Saturday, 10 May 2025
World

หัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศข่าวเซอร์ไพรส์วงการ​ ด้วยการหันไปจับธุรกิจเกี่ยวกับหมู

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ และ​ บีบีซี​ รายงานว่าบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมและผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของจีนกำลังเปิดตัวโครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับใช้ในฟาร์มหมูเพื่อมองหารายได้แหล่งอื่นๆ หลังยอดขายสมาร์ทโฟนลดลงภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ

โดยจีนมีอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหมูในประเทศจีนคิดเป็นถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนหมูทั้งโลก หัวเว่ยจึงหันมาผลิตเทคโนโลยีเพื่อช่วยปรับปรุงฟาร์มหมูให้ทันสมัย เช่น การนำ AI มาใช้ในการตรวจหาโรค ติดตามและจดจำใบหน้าหมู รวมถึงการตรวจสอบน้ำหนัก อาหาร และการออกกำลังกาย

นอกจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้เลี้ยงหมูแล้ว หัวเว่ยยังทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินอีกด้วย 

โดยเหริน เจิ้งเฟย ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ได้ประกาศเปิดตัวห้องปฏิบัติการนวัตกรรมการขุดอัจฉริยะในไท่หยวนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมถ่านหิน 

ทั้งนี้ ยอดขายสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยลดลง 42% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ท่ามกลางปัญหาไมโครชิปที่มีอยู่อย่างจำกัด 

นอกจากนี้​ ยังถูกปิดกั้นการพัฒนา 5G ในหลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังมีรายงานว่าหัวเว่ยจะลดการผลิตสมาร์ตโฟนลงถึง 60% ในปีนี้ 

หัวเว่ยจึงต้องมองหาแหล่งรายได้อื่นโดยหันไปสู่บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ยานพาหนะอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสวมใส่ ตลอดจนมีแผนที่จะสร้างรถยนต์อัจฉริยะด้วย 

โดยเหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่าหัวเว่ยยังสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการจำหน่ายสมาร์ตโฟน ขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น 

เจดีดอทคอม เน็ตอีส และอาลีบาบา ก็กำลังพยายามที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมฟาร์มหมูเช่นเดียวกัน

กลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก กับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตวัคซีนของโลกอีกแห่งอย่างอินเดีย

โดยปัจจุบันอินเดียก้าวหน้า​ จนสามารถพัฒนาวัคซีน Covid-19 เป็นของตัวเอง และกำลังผลิตพร้อมประกาศเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนให้ชาวอินเดียได้ถึง 300 ล้านคนภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ซึ่งถือเป็นโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไปๆ​ มาๆ​ กลายเป็นว่าชาวอินเดียส่วนใหญ่กลับเมิน ไม่ยอมมาฉีดกันสักเท่าไหร่

มันเกิดอะไรขึ้น?

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด Covid-19 ระดับรุนแรง แซงหน้าหลายประเทศขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกหากนับจากยอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศ

ทว่าตอนนี้ประเทศอินเดียก็ได้พัฒนาตนเอง​ จนจัดกลายเป็นผู้ผลิตยา และวัคซีนรายใหญ่ของโลก โดยมีข้อมูลว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 วัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกกว่า 60% ผลิตในอินเดีย และยังเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทยาชั้นนำของโลกอีกมากมาย ดังนั้นหากถามเรื่องศักยภาพในการผลิตยา และวัคซีนของอินเดียก็บอกได้เลยว่าหายห่วง

นอกจากนี้ อินเดียยังก้าวหน้าถึงขนาดสามารถพัฒนาวัคซีน Covid-19 เป็นของตัวเองได้สำเร็จอีกด้วย นับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่น่าจับตามองมาก

และทันทีที่มีข่าวว่ามีวัคซีน Covid-19 ในเวอร์ชั่นของอินเดีย รัฐบาลก็ไม่รอช้า ประกาศรับรองวัคซีน Covid-19 ให้ใช้ได้ทันทีถึง 2 ตัว คือ

- Covishield ที่เป็นชื่อเรียกของ วัคซีน Oxford-AstraZeneca ที่ผลิตในบริษัทยาของอินเดีย

- Covaxin วัคซีนของอินเดียแท้ ๆ ที่พัฒนาโดยบริษัท Bharat Biotech

และได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อกลางเดือนมกราคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลอินเดียประกาศเป้าหมายว่าจะต้องฉีดวัคซีนในได้ 300 ล้านคนภายในเดือนสิงหาคม นับว่าเป็นโครงการวัคซีนใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงเวลานั้น

แต่หลังจากที่เดินหน้าโครงการไปได้เพียงแค่เดือนเดียว กลับพบว่าชาวอินเดียมารับวัคซีนเพียงแค่ 8.4 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 1 ใน 4 ที่คาดว่าต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 37.5 ล้านคน เพื่อบรรลุเป้าหมายในเดือนสิงหาคม

แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะสร้างแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อแจ้งเตือนและติดตามกลุ่มเป้าหมายให้มารับวัคซีน ทำแคมเปญเชิญชวนสารพัด แต่ก็ยังมีคนมาไม่ถึงเป้า และที่รัฐบาลต้องกลุ้มใจหนักกว่านั้นคือ หลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว มีเพียง 4% เท่านัันที่กลับมารับวัคซีนเข็มที่ 2

สาเหตุดังกล่าง​ เมื่อถามจากความเห็นของกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเข้ารับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ที่เป็นบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่ต้องสัมผัสกลุ่มเสี่ยงนั้น หลายคนยังลังเลที่จะไปรับวัคซีน ผลัดไปก่อน ไม่รีบ ไม่ร้อน โดยอ้างว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอินเดียก็ลดลงเรื่อยๆ หากเป็นเช่นนี้ สถานการณ์คงไม่น่ากลัวแล้ว ไม่ต้องรีบก็ได้ ซึ่งจุดนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ชาวอินเดียตื่นตัวที่จะไปฉีดวัคซีนน้อยลง

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ​ ความเชื่อมั่นในวัคซีนที่ผลิตในอินเดียเอง ที่หลายคนยังกังขาในประสิทธิภาพ เนื่องจากการพัฒนาวัคซีน Covaxin ทำอย่างเร่งรีบ และมีตัวเลขผลการวิจัยออกมาค่อนข้างน้อย บางกระแสบอกว่าวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบในเฟส 3 อยู่เลย รัฐบาลอินเดียก็เซ็นอนุมัติรับรองให้ใช้วัคซีนได้แล้ว

นิตยการ Time ได้สำรวจความเห็นของบุคลากรการแพทย์ในอินเดีย และพบว่าหลายคนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในวัคซีนของอินเดีย ยิ่งศูนย์วัคซีนบางแห่งมีเพียงวัคซีนในประเทศให้เลือก บางคนก็ขอเลือกที่จะไม่ฉีด เมื่อชาวบ้านทั่วไปเห็นว่าขนาดหมอ พยาบาล ยังไม่ยอมไปฉีด ก็ยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นในตัววัคซีนยิ่งขึ้นไปอีก

เลยทำให้ตอนนี้อินเดียกลายเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่เหมือนใครในโลก คือ มีวัคซีน Covid-19 เหลือเฟือ​ แต่ไม่มีคนยอมมาฉีด

สถานการณ์เช่นนี้​ อาจจะเกิดขึ้นในหลายประเทศในอนาคต​ เมื่อวัคซีนเริ่มมีเพียงพอกับความต้องการในท้องตลาด แต่พอตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ก็จะทำให้คนมีความตื่นตัวที่จะไปฉีดน้อยลง เพราะเข้าใจว่าว่าการระบาดกำลังจะจบลงในไม่ช้า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด และยังมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ทุกเมื่อ

ตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศกำลังเร่งกว้านซื้อวัคซีนในท้องตลาด​ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ในอินเดีย​แล้ว อาจพบว่า​ การสร้างความเชื่อมั่น และจูงใจให้คนออกมารับวัคซีนให้ครบตามจำนวน​ อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าก็ได้


ที่มา: https://time.com/5940963/india-covid-19-vaccine-rollout/

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-55748124

นักอนุรักษ์และยูเนสโกหวั่นรัฐบาลกัมพูชาเดินเครื่อง​ ปล่อยเอกชนสร้างสวนสนุกใกล้นครวัด​ หวั่นทำลายมนต์ขลังมรดกโลก

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ออกแถลงการณ์ถึงแผนการก่อสร้างสวนสนุกใกล้กับนครวัดของกัมพูชาว่า “ความใกล้เคียงกันของโครงการกับพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องของนครวัด รวมทั้งขนาด ขอบเขต และแนวคิดของกิจกรรมต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อความโดดเด่นของนครวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก”

และยังระบุอีกว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างแสดงความกังวลและแนะนำให้ยกเลิกการก่อสร้างสวนสนุกดังกล่าว

เช่นเดียวกับชาวกัมพูชาบางส่วนที่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้าง โดย Leng Chentha ชาวกัมพูชาในกรุงพนมเปญเผยกับ Radio Free Asia ว่า ไม่สนับสนุนการก่อสร้างหากสวนสนุกทำลายความงดงามของนครวัด

เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาตกลงให้บริษัท NagaCorp ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง​ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการคาสิโนที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา เช่าที่ดินใกล้กับนครวัดเป็นเวลา 50 ปี

โดยบริษัทมีแผนสร้างสวนสนุกและโรงแรม Angkor Lake of Wonder ขนาด 750,000 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดเพียง 500 เมตร

