Saturday, 10 May 2025
World

รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ไทยเป็นทางผ่าน หลอกคนอินเดียทำงานสแกมเมอร์ในลาว

สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ของลาว เปิดเผยเมื่อ (27 ม.ค. 68) ว่าได้ให้การช่วยเหลือคนอินเดีย 67 คนที่ถูกหลอกให้ทำงานในศูนย์คอลเซ็นเตอร์ผิดกฎหมายในลาวได้สำเร็จ พร้อมออกคำเตือนถึงหนุ่มสาวชาวอินเดียให้ระมัดระวังการถูกหลอก โดยเฉพาะหากได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย  

สถานทูตอินเดียในลาวระบุว่า เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ถูกกลุ่มอาชญากรในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว หลอกลวงให้มาทำงาน ก่อนจะถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย

เมื่อสถานทูตได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ส่งทีมลงพื้นที่และประสานงานกับตำรวจลาวเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ โดยหลังจากจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายทั้งหมดถูกพาตัวจากแขวงบ่อแก้วมายังกรุงเวียงจันทน์ และได้รับการดูแลด้านที่พัก อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ อย่างครบถ้วน  

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศลาว ได้เข้าพบผู้เสียหายเพื่อให้กำลังใจ รับฟังเรื่องราว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีต่อกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ โดยยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการส่งผู้เสียหายกลับบ้านอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด  

สถานทูตอินเดียขอบคุณเจ้าหน้าที่ลาวที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเรียกร้องให้ดำเนินการกับแก๊งอาชญากรในเขตสามเหลี่ยมทองคำอย่างจริงจัง โดยเรื่องนี้ได้ถูกนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงของทางการลาวแล้ว โดยที่ผ่านมา สถานทูตอินเดียประจำกรุงเวียงจันทน์ได้ให้ความช่วยเหลือคนอินเดียรวม 924 คนในช่วงที่ผ่านมา โดย 857 คนได้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย  

สถานทูตฯ ยังได้เตือนว่า หากชาวอินเดียได้รับข้อเสนองานในประเทศไทย แต่เมื่อเดินทางถึงไทยแล้วกลับถูกพาไปเชียงรายที่ติดชายแดนไทย-ลาว นั่นอาจเป็นสัญญาณของการถูกหลอกลวงและนำตัวไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในลาว ซึ่งเมื่อไปถึง เหยื่อมักจะถูกยึดหนังสือเดินทางและบังคับให้เซ็นสัญญาที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศ ทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย  

สถานทูตฯ แนะนำให้ผู้ที่สนใจทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์สถานทูตหรือสอบถามข้อมูลโดยตรงก่อนรับข้อเสนอใด ๆ และหากสงสัยว่าอาจตกเป็นเหยื่อ ให้รีบติดต่อสถานทูตทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกและตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

ทรัมป์ชี้ DeepSeek จากจีน กระตุ้นสหรัฐฯ สู้ศึก AI ปลุกอุตสาหกรรมเทคโนโลยี!

(28 ม.ค. 68) หลังจากที่มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันโมเดล AI จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek จนกล่าวเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน App Store ที่สหรัฐ ซึ่ง DeepSeek ได้ออกมาอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโมเดล AI รุ่นใหม่ภายใต้ชื่อ DeepSeek-R1 ซึ่งทางผู้พัฒนาจากจีนอ้างว่าเป็น AI ที่มีต้นทุนต่ำและประมวลผลเร็วกว่านั้น

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากบริษัทสตาร์ทอัพจีนอย่าง DeepSeek ควรจะเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และกล่าวว่า การที่บริษัทจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วขึ้นนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี

ทรัมป์กล่าวว่า "การเปิดตัวโมเดล AI จากบริษัทสัญชาติจีนอย่าง DeepSeek ควรเป็นสัญญาณเตือนให้อุตสาหกรรมของเราต้องมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อการแข่งขันที่ดีขึ้น"

