Saturday, 10 May 2025
World

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือน เมื่อรถ EV สัญชาติจีนเริ่มตีตลาดไล่บี้ Tesla ด้วยราคาสุดพิเศษ ถูกใจคนวัย First Jobber ที่เพิ่งเริมชีวิตทำงานได้ไม่นาน แต่ต้องต้องการความคล่องตัว แถมวิ่งได้ในระยะทางไม่ต่างกันมาก

แม้ว่า Tesla Model-3 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในจีนในเวลานี้ถึงจะมีราคาสูงถึงคันละ 38,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.17 ล้านบาท ต่อคัน) แต่หากมีกำลังซื้อเพียงพอ ชาวจีนก็เลือกที่จะซื้อ Tesla ที่เป็นเหมือนแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก เหมือนกับถ้าพูดถึงสมาร์ทโฟน คนก็จะนึกถึง iPhone เป็นแบรนด์แรก ๆ

แต่ในจีนก็มีกลุ่มผู้ซื้อมากมาย ทั้งที่ไม่สนใจแบรนด์เลย ขอให้ใช้งานได้ ในราคาคุ้มค่า ซึ่งเข้าทางผู้ผลิตรถยนต์จีน พากันออกรถ EV รุ่นใหม่สู่ตลาดในราคาเพียงแค่ 1 ใน 3 ของ Tesla ด้วยสเปคที่ใกล้เคียงกัน เพื่อดึงตลาดระดับกลาง ที่พิจารณาเรื่องราคา และระยะทางที่วิ่งได้เป็นหลัก มากกว่าเอาชื่อเสียงของแบรนด์เป็นตัวตั้ง

ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาจึงเป็นยุคเฟื่องฟูของตลาดรถ EV ในจีน ที่รถ Tesla มียอดขายโตขึ้นถึง 21% แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีนก็เติบโตอย่างแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน

จีนนับเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นตลาดรถยนต์ EV ที่มีจำนวนผู้ซื้อมากที่สุดในโลกเช่นกัน การใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนจีน ที่พัฒนารถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าใช้เองในประเทศอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 1990 แถมรัฐบาลจีนก็สนับสนุนด้วย โดยการบรรจุการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นที่แพร่หลายให้เป็นวาระแห่งชาติในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ 5 ปี ก่อนการมาถึงของรถยนต์ Tesla ในตลาดจีนเสียอีก

และการผลักดันของจีนก็เป็นผล ที่ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนก็สามารถพัฒนารถยนต์ EV ที่มีศักยภาพพอที่จะแข่งขันในตลาดได้ แม้ไม่ใช่อันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้ล้าหลังจนทิ้งห่าง

ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนก็มีอยู่หลายค่าย หลายแบรนด์มาก นับสิบเจ้าที่ไล่ราคาตั้งแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท จนถึงราคาแค่แสนต้นๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าที่คุณภาพดี ขับใช้ได้ไม่อายใคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดของจีนมองว่า ราคารถ EV ของจีนจะลดลงมาในราคาที่จับต้องได้มากกว่านี้อีก ระดับที่เด็กมัธยมปลายก็สามารถเก็บเงินพอที่จะซื้อได้ ก่อนที่จะมีสิทธิ์ถือใบขับขี่เสียอีก

ในบรรดาค่ายรถยนต์ของจีน มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่กำลังเป็นที่น่าจับตา เช่น BYD Hozon Wuling Nio Xpeng ที่ยังครองยอดขายในตลาดจีนมากกว่าครึ่ง

และทางค่ายรถยนต์จีนก็ไม่ได้มองแค่ตลาดจีน แต่มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดผู้ใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกา ที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากตามกระแสลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

แต่ก็ต้องยอมรับว่าแบรนด์รถยนต์จากจีนอาจจะไม่ใช่แบรนด์แรกๆ ที่ผู้ใช้รถในต่างประเทศจะเลือก ถึงกระนั้นก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากพอที่จะดึงดูด พ่อมดการเงินอย่าง วอเรน บัฟเฟต ให้เข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้น BYD ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีนถึง 8.2% มากกว่าหุ้น GM ที่เขาถือถึงเกือบ 3 เท่า

และ รถ EV แบรนด์ Nio ค่ายรถยนต์น้องใหม่ของจีนก็สร้างความตื่นเต้นในตลาดสหรัฐไม่น้อย ที่นำเสนอบริการรถยนต์ที่เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลารอที่แท่นชาร์ตแบตเตอรี่เป็นชั่วโมง แค่ขับไปที่สถานีเปลี่ยนแบตเก่าออก เอาแบตใหม่ใส่ใช้เวลาแค่ 5 นาที ขับรถออกได้เลย ซึ่งค่าย Nio บอกกว่าได้เตรียมแบตเตอรี่สำหรับเปลี่ยนให้ลูกค้าแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านชุด

ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจตลาดรถยนต์ EV ที่กำลังมาแรง และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะมาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมดในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เราไม่อาจปฏิเสธกระแสนี้ไปได้เลย และประเทศที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตเอง ใช้เอง จนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ก็จะเป็นหนึ่งจุดแข็งที่สร้างความมั่นคงทางเทคโนโนยี และเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมากในโลกทุนนิยมในอนาคต


อ้างอิง:

https://www.straitstimes.com/business/companies-markets/chinas-5700-electric-cars-tap-huge-market-tesla-cant-reach

https://www.cnbc.com/2021/03/10/chinese-electric-carmakers-add-13point65-billion-in-value-as-tesla-surges.html

https://www.cnbc.com/2021/02/09/teslas-china-sales-more-than-doubled-in-2020.html

https://www.cnbc.com/2021/03/01/buffett-owns-more-of-chinese-electric-car-maker-byd-than-general-motors.html

https://cleantechnica.com/2020/12/27/record-electric-vehicle-sales-in-china/

https://www.caranddriver.com/news/a33670482/nio-swappable-batteries-lease/

https://en.wikipedia.org/wiki/Electric_vehicle_industry_in_China

เมื่อต้องมีพ่อ​ 3​ คน​ ใต้นิยามใหม่ของคำว่า "ครอบครัว" ที่ไม่ต้องเป็น "ชีวิตคู่" เสมอไป

เปิดโลกทัศน์สมัยใหม่ กับการใช้ชีวิตคู่ ที่ดูเหมือนจะเป็นกรอบนิยามที่ล้าสมัยไปแล้ว เมื่อการสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีเพียงคู่รักหญิง - ชาย สามี - ภรรยา เสมอไป

โดยปัจจุบันคนยุคใหม่เริ่มคุ้นเคยกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซิงเกิ้ลมัม ซิงเกิ้ลแดด หรือ คู่รักเพศเดียวกัน มากขึ้น

แต่นี่อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้น​ หลังจากมีครอบครัวอีกรูปแบบ​ ผ่าน​ชาย​ 3 และเด็ก 1 ที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างมีความสุข และพยายามต่อสู้ให้ชาย​ 3​ คนนั้น​ เป็นพ่อที่ได้รับการรับรองสถานะ "บิดา" อย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เรื่องมุมมองครอบครัวสุดพิสดารในสายตาของคนอื่น แต่เป็นเรื่องสุดแสนธรรมดาในสายตาของพวกเขา เริ่มต้นจาก เอียน เจนคินส์ ปัจจุบันเป็นถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต ซาน ดิเอโก้

เขาได้เล่าเรื่องครอบครัว 3 หนุ่มลูกติดของเขา ผ่านหนังสือชื่อ Three Dads and a Baby: Adventures in Modern Parenting และการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดของครอบครัว คือการมีลูก และยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ใส่ชื่อพวกเขาทั้ง 3 คนเป็นพ่อในใบเกิดลูก

โดยเริ่มจากชีวิตในวัยเด็กของ เอียน เจนคินส์ ในรัฐเวอร์จิเนีย ที่รู้ตัวว่าเขาเป็นเกย์ แต่เมื่อเขาบอกความจริงออกไป กลับไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมในสมัยนั้น เขาถูกคนรอบข้างต่อต้านอย่างรุนแรง ไม่มีเพื่อนเลย จนกระทั่งเขาย้ายมาเรียนแพทย์ที่บอสตัน เรียนดีจนได้เป็นถึงอาจารย์หมอ และทำให้เขาได้พบกับ อลัน หนึ่งในลูกศิษย์ของเขา ที่เป็นเกย์เช่นกัน

แล้วทั้งคู่ก็ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน และย้ายมาอยู่ที่เมือง ซาน ดิเอโก้ โดยเอียน ยังคงเป็นอาจารย์สอนที่คณะแพทย์ ใน UC San Diego ส่วน อลัน ทำงานเป็นแพทย์ประจำในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ทั้งคู่ร่วมชีวิตกันนานถึง 10 ปี จนกระทั่ง อลัน เกิดไอเดียแปลก ๆ​ ว่า ทำไมเราไม่ขยายครอบครัว หาคนร่วมชีวิตเพิ่มหล่ะ

