เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่ทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ และอาจนับได้ว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จนในวันนี้โลกเราก็ประสบความสำเร็จ เริ่มผลิตวัคซีน Covid-19 ออกมาใช้งานได้จริง และมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจมาก จากตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศที่เริ่มโครงการวัคซีนไปแล้ว

แน่นอนว่าหนึ่งในทีมพัฒนาวัคซีนที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก คือ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด จับมือร่วมกับ AstraZeneca ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำที่ร่วมทุนกันระหว่างอังกฤษและสวีเดน

จุดเริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ริเริ่มโดย ‘ด็อกเตอร์ แอนดี้ พอลลาร์ด’ และ ‘ด็อกเตอร์ ซาราห์ กิลเบิร์ท’ ที่ประจำอยู่ในศูนย์วิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หลังจากพบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดคร้้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2019 และเริ่มแพร่ระบาดในต่างประเทศได้ไม่นาน

ทีมวิจัยอ็อกซฟอร์ดได้เริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 จากข้อมูลของเชื้อไวรัสของ ‘ด็อกเตอร์ จาง หย่งเจิน’ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันวิจัยเซี่ยงไฮ้ที่ได้ถอนรหัสโครงสร้างพันธุกรรมของ Covid-19 ได้เป็นครั้งแรก

และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานวิจัยวัคซีนป้องกัน ‘ไวรัสอีโบร่า’ และ ‘ไวรัสเมอร์ส’ ที่เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหมือนทุนความรู้เดิมที่ช่วยให้ทีมงานรู้ขั้นตอนในการพัฒนาวัคซีนเป็นอย่างดี

แต่การแพร่ระบาดไปไกลกว่าที่ทีมวิจัยได้คาดคิดไว้มาก ด็อกเตอร์พอลลาร์ด เล่าว่า การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างและรุนแรงเป็นข่าวร้ายของทีมวิจัยที่ต้องทำงานแข่งกับเวลายิ่งกว่าเดิม และต้องเปลี่ยนแผนการทำงานที่เคยวางไว้ เช่น การเพิ่มบุคลากรในทีม การร่นเวลาในการทดลองในแต่ละเฟส การขยายกลุ่มอาสาสมัครที่มากกว่าเดิม และนั่นก็หมายความว่าทีมงานต้องใช้ทุนวิจัยมากกว่าเดิมหลายเท่า

และก็ได้บริษัทยา AstraZeneca เข้ามาร่วมทุนสนับสนุน ที่ทำให้ทีมงานของทั้ง 2 ด็อกเตอร์จากสถาบันวัคซีนแห่งอ็อกซฟอร์ด สามารถเดินหน้าโครงการวิจัยได้ในที่สุด

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดยอมรับว่าการทำงานแข่งกับเวลา และแรงเสียดทานจากกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี สร้างแรงกดดัน และบั่นทอนกำลังใจทีมงานอยู่หลายครั้ง เช่นเมื่อคราวที่ทางทีมงานได้เริ่มทดลองฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครกลุ่มแรก เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็มีข่าวปลอมกระจายทั่วออนไลน์ว่ามีกลุ่มทดลองเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนจากทีมของอ็อกซฟอร์ด

ถึงแม้จะเป็นข่าวปลอม แต่ก็สร้างความกดดันให้กับทีมงาน และกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนชุดแรกไปแล้วไม่น้อย ทางทีมวิจัยต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ทั้งยังต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนให้รายงานข่าวได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาของกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน ก็สร้างความปวดหัวให้กับทีมวิจัยเช่นกัน ด็อกเตอร์พอลลาร์ดได้กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลกับกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน อาจจะด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อมั่น หรือ ไปเชื่อข้อมูลแปลกๆ ที่ทำให้คิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นอันตราย และยังไม่ป้องกันตัวเอง ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เชื้อไวรัสยังคงแพร่กระจายอยู่ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้คนกลุ่มนี้

หลังจากผ่านการทดลองมาหลายขั้นตอน ในที่สุดทีม Oxford/AstraZeneca ก็สามารถบรรลุการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ที่ได้ประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจที่จะเริ่มฉีดให้กับคนทั่วไปได้แล้ว แต่งานของทีมวิจัยยังไม่จบเพียงแค่นี้

การได้รับการรับรองจากรัฐบาล และองค์กรสากล เป็นสิ่งที่การันตีความน่าเชื่อถือของวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ก็เคยได้รับผลตอบในแง่ที่ไม่ดีบ้าง แม้แต่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานูเอล มาครง เคยตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพของตัววัคซีนจากอังกฤษนี้ แต่ในที่สุดวันนี้ วัคซีน Oxford/ AstraZeneca ก็ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดกล่าวว่า ทีมงานของเขามีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ในราคาไม่สูง บริหารจัดการได้ง่าย ทั้งการจัดเก็บ และการขนส่ง ที่จะทำให้วัคซีนของเราสามารถเข้าถึงได้กับประชาชนทั่วทุกมุมโลก และก็ได้วัคซีนที่ตอบโจทย์ตรงตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

ปัจจุบันอังกฤษได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วถึง 14 ล้านคน ทั้งจากวัคซีนของอ็อกซฟอร์ด และ Pfizer นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในโครงการฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้นๆของโลก

แต่นั่นยังไม่ทำให้ทีมวิจัยจากอ็อกซฟอร์ดพอใจ เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่จากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศมีความเป็นไปได้ในอนาคต และยังมีเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เรายังไม่ค้นพบอีกมากมาย

ด็อกเตอร์กิลเบิร์ท จึงได้ผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัคซีนแห่งชาติขึ้นในอ็อกซฟอร์ดไชร์น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษถึง 158 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,320 ล้านบาท) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศอังกฤษในการป้องกันภัยจากโรคระบาดชนิดใหม่ คาดว่าศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2021 นี้


อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/world/2021/feb/14/life-savers-story-oxford-astrazeneca-coronavirus-vaccine-scientists