กระแสความนิยมของ DeepSeek ซึ่งเป็นโมเดล AI ต้นทุนต่ำ ทำให้บรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แห่เทขายหุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่า AI ของจีนอาจจะท้าทายความเป็นผู้นำด้าน AI ของสหรัฐฯ จนส่งผลให้หุ้นหลายตัวของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐถูกเทขายมหาศาล โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง NVIDIA ที่สูญเสียมูลค่าตลาดวันเดียวเฉียด 600,000 ล้านดอลลาร์ สังเวยให้กับการเปิดตัวของ DeepSeek 

ทรัมป์กล่าวว่า "ผมได้อ่านเกี่ยวกับจีนและบางบริษัทในจีน โดยเฉพาะบริษัทหนึ่งที่สามารถพัฒนาโมเดล AI ที่เร็วกว่าและราคาถูกกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะมันไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ผมมองในแง่บวก และเห็นว่าเป็นทรัพย์สินหนึ่ง"

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้กล่าวกับเขาว่าสหรัฐฯ มีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก และชี้ว่า หากอุตสาหกรรมจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ราคาถูกได้ บริษัทในสหรัฐฯ ก็จะทำตาม

"เรามีไอเดียเสมอ เราคือผู้นำเสมอ ดังนั้นผมมองว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมาก แทนที่จะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ คุณจะใช้เงินน้อยลงและหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน" ทรัมป์กล่าว

ในเวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังกล่าวถึงประเด็น TikTok โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อ TikTok อย่างมาก แต่เขากล่าวว่าไม่ต้องการให้รัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทโซเชียลมีเดียยอดนิยมนี้ และต้องการให้สหรัฐฯ ถือหุ้น 50% ในกิจการร่วมค้าของ TikTok

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า AI ต้นทุนต่ำที่บริษัทจีนกล่าวถึงนั้น มีที่มาจากอะไร เนื่องจากการสร้างโมเดล AI ต้องใช้ชิปประมวลผลระดับสูงจำนวนมาก ซึ่งชิปที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด AI คือชิปจากบริษัท NVIDIA แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้เกิดคำถามว่า จีนใช้เทคโนโลยีชิปประมวลผลแบบใดในการสร้างโมเดล AI ของ DeepSeek

ทั้งนี้ มีข้อมูลบางส่วนที่หลุดออกมาระบุว่า DeepSeek ได้ใช้ชิป NVIDIA H800 ในการฝึกฝนโมเดล AI ของตน โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงไม่ถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำประกาศนี้ แต่การที่บริษัทสามารถพัฒนาโมเดล AI ประสิทธิภาพสูงด้วยชิปที่มีสมรรถนะต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกไปจีน และด้วยต้นทุนที่ต่ำ ได้ทำให้ผู้บริหารเทคโนโลยีในสหรัฐฯ เริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน

กงสุลใหญ่ชิคาโกยืนยัน 'ไม่พบข้อมูล' ชายเอเชียที่ตม.สหรัฐฯ รวบ ยันไร้คนไทยถูกจับ

(28 ม.ค.68) จากกรณีที่ ฟิล แม็กกรอว์ หรือ ดร. ฟิล พิธีกรชื่อดังของสหรัฐฯ ได้เดินทางร่วมกับโธมัส โฮแมน ผู้คุมชายแดนคนใหม่ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ ในปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและมีการเผยแพร่ชายคนหนึ่งที่ชื่อ Seda (Sam) Soma ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐจับกุม และได้อ้างตัวเองผ่านสื่อว่าเป็นคนไทยนั้น

สำนักข่าว VOA ได้ประสานงานเพื่อสอบถามข้อมูลต่อ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยืนยันว่า ชายคนดังกล่าวไม่ใช่คนไทยตามที่มีการกล่าวอ้าง 

จากข้อมูลที่รายการของ ดร.ฟิล เผยแพร่ ระบุว่า ชายผู้ชื่อ Sam ที่ถูกจับกุมในคลิปดังกล่าวคือชายที่กระทำผิดทางเพศและหลอกลวงเหยื่อจากประเทศไทย โดยในคลิประบุว่า แซม เซดา เป็นชายผู้ที่ระบุว่าเกิดในประเทศไทย ได้พูดคุยกับดร.ฟิล ขณะที่ถูกถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเขาในสหรัฐฯ โดยเขาได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกขับออกจากประเทศ และขอพบทนายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุมขังเขา

เรื่องดังกล่าว นางฆฏนาวดี กัลยาณมิตร กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้กล่าวกับ VOAThai ว่า เมื่อได้รับข้อมูลจากข่าวดังกล่าว ทางสถานกงสุลได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์ และไม่พบชื่อของชายดังกล่าว ซึ่งยืนยันได้ว่าเขาไม่ใช่คนไทย โดยอาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยและเดินทางมาสหรัฐฯ ตามแม่ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ยังกล่าวเสริมว่า สถานกงสุลยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยคนใดถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรณีนี้แต่อย่างใด

ขณะที่ นางอุราสี ถิรตั้งเสถียร เจิง กงสุล ณ นครชิคาโก กล่าวว่า กระบวนการส่งตัวผู้ที่ถูกจับกุมจะอ้างอิงจากประเทศต้นทางที่บุคคลนั้นถือสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลสัญชาติอย่างรอบคอบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยังได้แนะนำให้ชุมชนไทยในพื้นที่ไม่ต้องตกใจและติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้น

การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นที่จะดำเนินการขับผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนโยบายคุ้มครองผู้อพยพ เช่น ชิคาโก

ตามรายงานจากสำนักงานตำรวจนครชิคาโก การจับกุมดังกล่าวถูกดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ  (ICE) โดยไม่ขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

นอกจากดร.ฟิลแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม เอมิล โบฟ เข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้ โดยระบุว่า ผู้อพยพที่ถูกจับกุมรายแรกในชิคาโกเป็นผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และเคยก่อเหตุฆ่าหญิงสาววัย 19 ปีในอุบัติเหตุขณะขับขี่ภายใต้ฤทธิ์สุรา

ล่าสุด รายงานจาก ICE ระบุว่าในวันเดียวกันได้จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายถึง 956 ราย ซึ่งมากกว่าการจับกุมเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2024 ถึงสามเท่า

ทรัมป์สั่งสร้างโล่เหล็ก 'America Iron Dome' ป้องแผ่นดินสหรัฐฯ จากขีปนาวุธตามรอยอิสราเอล

เมื่อวันที่ (27 ม.ค.68) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารในด้านการปฏิรูปกองทัพฯ หลายคำสั่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนาม คือการริเริ่มให้มีการสร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศ 'ไอรอนโดม' สำหรับสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่อิสราเอลใช้สกัดขีปนาวุธหลายพันลูก 

“ภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้อง  ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวของระบบ ความต้องการตามขีดความสามารถ และแผนการดำเนินการสำหรับโล่ป้องกันขีปนาวุธรุ่นถัดไปให้แก่ประธานาธิบดี” คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ระบุ

ระบบ America Iron Dome จะรวมถึงแผนการป้องกันขีปนาวุธร่อนแบบวิถีโค้ง ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธล้ำหน้า เร่งการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามขีปนาวุธจากอวกาศที่มีความเร็วเหนือเสียงและแบบวิถีโค้ง และพัฒนาและติดตั้งเครื่องสกัดกั้นขีปนาวุธจากอวกาศที่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้ในช่วงส่งเสริมการโจมตี เอกสารระบุ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเน้นย้ำว่าภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศขั้นสูงอื่น ๆ "ยังคงเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ"

ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ที่คล้ายกับ Iron Dome ของอิสราเอลนี้จะใช้ชื่อว่า 'America Iron Dome' ระบบนี้จะสามารถป้องกันภัยจากขีปนาวุธทั่วไป ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค ขีปนาวุธนำวิถี และรูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยงบประมาณหรือกรอบเวลาการพัฒนาระบบนี้

"เราจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธล้ำสมัย ไอรอนโดม ซึ่งจะสามารถปกป้องชาวอเมริกัน" ทรัมป์ บอกกับที่ประชุมระดมความคิดของรีพับลิกันในไมอามี พร้อมบอกว่า 'ระบบนี้จะผลิตที่นี่ ในสหรัฐฯ'