และไอเดียแปลก ๆ​ นี้ ก็พาพวกเขามารู้จักกับ เจอรามี สัตวแพทย์หนุ่มในสวนสัตว์ ซาน ดิเอโก้ ที่ยินดีใช้ชีวิตไตรเน็ต ชัดเจนทุกความถี่ร่วมกัน 3 คน

แต่ต่อมา อลันก็มาพร้อมกับไอเดียแปลก ๆ​ อีกครั้ง คราวนี้เขาบอกว่าอยากได้ลูกสักคน

เรื่องนี้ทำให้ทั้ง 3 คน ต้องมานั่งโต๊ะคุยกันอย่างจริงจังในเรื่องการมีลูก ซึ่งสถานะครอบครัวอย่างพวกเขา การขอบุตรบุญธรรมคงไม่มีใครอนุมัติ และพวกเขาก็ต้องการลูกที่เป็นของพวกเขาจริง ๆ

เขาจึงตัดสินใจติดต่อหาผู้ที่ประสงค์บริจาคไข่ และก็ได้เมแกน ที่ยินดีบริจาคไข่ให้ แต่ต้องนำไปฝากไว้ในครรภ์ของคุณแม่อุ้มบุญที่ไม่ประสงค์ออกนาม จนได้ลูกคนแรกออกมาเป็นลูกสาว ชื่อ ไปเปอร์ ซึ่งกลายเป็นนางฟ้าตัวน้อยของบ้าน

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ พวกเขาทั้ง 3 คน ต้องการระบุว่าเป็นพ่อเด็กอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อให้ลูกของพวกเขาได้สิทธิ์ผูกพันทางกฏหมายอย่างเสมอภาคทั้ง 3 คน

แต่ปัญหาคือ ตามกฏหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียจะอนุญาตให้ระบุชื่อพ่อในใบเกิดมากกว่า 1 คนได้ต่อเมื่อ พ่อคนปัจจุบันมีความผิดปกติ ที่อาจเป็นอันตรายต่อครอบครัว

ทำให้ ครอบครัว 3 หนุ่มต้องยื่นคำร้อง ต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในชั้นศาล ยอมเสียค่าทนายหลักแสนดอลลาร์ และค่าดำเนินการมากมาย จนได้สิทธิ์ระบุชื่อพ่อ 3 คนในใบเกิดลูก ซึ่งเป็นเคสแรกในรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือจะเรียกว่าเป็นเคสแรกในสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้

ซึ่งตอนนี้ ครอบครัว 3 หนุ่ม เอียน อลัน เจอรามี ก็มีลูกคนที่ 2 เรียบร้อย เป็นลูกชายที่พวกเขาตั้งชื่อว่า ปาร์คเกอร์ จากผู้บริจาคไข่คนเดิม แต่แม่อุ้มบุญคนใหม่ ที่พวกเขาช่วยกันเลี้ยงลูก แชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน และออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ เมแกน แม่ผู้บริจาคไข่ ที่อยู่ไกลถึงรัฐเทนเนสซี บินมาเยี่ยมเด็กๆ อย่างน้อยปีละครั้ง

และเพื่อไม่ให้ลูกๆสับสนในการเรียกพ่อ ก็ตกลงกันว่าให้เรียก เอียน ว่า Papa เรียก อลันว่า Dada และเรียก เจอรามี ว่า Daddy

การสร้างครอบครัวชาย 3 ที่มีลูกติด ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และหน้าที่การงานของพวกเขาแล้วในตอนนี้ เพื่อนร่วมงานของ 3 หนุ่มก็รับได้ และคิดว่าเป็นครอบครัวที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครดี

เอียน เจนคินส์ หวังว่าเรื่องราวของครอบครัวของเขา จะช่วยให้คนทั่วไปมีมุมมองในเรื่องครอบครัวที่กว้างกว่าเดิม และเข้าใจว่าการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบมีได้หลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะการมี "ชีวิตคู่" เท่านั้น

ตราบใดที่ครอบครัวอิ่มอุ่นด้วยความรัก ความเข้าใจ บทบาทของพ่อ และแม่ ก็มีได้หลายหลายไม่จำกัดนิยามจริง ๆ


อ้างอิง:

https://edition.cnn.com/2021/03/06/us/throuple-three-dads-and-baby-trnd/index.html?

utm_source=fbCNNi&utm_term=link&utm_content=2021-03-13T11%3A29%3A07&utm_medium=social

สตรีนิยม (Feminism) การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม... แต่จงเป็นการใช้เสรีภาพและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

ภาพโปสเตอร์นี้มาจากงาน Black Feminist Festival ณ กรุงปารีสในปี 2017 ปรัชญาของ Feminism เกิดขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อน เพื่อให้สตรีมีความเท่าเทียมในสังคม เช่นการมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่สิทธิในการครองสมบัติในนามของตน เมื่อเข้ายุค 1960s จนถึง 1970s การเคลื่อนไหวของสตรีนิยม เน้นการต่อสู้เพื่อขจัดการกีดกันสตรี และการกดขี่ทางเพศ ซึ่งได้รับการเสริมด้วยกระแสด้านสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านสงครามเวียดนาม

Don't agonize, ORGANIZE! อย่าโอดครวญด้วยความทรมาน แต่ลงมือทำอย่างสร้างสรรค์

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990s สตรีในสหรัฐอเมริกา มีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้นจากกฎหมายที่ให้ความคุมครองแก่สตรีเพิ่มขึ้นในหลายมิติ เช่นสิทธิเกี่ยวกับการลางานโดยได้ค่าจ้างช่วงตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการป่วยและลาคลอด การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในช่วงที่สตรีมีสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้สตรี ได้สร้าง อัตลักษณ์ของตนเอง พัฒนาความเป็นปัจเจกบุคคล และแนวคิดนอกกรอบ โดยไม่ต้องหวั่นกระแสสังคมอย่างที่เป็นมาก

การต่อสู้บนพื้นฐานของสตรีนิยม ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน และกระแสในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการต่อสู้เรื่องการโดนรังแกทางเพศ ที่โยงไปถึงการใช้อำนาจของผู้ชายในด้านอาชีพ เช่นกระแส MeToo และยังเกิดการโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม ว่าเป็น White Feminism หรือ “สตรีผิวขาวนิยม” เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสตรีผิวดำ และเชื้อชาติอื่น ๆ

บ่อยครั้งการเคลื่อนไหวทั้งในการรณรงค์และโดยพฤติกรรมส่วนตัวของผู้หญิง มีการแสดงออกอย่างก้าวร้าว จนเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า สตรีนิยมไม่จำเป็นต้องก้าวร้าว พร้อมชนกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จนคนทั่วไปบางครั้งเข้าใจว่า คนเหล่านี้เป็นทอม หรือเลสเบี้ยน หรือเกลียดผู้ชาย

การแสวงหาความเท่าเทียมยังคงมีอยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทุกกลุ่มจึงมีการใช้คำว่า LGBTQ และเป็นสิ่งที่ยังต้องมีต่อไป เพื่อปรับทัศนะของผู้คนในสังคม

กาลเวลาผ่านมา ในหลายประเทศทั่วโลก สตรีมีสิทธิในการศึกษา ได้รับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย ได้รับตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาลและบริษัท สตรีได้เป็นผู้นำประเทศมากมาย ทั้งในศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล อังกฤษ เยอรมันนี นิวซีแลนด์ ฯลฯ ศักยภาพเหล่านี้ ยืนยันว่าสังคมไม่ได้คิดว่าผู้หญิงด้อยกว่าเพศชายหรือเพศอื่น ๆ และได้สร้าง "พลัง" และ "ศักดิ์ศรี" ให้กับผู้หญิงโดยรวม ยืนยันสถานภาพความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับเพศชาย

เมื่อมีพลังและศักดิ์ศรีแล้ว การเคลื่อนไหวของแนวคิดสตรีนิยม ก็ต้องทำในสิ่งที่เพิ่มพลังและศักดิ์ศรีแก่สตรีเพศ ดังจะเห็นว่า female empowerment หรือการสร้างพลังให้แก่สตรี นอกเหนือจากด้านกฎหมายแล้ว ยังพัฒนาโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโตและมีบทบาทสำคัญในทุกมิติของสังคม

ไม่ว่าจะอ้าง แนวคิดสตรีนิยมเชิงทฤษฎี แบบ มาร์กซิสต์ เฟมินิสม์ (Marxist Feminism) โซเชียลลิสต์ เฟมินิสม์ (Socialist Feminism) คัลเจอรัล เฟมินิสม์ (Cultural Feminism) หรือ อินเตอร์เซคชันแนล เฟมินิสม์ (Intersectional Feminism) ต้องไม่ทำการเหยียด ความเป็นมนุษย์ผู้หญิง

