หากไทยรั้งท้าย!! อันดับ ‘การสื่อสารภาษาอังกฤษ’ ด้อยค่าประเทศหรือไม่ !!?

ENGLISH PROFICIENCY RANKING อันดับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

“ก่อนอื่น จะเชื่อการจัดอันดับทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ที่ทำขึ้นมานี้เพียงใด ต้องรู้จักผู้จัดทำอันดับเสียก่อน...”

EF ย่อมาจาก “Europeiska Ferieskolan” ซึ่งเป็นภาษาสวีดิช การที่ย่อเหลือ “EF” ไม่ใช่มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิชาการ แต่เป็นโรงเรียนสอนภาษา ที่เป็น “บริษัท” ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นในยุค 60s โดย “Bertil Hult” นักเดินทางท่องโลกวัย 24 ปี ที่ได้พบว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็น และได้ใช้แนวคิด การเดินทางเพื่อเรียนรู้ภาษา (Language Travel) จึงเปิดบริษัทขึ้น และพานักเรียนมัธยมในสวีเดน ไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศอังกฤษ

แนวคิดดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันนอกจากสอนภาษาอังกฤษในระดับต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มนักเรียน (อายุ 13-18 ปี) จนถึงผู้ทำงาน และนักธุรกิจ ยังเป็นเอเยนต์ในการติดต่อ หาที่เรียน ให้กับผู้ต้องการเรียนภาษาและด้านอื่น ๆ ในต่างประเทศ จัดทัวร์ และจัดหาโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ไปเรียนในต่างประเทศ

ปัจจุบัน EF เป็นสถาบันการศึกษา ที่สอนทั้งภาษาและความรู้สาขาอื่น ๆ และ EF ที่ยังหมายถึง Education First  มีสาขาใน ไมอามี่ - ซูริค - ดูไบ - ลอนดอน นอกจากหลักสูตรต่าง ๆ แล้ว ยังได้ทำงานวิจัยโดยได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง 

>> การจัดอันดับของ EF มาจากการสำรวจออนไลน์
การสำรวจออนไลน์ กับโลกแห่งความเป็นจริง ไม่เหมือนกันเสมอไป ดังนั้น เราจึงไม่ต้องปักใจเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราได้เดินทางไปสัมผัสโลกกว้างมาแล้ว และได้ประสบมาด้วยตนเองว่าทักษะภาษาอังกฤษของผู้คนในประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างไร ลองนึกถึงร้านสะดวกซื้อในฮ่องกง หากจะไปซื้อซิมการ์ด หรือหากาวสักหลอด พนักงานจะสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ขณะที่พนักงานวัยรุ่นร้านสะดวกซื้อในกรุงเทพฯ จะประกอบประโยคง่าย ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นคนต่างชาติ

ส่วนที่ญี่ปุ่น ไม่ต้องพูดถึง ใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น Telephone, Sim card, Charger, Toothbrush พูดช้า ๆ พนักงานที่เป็นวัยหนุ่มสาวยังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่เข้าใจ ขอบคุณ Google Translate ที่ทำให้พนักงานเข้าใจความต้องการของลูกค้าต่างชาติ

เมื่อ 5 ปีก่อน EF Efficiency Index อธิบายว่า ประเทศในทวีปเอเชีย มีระดับทักษะภาษาอังกฤษต่ำ เพราะหลาย ๆ ประเทศ ให้เรียนภาษารัสเซีย เป็นภาษาที่สอง มากกว่าภาษาอังกฤษ... จริงหรือ? ประเทศใด?

