Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

กัปตันนกแอร์ 20 ชีวิต ร้อง รมว.แรงงาน ช่วย หลังถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้เวลา 15.00 น.สมาคมฯจะเดินทางไปกระทรวงแรงงาน ดินแดง เพื่อนำนักบินหรือกัปตันของสายการบินนกแอร์ประมาณ 20 คน เข้าพบนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนกรณีบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน)มีคำสั่งเลิกจ้างกลุ่มพนักงานการบินเป็นจำนวนมาก โดยยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยจริงตามกฎหมาย

เมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ได้มีหนังสือเลิกจ้างมายังกลุ่มพนักงานที่เป็นนักบินหรือกัปตันเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่าบริษัทประสบปัญหาด้านการเงิน และขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินจนเป็นเหตุให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัทจะต้องปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องควบรวมฝ่ายงาน หรือยุบโครงสร้างบางฝ่ายงาน ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อนักบินเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้นักบินหลักและนักบินผู้ช่วยทั้งหมดกว่า 20 คนได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.64 ที่ผ่านมา โดยบริษัทสายการบินนกแอร์อ้างว่าจะจ่ายเงินชดเชย และเงินอื่นๆตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมภายใต้กระบวนการของการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายต่อไปได้เสียก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงานของบริษัทที่ถูกเลิกจ้าง เพราะตามหลักกฎหมายเมื่อบริษัทมีหนังสือเลิกจ้างแล้วมีผลวันใดบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินอื่นๆตามกฎหมายทันที ไม่ใช่ให้รอฟ้ารอฝนโดยไม่รู้ว่าจะได้รับเงินเมื่อไร

ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้เรียกนักบินหรือกัปตันไปเซ็นต์ชื่อแกมบังคับเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาครึ่งหนึ่งประมาณ 2-3 ครั้งเพื่อให้ฐานเงินเดือนต่ำที่สุด ก่อนบอกเลิกจ้าง หากใครไม่ยอมเซ็นต์ก็จะถูกเลิกจ้างโดยทันที ทำให้นักบินส่วนใหญ่จำต้องเซ็นต์ชื่อให้เพราะกลัวตกงาน แต่ทางบริษัทกลับไม่ให้สำเนาหนังสือดังกล่าวให้พนักงานเก็บไว้คนละชุด และไม่มีการกรอกข้อความใดๆในหนังสือดังกล่าว ซึ่งบริษัทจะนำกลับไปกรอกข้อความอย่างไรก็ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 การใช้เทคนิคการเซ็นต์สัญญาเพื่อขอลดค่าจ้างลงมาจนถึงฐานเงินเดือนต่ำสุดก่อนบอกเลิกจ้าง จึงอาจเป็น “โมฆะ”ได้

นักบินหรือกัปตันของนกแอร์กว่า 20 คนจึงมาร้องขอความช่วยเหลือจากสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เพื่อขอให้ช่วยนำพาไปร้องเรียน รมว.กระทรวงแรงงาน เพื่อขอสั่งการช่วยให้ความเป็นธรรม และดำเนินการทางกฎหมายขั้นสูงสุดต่อบริษัทดังกล่าว

จับตา ครม. จ่อเคาะมาตรการเยียวยาประชาชน อัดงบ 85,500 ล้านบาท เข้าระบบ ด้านกระทรวงการคลังเตรียมเสนอแผนฟื้นฟูการบินไทยเข้าพิจารณา เพิ่มทุน 50,000 ล้านบาท ดันหวนรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ให้คลังค้ำประกันเงินกู้

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference ตามมาตราการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด -19

โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” พร้อมรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

ส่วนวาระการประชุมที่น่าสนใจในวันนี้คาดการณ์ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เมษายน โดยการเพิ่มเงินคนละ 2,000 บาท ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการเราชนะ 32.9 ล้านคน และโครงการม.33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 85,500 ล้านบาท โดยหากครม.ผ่านการเห็นชอบก็จะเริ่มเติมเงินได้ตั้งแต่เดือนวันที่ 20 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ๆ ละ 1,000 บาทสำหรับโครงการเราชนะ สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โอนงวดแรก 1,000 บาท วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 โครงการเราชนะ

สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบางผู้ใช้บัตรประชาชน โอนงวดแรก 1,000 บาท วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 โอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ขณะที่โครงการ ม.33 เรารักกัน โอนงวดแรก 1,000 บาท วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 โอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และเก็บไว้ใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะนำเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเข้าหารือในที่ประชุม คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติก่อนนัดประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เพื่อโหวตแผนในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ คือ การพิจารณาเพิ่มทุนให้การบินไทยซึ่งตามแผนระบุไว้ 50,000 ล้านบาท และการพิจารณานำการบินไทยกลับเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันเงินกู้หรือเพิ่มทุนได้ โดยไม่ต้องมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรี จะมีมติออกมาเพื่อให้สามารถโหวตผ่านแผนฯ ไปได้ เพื่อนำการบินไทยเดินหน้าฟื้นฟูกิจการต่อไป

เปิดวาระ ครม. คลังชงเพิ่มเงิน “เราชนะ - ม33” อีก 2,000 บาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย.64 ผ่านโครงการเราชนะ และ ม 33 เรารักกัน โดยเพิ่มเงินให้คนละ 2,000 บาท ซึ่งจะใช้วงเงินกู้ 85,500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการเราชนะ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง จะเริ่มโอนเงินให้งวดแรก 1,000 บาท วันที่ 20 พ.ค.64 และโอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 27 พ.ค.64 ขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการเราชนะ หลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบางผู้ใช้บัตรประชาชนในการใช้จ่าย เริ่มโอนงวดแรก 1,000 บาท วันที่ 21 พ.ค.64 และโอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 28 พ.ค.64 ขณะที่โครงการ ม.33 เรารักกัน โอนงวดแรก 1,000 บาท วันที่ 24 พ.ค.64 โอนงวดสอง 1,000 บาท วันที่ 31 พ.ค.64 โดยทั้ง 2 โครงการกำหนดใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64

ส่วนวาระอื่น ๆ กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และยังนำเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเข้าหารือ เพื่อหาข้อยุติก่อนนัดประชุมเจ้าหนี้ 13,133 ราย เพื่อโหวตแผนในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ขณะที่สำนักงบประมาณ เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท และประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.5%

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 และกระทรวงเกษตรฯ เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน รวม 2 ฉบับ และเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานคลองระบายน้ำมูโนะเป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน พ.ศ. ...

‘โฆษกพปชร.’เผย เตรียมถกวิป 4 ฝ่าย 14 พ.ค.นี้ วางแนวทางก่อนเปิดประชุมสภาฯช่วงโควิด-19ระบาด ชี้ มีร่างพ.ร.บ.งบ ฯปี 65 รอพิจารณา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564vน.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ในวันศุกร์ ที่ 14 พ.ค.เวลา 11.00 น. วิป 4 ฝ่าย ทั้งจากวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน ส.ว. และครม. จะประชุมเพื่อหารือแนวทางการเปิดประชุมสภา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ที่ต้องเร่งพิจารณา โดยเฉพาะจะมีการพิจารณาร่างพระราชกำหนดของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ก่อน 2ฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่รอการพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
 

10 บ.ประกันชีวิต ผนึกกำลังแจกประกันโควิดฟรี คุ้มครองชีวิตบุคลากรทางการแพทย์กว่า 2.7 แสนราย

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ที่กระจายไปในหลายคลัสเตอร์ ทำให้มีประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในการรับมือและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ต่อกรณีดังกล่าว

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทย ในฐานะองค์กรกลางของธุรกิจประกันชีวิตทั้ง 22 บริษัท ได้ตระหนักถึงความเสียสละและความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น ภาคธุรกิจประกันชีวิตจึงได้ดำเนินโครงการ “ประกันภัย COVID-19 คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์”

โครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำแผนความคุ้มครองประกันชีวิตกลุ่มให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 270,000 ราย ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ โภชนากร นักกิจกรรมบำบัด เจ้าพนักงานอาชีวบำบัด นักจิตวิทยา นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและบุคลากรที่จำเป็นในโรงพยาบาล

โดยจะมอบความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยทุนประกันภัย 1,000,000 บาทต่อคน มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 พฤษภาคม-8 กรกฎาคม พ.ศ.2564

สำหรับ บริษัทภาคีสมาชิกที่เข้าร่วมรับประกันภัยจากโครงการนี้ จำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เอไอเอ จำกัด และ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

นายสาระ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามตัวแทนของภาคธุรกิจประกันชีวิตขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วนที่ได้ทุ่มเทและเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อสู้ภัยโควิด จึงขอเป็นกำลังหนุน พร้อมส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตแทนความห่วงใยไปยังบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่เป็นด่านหน้าเพื่อให้ท่านสามารถพาคนไทยฝ่าวิกฤติโควิดนี้ไปได้ในที่สุด

“บิ๊กตู่” ย้ายถก ครม.ขึ้นตึกไทยหวั่นโควิดลาม – มอบเงินช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองจนท.ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังกระทรวงต่างๆ โดยเปลี่ยนสถานที่จากเดิมที่ใช้ตึกภักดีบดินทร์ เพื่อลดจำนวนคนที่เข้าร่วมประชุมให้เฉพาะเท่าที่จำเป็นตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ เนื่องจากพบบุคลากรที่ปฎิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลหลายรายติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้

โดยก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีในการมอบเงินช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 24 ราย จากเงินบริจาค บัญชี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนรับมอบ ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุชา  นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าร่วมด้วย พร้อมรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 

นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า จะให้การดูแลบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะไม่ต้องการให้ใครต้องติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งสิ้น  พร้อมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ รัฐบาลและ ศบค. ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอความร่วมมือประชาชนดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับการมอบเงินช่วยเหลือดังกล่าวสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่ปฏิบัติงาน ด้าน COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน ได้แก่ การช่วยเหลือกรณีป่วยหรือบาดเจ็บ และได้รับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน การช่วยเหลือกรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส และการช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตของทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุน การปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ผ่านบัญชี “สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ร่วมบริจาคเงินเป็นทุนประเดิม จำนวน 2,995,510 บาท รวมทั้งมีหน่วยงานภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตสาธารณะร่วมบริจาคเงินสมทบในบัญชีดังกล่าว โดยมียอดเงินบริจาค ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 จำนวน 28,327,896.82 บาท ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารจัดการเงินบริจาคฯ ได้อนุมัติการให้ความช่วยเหลือเพื่อเป็นกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สนับสนุนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 แล้ว รวมทั้งสิ้น 102 ราย เป็นเงินจำนวน 3,800,000 บาท

สำหรับการระบาดระลอกปัจจุบัน รัฐยาลได้ให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม จำนวน 24 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 730,000 บาท ประกอบด้วย 1. บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สนับสนุน สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 21 ราย มอบเงินช่วยเหลือ รายละ 30,000 บาท จำนวนเงินทั้งสิ้น 630,000 บาท 2. เจ้าหน้าที่สนับสนุนทั้งด้านสาธารณสุข สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 3  ราย เป็นเงิน 100,000 บาท  ประกอบด้วย 1) กรณีบาดเจ็บ (ผู้ป่วยใน) จำนวน 2 ราย มอบเงินช่วยเหลือรายละ 30,000 บาท และ 2) กรณีบาดเจ็บสาหัส 1 ราย มอบเงินช่วยเหลือรายละ 40,000 บาท

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ห้ามชาวมาเลย์เดินทางระหว่างรัฐ และภายในรัฐ หวังสกัดโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาที่ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินแห่งมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.-7 มิ.ย 64 เพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังพบการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ 'สายพันธุ์แอฟริกา' ในประเทศมาเลเซีย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางระหว่างรัฐ รวมทั้งการเดินทางข้ามพื้นที่ภายในรัฐ ตลอดจนยังห้ามประชาชนมีกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกัน รวมถึงยังมีคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ทว่าในส่วนของธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าต่าง ๆ ยังคงอนุญาตให้เปิดทำการได้ต่อไป

'มาเลเซียกำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิดระลอกที่สาม ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติในประเทศ' นายกรัฐมนตรียัสซินออกแถลงการณ์ พร้อมระบุว่า การประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เพื่อหวังสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น จนทำให้มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันที่ 9 พ.ค. 3,733 ราย และเสียชีวิตอีก 26 ศพ หลังจากวันที่ 8 พ.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,519 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 25 ศพ ทำให้ยอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิดในมาเลเซียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 444,484 ราย และเสียชีวิต 1,700 ศพแล้ว


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2088698

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เผยนำเข้าวัคซีนโควิดยี่ห้อดัง เจอบวกภาษี 2 เด้ง พร้อมถก 'องค์การเภสัชฯ' คิดค่าบริหาร 10% เพิ่ม

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 โดยตอบคำถามกรณีกระแสประชาชนกลัววัคซีนซิโนแวคว่า... 

ความจริงแล้ววัคซีนทุกตัวช่วยลดความรุนแรงของโรค ไม่ต้องเข้า ICU แต่ประสิทธิภาพ อาจจะ 50% 80% หรือ 90% ขึ้นอยู่คนทดลองและระยะเวลา และเชื้อไวรัสโควิด

ซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุด เพราะทำจากเชื้อตาย ถ้าเทียบกันจะเกิดอาการแพ้น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เท่า อาจจะเจ็บแขน ปวดเมื่อย ใช้เวลา 1-2 วันก็หาย แต่ที่คนไทยกลัวข่าวว่าฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์นั้น จากผลเอ็กซ์ตรวจทุกอย่างยังไม่พบอะไร ดังนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงแล้วว่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

นายแพทย์บุญ วนาสิน ย้ำว่าเราไม่มีทางเลือก ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้ามีเหลือจากทั่วโลก แต่ถ้าเราไม่ฉีดคนป่วยจะล้นโรงพยาบาล ห้อง ICU มีไม่เพียงพอ

ส่วนกรณีวัคซีนทางเลือก จะโนวาแวกซ์และโมเดอร์นานั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เจรจาซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ ซึ่งโมเดอร์นาจะได้รับจดทะเบียนให้เรียบร้อยใน 2 สัปดาห์นี้ แต่ติดที่ไทม์ไลน์ส่งวัคซีน ว่าอย่างน้อย 4 เดือน 

"เรากำลังให้พรรคพวกที่สหรัฐอเมริกา ไปพูดกับประธานาธิบดีไบเดน ว่า ขอได้มั้ยเพราะของคุณมันเกินพอแล้ว ควรจะรีบส่งมาให้ประเทศเราบ้าง"

นายแพทย์บุญ วนาสิน ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ผลิตในหลายประเทศ อาจจะส่งให้เราก่อนได้ 10-20 ล้านโดส

"ต้องเรียนนะครับ เราต้องเสียภาษี 2 ครั้ง 14%  และ ทางองค์การเภสัชฯ จะชาร์จค่า Management 5% ถึง 10% ตัวเลขต้นทุนอาจเลย 2 พันกว่าบาท"

อย่างกรณีโมเดอร์นา ที่นำเข้ามา ทางองค์การเภสัชฯ จะซื้อก่อน และทุกคนจะต้องไปซื้อกับองค์การเภสัชฯ หมด ซึ่งคิดค่าบริหาร 10% แต่เป็นค่าอะไรยังไม่ทราบ กำลังคุยกันอยู่

วัคซีนอันนี้ระบุเป็นวัคซีนฉุกเฉิน ติดนั่นติดนี่ ติดเรื่องนี้มา 7 เดือนแล้ว นำเข้ามาไม่ได้ เคยคุยกับอังกฤษ จีน สหรัฐฯ บอกว่า ถ้าเราหลับตาข้างหนึ่งเซ็นรับรองนำเข้า เขาให้นำเข้ามา แต่ผมได้รับตอบจดหมายจากท่านรัฐมนตรีว่า ทำไม่ได้ รัฐบาลจะมาค้ำประกันหรือเซ็นรับรองให้เอกชนไม่ได้ ก็ติดกันมา 7 เดือน แต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรีลงมาสั่งเอง ก็โอเคแล้ว