มาร์กซิสต์ เฟมินิสท์ เป็นแนวปรัชญาที่แตกมาจากเฟมินิสซึม โดยผสมทฤษฏีของมาร์กซิสต์เข้าไว้ เช่นการวิเคราะห์มิติที่สตรีถูกกีดกันในระบบทุนนิยม และการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ส่วนสตรีนิยมแบบสังคมนิยมนั้นต่อยอดจากแนวคิดแบบมาร์กซิสต์เฟมินิสต์เรื่องระบบทุนนิยมที่กดขี่สตรีเพศ และอ้างถึงทฤษฎีเฟมินิสต์ที่ว่าด้วยบทบาทของเพศสภาพ และสถานภาพที่ผู้ชายเป็นใหญ่

Cultural feminism มองสตรีเพศ โดยพิจารณา “ธรรมชาติของเพศหญิง และแก่นแท้ของความเป็นผู้หญิง โดยมีเจตนาที่จะประเมินคุณค่าและศักยภาพของสตรี และให้นิยามใหม่กับความเป็นผู้หญิง โดยแยกลักษณะของเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกันตั้งแต่เกิด

Intersectional feminism ต้องการวิเคราะห์บทบาทของสตรีในกรอบของสังคมและการเมือง อันทำให้เกิดการกีดกัน และอภิสิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับสตรีเพศ

การอ้างว่า การใช้ sex toy หรือการสนุกทางเพศอย่างสำส่อน ในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง คือ การเหยียด ลบหลู่ และด้อยค่าความเป็นสตรี อย่างชัดเจน เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้ชาย กะเทย LGBTQ ที่เป็นอารยชน ก็ไม่ทำ

แม้ว่าการกีดกัน หรือเหยียดสตรีเพศ ยังมีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก แต่มนุษย์ที่ อยู่ร่วมสังคมกันโดยยึดถือในบรรทัดฐานอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงเพศสภาพ หรือเพศสภาวะเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องจริยธรรมและกาลเทศะ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสตรีเพศ ผู้หญิงไม่ว่าจะเก่งกาจเพียงใด หากไม่รู้จักกาลเทศะ ขาดจริยธรรม ย่อมไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมอารยะ ยิ่งกว่านั้น พฤติกรรมที่ไม่แยแสต่อจริยธรรมและกาลเทศะ ยังเป็นการ “ด้อยค่า” ให้กับสตรีเพศ

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และอิสระทางความคิด ไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายได้ ถ้าเน้นย้ำแต่เพียงความสนุกทางเพศ เวลาใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นิทรรศการของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่จัดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ก็ดูเหมือนจะเน้นแต่การสำรวจความเป็นผู้หญิง ผ่านเรื่องเซ็กส์และอวัยวะเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัย เชย ตกยุค เพราะสังคมปัจจุบัน ไม่ได้รังเกียจอวัยวะเพศหญิง โดยการตีตราให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสกปรกอย่างในอดีตอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แม้ว่าในบางสังคมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะมีการบัญญัติไว้ในความเชื่อทางศาสนา

การนำแนวคิด feminism มาอ้าง ต้องทบทวนให้รอบคอบก่อนพูด ก่อนตอบโต้ การแย้งกับค่านิยมของสังคมและเหตุผลขาดน้ำหนัก ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ ดูเป็นเรื่องตลก

ผู้หญิงเก่งในสังคมไทยมีมากมายทั้งในองค์กรของรัฐ และในบริษัทเอกชน และถ้าไม่ต้องการให้สังคมมองเห็นว่า สตรีผู้มีศักยภาพสูงเท่าเพศชาย หรือเหนือกว่าผู้ชายทั่วไป ต้องแสดงให้สังคมเห็นการเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้การสนับสนุนแก่เยาวชนหญิง ให้เกิดความมั่นใจในความเป็นเพศหญิงที่ไม่ได้ด้อยกว่าเพศชาติ ให้เกิดความมุ่งมั่น ผ่านความรู้สึกว่าเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพเช่นคนอื่น และจะได้รับความเกรงใจ และความนับถือจากสังคม ด้วยพฤติกรรมที่สังคมมองว่าเป็นคุณค่าที่ควรแก่การยกย่อง ไม่ใช่เพราะมีใจเสรี อยากทำอะไรก็ได้ไม่แคร์

Feminism ที่มีความจริงใจในการเคลื่อนไหวเพื่อให้สตรีเพศมีความเข้มแข็ง มีความสำคัญในสังคมทุกระดับ จะรู้แก่ใจว่า You are what you do การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ มีพื้นที่อีกมากไม่ใช่แค่บนเตียง

“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

"Chinese people will not allow some foreigners to eat China's rice while smashing its bowls"

“ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่ม มากินข้าวของคนจีนแล้วทุบชามข้าวของเรา”

คำกล่าวนี้ หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศ และอธิบดีกรมสารสนเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าวโต้ตอบสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตก ที่กล่าวหาจีนว่า ใช้แรงงานอุยกูร์เยี่ยงทาสในเขตซินเจียง ในไร่ฝ้ายและโรงงานผลิตผ้าผ้าย เมื่อช่วงปลายเดือน มีนาคม 2564

จีนแถลงว่าการกล่าวหาของอเมริกาและประเทศตะวันตก เป็นการโกหกให้ร้ายอย่างไร้ความอาย ส่วนการต่อต้านสินค้าจีนนั้น ถูกพลเมืองจีนตอบโต้โดยการงดซื้อสินค้าระดับแบรนด์ของตะวันตก โดยมีดาราจีนและผู้เป็นพรีเซนเตอร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนช่วยผลักดัน โดยการยกเลิกสัญญากับแบรนด์ ส่วนผู้บริโภค และผู้ค้าขายออนไลน์ ทำการยกเลิกแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ ของแบรนด์ต่าง ๆ

แม้ฟังดูจะเหมือนเป็นกิจกรรมบอยคอตต์เชิงสัญลักษณ์ ที่อาจไม่มีผลกระทบมากนัก แต่โดยความจริง จีนมีพลเมือง 1,400 ล้านคน และยอดขายสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ในตลาดจีนนั้น ล้วนมีมูลค่าแต่ละปี หลายร้อยหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นตลาดของ H&M ในประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจาก UK (1), US (2) และเยอรมันนี โดยทำยอดขายจากร้าน H&M ทั่วประเทศจีนกว่า 500 ร้านได้ถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 หากมียอดขายตกไป 10% ย่อมหมายถึง 140 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจาก H&M แล้ว แบรนด์อื่น ๆ ที่เจอกระแสต่อต้านได้แก่ Nike, Adidas และ Burberry โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแถลงนโยบายที่จะไม่ใช้สินค้าฝ้ายของจีน หรือแสดงการเห็นด้วยกับคำกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา

คำพูดในเชิงโวหาร ของหัว ชุนหยิง นั้น เป็นคำพูดที่ต่อยอดมาจากคำอธิบาย ที่เธอพูดไว้ว่า “ตลาดของประเทศจีนอยู่ตรงนี้ เราต้อนรับบริษัทต่างชาติด้วยความใจกว้าง แต่เราต่อต้านการโจมตีประเทศจีนด้วยความเกลียดชังและใช้วิธีสกปรก ใช้เรื่องโกหกและข่าวลือ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศจีน”

คำพูดชุดนี้ ช่วยให้ความหมายของ “ทุบชามข้าวของเรา” ชัดเจนขึ้น

สำหรับคนจีน คำว่า “ชามข้าว” ไม่ได้มีความหมายตรง ๆ แต่หมายถึง ช่องทางในการทำมาหากิน เช่นเดียวกับที่คนไทยพูดว่า “ทุบหม้อข้าวของตนเอง” จากความหมายดั้งเดิม ที่ชามข้าวหมายถึง “อาชีพ” ความหมายได้ถูกปรับไปตามบริบท คำว่า “ชามข้าว” หรือ rice bowl นั้น จึงรวมถึง ธุรกิจ การค้า การลงทุน และแหล่งรายได้ทุกประเภท และคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” นั้นยิ่งเป็นการย้ำในความหมายของ “แหล่งรายได้ที่มั่นคงถาวร”

บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ ที่เข้ามาเปิดร้านและดำเนินธุรกิจในประเทศจีน กอบโกยรายได้มหาศาลจากพลเมืองจีน เปรียบเสมือน เข้ามา “กินข้าวของคนจีน” แต่การไม่ยอมซื้อผ้าฝ้ายของจีน เพราะอ้างว่าเป็นสินค้าจากการใช้แรงงานทาสตามข่าวลือ คือการ “ทุบชามข้าวจีน” นั่นเอง

ชาวจีน มีโวหารมากมายที่เกี่ยวกับ “ข้าว” ที่น่ารู้ เช่น

- ข้าวทุกเม็ดได้มาจากเหงื่อที่หยดมาจากคิ้ว

- ข้าวหุงสุกไปแล้ว ยังไงก็แก้ไขไม่ได้ (อย่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว)

