Saturday, 10 May 2025
World

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในภารกิจติดตามต้นกำเนิดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในนครอู่ฮั่นของจีน เป็นคณะผู้เชี่ยวชาญ “อิสระ” ที่ไม่อยู่ภายใต้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“ผมได้ยินหลายครั้งว่านี่เป็นการศึกษาหรือการตรวจสอบขององค์การฯ ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง” ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ แถลงข่าวจากนครเจนีวา พร้อมกล่าวย้ำว่าภารกิจข้างต้นเป็นการศึกษาอิสระที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระจาก 10 สถาบัน

ด้านปีเตอร์ เบน เอ็มบาเร็ก หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในอู่ฮั่น ระบุว่ารายงานของพวกเขาจะเป็นเอกสารฉันทามติ โดย “คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติและฝ่ายจีนได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับรายงานสรุปแล้ว”

เอ็มบาเร็ก กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ 17 คน และนักวิจัยจากจีน 17 คน กำลังดำเนินงานร่วมกันเพื่อเผยแพร่รายงานร่วม ซึ่งจะมีบทบาท “มอบคำแนะนำสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต”

ขณะเดียวกันเอ็มบาเร็กมองว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป เพื่อ “สำรวจสมมติฐานบางอย่างและเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัส”

ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การฯ เตือนถึงความยากลำบากในการหาข้อสรุปแบบสมบูรณ์ กล่าวว่า “การหาข้อสรุปแท้จริงในทุกประเด็นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราทำได้คือการบรรลุข้อสรุปตามหลักฐานที่เรามีอยู่ตรงหน้า”

ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติสรุปผลการวิจัยระยะหนึ่งเดือนในอู่ฮั่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำเสนอผลวิจัยเบื้องต้นที่งานแถลงข่าวในจีน โดยตัดทอนสมมติฐานกรณีไวรัสหลุดจากห้องปฏิบัติการออกไป

แหล่งข่าวขององค์การฯ กล่าวว่าคณะผู้เชี่ยวชาญกำลังดำเนินการจัดทำรายงานสรุปที่คาดว่าจะเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ส่วนรายงานฉบับสมบูรณ์จะถูกเผยแพร่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า


ที่มา: https://www.naewna.com/inter/553258

อิสราเอล พบ ตัวอ่อนในครรภ์ อายุ 25 สัปดาห์ ดับจาก โควิด-19 ครั้งแรก

สำนักข่าวกานนิวส์ของรัฐบาลอิสราเอล รายงานเมื่อวันอังคาร (16 กุมภาพันธ์ 2564) กรณีตัวอ่อนในครรภ์เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ครั้งแรกในอิสราเอลหลังรับเชื้อจากแม่

รายงาน ระบุว่า หญิงวัย 29 ปี ซึ่งตั้งครรภ์อายุ 25 สัปดาห์ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเมืองแอชดัดทางตอนใต้ หลังจากไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ต่อมาแพทย์พบว่าเด็กในครรภ์เสียชีวิตแล้ว จึงทำคลอดร่างของทารกออกมา

หญิงรายดังกล่าวมีอาการไข้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกที่โรงพยาบาล ขณะการทดสอบเพิ่มเติมบ่งชี้ว่าทารกในครรภ์ก็มีผลตรวจโรคเป็นบวกเช่นกัน

โรงพยาบาล เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นหนึ่งในไม่กี่กรณีในโลกที่ตัวอ่อนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ขณะอยู่ในครรภ์ของผู้เป็นแม่


ที่มา: https://www.xinhuathai.com/high/178188_20210217

โดนแล้ว!! ผู้ใช้งาน Facebook ในออสเตรเลียไม่สามารถเข้าถึง และแชร์เนื้อหาข่าวของสำนักข่าวทุกแห่งบนโลก ไม่เว้นแม้แต่สื่อในประเทศตัวเอง เช่นเดียวกันกับผู้ใช้งานในต่างประเทศ ที่จะไม่สามารถเข้าถึง และแบ่งปันเนื้อหาของสำนักข่าวจากออสเตรเลีย

