกเห็นถึงความละเลยต่อการรับผิดชอบต่อประชาคมโลย ด้วยการค้าชำระงบประมาณของสหประชาชาติ เป็นมูลค่าถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลับนำเงินไปหนุนการทำสงครามยูเครนเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 62 พันล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างเชิงลบของความเป็นผู้นำโลก

Global Times ระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายฟาร์ฮาน ฮัก รองโฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกาค้างชำระเงินจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์แก่สหประชาชาติ โดยในจำนวนนี้ 1.5 พันล้านดอลลาร์เป็นส่วนที่ค้างชำระในงบประมาณปกติขององค์กร การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญของสหประชาชาติไม่ยอมชำระเงินตามกำหนด ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อบทบาทผู้นำระดับโลก  

แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่การละเลยการชำระเงินให้แก่สหประชาชาติติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ สำหรับประเทศมหาอำนาจที่สามารถใช้จ่ายงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนสงคราม ตัวเลข 2.8 พันล้านดอลลาร์ที่ติดค้างนี้ดูเหมือนจะเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ ที่เลือกสนับสนุนกฎระเบียบระหว่างประเทศเฉพาะกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่ควรมีในฐานะประเทศมหาอำนาจ  

นายลวี่ เซียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสหรัฐฯ จากสถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า “การค้างชำระเงินในงบประมาณปกติของสหประชาชาติจากสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อบทบาทของสหประชาชาติอย่างชัดเจน” เนื่องจากการดำเนินงานของสหประชาชาติต้องพึ่งพารายได้จากการชำระเงินของประเทศสมาชิก หากมีเงินทุนเพียงพอจะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และวาระระดับโลกอื่น ๆ การชำระเงินตามกำหนดจึงถือเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานที่สุดของประเทศสมาชิกในกรอบการทำงานของสหประชาชาติ  

ปัญหาด้านการเงินของสหประชาชาตินับเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ มักชำระเงินเฉพาะเมื่อเห็นว่าสหประชาชาติสนับสนุนผลประโยชน์ของตน เช่น กรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน ที่สหรัฐฯ ได้ชำระเงินอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เนื่องจากสหประชาชาติไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในมติที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตยูเครนและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การชำระเงินจึงถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด  

สหรัฐฯ ใช้จุดแข็งด้านเศรษฐกิจและบทบาทในสหประชาชาติเป็นเครื่องมือกดดัน โดยการค้างชำระเงินถือเป็น "ไพ่ใบสำคัญ" ที่ใช้บีบให้สหประชาชาติสนับสนุนจุดยืนและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเด็นระหว่างประเทศ  

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของสหรัฐฯ ยังสะท้อนความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนสงคราม กลับแสดงความประหยัดอย่างยิ่งเมื่อต้องสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ในปลายปี 2024 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศชุดความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 988 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน ส่งผลให้ความช่วยเหลือทั้งหมดตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครน-รัสเซียมีมูลค่ารวมกว่า 62 พันล้านดอลลาร์ “หากสหรัฐฯ ยินดีจัดสรรเงินเพียงเล็กน้อยจากจำนวนเงินมหาศาลที่มักลงเอยในกระเป๋าของบริษัทค้าอาวุธให้แก่สหประชาชาติ จะถือเป็นการสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าแก่โลก” นายลวี่ กล่าวเสริม  

พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และเปิดเผยการเมินเฉยต่อหน้าที่ที่ควรปฏิบัติ ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวอ้างเรื่อง "บทบาทผู้นำโลก" ของสหรัฐฯ ความไม่สอดคล้องระหว่างคำพูดและการกระทำนี้ไม่เพียงแต่บั่นทอนความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของสหรัฐฯ ในเวทีโลก แต่ยังสร้างความไม่ไว้วางใจในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา และทำให้สถานะทางศีลธรรมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบหลายขั้วและความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งขึ้น สหประชาชาติยังคงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการบริหารจัดการระดับโลก หากสหรัฐฯ ยังคงเมินเฉยต่อบทบาทและความสำคัญของสหประชาชาติ ชื่อเสียงของตนในด้านการบริหารจัดการโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

รวบผู้ต้องสงสัยคดีหลอก 'ซิงซิง' ลั่นปราบเด็ดขาดค้ามนุษย์สแกมเมอร์

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนสามารถจับกุมและนำตัวผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความอันเป็นที่สนใจของสาธารณชนกลับประเทศสำเร็จ โดยคดีความดังกล่าวเป็นกรณีนักแสดงชายชาวจีนถูกหลอกลวงและกักขังที่ชายแดนไทย-เมียนมาอย่างผิดกฎหมาย