- พูดมากแค่ไหนก็ไม่อาจทำให้ข้าวสุกได้ (อย่าดีแต่พูด)

- ภรรยาจะทำอาหารเก่งเพียงใด ก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีข้าว (ถ้าเครื่องมือไม่ครบย่อมทำอะไรไม่สำเร็จ)

- เอาข้าวไปล่อจับไก่ ได้ไก่มาแต่ไม่มีข้าวกิน

- ไม่มีจิตใจที่จะดื่มชาหรือกินข้าว (อยู่ในอารมณ์โศกเศร้าอย่างที่สุด)

- จะให้ข้าวสาร 3 ถัง ข้าก็ไม่มีวันก้มหัวให้ (ไม่ยอมแลกเกียรติกับสิ่งของใด)

- ข้าราชการตงฉิน คือคนที่กินข้าวกับเกลือเท่านั้น

- มีเวลาปีเดียว จงปลูกข้าว มีเวลาสิบปีให้ปลูกป่า ถ้ามีเวลาตลอดชีวิตจงให้ความรู้แก่ผู้คน

- ครูคือผู้ทำนาด้วยปากเพื่อให้ได้ข้าวมาใส่ชาม

- คนรอเกี่ยวข้าว ย่อมดีกว่า ข้าวรอให้คนมาเกี่ยว

คำว่า “ทุบหม้อข้าว” ที่คนไทยใช้นั้น จะให้ภาพที่ชัดกว่าสำหรับคนไทย เพราะหม้อเป็นภาชนะที่ใช้หุงต้ม อันเปรียบเทียบให้เห็นว่า หม้อเป็นช่องทางทำมาหากินที่ชัดกว่า อย่างไรก็ตามคนจีน ก็ใช้ทั้ง “ชามข้าว” และ “หม้อข้าว” ตามความคุ้นเคยของแต่ละคน ส่วนคำว่า “ชามข้าวเหล็ก” ซึ่งหมายถึงอาชีพที่มั่นคงถาวรนั้น ยังใช้เรียก ตำแหน่งงานราชการ เพราะมีความมั่นคงระยะยาว ตกไม่แตก ในเกาหลี ข้าราชการจะมีชื่อเปรียบเทียบว่า “ชามข้าวเหล็ก” เพราะมีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง

ใช้ชีวิตท่ามกลางโควิดอย่างไร ? เรื่องเล่าจากสถาปนิกสาวไทย ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี กับวัคซีนเข็มแรก ‘Sputnik V’ ของรัสเซีย

ฮังการี ถือเป็นประเทศแรกที่สั่งซื้อวัคซีนจากประเทศรัสเซีย ชื่อวัคซีน Sputnik V (สปุตนิก วี หรือ สปุตนิก ไฟว์) วัคซีนนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความรีบเร่ง ขาดความโปร่งใส ไม่ปลอดภัย หรือบางคนก็บอกว่ารู้สึกกลัวมาก ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หากเราเป็นผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงของฮังการี อย่าง บูดาเปสต์ (Budapest) มีประชากรมากที่สุดในประเทศฮังการี อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านคน และหากกล่าวถึงช่วงสถานการณ์โควิดในบูดาเปสต์แล้ว ตอนนี้พบผู้ติดเชื้อในเมืองบูดาเปสต์ รวม ๆ สะสมอยู่ประมาณแสนกว่าคน แล้วท่ามกลางสถานการณ์โควิดจะใช้ชีวิตอย่างไร ? กับการที่จะได้รับวัคซีน แต่ถูกกล่าวหาว่าไม่ปลอดภัย

คือ อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยตกใจอะไรง่าย ๆ และอีกเพราะทางนี้ เราระบาดช้ากว่าทางจีน แรก ๆ ก็หาจะข้อมูล เตรียมความพร้อมไว้หลายอย่าง เหมือนก็ได้เตรียมตัวไว้ก่อน ได้อ่านข่าวทุกวัน เตรียมหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ถุงมือยาง หรือเรียกว่า ตุนไว้ก่อน ซึ่งปกติที่นี่ฝรั่งไม่ค่อยใส่หน้ากากกันในช่วงแรก ๆ แต่ถึงตอนนี้ก็ใส่ทุกคนแล้ว บางคนใส่หน้ากากหนา 2 ชั้น การใช้ชีวิตของเรายังค่อนข้างปกติ ยกเว้นการงดปาร์ตี้ ส่วนอื่น ๆ ยังคงออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย เรื่องอาหารการกิน ถ้าออกไปซื้อของกินที่ Supermarket ก็จะไปอาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยเฉลี่ย ก็ดูก่อนว่าข้างในมีคนเยอะมากมั้ย ถ้าเยอะมาก ๆ ก็รอวันอื่น ไว้ค่อยไปใหม่วันหลัง เพื่อลดระยะห่างให้ได้มากที่สุด ทางที่ดีจะไม่ไปทานอาหารที่ร้าน จะสั่งมาทานที่บ้าน และทำอาหารทานเองสะส่วนใหญ่ แล้วก็พกข้าวกล่องเพื่อไปทานที่ทำงาน แต่ก็ยังคงไปทำงานทุกวัน ไม่เคย Work from Home เลย

ในขณะที่เราก็ยังป้องกัน ดูแลตัวเองทุกอย่าง ลดระยะห่าง และใส่หน้ากากตลอด ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ บริษัทสถาปนิกญี่ปุ่น ที่ฮังการี ซึ่งแรก ๆ อาจจะกังวลในเรื่องของการเดินทางไปทำงาน เพราะจากที่เคยขึ้นรถสาธารณะไปทำงานก็ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากเสี่ยงโควิด ก็เปลี่ยนมาปั่นจักรยานไปทำงานบ้าง เดินไปทำงานบ้าง ในเรื่องนี้อาจจะแตกต่างจากสถานการณ์โควิด ตรงที่เรายังสามารถเตรียมตัวรับมือป้องกัน ซึ่งการเดินทางด้วยตัวเองก็ไม่ได้ง่าย ก็กลัวโดนทำร้ายจากการที่ป้องกันตัวเองได้ไม่ทัน เพราะก็มีเหตุการณ์ที่เห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ที่คนเอเชียมักจะโดนทำร้ายจากชาวตะวันตก ซึ่งยังไม่เคยเจอกับเหตุการณ์นี้ และหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่การความเตรียมพร้อมแค่นี้เท่านั้น ทุกคนอาจจะไม่ได้โชคดี.. แต่เราเองก็รอดมาตลอด 90% เลย เพราะมีคนที่ทำงานใน บริษัท สถาปนิก ทีมเดียวกัน ติดโควิดไปแล้วถึง 3 รอบ เท่ากับที่ผ่านมา 1 ปี เราก็เลยต้องได้ตรวจโควิด ไปถึง 3 ครั้ง ตรวจ Antigen ไป 1 ครั้ง เช่นกัน (แอนติเจน มักเป็นสารที่แปลกปลอมหรือเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ตัวเชื้อแบคทีเรีย) แล้วถ้าเกิดว่าวันนึงเราไม่โชคดีแล้ว…จะยอมรับวัคซีนป้องกันก่อนดีกว่าไหม

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เราได้ฉีดวัคซีนมาแล้ว เป็นแข็มแรก และครั้งแรก... วัคซีนที่ได้ฉีดนั้นเป็นของผู้ผลิตจากประเทศรัสเซีย ชื่อว่า “ Sputnik V ” (สปุตนิก ไฟว์) เป็นวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยและพัฒนากามาเลยา (Gamaleya Research Institute of Epidemiology and Microbiology) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งขณะนี้ “ Sputnik V ” (สปุตนิก ไฟว์) ได้รับการอนุมัติให้ใช้แล้วหลายประเทศทั่วโลก อย่าง อาร์เจนตินา เมียนมา ลาว อิหร่าน อินเดีย ตูนิเซีย และปากีสถาน ซึ่งระบุถึงประสิทธิภาพ 91.6% หรือกลม ๆ 92 % โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ผิดปกติ ทำให้ Sputnik V นี่ยิ่งได้รับความไว้วางใจมากยิ่งขึ้น ด้วยประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในฮังการีเริ่มลดลงจากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้กว่า 6,000 รายต่อวัน ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2,000 รายต่อวัน และยังได้ถูกตีพิมพ์ผลการทดลองเชิงคลินิคในเฟสที่ 3 ตีพิมพ์ลงในวารสารแลนเซต วารสารการแพทย์ระดับนานาชาติ ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 “เวลานี้มีวัคซีนชนิดใหม่ในการร่วมต่อสู้ เพื่อลดอาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว”


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.matichon.co.th/foreign/news_2559957

ผู้เขียน : สถาปนิกสาวไทย บริษัท สถาปนิกญี่ปุ่น ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

การคมนาคมในสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) : ใช้ชีวิตด้วยการเดินทาง ที่มีเวลาและระเบียบเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้...ชื่นชอบสวิตเซอร์แลนด์