ขณะนั้นบริษัทระบุว่า จะโปรโมทโครงการสวนสนุกมูลค่าการลงทุน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2025 ร่วมกับนครวัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวคู่แฝดของกัมพูชา

ส่วน พาย สีพัน โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่าสวนสนุกแห่งใหม่จะไม่กระทบกับนครวัด

หลังจากนี้ ยูเนสโกมีแผนจะพิจารณาตรวจสอบแผนการก่อสร้างสวนสนุกดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่จะจัดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ และจะติดต่อประสานงานกับทางการกัมพูชาเพื่อให้แน่ใจว่าการปกป้องนครวัดคือเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สุด

ทั้งนี้ นครวัดสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในยุคจักรวรรดิเขมร และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกเมื่อปี 1992


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/645881

Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP

โลกปั่นป่วน 'ไบเดน' ประกาศภาวะภัยพิบัติในเท็กซัส หลังเผชิญสภาพหนาวจัดตายแล้ว 30 ราย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ได้ประกาศภาวะภัยพิบัติในรัฐเท็กซัส ภายหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 30 ราย ขณะที่ประชาชนจำนวนมากไม่มีน้ำใช้ และเมืองต่างๆ ถูกตัดขาดจากกระแสไฟฟ้าเป็นเวลาถึง 7 วัน อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในพื้นที่

การประกาศภาวะภัยพิบัติดังกล่าวเปิดทางให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเท็กซัส รวมทั้งการจัดหาที่พักพิงชั่วคราว การซ่อมแซมบ้าน และการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้มีการประกันไว้

ไบเดน เปิดเผยว่า ตนเองวางแผนที่จะลงพื้นที่ในรัฐเท็กซัสสัปดาห์หน้า แต่จะเดินทางลงพื้นที่ก็ต่อเมื่อการเดินทางไปเยือนของตนเองไม่ได้ก่อให้เกิดภาระหรืออุปสรรค

ทั้งนี้ พายุที่รุนแรงในช่วงฤดูหนาวได้ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นเวลาหลายวันในเท็กซัส


ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/66973

หลังจากที่รอลุ้นมานาน วัคซีน Covid-19 ล็อตแรกของบริษัท Pfizer-BioNTech ได้ส่งถึงสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ด้วยสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH604 เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (21 กุมภาพันธ์ 64)

วัคซีนชุดแรกที่มาเลเซียได้รับคิดเป็นจำนวน 312,390 โดส ดำเนินการขนส่งโดยบริษัท MASkargo หลังจากที่เครื่องบินโดยสารขนส่งของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ถึงสนามบินในกัวลาลัมเปอร์ ทางการมาเลเซียได้จัดเตรียมรถขนถ่ายสินค้าดำเนินการโดยบริษัท DHL มารับไปจัดเก็บไว้ในสต็อควัคซีนของรัฐบาล โดยจะมีรถตำรวจตามประกบอย่างใกล้ชิดตลอดช่วงการขนถ่ายวัคซีนจนถึงจุดหมาย

ซึ่งทางรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย ดาตุก์ เซอรี ด็อกเตอร์ แอดฮัม บาบา รัฐมนตรีฝ่ายประสานงานด้าน Covid -19 แห่งชาติ คาห์รี จามาลัดดิน และรัฐมนตรีคมนาคม ดาตุก์ เซอรี ด็อกเตอร์ วี กา ซง ได้เดินทางมาเป็นสักขีพยานในการรับวัคซีน Pfizer ชุดแรก ที่นับว่าช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

การเดินทางของวัคซีน Pfizer ชุดแรกของมาเลเซีย ได้จัดส่งมาจากประเทศเบลเยี่ยม มาเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานไลบ์ซิก ในเยอรมัน ก่อนที่จะบินตรงมาลงที่สิงคโปร์ ที่จะเป็นจุดกระจายวัคซีนไปสู่ประเทศอื่นๆในย่านเอเชียแปซิฟิครวมถึงมาเลเซียด้วย

ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้ทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนจาก Pfizer เมื่อวันที่ 11 มกราคมปีนี้ จำนวน 32 ล้านโดส

โดย คาห์รี จามาลัดดิน รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพ่วง ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายประสานงานด้าน Covid-19 แห่งชาติ ยืนยันว่าการจัดเก็บวัคซีน Pfizer ในอุณหภูมิต่ำถึง - 70 องศานั้นไม่เป็นปัญหา เนื่องจากได้ซื้อตู้แช่ไว้แล้วด้วยงบประมาณมูลค่า 16.6 ล้านริงกิต (ประมาณ 123 ล้านบาท)

ส่วนวัคซีนล็อตที่ 2 คาดว่าจะจัดส่งได้ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และนอกจากวัคซีนของ Pfizer แล้ว รัฐบาลมาเลเซียยังได้จัดซื้อวัคซีนจากบริษัท Sinovac Biotech ของประเทศจีน ที่มีกำหนดจัดส่งถึงมาเลเซียได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์เช่นเดียวกัน