เมื่อวันอาทิตย์ (26 ม.ค.) กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนระบุว่าผู้ต้องสงสัยแซ่เหยียนถูกนำตัวกลับถึงจีนเมื่อวันเสาร์ (25 ม.ค.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะทำงานเฉพาะกิจของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย

ทั้งนี้ หลายคดีความเกี่ยวกับกรณีพลเมืองจีนถูกหลอกลวงและกักขังที่ชายแดนไทย-เมียนมาอย่างผิดกฎหมาย ที่ซึ่งเหยื่อถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมขบวนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นวงกว้าง

หวังซิง นักแสดงชายชาวจีน เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. แต่ขาดการติดต่อบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ติดตามความเคลื่อนไหวและช่วยเหลือเขาสำเร็จ ซึ่งหวังถูกระบุว่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เสริมว่าตำรวจจะเพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ดำเนินการปราบปรามขั้นเด็ดขาด และประสานงานช่วยเหลือเพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองจีนอย่างประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รู้จัก 'DeepSeek' แอป AI ต้นทุนต่ำของจีน ผงาดดาวน์โหลดสูงสุดในสหรัฐฯ ท้าชน ChatGPT

(27 ม.ค. 68) เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีแอปพลิเคชัน AI ตัวใหม่ที่ชื่อว่า DeepSeek ได้เปิดตัวบน App Store และได้รับความสนใจอย่างมาก จนสามารถทำยอดดาวน์โหลดแซงหน้า ChatGPT ขึ้นเป็นแอปอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยีและ AI

DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพจากจีน โดยบริษัทเพิ่งเปิดตัวโมเดล AI ชื่อว่า 'R1' ซึ่งได้รับการยอมรับในวงการ AI ด้วยการพัฒนาโมเดลที่มีขนาดเล็กเพียง 1.5B แต่มีความสามารถสูงกว่าโมเดล AI อื่นๆ อย่าง OpenAI o1-mini และที่สำคัญคือต้นทุนในการฝึกฝนโมเดลนั้นต่ำมากเพียงแค่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทนี้ก่อตั้งโดย Liang Wenfeng ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และนักธุรกิจชื่อดังในวงการ AI ของจีน ความน่าสนใจของ DeepSeek ไม่ได้เพิ่งมี เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัทเริ่มเส้นทาง AI ด้วยการพัฒนาเจเนอเรทีฟเอไอโมเดล สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการให้เหตุผล (Reasoning Tasks) ซึ่งสามารถแข่งขันกับโมเดลของ OpenAI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2023 DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek Coder โมเดล Open-Source สำหรับการเขียนโค้ด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และในปีเดียวกันยังเปิดตัวโมเดล DeepSeek LLM ที่มีเป้าหมายแข่งขันกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่

ในปี 2024, DeepSeek ได้เปิดตัว DeepSeek-V2 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงและต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งทำให้เกิดสงครามราคากับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการ AI ของจีน เช่น ByteDance, Tencent, Baidu และ Alibaba ที่ต้องลดราคาลงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ในปี 2024 เดียวกันนี้ DeepSeek ยังได้เปิดตัวโมเดล DeepSeek-Coder-V2 ที่รองรับการเขียนโค้ดที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้งานผ่าน API ในราคาประหยัด โดยค่าบริการคิดเป็น 0.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับข้อมูลนำเข้า และ 0.28 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนสำหรับผลลัพธ์

ขณะที่โมเดลล่าสุดอย่าง DeepSeek-R1 ได้ช่วยยกระดับความสำเร็จของ DeepSeek ในวงการ AI ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมและต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะโมเดล DeepSeek-R1 ที่เน้นงานด้านการให้เหตุผล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของโมเดลของ OpenAI

โมเดล R1 ของ DeepSeek มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือเหนือกว่าโมเดล o1 ของ OpenAI ในการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐาน AI บางรายการ โดยบริษัทอ้างว่าโมเดลของตนมีต้นทุนการฝึกฝนเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เงินทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในการฝึกฝนโมเดลของตนเอง

กระแสข่าวที่ออกมาทำให้ DeepSeek ตอนนี้ขึ้นอันดับ 1 แอปยอดนิยมของ App Store ในสหรัฐอเมริกา แซงหน้า ChatGPT ไปเรียบร้อย

แม้ว่าจะมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของต้นทุนที่ต่ำขนาดนี้ แต่หลายฝ่ายเห็นว่าหาก DeepSeek สามารถทำได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ AI และช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นและมีต้นทุนต่ำ