นี่ถือเป็นการตอบโต้รัฐบาลแคนเบอร์รา (เมืองหลวงของเครือรัฐออสเตรเลีย) ที่ผลักดันกฎหมาย 'เก็บค่าข่าว' จาก Facebook

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เพจบน Facebook ของหน่วยงานรัฐหลายแหงในออสเตรเลีย รวมถึงสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ และสำนักงานสาธารณสุขของหลายรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ขณะที่สำนักข่าวทุกแห่งในออสเตรเลียพร้อมใจกันวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนัก ต่อมากระทรวงการสื่อสารในกรุงแคนเบอร์รา ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่า Facebook จะตัดสินใจแบบนี้ และเรียกร้องอีกฝ่ายกลับมาเชื่อมต่อระบบโดยเร็วที่สุด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Facebook เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย ‘อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย’ ของการพิจารณาและลงมติรับรองกฎหมายว่าด้วยการที่บริษัทเทคโนโลยีต้องบรรลุข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนกับสำนักข่าว หรือบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศ ก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยกฎหมายมีแนวโน้มได้รับความเห็นชอบสูงมาก เมื่อพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณสนับสนุน

นอกจาก Facebookแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ‘อัลฟาเบ็ต’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ก็ได้ขู่ว่าจะระงับการให้บริการในออสเตรเลียเช่นกัน แต่ต่อมามีรายงานว่า ผู้บริหารของกูเกิลบรรลุข้อตกลงกับ นิวส์ คอร์ปอเรชั่น อาณาจักรสื่อสารมวลชนของตระกูลเมอร์ด็อก ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อใหญ่หลายแห่ง รวมถึง ฟ็อกซ์ นิวส์ และ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เกี่ยวกับการซื้อขายข่าวแล้ว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการต่อการดำเนินการของ Facebook กับรัฐบาลออสเตรเลียในครั้งนี้ มีเพียงก่อนหน้าที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประสานมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของออสเตรเลีย เพื่อขอมีการให้ระงับการพิจารณากฎหมายนี้เท่านั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/826081

เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่ทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ และอาจนับได้ว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จนในวันนี้โลกเราก็ประสบความสำเร็จ เริ่มผลิตวัคซีน Covid-19 ออกมาใช้งานได้จริง และมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจมาก จากตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศที่เริ่มโครงการวัคซีนไปแล้ว

แน่นอนว่าหนึ่งในทีมพัฒนาวัคซีนที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก คือ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด จับมือร่วมกับ AstraZeneca ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำที่ร่วมทุนกันระหว่างอังกฤษและสวีเดน

จุดเริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ริเริ่มโดย ‘ด็อกเตอร์ แอนดี้ พอลลาร์ด’ และ ‘ด็อกเตอร์ ซาราห์ กิลเบิร์ท’ ที่ประจำอยู่ในศูนย์วิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หลังจากพบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดคร้้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2019 และเริ่มแพร่ระบาดในต่างประเทศได้ไม่นาน

ทีมวิจัยอ็อกซฟอร์ดได้เริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 จากข้อมูลของเชื้อไวรัสของ ‘ด็อกเตอร์ จาง หย่งเจิน’ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันวิจัยเซี่ยงไฮ้ที่ได้ถอนรหัสโครงสร้างพันธุกรรมของ Covid-19 ได้เป็นครั้งแรก

และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานวิจัยวัคซีนป้องกัน ‘ไวรัสอีโบร่า’ และ ‘ไวรัสเมอร์ส’ ที่เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหมือนทุนความรู้เดิมที่ช่วยให้ทีมงานรู้ขั้นตอนในการพัฒนาวัคซีนเป็นอย่างดี