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า ระบบไอรอนโดมอาจไม่เหมาะสมกับการรับมือภัยคุกคามทางอากาศของสหรัฐฯ เนื่องจากระบบที่ใช้ในอิสราเอลซึ่งเป็นแบบที่ทรัมป์อยากได้นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามพิสัยใกล้ ทำให้มันไม่เหมาะสมสำหรับป้องกันการโจมตีใด ๆ ด้วยขีปนาวุธข้ามทวีป ที่เป็นตัวอันตรายหลักสำหรับสหรัฐฯ มากกว่า 

ทั้งนี้ นอกจากคำสั่งสร้าง America Iron Dome แล้ว ทรัมป์ยังลงนามคำสั่งปฏิรูปกองทัพสหรัฐในอีกหลายคนสั่ง เช่น การสั่งห้ามบุคคลข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์ เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ โดยทรัมป์เรียกคำสั่งนี้ว่า "การกำจัดลัทธิหัวรุนแรงทางเพศในกองทัพ" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายและความเท่าเทียมในกองทัพ

ก่อนหน้านี้ ในสมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง เขาเคยประกาศห้ามกลุ่มทรานส์เจนเดอร์เป็นทหาร โดยให้เหตุผลว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทหารข้ามเพศสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศระบุว่า ในจำนวนทหารอเมริกันทั้งหมด 1.3 ล้านคน มีทหารที่ระบุว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน แต่ทางการสหรัฐฯ ชี้ว่ามีเพียงไม่ถึงพันคน

แฉบริษัทอาวุธมะกัน โกยเงินสงครามยูเครน หุ้นโตพุ่ง-ออเดอร์อื้อ ไม่สนวิกฤตขัดแย้งโลก

(28 ม.ค.68) ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่เห็นปลายทางของจุดจบ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมทางทหารหลายแห่งของสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากความขัดแย้งของสองชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายรายให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว  Sputnik ว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธในสหรัฐฯ ได้ทำกำไรมหาศาลจากการจัดหาอาวุธสำหรับสงครามในยูเครน ซึ่งผลักดันโลกให้เข้าใกล้จุดวิกฤติของสงครามเต็มรูปแบบ

รายงานระบุว่า บรรดาผู้ผลิตอาวุธจากสหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์จากการขายอาวุธให้แก่รัฐบาลต่างชาติ ส่งผลให้ยอดขายอาวุธของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29% ในปี 2024 หรือคิดเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 318.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ   

ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของสหรัฐ อาทิ Lockheed Martin, General Dynamics และ Northrop Grumman ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางหุ้นสายเทคโนโลยีบริษัทอื่นๆที่มักผันผวน แต่หุ้นของอุตสาหกรรมอาวุธในสหรัฐฯ ต่างเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยหุ้นของ Lockheed Martin เติบโต 38.49% ในปีที่ผ่านมา แตะจุดสูงสุดที่ 611.74 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ขณะที่หุ้นของ General Dynamics เพิ่มขึ้น 27.81% แตะระดับสูงสุดที่ 313.39 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน 2024  ส่วนหุ้นของ Northrop Grumman มีการเติบโต 25.5% ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2024  

ตามการวิเคราะห์ของ Sputnik ที่อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการคลังยูเครนและมหาวิทยาลัย Kiel พบว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา NATO ได้สนับสนุนงบประมาณแก่รัฐบาลยูเครนถึง 191.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุด มูลค่ารวม 68.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่าประเทศที่เป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหรัฐฯ ได้แก่ ตุรกี สั่งซื้อ เครื่องบิน F-16 และการปรับปรุงระบบ มูลค่า 23 พันล้านดอลลาร์ อิสราเอล สั่งซื้อเครื่องบินรบ F-15 มูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่น สั่งซื้อ เครื่องบิน KC-46A มูลค่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ และขีปนาวุธ Tomahawk มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์  เยอรมนี สั่งซื้อขีปนาวุธ Patriot มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์  อินเดีย สั่งซื้อโดรน MQ-9B มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-64E Apache มูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ โรมาเนีย สั่งซื้อรถถัง M1A2 Abrams มูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์)

