Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

'ผู้นำคนพิการภาคตะวันออก'​ ใจถึง-พึ่งได้ ลงพื้นที่ มอบถุงยังชีพ สร้างขวัญกำลังใจให้กับคนพิการ และหน่วยงานของรัฐ

นายณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก และผู้นำคนพิการด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ระดับชาติ เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆในจังหวัดชลบุรี และ เขตภาคตะวันออก เพื่อมอบถุงยังชีพให้กับ คนพิการ /องค์กรคนพิการ /ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ จำนวนกว่า 500 ถุง เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจ ในช่วงที่สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิค 19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแพร่ระบาดรอบ 3 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมถึงคนพิการ และครอบครัวคนพิการเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ นายณรงค์​ ยังได้กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรม "มอบถุงยังชีพ" นี้ ว่า อยากจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือภาครัฐที่ได้ทำงานอย่างหนัก ในการดูแลคุณภาพด้านสาธารณสุขของประชาชน และยังคงต้องดูแลในเรื่องของการประกอบอาชีพของประชาชน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก

แม้เราจะเป็นเพียง "คนพิการ" แต่เราก็อยากจะร่วมกับรัฐบาลในการสร้างคุณงามความดี ตอบแทนพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ ตามกำลังที่ทางสมาคมฯ พอจะช่วยเหลือได้ในยามที่คนไทยตกทุกข์ได้ยาก

ห้วงเวลานี้​ เราทุกคนควรจะจับมือกันและก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์อันเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน ด้วยการลงมือทำแบบ​ ​'คนละไม้_คนละมือ'​

ระวังเสียตังฟรี! โฆษกรัฐบาล แนะประชาชน ตรวจสอบข้อมูล ก่อนบินเข้าประเทศสมาชิกอียู - สหรัฐฯ หวังได้ฉีดวัคซีน ชี้ ข้อปฏิบัติแต่ละประเทศต่างกัน 

เมื่อวันที่9 พ.ค.นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป (อียู)ที่ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว ว่า ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง โดยมี 13 ประเทศสมาชิกที่สามารถเดินทางจากประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ 

ขณะที่ อีก 14 ประเทศที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามที่ประเทศปลายทางกำหนด ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส ผู้ที่จะเดินทางต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทางและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ อียูยังไม่ได้กำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือฉีดวัคซีนประเภทใดมาเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้าเขต โดยอยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอกอียู หากพิจารณาแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิกจะนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าต่อไป ดังนั้นขอให้ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิกจากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป (https://reopen.europa.eu)

นายอนุชา กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวการเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติในมลรัฐต่างๆ พบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงจะพิจารณาหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้ ซึ่งแต่ละมลรัฐ มีนโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยภาพรวมจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีถิ่นพำนัก ทำงาน หรือศึกษาในมลรัฐนั้น แต่บางมลรัฐได้จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนักและไม่ได้ทำงานหรือศึกษาในมลรัฐนั้น โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกเว้นมลรัฐอะแลสกาที่มีนโยบายชัดเจนว่า ตั้งแต่วันที่1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนได้  

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทฯผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ และหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีราคาสูงอีกด้วย จึงขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐฯเพื่อฉีดวัคซีน โปรดศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ อาทิ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงนโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ มาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย

นอกจากนั้น ผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศต้องตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการทางด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศ มีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไป จึงควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด ทั้งการตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนดก่อนเดินทาง เอกสารรับรองผลตรวจเชื้อ เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การกักตัว ในที่พักอาศัย การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

‘ธันวา’ ยกเคส ได้เตียงแต่ไม่มีหมอ รอนาน 5 วันจนเสียชีวิต เหตุย้ายผู้ป่วยโควิดข้ามจังหวัดไม่ได้ วอนเร่งปรับเกณฑ์การส่งตัวผู้ป่วยโควิด ย้ำ ต้องพูดความจริง จะได้แก้ปัญหาตรงจุด 

นายธันวา ไกรฤกษ์ โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโควิดรอเตียงจนเสียชีวิตว่า ไม่ใช่รายแรก ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตหลังจากเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยตั้งแต่วันแรกทางโรงพยาบาลแจ้งว่าไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินหายใจ จึงขอทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่น และพยายามโทรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตกรุงเทพหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่านโยบายการรีเฟอร์นั้นจำกัดอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพด้วยกัน รวมถึงกรณีผู้ป่วยใหม่รอเตียง อยู่จังหวัดไหนก็ให้รอเฉพาะในจังหวัดนั้น กลายเป็นรอจนแพร่เชื้อสู่บุคคลในครอบครัวไปอีก 

