จับตาสภาฮ่องกง ใต้เงาปักกิ่ง
สถานการณ์การเมืองในสภาฮ่องกงวันนี้ กลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีคำสั่งจากรัฐบาลกลางปักกิ่ง ปลด สส. ฝ่ายค้าน จำนวน 4 คน เนื่องจากหมดคุณสมบัติการเป็นผู้แทน ตามระเบียบของกฏหมายความมั่นคงใหม่ของฮ่องกง ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
สมาชิกฝ่ายค้านทั้ง 4 คน ที่โดนคำสั่งเด้งฟ้าผ่าได้แก่
1.) Alvin Yeung หัวหน้าพรรค Civic Party ฝ่ายค้านดาวรุ่ง ที่ยอมยกเลิกสิทธิ์การได้เป็นพลเมืองแคนาดา เพื่อมาลุยงานสภาที่ฮ่องกงโดยเฉพาะ และเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้าสภามาเมื่อปี ค.ศ.2016 นี้เอง นับเป็นสมัยแรกของเขา
2.) Dennis Kwok หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค Civic Party และเป็น สส. ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ตัวแทนจากรัฐบาลจีนอย่างเผ็ดร้อน
3.) Kenneth Leung อดีตที่ปรึกษาด้านภาษีอาวุโส หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Pro-Democracy ที่ได้รับคัดเลือกจากสภาวิชาชีพ และเป็น สส. มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2012
4.) Kwok Ka-ki แพทย์เฉพาะทาง ที่เคยได้รับเลือกเข้าสภาจากกลุ่มแวดวงวิชาชีพ ปัจจุบันสังกัดพรรค Civic Party เช่นเดียวกัน และกลายเป็นหนึ่งใน สส. ที่ถูกขับออกจากสภาจากกฏหมายความมั่นคงใหม่
พอมีประกาศออกมาจากสภานิติบัญญัติฮ่องกง โดยที่ไม่มีรายละเอียดใด ๆ ว่า ทั้ง 4 สส. มีคุณสมบัติข้อใดที่ขัดกับกฏหมายความมั่นคง แต่สื่อฮ่องกงก็คาดเดาว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ ทั้ง 4 คนเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม Pro-Democracy หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ ฝ่ายที่ต่อต้านนโยบายจากรัฐบาลจีนที่เป็นหนึ่งในแกนนำ
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจกับสมาชิกฝ่ายค้าน จึงได้ประกาศตบเท้า ลาออกจากสภาฮ่องกงตามเพื่อนไปอีก 15 คน เป็นการประท้วงคำสั่งจากรัฐบาลจีน
เลยทำให้บรรยากาศการเมืองระหว่างจีน และ ฮ่องกงเริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง
สภานิติบัญญัติฮ่องกง หรือ ที่เรียกชื่อย่อว่า สภา LegCo จะมีผู้แทนทั้งหมด 70 คน ส่วนในสภาชุดปัจจุบันนี้ มีสมาชิกฝ่ายค้านมีอยู่ทั้งหมด 21 เสียง จากจำนวน 70 ที่นั่ง หลังจากที่โดนปลดไป 4 และลาออกไป 15 ก็จะเหลือฝ่ายค้านเหลือเพียง 2 เสียง ซึ่งก็เหมือนไม่มีอยู่แล้ว
และสภาชุดนี้ มาจากการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 2016 ที่เสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่สนับสนุนจีนมากกว่าฝ่ายเสรีนิยม ที่มักถูกเรียกกว่ากลุ่ม Pro-Democracy
แต่หลังจากเกิดกระแสการประท้วงกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน ครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.2019 จนบานปลายกลายเป็นการต่อต้านรัฐบาลจีน และเรียกร้องขอปลดแอกเป็นอิสระจากการปกครองของจีน ที่ทำให้กลุ่ม Pro-Democracy ได้รับการสนับสนุนจากชาวฮ่องกงเป็นจำนวนมาก
ภาพสะท้อนที่ชัดที่สุด ที่ส่งเสียงดังสนั่นถึงปักกิ่งนั้นมาจากผลการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นในปี ค.ศ.2019 ที่ฝ่ายเสรีนิยมได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง
โดยสามารถชนะการเลือกตั้งใน 17 เขต จากทั้งหมด 18 เขตเลือกตั้ง กวาดที่นั่งในสภาท้องถิ่นไปถึง 388 นั่ง เหลือที่นั่งให้กับฝ่ายสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ไปเพียง 62 ที่นั่ง
และ ผู้แทนจากสภาท้องถิ่น ก็จะมีผลต่อการเลือก ผู้บริหารสูงสุดแห่งเกาะฮ่องกงในอนาคตด้วย เนื่องจากจะมีการคัดเลือก สมาชิกจากสภาท้องถิ่นบางส่วนเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกหัวหน้าผู้บริหารเกาะฮ่องกงในลำดับต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ชาวฮ่องกงจำนวนมากจึงใจจดใจจ่อรอที่การเลือกตั้งใหญ่ในสภา LegCo เป็นอย่างมากที่มีกำหนดจะต้องจัดการเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่กลางปี ค.ศ.2020 แต่ทว่า นางแครี่ ลัม ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงคนปัจจุบัน ได้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปจนกว่าจะถึงปีหน้า เพราะผลพวงจากการระบาดของ Covid-19
จึงทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะเชื่อว่าหากทางการฮ่องกงได้จัดเลือกตั้งตามกำหนด หรืออย่างน้อย ก่อนการมาถึงของกฎหมายความมั่นคงใหม่ของจีน ฝ่ายเสรีนิยมจะสามารถกวาดที่นั่งในสภา LegCo ได้อย่างถล่มทลายแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ครึ่งสภา
ว่าแต่ทำไมถึงมีโอกาสแค่ครึ่งสภา?
