Sunday, 6 July 2025
World

‘ชาวเมียวดี’ ชุมนุมต่อต้านไทย!! หลังมาตรการ ‘ตัดไฟ-ตัดน้ำมัน’ เตรียมรับมือปัญหาต่อไป ‘การลักลอบเข้าเมือง-การค้า-สาธารณสุข’

ตามที่รัฐบาลไทยใช้ปฏิบัติการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยการเน้นไปที่การตัดไฟ ตัดน้ำมันและอินเทอร์เนตนั้น เอย่ากล่าวแล้วในบทความก่อนว่าการตัดไฟนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มสแกมเมอร์เลย เพราะพวกนั้นไม่ได้ซื้อขายผ่านระบบที่ถูกต้องอยู่แล้วทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านที่เมียวดีและชาวบ้านริมชายแดนที่ได้รับอานิสงส์จากการซื้อขายไฟต่างหากเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

และนั่นก็ทำให้เหตุวันนี้เกิดขึ้น โดยวันนี้เวลา 9.00 น. ชาวเมียวดีมาชุมนุมเรียกร้องให้ปิดการค้าขายทั้งหมดทั้งสะพานและท่าข้ามต่าง ๆ จากไทยและแบนการใช้สินค้าไทยทั้งหมดเพื่อตอบโต้ที่ไทยปฏิบัติการที่ไทยจัดการสแกมเมอร์แต่ชาวบ้านเดือดร้อน

เอย่าได้กล่าวไปแล้วว่าการตัดไฟ ตัดน้ำมัน เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและจะสร้างผลเสียหายต่อไทยโดยเฉพาะการค้าชายแดน แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะลุกลามเป็นกระแสการแบนสินค้าไทยในเมียนมาด้วย 

การค้าชายแดนที่ผ่านมาหากนับแค่การค้าผ่านด่านการค้าชายแดนก็มีมูลค่านับพันล้านบาทต่อเดือน โดยหากดูมูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม อยู่ที่ 6.6 พันล้านบาทไม่รวมการส่งออกตามท่าข้ามต่าง ๆ

แม้จนถึงตอนนี้จะมีรายงานว่ามีประชาชนมาชุมนุมยังไม่มากดังที่แผนที่เขาววางไว้ว่าจะมาชุมนุมถึง 3000 คนก็ตามแต่หากความเดือดร้อนนี้ยังคงอยู่ จะยิ่งสร้างความขัดแย้งอันนำผลมาสู่ปัญหาชายแดนนอกจากเรื่องการค้าแล้ว การลักลอบเข้าเมืองจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งปัญหาเรื่องสาธารณสุขที่จะกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นจะข้ามมารักษาตัวที่ไทย  แล้วใครคือผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ กลุ่มคอลเซนเตอร์หรือคนไทย...?

อีลอน มัสก์ จี้ปิด VOA สื่อทุนรัฐบาล ลั่นเป็นขยะพันล้านผลาญภาษี

(10 ก.พ.68) อีลอน มัสก์ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินงานของ Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) และ Voice of America (VOA) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอ้างว่าสื่อเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

มัสก์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อตอบกลับโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ของริชาร์ด เกรเนลล์ ทูตพิเศษด้านภารกิจพิเศษของสหรัฐฯ ซึ่งวิจารณ์สื่อทั้งสองว่าเป็น "องค์กรสื่อที่ใช้ภาษีประชาชนเพื่อเผยแพร่แนวคิดของฝ่ายซ้ายสุดโต่ง"  

"นี่คือสื่อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ" เกรเนลล์ระบุ "พวกมันเป็นเพียงสิ่งตกค้างจากอดีต เราไม่จำเป็นต้องมีสื่อที่ได้รับเงินจากรัฐบาลอีกต่อไป"  

มัสก์เห็นด้วยและตอบกลับว่า "ใช่ ควรปิดมันซะ" พร้อมกล่าวเสริมว่าสื่อเหล่านี้เป็นเพียง "กลุ่มคนฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่พูดคุยกันเอง ขณะเดียวกันก็เผาผลาญภาษีของประชาชนอเมริกันไปปีละ 1 พันล้านดอลลาร์"  

RFE/RL และ VOA อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ U.S. Agency for Global Media และก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเผด็จการ ปัจจุบันทั้งสององค์กรยังคงออกอากาศในพื้นที่ที่มีเสรีภาพสื่อจำกัด เช่น รัสเซีย อิหร่าน และบางส่วนของเอเชียกลาง  

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เคยพยายามลดงบประมาณสำหรับสื่อระหว่างประเทศที่ได้รับทุนจากรัฐบาล รวมถึงโครงการช่วยเหลือต่างประเทศ ซึ่งเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายเดโมแครตในสภาคองเกรส  

'ทรัมป์' ฝากความหวัง 'มัสก์' แฉกลาโหมทุจริตหลายแสนล้าน

(10 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า เขาคาดหวังให้อีลอน มัสก์ เปิดเผยปัญหาการใช้งบประมาณอย่างไม่เหมาะสมและการทุจริตครั้งใหญ่ภายในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทรัมป์กล่าวเรื่องนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Fox News เนื่องในโอกาสการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ ซึ่งบางส่วนของการสัมภาษณ์ถูกนำมาเผยแพร่เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น

“ผมกำลังจะแจ้งให้เขาทราบภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้ ให้เริ่มตรวจสอบกระทรวงศึกษาธิการก่อน จากนั้นค่อยตรวจสอบกระทรวงกลาโหม ผมมั่นใจว่าเราจะพบการทุจริตและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไม่เหมาะสม คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้าน หรืออาจสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์” ทรัมป์กล่าว

ด้านรอยเตอร์รายงานว่า งบประมาณของเพนตากอนอยู่ที่เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในเดือนธันวาคม 2567 อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามอนุมัติงบประมาณกลาโหมจำนวน 8.95 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2568

มัสก์ ซึ่งทำเนียบขาวระบุว่าเป็น "พนักงานพิเศษของรัฐบาล" ได้รับมอบหมายจากทรัมป์ให้เป็นผู้นำในการปรับลดขนาดกำลังคนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทีมงานของมัสก์ได้รับสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลลับในระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมาย และมีความกังวลว่าอาจทำให้ข้อมูลลับรั่วไหล อีกทั้งยังอาจเป็นการรื้อโครงสร้างหน่วยงานรัฐโดยไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากบริษัทของมัสก์มีสัญญามูลค่ามหาศาลกับเพนตากอน

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Meet the Press” ของช่อง NBC ว่ากระบวนการต่อเรือของเพนตากอนเป็นจุดอ่อนที่ควรได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ โดยเสนอให้กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ซึ่งมัสก์เป็นผู้นำ เข้ามาดูแลปัญหานี้

วอลซ์ยังระบุว่า เพนตากอนมีปัญหาด้านความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง และจำเป็นต้องให้ผู้นำจากภาคธุรกิจเข้ามาช่วยปฏิรูป

แม้ว่าปัญหาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของเพนตากอนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานจากนักการเมืองทั้งสองพรรค แต่พรรคเดโมแครตและสหภาพข้าราชการพลเรือนยังคงแสดงความกังวลว่า ทีมงานของมัสก์อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอในการปรับโครงสร้างเพนตากอนอย่างเหมาะสม

ทรัมป์สั่งโรงกษาปณ์หยุดผลิตเหรียญ 1 เซนต์ เชื่อประหยัดงบ ตามคำแนะนำอีลอน มัสก์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดการผลิตเหรียญ 'เพนนี' หรือเหรียญ 1 เซนต์ หลังจากมีการชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตเหรียญดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าของมันเอง  

ตามรายงานจากกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ (10 ก.พ.68) ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 'ทรูธ โซเชียล' โดยระบุว่า การผลิตเหรียญกษาปณ์ของสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีต้นทุนเกินกว่า 2 เซนต์ต่อเหรียญ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างมาก  

ในคำสั่งของทรัมป์ เขาได้กำหนดให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดผลิตเหรียญเพนนีใหม่เป็นการชั่วคราว เพื่อประหยัดงบประมาณให้กับรัฐบาล

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานประสิทธิภาพรัฐบาล (ดอจ) ภายใต้การนำของนายอีลอน มัสก์ ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา  

การลดต้นทุนการผลิตเหรียญในสหรัฐเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมานานและเคยมีการนำเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับในสภาคองเกรส แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายใดที่ได้รับการอนุมัติจากสภา

ลาวลดจ่ายไฟให้ท่าขี้เหล็กเหลือ 13 เมกะวัตต์ สกัดแก๊งคอลเซนเตอร์ข้ามชาติ

เมื่อวันที่ (7 ก.พ.68) รัฐบาลลาวประกาศมาตรการจำกัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมา พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามชาติ

โพไซ สายะสอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว กล่าวระหว่างการหารือกับฟางหง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศลาวว่า ลาวได้ดำเนินมาตรการจำกัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมืองท่าขี้เหล็ก และยืนยันว่าจะไม่ยินยอมให้มีการใช้ไฟฟ้าของลาวเพื่อกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในการก่ออาชญากรรม เช่น การฉ้อโกง

โพไซกล่าวเพิ่มเติมว่า ลาวจะทำงานร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในประเด็นนี้ และจะดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น พร้อมเน้นย้ำว่าการต่อสู้กับการทุจริตทางไซเบอร์ข้ามชาติเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาค

ฟางหงได้กล่าวเสริมว่า จีนจะเสริมสร้างการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความมั่นคงกับลาวและประเทศอื่น ๆ โดยใช้มาตรการที่เด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยได้ตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 พื้นที่ในเมียนมา รวมถึง เมียวดีและท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมที่มีการซ่องสุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยหลังจากที่ไทยตัดไฟฟ้า เมืองท่าขี้เหล็กได้ประกาศว่าจะนำเข้าไฟฟ้าจากลาวมาแทน

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว Tachileik News Agency ของเมียนมา รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ที่เมืองท่าขี้เหล็ก หลังจากไทยตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยังเมียนมา ระบุว่า ลาวได้ลดการจ่ายไฟฟ้าให้เหลือ 13 เมกะวัตต์ ส่งผลให้เมืองท่าขี้เหล็กต้องจัดลำดับความสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าใหม่

ก่อนหน้านี้ เมืองท่าขี้เหล็กเคยตกลงซื้อไฟฟ้าจากลาวจำนวน 30 เมกะวัตต์ แต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ทางฝั่งลาวได้แจ้งว่าจะลดปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้เหลือ 13 เมกะวัตต์ โดยไม่ได้ระบุเหตุผลที่ชัดเจน

ทรัมป์สนใจซื้อฉนวนกาซาเป็นของสหรัฐ ให้ทุนต่างชาติบริหาร ยุติขัดแย้งในดินแดน

(10 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) ว่า เขามีความตั้งใจที่จะเข้าควบคุมฉนวนกาซา โดยเสนอให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าของดินแดนดังกล่าว และให้ประเทศในตะวันออกกลางเข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูพื้นที่

ทรัมป์กล่าวระหว่างเดินทางบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน (Air Force One) มุ่งหน้าสู่นิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เพื่อเข้าชมการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ (Super Bowl) ว่า “สหรัฐฯ ตั้งใจจะเข้าควบคุมฉนวนกาซาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มฮามาสกลับมามีอำนาจอีก ส่วนเรื่องการพัฒนา เราอาจให้ประเทศในภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วม หรือให้หน่วยงานอื่นดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของเรา”

รายงานจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่า แนวคิดของทรัมป์เกี่ยวกับ “การเป็นเจ้าของระยะยาว” ฉนวนกาซา ถูกหยิบยกขึ้นหารือระหว่างการพบปะกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยหลายประเทศอาหรับ รวมถึงชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป แสดงท่าทีคัดค้าน เนื่องจากมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของภูมิภาคและกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

จี้ยูเครนชดใช้เงินช่วยเหลือ USAID แลกทรัพยากรแร่หายาก-น้ำมัน

(10 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแผนหารืออย่างเป็นทางการกับผู้นำยูเครนเกี่ยวกับแนวทางในการชำระคืนความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ได้ให้ผ่านโครงการ USAID ซึ่งรวมถึงการให้สหรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน และก๊าซของยูเครน เป็นการชดใช้ความช่วยเหลือที่เคยให้ไป ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผย

วอลซ์ ระบุว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมจะนำทุกประเด็นมาพูดคุยในสัปดาห์นี้ รวมถึงอนาคตของ USAID ที่มอบให้ยูเครน เราต้องได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับยูเครนในแง่ของทรัพยากรแร่หายาก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ" วอลซ์กล่าวกับ NBC News พร้อมย้ำว่าการเจรจาเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้

วอลซ์ยังเสริมว่า ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่คาดหวังให้ยุโรปรับผิดชอบด้านหลักประกันความมั่นคง

"หลักการสำคัญคือ ยุโรปต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการความขัดแย้งนี้ต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง แต่ในแง่ของหลักประกันด้านความมั่นคง ยุโรปต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง" วอลซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาในยุโรปโดยมีตัวแทนสหรัฐฯ เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม รองประธานาธิบดี และทูตพิเศษ โดยจะหารือถึงรายละเอียดของข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับจุดยืนของรัสเซียต่อการยุติความขัดแย้งนั้น หากย้อนไปในเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เสนอแนวทางสันติภาพ โดยระบุว่ารัสเซียพร้อมที่จะหยุดยิงและเจรจาทันทีหากยูเครนดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไปนี้

ยูเครนต้องประกาศยกเลิกการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างเป็นทางการ, กองทัพยูเครนต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่รัสเซียผนวกเข้าใหม่, รัฐบาลเคียฟต้องดำเนินมาตรการปลดอาวุธทางทหารและขจัดลัทธินาซี, ยูเครนต้องประกาศสถานะเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ปูตินยังกล่าวถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ

รัสเซียได้ย้ำหลายครั้งว่ายูเครนเองเป็นฝ่ายห้ามการเจรจามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 อีกทั้งสถานะความชอบธรรมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในมอสโก

ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% กระทบทุกประเทศ มีผลบังคับใช้ 4 มี.ค. จ่อดันต้นทุนสินค้าสหรัฐแพงขึ้น