ดร.เคน แฮมมอนด์ นักเขียนและศาสตราจารย์ กล่าวกับ Sputnik ว่า การแสวงหากำไรจากสงครามโดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรง โดยยูเครนถูกส่งอาวุธจากตะวันตกอย่างไม่หยุดยั้ง  

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทางทหารจำนวนมหาศาลที่ตะวันตกส่งให้ยูเครนส่วนใหญ่กลับไร้ผลในสนามรบ อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายโจมตีที่ชอบธรรมของรัสเซีย และยังมีส่วนหนึ่งที่หลุดไปอยู่ในมือของพ่อค้าอาวุธผิดกฎหมายในตลาดมืด

สิงคโปร์เปิดทดลองให้คนโดยสาร เริ่มวิ่ง 2 เส้นทางกลางปี 2026

(28 ม.ค. 68) สำนักงานการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมร่วมส่งข้อเสนอสำหรับโครงการนำร่องเพื่อทดสอบรถโดยสารประจำทางอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายเริ่มทดลองให้บริการรถเมล์อัตโนมัติ ระยะ 3 ปี บนเส้นทางที่กำหนด 2 เส้นทาง ซึ่งจะเริ่มช่วงกลางปี 2026

โครงการข้างต้นจะเริ่มต้นด้วยรถเมล์จำนวน 6 คัน แต่ละคันมีที่นั่งอย่างน้อย 16 ที่นั่ง และเลือกใช้งานเส้นทางที่มีระยะสั้นและสัญจรง่าย โครงการนำร่องนี้มีเป้าหมายประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิค และศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานของยานยนต์ประเภทนี้ทั้งในระดับให้บริการเป็นรายคันและระดับกองยานยนต์

ในระยะแรกจะมีพนักงานขับรถประจำอยู่บนรถเมล์อัตโนมัติเพื่อดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย อาทิ การรับและส่งผู้โดยสารอย่างปลอดภัยตามจุดจอดที่กำหนด โดยผู้โดยสารจะต้องนั่งอยู่กับที่และคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง และอาจมีเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าประจำอยู่ด้วยเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือ

เมื่อยานยนต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติและมีการควบคุมจากระยะไกลที่น่าเชื่อถือได้แล้ว เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยจากระยะไกลจะมาดำเนินงานแทนพนักงานขับรถ ขณะที่สำนักงานฯ จะติดตามการทำงานของรถโดยสารแบบเรียลไทม์ตลอดช่วงการทดลองเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความสอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ

สำนักงานฯ จะปิดรับข้อเสนอภายในไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ของปี 2025 ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จอาจมีการจัดซื้อรถเมล์อัตโนมัติเพิ่มสูงสุด 14 คัน และเพิ่มเส้นทางทดลองอีก 2 เส้นทาง โดยคาดว่าจะมีการมอบสัญญาโครงการนำร่องภายในสิ้นปี 2025

Google Maps เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' แต่..เห็นเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐฯ เท่านั้น

(28 ม.ค.68) Google ได้โพสต์บน X ว่า Google Maps เตรียมปรับเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการปรับปรุงข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ Geographic Names Information System (GNIS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการตั้งชื่อทางภูมิศาสตร์ของรัฐบาลกลางและระดับชาติ

Google ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงชื่อในครั้งนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนดสำหรับการอัปเดตชื่อสถานที่ในแผนที่ หลังจากได้รับการยืนยันจากแหล่งข้อมูลทางการของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า อ่าวนี้จะถูกเรียกชื่อว่า 'อ่าวอเมริกา' อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ชื่อ 'อ่าวอเมริกา' จะปรากฏเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนผู้ใช้ในเม็กซิโกจะยังเห็นชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เหมือนเดิม ในขณะที่ผู้ใช้จากประเทศอื่น ๆ จะเห็นทั้งสองชื่อบน Google Maps

นอกจากนี้ Google Maps ยังจะปรับชื่อยอดเขาเดนาลี ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอเมริกาเหนือ และมีชื่อที่ชาวอลาสกาตั้งให้เป็นยอดเขาเมาท์แมคคินลีย์ เมื่อหน่วยงานด้านระบบสารสนเทศชื่อภูมิศาสตร์ (GNIS) ได้ทำการปรับเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นทางการ