ถ้าพูดถึงเรื่องการเดินทางในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็น่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว และรถสาธารณะหรือรถประจำทางที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุด ส่วนทางน้ำคือการใช้เรือและเรือข้ามฟากก็พอมีบ้าง แต่อาจเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้วได้ค่อนข้างน้อย จักรยาน หรือ ebike ก็เช่นกัน รถยนต์น่าจะมีเปอร์เซนต์สูงที่สุดแล้ว

สวิสเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็กจากเหนือจรดใต้ห่างกันเพียง 220 กิโลเมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 348 กิโลเมตร เท่านั้น และมีประชากรเพียง 8.723.277 ล้านคน ในปี 2020 วันนี้เลยอยากเล่าไปถึงเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผู้เขียนพึ่งมาอยู่สวิสใหม่ ๆ มีรถยนต์บนท้องถนนไม่มากเท่ากับทุกวันนี้ เทียบปี 2000 กับ 2020 มีรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 31 % เลยนะ แถมโมเดลของรถก็ค่อนข้างเปลี่ยนไป สมัยก่อนเราจะเห็นแต่รถคันเล็ก ๆ เป็นรถเพื่อการใช้งานโดยเฉพาะ แต่เดี๋ยวนี้เราจะเห็นรถคันใหญ่ ๆ แบบในอเมริกาเยอะขึ้น บริบทของสังคมเริ่มเปลี่ยนไป รถยนต์ไม่ใช่เพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการบอกสถานะทางสังคมไปด้วย ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น คนสวิสนิยมซื้อรถมือสองมากกว่าผ่อนไฟแนนซ์ อย่างที่บอกคือเพื่อใช้งานอ่ะเนอะ รถใหม่ก็อาจเป็นพวกคนชอบเล่นรถจริง ๆ หรือแบบคนฐานะดีมาก ๆ แต่คนประเภทนี้ก็จะเปลี่ยนบ่อย ๆ ไม่รอให้ราคาตกมากก็ไปเทิร์นคันใหม่ ประหนึ่งว่าผ่อนไม่เคยหมดคัน

ด้านรถโดยสารก็จะมีรถไฟ และรถบัส การรถไฟของสวิสมีบริการรถไฟโดยสาร 5,000 ขบวนโดยประมาณ ซึ่งครอบคลุมระยะทาง 274,000 กิโลเมตรต่อวันเชียวนะ ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เดินทางโดยรถบัสและรถไฟไปทำงานในเมืองซูริคทุกวัน จากประตูบ้านถึงหน้าออฟฟิศใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดิบพอดี อาจแลดูเหมือนนานแต่จริง ๆ ไม่นานเลยนะ จากบ้านขึ้นรถบัสเพื่อไปสถานีรถไฟ มีเวลาเปลี่ยนรถ 5 นาที ขึ้นรถไฟไปลงสถานีหลักที่ซูริค จากนั้นต่อรถไฟอีกขบวนไปที่ทำงาน บนรถไฟภาพที่เห็นจนชินตาคือจะเห็นคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฟรีที่แจกตามสถานีรถไฟนั่นแหล่ะ บางคนก็ใส่หูฟัง ฟังเพลง บางคนเอาโน๊ตบุ้คขึ้นมานั่งทำงาน บรรยากาศจะเงียบสงบมาก แต่พอถึงเวลาลงเมื่อไหร่ละก็ เดินแทบจะชนกันเลยล่ะ

ในซูริค ช่วงเร่งด่วนคือเช้ากับเย็น ผู้คนจะเดินกันขวักไขว่และเดินค่อนข้างเร็วไม่เหมือนบ้านเรา ที่รู้เพราะเวลาครอบครัวมาเยี่ยม หรือเพื่อน ๆ มาหาจากเมืองไทยจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมเดินเร็วจัง จริง ๆคือไม่เคยสังเกตตัวเองเลย

บางขบวนรถไฟก็จะมีโบกี้เด็กด้วยนะ มีซไลเดอร์ของเล่นสำหรับเด็ก ทำให้การเดินทางไม่น่าเบื่อสำหรับผู้โดยสารตัวน้อย การเดินทางที่สวิสตรงต่อเวลามาก สามารถกะเวลาได้แบบเป๊ะ ๆ เลย ปี ๆ นึงจะมีการล่าช้าอยู่ไม่กี่ครั้งหรอก ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนก็จะมีรถประจำทางเสมอทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนค่อนข้างสะดวก

จริง ๆ ผู้เขียนก็ขับรถเป็นมีใบขับขี่แต่แทบจะไม่ได้แตะรถเลย เพราะรถโดยสารมันสะดวกมาก ถ้าเทียบเรื่องค่าใช้จ่ายก็น่าจะไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะรถส่วนตัวจะมีค่าภาษีรถ ภาษีถนน และอื่น ๆ อีก การขับรถบนไฮเวย์ก็จะเสียค่าสติ๊กเกอร์แปะรถต่อปีคือ 40 สวิสฟรังค์เท่านั้น ซึ่งถูกมากถ้าเทียบกับประเทศใกล้เคียง

ผู้คนค่อนข้างรักษากฎจราจรเคร่งครัดเพราะปรับจริงยึดใบขับขี่จริง จะเห็นก็มีแต่จักรยานที่ไม่ค่อยรักษากฎเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเมือง เช่นในซูริค จักรยานจะขี่แบบเย้ยฟ้าท้าดินมาก ผ่าไฟแดงบ้างอะไรบ้างเป็นเรื่องที่เห็นกันชินตา และถ้าจะไม่พูดถึง ebike นี่ไม่ได้เลยนะ ช่วงหลายปีมานี้คือมาแรงมาก เป็นจักรยานที่มีแบตเตอรี่ การปั่นอีไบค์ ก็เหมือนการปั่นจักรยานทั่วไปนั่นแหละ เป็นเครื่องทุ่นแรงเพราะสภาพภูมิประเทศของสวิสที่มีภูเขาน้อยใหญ่ บางครั้งขี่ขึ้นเนินมันก็ง่ายขึ้นอ่ะเนอะถ้ามีมอเตอร์ส่งแรงได้ แถมบางทีเร็วมากด้วยนะ ซึ่งคนสวิสชอบขี่จักยาน ไม่ว่าจะเป็น ebike mountainbike (จักรยานเสือภูเขา), Rennrad (จักรยานเสือหมอบ)

อีกหนึ่งการเดินทางที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือทางเรือ เนื่องจากสวิสมีทะเลสาบเยอะ และหน้าร้อนผู้คนก็ชอบที่จะนั่งเรือเล่น อย่างเช่นตัวผู้เขียนเองจะชอบนั่งเรือเล่นจากสถานที่หนึ่งไปสถานที่หนึ่ง และนั่งรถไฟกลับ หรือกลับกัน อาจนั่งรถไฟไปและนั่งเรือกลับ ซึ่งวิวที่นี่มันว๊าวมากขอบอก !! การได้เดินทางและชมบรรยากาศมันเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่งของคนสวิสเลยทีเดียว บนเรือก็คล้าย ๆ กับรถไฟ มีชั้นหนึ่งกับชั้นสอง ถ้าเราซื้อตั๋วชั้นสองแต่ไปนั่งชั้นหนึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะโดนค่าปรับที่แสนจะแพงด้วยนะเออ เพราะฉะนั้นสังเกตหมายเลขไว้ให้ดี ส่วนเรือข้ามฟากก็มีได้เลือกใช้ แต่รู้สึกว่าไม่ได้เยอะมาก และเรือก็เป็นเรือเล็ก ๆ ที่จุรถได้ไม่เยอะมาก ทุกอย่างเป็นเวลาและเป็นระเบียบ และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในสวิตเซอร์แลนด์

ส่องฟาร์ม​ 'แอปเปิ้ล'​ ในแดนสวิสฯ 'ฟาร์มอดิเรก'​ สุดเก๋ !! ของคนอยากเติมพลังใจ ไม่ใช่แค่นำไปขายเอารวย

ตอนนี้ที่สวิส คือฤดูใบไม้ผลิ ถ้าพูดถึงความสวยงามของดอกไม้ที่กำลังผลิบานก็ต้องบอกว่าดอกของต้นแอปเปิ้ล มีความสวยงาม น่ารัก เปรียบดังสาวแรกรุ่นไม่แพ้ดอกไม้อื่น ๆ เลยทีเดียว ที่บอกแบบนั้นเพราะดอกของแอปเปิ้ลจะเป็นสีขาวแต่มีสีชมพูแซม เห็นไหมล่ะว่ามีความเป็นสาวน้อยแรกรุ่นยังไง 

