Saturday, 10 May 2025
World

แพทองธาร ส่งคำอวยพรตรุษจีน ย้ำสายใยวัฒนธรรมไทย-จีน นำสู่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น

(20 ม.ค. 68) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ส่งคำอวยพรเนื่องในโอกาสใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน โดยกล่าวย้ำถึงสายใยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนซึ่งเธอเชื่อว่าจะนำสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ

แพทองธารกล่าวในข้อความวิดีโอภาษาอังกฤษที่ส่งให้กับสำนักข่าวซินหัวของจีน ระบุว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงเวลาพิเศษที่สมาชิกครอบครัวมารวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองและแบ่งปันความทรงจำที่ดีของปีที่ผ่านมา พร้อมอวยพรให้ปีข้างหน้าเป็นอีกปีที่ดีและเจริญรุ่งเรือง

เทศกาลตรุษจีนจะมีการเฉลิมฉลองทั่วจีน รวมถึงในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีสัดส่วนจำนวนมากในกลุ่มประชากรไทย ซึ่งแพทองธารระบุว่าช่วงเวลานี้คือเทศกาลที่สะท้อนถึงสายใยเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนานระหว่างคนไทยและคนจีน

แพทองธารแสดงความเชื่อมั่นว่าสายสัมพันธ์นี้จะแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำสู่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและความร่วมมือที่เพิ่มพูนระหว่างไทยและจีนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย และขอใช้โอกาสนี้อวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข และความเจริญรุ่งเรืองในเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง

ย้อนประวัติศาสตร์สาบานตน หลังทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกรอบ 40 ปีที่หนีหนาวเข้าทำพิธีในรัฐสภา

(20 ม.ค. 68) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทยราว 2 ชั่วโมง โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเข้าพิธีสาบานตนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยสองคนที่ 47 ของสหรัฐ 

สำหรับพิธีสาบานตนในสมัยที่สองนี้มีขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัดในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ด้วยอุณหภูมิถึง -11 ถึง -5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ต้องมีการย้ายสถานที่จัดงานไปจัดในอาคารรัฐสภา ซึ่งจะถือเป็นพิธีเข้ารับตำแหน่งที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 40 ปี การย้ายพิธีสาบานตนไปจัดในอาคารครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1985 ในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

ขณะที่หนึ่งในแขกวีไอพีที่จะเข้าร่วมงาน ทางด้านรัฐบาลปักกิ่งได้ส่งรองประธานาธิบดี หาน เจิ้ง เข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะมีผู้นำระดับสูงเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของผู้นำกรุงวอชิงตัน 

สำนักข่าวสปุตนิก ได้ย้อนประวัติศาสตร์และเรื่องราวสุดแปลกที่เคยเกิดขึ้นในพิธีสาบานตนของผู้นำสหรัฐหลากหลายสมัยที่ผ่านมา

ครั้งหนึ่งพิธีสาบานตนเคยจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคา โดยย้อนไประหว่างปี  ค.ศ. 1792 ถึง 1937  วันสาบานตนจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ 20 มกราคมในปี  1933  ตามคำสั่งของสภาคองเกรส เพื่อลดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างประธานาธิบดีคนเก่าและคนใหม่ 

นอกจากนี้ธงชาติสหรัฐที่ใช้ประดับอาคารัฐสภา จะเปลี่ยนจำนวนดาวตามลำดับที่รัฐของประธานาธิบดีเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ อย่างในกรณีของทรัมป์ที่ลงสมัครจากสองรัฐในปี 2020 และ 2024 (นิวยอร์กและฟลอริดา) ธงที่ใช้มีดาว 13 ดวงและ 27 ดวงตามลำดับ  

ในปี 1825 จอห์น ควินซี อดัมส์ เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ใช้คัมภีร์ไบเบิลในพิธีสาบานตน  

จิมมี คาร์เตอร์ ในปี 1977 เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ใช้ชื่อเล่น “Jimmy” ในพิธี แทนชื่อเต็ม “James Earl Carter” ในระหว่างทำพิธีสาบานตน

ในปี 1837 มาร์ติน แวน บิวเรน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เกิดในยุคที่สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  

นอกเหนือจากธงชาติสหรัฐที่ประดับในพิธีการแล้ว หนึ่งในไฮไลท์ของพิธีสาบานตนคือ ขบวนพาเหรดวันสาบานตนซึ่งเริ่มจัดตั้งแต่ปี 1841 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีครั้งนึงในปี 1973 ระหว่างพิธีสาบานตนครั้งที่สองของริชาร์ด นิกสัน เกิดเหตุการณ์นกพิราบกินสารเคมีที่ใช้ไล่นก ส่งผลให้ขบวนพาเหรดเต็มไปด้วยซากนกตาย ซึ่งนั่นก็เป็นลางบอกเหตุที่นิกสัน เป็นประธานาธิบดีเพียงหนึ่งเดียวของสหรัฐที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอันเป็นพลผวงจากคดีวอเตอร์เกต