Yann LeCun หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ AI ของ Meta ได้กล่าวว่า โมเดล Open-Source อย่าง DeepSeek สามารถแซงหน้าโมเดลแบบปิดได้ และช่วยให้ทุกคนในวงการได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าครั้งนี้ ขณะที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง มาร์ก แอนเดรียสเซน กล่าวชมว่า DeepSeek เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่น่าทึ่งที่สุดในวงการ AI เพราะเนื่องจากที่ถูกรัฐบาลสหรัฐกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี AI จนสุดท้ายจีนก็สามารถพัฒนา AI ของตนเองขึ้นมาได้เองแถมยังมีต้นทุนต่ำ ขณะที่บางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความสำเร็จของ DeepSeek อาจเป็นภัยคุกคามต่อการแข่งขันของสหรัฐฯ ในตลาด AI  

พนง.'Nokia' ผวา 'iPhone' เปิดตัวมือถือจอสัมผัส เตือนผู้บริหารรับมือยุคตกต่ำหากไม่รีบปรับตัว

(27 ม.ค. 68) เว็บไซต์ Fahad X ได้เผยแพร่ไฟล์เอกสารพาวเวอร์พอยต์ เมื่อปี 2007 ที่เป็นความลับของบริษัท Nokia โดยข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยจากเอกสารภายในของ Nokia ซึ่งจัดเก็บอยู่ในโครงการ Nokia Design Archive ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย Aalto ประเทศฟินแลนด์

ข้อมูลในไฟล์ดังกล่าวเป็นการหารือภายในของพนักงาน Nokia ที่มองการเปิดตัว iPhone 2G ที่เปิดตัวเมื่อปี 2007 โดยไฟล์ดังกล่าวเป็นการนำเสนอของพนักงาน Nokia เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2007 ในรูปแบบของสไลด์ โดยพนักงาน Nokia ทั้งหมด 9 คน นำเสนอผู้บริหารระดับสูงว่า “iPhone” คือภัยคุกคามของ Nokia

สไลด์ดังกล่าวมีทั้งหมด 22 หน้า โดยเนื้อหาในสไลด์ชี้ว่า “iPhone” ของ Apple ซึ่งเปิดตัวในปีเดียวกันนั้น เป็นภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อ Nokia  

หัวข้อสไลด์เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “Apple เพิ่งเปิดตัว iPhone” โดยยืนยันว่า Apple สามารถใช้ชื่อ "iPhone" ได้หลังการเจรจากับ Cisco ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อพิพาทเรื่องสิทธิในชื่อดังกล่าว  

ในขณะนั้น Nokia ครองส่วนแบ่งตลาดมือถือโลกกว่า 50% และมีความมั่นใจในว่ายังคงสามารถรั้งตำแหน่งผู้นำตลาดได้ จนกระทั่ง 'สตีฟ จ็อบส์' ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ได้ประกาศเป้าหมายไว้ในงานเปิดตัว iPhone ว่า Apple ขอเพียง 1% ของตลาดมือถือ หรือยอดขาย 10 ล้านเครื่องในปี 2008 เท่านั้น แม้ผู้บริหาร Nokia จะยังไม่เห็นถึงความร้ายแรงของ iPhone ในทันที แต่ทีมงาน Nokia กลับมองเห็นจุดเด่นหลายประการที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่  

จุดเด่นของ iPhone ที่พนักงาน Nokia ในเวลานั้น นำเสอนต่อผู้บริหารมีหลายประเด็น อาทิ UI แบบจอสัมผัส ที่ไม่มีคีย์บอร์ดหรือปุ่มกดตัวเลข ซึ่งเป็นจุดเด่นใหม่ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของ Nokia  

การเจาะตลาดไฮเอนด์ ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทำให้ iPhone กลายเป็นสินค้า "ที่ต้องมี" และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ตระกูล N-Series ของ Nokia และภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูด ซึ่งช่วยให้ iPhone สร้างความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานอย่างรวดเร็ว  

เอกสารนี้ยังพูดถึงฟีเจอร์เด่นของ iPhone เช่น การใช้งานเบราว์เซอร์ที่ง่ายขึ้น, ฟังก์ชันการสไลด์เพื่อปลดล็อกหน้าจอ, แอปพลิเคชันรูปภาพที่ออกแบบมาให้ใช้งานสะดวก และความสามารถในการเชื่อมต่อกับ iPod เพื่อฟังเพลงทุกที่ทุกเวลา  

แม้ Nokia จะมีมุมมองที่รอบคอบต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่ท้ายที่สุด iPhone กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน ซึ่ง Nokia เองไม่สามารถปรับตัวได้ทัน  

เอกสารนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์เทคโนโลยี และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมองเห็นโอกาสและความท้าทาย แต่ยังขาดการลงมือปรับตัวอย่างทันท่วงที