“ตรงนี้แหละครับที่ผมไม่เข้าใจ ว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ผ่อนคลายกฎดังกล่าว ทั้งที่รู้ว่าโรงพยาบาลในเขตพื้นที่สีแดงเข้มรองรับไม่ได้แล้ว เพราะมีทั้งข้อจำกัดทางด้านเตียง อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ จนถึงวันที่เสียชีวิตเป็นเวลากว่า 5 วัน ที่ผู้ป่วยรายนี้ต้องรอการส่งตัว เพื่อให้ได้เข้าถึงแพทย์ผู้ที่มีองค์ความรู้เหมาะสมต่อการรักษา ทั้งที่ขับรถไปไม่ถึงชั่วโมงก็เข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือจังหวัดอื่นใกล้เคียงที่ยังพอมีศักยภาพในการรองรับแล้ว เช่น ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ซึ่งเดินทางเพียง 2-3 ชั่วโมง ยังดีกว่าให้ผู้ป่วยรอจนอาการวิกฤต” นายธันวา กล่าว 

โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า ไม่มีเจตนาจะโทษโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ใดๆ เลย เพราะทุกคนทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถและดีมากๆแล้ว แต่โทษผู้รับผิดชอบทางนโยบาย อยากให้รับฟังเสียงประชาชนบ้าง ซึ่งข้อเสนอนี้หากทำได้หรือไม่ได้อย่างไรก็ว่ามา ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหามันวนซ้ำเดิมบ่อยๆ เพราะมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะข้อจำกัดนี้ไปแล้วหลายราย

คนละไม้_คนละมือ’ ‘โอวาทเมด’ เดินหน้าโครงการ CSR ต่อเนื่อง พ่นยาฆ่าเชื้อไวรัส Coronavirus (Covid-19) ให้กับทาง ‘มูลนิธิออทิสติกไทย’ 

นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล (ผู้ปกครองคนพิการ)ใจบุญ  และ ‘โอวาทเมด’ ร่วมกัน คนละไม้_คนละมือ ‘พ่นฆ่าเชื้อโควิด-19’  ให้เด็กออทิสติกปลอดภัย ฟรี!!!!

พื้นที่ประมาณ 800 ตารางเมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรม ‘CSR’ ที่เป็นสาธารณกุศล อีกหนึ่งรูปแบบ เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัส Coronavirus (Covid-19) ให้กับทาง ‘มูลนิธิออทิสติกไทย’ 

โดยทาง ‘โอวาทเมด’ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น ‘Food Grade’ ช่วยลดความเสี่ยง ในการที่จะมีเชื้อไวรัส หรือ เชื้อโรคอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

อีกทั้ง ‘โอวาทเมด’ ยังมีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของประชาชน ช่วงสถานการณ์โควิด _19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากในขณะนี้ ต่อพี่น้องประชาชน บุคคลทั่วไป คนพิการ และ ผู้ด้อยโอกาส จึงจัดกิจกรรม ‘พ่นฆ่าเชื่อโรค’ ดังกล่าว เพื่อเป็นกุศล

ทั้งนี้ หากประชาชน หรือ บริษัท ห้าง ร้าน สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน ที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท สามารถติดต่อสอบถาม สำนักงาน ‘โอวาทเมด’ ได้ 

หวั่นก่อการร้าย!! ศุลกากรเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถจักรยานยนต์จากไทยแล้ว หลังเกรงผู้ก่อความไม่สงบ นำไปสร้างสถานการณ์

เพจ LOOK Myanmar ได้โพสต์ข้อชี้แจ้งข้อมูลหลังจากล่าสุดศุลกากรเมียนมา ได้ประกาศห้ามนำเข้ารถจักรยานยนตร์จากไทยแล้วว่า... 