ในการเก็บข้อมูล EF ทำการสำรวจกับประชากร ประมาณ 2 ล้านคน จาก 112 ประเทศ โดยแต่ละประเทศ ใช้กลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อย 400 คน และใช้คะแนนเฉลี่ยเป็นดัชนีชี้วัดทักษะภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศ การสำรวจในปี 2020 มีผู้ทำข้อสอบเป็นเพศหญิง 53% อายุเฉลี่ยของผู้สอบคือ 26 ปี ผู้ที่เข้าสอบ เลือกสอบด้วยตนเอง EF ไม่มีค่าตอบแทนหรือรางวัลใด ๆ ให้กับผู้สมัครเข้าสอบ แรงจูงใจของผู้สอบคือต้องการทราบระดับทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง และเป็นการสอบ Online ดังนั้นผู้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่ว่าอยู่ส่วนใดของประเทศสามารถเข้าสอบได้ 30% ของผู้เข้าสอบ ทำการสอบด้วยโทรศัพท์มือถือ

แม้ว่าในการสมัครเข้าสอบ ผู้สมัครจะต้องระบุว่าเรียนจบแล้ว แต่การคัดเลือกดังกล่าว หมายถึงผู้เข้าสอบที่มีระดับความรู้ภาษาอังกฤษต่ำมาก แต่ต้องการวัดระดับทักษะของตนเอง ในขณะที่ผู้มีทักษะภาษาอังกฤษดี หรือดีมาก หรือใช้ได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่สนใจที่จะสมัครสอบ ไม่มีเวลาและคะแนนจาก EF ไม่ได้นำไปใช้สำหรับการศึกษาต่อหรือสมัครงาน เช่น IELTS, TOEIC หรือ TOEFL

>> ความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับ
ประเทศจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน 1% คือ 140 ล้านคน 0.1% เท่ากับ 1.4 ล้านคน EF ไม่ได้ประเมินผลการสอบ จากกลุ่มตัวอย่าง 1 ล้านคน และอาจจะไม่ถึง 1 แสนคน 

ผลการจัดอันดับของ EF ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนในประเทศจีน มีทักษะภาษาอังกฤษระดับปานกลาง เช่นเดียวกับ อินเดีย เกาหลีใต้ และมาเก๊า คนที่เคยเดินทางไปประเทศจีน คงทราบดีว่า เมื่อออกไปพ้นเมืองใหญ่ พ้นจากเขตธุรกิจแล้ว ประชาชนจีนพูดภาษาอังกฤษได้ระดับใด ดังนั้นผลสอบ จึงไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดทักษะภาษาอังกฤษของคนกว่าพันล้านคนได้ และการจัดให้ประเทศจีนมีระดับทักษะเท่ากับฮ่องกง และมาเก๊า หรืออินเดีย ยิ่งไม่น่าเชื่อถือ

ประเทศในเอเชีย ที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำ ได้แก่ ญี่ปุ่น ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และศรีลังกา ส่วนประเทศที่ EP ชี้ว่า มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำมาก ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อัฟกานิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และ คีร์กีซสถาน 

EF ระบุว่า ทักษะภาษาอังกฤษ ระดับปานกลางนั้น ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถเข้าร่วมประชุมในหัวข้อที่ตนมีความถนัดได้ สามารถเข้าใจเนื้อร้องเพลงภาษาอังกฤษ สามารถเขียนอีเมลระดับอาชีพในหัวข้อที่คุ้นเคยได้

ทักษะในระดับต่ำนั้น ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถสื่อสารในฐานะนักท่องเที่ยวในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษได้ สามารถคุยทักทายกับเพื่อนร่วมงานต่างชาติได้ และอ่านอีเมลง่าย ๆ ได้ ในขณะที่ เกณฑ์ภาษาอังกฤษระดับต่ำมากนั้น ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ สามารถแนะนำตัวเอง แนะนำประเทศของตนได้ สามารถอ่านป้ายภาษาอังกฤษที่ไม่ซับซ้อนได้ และสามารถบอกทางให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