หนึ่งในพิธีสาบานตนที่เรียบง่ายที่สุดคือในปี 1789 จอร์จ วอชิงตัน ทานอาหารเพียงลำพังหลังพิธี ขณะที่สุนทรพจน์สาบานตนครั้งที่สองของเขาในปี 1793 มีเพียง 135 คำเท่านั้น  

พิธีสาบานตนสะท้อนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละยุค เช่น  ในปี 1857 เจมส์ บูแคนัน เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีภาพถ่ายในพิธี, ปี 1897 วิลเลียม แมคคินลีย์ เป็นคนแรกที่พิธีถูกบันทึกในภาพยนตร์  และปี 1949 แฮร์รี ทรูแมน เป็นคนแรกที่พิธีถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์  

ในปี 1961 การสาบานตนของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรก ขณะที่พิธีสาบานตนของบิล คลินตัน ในปี 1997 นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ครั้งแรก

พิธีสาบานตนที่หนาวที่สุดจัดขึ้นในปี 1873 ระหว่างการสาบานตนครั้งที่สองของยูลิสซีส เอส. แกรนต์ อุณหภูมิลดลงถึง -9 องศาเซลเซียส ขณะที่ในปี 1841 วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน เสียชีวิตหลังจากพิธีเพียง 3 สัปดาห์ โดยมีความเชื่อว่าเกิดจากปอดบวมหลังกล่าวสุนทรพจน์กลางอากาศหนาว  

พิธีสาบานตนของโจ ไบเดน ในปี 2021 ถือว่าเป็นการจัดสาบานตนท่ามกลางระบาดของโรคโควิด จัดขึ้นภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการปิดพื้นที่โดยรอบและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมท่ามกลางการระบาด

มาเลเซียเบรกเมียนมา สร้างสันติภาพในประเทศก่อนเปิดหีบ

(20 ม.ค. 68) ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการเจรจาสันติภาพและยุติการใช้กำลังในทันที พร้อมเตือนว่าแผนการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรง ไม่ควรถูกจัดให้เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

นายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย ว่า อาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งในเมียนมายุติการต่อสู้ และเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยปราศจากอุปสรรค

"มาเลเซียต้องการทราบว่าเมียนมาคิดอย่างไร และเราได้แจ้งชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการหยุดยิง" นายโมฮัมหมัดกล่าว

นอกจากนี้ มาเลเซียได้แต่งตั้งนายโอธมัน ฮาชิม อดีตนักการทูต เป็นผู้แทนพิเศษด้านวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยนายโอธมันจะเดินทางไปยังเมียนมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่า ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาอยู่ในระดับวิกฤต โดยประชาชนเกือบ 20 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

Instagram เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่คล้าย TikTok เพิ่มความยาว Reels เป็น 3 นาที พร้อมแอป Edits

(20 ม.ค. 68) อินสตาแกรม (Instagram) ก้าวสู่การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่ดูเหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจจากคู่แข่งอย่างติ๊กต๊อก (TikTok) โดยเพิ่มความยาวของวิดีโอ Reels เป็น 3 นาที พร้อมทั้งเปิดตัวแอปพลิเคชันตัดต่อวิดีโอใหม่ชื่อ Edits ที่มีลักษณะคล้ายกับแอปยอดนิยมอย่าง CapCut ซึ่งเป็นของบริษัทแม่ติ๊กต๊อก ไบต์แดนซ์ (ByteDance) การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อนาคตของติ๊กต๊อกในสหรัฐฯ ยังคงคลุมเครือ

อดัม มอสเซอรี ผู้บริหารสูงสุดของอินสตาแกรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 มกราคมว่า ทางบริษัทกำลังปรับการแสดงผลของรูปโปรไฟล์จากแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งคล้ายกับรูปโปรไฟล์ในติ๊กต๊อก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ มอสเซอรียังได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรมในวันที่ 18 มกราคม ว่าการเพิ่มความยาววิดีโอ Reels จาก 90 วินาทีเป็น 3 นาที เป็นผลมาจากคำขอของผู้ใช้งานที่ต้องการพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวมากขึ้น “เดิมทีเราจำกัดความยาวของ Reels ไว้ที่ 90 วินาที เพื่อเน้นวิดีโอสั้น แต่เราได้รับฟีดแบ็กจากผู้ใช้ว่าความยาวดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดมากขึ้น” มอสเซอรีกล่าว