ที่ฟาร์มนอกจากต้นไม้ต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เราก้อจะซื้อมาปลูกเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ เราจะมีที่ ที่เราไปซื้อประจำไม่ไกลจากบ้านมากเท่าไหร่ วิธีการที่เค้าปลูกน่ะเหรอ เป็นการเอาเมล็ดของต้นแอปเปิ้ลป่ามาเพาะ ที่ทำแบบนี้เพราะต้นแอปเปิ้ลป่าหรือที่มันขึ้นมาตามธรรมชาตินั้น ต้นมันจะมีความแข็งแรง แข็งแกร่ง และทนทาน พอต้นที่เพาะโตได้สักประมาณ 1 ปี เราก็จะเอามาตอนกิ่งกับพันธุ์ที่เราต้องการอยากจะได้ แต่วิธีนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมสำหรับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ คือต้นไม้สูง ซึ่งต้นนึงเนี่ยสูงหลายเมตรเลยทีเดียว ถ้าเป็นวิธีแบบนี้ทางฟาร์มเราเอาแต่พันธุ์เก่าแก่มาปลูกซึ่งโดยปกติแล้วอายุ 5-10 ปีกว่าจะให้ผล ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ว่าคือจะมีอายุได้ยาวนานถึง 200 ปีเลยทีเดียว

ที่ฟาร์มของวี่มีอาณาเขต 44 ไร่เศษ มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 80 กว่าต้น เฉพาะแอปเปิ้ลอย่างเดียว 28 ต้น มี 27 สายพันธุ์ เพราะบางต้นมีถึง 6 สายพันธุ์เลยนะ มีอยู่ต้นนึงที่วี่รักมาก แต่เมื่อสิงหาคมปี 2013 ที่ผ่านมามีพายุหนัก ต้นนี้เป็นหนึ่งในหลายต้นที่โค่นลงมา ณ ตอนนั้นมีอายุ 140 ปี สาเหตุที่รักต้นนี้เป็นพิเศษคือ ต้นและกิ่งเขาสวยมาก แถมต้นนี้ต้นเดียวให้ผลแอปเปิ้ลมากถึง 1,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว ใช่ฮะ ไม่ต้องตกใจ ช่วงที่ผลเริ่มออกเราต้องหาไม้มาค้ำยันกิ่งไว้ไม่ให้กิ่งหักเพราะรับน้ำหนักที่มากเกินไป พูดถึงทีไรก็สุขใจปนเศร้าใจไปซะทุกที...

ต้นแอปเปิ้ลที่เก่าแก่ที่สุดในฟาร์มวี่ มีอายุถึง 150 ปี มากกว่าพวกเราอีกเนาะ ส่วนต้นที่สูงที่สุดอยู่ที่ 15 เมตร แอปเปิ้ลที่ฟาร์ม ไม่เหมาะสำหรับการนำมาขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านทั่วไปเพื่อบริโภค แต่เพื่อทำอาหาร ทำน้ำผลไม้และเพื่อทำเหล้าโดยเฉพาะ วี่ชอบเอามาอบเค้กแอปเปิ้ล เรามีหลากหลายสายพันธุ์มาก ๆ แต่อย่างที่ย้ำ ๆ คือเรามีแต่พันธุ์เก่าแก่

ทั้งนั้น  เราจะเริ่มทำการเก็บแอปเปิ้ลช่วงกลางกันยายนถึงประมาณกลางตุลาคม ณ ตอนนี้ปี ๆ หนึ่งจะได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัม นี่เฉพาะแอปเปิ้ลอย่างเดียวนะ สมัยก่อนเมื่อเก็บได้เราจะเอาไปส่งผู้ผลิตรายใหญ่ ในราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ๆ พูดไปจะต้องตะลึงแน่นอน คือต่อ 100 กิโลกรัม เพียงแค่ 11 สวิสฟรังค์เท่านั้น มีอยู่ปีหนึ่งที่เขาจะให้ราคาเรา 8 ฟรังค์ พอกันทีอ่ะเนอะ ตั้งแต่นั้นมาเราส่งเฉพาะคนที่ต้องการแอปเปิ้ลพันธุ์เก่าแก่นี่ละ ในราคาประมาณ 20-23 ฟรังค์ บางทีเขามารับ บางทีเราไปส่ง 

เขาบอกว่าแอปเปิ้ลเราดี และทำน้ำอร่อย ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวก็คือชาวนาอินดี้ (สามีวี่เอง) จะปีนขึ้นไปตามกิ่งต่าง ๆ และขย่ม ๆ ๆ ๆ จนลูกแอ๊ปเปิ้ลร่วงพลุ่บ ๆ ๆ ๆ เต็มพื้นไปหมด เสร็จแล้วก็ทำการเก็บ และเก็บอย่างเดียวเท่านั้น 

ลูกที่ไม่สวยมาก ๆ เกินจะรับไหวเราก็ไม่ได้ทิ้งนะ เอามาใส่เครื่องปั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้แพะของเรากิน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก

เรื่องการดูแล เราดูแลแบบจะเรียกว่าออร์แกนิคก็ได้ เพราะไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลยกับต้นไม้ทุกต้นในฟาร์ม เราจะตัดแต่งกิ่งทุกปีช่วงต้นธันวาคมเป็นต้นไปจนถึงปลายมีนาคม เพราะพอหลังจากนี้จะเริ่มออกดอก เพื่อให้กิ่งมีความแข็งแรงและให้ใบที่จะผลิได้รับแสงแดดที่ทั่วถึง อ้อ...สิ่งที่สำคัญและจะขาดไปไม่ได้เลยคือการจับหนู ใช่ ที่สวิสก็มีหนูนาด้วยนะเออ เราจะมีกับดักหนูแล้วเอาเหล็กด้ามแหลม ๆ ทิ่มลงไปในดินถ้ามีหนูมันจะเป็นโพรง วี่ชอบบอกว่าหนูมันสร้างถนนเหมือนกับคนนั่นแหละเพื่อไปโน่นนี่ เสร็จแล้วเราก็ขุดหลุมแล้วเอากับดักใส่ลงไป เอาไม้ปักไว้เพื่อให้เราสามารถเห็นได้ง่ายเพราะบางทีหญ้าสูงแล้วหากับดักไม่เจอ เมื่อรูนี้เคยดักหนูได้แล้วเราจะเอาไม้หนีบ หนีบไม้ไว้เพื่อให้รู้ บางครั้งรูนึงดักหนูได้ตั้งหลายตัว (แต่ครั้งละตัวเดียวเท่านั้นนะ) กับดักหนูเรามีประมาณ 30 อันเลยทีเดียว มันไม่ใช่สิ่งที่อยากทำนะ แต่ต้องทำ ถ้าไม่ทำหนูจะกินรากไม้ ไม่นานเดี๋ยวต้นไม้จะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จนตายไป 

ฟาร์มของเราเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น เพราะทุกคนในครอบครัวมีงานประจำทำ แต่เพราะโตมากับฟาร์มชาวนาอินดี้จึงอยากอนุรักษ์ รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุดโดยใช้วิธีที่ยังค่อนข้างเป็นธรรมชาติเหมือนเมื่อสมัยห้าสิบปีที่แล้ว ใช้อุปกรณ์และเครื่องต่างๆที่ทันสมัยน้อย ใช้แรงกำลังซะเป็นส่วนใหญ่ วี่มีความสุขเพียงแค่ไปนั่งมองต้นไม้ฟังเสียงนกร้องดูแพะเล็มหญ้า มันเหมือนได้ชาร์จพลังชีวิต ธรรมชาติบำบัดมันเป็นแบบนี้นี่เองเนอะ

เป็นภัยต่อเพื่อนร่วมชาติ!! ‘บรูไน’ ตัดสินโทษ ชายวัย 44 จำคุก 3 ปี 9 เดือน ฐานทำตัวกร่าง-คุกคามเจ้าหน้าที่

นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ชายอายุ 44 ปี ถูกศาลบรูไนพิพากษาจำคุก 3 ปี 9 เดือนแล้ว เมื่อวันเสาร์ ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2564 ด้วยการกระทำความผิด 3 ข้อหา คือ ไม่ให้ความร่วมมือ , ข่มขู่หมอ/พยาบาล และทำชีวิตเพื่อนร่วมชาติให้ตกอยู่ในความเสี่ยงในช่วงวิกฤตโรคระบาดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะได้เข้ารับการทดสอบ หรือตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วทราบผลออกมาเป็นบวก หรือทราบว่าตนติดเชื้อโควิด จากนั้น นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ได้กระทำการดังนี้

ข้อหาที่ 1 ตามมาตรา 506 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการข่มขู่ทางอาญามาตรา 
จากเหตุการณ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ปีที่ผ่านมา นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย กระทำการขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ดูแลที่ศูนย์สงเคราะห์บ้านสวัสดิการ 

ข้อหาที่ 2 ตามมาตรา 269 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการกระทำโดยประมาทซึ่งมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อของโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
จากเหตุการณ์ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2563 นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย ไอใส่บุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เพราะรู้ว่าตนเองได้รับการตรวจแล้วทราบว่าตนเองได้รับเชื้อโควิด-19 เป็นการกระทำโดยประมาท และกระทำการโดยรู้ว่าเขาอาจแพร่เชื้อของโรคที่เป็นอันตรายไปยังคนรอบข้างให้เกิดอันตรายได้

