Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

“บิ๊กป้อม” ถก คกก. อวกาศแห่งชาติ เห็นชอบ NT บริหารหลังสิ้นสุดสัญญาฯ เน้น ประโยชน์สาธารณะ-ปชช.ใช้บริการ ทั่วถึง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 มีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วมบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยที่ประชุมเห็นชอบให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาจนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม และให้เสนอคณะกรรมการดิจิทัลฯ พิจารณา ก่อนดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้นรับทราบรายงานความก้าวหน้า ผลการดำเนินงาน ของดาวเทียมธีออส (THEOS) ประกอบด้วยการจัดหาดาวเทียมหลัก ดาวเทียมเล็กและระบบภาคพื้นดิน การพัฒนาแอพพลิเคชั่น AIP เพื่อดึงข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร  และรับทราบรายงานแนวทางการนำเทคโนโลยี ทางด้านภูมิสารสนเทศในการแก้ปัญหาและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรเชิงพื้นที่อาหาร สุขภาพและคุณภาพชีวิต พลังงานทดแทน และด้านการท่องเที่ยว รวมถึงรับทราบ รายงานการจัดหาดาวเทียม NAPA-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมของกองทัพอากาศ มีน้ำหนัก 5.73 กก. และได้นำขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เมื่อ 3 ก.ย. 63 ที่ความสูง 530 กม. เหนือพื้นโลก สำหรับการใช้งานระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ของกระทรวงกลาโหมจะมีการดำเนินการในอนาคต ต่อไป  

โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ ดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด บูรณาการขับเคลื่อนกิจการอวกาศของประเทศอย่างจริงจัง ต้องคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และไม่ให้เกิดผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม และต้องเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ต่อสาธารณประโยชน์อย่างทั่วถึงในอนาคต 

‘ไทยคู่ฟ้า’ ยืนยัน ไม่มีการชาร์จค่าหัวคิววัคซีนเอกชน เผย ยังไม่ได้คุยราคาต้นทุนนำเข้าอย่างชัดเจน 

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจไทยคู่ฟ้า โพสต์ข้อความระบุว่า ยืนยัน! ไม่มีการชาร์จค่าหัวคิววัคซีนเอกชน

สืบเนื่องที่มีการแชร์ข่าวการจัดซื้อวัคซีนให้ภาคเอกชนขององค์การเภสัชกรรม ว่าทางเอกชนจะต้องเสียภาษีถึง 2 ครั้ง และจะถูกชาร์จค่าบริหารจัดการ 5-10% ขอยืนยันนะครับว่าข้อมูลดังกล่าว “ไม่เป็นความจริง” เพราะยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงตัวเลขราคาและต้นทุนต่าง ๆ ระหว่างองค์การเภสัชฯ กับ รพ.เอกชน แต่อย่างใด

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรวบรวมความต้องการวัคซีนจาก รพ.เอกชนต่าง ๆ เพื่อส่งคำสั่งซื้อไปยังบริษัทนำเข้าที่ได้รับอนุญาต และแน่นอนว่าในการจัดซื้อวัคซีนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งค่าจัดเก็บ ค่าจัดส่ง ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3-5% และมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 

องค์การเภสัชฯ เป็นเพียงหน่วยงานอำนวยความสะดวกในการซื้อวัคซีน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก เนื่องจากวัคซีนโควิดทุกชนิดที่ผลิตได้ขณะนี้ จะใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น

ดังนั้น การกำหนดราคาขายวัคซีนให้กับ รพ.เอกชน จะต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล เหมาะสม ไม่มีการบวกราคาเพิ่ม เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน

รมว.พม. - ประธานรัฐสภา ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มอบหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบาง พร้อมให้กำลังใจเครือข่าย พม. สู้ภัยโควิด-19

วันนี้ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ที่ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง กระทรวง พม. จึงมีความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้ง เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม.

นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ตนและนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 10,000 ชิ้น จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม ให้กับศูนย์พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสมุทรสาคร นำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งประชาชนในพื้นที่สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายจุติ กล่าวด้วยว่า ได้หารือร่วมกับทีม One Home พม.สมุทรสาคร และประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้ให้แนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ อาทิ โครงการบ้านเช่าราคาถูก โดยให้สำนักงานการเคหะแห่งชาติในพื้นที่ สำรวจความต้องการเช่าบ้านที่แท้จริง  ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการสร้างบ้านเพื่อขายเป็นการสร้างบ้านเพื่อเช่า เนื่องจากประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่มีเงินก้อนสำหรับดาวน์บ้าน แต่เมื่ออาศัยอยู่ระยะยาวสามารถเปลี่ยนค่าเช่าเป็นเงินดาวน์บ้านได้ โดยมีค่าเช่าถูกกว่าราคาตลาดอย่างมาก ทำให้สามารถเช่าอยู่ได้ เป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยในระยะยาว 

นายจุติ กล่าวต่อว่า เรื่องการลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในระยะยาว โดยจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน อีกทั้งทำงานร่วมกับผู้นำและนักการเมืองในพื้นที่ด้วย และเรื่องการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติจากพายุ ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร (พมจ.สมุทรสาคร) ทำเรื่องเสนอของบประมาณสำหรับการซ่องแซมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย


 

‘แรมโบ้’ จวกยับ ‘เพนกวินและแม่’ พอศาลให้ประกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง ออกมาชู 3 นิ้วสวมเสื้อยกเลิก ม.112 และปฏิรูปสถาบัน จวกที่แถลงต่อศาลโกหกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวสถาบัน ชี้ คนแบบนี้หนักแผ่นดิน สันดานไม่เคยเปลี่ยน

วันที่ 12 พ.ค. พ.ศ.2564 ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวถึงกรณี นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน ผู้ต้องขังคดีม.112 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ทั้งจะไม่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่หนีออกนอกประเทศ และจะมารายงานตัวทุกครั้งนั้นว่า ทีแรกก็มองเจตนาดีว่า นายเพนกวิน จะกลับตัวกลับใจ หลังจากติดคุกติดตะรางมา 91 วันก็คงจะสำนึกผิดที่ได้ก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูงอันมิบังควร

“แต่พอตนเห็นข่าวและภาพนายเพนกวินชูสามนิ้วกับแม่ และสวมเสื้อยกเลิก ม.112 และมีข้อความปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้นแหละตนและประชาชนส่วนใหญ่ที่ปกป้องสถาบันฯ จึงมีความรู้สึกตรงกันว่า ทำไมนายเพนกวิน จึงยังไม่มีจิตสำนึก ที่ศาลท่านเมตตาปล่อยออกมา ราชทัณฑ์เขาก็ไม่อยากขังเพราะกลัวจะไปตายคาเรือนจำเพราะไปอดข้าวประท้วง แต่นายเพนกวิน ออกมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็แสดงสันดานแบบเดิมคือ ก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูงเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ได้ยืนยันต่อศาลแล้ว แบบนี้เป็นการโกหกหลอกลวงศาลและต้มคนทั้งประเทศกันชัด ๆ”

ดร.เสกสกล กล่าวต่อว่า อยากให้หน่วยงานความมั่นคงจับตาให้ดี ๆ เพราะคนเหล่านี้คงจะมีท่อน้ำเลี้ยง เพราะเงินทองไม่ขาดมือ พอออกมากันหมดจะมาก่อการใหญ่สร้างความรุนแรงขึ้นมาอีก เพราะมี ‘นายทุน’ ใหญ่เป็นแบล็คคอยหนุนหลังเพื่อต้องการที่จะล้มล้างสถาบัน จาบจ้วงก้าวล่วงอยู่ตลอดเวลา

“ตนคิดว่าคนพวกนี้หนักแผ่นดิน อยู่ไปก็ทำลายความสุขและบรรยากาศที่ดีของประเทศไทย ทำไมไม่ย้ายประเทศไปให้หมด ๆ เสียที บ้านเมืองจะได้สูงขึ้น นี่ขนาดนายเพนกวินยังโกหกใครต่อใครอีก มิหนำซ้ำคนเป็นแม่ ยังพลอยส่งเสริมลูก ทำไมไม่เคยคิดห้ามปรามลูกบ้าง แล้วตอนที่ขอกับศาลว่าอย่างไร วันนี้ทำไมลืมหมดแล้ว คงอีกไม่นานถ้าถูกถอนประกันอีกอย่ามาโทษว่ากฎหมายหรือกระบวนการศาลไม่เป็นธรรมก็แล้วกัน” ดร.เสกสกล กล่าว