และหลังจากที่ได้รับวัคซีนชุดแรกมาแล้ว มาเลเซียจะเริ่มเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ โดยเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์แถวหน้า และกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นลำดับแรก โดยทางมาเลเซียตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 80% ของประชากร


อ้างอิง

https://www.thestar.com.my/news/nation/2021/02/21/covid-19-plane-carrying-vaccines-touches-down-at-klia

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/covid-19-malaysia-start-vaccination-drive-early-pfizer-biontech-14248616

https://www.theedgemarkets.com/article/pfizerbiontech-covid19-vaccine-coldchain-delivery

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวพม่ามีนัดชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่าวันลุกฮือ ‘22222 uprising’ (จากตัวเลขวันที่ 22/2/2021) ที่จะเป็นการนัดหยุดงานร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของทัพพม่าครั้งใหญ่ที่สุด

การนัดชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวยืนยันการเสียชีวิตของ ‘มยา ตะเวง ตะเวง คาย’ หญิงสาวพม่า หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนปืนจริงที่ศีรษะเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 30 คน

และในวันนี้ ชาวพม่าจึงพร้อมใจกันนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเฉพาะในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ ที่มีผู้มาร่วมชุมนุมกันมากมายมหาศาลมากกว่าแสนคน เนืองแน่นเต็มท้องถนน ซึ่งชาวเน็ตในพม่าต่างออกมารายงานสถานการณ์ในแต่ละเมือง และพบว่ามีการนัดเดินขบวนประท้วงร่วมกันเกือบทุกเมืองแล้วทั่วประเทศ

บริษัท ห้าง และร้านค้าหลายแห่ง ก็หยุดทำการในวันนี้ อาทิเช่น KFC และ บริษัทขนส่ง Food Panda ที่อนุญาตให้พนักงานเข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวพม่าในการเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนธนาคาร โรงพยาบาล สถานที่ราชการยังคงเปิดทำการ แต่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ออกไปร่วมชุมนุมได้ แต่ให้จัดสรรบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อยังคงเปิดให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งว่าการนัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุม หรือเป็นสัญลักษณ์ของการอารยะขัดขืนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย แต่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในพม่าได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนพนักงานชาวพม่าหากต้องการจะหยุดงานเพื่อร่วมชุมนุมตามหลักสิทธิเสรีภาพ

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 12 แห่งได้แก่ บริษัท เบียร์ คาร์ลสเบิร์ก และ ไฮเนเกน, เนสท์เล่, โคคา-โคลา, บริษัทผลิตเสื้อผ้า H&M, บริษัทเทเลคอม Telenor และ Ooredoo, บริษัทน้ำมัน Unocal, Total และ Woodside, บริษัทขนส่ง Maersk และบริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารอย่าง Ericsson ซึ่งได้เข้ามาลงทุนและจ้างแรงงานพม่ารวมกันมากกว่า 100,000 คน

โดยทางกลุ่มบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เน้นย้ำว่ายังต้องการที่จะทำธุรกิจในพม่า แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่เน้นความสำคัญของการแสดงออกตามแนวทางประชาธิปไตย และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขสถานการณ์ในประเทศโดยเร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของประชาชนชาวพม่า

และชาวพม่าก็หวังว่าการลุกฮือ 22222 ในวันนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของพม่า แต่ทั้งนี้การจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จับกุมกลุ่มต่อต้านไปแล้วถึง 640 คน และตัดสัญญาอินเตอร์เน็ตติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ส่วนประสิทธิภาพของสัญญาณโดยรวมลดลงเหลือเพียง 13% ของระดับการใช้งานปกติ แต่ก็ยังไม่อาจยับยังการนัดชุมนุมของหนุ่ม-สาว ชาวพม่าจากทั่วประเทศได้


อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2021/2/22/myanmar-new

https://www.mmtimes.com/news/least-two-more-dead-tensions-escalate-myanmar.html

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-protesters-plan-even-bigger-rallies-after-deadly-clashes

เวียดนามแซงหน้าไทยในหลายดัชนี ทั้งการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม)

ในขณะนี้ เวียดนามแซงหน้าไทยในหลายดัชนี ทั้งการส่งออก #Export ทุนต่างชาติไหลเข้า #FDI (แม้ไทยยังคงมี GDP และ GDP per capita สูงกว่าเวียดนาม) ล่าสุด “อังค์ถัด” เผยไทยถดถอยใน global supply chain ขาดความน่าสนใจลงทุน ในขณะที่ #นวัตกรรมเวียดนาม เป็นรองแค่ สิงคโปร์ -มาเลเซีย