1. ประกาศดังกล่าว เป็นบังคับการนำเข้าจักรยานยนต์จากทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย

2. ตอบคำถามที่สงสัย มีความเห็นจากผู้รู้บอกว่า การก่อการในเมืองใหญ่ที่สร้างความปั่นป่วนในขณะนี้ ผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้พาหนะเป็นจักรยานยนต์ จึงเป็นเหตุให้มีการสั่งห้ามนำเข้าจักรยานยนตร์ใหม่ๆ เข้ามา แต่อาจต้องดูว่าจักรยานยนตร์เหล่านี้ จะรวมถึงจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ความเร็วไม่สูงเท่าแบบใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหรือไม่ด้วยอีกที

3. ประกาศยกเลิกนี้นำเข้านี้ เป็นประกาศชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศใหม่เปลี่ยนแปลง

ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3942214699179991&id=621374414597386

สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่น อยู่ที่ 7,246 คน มากที่สุดนับจากวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่น อยู่ที่ 7,246 คน มากที่สุดนับจากวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่การระบาดระลอกที่ 4 เริ่มลุกลามไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือได้ผ่อนคลายมาตรการลงบางส่วน

นั่นจึงทำให้ทางรัฐบาล ที่เคยประกาศสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉินรอบ 3 ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ต้องขยายประกาศออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งครอบคลุม 15 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด หลังมียอดผู้ติดเชื้อใหม่มากเป็นประวัติการณ์ เช่น ไอจิ, ฟุกุโอกะ, ฮอกไกโด ที่มีผู้ติดเชื้อ 575, 519 และ 403 คน ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวญี่ปุ่นบางคนไม่คิดว่าการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยอะไรได้ เพราะยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น แถมยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสเป็นแบบสายพันธุ์ใหม่อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัย แต่กลับกันผู้คนยังคงเดินทางและใช้ชีวิตไปกับสถานการณ์การระบาดแบบเคยชิน จนไม่รู้สึกว่าเป็นวิกฤติอีกต่อไป


ที่มา: https://www.naewna.com/inter/571787

ครั้งแรก! ประเทศไทยออกมาตรฐานเรือนำเที่ยว

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการท่องเที่ยวได้ออกมาตรฐานเรือรับจ้างนำเที่ยวเป็นครั้งแรก ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย (ไทยแลนด์ ทัวร์ริซึม สแตนดาร์ด) เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว โดยเรือรับจ้างนำเที่ยวที่ได้รับรองมาตรฐานเรือรับจ้างนำเที่ยว ถือว่ามีความพร้อมในการให้บริการ ทั้งในด้านสภาพทางกายภาพ ด้านบุคลากร ด้านคุณภาพการให้บริการ ด้านความเป็นธรรม ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านมาตรการเกี่ยวกับเรือ และด้านมาตรการเกี่ยวกับแผนหรือกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในการเข้ารับบริการยิ่งขึ้น

สำหรับการกำหนดมาตรฐานเรือรับจ้างนำเที่ยว นั้น กรมการท่องเที่ยว กำหนดว่า ต้องเป็นเรือบรรทุกผู้โดยสารครอบคลุมทั้งที่แล่นอยู่ในลำน้ำหรือทะเล มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ เรือกลลำน้ำ เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต เละเรือโดยสารประเภทอื่น ๆ ที่ได้รับการจดทะเบียนให้บรรทุกคนโดยสาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการนำเที่ยว ซึ่งตามมาตรฐานนี้แบ่งเป็น 3 ขนาด ตามจำนวนการบรรทุกผู้โดยสาร คือ เรือขนาดเล็ก บรรทุกไม่เกิน 15 คน, เรือขนาดกลาง บรรทุกไม่เกิน 16-70 คน และเรือขนาดใหญ่ บรรทุกไม่เกิน 71 -150 คน 

พร้อมทั้งกำหนดรายละเอียดด้านต่าง ๆ คือ ด้านกายภาพ เรือมีใบอนุญาตตามกฎหมาย ทางขึ้น-ลงสะดวก มีป้ายเลขทะเบียน ระบุจำนวนผู้โดยสาร ป้ายแนะนำการปฏิบัติตนขณะโดยสารและเกิดเหตุฉุกเฉินชัดเจน มีพื้นที่เก็บสัมภาระเพียงพอ สะดวก มีห้องน้ำ ห้องส้วม ถูกสุขลักษณะ มีอุปกรณ์สื่อสาร ติดตั้งโคมไฟเดินเรือ หรืออื่น ๆ มีระบบระบายอากาศ เก็บเชื้อเพลิงเหมาะสมปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีชูชีพพร้อมใช้งาน เบาะนั่งครบตามจำนวนผู้โดยสาร วางในจุดที่เหมาะสม มีน้ำยาดับเพลิง มียาสามัญประจำบ้าน ชุดปฐมพยาบาล และมีน้ำดื่มสะอาดสำรอง 

