Friday, 9 May 2025
World

ทรัมป์เพ่งเล็ง 'Shein-Temu' สั่งไปรษณีย์สหรัฐฯ หยุดรับพัสดุจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว

(5 ก.พ. 68) ไปรษณีย์สหรัฐฯ (USPS) ประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ว่า จะระงับการรับพัสดุขาเข้าจากจีนและฮ่องกงชั่วคราว โดยไม่ระบุเหตุผลอย่างชัดเจน และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อไป โดยในเบื้องต้น USPS ยืนยันว่า การจัดส่งจดหมายและพัสดุทั่วไปจากทั้งสองประเทศยังคงดำเนินการตามปกติ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับพัสดุขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน/คน หรือที่เรียกว่า “de minimis” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากจีนสามารถหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

การยกเลิกข้อยกเว้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากจีนและฮ่องกง ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มชื่อบริษัทอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง 'ชีอิน' (Shein) และ 'เทมู' (Temu) ในรายชื่อบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS)

แหล่งข่าวระบุว่า แม้รัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ก็อาจตัดสินใจไม่เพิ่มชื่อทั้งสองบริษัทในรายชื่อดังกล่าว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่จีนตอบโต้การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยการกำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และเตือนถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงกูเกิล (Google) ของอัลฟาเบท อิงค์ (Alphabet Inc.)

ทั้งนี้ ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็นจาก DHS, เทมู หรือชีอิน ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

ทรัมป์เล็งสั่งยุบกระทรวงศึกษาฯ คืนอำนาจมลรัฐ หวังลดงบประมาณ แต่ติดด่านสภาคองเกรส

(5 ก.พ. 68) สื่อสหรัฐรายงานว่า ทำเนียบขาวเตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งเพื่อยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่สามารถยุบกระทรวงศึกษาธิการได้ตามใจชอบ หากไม่ได้รับการรับรองจากสภาคองเกรสเสียก่อน

สำหรับหน่วยงานด้านการศึกษาสหรัฐเคยก่อตั้งขึ้นในปี 1867 โดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน แต่ในขณะนั้นมีหน้าที่้เพียงรวบรวมข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับโรงเรียนทั่วประเทศ กระทั่งในปี  1979 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ได้สั่งก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ (United States Department of Education)ขึ้น โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารความช่วยเหลือด้านการศึกษาของรัฐบาลกลาง และช่วยประธานาธิบดีบังคับใช้กฎหมายการศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่จำเป็นและสมควรได้รับ กล่าวคือ เป็นหน่วยงานที่คอยกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วสหรัฐ มีหน้าที่ดูแลการจัดสรรเงินทุนสำหรับโรงเรียนของรัฐ บริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนักเรียนที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ มีหน่วยงานด้านการศึกษาที่ดูแลสถานศึกษาและงบประมาณในพื้นที่ของตน แต่ไม่สามารถกำหนดหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ เขาต้องการให้แต่ละมลรัฐมีอิสระในการจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่า หากแต่ละมลรัฐต้องบริหารการศึกษาเอง อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากงบประมาณที่มีในแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ทรัมป์หาเสียงเลือกตั้ง เขาเคยกล่าวในหลายครั้งว่า "อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำในช่วงเริ่มต้นบริหารคือการปิดกระทรวงศึกษาธิการในวอชิงตัน ดี.ซี. และโอนงานด้านการศึกษาทั้งหมดกลับไปยังหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐต่างๆ"

ทรัมป์ยังกล่าวว่า " “ในสังคมอเมริกันโดยรวมแล้ว เราทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับระบบการศึกษาของรัฐ แต่เราแทนที่จะอยู่บนสุดของรายชื่อการศึกษาโลก เรากลับอยู่ล่างสุดอย่างแท้จริง ... เดาสิเพราะอะไร"

จากข้อมูลในปี 2024 ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ ภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ได้จัดโปรแกรมประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้แก่นักเรียนมากกว่า 50 ล้านคนในโรงเรียนรัฐบาลประมาณ 98,000 แห่งและโรงเรียนเอกชน 32,000 แห่ง นอกจากนี้ยังให้ ทุนการศึกษา เงินกู้ และความช่วยเหลือด้านการทำงานและการเรียนแก่นักเรียนระดับหลังมัธยมศึกษาจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน

ด้าน เบ็กกี้ พริงเกิล ประธานสมาคมการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญ ออกแถลงการณ์เตือนเมื่อวันอังคารว่า คำสั่งที่กำลังจะออกของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนหน้านั้นในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เคยมีความพยายามยุบกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยกรมประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (DOGE) ซึ่งก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ การตรวจสอบนี้เกิดขึ้นหลังจากพนักงานหลายสิบคนของกระทรวงฯ ถูกสั่งพักงานตามนโยบายของทรัมป์ ที่ต่อต้านโครงการสนับสนุนความหลากหลาย (DEI) คำสั่งดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดจำนวนพนักงานและโครงการของรัฐบาลในหน่วยงานต่างๆ

สื่อนอกเผยไทยตัดไฟเมียนมา ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ธุรกิจจีนเทายังลอยตัว

(5 ก.พ.68) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไทยได้ดำเนินการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และเชื้อเพลิงในพื้นที่ชายแดน 5 จุดของเมียนมา เพื่อกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่สะท้อนถึงกลุ่มธุรกิจจีนเทา

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ไทยได้หยุดการส่งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาใน 5 จุด ได้แก่ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน และเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยการตัดไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่กำลังเติบโตขึ้น

รอยเตอร์ยังกล่าวถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการนี้มีจุดประสงค์ที่จะหยุดการสนับสนุนแก๊งมิจฉาชีพ และขณะนี้ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าไทยมีส่วนสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม สื่อของเมียนมาได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เมียนมามีการพึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงไทยอย่างไม่เป็นทางการ

หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยเริ่มตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 จุดที่กล่าวถึง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขาดไฟฟ้าในช่วงเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยชาวบ้านในเมืองพญาตองซูกล่าวว่ากับรอยเตอร์ว่า ธุรกิจของชาวจีนยังสามารถดำเนินการได้จากเครื่องปั่นไฟ ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ในช่วงสองวันที่ผ่านมา เราเห็นเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่มาถึงเมือง และตอนนี้เครื่องปั่นไฟเหล่านั้นกำลังทำงาน ธุรกิจของพวกเขา รวมถึงฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงดำเนินการได้ แต่ธุรกิจของชาวบ้านท้องถิ่นต้องหยุดลง” ชาวบ้านในเมืองพญาตองซูรายหนึ่งกล่าว

จีนแถลงชื่นชมไทยตัดไฟ-เน็ตเมียนมา เดินหน้าทุบขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

(6 ก.พ.68) นายหลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวแสดงท่าทีสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลไทยในการระงับการจ่ายไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และการส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานปฏิบัติการของขบวนการอาชญากรรมออนไลน์ในเมียนมา 

โดยในการแถลงข่าวประจำวันที่กระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับมาตรการของไทยที่มีขึ้นก่อนการเยือนจีนของนางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย  

นายหลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ข้ามพรมแดนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเป็นเรื่องร้ายแรง ทางการจีนให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าจีนยินดีให้ความร่วมมือกับไทยและประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าว  

“จีนสนับสนุนมาตรการที่เด็ดขาดของไทยและพร้อมขยายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกป้องความปลอดภัยและสิทธิตามกฎหมายของพลเมืองจีนในต่างแดน รวมถึงรักษาความเป็นระเบียบในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจีนและประเทศต่าง ๆ” นายหลินเจี้ยนกล่าว

ผู้นำอาร์เจนตินาสั่งถอนตัวจาก WHO อ้างบริหารประเทศได้อิสระ-ลดภาระงบประมาณ

(6 ก.พ. 68) ทำเนียบรัฐบาลอาร์เจนตินาแถลงว่าประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเล มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้เหตุผลว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น และบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2566 มิเลดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ แม้ว่าอาร์เจนตินาจะมีสถิติเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2567 แต่การส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศกลับลดลง ส่งผลให้อัตราความยากจนพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ มิเลไม่เคยปิดบังความชื่นชมที่มีต่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ได้ลงนามคำสั่งบริหารให้สหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO ทันทีหลังกลับเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