ในวันที่ 19 มกราคม มอสเซอรีได้กล่าวถึงแอปพลิเคชัน Edits ในวิดีโอบนอินสตาแกรมว่า “เราต้องการสร้างเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่ทำวิดีโอ ไม่ใช่แค่เพื่ออินสตาแกรมเท่านั้น แต่รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย” โดยแอปนี้สามารถดาวน์โหลดได้แล้วในแอปสโตร์ แต่จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์

การเปลี่ยนแปลงของอินสตาแกรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ติ๊กต๊อกกำลังเผชิญกับวิกฤตสำคัญ เมื่อคืนวันที่ 20 มกราคม ติ๊กต๊อกและ CapCut ถูกปิดการเข้าถึงในสหรัฐฯ ชั่วคราว ก่อนที่กฎหมายเตรียมแบนแอปจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แม้ติ๊กต๊อกจะถูกแบนเป็นระยะเวลานาน ผู้ใช้งานก็ไม่ได้เปลี่ยนมาใช้อินสตาแกรมแทนในทันที ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าที่ติ๊กต๊อกจะปิดตัว แอปพลิเคชันทางเลือก เช่น เรดโน้ต (RedNote) และ เสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ซึ่งเป็นแอปจากจีน กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ยอดดาวน์โหลดของอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จีนเผยแผน 2024-2035 ปฏิวัติระบบ เล็งเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับโลกใน 10 ปี

(19 ม. ค. 68) พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่ “แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035)” ซึ่งเป็นแผนการที่มีการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำภายในปี 2035 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ด้านการศึกษาจะพัฒนาไปในทิศทางใด?

ตั้งแต่การปฏิรูปและเปิดประเทศมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีได้เผยแพร่เอกสารแผนการพัฒนาในรูปแบบของ “แผนการการศึกษา” ซึ่งในแต่ละช่วงเวลามีความสำคัญในการกำหนดทิศทางของกลยุทธ์ วันนี้แผนการสร้างประเทศด้านการศึกษา (2024-2035) ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการสร้างประเทศที่มีระบบการศึกษาชั้นนำในโลก โดยมีการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขยายโอกาสการศึกษาที่หลากหลาย

李永智 (Li Yongzhi) ผู้อำนวยการของ 中国教育科学研究院 (China Academy of Educational Sciences) ได้กล่าวว่า การลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ในเมืองและชนบทระหว่างโรงเรียนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การศึกษามีความสมดุลยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลทั้งในระดับเทศบาลและระดับจังหวัด ด้านการศึกษาในระดับประถมและมัธยม จะเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับประถม โดยมีการพัฒนาโครงสร้างการศึกษาระดับปฐมวัยในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี ในระดับการศึกษาปริญญาตรี การขยายจำนวนการรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและการขยายการผลิตบัณฑิตในสาขาต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะมุ่งเน้น แผนการสองขั้นตอนเพื่อสร้างประเทศการศึกษา แผนการนี้ได้กำหนดแผนที่สองขั้นตอนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ภายในปี 2027 จะมีการบรรลุผลสำเร็จในระยะหนึ่งของการสร้างประเทศด้านการศึกษา
ภายในปี 2035 ประเทศจีนจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและมีระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก การปฏิรูปที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา แผนการนี้ยังได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่มีการขาดแคลนหรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และการฝึกอบรมบุคลากรที่ไม่เพียงพอในหลายสาขา

ประหารชีวิตชายขับรถพุ่งชน คร่า 35 ชีวิต ปมเหตุอ้างไม่พอใจแบ่งสมบัติหลังหย่าเมีย

(20 ม.ค. 68) สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) รายงานว่า ศาลประชาชนชั้นกลางประจำเทศบาลนครจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ได้ยืนยันตัดสินโทษประหารชีวิตนายฟ่าน เว่ยฉิว วัย 62 ปี ผู้ก่อเหตุขับรถยนต์ส่วนบุคคลพุ่งชนประชาชนภายในศูนย์กีฬาเทศบาลนครจูไห่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย และบาดเจ็บอีก 43 ราย  

ระบุว่า นายฟ่านขับรถ SUV พุ่งชนประตูศูนย์กีฬา ก่อนเข้าไปขับชนประชาชนที่กำลังออกกำลังกายและเดินสัญจรในบริเวณดังกล่าว สื่อท้องถิ่นหลายแห่งเปิดเผยว่า แรงจูงใจของจำเลยมาจากความไม่พอใจเกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสหลังหย่าร้างกับอดีตภรรยา  

ศาลประชาชนระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยถือว่า "เลวร้ายอย่างยิ่ง" ทั้งในแง่แรงจูงใจและวิธีการก่อเหตุ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบร้ายแรงและเป็นอันตรายอย่างมากต่อสังคม จึงตัดสินประหารชีวิตนายฟ่านเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยคำตัดสินนี้ได้รับการยืนยันจากศาลฎีกาในกรุงปักกิ่ง  

ในปีที่ผ่านมา จีนเผชิญกับเหตุรุนแรงหลายครั้งที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เช่น การขับรถพุ่งชนประชาชนและการใช้มีดไล่แทงผู้คน เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความท้าทายสำคัญด้านความมั่นคงภายในของรัฐบาลจีนในการรักษาภาพลักษณ์ความปลอดภัยของประเทศ

เมียนมาลงนามข้อตกลงหยุดยิงกลุ่มโกก้าง จีนรับบทตัวกลางเจรจาลดความรุนแรง

(20 ม.ค. 68) รอยเตอร์รายงานว่า นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาและกองกำลังกบฏ MNDA (กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งเมียนมา) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่จัดขึ้นในนครคุนหมิง ประเทศจีน โดยจีนได้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานและส่งเสริมการเจรจา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณต่อจีนสำหรับความพยายามในการผลักดันกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้

“การลดความรุนแรงในภาคเหนือของเมียนมาเป็นผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ในเมียนมา แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาค ซึ่งช่วยส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาบริเวณชายแดนระหว่างจีนและเมียนมา” นางเหมากล่าว พร้อมยืนยันว่าจีนจะยังคงให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการเจรจาต่อไป

MNDA ถือเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นดินแดนของตนเอง โดย MNDA ยังเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งรวมถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอ้าง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ที่เคยยึดพื้นที่สำคัญใกล้ชายแดนจีนได้ในช่วงปลายปี 2566

ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแบบไม่เป็นทางการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม ณ เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยนายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่า อาเซียนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาหยุดยิงและเริ่มต้นการเจรจาโดยทันที พร้อมย้ำว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่การยุติความรุนแรงควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

ทรัมป์ลงนามคำสั่ง เลื่อนแบน TikTok อีก 75 วัน

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อขยายระยะเวลาบังคับใช้คำสั่งแบนแอปพลิเคชัน TikTok ออกไปอีก 75 วัน จากกำหนดเดิมที่จะมีผลในวันที่ 19 มกราคม  

ตามรายงานจากรอยเตอร์ ทรัมป์ระบุว่า คำสั่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายบริหารของเขามีเวลาเพิ่มเติมในการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสมสำหรับจัดการกับ TikTok โดยเขากล่าวว่า “เราต้องใช้เวลาพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้”  

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมส่งหนังสือถึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) กูเกิล (Google) และออราเคิล (Oracle) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TikTok เพื่อยืนยันว่า การดำเนินการของพวกเขาในช่วงเวลานี้จะไม่ถือว่าละเมิดกฎหมายหรือมีความผิดใด ๆ  

ทรัมป์ยังเสริมว่า การเลื่อนเวลาครั้งนี้ทำให้เขามีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าจะขายกิจการ TikTok ให้กับบริษัทอื่นหรือดำเนินการปิดตัวแอปพลิเคชันนี้ในอนาคต โดยเขาย้ำว่า “ผมต้องเป็นคนตัดสินใจในเรื่องนี้เอง”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐจากองค์การอนามัยโลก

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับหลังจากเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนามคือ ให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและชุมชนทั่วโลก โดยปัจจุบันอนามัยโลกมีชาติสมาชิกกว่า 124 ประเทศทั่วโลก

ทรัมป์เคยให้ความเห็นถึงประเด็นอนามัยโลกในครั้งหนึ่งว่า “จีนจ่าย 39 ล้านดอลลาร์ และเราจ่าย 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า ไม่ยุติธรรมเลย” โดยเขาพูดถึงค่าใช้จ่ายในการมีส่วนร่วมนั้นสูงเกินไปสำหรับสหรัฐฯ โดยบอกว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนองค์กร ในขณะที่จีนจ่ายเพียง 39 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวว่า กรณีอนามัยโลกเราต้องเจรจาเพิ่มเติม "พวกเขา (อนามัยโลก) ต้องการให้เรากลับมา ดังนั้นเมื่อเราถอนตัวจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอนามัยโลก ณ ปี 2018-2019 ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้บริจาคเงินให้อนามัยโลกมากถึง 893 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนบริจาคให้ที่ 86 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏอมูลการบริจาคเงินในช่วงปี 2023-2024 ว่าทั้งสองชาติให้เงินอุดหนุนอนามัยโลกจำนวนเท่าใด