เนื่องจากที่นั่ง สส. ในสภา LegCo จำนวน 70 ที่นั่งมีที่มาจาก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่ชาวฮ่องกงสามารถลงคะแนนเลือกผู้แทนได้โดยตรงจำนวน 35 ที่นั่ง
ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เป็นการเลือกผู้แทนพิเศษตามกลุ่มสายอาชีพ 27 สาย โดยมีคณะกรรมการในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ เลือกผู้แทนมาสายละ 1 คน ยกเว้นภาคแรงงานที่จะได้ผู้แทน 3 คน
ถึงแม้ว่าการเลือกผู้แทนครึ่งสภามาจากคณะกรรมการในแต่ละสาขาอาชีพ ที่ส่วนมากมักได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลปักกิ่ง จะมีชาวฮ่องกงหลายคนไม่เห็นด้วยกับระบบนี้
แต่อย่างน้อย สมาชิกอีกครึ่งสภาก็มาจากเสียงของชาวฮ่องกง ที่คาดว่าในสมัยหน้า หากวัดจากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ก็น่าจะมีฝ่ายที่สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยเข้ามาได้ท่วมท้นเต็มสภาแน่นอน
เพียงแต่ตอนนี้ ต้องรอไปจนถึง 5 กันยายน ค.ศ.2021
และด้วยกฎหมายความมั่นคงใหม่ของจีน ที่ระบุข้อห้ามชัดเจน 3 ข้อว่า ห้ามปลุกระดม ห้ามสมคบคิดกับต่างชาติ และห้ามล้มล้างการปกครองเพื่อแยกประเทศ
หากใครที่เคยกระทำการที่เกี่ยวโยงกับความผิดใน 3 ข้อนี้ ก็อาจจะโดนดำเนินคดี ซึ่งรวมถึงการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ดังนั้น คำสั่งเขย่าสภาฮ่องกงด้วยการปลด 4 สส. ฝ่ายค้าน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสกัดดาวรุ่ง กลุ่มแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจีน ที่คาดว่าน่าจะโดนอีกหลายคนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า
สิ่งหลายคนกำลังจับตานับจากนี้ อาจจะไม่ใช่แค่การเลือกตั้งครั้งต่อไปในฮ่องกง แต่เป็นกระแสแรงต้านที่อาจทำให้ชาวฮ่องกงต้องออกมาส่งเสียงดังถึงปักกิ่งอีกครั้งบนท้องถนนใจกลางเมืองฮ่องกงอย่างเมื่อปีที่ผ่านมา
รวมถึงบทบาทของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ ว่าจะกระโดดเข้ามากดดันจีนแบบไหนในสมรภูมิที่เกาะฮ่องกงแห่งนี้
.
ข้อมูลอ้างอิง
BBC
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-54900174
Channel News Asia
https://www.channelnewsasia.com/news/asia/hong-kong-pro-democracy-lawmakers-to-resign-en-masse-13516730#cxrecs_s
The Standard Hong Kong
https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/4/158916/Empty-seats-left-behind
Wikipedia
https://en.wikipedia.org/wiki/Legislative_Council_of_Hong_Kong
https://en.wikipedia.org/wiki/2019_Hong_Kong_local_elections