"ตั๊น จิตภัสร์" แท็กทีม "ผบช.น." เซฟชุมชนคลองเตย-บ่อนไก่ มอบถุงยังชีพร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 น.ส.จิตภัสร์ (ตั๊น) กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อม พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล ร่วมลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สน.ท่าเรือ ชุมชนคลองเตย เขตคลองเตย และ สน.ลุมพินี ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนผู้รับผลกระทบ และครอบครัวข้าราชการตำรวจ โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายปานชัย แก้วอัมพรดี อดีต ส.ข คลองเตย ร่วมด้วย

โดย น.ส.จิตภัสร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองยังน่าเป็นห่วง จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อความห่วงใยและส่งมอบความช่วยเหลือเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องประชาชนทุกคน ในส่วนต่างจังหวัดนั้นได้จัดส่งน้ำดื่มสะอาด ไปยัง ส.ส เขตของพรรคทั่วประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ที่สำคัญที่สุด ขอส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่เสียสละ อดทน ทำงานกันอย่างหนักช่วยเหลือผู้ป่วย ในการสกัดการลุกลามของโรคที่กระจายไปเป็นวงกว้างให้คลี่คลายได้โดยเร็ว

“ส่วนการให้ความช่วยเหลือของพรรคประชาธิปัตย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน คมว.เกษตรฯในฐานะเลขาธิการพรรคฯ และ ผอ.ศูนย์ศปฉ.ปชป. คณะผู้บริหาร ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข รวมถึงบุคลากรของพรรคและจิตอาสาได้ร่วมมือร่วมใจกันในยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤตจัดตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) ขึ้นเพื่อประสานงานช่วยเหลือส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างปลอดภัย ผ่าน 2 ช่องทางคือ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และทาง Twitter : democratTH ปัจจุบันได้ประสานงานช่วยเหลือไปแล้วเกือบ 200 ราย สามารถบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น  ข้าวกล่อง 4 หมื่นชุด โดยมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กระจายผ่านไปยังสมาชิกของพรรคฯ เพื่อแจกจ่ายในรพ.สนามอีกด้วย

ด้าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่า ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งในขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้รับการฉีดวัคซีนไปมากกว่าร้อยละ 70 มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการติดต่อใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ตำรวจเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่ประชาชนอีกด้วย
 

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr เผยแพร่มุมมองระดับความเข้าใจของวัคซีน ผ่านคำ 3 คำ อย่าง ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’ ที่หลายคน อาจจะเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป ว่า...

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr เผยแพร่มุมมองระดับความเข้าใจของวัคซีน ผ่านคำ 3 คำ อย่าง ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’ ที่หลายคน อาจจะเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป ว่า...

เวลาใครโดนโจมตีเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะเวลารัฐบาลถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี เรามักได้ยินคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ เช่น ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ เสมอ

ยิ่งระยะนี้ กำลังอยู่ในช่วงรอฉีดวัคซีน ‘โควิด’ ก็จะยิ่งได้ยินประโยคว่า วัคซีนยี่ห้อนั้นมี ‘ประสิทธิภาพ’ สูงกว่ายี่ห้อนี้บ่อยครั้ง

เชื่อไหมว่า คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ เป็นคำที่ใช้กันมากโดยที่มีคนน้อยมากที่รู้ว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ คืออะไร ดังนั้นจึงใช้คำนี้อย่างผิด ๆ กันไปทั่วประเทศ

คำ 3 คำที่ใช้เรากันแบบสับสนปนเป จนแยกกันไม่ค่อยจะออกคือ…

1.) ประสิทธิภาพ หรือ efficiency

2.) ประสิทธิผล หรือ effectiveness

3.) คุณภาพ หรือ quality

ทั้ง 3 คำมีความหมายที่แตกต่างกัน

คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ หรือ ‘efficiency’ ตามพจนานุกรมของ Merriam Webster นิยามความหมายไว้ว่า : capable of producing desired results with little or no waste แปลเป็นไทยได้ว่า สามารถทำให้บรรลุผลที่ตามต้องการ โดยมีความสูญเปล่าน้อย หรือไม่มีเลย

ส่วน ‘ประสิทธิผล’ หรือ ‘effectiveness’ นิยามว่า : producing a desired effect แปลเป็นไทยได้ว่า การบรรลุผลที่ตั้งหวังไว้