แต่การแพร่ระบาดไปไกลกว่าที่ทีมวิจัยได้คาดคิดไว้มาก ด็อกเตอร์พอลลาร์ด เล่าว่า การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างและรุนแรงเป็นข่าวร้ายของทีมวิจัยที่ต้องทำงานแข่งกับเวลายิ่งกว่าเดิม และต้องเปลี่ยนแผนการทำงานที่เคยวางไว้ เช่น การเพิ่มบุคลากรในทีม การร่นเวลาในการทดลองในแต่ละเฟส การขยายกลุ่มอาสาสมัครที่มากกว่าเดิม และนั่นก็หมายความว่าทีมงานต้องใช้ทุนวิจัยมากกว่าเดิมหลายเท่า

และก็ได้บริษัทยา AstraZeneca เข้ามาร่วมทุนสนับสนุน ที่ทำให้ทีมงานของทั้ง 2 ด็อกเตอร์จากสถาบันวัคซีนแห่งอ็อกซฟอร์ด สามารถเดินหน้าโครงการวิจัยได้ในที่สุด

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดยอมรับว่าการทำงานแข่งกับเวลา และแรงเสียดทานจากกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี สร้างแรงกดดัน และบั่นทอนกำลังใจทีมงานอยู่หลายครั้ง เช่นเมื่อคราวที่ทางทีมงานได้เริ่มทดลองฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครกลุ่มแรก เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็มีข่าวปลอมกระจายทั่วออนไลน์ว่ามีกลุ่มทดลองเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนจากทีมของอ็อกซฟอร์ด

ถึงแม้จะเป็นข่าวปลอม แต่ก็สร้างความกดดันให้กับทีมงาน และกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนชุดแรกไปแล้วไม่น้อย ทางทีมวิจัยต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ทั้งยังต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนให้รายงานข่าวได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาของกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน ก็สร้างความปวดหัวให้กับทีมวิจัยเช่นกัน ด็อกเตอร์พอลลาร์ดได้กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลกับกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน อาจจะด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อมั่น หรือ ไปเชื่อข้อมูลแปลกๆ ที่ทำให้คิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นอันตราย และยังไม่ป้องกันตัวเอง ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เชื้อไวรัสยังคงแพร่กระจายอยู่ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้คนกลุ่มนี้

หลังจากผ่านการทดลองมาหลายขั้นตอน ในที่สุดทีม Oxford/AstraZeneca ก็สามารถบรรลุการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ที่ได้ประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจที่จะเริ่มฉีดให้กับคนทั่วไปได้แล้ว แต่งานของทีมวิจัยยังไม่จบเพียงแค่นี้

การได้รับการรับรองจากรัฐบาล และองค์กรสากล เป็นสิ่งที่การันตีความน่าเชื่อถือของวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ก็เคยได้รับผลตอบในแง่ที่ไม่ดีบ้าง แม้แต่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานูเอล มาครง เคยตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพของตัววัคซีนจากอังกฤษนี้ แต่ในที่สุดวันนี้ วัคซีน Oxford/ AstraZeneca ก็ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดกล่าวว่า ทีมงานของเขามีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ในราคาไม่สูง บริหารจัดการได้ง่าย ทั้งการจัดเก็บ และการขนส่ง ที่จะทำให้วัคซีนของเราสามารถเข้าถึงได้กับประชาชนทั่วทุกมุมโลก และก็ได้วัคซีนที่ตอบโจทย์ตรงตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

ปัจจุบันอังกฤษได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วถึง 14 ล้านคน ทั้งจากวัคซีนของอ็อกซฟอร์ด และ Pfizer นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในโครงการฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้นๆของโลก

แต่นั่นยังไม่ทำให้ทีมวิจัยจากอ็อกซฟอร์ดพอใจ เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่จากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศมีความเป็นไปได้ในอนาคต และยังมีเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เรายังไม่ค้นพบอีกมากมาย

ด็อกเตอร์กิลเบิร์ท จึงได้ผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัคซีนแห่งชาติขึ้นในอ็อกซฟอร์ดไชร์น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษถึง 158 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,320 ล้านบาท) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศอังกฤษในการป้องกันภัยจากโรคระบาดชนิดใหม่ คาดว่าศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2021 นี้


อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/world/2021/feb/14/life-savers-story-oxford-astrazeneca-coronavirus-vaccine-scientists

J&T Express Malaysia ออกประกาศแถลงการณ์ขอโทษ หลังพนักงานขนส่งก่อเหตุประท้วง ขว้างปาพัสดุของลูกค้าและไม่ยอมนำจ่ายในวันถัดมา เหตุไม่พอใจในเรื่องของผลตอบแทนโบนัส

คอลัมน์ สายตรงเคแอล

พนักงานขนส่ง J&T Express Malaysia ก่อเหตุประท้วง

คลิป https://www.tiktok.com/@nonihassan7/video/6926033858936769793?is_copy_url=1&is_from_webapp=v2

วิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวแพร่สะพัดไปในโลกโซเชียลทั้ง Facebook, Tiktok และ Twitter ซึ่งมีผู้พบเห็นชายหลายคนแสดงอาการไม่พอใจ โยนพัสดุของลูกค้าอย่างไม่แยแส โดยในคลิปปรากฎภาพกองพัสดุเป็นภูเขาที่ถูกโยนกองรวมกันไว้ไม่ได้ทำการแยกจำแนกแจกจ่ายแต่อย่างใด

ภายหลังพบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นศูนย์คัดแยกพัสดุของ J&T Express ในเขตเปรัค เหตุจากพนักงานเกิดความไม่พอใจในเรื่องของผลตอบแทนโบนัส จึงก่อเหตุรุนแรงขว้างปาพัสดุของลูกค้าและไม่ยอมนำจ่ายในวันถัดมา ทาง J&T Express Malaysia ได้ออกประกาศแถลงการณ์ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พร้อมกับปรากฎวิดีโอความยาว 57 วินาที พนักงานชายที่ก่อเหตุทั้ง 7 คนยืนเรียงแถวเพื่อแสดงการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และทาง J&T จะดำเนินการจัดส่งพัสดุให้กับลูกค้าโดยเร็วที่สุด ส่วนพัสดุที่เกิดความเสียหายหรือสูญหายทางบริษัทก็จะแสดงความรับผิดชอบตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ทางบริษัท J&T ไม่ได้ระบุว่าจะมีบทลงโทษอย่างไรกับพนักงานที่ก่อเหตุพวกนี้ แต่คงเดาได้ไม่ยาก ต้องชดใช้หัวโต ไม่ก็หางานใหม่เร็ว ๆ นี้แน่นอน!


Credit info news

https://www.nst.com.my/news/nation/2021/02/663924/seven-perak-jt-workers-apologise-violent-sorting-parcels

https://www.therakyatpost.com/2021/02/07/jt-express-protests-whats-going-on-how-to-claim-your-money-back/

Tiktok nonihassan7


"ผิงกั่ว"

สาวเมืองชล ตั้งรกรากอยู่ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตามสามีชาวจีนมาเลย์ ชีวิตท่ามกลางคนจีน แขกมาเลย์ และแขกอินเดีย พหุวัฒนธรรม ส่องมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านด้านล่างแผ่นดินแม่ มาเล่าสู่กันฟัง

ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนยังคงสงวนท่าทีต่อ “มาตรการตอบโต้การรัฐประหารในเมียนมา” หลังจากที่ทางสหรัฐฯได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าเตรียม “คว่ำบาตรพม่า” พร้อมเชิญชวนชาติพันธมิตรให้ร่วมทำตาม เพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าวของกองทัพ

สิงคโปร์ได้กลายเป็นชาติแรกของอาเซียนที่ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ชี้ว่า “ผู้ที่ได้รับผลกระทบย่างแท้จริง" จากมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาคือประชาชนทั่วไป ซึ่งเราไม่ขอสนับสนุนแนวทางนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวเมื่อวานนี้ว่า “แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นที่น่าตกใจ แต่เราไม่สนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้การรัฐประหารที่นั่น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป”

วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวกับรัฐสภาว่า เขาหวังว่าผู้ถูกคุมขังรวมถึงอองซาน ซูจี จะได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้พวกเขาสามารถเจรจากับทางทหารได้

สิงคโปร์ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาร์ และเรามีความกังวลเกี่ยวกับการปะทะกันอย่างรุนแรงในการประท้วง รวมถึงการตัดอินเทอร์เน็ต และการใช้กองกำลังและรถหุ้มเกราะตามท้องถนนในเมือง

“เราหวังว่าพวกเขาจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติสถานการณ์ที่บานปลาย ไม่ควรมีการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนที่ไม่มีอาวุธ และเราหวังว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างสันติ”

“การใช้มาตรการคว่ำบาตรในวงกว้างจะส่งผลกระทบต่อประชากรในเมียนมาซึ่งยังมีความยากจนอยู่เต็มไปหมด” เขากล่าวเสริม

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศหรือขู่ว่าจะคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้การรัฐประหารของเมียนมาร์ รวมถึงเชิญชวนนานาชาติให้มาคว่ำบาตรเมียนมาร่วมกัน

แต่เขากล่าวว่า “เราไม่ควรดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เพราะคนที่จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือประชาชนคนธรรมดาในเมียนมา ไม่ใช่เหล่าผู้มีอำนาจ” เขากล่าวย้ำ

คำกล่าวของเขาเป็นหนึ่งในคำกล่าวจากรัฐมนตรีของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก


Source : เพจ Thailand State

https://www.reuters.com/.../us-myanmar-politics-singapore...

ข่าวด่วนจากพม่า วันนี้ 19 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า มยา ตะเว ตะเว คาย หญิงพม่าวัย 20 ปี หนึ่งในผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ที่ถูกกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงที่ศีรษะ ได้เสียชีวิตลงแล้ว หลังจากที่ทีมแพทย์ได้พยายามยื้อชีวิตไว้นานถึง 10 วัน

ผู้ประท้วงหญิงรายนี้ ทำงานเป็นพนักงานขายที่ร้านขายของชำแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ ซึ่งได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับหน่วยปราบจลาจลของพม่า และมีการใช้กระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุม แต่ปรากฏว่า มยา กลับได้รับบาดเจ็บสาหัสจากลูกกระสุนปืนปริศนาเข้าบริเวณด้านหลังของศีรษะ ขณะที่เธอกำลังหลบอยู่หลังป้ายรถเมล์กับกลุ่มผู้ประท้วงคนอื่น แม้ว่าในวันนั้นเธอจะสวมหมวกกันน็อคอยู่ แต่คมกระสุนได้เจาะทะลุหมวกกันน็อคเข้าถึงศีรษะ เป็นเหตุให้เธอล้มลง หมดสติ และอยู่ในอาการโคม่านับจากวันนั้น

ทางกองทัพพม่าออกมายืนยันว่า ใช้เพียงกระสุนยางในการปราบปรามจลาจล และยืนยันว่าจะมีการสอบสวนหาความจริงให้กระจ่าง แต่ภาพข่าวที่มยาได้รับบาดเจ็บจากถูกยิงด้วยกระสุนจริง และภาพหลุดที่มีเจ้าหน้าที่ถือปืนคล้ายปืนกลอูซี เล็งไปที่ผู้ชุมนุม กลายเป็นกระแสร้อนแรงอย่างมากในพม่า และมีการแชร์ออกไปทั่วโลก

ทางโรงพยาบาล และครอบครัวของมยา ได้ออกมายืนยันการเสียชีวิตของเธอแล้วในวันนี้ และจะมีการชันสูตรพลิกศพเพื่อเก็บ.รายละเอียดในการสืบสวนต่อไปถึงที่มาของกระสุนปริศนา และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในวันเกิดเหตุ

มยา ตะเว ตะเว คาย นับเป็นผู้เสียชีวิตรายแรก ในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร นอกจาก มยาแล้ว มีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าเสียชีวิตในหน้าที่อีก 1 ราย ตั้งแต่มีการประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าเป็นต้นมา


อ้างอิง

https://www.theguardian.com/global-development/2021/feb/19/myanmar-protester-shot-in-head-during-police-crackdown-has-died-says-brother

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/mya-thwate-thwate-khaing-myanmar-protester-shot-in-head-dead-14234992

เลขาธิการสหประชาชาติร้อง ตั้งคณะทำงานพิเศษ แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้เข้าถึงได้ทั่วโลก ไม่ผูกขาดอยู่เพียงประเทศร่ำรวย แฉ วัคซีน 3 ใน 4 ของโลกอยู่ในมือ 10 ประเทศร่ำรวย มีอีกถึง 130 ประเทศ ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกด้วยซ้ำ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า มีอยู่ 10 ประเทศที่ฉีดและสำรองวัคซีนโควิด-19 รวมกันไปแล้วถึงร้อยละ 75 ของวัคซีนทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศอีกมากกว่าครึ่งโลก คือ 130 ประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกด้วยซ้ำ

กูเตอร์เรสกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ที่ประเทศไม่กี่ประเทศควบคุมปริมาณวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากของโลกไว้ เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันนั้น เลขาธิการเสนอให้สมาชิก G20 ตั้งหน่วยงานฉุกเฉินเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

“ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนเป็นการทดสอบศีลธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เขากล่าวในการประชุมกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ทั่วโลกมีผู้ได้รับวัควีนไปแล้วประมาณ 188 ล้านคน กูเตอร์เรสไม่ได้ระบุชื่อ 10 ประเทศที่ถือครองวัคซีนโควิด-19 ถึง 3 ใน 4 ของวัคซีนทั้งหมด แต่คาดว่าบางส่วนคงเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงอย่างแน่นอน เช่น สหรัฐอเมริกา

คณะทำงานที่เสนอจะประกอบด้วยสมาชิกของกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะสนับสนุนเงินและความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศใน “Global South” หรือประเทศแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา และอเมริกาใต้

หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับ COVAX ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มจากองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน Gavi และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวนมาก และส่งไปยังประเทศยากจนซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ร่ำรวยในการทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทยารายใหญ่ได้

ปัจจุบัน 10 ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูงสุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา 56.28 ล้านคน, จีน 40.52 ล้านคน, อังกฤษ 16.5 ล้านคน, อินเดีย 9.42 ล้านคน, อิสราเอล 6.88 ล้านคน, บราซิล 5.88 ล้านคน, ยูเออี 5.28 ล้านคน, ตุรกี 5.22 ล้านคน, รัสเซีย 3.9 ล้านคน และอิตาลี 3.21 ล้านคน

หนึ่งใน 130 ประเทศที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ยังรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/142416

https://edition.cnn.com/2021/02/18/world/united-nations-130-countries-no-vaccine-trnd/index.html

https://ourworldindata.org/covid-vaccinations

เทศบาลกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย งัดไม้แข็ง หากประชาชนปฏิเสธรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพราะอาจต้องเสียค่าปรับสูงถึง 10,000 บาท

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เผยว่า นายอาหมัด ริซา ปาเตรีย รองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ได้แถลงถึงการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนชาวอินโดนีเซียว่า “เป็นเรื่องที่จำเป็น” หลังพบสถิติผู้ป่วยสะสมสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือมากกว่า 1.2 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วเกือบ 34,000 คน

ทั้งนี้คำแถลงดังกล่าวได้มาพร้อมอำนาจตามคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ‘โจโค วิโดโด’ ซึ่งลงนามเมื่อต้นเดือนก.พ.ว่า ชาวอินโดนีเซียที่ปฏิเสธเข้ารับการฉีดวัคซีน อาจไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐบางส่วนได้ หรืออาจต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยผู้นำอินโดนีเซียให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดบทลงโทษเองนั้น ชาวกรุงจาการ์ตาที่ฝ่าฝืน อาจต้องชำระค่าปรับสูงสุด 5 ล้านรูเปียห์ (ราว 10,715.68 บาท) แต่ ปาเตรีย ยืนยันว่า “จะเป็นทางเลือกสุดท้าย”