CIA มีแผนจ้างออกล็อตใหญ่ ลดพนักงานและค่าใช้จ่ายตามนโยบายทรัมป์

(6 ก.พ. 68)สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) กำลังวางแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยมีแนวทางจ่ายเงินก้อนโตเพื่อจูงใจให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ แนวทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารงานของ CIA ให้สอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบและงบประมาณที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นความลับ แต่แหล่งข่าวระบุว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรให้ตอบสนองต่อนโยบายหลักของทรัมป์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การต่อสู้กับกลุ่มค้ายาเสพติด การจัดการปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านสงครามการค้า

ปัจจุบัน CIA อยู่ภายใต้การนำของ จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์และรับรองโดยวุฒิสภาเมื่อปลายปีที่แล้ว คาดว่าแรตคลิฟฟ์จะเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรตามนโยบายของทรัมป์ โดยมุ่งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ แผนการจูงใจให้พนักงานลาออกของ CIA สอดคล้องกับแนวทางที่ทรัมป์เคยเสนอให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกว่า 2 ล้านคน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ลาออกโดยสมัครใจภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 20,000 คนเท่านั้นที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่สหภาพแรงงานเจ้าหน้าที่รัฐได้ยื่นฟ้องคัดค้านแผนการนี้ โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ CIA นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญภายใต้การบริหารของทรัมป์ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบบราชการและหน่วยงานความมั่นคงให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำงานของ CIA ในอนาคต

ทรัมป์เซ็นคำสั่งห้ามคนข้ามเพศ แข่งกีฬากับผู้หญิง ย้ำโอลิมปิก 2028 มีแค่นักกีฬาหญิงชายเท่านั้น

(6 ก.พ. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งบริหารฉบับใหม่ ห้ามนักกีฬาข้ามเพศที่เคยเป็นผู้ชายแข่งขันในรายการกีฬาสำหรับผู้หญิง โดยคำสั่งนี้มีชื่อว่า “Preserving Women’s Sports” หรือ “การรักษาความยุติธรรมในกีฬาสตรี” เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬาระหว่างผู้หญิง ทรัมป์ระบุว่า นักกีฬาที่เคยเป็นผู้ชายมีโครงสร้างร่างกายและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่แตกต่างจากผู้หญิงโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬาหญิง

คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที โดยครอบคลุมการแข่งขันกีฬาทุกระดับ ตั้งแต่กีฬาโรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงกีฬาชุมชน นอกจากนี้ ยังให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ตรวจสอบและดำเนินการกับสถาบันการศึกษาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ขณะที่หลายองค์กรกีฬาระดับนานาชาติ เช่น สหพันธ์กรีฑาโลก (World Athletics) และสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ก็มีกฎหมายห้ามนักกีฬาข้ามเพศที่เคยเป็นผู้ชายแข่งขันในรายการหญิงอยู่แล้ว

ก่อนลงนามในคำสั่งบริหาร ทรัมป์ได้กล่าวปราศรัยว่า “สงครามเพื่อปกป้องวงการกีฬาสตรีได้สิ้นสุดลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2028 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จะไม่ยอมให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างนักกีฬาชายและหญิงอีกต่อไป นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำถึงนโยบายที่ชัดเจนในการกำหนดเพศในเอกสารราชการและกีฬา โดยระบุว่าเพศจะมีเพียงชายและหญิงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ โดยมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันนักกีฬาข้ามเพศออกจากวงการกีฬา พวกเขาให้เหตุผลว่า ความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความมุ่งมั่น การฝึกฝน ความพร้อมทางจิตใจ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งนักกีฬาข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบเหนือนักกีฬาหญิงเสมอไป

คำสั่งบริหารฉบับนี้ได้จุดประเด็นถกเถียงในสังคมอเมริกันอีกครั้ง ระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษาความเท่าเทียมในกีฬาสตรี กับฝ่ายที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายในวงการกีฬา

ผุดประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสกัด 'Project 2025' นโยบายสุดโต่งของทรัมป์ โวยสร้างสังคมขวาจัด