ข้อหาที่ 3 ตามมาตรา 352 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหมวด 22 สำหรับการทำร้าย และใช้อาวุธ
นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ หรือจำเลย ได้กระทำการขมขู่ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่มีมีดพกด้วย

หลังจากที่ศาล และรักษาการผู้พิพากษาอาวุโส ‘Hajah Ervy Sufitriana binti Haji Abdul Rahman’ ไม่เห็นความสำนึกผิดใด ๆ และนาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ก็ยังยืนยันว่าการกระทำของเขาไม่ได้ทำให้ใครได้รับเชื้อจากเขา การปฏิเสธนี้ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนี้ นาย ‘Azlan bin Awang Damit’ ถูกศาลบรูไนพิพากษาจำคุก 3 ปี 9 เดือน

สำหรับบรูไนแล้ว ถือเป็นข้อหาที่ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะการกระทำให้ชีวิตเพื่อนร่วมชาติตกอยู่ในความเสี่ยง บรูไนไม่มีการรอลงอาญา หรือไม่มีการลดหย่อนโทษแม้ว่าจะประพฤติตัวดีในคุกแล้วก็ตาม โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น จึงได้มีการใช้กฏหมายลงโทษที่รุนแรงขึ้นไปอีกด้วย เนื่องจากทางการบรูไนมีกำหนดบังคับใช้กฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ที่มีบทลงโทษรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. พ.ศ.2562 

แต่กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายทางศีลธรรมของศาสนาอิสลาม โดยมีมาตรการลงโทษที่พิจารณาจากความผิดที่ก่อขึ้น ซึ่งจะมีบทลงโทษจากสถานเบาไปสู่สถานหนัก ทั้งโทษปรับ จำคุก เฆี่ยนตี ตัดมือและอวัยวะอื่น ๆ ไปจนถึงการขว้างปาหินใส่ผู้กระทำผิด หรือแขวนคอ กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อชาวบรูไนทั้งหมด ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่น ๆ รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในบรูไนด้วย

Migration of Generation Me ย้ายประเทศกันเถอะ

ปรากฎการณ์ 'ย้ายถิ่น' ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อจะสื่อว่า “ประเทศนี้ไม่น่าอยู่” ทำให้กลายเป็นกระแสที่สังคมจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจากจำนวนหมื่น สู่จำนวนหลายแสน จนใกล้หลักล้านอย่างรวดเร็ว

อันที่จริงแล้ว การย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า มีมาตั้งแต่โบราณกาล จึงได้มีคนต่างเชื้อชาติอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้คนจากทวีปเอเชีย เริ่มอพยพเข้าไปหางานทำ และสร้างฐานะกันมากมายจนเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายว่าด้วยผู้อพยพเข้าประเทศและการถือสัญชาติกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960s มีผู้อพยพจากเอเชียจำนวน 5 แสนคน และเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมทุกทศวรรษตลอดมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้อพยพจากเอเชียอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 14 ล้านคน และถือเป็น 31% ของผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 45 ล้านคน 

สำหรับการอพยพจากประเทศบ้านเกิด ไปยังประเทศอื่นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อแสวงหาโอกาส ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มการศึกษา เพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ได้แก่ การแสวงหาเสรีภาพทางศาสนา เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและครอบครัวจากภัยทางการเมือง จากสงคราม หรือภัยธรรมชาติ 

แรงผลักดัน และความจำเป็นในการอพยพไปยังประเทศอื่นในส่วนนี้ จึงไม่เกี่ยวกับความรู้สึกเกลียดชังแผ่นดินเกิดหรือไม่แต่อย่างใด!! เพราะผู้คนที่ยังคงรักประเทศบ้านเกิด ยังเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ก็ย้ายถิ่นฐานโดยพกความรักชาติติดตัวไปด้วย

ย้อนกลับมาที่ภาพในปัจจุบัน การร้องตะโกนว่า ประเทศบ้านเกิดของตนนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต อาจดูเป็นชุดคำพูดที่ไม่เป็นความจริงสำหรับพลเมืองทั้งประเทศไทย เพราะผู้คนจำนวนมาก ยังใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ยอมรับวิถีของสังคม กฎหมาย และความมานะอุตสาหะ พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้ และเห็นว่าความเป็นไปในบ้านเกิดยังให้ความสุขแก่ชีวิตได้ 

การประกาศก้องว่าจะย้ายประเทศ จึงไม่สามารถสร้างความตระหนกตกใจ ให้กับใครได้ ไม่ว่าจะมีความพยายามที่จะปั่นกระแสขนาดไหน การอ้างถึงปรากฎการณ์ “สมองไหล” ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะคำว่าสมองไหล หมายถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ช่างทักษะระดับสูง นักวิชาการ และอื่น ๆ 

ฉะนั้นหากระดับความสามารถทางวิชาชีพของท่านใด อยู่ในระดับกลุ่มแรงงาน จะไม่อยู่ในข่ายสมองไหล เมื่อมีการแสดงออกถึงความใฝ่ฝันที่จะไปสร้างอนาคตในประเทศอื่น จึงไม่มีใครต้าน และต่างอวยพรให้ไปดีมีชัย!! 

ทีนี้ลองมาดูภาพการอพยพของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ไปสร้างชีวิตใหม่ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา เป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานกันสักเล็กน้อย

กลุ่มคนใน SEA ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเชีย ไทย และฟิลิปปินส์นั้น ต่างกระจายตัวทำงานอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส แคนาดา และอีกหลายประเทศทั่วโลก (ยังมีธุรกิจที่ผู้อพยพจาก SEA เป็นเจ้าของกิจการรวมอยู่ด้วย)

การสำรวจในปี 2019 พบว่า มีผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์อยู่ในสหรัฐฯ 2 ล้านคน, เวียดนาม 1.4 ล้านคน, ไทย 2.5 แสนคน, ลาว 1.8 แสนคน และเมียนมา 1.5 แสนคน นี่คือจำนวนคนอพยพสะสมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s 

ว่าแต่สงสัยไหมว่า ทำไมต้องเป็นสหรัฐฯ ? 

เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดึงดูดนักเรียนนักศึกษาจากทุกมุมโลก ผู้คนในวัยเรียนจึงวางแผนที่จะไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ และการได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษา ยังเป็นการกรุยทางให้อยู่ต่อเพื่อฝึกงาน ทำงาน หรือวางแผนที่จะย้ายมาตั้งรกรากอย่างถาวร 

เรื่องนี้น่าสนใจตรงจำนวนนักเรียนนักศึกษาจาก SEA ที่ศึกษาต่อในอเมริกานั้น สามารถสะท้อนถึงโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศต้นทางไปพร้อมกัน เพราะหากประเทศต้นทางจัดการศึกษาได้ทั่วถึงและมีคุณภาพดี จำนวนพลเมืองที่เดินทางออกไปแสวงหาการศึกษาในประเทศอื่นจะไม่สูงนัก 

ทั้งนี้ ตัวเลขนักศึกษาจากทวีปเอเชียที่เข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2019-2020 มากที่สุดจะประกอบไปด้วย... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. เกาหลีใต้ 4. ซาอุดิอาราเบีย 5. เวียดนาม  6. ใต้หวัน 7. ญี่ปุ่น 8. เนปาล 9. อิหร่าน 10. ตุรกี

กลุ่มคนพลัดถิ่น (Diaspora) ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจ หรือถูกบีบบังคับจากสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ จากทวีปเอเชีย ในสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนมากที่สุด มีดังนี้... 

1. จีน 2. อินเดีย 3. ฟิลิปปินส์ 4. เวียดนาม 5. เกาหลี

ส่วนข้อมูลจำนวนนักศึกษาจากประเทศไทย ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ในปี 2018 รวมทั้งสิ้น 6,636 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นนักศึกษาจากเวียดนามในปีเดียวกันมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นคน อินโดนีเซีย 9,000 คน และมาเลเชีย 7,864 คน ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน มีนักศึกษาจากสิงคโปร์กำลังศึกษาในสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็นจำนวนถึง 4,500 คน โดยในจำนวนนี้เรียนในระดับปริญญาตรี 40% ปริญญาโทและเอก 30% อีก 30% เป็นการฝึกงานหรือเพิ่มเติมทักษะทางวิชาชีพ

การมีความใฝ่ฝันที่จะแสดงหาสังคมที่ให้โอกาสแก่เรา ในการสร้างฐานะ หากดูเพียงรายได้ที่มากกว่า เมื่อเทียบกับเกณฑ์รายได้ในเมืองไทยก็คงไม่ผิดอะไร แต่การไปอยู่ต่างแดน ยังมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นสัดส่วนรายได้ต่อค่าครองชีพ การปรับตัวในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ความสามารถในการสื่อสารอย่างคล่องแคล่ว ความสุขทางใจ ความรู้สึกที่มั่นคงอันได้จากความอบอุ่นของครอบครัวที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง การได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว และการมีสถานภาพเป็นผู้มาอาศัย หรือเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศใหม่ 

ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจะได้แค่เงิน แต่ไร้ซึ่งความสุขไปทั้งหมด เพราะความสามารถทางภาษา และการปรับตัวทางวัฒนธรรมและสังคมนั้น เป็นความสามารถส่วนตัว การที่จะมีความสุขในสภาพแวดล้อมใหม่ ไม่ได้มีกำแพงกั้นสำหรับใคร

แต่หัวใจสำคัญคือ การสร้างต้นทุนไว้ให้พร้อม ทั้งเงินเก็บ ผลการศึกษาที่จะช่วยให้ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมีระดับ ความชำนาญทางภาษาที่ใครได้ยินได้ฟังแล้วนับถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา รวมถึงการซึมซับวัฒนธรรมของประเทศนั้น เพื่อใช้ปรับตัวให้มีความสบายใจ และสร้างเพื่อนใหม่ได้ แม้ชาติพันธุ์จะแตกต่าง แต่เมื่อมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และรอดตัวจากการเหยียดเชื้อชาติได้ในสถานการณ์ปกติ

เมืองเล็กๆที่ “Arosa” (อาโรซา) ความธรรมดาที่แสนพิเศษในสวิส เส้นทางที่เต็มไปด้วย ‘กระรอก’ และหิมะแห่งความงาม

ถ้าพูดถึงสวิตเซอร์แลนด์ก็คงจะต้องนึกถึงธรรมชาติ ภูเขาสูงตระหง่าน ทะเลสาปแสนสวย ทุ่งหญ้าเขียวขจีแซมดอกหญ้าสีเหลือง นี่คือสิ่งที่แม้วี่จะอยู่มา 20 ปีแล้ว แต่ไม่เคยเบื่อและยังตกหลุมรักสวิสอยู่ วันนี้เลยอยากมาแบ่งปันสถานที่หนึ่งซึ่งรักมากและไปทุกปีให้ทุก ๆ คนได้รู้จัก

Arosa (อโรซ่า) เป็นเมืองเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่ความสูง 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในรัฐ Graubünden (กราวบึนเด่น) เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องอากาศที่บริสุทธิ์และวิวที่สวยงามเพราะมีภูเขาล้อมรอบ ภูเขาที่เป็นจุดเด่นของเมืองก็คงจะเป็นภูเขา Weisshorn (ไวซ์ฮอร์น) ที่มีความสูง 2,653 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมืองนี้เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและคนสวิสเองรู้จักเป็นอย่างดีว่าเป็นสวรรค์ของคนเล่นสกี รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมาที่นี่เพื่อทรงสกีและไอซ์เสก็ต อยู่บ่อยครั้ง หากต้องการตามรอยเสด็จฯ ให้ไปที่โรงแรม Arosa Kulm Hotel & Alpin Spa ภายในโรงแรมจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของราชสกุลมหิดลมากมาย โดยเฉพาะห้อง 427 เป็นห้องที่ราชสกุลมหิดลเลือกประทับเป็นประจำและข้างในยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเลยทีเดียว (ที่มา: สารคดี สถานที่ตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9)

ช่วงเวลาที่วี่ชอบไปคือช่วงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ช่วงนี้เป็นเหมือนช่วงเบรคซีซั่น เพราะโรงแรมใหญ่ ๆ และกระเช้าขึ้นเขาที่สำคัญ ๆ จะปิดบริการหมด ซึ่งเหมาะกับวี่ที่ชอบเที่ยวแบบสบาย ๆ คนไม่ค่อยเยอะ การเดินทางก็สามารถขับรถไปได้ง่าย ๆเพียงแต่ทางค่อนข้างชันแถมต้องขับรถข้ามเขาที่มีโค้งร้อยกว่าโค้ง ใครเมารถแนะนำให้เอามะม่วงดอง บ๊วยเค็มและยาดมติดกระเป๋าไปด้วย แต่ถ้าไม่อยากขับรถก็สามารถนั่งรถไฟจากเมือง Chur (คัวร์) ใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมงก็มาถึงแล้ว แถมตลอดเส้นทางที่ไต่เขามายังสวยสะกดอีกต่างหากทำให้หนึ่งชั่วโมงเป็นช่วงเวลาที่เพลิดเพลินไม่น่าเบื่อเลย

เกริ่นมาตั้งนานยังไม่ยอมเข้าเรื่องสักทีเนอะ เมื่อลงจากรถไฟก็จะเจอวิวของทะเลสาบ Obersee (โอเบอร์เซ) แต่ถ้าขับรถมาเห็นทะเลสาปกับสถานีรถไฟเมื่อไหร่ ก็จะเห็นที่จอดรถลานกว้าง ๆ เลย เนื่องจากวี่ไปช่วงเมษา ดังนั้นส่วนมากทะเลสาปที่วี่เห็นก็คือจะปกคลุมไปด้วยหิมะ บางปีหนาวมาก ๆ ทั้งทะเลสาปก็กลายร่างเป็นน้ำแข็งไปหมด ดูสวยไปอีกแบบ

เดินออกจากตรงนี้ไปไม่ไกลก็จะเป็นทาง Hiking ที่สามารถเดินเล่นได้ง่าย ๆ ชิล ๆ ประมาณเด็กเดินได้ผู้ใหญ่เดินดี เส้นทางที่วี่เดินคือเข้าทางหนึ่งออกอีกทางหนึ่งระยะทางจะประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเริ่มเดินผ่านทางเข้ามาแล้ววี่จะหยิบถุงถั่วออกมา ส่วนใหญ่วี่จะใช้เป็นถั่ว Hazelnut (ฮาเซลนัท) เดินไปเขย่าถุงไป เจ้ากระรอกทั้งหลายจะชินกับเสียงคนและเสียงถุงพลาสติกอยู่แล้ว

เมื่อกระรอกเริ่มออกมา แนะนำให้เบาเสียงลง ไม่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ช่วงแรกเอามือที่ถือถั่ววางลงบนพื้นก่อน เมื่อกระรอกเริ่มกล้าที่จะมาเอาถั่วที่มือเราทีนี้เราก็ขยับยกมือให้สูงขึ้น บางตัวถึงกับปีนขึ้นมาเอาบนขาเลยทีเดียว สิ่งนึงที่อยากบอกคืออย่าจับตัวน้อง เพราะน้องเป็นกระรอกป่าไม่ได้เชื่องถึงขนาดจะให้อุ้มได้ อาจโดนกัดและอาจมีเชื้อโรค สังเกตได้ว่าบางตัวจะขี้ตกใจมากเป็นพิเศษอาจเป็นเพราะเคยโดนจับนี่แหละ แล้วเขาจะไม่มาเอาถั่วอีกเพราะจะไม่เชื่อใจและขี้กลัวไปเลย เดินไปตามทางก็จะมีกระรอกไปตลอดทั้งทางเช่นกัน

ที่มากพอ ๆ กับกระรอกก็เห็นจะเป็นนก ซึ่งก็มีหลากหลายสายพันธุ์และสวยงามมาก เราสามารถทุบถั่วให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และวางบนขอนไม้เดี๋ยวเจ้านกตัวน้อยก็จะบิ่นมาคาบไปกินเตรียมกล้องพร้อมชักภาพได้เลย หรือจะทำแบบวี่คือวางถั่วที่ฝ่ามือยื่นออกจากตัวยืนให้นิ่งที่สุดและร้องเพลงรอ กว่าเจ้านกจะมาเกาะมือและกินถั่วที่มืออาจมีเหน็บกินกันบ้าง และถึงแม้ว่าเส้นทางจะเพียงห้ากิโลเมตรเท่านั้นแต่วี่ให้เวลาตัวเองดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติ เสียงนกเจื้อยแจ้ว และเจ้ากระรอกที่วิ่งไปมาขวักไขว่อย่างเต็มที่

แม้สวิสจะมีสิ่งปลูกสร้างมากขึ้นกว่ายี่สิบปีที่แล้วที่วี่มาอยู่ใหม่ ๆ แต่ยังคงรักษาธรรมชาติไว้ได้อย่างดี มีทาง Hiking ทั่วไปและมีหลายระดับความยากตามความฟิตของแต่ละคนให้เลือก และวิวทิวทัศน์ระหว่างทางที่สวยงาม เอาแค่วิวหน้าต่างห้องนอนที่บ้านวี่เอง ตื่นมาวิวไม่เคยเหมือนเดิมเลยสักวัน วี่ชอบธรรมชาติ ชอบที่เปิดหน้าต่างมาตอนเช้าแล้วได้ยินเสียงกระดิ่งของวัวข้างบ้าน เสียงนกคุยกันเจื้อยแจ้ว หรือภาพแกะของเพื่อนบ้านเล็มหญ้าอย่างเอร็ดอร่อย บางครั้งการมีความสุขได้กับความธรรมดาในโลกปัจจุบันถือเป็นความโชคดีที่สุดแล้ว...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top