การวัดผลของ EF ในประเทศไทย ทั้งในปี 2020 และ 2021 ประเทศไทยได้คะแนนเฉลี่ยเท่าเดิมคือ 419 จาก 800 คะแนน โดยไม่มีประเทศอื่นใดในโลก ที่คะแนนคงที่ เช่น กัมพูชา คะแนนปี 2021 ลดลงจากปีก่อน -12 คะแนน เมียนมา คะแนนดีขึ้น +18 คะแนน และอัฟกานิสถาน คะแนนดีขึ้น +3 คะแนน จาก 112 ประเทศที่ EF สำรวจ ประเทศไทยได้อันดับที่ 100 เป็นกลุ่มระดับทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก เช่นเดียวกับอีก 26 ประเทศ ทั่วโลก

>> การจัดอันดับของ EF กับการมองความเป็นจริงโดยคนไทย!!
ตัดเรื่องการใช้ การจัดอันดับของ EF เพื่อด้อยค่าประเทศไทยออกไป แล้วเราจะใช้ผลสำรวจในทางสร้างสรรค์ได้อย่างไร? โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อการจัดอันดับดังกล่าวอย่างงมงาย ดังที่ได้ชี้ให้เห็นจากจำนวนประชากรของจีนและอินเดีย และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ที่พบเห็นได้จริงในการเดินทางไป เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่ในเขตภูมิภาค และหมู่บ้านในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

การศึกษาภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ หรือภาษาที่สอง มีการขับเคลื่อนในทุกประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยให้ผู้คนมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น สามารถรับข้อมูลและความรู้จากนอกประเทศได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน ทฤษฎีและแนวทาง ในการสอนภาษาอังกฤษมีนับร้อย หลักสูตรต้องพิจารณาปัจจัยของผู้เรียน เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญในการเรียนภาษา แม้กระทั่งภาษาแม่ของตนเอง คือการมองรอบตัว ด้วยความคิดวิเคราะห์ เรามีเพื่อนที่เก่งภาษาอังกฤษกี่คน เราดูรายการทางยูทูบ ผู้เสนอรายการที่เราชื่นชอบเก่งภาษาอังกฤษกี่คน เราเห็นผู้คนไปเรียนต่อต่างประเทศกี่คน เราต้องถามตัวเองว่า เขาเหล่านั้นทำได้อย่างไร เก่งภาษาอังกฤษได้อย่างไร เก่งตั้งแต่เด็ก หรือใช้ความพยายามในการเรียนภาษา เสริมภาษาอังกฤษให้ตนเองทุกรูปแบบ จนเกิดความคล่องแคล่วและมีทักษะที่สามารถสอบวัดระดับภาษาด้วยคะแนนดี ถึงเกณฑ์ที่จะเรียนต่อได้ ถึงเกณฑ์ที่บริษัทจะรับเข้าทำงานในตำแหน่งที่ต้องการ

เราต้องใส่ใจว่า เหตุใดยุวมัคคุเทศก์ จึงสามารถนำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ พ่อค้าแม่ขายตามจุดท่องเที่ยวฝึกหัดภาษาอังกฤษจากไหน คำถามเหล่านี้จะทำให้เราได้เข้าใจถึง “แรงบันดาลใจ” อันเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษา เมื่อเกิดแรงบันดาลใจ ความตั้งใจและความมุ่งมั่นก็จะตามมา

ความคิดที่ว่า ต้องผ่านต่างประเทศมาก่อนภาษาจึงจะดี หรือต้องเรียนโรงเรียนชั้นดี หรือโรงเรียนในเครือโบสถ์ฝรั่งจึงจะมีรากฐานภาษาที่ดี เป็นสิ่งที่ล้าสมัย เราต้องหันไปมองนักเรียน นักศึกษาจากโรงเรียนภูมิภาค ที่สอบเข้าเรียนสาขาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ 

ถ้าขาดแรงบันดาลใจ และไม่เห็นว่าภาษาอังกฤษจะให้ประโยชน์ตัวเราเองอย่างไร จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย กับประเทศอื่น ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น และถึงแม้ประเทศบ้านเกิด จะเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งมาก่อน ภาษาอังกฤษเราก็คงไม่ได้ดีเองโดยอัตโนมัติ...


ที่มา : The Standard Ref : EF English Proficiency Index


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
👉 https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32