เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวพม่ามีนัดชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่าวันลุกฮือ ‘22222 uprising’ (จากตัวเลขวันที่ 22/2/2021) ที่จะเป็นการนัดหยุดงานร่วมเดินขบวนประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของทัพพม่าครั้งใหญ่ที่สุด

การนัดชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีข่าวยืนยันการเสียชีวิตของ ‘มยา ตะเวง ตะเวง คาย’ หญิงสาวพม่า หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนปืนจริงที่ศีรษะเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย และบาดเจ็บกว่า 30 คน

และในวันนี้ ชาวพม่าจึงพร้อมใจกันนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเฉพาะในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ ที่มีผู้มาร่วมชุมนุมกันมากมายมหาศาลมากกว่าแสนคน เนืองแน่นเต็มท้องถนน ซึ่งชาวเน็ตในพม่าต่างออกมารายงานสถานการณ์ในแต่ละเมือง และพบว่ามีการนัดเดินขบวนประท้วงร่วมกันเกือบทุกเมืองแล้วทั่วประเทศ

บริษัท ห้าง และร้านค้าหลายแห่ง ก็หยุดทำการในวันนี้ อาทิเช่น KFC และ บริษัทขนส่ง Food Panda ที่อนุญาตให้พนักงานเข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวพม่าในการเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนธนาคาร โรงพยาบาล สถานที่ราชการยังคงเปิดทำการ แต่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ออกไปร่วมชุมนุมได้ แต่ให้จัดสรรบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อยังคงเปิดให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งว่าการนัดหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุม หรือเป็นสัญลักษณ์ของการอารยะขัดขืนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย แต่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ 12 แห่งในพม่าได้ออกแถลงการณ์ สนับสนุนพนักงานชาวพม่าหากต้องการจะหยุดงานเพื่อร่วมชุมนุมตามหลักสิทธิเสรีภาพ

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 12 แห่งได้แก่ บริษัท เบียร์ คาร์ลสเบิร์ก และ ไฮเนเกน, เนสท์เล่, โคคา-โคลา, บริษัทผลิตเสื้อผ้า H&M, บริษัทเทเลคอม Telenor และ Ooredoo, บริษัทน้ำมัน Unocal, Total และ Woodside, บริษัทขนส่ง Maersk และบริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสารอย่าง Ericsson ซึ่งได้เข้ามาลงทุนและจ้างแรงงานพม่ารวมกันมากกว่า 100,000 คน

โดยทางกลุ่มบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เน้นย้ำว่ายังต้องการที่จะทำธุรกิจในพม่า แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่เน้นความสำคัญของการแสดงออกตามแนวทางประชาธิปไตย และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขสถานการณ์ในประเทศโดยเร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของประชาชนชาวพม่า

และชาวพม่าก็หวังว่าการลุกฮือ 22222 ในวันนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของพม่า แต่ทั้งนี้การจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ประท้วงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จับกุมกลุ่มต่อต้านไปแล้วถึง 640 คน และตัดสัญญาอินเตอร์เน็ตติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ส่วนประสิทธิภาพของสัญญาณโดยรวมลดลงเหลือเพียง 13% ของระดับการใช้งานปกติ แต่ก็ยังไม่อาจยับยังการนัดชุมนุมของหนุ่ม-สาว ชาวพม่าจากทั่วประเทศได้


อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2021/2/22/myanmar-new

https://www.mmtimes.com/news/least-two-more-dead-tensions-escalate-myanmar.html

https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-protesters-plan-even-bigger-rallies-after-deadly-clashes