ขณะที่ ‘คุณภาพ’ หรือ ‘quality’ นิยามว่า : degree of excellence แปลเป็นไทยได้ว่า : ระดับความเป็นเลิศ

ฉะนั้น ‘ประสิทธิภาพ’ จึงไม่ใช่ ‘คุณภาพ’ และไม่ใช่ ‘ประสิทธิผล’

เพราะ ‘ประสิทธิภาพ’ หมายถึง การใช้ทรัพยากรแบบไม่สิ้นเปลือง มีความสูญเปล่าน้อย หรือไม่มีเลย หากใช้ทรัพยากรน้อย ขณะที่ ‘ประสิทธิผล’ หมายถึง การทำได้หรือบรรลุผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และ ‘คุณภาพ’ จะหมายถึงความเป็นเลิศ เช่น สมรรถนะของรถยนต์ ความเชื่อถือได้หรือ reliability ของสินค้า

รศ.หริรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า งานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิผล’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ก็ได้ หากเราทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่งานที่เราทำมีความสิ้นเปลืองมาก ใช้เวลานานมาก เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน งานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิผล’ แต่ไม่มี ‘คุณภาพ’ ก็ได้ หากเราตั้งเป้าหมายไว้ต่ำแล้วบรรลุได้ เช่น ถ้าเราเรียนปริญญาตรี ตั้งเป้าหมายว่าขอแค่ให้เรียนจบก็พอ ผลลัพธ์ออกมา คือ เราเรียนจบ แต่ได้เกรดเฉลี่ยแค่ 2.0 แปลว่างานของเรามีประสิทธิผลแต่ไม่มีคุณภาพ

หรือความจริงงานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิภาพ’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิผล’ ก็ได้ เช่น ถ้าแพทย์ผ่าตัด ผ่าตัดอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เรียบร้อย แต่คนไข้ยังคงเสียชีวิต แปลว่ามี ‘ประสิทธิภาพ’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิผล’

โดยทั่วไปหากเราจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพงานชนิดเดียวกัน เราควรเปรียบเทียบงานที่มีประสิทธิผล และคุณภาพเท่ากันด้วย แล้วจึงไปเปรียบเทียบประสิทธิภาพว่างานชิ้นใดมีประสิทธิภาพสูงกว่ากัน

การคำนวณหาประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีค่ามาตรฐาน แล้วนำผลที่วัดได้จริง เปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน

ตัวอย่างเช่น เราควรทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จเรียบร้อยได้ในเวลา 5 วัน นี่คือค่ามาตรฐาน หากเราใช้เวลาทำงานจริงเสร็จใน 5 วัน เท่ากับว่าเรามีประสิทธิภาพ 5/5 = 1.0 หรือ 100% หากเราใช้เวลาเกินไปเป็น 8 วัน ประสิทธิภาพเราจะเหลือเพียง 5/8 = 0.625 หรือ 62.5 % เท่านั้น

สำหรับวัคซีนโควิด เขาวัดกันด้วย ‘ประสิทธิผล’ ที่เขาใช้คำว่า ‘efficacy’ ซึ่งก็แปลว่าประสิทธิผลนั่นเอง เช่น การบอกว่าวัคซีนยี่ห้อหนึ่งมี efficacy ป้องกันโรคได้ 90% จึงไม่เกี่ยวกับ ‘ประสิทธิภาพ’ เลย แต่หมายถึงว่า หากเราฉีดแล้วไปสัมผัสกับเชื้อ เรามีโอกาสที่จะติดเชื้อ แล้วมีอันตรายเพียง 10% หรือได้ผลคือไม่มีอันตรายถึง 90% แปลว่าที่หลายคนแปลคำว่า ประสิทธิผล (efficacy) เป็นประสิทธิภาพนั้น เป็นการแปลที่ผิด

หากจะบอกว่าวัคซีนยี่ห้อใดมี ‘ประสิทธิภาพสูง’ จึงต้องยกให้ Johnson & Johnson เพราะฉีดเพียง dose เดียวพอเลย แปลว่าใช้ทรัพยากรน้อย คือปริมาณยาน้อย ใช้เวลาน้อย แรงงานน้อย

หวังอย่างยิ่งว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมีความกระจ่างนะครับระหว่างความหมายคำว่า ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’

แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า บทความชิ้นนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะสังคมเรา ใช้ความเคยชินเป็นใหญ่ เคยใช้มาอย่างไรก็จะใช้ต่อไปอย่างนั้น เรื่องผิด ๆ เมื่อทำกันมาก ๆ ใช้กันมาก ๆ เข้า บ่อย ๆ เข้า จึงกลายเป็นเรื่องถูกไปเสียได้ ในบ้านนี้เมืองนี้

เอาแค่ให้เข้าใจกระจ่างก็พอ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตามอัธยาศัยก็แล้วกัน นะครับ

“จตุพร” ลั่นความมั่นคงไม่ใช่เรื่องต้องใช้ข้อมูล “มั่ว” มาพูดกัน ยัน! มีข่าวระดับสูงแจงมหาอำนาจพยายาหาพื้นที่สูงตั้งฐานยิงขีปนาวุธจริง ดีใจ “คงชีพ” ปฏิเสธ ชี้! บ้านเมืองต้องไม่หายนะ

“จตุพร” ลั่นความมั่นคงไม่ใช่เรื่องต้องใช้ข้อมูล “มั่ว” มาพูดกัน ยัน! มีข่าวระดับสูงแจงมหาอำนาจพยายามหาพื้นที่สูงตั้งฐานยิงขีปนาวุธจริง ดีใจ “คงชีพ” ปฏิเสธ ชี้! บ้านเมืองต้องไม่หายนะ ขอนัดคุยส่วนตัวที่ไหนก็ได้ ฟัด “ประยุทธ์” คนไทยขาดเชื่อมั่น บริหารเหลว เยียวยาไม่สอดคล้องความจริง ปชช. ปัดลงทะเบียนฉีดวัคซีน เผยเวทีไทยไม่ทนฯ สัปดาห์นี้คนดังแห่เปิดข้อมูลถล่มไล่นายกฯ ถึงกระอัก 
 
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk โดยระบุถึง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ปฎิเสธถึงการตั้งฐานยิงขีปนาวุธในไทยด้วยมธุรสวาจาในท่วงทำนองไม่ทำร้ายกันว่า ไม่เป็นความจริง  
 
พล.ท.คงชีพ ได้ชี้แจงเมื่อวานนี้ (11 พ.ค.) เกี่ยวกับประเทศมหาอำนาจตั้งฐานยิงขีปนาวุธในไทยนั้น รัฐบาลปัจจุบัน ไม่เคยมีนโยบายต่อเรื่องดังกล่าว แต่ยึดมั่นในการสร้างความสมดุล พร้อมตั้งข้อกังขาว่า นายจตุพร ต้องการอะไร หรือทำเพื่อใคร และหวังผลอะไร มีแผนจะขยายผลต่ออย่างไร การให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยขาดข้อเท็จจริง จะยิ่งสร้างความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม สุ่มเสี่ยงกับความหวาดระแวงและละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศเป็นอย่างยิ่ง 
 
นายจตุพร กล่าวว่า มธุรสวาจาเช่นนี้ เราอธิบายความกันได้ โดยตนตั้งคำถามให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบ พรบ.ทั้ง 31 ฉบับและความมั่นคงของชาติ อีกอย่างตนถ้าไม่มั่นใจ หรือมีข้อสงสัยแล้ว จะหลีกเลี่ยงในการระบุข้อมูลด้านในประเด็นต่าง ๆ ของประเทศ 
 
ส่วนการข่าวตั้งฐานยิงขีบปนาวุธนั้น ตนต้องการพูดกับ พล.ท.คงชีพ เป็นการส่วนตัวสักครั้ง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งตนเคยอ้อมสอบถามไปยังอดีต ผบ.ทบ.ที่อยู่ใต้รัฐบาลนี้มาแล้ว ว่า การข่าวนี้เป็นความจริงหรือไม่ และได้รับว่า เคยมีอยู่จริงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยพยายามเสาะหาพื้นที่สูงภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ หรือเชียงราย และมีการสำรวจ กระทั่งมีการสร้างสถานที่โดยเปิดเผยที่เชียงใหม่ด้วยงบประมาณการสร้างที่บริการกลับใช้เงินจำนวนมากถึงขนาดนี้  
 
อีกทั้ง เมื่อประมาณ 6-7 เดือนที่แล้วประชาชนมีการแต่งตัวอย่างสุภาพไปยื่นหนังสือตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ระงับการตั้งฐานยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นความกังวล และ พล.ท.คงชีพ ยังตอบด้วยความระมัดระวัง หากเรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมาแล้ว ประเทศเกิดหายนะขึ้นในวันนั้น 
 