#จุดแข็งเวียดนาม คนเวียดนามขยัน / เรียนรู้ / ปรับตัว / ไม่ทำตัวเป็นกบต้ม และมีการเมืองนิ่ง มีกลไกรัฐที่เข้มแข็ง และจริงจังจะเป็นปัจจัยเอื้อในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้วิ่งฉิวได้

เหรียญมี 2 ด้าน #เวียดนามยังมีจุดอ่อนในหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ยังครอบคลุมไม่ทั่วทั้งประเทศ แต่เวียดนามไม่มัวแต่ชะล่าใจ ยอมรับปัญหา/เร่งพัฒนา เพื่อขจัดจุดอ่อนตัวเอง

เวียดนามมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ประเทศจะไปทางไหน จนตอนนี้กลายเป็นฐานผลิต Smart Phone อันดับต้นของโลก

เวียดนามมีแบรนด์รถที่ผลิตเองแล้ว #Vinfast และมี Startup ระดับ Unicorn #VNG แต่ไทยยังไม่มีสักอย่าง

เวียดนามมีดัชนีด้านนวัตกรรม Global Innovation Index (GII) ที่แซงหน้าไทย และดัชนี Pisa ชนะไทยมาตั้งแต่ปี 2015 แล้วด้วย

เวียดนาม กลายเป็นคู่ค้าหลักของจีนที่ขยายตัวเร็วมากในยุคสีจิ้นผิง จึงดันให้สถิติอาเซียนทั้งกลุ่ม (10 ประเทศ) ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนในปี 2020 (แซงอียูและสหรัฐ)

ยุคนี้ เวียดนาม "อยู่เป็น" ในความสัมพันธ์กับจีน เวียดนามเน้นก้าวข้ามประเด็นความขัดแย้งกับจีน (พักปัญหาเอาไว้ก่อน) หันมาเน้นทำมาหากิน สร้างบ้านสร้างเมือง #ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องมาก่อน ต้องแข็งแกร่งให้ได้ก่อน เวียดนามฉลาดในการ #แปลงจีนให้เป็นโอกาส ด้วยจ้า

เวียดนามมียุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งทำ Digitalization เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 20% ของจีดีพีเวียดนาม ภายในปี 2025

ถ้าสนใจอ่านความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม คลิกอ่านบทความนี้ของ อ.ษร ได้เลย “ไหนว่าไม่รักกัน : ความสัมพันธ์จีน-เวียดนาม” https://www.the101.world/china-and-vietnam/

#ข้อได้เปรียบเวียดนาม ด้าน FDI มีอย่างน้อย 4 เรื่อง เช่น

1) โครงสร้างองค์กร จังหวัดมีกรม/กองที่ดูแลเรื่องการต่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุนของตัวเองระดับหนึ่ง

2) กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามมีกรมการต่างประเทศเพื่อจังหวัด ประสานส่งเสริมจังหวัดตามข้อ 1

3) USAID ร่วมกับ VCCI สำรวจ วิเคราะห์และรายงานผล Provincial Competitiveness Index มา 15 ปีแล้ว รวมทั้ง “ความโปร่งใส” และ “ความยากง่ายในการทำธุรกิจ”

4) คณะกรรมระดับชาติส่งเสริมเรื่องการใช้ประโยชน์จากคนเวียดนามโพ้นทะเล โดยเฉพาะและส่งเสริมมานานหลายสิบปีตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศลงมา

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนาม ประกาศ #เเผนเศรษฐกิจ 5 ปี ฟื้นฟูประเทศจากพิษ COVID-19 ตั้งเป้าจีดีพีเติบโตสูงสุดถึง 7% เร่งพัฒนาให้เป็น ‘ศูนย์กลางใหม่’ ของการลงทุนเทคโนโลยีไฮเทค

*** ปัญหากบต้ม โดย Noel Tichy อธิบาย สภาพปัญหาเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยคนทั่วไปไม่รู้ตัว /ชะล่าใจ จึงไม่ป้องกันตัวเองหรือปรับตัว เสมือนเป็นกบนอนแช่ในหม้อต้ม ตอนแรกสภาพน้ำเย็นสบาย ก็ชะล่าใจ แล้วพอน้ำค่อยๆ อุ่นขึ้น แทนที่กบจะกระโดดหนีกลับนอนแช่ทนต่อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นน้ำเดือด ในที่สุด จึงกลายเป็น “กบต้ม”ตายคาหม้อต้ม

             


อ่านเพิ่มเติมได้จาก

https://positioningmag.com/1317386?fbclid=IwAR2dtuk6qA3fMD4A-PCiMFoqP8ZhHXlRnLHEdg8qfN69TQDTSswMxRApGqw

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923755

โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://www.facebook.com/1037140385/posts/10222738872353895/

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เตือนเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อมวลชนรายใดก็ตาม ที่ยังคงใช้คำว่า 'คณะรัฐประหาร' หรือ​ 'รัฐบาลทหาร' และ 'ระบอบ'

