หากไทยรั้งท้าย!! อันดับ ‘การสื่อสารภาษาอังกฤษ’ ด้อยค่าประเทศหรือไม่ !!?
ENGLISH PROFICIENCY RANKING อันดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ
“ก่อนอื่น จะเชื่อการจัดอันดับทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ที่ทำขึ้นมานี้เพียงใด ต้องรู้จักผู้จัดทำอันดับเสียก่อน...”
EF ย่อมาจาก “Europeiska Ferieskolan” ซึ่งเป็นภาษาสวีดิช การที่ย่อเหลือ “EF” ไม่ใช่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการ แต่เป็นโรงเรียนสอนภาษา ที่เป็น “บริษัท” ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นในยุค 60s โดย “Bertil Hult” นักเดินทางท่องโลกวัย 24 ปี ที่ได้พบว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็น และได้ใช้แนวคิด การเดินทางเพื่อเรียนรู้ภาษา (Language Travel) จึงเปิดบริษัทขึ้น และพานักเรียนมัธยมในสวีเดน ไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษ
แนวคิดดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันนอกจากสอนภาษาอังกฤษในระดับต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มนักเรียน (อายุ 13-18 ปี) จนถึงผู้ทำงาน และนักธุรกิจ ยังเป็นเอเยนต์ในการติดต่อ หาที่เรียน ให้กับผู้ต้องการเรียนภาษาและด้านอื่น ๆ ในต่างประเทศ จัดทัวร์ และจัดหาโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ไปเรียนในต่างประเทศ
ปัจจุบัน EF เป็นสถาบันการศึกษา ที่สอนทั้งภาษาและความรู้สาขาอื่น ๆ และ EF ที่ยังหมายถึง Education First มีสาขาใน ไมอามี่ - ซูริค - ดูไบ - ลอนดอน นอกจากหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ยังได้ทำงานวิจัยโดยได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
>> การจัดอันดับของ EF มาจากการสำรวจออนไลน์
การสำรวจออนไลน์ กับโลกแห่งความเป็นจริง ไม่เหมือนกันเสมอไป ดังนั้น เราจึงไม่ต้องปักใจเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราได้เดินทางไปสัมผัสโลกกว้างมาแล้ว และได้ประสบมาด้วยตนเองว่าทักษะภาษาอังกฤษของผู้คนในประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างไร ลองนึกถึงร้านสะดวกซื้อในฮ่องกง หากจะไปซื้อซิมการ์ด หรือหากาวสักหลอด พนักงานจะสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ขณะที่พนักงานวัยรุ่นร้านสะดวกซื้อในกรุงเทพฯ จะประกอบประโยคง่าย ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นคนต่างชาติ
ส่วนที่ญี่ปุ่น ไม่ต้องพูดถึง ใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น Telephone, Sim card, Charger, Toothbrush พูดช้า ๆ พนักงานที่เป็นวัยหนุ่มสาวยังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่เข้าใจ ขอบคุณ Google Translate ที่ทำให้พนักงานเข้าใจความต้องการของลูกค้าต่างชาติ
เมื่อ 5 ปีก่อน EF Efficiency Index อธิบายว่า ประเทศในทวีปเอเชีย มีระดับทักษะภาษาอังกฤษต่ำ เพราะหลาย ๆ ประเทศ ให้เรียนภาษารัสเซีย เป็นภาษาที่สอง มากกว่าภาษาอังกฤษ... จริงหรือ? ประเทศใด?
ในการเก็บข้อมูล EF ทำการสำรวจกับประชากร ประมาณ 2 ล้านคน จาก 112 ประเทศ โดยแต่ละประเทศ ใช้กลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อย 400 คน และใช้คะแนนเฉลี่ยเป็นดัชนีชี้วัดทักษะภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศ การสำรวจในปี 2020 มีผู้ทำข้อสอบเป็นเพศหญิง 53% อายุเฉลี่ยของผู้สอบคือ 26 ปี ผู้ที่เข้าสอบ เลือกสอบด้วยตนเอง EF ไม่มีค่าตอบแทนหรือรางวัลใด ๆ ให้กับผู้สมัครเข้าสอบ แรงจูงใจของผู้สอบคือต้องการทราบระดับทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง และเป็นการสอบ Online ดังนั้นผู้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าอยู่ส่วนใดของประเทศสามารถเข้าสอบได้ 30% ของผู้เข้าสอบ ทำการสอบด้วยโทรศัพท์มือถือ
แม้ว่าในการสมัครเข้าสอบ ผู้สมัครจะต้องระบุว่าเรียนจบแล้ว แต่การคัดเลือกดังกล่าว หมายถึงผู้เข้าสอบที่มีระดับความรู้ภาษาอังกฤษต่ำมาก แต่ต้องการวัดระดับทักษะของตนเอง ในขณะที่ผู้มีทักษะภาษาอังกฤษดี หรือดีมาก หรือใช้ได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่สนใจที่จะสมัครสอบ ไม่มีเวลาและคะแนนจาก EF ไม่ได้นำไปใช้สำหรับการศึกษาต่อหรือสมัครงาน เช่น IELTS, TOEIC หรือ TOEFL
>> ความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับ
ประเทศจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน 1% คือ 140 ล้านคน 0.1% เท่ากับ 1.4 ล้านคน EF ไม่ได้ประเมินผลการสอบ จากกลุ่มตัวอย่าง 1 ล้านคน และอาจจะไม่ถึง 1 แสนคน
ผลการจัดอันดับของ EF ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนในประเทศจีน มีทักษะภาษาอังกฤษระดับปานกลาง เช่นเดียวกับ อินเดีย เกาหลีใต้ และมาเก๊า คนที่เคยเดินทางไปประเทศจีน คงทราบดีว่า เมื่อออกไปพ้นเมืองใหญ่ พ้นจากเขตธุรกิจแล้ว ประชาชนจีนพูดภาษาอังกฤษได้ระดับใด ดังนั้นผลสอบ จึงไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดทักษะภาษาอังกฤษของคนกว่าพันล้านคนได้ และการจัดให้ประเทศจีนมีระดับทักษะเท่ากับฮ่องกง และมาเก๊า หรืออินเดีย ยิ่งไม่น่าเชื่อถือ
ประเทศในเอเชีย ที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำ ได้แก่ ญี่ปุ่น ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และศรีลังกา ส่วนประเทศที่ EP ชี้ว่า มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำมาก ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อัฟกานิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และ คีร์กีซสถาน