(11 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกเป็น 25% โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

ทำเนียบขาวระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการนำเข้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการนี้อาจจุดชนวนให้เกิดข้อพิพาททางการค้ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลก

แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังต้องนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในปริมาณมากจากประเทศอย่างแคนาดา เม็กซิโก และบราซิล แต่มาตรการนี้จะทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในอดีต สหรัฐฯ เคยกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนในอัตราเพิ่มเติม 25% และภาษีอะลูมิเนียม 10% ตั้งแต่สมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง และอัตราภาษีดังกล่าวยังคงมีผลต่อเนื่องในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นหมายความว่า การนำเข้าเหล็กจากจีนในปัจจุบันต้องเผชิญภาษีรวมไม่ต่ำกว่า 50% และไม่น้อยกว่า 25% สำหรับอะลูมิเนียม

แม้ว่ามาตรการภาษีจะมุ่งเป้าไปที่จีน แต่ในความเป็นจริง จีนไม่ได้ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมมายังสหรัฐฯ โดยตรงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักถูกส่งไปแปรรูปในประเทศที่สามก่อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

แน่นอนว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อผู้ผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางอาจต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่ามาตรการนี้จะถูกบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่า อาจพิจารณายกเว้นภาษีให้กับออสเตรเลียเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

ทรัมป์ยังเปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจขยายวงกว้างของความตึงเครียดทางการค้ากับพันธมิตรหลายประเทศ เมื่อนักข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ ทรัมป์ตอบสั้น ๆ ว่า “ผมไม่สนใจ”

ทรัมป์เดินเกม!! บีบยุโรปอัดงบซื้ออาวุธสหรัฐฯ กดดันอียูหนุนยูเครนสู้ศึกรัสเซีย

(11 ก.พ.68) รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแผนกระตุ้นให้ชาติพันธมิตรยุโรปเพิ่มการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนยูเครนในช่วงเวลาที่สงครามกับรัสเซียยังคงดำเนินอยู่ โดยแผนดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ยูเครนก่อนการเจรจาสันติภาพที่อาจเกิดขึ้น

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หากแผนนี้ได้รับการอนุมัติ อาจช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำยูเครนที่วิตกกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ อาจลดการสนับสนุนทางทหาร ขณะเดียวกัน กองทัพยูเครนยังคงเผชิญแรงกดดันจากการรุกคืบของกองกำลังรัสเซียทางภาคตะวันออก

ในอดีต หลายประเทศในยุโรปได้ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อช่วยเสริมศักยภาพของยูเครนภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะขอให้ชาติยุโรปจัดซื้ออาวุธผ่านสัญญาทางพาณิชย์ หรือใช้วิธีการซื้อโดยตรงจากคลังแสง ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น

คีธ เคลล็อกก์ อดีตพลโทเกษียณและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียในรัฐบาลทรัมป์ มีกำหนดจะหารือกับตัวแทนพันธมิตรยุโรปเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงในนครมิวนิก สัปดาห์นี้

ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เคลล็อกก์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อแผนการดังกล่าว แต่กล่าวว่า "สหรัฐฯ สนับสนุนการขายอาวุธที่ผลิตในประเทศของตนเอง เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ" พร้อมระบุว่า มีหลายทางเลือกที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้ เคลล็อกก์ยังกล่าวว่า การส่งอาวุธที่เคยได้รับอนุมัติในสมัยไบเดน ยังคงดำเนินต่อไปตามแผนที่วางไว้ และย้ำว่า "ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า"

ขณะเดียวกัน สถานทูตยูเครนในกรุงวอชิงตันยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้

ผู้นำบราซิลเตือน แค่ปกครองสหรัฐฯ ไม่ใช่ตำรวจโลก หัดเคารพประชาธิปไตยซะบ้าง

(11 ก.พ. 68) ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลได้กล่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้นำสหรัฐฯ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้ปกครองโลก

ในการสัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสองแห่งในรัฐบาเยียทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ ลูลาได้กล่าวว่าเขาเคารพผลการเลือกตั้งที่ทรัมป์ได้รับเลือกจากประชาชนชาวอเมริกัน แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองทั่วโลก

ลูลาได้กล่าวถึงแผนของทรัมป์ในการโยกย้ายชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา โดยระบุว่า ทรัมป์ควรรักษาความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าทางประชาธิปไตยและอารยธรรมกับโลก

ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเข้าครอบครองฉนวนกาซาและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวหลังจากการโยกย้ายชาวปาเลสไตน์ออกไป

นอกจากนี้ ลูลาได้วิจารณ์สหรัฐฯ ที่อ้างตนเป็น "สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและตำรวจโลก" โดยกล่าวว่า คำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับการยึดครองบางประเทศและดินแดนเป็นการปลุกปั่นและยั่วยุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top