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการสื่อสารของเมียนมาเคยส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงสมาคมสื่อแห่งชาติ ว่ารายงานข่าวด้วยการใช้คำว่า "รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร" กับรัฐบาลทหารนั้น "ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณสื่อ" พร้อมทั้งเตือนการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย และการถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของกฎหมายด้านข่าวสาร ที่ระบุแนวทางปฏิบัติงานของสื่อมวลชนทุกแขนงในเมียนมา ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ "อย่างเคร่งครัด"

ขณะที่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา รายงานว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่ากองทัพ "ส่งคำเตือน" ไปยังสื่อทุกแห่งในประเทศ ว่าจะใช้มาตรการ "เด็ดขาด" ที่รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาต หากสื่อมวลชนรายใดก็ตามยังคงรายงานว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา "คือการรัฐประหาร"

ทั้งนี้​ มีรายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวอาวุโสหลายคนของเมียนมา ไทม์ส ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่ฉบับของเมียนมา พร้อมใจยื่นใบลาออก หลังได้รับคำสั่งจากฝ่ายบริหาร ให้ใช้คำว่า "การถ่ายโอนอำนาจ" แทน "การรัฐประหาร"


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/827268

ศาลปักกิ่ง​ สั่งสามีจ่ายเงินชดเชยภรรยาร่วม 2 แสนบาท​ ฐานปล่อย​ 'ทำงานบ้านหนัก'​ อย่างโดดเดี่ยว​ ด้านชาวเน็ตท้วง​ จ่ายแค่นี้ยังน้อยไปกับสิ่งที่ภรรยาต้องแบก

นับเป็นคดีแรกภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน เมื่อศาลแห่งหนึ่งของปักกิ่งได้สั่งสามีรายหนึ่งจ่ายเงินหลายหมื่นหยวน แก่ภรรยาที่กำลังหย่าร้างกัน เป็นเงินชดเชยจากการทำงานหนักและชีวิตแสนน่าเบื่อหน่ายตลอดเวลา 5 ปีของชีวิตสมรส ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นคดีที่จุดชนวนการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนบนสื่อสังคมออนไลน์

ข้อมูลจาก China Women’s News ระบุว่าโจทก์แซ่หวัง ซึ่งเป็นภรรยาได้ยื่นขอหย่าจากสามีแซ่เฉินเมื่อปีที่แล้ว​ โดยเธออ้างว่าสามีไม่ใส่ใจหรือไม่มีส่วนร่วมใดๆ​ ในงานบ้านทั้งหลายเลย เขาออกไปทำงานทุกวัน ทิ้งให้เธออยู่บ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง

และท้ายที่สุดศาลแขวงในกรุงปักกิ่ง ก็พิพากษาเข้าข้างเธอ สั่งให้ เฉิน จ่ายเงินชดเชย 50,000 หยวน​ (ราว 2.3 แสนบาท) โทษฐานละเลยแบ่งภาระหน้าที่ภายในครอบครัว

ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ระบุว่า​ สามีหรือภรรยา ซึ่งแบกกับความรับผิดชอบมากกว่าอีกฝ่าย ทั้งเลี้ยงลูก ดูแลญาติ ๆ​ คนชรา ทำงานบ้านหรือทำหน้าที่อื่นๆ​ ที่จำเป็น​ โดยบ่อยครั้งกลับเป็นหน้าที่ที่อีกฝ่ายมองไม่เห็นค่า เขาหรือเธอมีสิทธิ์เรียกเงินชดเชยจากอีกฝ่าย เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาคิดหย่าร้างกัน

กฎหมายสมรสใหม่นี้​ ถูกนำมาแทนที่ประมวลกฎหมายแพ่งเดิม ซึ่งกำหนดให้คู่สมรสที่กำลังหาทางหย่าร้าง สามารถเรียกเงินชดเชยกันได้ก็ต่อเมื่อทั้งคู่ลงนามในสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น โดยสัญญาก่อนสมรสนั้นจะระบุเงื่อนไขต่าง ๆ​ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ปฏิบัติกันนักในหมู่คู่รักชาวจีน

ด้าน จาง หยาน เลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการด้านกฎหมายสมรสและครอบครัวของสมาคมทนายความเสิ่นหยาง ให้ความเห็นว่ากฎหมายเงินชดเชยใหม่จะช่วยปกป้องสิทธิของแม่บ้านมากยิ่งขึ้น

"แม่บ้านไม่ใช่แค่ต้องแบกรับทำงานหนัก แต่การไม่มีงานทำ ก็ทำให้พวกเธอเจอกับปัญหาขาดการติดต่อกับสังคมในระยะยาว" จาง​ หยานกล่าวและว่า "ในแง่ของพลวัตในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา โดยทั่วไปแล้วฝ่ายหญิงจะอยู่ในฐานะที่อ่อนแอกว่า"

