นักวิชาการไทยชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางจบเร็ว แฉลึก ‘ธุรกิจอาวุธ’ สหรัฐฯ ฟันกำไรจากวิกฤติ

(23 ม.ค.68) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจผลักดันให้ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียสิ้นสุดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย เชื่อว่าความขัดแย้งในยูเครนไม่น่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  

ผศ.ดร.กฤษฎา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

“ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการยุติสงครามจากเขาหรือทีมงานของเขา การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เงื่อนไขที่ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมรับได้” 

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นได้ว่าจุดยืนปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยาก”  

กฤษฎา ยังมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐพันลึกในสหรัฐฯ (Deep State) อาจไม่อนุญาตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองภายในและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำหนดและควบคุมโดยกลุ่มอำนาจรัฐพันลึก โดยเฉพาะบริษัทอาวุธที่มองว่าสงครามเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะในด้านการค้าอาวุธ”  

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังให้ความเห็นอีกว่า มีแนวโน้มที่บางประเทศยุโรปที่  'เริ่มถอนการสนับสนุนจากยูเครน' โดยเขากล่าวว่า “วาทกรรมที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย (Russophobia) ของประเทศในยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามักได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อชาติตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน แต่จะบุกประเทศอื่นต่อไป วาทกรรมนี้ทำให้ประเทศตะวันตกยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง”  

ตามรายงานของ Wall Street Journal ทรัมป์ได้มอบหมายให้ คีธ เคลล็อก ผู้แทนพิเศษด้านยูเครนของเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติความขัดแย้งในยูเครนภายใน 100 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “การเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่ทรัมป์สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเขาเคยกล่าวว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ขณะที่คีธ เคลล็อก กล่าวว่าเขาต้องการทำตามเป้าหมายภายใน 100 วัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ อาจหยุดการส่งอาวุธให้ยูเครน และย้ำถึงความพร้อมที่จะพบกับปูติน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ  

ด้านปูตินกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียกำลังจับตาถ้อยแถลงของทรัมป์และทีมงานที่แสดงถึงความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3