(6 ก.พ.68) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังขยายวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ และบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อ 'Project 2025' แผนการที่ถูกมองว่าส่งเสริมแนวคิดขวาจัดและคุกคามหลักการประชาธิปไตย

การประท้วงครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แฮชแท็ก #buildtheresistance และ #50501 ซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายในการชุมนุม 50 จุด ใน 50 รัฐ ภายในวันเดียว โดยส่วนใหญ่จัดขึ้นที่ศาลากลางของแต่ละรัฐ และบางจุดขยายไปถึงเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ

ผู้ประท้วงได้ใช้ช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งแจกจ่ายใบปลิวดิจิทัลที่เน้นย้ำถึงความเสี่ยงของ Project 2025 ซึ่งถูกวิเคราะห์ว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่อาจนำไปสู่การรวมอำนาจและทำลายหลักการพื้นฐานของสังคมอเมริกัน ข้อความสำคัญในการประท้วงรวมถึง 'หยุดยั้งลัทธิฟาสซิสต์' และ 'รักษาประชาธิปไตยให้คงอยู่'

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่เรื่องการค้า การย้ายถิ่นฐาน ไปจนถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน

ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประชาชนหลายพันคนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ก็ได้ออกมาเดินขบวนต่อต้านนโยบายการเนรเทศผู้อพยพของทรัมป์ โดยเฉพาะในลอสแอนเจลิส ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นส่งผลให้ทางด่วนสายหลักต้องปิดทำการเป็นเวลาหลายชั่วโมง

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของชาวอเมริกันจำนวนมากที่มองว่า Project 2025 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นภัยคุกคามต่อระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

ทำเนียบขาวให้อาณาสิทธิ์ 'อีลอน มัสก์' ชี้ขาดผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทตัวเอง

(6 ก.พ.68) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เป็นผู้นำในหน่วยงานปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐบาลภายใต้ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในการพิจารณาว่าบรรดาบริษัท บริษัท Tesla, SpaceX, xAI, Neuralink และบริษัทต่างๆ ของเขาเองนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างที่เขามีบทบาทตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางกับธุรกิจของเขาที่เป็นเจ้าของทั้ง 6 บริษัทหรือไม่

คาโรไลน์ ลีวิตต์ เลขาธิการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาวกล่าวระหว่างการแถลงข่าว กล่าวว่า “ท่านประธานาธิบดีได้รับคำถามนี้ไปแล้วในสัปดาห์นี้ และท่านได้กล่าวว่า หากอีลอน มัสก์พบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับสัญญาหรือเงินทุนที่หน่วยงาน Doge ดูแล เขาจะถอนตัวจากสัญญานั้น และเขาก็ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”  

สำหรับอีลอน มัสก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็น 'ลูกจ้างพิเศษของรัฐบาล' และเป็นหัวหน้าทีมของหน่วยงานรัฐบาลกลางที่เรียกว่ากรมประสิทธิภาพรัฐบาล ( Doge) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว  

มัสก์ วัย 53 ปี เป็นซีอีโอของ SpaceX บริษัทที่มีสัญญารัฐบาลมูลค่าสูงกับองค์การนาซาและกองทัพสหรัฐฯ โดยโครงการปล่อยจรวดของบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยถูกสอบสวนโดยหน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติ (NHTSA) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC)  

“ผมไม่เคยเห็นกรณีไหนที่บุคคลสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่” ดร.โดนัลด์ เคตเทิล ศาสตราจารย์กิตติคุณและอดีตคณบดีคณะนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยแมริแลนด์กล่าว “ในความเป็นจริง การกำหนดผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยตนเองก็ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนในตัวมันเองอยู่แล้ว”  

คำสั่งบริหารที่ก่อตั้งหน่วยงาน Doge ได้มอบหมายให้ทีมงานดำเนินการ ปรับปรุงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของรัฐบาลกลางให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของรัฐบาล  

นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้ง มัสก์ได้เร่งดำเนินงานอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ทีมงานของ Doge ได้เข้าไปทำงานในหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานบริหารงานบุคคล (OPM) สำนักงานบริหารบริการทั่วไป (GSA) และกระทรวงการคลังสหรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top