“ผมมีความรักชาติบ้านเมือง ซึ่งใครจะมาทำเรื่องเช่นนี้บนพื้นดินนี้ไม่ได้ เพราะไทยไม่ได้ประโยชน์ และยิ่งสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น โดยสถานการณ์ขณะนี้เราได้ติดตามใกล้ชิด อีกทั้งบรรดาผู้รู้ยังติดตามเช่นกัน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่จำเป็นต้องมามั่วกัน โดยผมไม่ได้ปรักปรำ แต่เป็นการตั้งคำถามให้ชี้แจง และโฆษกกลาโหมก็ออกมาบอกเรื่องนี้ด้วยมธุรสวาจา และหวังว่าจะได้พบกันสักวันเพื่อคุยกันในเรื่องชาติบ้านเมือง ขอให้ พล.ท.คงชีพ นัดมาได้” 
 
นายจตุพร ย้ำว่า ในกรณีตั้งฐานยิงขีปนาวุธนั้น จะผ่านเลยไม่ได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่บอกว่าไม่เป็นจริง แต่ก็เป็นจริงมามากเช่นกัน ดังนั้น ตนจึงภาวนาว่า เรื่องที่โฆษกกลาโหมออกมาพูดนั้น ขอให้เป็นเรื่องจริง นอกจากนี้ ขอให้ข้อเท็จจริงเป็นข้อพิสูจน์ ซึ่งตนไม่ต้องการให้เป็นเรื่องจริง เพราะมันจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่แหล่งข่าวของตนก็ใหญ่มากและน่าเชื่อถือเช่นกัน 
 
ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น นายจตุพร กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาไม่สอดคล้องความจริง เพราะการเยียวยา 3 ครั้งได้สะท้อนถึงภาวะสมองของผู้มีอำนาจ โดยมาตรการเยียวยาประชาชนลดลงไม่เป็นไปตามการระบาดรุนแรง เช่น ระบาดรอบที่หนึ่งไม่รุนแรงแต่กลับมีมาตรการเยียวยาสูง มาถึงรอบที่สองโควิดรุนแรงขึ้น กลับลดการเยียวยาลงมา แล้วถึงรอบที่สาม ซึ่งระบาดหนักที่สุด แต่รัฐบาลกลับเยียวยาเพียง 2,000 บาท โดยน้อยกว่ามาตรการที่ผ่านมาทั้งรอบหนึ่งและรอบสอง 
 
พร้อมทั้งกล่าวว่า เมื่อ นายกฯ ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยังไม่คิดจะดูแลประชาชนที่เดือดร้อนจากผลกระทบอีกหรือ โดยเฉพาะภาระการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย เมื่อยังต้องการนั่งเป็นนายกฯ อีก ตนจึงถามหามาตรการเยียวยาให้สอดคล้องความจริงของการระบาดแพร่เชื้อโควิดด้วย 
 
“ใครทำการ์ดตกและมีความไร้ประสิทธิภาพ นายกฯ แก้ปัญหามีแต่ล้มเหลว แต่ต้องการได้อำนาจ กลับไม่เอาอำนาจมาช่วยเหลือประชาชน การใช้อำนาจมา 7 ปีเป็นไปตามอารมณ์บ้าบอของคน ๆ หนึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาไม่ได้เรื่องสักเรื่องเลย” 
 
นายจตุพร กล่าวว่า ระบอบประยุทธ์ พาให้ประเทศพังทุกมิติ เพราะความเป็นอภิสิทธิชนที่อยู่สูงกว่า 3 อำนาจเสียอีก ดังนั้นการเสพติดทางอำนาจ ถ้านำมาแก้ปัญหาชาติจะเกิดความรู้สึกที่ดีของประชาชน อีกอย่างวันนี้มีแต่พวกสอพลอ และพวกปฏิบัติการไอโอ ที่ได้รับประโยชน์จากระบอบประยุทธ์ ส่วนคนไทยทั้งชาติเสียประโยชน์ 
 