ตม.สหรัฐลุยขับไล่ผู้อพยพในชิคาโก เจอคนไทยถูกรวบ พบมีประวัติอาชญากรรม

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ICE) ของสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการขับไล่ผู้อพยพในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยผิดกฎหมายออกจากประเทศ โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมเปิดเผยว่าเขามีพื้นเพมาจากประเทศไทย

โฆษกของ ICE กล่าวว่า ปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและเสริมสร้างความมั่นคงในชุมชน โดยเฉพาะการขจัดบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะ

เอมิล โบฟ รองอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชุมชนของเรามีความปลอดภัย และจะไม่หยุดจนกว่าภารกิจนี้จะสำเร็จ”

การจับกุมครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลในชุมชนผู้อพยพในชิคาโก โดยมีการรายงานจากกลุ่มองค์กรสนับสนุนผู้อพยพว่า มีผู้ถูกจับกุมจากหลายพื้นที่ในเมือง รวมถึงย่านอัลบานีพาร์กและเฮอร์โมซา

ในระหว่างการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมมือกับดร.ฟิล แม็กกรอว์ นักจัดรายการสื่อฝ่ายขวาในการถ่ายทอดสดบางส่วนของการจับกุมทาง Merit TV โดยมีการถ่ายทำภาพชายคนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับคำสัมภาษณ์จากดร.ฟิล

ชายผู้นั้นบอกว่าเขามีสัญชาติไทย และเกิดที่ประเทศไทย เมื่อถูกถามว่าเคยถูกตั้งข้อหาหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมไม่อยากพูดอะไร ผมต้องการคุยกับทนายความ” พร้อมกับยืนยันว่าแม่ของเขาคือพลเมืองสหรัฐฯ แต่เขาไม่ได้รับสัญชาติ

ตามข้อมูลจาก Merit TV ชายคนนี้ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศและการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทย แต่รายละเอียดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการสหรัฐฯ

ทรัมป์ส่งสัญญาณคืนดี WHO ถ้ารับปากปรับปรุงองค์กรใหม่

(27 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจพิจารณากลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) หากองค์กรสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น พร้อมแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO ในสัดส่วนที่สูงกว่าจีน แม้จีนจะมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ หลายเท่า

ทรัมป์ได้กล่าวระหว่างการปราศรัยที่นครลาสเวกัสว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณากลับเข้าร่วม WHO อีกครั้ง แต่การตัดสินใจนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงภายในองค์กรก่อน ขณะเดียวกัน เขายังกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO มากกว่าจีน แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่สนับสนุน WHO สูงสุดในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนของจีนคิดเป็นราว 18% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่ง WHO มีงบประมาณ 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศออกจากการเป็นสมาชิก WHO อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569 โดยทรัมป์แถลงในวันที่ 20 มกราคม หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยอ้างว่า WHO ล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตสุขภาพระดับโลกอื่นๆ

ผู้นำโคลอมเบียถอย ยอมรับผู้อพยพกลับ หลังทรัมป์ขู่ลงดาบคว่ำบาตร-ขึ้นภาษี

(27 ม.ค. 68) ทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคมว่า โคลอมเบียได้ตกลงรับผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาโดยผิดกฎหมายกลับประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ โดยข้อตกลงนี้ยังระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่เรียกเก็บภาษี 25% จากโคลอมเบีย ตราบใดที่รัฐบาลโคลอมเบียปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

คาโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า "รัฐบาลโคลอมเบียได้ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการรับผู้อพยพที่ถูกส่งกลับจากสหรัฐอย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์หรือเครื่องบินทหาร โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือความล่าช้า"

เลวิตต์เสริมว่า มาตรการภาษีและการคว่ำบาตรต่าง ๆ ที่เคยเตรียมไว้จะถูกระงับไว้ก่อน ตราบใดที่โคลอมเบียยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรด้านวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่โคลอมเบีย รวมถึงการตรวจสอบศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากโคลอมเบีย จะยังคงมีผลจนกว่าการส่งตัวผู้ถูกเนรเทศชุดแรกสำเร็จ และเครื่องบินลำดังกล่าวเดินทางกลับถึงสหรัฐ

การบรรลุข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย มีการตอบโต้ทางการทูตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวก่อนหน้านี้ โดยก่อนหน้านี้ นายเปโตร ได้สั่งระงับการลงจอดของเครื่องบินทหารสหรัฐ 2 ลำ ที่มีแผนขนส่งผู้อพยพชาวโคลอมเบียกลับประเทศ ซึ่งนำไปสู่คำขู่จากทรัมป์ว่าจะเพิ่มภาษีศุลกากร หากโคลอมเบียไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top