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการให้จำนวนประชากรเข้ารับการฉีควัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย คือไม่ต่ำกว่า 181.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศซึ่งมีอยู่ราว 270 ล้านคน ภายในระยะเวลา 15 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนที่แล้ว คิดเป็นประมาณ 67% เพื่อให้เพียงพอสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างชาวอินโดนีเซีย 1,202 คน โดยสำนักวิจัยไซฟุล มูจานี เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ปรากฏว่ามีเพียง 37% ยืนยันจะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ส่วน 17% ปฏิเสธ แต่กลุ่มตัวอย่างมากถึง 40% ยังตัดสินใจไม่ได้


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/826313

อเมริกาวิตก!! จีนใช้กฎหมายใหม่ อนุญาตชัดครั้งแรกให้ยามชายฝั่งยิงเรือต่างชาติ

สหรัฐอเมริกามีความกังวลต่อความเคลื่อนไหวของจีนที่เพิ่งบังคับใช้กฎหมายยามชายฝั่งฉบับใหม่เมื่อเร็วๆ​ นี้ ซึ่งอาจขยายข้อพิพาททางทะเล และนำมาซึ่งการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ไม่ชอบธรรม จากความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาเมื่อวันศุกร์​ (19 ก.พ.)

จีน ซึ่งมีข้อพิพาทด้านอำนาจอธิปไตยทางทะเลกับญี่ปุ่นในทะเลญี่ปุ่น และกับหลายชาติเอเซียนในทะเลจีนใต้ ผ่านกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอนุญาตอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ให้ยามชายฝั่งมีอำนาจยิงเรือต่างชาติ

เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวระหว่างแถลงสรุปว่า วอชิงตัน "รู้สึกกังวลต่อภาษาในกฎหมาย ซึ่งสัมพันธ์อย่างโจ้งแจ้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้กำลัง ในนั้นรวมถึงกำลังติดอาวุธ โดยยามชายฝั่งจีน เพื่อเสริมคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน และสหรัฐฯยังคงรู้สึกกังวลต่อข้อพิพาททางอาณาเขตและทางทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้"

เขาบอกว่าภาษาที่ใช้ในกฎหมายนี้​ อาจถูกใช้ข่มขู่บรรดาเพื่อนบ้านทางทะเลของจีน​ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ​ ยังระบุอีกว่า "เรากังวลยิ่งขึ้นว่าจีนอาจใช้กฎหมายใหม่นี้เพื่อเน้นย้ำคำกล่าวอ้างทางทะเลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในปี 2016" อ้างถึงคำพิพากษาระหว่างประเทศ ที่ให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะ กรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน

ไพรซ์ ระบุว่า​ สหรัฐฯ​ ขอย้ำถึงคำแถลงเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน ซึ่ง ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ณ ขณะนั้น ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีน โดยบอกว่าคำกล่าวอ้างของปักกิ่งในการเป็นเจ้าของทรัพยากรนอกชายฝั่งเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้นั้น "ไม่ชอบธรรมโดยสิ้นเชิง"

โฆษกรายนี้บอกว่า "สหรัฐฯ​ ยืนหยัดอย่างหนักแน่นในพันธสัญญาที่มีต่อพันธมิตร ทั้งกับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์"

สหรัฐฯ​ มีสนธิสัญญากลาโหมร่วมกับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์หลายฉบับ และบ่อยครั้งที่ลาดตระเวนทางเรือในภูมิภาคแถบนี้ ในการแสดงจุดยืนท้าทายคำกล่าวอ้างทางทะเลอันเลยเถิดของจีน


ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9640000016907

(รอยเตอร์ส)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top