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937226

‘ปลัดสปน.’ เผย ช่องทาง 1111 ให้ปชช.แจ้งเบาะแสะทำผิดกฎหมาย-รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด กว่า1แสนเรื่อง พบ แจ้งข้อมูลบ่อนพนันสูงสุด

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่านศบค. และนายกรัฐมนตรี หากพบการกระทำความผิด หรือปล่อยปละละเลยการกระทำผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน ค้าประเวณีและการลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ผ่าน 1111 ใน 5 ช่องทาง คือ สายด่วนของรัฐบาล โทร. 1111 ทุกวันตลอด 24 ชม. ส่งจดหมายมาที่ ตู้ ปณ.1111 ทำเนียบรัฐบาล ทุกวันตลอด 24 ชม. ผ่านเว็บไซต์ www.1111.go.th ทุกวันตลอด 24 ชม. ผ่าน Mobile Application (PSC 1111) ทุกวันตลอด 24 ชม.และผ่านจุดบริการประชาชน 1111 อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ในวันและเวลาราชการ ซึ่งปัจจุบัน ปิดรับเรื่องจากประชาชนที่เดินทางมาเองไว้ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะกลับมาเป็นปกติ

จากการประมวลผลการรับเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนแจ้งข้อมูลและเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียน ระหว่างวันที่ 7 ม.ค.-30 เม.ยที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนแจ้งเบาะแส ร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งสิ้น จำนวน 172,648 เรื่อง แบ่งเป็นแยกเป็น

1.) แจ้งเบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย จำนวน 45 เรื่อง สามารถยุติเรื่องแล้ว 36 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80 แบ่งเป็น เรื่องที่พบการกระทำผิด 7 เรื่อง ไม่พบการกระทำผิด 29 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 9 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20

2.) แจ้งเบาะแสบ่อนการพนัน จำนวน 480 เรื่อง สามารถยุติเรื่องได้แล้ว 286 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 59.58 แบ่งเป็น เรื่องที่พบการกระทำผิด 29 เรื่อง ไม่พบการกระทำผิด 257 เรื่อง และมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 194 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40.42

3.) แจ้งเบาะแสการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ จำนวน 270 เรื่อง สามารถยุติเรื่องแล้ว 144 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 53.33 โดยแบ่งเป็น เรื่องที่พบการกระทำผิด 33 เรื่อง ไม่พบการกระทำผิด 111 เรื่อง และมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 126 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 46.67

นอกจากนี้เป็นร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโควิด-19 จำนวน 171,853 เรื่อง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้ข้อยุติแล้ว 171,288 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.67
 
นายธีรภัทร กล่าวว่า ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ จึงขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นการลักลอบเข้าเมือง หรือเหตุการณ์ที่จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดขอให้แจ้งมายังช่องทาง “1111” ดังกล่าว ได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อช่วยกันลดการแพร่ระบาดและจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วน งดหรือลดการเดินทาง ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ลงทะเบียนฉีดวัคซีน และป้องกันตนเองไม่เดินทางไปในสถานที่เสี่ยงด้วย

รัฐบาล เตรียมฉีดวัคซีน กลุ่มแรงงาน 16 ล้านคน ด้าน กทม.เร่ง ฉีดอาชีพเสี่ยง ตั้งเป้าวันละ 80,000 คน 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่มประชากรวัยแรงงานระบบประกันสังคม รวม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีสํานักงานประกันสังคม และจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุข และเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงและประชาชนทุกคนให้มากที่สุด เพื่อเร่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการฉีดสะสมแล้ว 1,809,894 โดส ในพื้นที่กทม. ฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 315,504 โดส 

สำหรับในพื้นที่กทม.จัดสถานที่ 25 แห่ง โดยจะเปิดครบทั้งหมดในวันที่ 2 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ 50,000 คน เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ คนขับเรือ ครู ผู้ขับขี่รถสาธารณะ พนักงานเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันยังให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 ในโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. อีก 126 แห่ง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าวันละ 30,000 คน รวมแล้วจะฉีดให้ได้วันละ 80,000 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top