สำหรับเรื่องดังกล่าวได้หลุดไปถึงสื่อสังคมออนไลน์​ โดยบางส่วนบ่งชี้ว่า​ คำตัดสินของศาลเป็นก้าวย่างในทางบวก เพื่อมุ่งสู่การตระหนักถึงคุณค่าภาระหน้าที่ภายในครอบครัว แต่ก็มีหลายคนที่ประชดประชันว่า​ จำนวนเงินชดเชยที่เสนอนั้นค่อนข้างน้อย ไม่สมเหตุสมผลกับภาระอันหนักอึ้งที่เหล่าภรรยาชาวจีนต้องแบกรับ

ทั้งนี้​ ขัอมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน บ่งชี้ว่าในปี 2018 ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องทำงานบ้านเฉลี่ยแล้ว 3 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน มากกว่าฝ่ายสามีถึงราว ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ขณะเดียวกันจากผลสำรวจทางออนไลน์ของสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง พบว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40,000 คน บอกว่าฝ่ายโจทก์ควรได้รับเงินมากกว่า 50,000 หยวน สำหรับการตรากตรำทำงานหนักนานหลายปี


ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9640000018222

'Bitcoin' หลบไป! 'ดิจิทัลรูปี' กำลังมา

ต้องยอมรับถึงความร้อนแรงของตลาดการเงินดิจิทัลตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยิ่งมีข่าวการกระโดดเข้ามาร่วมทุนอย่างเต็มตัวของเจ้าพ่อ Tesla อย่าง อีลอน มัสก์ ที่ยอมเทกระเป๋าลงทุนใน Bitcoin ไปแล้วถึง 45,000 ล้านบาท ก็ยิ่งทำให้ Botcoin กลายเป็นที่สนใจ และทำราคาพุ่งทะลุ 5 หมื่นดอลลาร์/ บิทคอยน์ เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 2 เดือน

ด้วยความคึกคักของตลาดเงินดิจิทัล ทางรัฐบาลอินเดียยอมรับว่า มีนักลงทุนอินเดียจำนวนไม่น้อยออกไปลงทุนในตลาดเงินดิจิทอล ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของเงินสกุลรูปีของประเทศในระยะยาว

แต่หากทิศทางของการทำธุรกรรมในอนาคตมีแนวโน้มไปทางโลกดิจิทัล รัฐบาลอินเดียคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อกระแสของเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ และได้มีการพูดคุยกันถึงการผ่านร่างกฏหมายว่าด้วยเรื่องข้อกำหนดของเงินดิจิทัล และอีกประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าจับตาก็คือ การออกเงินสกุล ดิจิทัล รูปี ของอินเดีย

แม้ตอนนี้เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการถกประเด็นในสภา แต่การออกดิจิทัล รูปี เริ่มมีเสียงตอบรับและสนับสนุนจากภาคเอกชนบางส่วนในอินเดียที่เห็นด้วยว่า อินเดียควรมีเงินสกุลดิจิทัลเป็นของตัวเอง

นาย ราเคช จุนยุนวาลา อภิมหาเศรษฐีอินเดียที่ได้รับฉายาว่าเป็น วอเรน บัฟเฟตแห่งอินเดียให้ความเห็นว่า รัฐบาลอินเดียควรแบน Bitcoin เพื่อสร้างเงินสกุลดิจิทัล รูปีให้เกิดด้วยซ้ำไป

แต่ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียยังไม่ได้พิจารณาถึงขั้นที่จะแบนเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ หรือไม่รับรองการซื้อขายเงินดิจิทอลในตลาดเงินอินเดีย แต่การสร้างเงิน ดิจิทัล รูปี มีโอกาสเกิดขึ้นจริงในเร็วๆ​ นี้ และอาจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วย หากพิจารณาจากศักยภาพของอินเดีย ประเทศที่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก

นอกจากจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากๆ​ แล้ว อินเดียยังสามารถพัฒนาระบบและเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ และประสบความสำเร็จมากๆ อย่างเช่น ระบบ UPI หรือ Unified Payments Interface ซึ่งเป็นระบบการโอนเงินแบบเรียลไทม์ ที่พัฒนาโดยทีมนักพัฒนาระบบของอินเดียปี 2016 และอยู่ภายใต้การดูแลโดยธนาคารกลางอินเดีย

หลังจากที่ใช้ระบบ UPI ผ่านมาแล้ว 4 ปี ก็พบว่ามีธนาคารมากถึง 207 แห่ง รวมทั้ง Amazon เว็บไซท์ e-Commerce ชื่อดังได้ใช้ระบบ UPI เป็นช่องทางการทำธุรกรรมการเงิน และมีปริมาณการใช้งานต่อเดือนมากกว่า 2,330 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากถึง 57,800 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละเดือน

และหากธุรกรรมการเงินเหล่านี้ใช้เป็นเงินดิจิทัล รูปี ในการซื้อขาย สกุลเงินนี้จะแข็งแกร่งถึงขนาดไหน

แต่การสร้างระบบเงินดิจิทัล รูปี ของอินเดีย รัฐบาลจะต้องสร้างระบบบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลเป็นของตัวเอง ที่จะเป็นคนละระบบกับเงินดิจิทัลต่างชาติ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและตรวจสอบ แม้ว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในเรื่องเกี่ยวกับระบบจัดเก็บภาษี ที่อาจมีประเด็นตามมาในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่คงไม่อยากให้รัฐบาลรู้เรื่องเงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่เรามีในกระเป๋า

และมีอีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจเป็นอุปสรรคของการสร้างเงินดิจิทัล รูปี ก็คือการเข้าถึงเทคโนโลยีเงินดิจิทอลในประเทศ

แม้ในอินเดียจะมีประชากรมากถึง 1,360 ล้านคน แต่ยังมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนไม่ถึง 40% ของประชากร หรือราวๆ 600 ล้านเครื่อง และในจำนวนนี้ มีบัญชีผู้ใช้งานในระบบ UPI หรือระบบโอนเงินดิจิทัลของอินเดียเพียง 100 ล้านบัญชีเท่านั้น การเข้าถึงระบบธุรกรรมดิจิทัลในอินเดียตามสัดส่วนของประชากรทั้งหมดยังถือว่าน้อย

หากต้องการให้เงินดิจิทัล รูปี กลายเป็นอีกหนึ่งเงินสกุลหลักสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ รัฐบาลอินเดียจะต้องพยายามให้ชาวอินเดียเข้าถึงการใช้งานได้ทุกกลุ่ม ในอุปกรณ์ที่หลากหลายกว่าสมาร์ทโฟน เช่น คอมพิวเตอร์แล็บท็อปทั่วไป หรือ บัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อผลักดันการใช้เงินดิจิทอล รูปี ในระบบเงินของอินเดียให้ได้อย่างน้อย 12% ของ GDP จึงจะเรียกว่า "ติดตลาด" ได้

และเมื่อพูดถึงโครงการดิจิทัล รูปี ก็อดเทียบกับเงินดิจิทัลของอีกประเทศที่ได้เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ ดิจิทัล หยวน

ในเวลานี้ ทางจีนได้มีการปล่อยเงินดิจิทัล หยวน ทดลองใช้ในตลาดจริงแล้วในบางเมือง เช่น เสิ่นเจิ้น และ ซูโจว ซึ่งชาวจีนก็มีความคุ้นเคยกับการใช้เงินดิจิทอลมาแล้วอย่างแพร่หลาย หากนับจากประชากรจีนที่มีพลเมืองใกล้เคียงกับอินเดีย แต่มีสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 64% ในปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงเกิน 75% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ซึ่งสกุลเงินดิจิทัล หยวน ก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางจีน ที่ทำให้เงินมีความเสถียรสูง และมีความเสี่ยงต่ำ

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคของการเติบโตของดิจิทอล หยวน ของจีน ไม่ใช่คู่แข่งจากเงินดิจิทอลจากต่างประเทศอย่าง Bitcoin แต่กลับเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเอกชนในประเทศ อย่าง Alipay ของ Alibaba และ WeChat ของ Tencent ที่กินส่วนแบ่งในตลาดธุรกรรมการเงินดิจิทอลในจีนมากถึง 95% ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจีนว่า จะทำอย่างไรให้คนจีนหันมาใช้ ดิจิทอล หยวน ให้แพร่หลายกว่านี้ และจะแข่งกับบริษัทเอกชนที่ครองตลาดอย่างเหนียวแน่น และเข้าถึงผู้ใช้ชาวจีนได้มากกว่าอย่างไร

นับเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ระหว่าง 2 ประเทศ ที่โอกาสของ ดิจิทัล รูปี ยังดูสดใสมากในแง่ของผู้แข่งขันในประเทศยังไม่เด่นชัด และชาวอินเดียเพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทอล

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมาก หากอินเดียผลักดัน ดิจิทัล รูปี ของตนเองจนประสบความสำเร็จ ก็อาจใช้เป็นโมเดลการสร้างเงินดิจิทัลของประเทศอื่นๆได้เลย


อ้างอิง

https://theprint.in/opinion/govt-can-ban-bitcoin-but-for-digital-rupee-to-succeed-india-has-to-do-a-lot/608542/

https://news.bitcoin.com/indias-warren-buffett-ban-bitcoin-digital-rupee/

https://en.wikipedia.org/wiki/Unified_Payments_Interface

https://www.cnbc.com/2021/02/17/chinas-digital-yuan-needs-to-beat-alipay-wechat-pay-first-piie.html

https://www.statista.com/statistics/309015/china-mobile-phone-internet-user-penetration/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top