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสมาชิกอนามัยโลก ครั้งแรกในปี 1948 โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้สั่งถอนการเข้าร่วมของทั้งประเทศในสมัยการดำรงตำแหน่งวาระแรกของเขาในปี 2020 และได้รับการคืนสถานะโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2021

จากข้อมูลของเว็บไซต์อนามัยโลก ระบุว่า "สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน WHO ในการปกป้องและปรับปรุงสุขภาพของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก"

อดีตทูตอังกฤษเผยวิธีดีลกับ 'ทรัมป์' แนะทิ้งทุกทฤษฎีการทูต พร้อมหมัดเด็ดรับมือ

(21 ม.ค. 68) ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตาของบรรดาชาติเอเชียและตะวันตก ถึงการรับมือด้านนโยบายต่างๆ 

หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐที่สุดแต่ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วการเมืองคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่รีพับลิกันของทรัมป์ค่อนข้างมีนโยบายทางขวาจัด ส่งผลให้นายคิม ดาร์รอค (Kim Darroch) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ระหว่างปี 2016 - 2019 ซึ่งเคยอยู่ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกในปี 2017 ได้ออกมาให้คำแนะนำต่อ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ถึงแนวทางการรับมือต่อท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่สอง

คิม ดาร์รอค ได้เขียนบทความแนะนำการรับมือของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานผ่านเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน โดยระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรทิ้งทุกตำราการทูตที่รู้มา เพื่อรับมือกับทรัมป์ 2.0 

ดาร์รอคแนะนำแนวทางสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษควรใช้ในการจัดการกับการกลับมาของทรัมป์ โดยระบุว่า หากมีการพูดคุยแบบทวิภาคี ควรเน้นการพูดคุยที่กระชับ เข้าประเด็น และนำเสนอแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างสองประเทศในแบบที่อังกฤษนิยมทำมาในอดีต

ดาร์รอค ยกตัวอย่างว่า หากจะพูดคุยเรื่องสหรัฐตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป ควรพูดคุยกับทรัมป์โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจโน้มน้าวได้ง่ายขึ้น เช่น พูดถึงสินค้าอะไร ภาษีเท่าไร หากเก็บภาษีจะกระทบสหรัฐอย่างไร

ตามคำแนะนำของดาร์รอค หากไปบอกการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำร้ายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างไร ทรัมป์จะไม่สนใจ คู่เจรจรต้องพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่าการขึ้นภาษีจะทำร้ายอเมริกาอย่างไรจึงจะได้ผล 

ดาร์รอค ยังแนะนำอีกว่า ในยุคทรัมป์ 2.0 ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับบรรดาผู้ใกล้ชิดทรัมป์ อาทิ หากเกิดประเด็นปะทะคารมกับอีลอน มักส์ ให้หลีกเลี่ยงการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยดาร์รอคชี้ว่าความคิดเห็นของมัสก์ส่วนใหญ่มาจากความโกรธภายในมากกว่าจะมีผลต่อการเมืองจริงจัง

อดีตทูตอังกฤษ ยังระบุว่า ทรัมป์เป็นคนไม่ชอบการพูดยาวเวิ่นเว้อ หากต้องการโน้มน้าวเขา ควรใช้วิธีการอธิบายให้ตรงประเด็นว่า แนวคิดของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร โดยเฉพาะการอธิบายว่าแนวคิดนี้จะช่วยผลักดันนโยบาย “America First” ได้อย่างไร

เขาแนะนำว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เกลียดบทสนทนายืดยาว ถ้าคุณเริ่มพูดอะไรยืดเยื้อเมื่อไหร่ ทรัมป์จะแทรกตัดบทหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีทันที แล้วอำนาจต่อรองก็จะหายไปทันที และหากคุณนำเสนอหลายข้อเสนอ ทรัมป์อาจไม่สนใจเลย แต่หากคุณยื่นข้อเสนอที่ไม่มากเกินไป และอธิบายถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ก็จะมีโอกาสสำเร็จ

ดาร์รอค ยังให้ความเห็นว่า ในยุคทรัมป์ 2.0  การทูตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนจะไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้ ทรัมป์อาจจะเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูแนวคิดแบบสร้าง "เขตอิทธิพล" เหมือนที่บรรดาชาติยุโรปเคยทำในในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้ในยุคศตวรรษที่ 21


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top