รวมทั้งกล่าวว่า เมื่อความหิวเข้ามาถึงคนในเมืองแล้ว อะไรที่เป็นภาระของประชาชน รัฐต้องมาเป็นเจ้าภาพ โดยวางเรื่องการก่อสร้างวัตถุทุกอย่างไว้ เพื่อระดมมาช่วยประชาชนให้รอด ดังนั้น เมื่อวันนี้คนกำลังไม่มีกิน เราต้องช่วยคน ไม่เอาการสร้างวัตถุมาเป็นตัวเลือก 
 
นายจตุพร กล่าวว่า อำนาจที่อยู่ในมือประยุทธ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย การทำงานเกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง หากจะโทษความล้มเหลวทั้งหมดจึงมาจากนายกฯ ซึ่งทำให้คนไม่เชื่อมั่น และสะท้อนออกมาด้วยการไม่กล้าฉีดวัคซีน กระทั่งประเทศก้าวเดินต่อไปไม่ได้แล้ว 
 
ส่วนเวทีไทยไม่ทนฯ เสาร์-อาทิตย์นี้ (15-16 พ.ค.) จะมีตัวแทนทุกภาคส่วนมาร่วม เพื่อมาพูดว่า อะไรคือวิกฤตของชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศเข้าสู่ภาวะหายนะ และต้องการกอบกู้ให้มีสภาพกลับมาดังเดิม โดยขอให้วางประโยชน์ตัวเองลง แล้วมาร่วมแรงเอาชาติมาก่อน จึงจะรักษาชาติเอาไว้ได้ และหวังว่า ความร่วมมือทุกภาคส่วนทำให้ไม่เดียวดาย เพราะสิ่งทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องชาติบ้านเมืองและประชาชน 

“สงคราม” อัดรัฐบาลสอบตกแก้ปัญหาโควิด ชี้ประชาชนไม่กล้าฉีดเพราะหวั่นอาการไม่พึงประสงค์

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อชาติ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงทะเบียนเพื่อจองคิวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดของคนไทยผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม พบว่ามีประชาชนมาจองฉีดวัคซีนเพียงแค่ 1.6 ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายที่รัฐต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนมากกว่า 50 ล้านคน ตัวเลขที่ออกมาถือว่าน้อยมาก วันนี้มีประชาชนที่ฉีดไปแล้วถึงวันนี้ประมาณ 2 ล้านคนจากทั้งหมด 77 ล้านคน

สาเหตุที่ทำให้ประชาชนยังไม่จองคิวฉีดวัคซีน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม รวมถึงความไม่แน่ใจเรื่องวัคซีนที่จะได้รับ ปัญหาดังกล่าว อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการสื่อสารถึงประชาชน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบออกมาชี้แจง นอกจากนี้ต้องอธิบายให้ประชาชนคลายกังวลเรื่อง อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้นรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล วัคซีนที่มีอยู่

นายสงคราม กล่าวด้วยว่า นโยบายการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ควรให้ประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม เข้าไปฉีดวัคซีนกันได้เลย รวมทั้งการติดตามอาการหลังฉีด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ถ้าคนมาฉีดวัคซีนกันเป็นจำนวนมากไม่พบว่ามีปัญหา เชื่อว่าหากคนที่ฉีดแล้วปลอดภัยประชาชนจะมาฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน แต่ที่ยังกลัวเพราะรัฐบาลไม่เคยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เลย คนในรัฐบาลต่างได้รับวัคซีนที่ดีที่สุด แต่ประชาชนจะได้รับวัคซีนชนิดเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ หลังจากนี้รัฐบาลต้องวางแผนเร่งรัดจัดการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

“2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดครั้งแรก รัฐบาลสอบตกการแก้ปัญหาประเทศทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่การสั่งการไปจนถึงมาตรการที่ออกมา ยิ่งการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเวลานี้ รัฐบาลยังสอบตกเรื่องการสื่อสารกับประชาชนอีกหรือ ปัญหาคือ รัฐบาลทำงานไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แม้วัคซีนดีแค่ไหนแต่รัฐบาลทำงานไร้ประสิทธิภาพก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้” นายสงครามกล่าว

รมว.ดีอีเอส สั่งฟ้องนักข่าวไทยพีบีเอสปั่นเฟคนิวส์ ‘สาวอุดรฯ แพ้วัคซีน’ ลุยแจ้งความ สน.ทุ่งสองห้อง เอาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.คอมฯ พบ 1 เดือนนำเสนอข่าวผิด 3 ครั้ง สั่งไล่สอบฟันไม่เลี้ยง ยันไม่เว้นแม้เป็น ‘สื่อ’ เพราะต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนทั่วไป