บริษัทบิ๊กเทคตะวันตกระส่ำ หลังจีนปล่อย DeepSeek เอไอต้นทุนถูก

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ถึงกรณีที่จีนได้เปิดตัว Deepseek เอไอต้นทุนถูก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐ อเมริการ โดยระบุว่า แค่จีนปล่อยของให้โลกตะลึง ด้วยสิ่งที่เริ่ดกว่า/ต้นทุนต่ำกว่า เดินเกมเหนือ บริษัทเทคฝรั่งที่ว่าแน่ร่วงระนาว ลุงทรัมป์ จะโต้กลับยังไงเอ่ย

พร้อมยังระบุในช่องคอมเมนต์ด้วยว่า หุ้น 7 นางฟ้าที่ว่าแน่ นางฟ้าทั้ง 7 ตกสวรรค์ถ้วนหน้า !! แค่โดน A.I.จีน DeepSeek ปล่อยหมัดเบาๆ ด้วยสิ่งที่เริ่ดกว่า/ต้นทุนต่ำกว่า มีบางจังหวะ NvidiA ของเจนเซ่น หวง  โดนน๊อกหนัก ร่วงลงไป เกือบ 5 แสนล้านบาท

คนยูเครนเกินครึ่งเบื่อสงคราม หนุนถกรัสเซีย ปูตินเปิดช่องสันติภาพ แต่ไม่ขอคุยกับเซเลนสกี

(29 ม.ค. 68) ผลสำรวจล่าสุดเผย ชาวยูเครนครึ่งหนึ่งสนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้ยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 3 ปี

ผลสำรวจของ Socis สำนักโพลของยูเครนที่เมื่อไม่นานมานี้  แสดงให้เห็นว่าประชากรยูเครน 50.6% สนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพ โดยมีตัวกลางจากนานาชาติเข้ามามีบทบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 สะท้อนถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของชาวยูเครน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นในสมรภูมิรบ

ในขณะเดียวกัน อัตราการสนับสนุนให้เดินหน้าต่อสู้เพื่อทวงคืนชายแดนสู่แนวเดิมในปี 1991 ลดลงจาก 33.5% ในช่วงต้นปี 2024 เหลือเพียง 14.7% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่แนวคิดการตรึงสมรภูมิไว้ในแนวปัจจุบันก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจาก 8.2% เป็น 19.5%

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แสดงท่าทีว่าพร้อมพิจารณาการเจรจาสันติภาพ แต่ปฏิเสธการพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ซึ่งเขามองว่าเป็นผู้นำที่ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เนื่องจากหมดวาระไปแล้วในช่วงกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ปูตินเปิดทางให้มีการเจรจาผ่านตัวแทนจากทั้งสองฝ่าย

เซเลนสกี ตอบโต้ท่าทีของปูติน โดยระบุว่ารัสเซียพยายามยื้อเวลาและกลัวการเจรจาจริงจัง เขาย้ำว่าแนวทางเดียวที่ยอมรับได้คือสันติภาพที่รักษาอธิปไตยของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกเดินหน้าสนับสนุนเคียฟต่อไป

ด้านสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งสองฝ่ายให้บรรลุข้อตกลงโดยเร็ว ทรัมป์เตือนว่าหากรัสเซียไม่ยอมรับการเจรจา อาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม นอกจากนี้ เขายังแต่งตั้งคีธ เคลลอกก์ ทูตพิเศษด้านยูเครนคนใหม่ พร้อมกำหนดระยะเวลา 100 วันให้ดำเนินการหาข้อตกลงสันติภาพให้ได้

มอสโกยังคงยืนยันจุดยืนว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยูเครนละทิ้งความต้องการเข้าร่วมนาโต รวมถึงยอมรับสถานะใหม่ของดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เคียฟยืนกรานว่าการเจรจาต้องนำไปสู่การฟื้นฟูอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมด รวมถึงไครเมียที่ถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2014

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่แรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ อาจทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทั้งสองประเทศจะต้องหันหน้าสู่โต๊ะเจรจาในอนาคตอันใกล้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top