(31 ม.ค.68) หนึ่งข่าวแวดวงธุรกิจช่วงนี้ที่ถูกกล่าวถึงกันมากคือ รายงานข่าวของสื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นที่ว่า ตระกูลอิโตะ (Ito)ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท 7-ELEVEN ญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ เซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings)เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN มีสาขาทั่วโลก ติดต่อกลุ่มธุรกิจเครือ CP เจริญโภคภัณฑ์ ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ให้ช่วยเหลือเพื่อกันไม่ให้บริษัทร้านสะดวกซื้อแคนาดาชื่อดัง Alimentation Couche-Tard เข้าเทคโอเวอร์กิจการในราคา 47 พันล้านดอลลาร์
แม้ว่าปัจจุบันสมาชิกตระกูลอิโตะ จะไม่ได้ทำหน้าที่บริหารกลุ่มเซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ โดยตรงแล้วก็ตาม โดยให้นายริวอิจิ อิซากะ รับหน้าที่ประธานและซีอีโฮของกลุ่มเซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ แทน แต่ปัจจุบันตระกูลอิโตะยังคงมีบทบาทและถือหุ้นใน เซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ อยู่ไม่น้อย
ก่อนหน้านี้ในปี 2023 กลุ่มเซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ เพิ่งสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเกิดขึ้นของแบรนด์ 7-ELEVEN ในญี่ปุ่น นั่นคือการเสียชีวิตของนาย มาซาโตชิ อิโตะ อดีตประธานและผู้ก่อตั้งกลุ่ม เซเว่น& ไอ โฮลดิงส์ ที่เสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 98 ปี เมื่อ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
นายมาซาโตชิ อิโตะ นับว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างแบรนด์ 7-ELEVEN ให้รู้จักไปทั่วญี่ปุ่นรวมถึงทั่วโลก ต้องเท้าความก่อนว่าเชนแฟรนไชนส์ร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN นั้นแรกเริ่มเดิมทีมีต้นกำเนิดในเมืองเออร์วิง รัฐเท็กซัส ของสหรัฐ โดย โจ ซี. ทอมป์สัน (Joe C. Thompson) กระทั่งต่อมาขายหุ้นบริษัทให้กับกลุ่ม‘อิโตะ-โยคาโดะ’ (Ito-Yokado) ของตระกูลอิโตะ
ย้อนกลับมาที่ประวัติของมาซาโตชิ อิโตะ ย้อนไปในปี 2499 นายอิโตะรับช่วงต่อธุรกิจร้านเสื้อผ้าขนาดเล็กต่อจากลุงและพี่ชายต่างมารดา ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘อิโตะ-โยคาโดะ’ (Ito-Yokado) และเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นเชนร้านสะดวกซื้อครบวงจร ที่ขายทุกอย่างตั้งแต่ของชำไปจนถึงเสื้อผ้า และได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2515
ในเวลาเดียวกัน นายโทชิฟุมิ ซูซุกิ ผู้บริหารคนหนึ่งของ อิโตะ-โยคาโดะ ได้เป็นเจอร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ขณะเดินทางเยือนสหรัฐฯ พวกเขาเล็งเห็นโอกาส ในเวลาต่อมา อิโต-โยคาโดะ จึงได้ทำข้อตกลงกับบริษัทสหรัฐฯ ‘เซาท์แลนด์ คอร์เปอเรชัน’ (Southland Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทแม่เจ้าของ เซเว่น อีเลฟเว่น ในสหรัฐ นำแบรนด์เข้ามาทำตลาดแดนอาทิตย์อุทัย และเปิดร้านสาขาแรกในญี่ปุ่นในปี 2517
หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2533 บริษัทของนายอิโตะก็เข้าซื้อหุ้น 70% ของบริษัท เซาท์แลนด์ คอร์เปอเรชัน หลังเซาท์แลนด์ฯ ประสบปัญหาหนี้ท่วมจนต้องยื่นล้มละลาย ทำให้นายอิโตะได้สิทธิ์ในการบริหารกิจการทั้งหมดของเซาท์แลนด์ฯ ก่อนจะขยายสาขาของ เซเว่น อีเลฟเว่น ไปในหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2535 นายอิโตะต้องลาออกจากตำแหน่งใน อิโตะ-โยคาโดะ เพื่อรักษาความสงบในการประชุมผู้ถือหุ้น หลังจากผู้บริหารของบริษัท 3 คนถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินผิดกฎหมายให้กลุ่มแก๊งยากูซ่า
จากนั้นในปี 2548 บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ ก็ถูกก่อตั้งขึ้น และมีการปรับโครงสร้างการบริหาร ให้ อิโตะ-โยคาโดะ ไปเป็นบริษัทสาขาแทน แต่ทางบริษัทยังให้ความสำคัญกับนายอิโตะ โดยตัว ‘ไอ’ (i) ของชื่อ เซเว่น แอนด์ ไอ มีที่มาจากอักษรตัวแรกจากชื่อของนายอิโตะกับบริษัท อิโตะ-โยคาโดะ และนายอิโตะยังได้รับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ด้วย
ปัจจุบัน เซเว่น อีเลฟเว่น เป็นร้านสะดวกซื้อครบวงจรที่มีสาขามากกว่า 83,000 แห่งใน 17 ประเทศทั่วโลก โดย 1 ใน 4 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น คู่แข่งหลักของเซเว่น อีเลฟเว่น ได้แก่ ลอว์สัน (Lawson) ที่มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่นเช่นกัน และแฟมิลี มาร์ท (Family Mart) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ แต่ทั้ง 2 เจ้าก็ยังมีจำนวนสาขาทั่วโลกไม่เยอะ หรือทั่วถึง เทียบเท่ากับอาณาจักรของเซเว่น อีเลฟเว่น
กล่าวกันว่ามุมมองธุรกิจที่เฉียบแหลมของอิโตะ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการของเขา ผู้ซึ่งเคยยกย่องอิโตะว่า "เป็นผู้ประกอบการและผู้สร้างธุรกิจที่โดดเด่นคนหนึ่งของโลก"
ปี 2531 อิโตะเคยให้สัมภาษณ์กับ The Journal of Japanese Trade and Industry ว่าเมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2503 เขาเกิดความรู้สึกตกใจว่า "ทำไมทุกคนที่นี่ถึงดูร่ำรวย ในขณะญี่ปุ่นเวลานั้นเศรษฐกิจย่ำแย่ และอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2"
เขาจึงเริ่มศึกษาจำนวนผู้บริโภคที่แท้จริงในสหรัฐ จนพบว่ามีขนาดใหญ่ และลองหาเทคนิคการจัดจำหน่ายที่เป็นไปได้เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มใหญ่นี้
“แม้ผู้คนอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่พวกเขายังคงมีความต้องการโดยพื้นฐานเหมือนกัน และระบบการจัดจำหน่ายของญี่ปุ่น จะเริ่มเหมือนของสหรัฐมากขึ้น เมื่อสังคมผู้บริโภคของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น”
อิโตะ เป็นผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจในยุคหลังสงคราม เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ปั้นแบรนด์ระดับโลกที่จำหน่ายสินค้าทุกอย่าง ตั้งแต่โยเกิร์ตไปจนถึงอาหารสำเร็จรูปและยารักษาโรค ตลอดช่วงปี 2513 -2523 มีผู้สนใจเสนอซื้อกิจการและขยายกิจการหลายครั้งหลายครา
ในบทสัมภาษณ์ของอิโตะเมื่อ 2531 เขาเคยกล่าวว่า “ผมมักถูกถามว่า ประสบความสำเร็จได้ เพราะทำงานหนักหรือเพราะโชคดี คำตอบของผม คือ ทั้งสองอย่าง”
สำหรับบริษัท Seven & i Holdings ปัจจุบันมีบริษัทโฮลดิ้งของตระกูลอิโตะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ Ito Kogyo KK มีสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 8.14%