จากกรณีที่สื่อหลายสำนักรายงานข่าวว่า มีหญิงสาวรายหนึ่งที่เข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี ได้เกิดผลข้างเคียงมีอาการชาทั้งตัว และมีเลือดออกในสมอง แต่มีการแอบอ้างภาพของผู้ป่วยรายหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยา มีผื่นแดงเต็มตัว มาเผยแพร่ควบคู่กันจนเกิดความเข้าใจผิด และผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธไปแล้วนั้น

วันนี้ (12 พ.ค. 64) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กรณีสาวอุดรฯ อ้างแพ้วัคซีน ได้รับรายงานจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) รวมทั้งมีผู้ร้องเรียนเข้ามายังกระทรวงดีอีเอส จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบตั้งแต่ต้น ก็พบว่าต้นตอของข่าวดังกล่าวมาจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ รวม 3 ราย ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยได้มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงดีอีเอสเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘Wadfhan Niphawan’, ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ ‘@tuykallaya’ และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘กะทิ จ้า’ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แม้ทราบว่า ทั้ง 3 รายได้ลบโพสต์ออกไป และบางรายก็ได้โพสต์ขอโทษไปแล้ว แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ที่จะโพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังต่อสู้กับโควิด-19 ที่เป็นเรื่องความเป็นความตาย

“รัฐบาลได้ยกระดับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนหลายภาคส่วนออกมาร่วมรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน แต่ก็ยังมีขบวนการที่พยายามดิสเครดิต สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด” นายชัยวุฒิ ระบุ

นายชัยวุฒิ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ตนได้ตรวจสอบบัญชี ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘กะทิ จ้า’ ซึ่งพบว่าประกอบอาชีพสื่อมวลชน มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณธิการข่าวเช้า สำนักข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนของสำนักข่าวไทยพีบีเอสว่า มีการนำเสนอข่าวผิดพลาดอย่างน้อย 2 ครั้ง

1.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นำเสนอข่าวชาวอินเดียเช่าเครื่องบินเหมาลำมายังประเทศไทยเมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.

2.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค. กรณีข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่เป็นเพียงการคาดการณ์ ผ่านมา ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในระยะเวลาไล่เลี่ยกันอย่างผิดสังเกต แล้วยังมีคนระดับบรรณาธิการมาโพสต์ข้อมูลทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนอีก

ทั้งนี้ในช่วงเวลา 1 เดือน สำนักข่าวไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวผิดถึง 2 ครั้ง และมีพนักงานนำเฟคนิวส์มาเผยแพร่ จนสื่อมวลชนสำนักอื่น นำข้อมูลดังกล่าวไปผลิตซ้ำ รวมแล้วเกิดเฟคนิวส์ที่มีจุดเริ่มต้นจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส 3 ครั้ง จนทำให้ประชาชนเกิดความแตกตื่น แม้เป็นสื่อมวลชน หากกระทำผิดก็ไม่ละเว้น ยิ่งต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะสื่อมวลชนควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่สูงกว่าคนทั่วไป ต้องมีภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า และเป็นผู้เสริมภูมิคุ้มกันในการเสพข่าวทางสังคมออนไลน์ให้กับประชาชน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วต้องมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนการนำเสนอ ไม่ควรปล่อยให้มีการออกข่าวผิดพลาด และบ่อยครั้ง จนมีคำถามถึงเจตนาที่แท้จริงของสำนักงานแห่งนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อสาธารณะแห่งนี้

“แม้ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยพีบีเอส จะออกมาขอโทษที่นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน แต่ได้สร้างความสับสน และสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย ผมจึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะการกระทำผิด 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน เป็นวิสัยที่ผิดปกติ และผมเกรงว่าหากไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายจะมีการกระทำผิดครั้งต่อไปเกิดขึ้นอีก” นายชัยวุฒิ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม แจ้งข่าวดี ครม. เคาะแล้วโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพิ่มเงินค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 คาดจ่ายเงินช่วยเหลือได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีนโยบายช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดง กว่า 200,000 ราย คาดว่าจะพร้อมเงินช่วยเหลือภายในเดือนมิถุนายน 2564

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาดำเนินการ ซึ่งทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า ตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวปิดท้ายว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top