‘หมอยง’ ชี้ ฉีดวัคซีนไม่เพียงป้องกันตัวเราไม่ให้ป่วยรุนแรง แต่ยังป้องกันคนรอบข้าง ระบุ วัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ วัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด เชื่อปีหน้ามีวัคซีนมากพอให้เลือกได้หลายยี่ห้อ

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุข้อความว่า

วัคซีน covid-19 การป้องกันไม่เฉพาะแค่ตัวเรา

การฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 นอกจากจะป้องกันตัวเรา ไม่ให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ในขณะเดียวกันก็พบว่าโอกาสติดเชื้อของเราก็น้อยลง ถึงแม้ว่าจะป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อันจะเป็นการป้องกันเขาด้วย โดยเฉพาะป้องกันบุคคลในบ้าน ที่ไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน หรือคนที่เรารัก ไม่ให้ป่วยหรือติดเชื้อได้

ถ้าทุกคนได้รับวัคซีน ก็จะเป็นการป้องกันเขาป้องกันเรา และในที่สุด โรคโควิด 19 ก็จะอยู่ในความควบคุม ไม่ให้มีการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น

การให้วัคซีนในคนหมู่มากเห็นได้ชัดในประเทศอังกฤษ ที่ให้วัคซีนไปแล้วร่วม 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ที่ได้รับอย่างน้อย 1 เข็ม อังกฤษจากที่เคยมีผู้ป่วยเป็นหมื่นต่อวัน และมีการเสียชีวิตเป็นหลักร้อยหลักพันต่อวัน แต่ขณะนี้ เหลือผู้ป่วยเป็นตัวเลขที่เท่ากับหรือน้อยกว่าประเทศไทย และที่สำคัญอัตราตายไปประเทศอังกฤษเหลือหลักหน่วย หรือหลักสิบต้น ๆ เช่นวันที่ 9 พฤษภาคม มีการเสียชีวิตเพียง 2 คนเท่านั้น น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก ส่วนในฝรั่งเศส มัวแต่พะวงเรื่องอาการข้างเคียง และการได้รับวัคซีนน้อยกว่าประเทศอังกฤษมากกว่าครึ่ง ทำให้ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และมีการเสียชีวิตเป็นหลักหลายร้อยคนต่อวัน ทั้งที่วัคซีนในประเทศก็ไม่ได้ขาดแคลนแบบบ้านเรา

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะต้องได้รับวัคซีนหมู่มากให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียทางด้านสุขภาพ ร่างกาย เศรษฐกิจและสังคม ให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของทุกคน ตัวเราและส่วนรวม และประเทศชาติ

วัคซีนที่ดีที่สุดขณะนี้ คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด

ในปีหน้า ใครต้องการกระตุ้น วัคซีนยี่ห้ออะไร เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าวัคซีนจะมีจำนวนมากขึ้นและเพียงพอ


ที่มา : https://www.facebook.com/yong.poovorawan

จับรายวัน! “กองกำลังสุรสีห์ จับกุมเเรงงานต่างด้าว 24 คน  ชายเเดนประจวบคีรีขันธ์ ”

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 กองทัพภาคที่ 1 โดย กองกำลังสุรสีห์ หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการข่าวกองกำลังสุรสีห์, สภ.คลองวาฬ, ร้อย.ตชด.146 เเละฝ่ายปกครอง จัดชุดลาดตระเวน, จรยุทธ์, ซุ่มเฝ้าตรวจ บริเวณช่องทาง เเละบริเวณพื้นที่ตามเเนวชายเเดน เพื่อสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ป้องกันการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ที่กลายพันธ์เข้ามาในประเทศ

โดยเวลา 20.30 น. วันที่ 9 พ.ค. ขณะที่ทางเข้าหน้าที่ฉก.จงอางศึก ออกลาดตระเวน ตามเส้นทางธรรมชาติ ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย จำนวน 24 คน (ชาย 17,หญิง .6,เด็ก 1) บริเวณเส้นทางธรรมชาติช่องทางพุนำ้หยด ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์  ขึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมตรวจค้น และตรวจวัดอุณหภูมิ ตามมาตราการเฝ้าระวัง พร้อมนำตัวทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวนสภ.คลองวาฬ ดำเนินคดีตามกฏหมาย และผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

‘สุริยะ’ สั่ง กนอ.ป้องกันโควิดระบาดในนิคมฯ ด้าน ‘วีริศ’ เผยจับมือ ส.อ.ท. เสนอใช้พื้นที่นิคมฯ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้ประชาชน เตรียมหารือ กกร. ฉีดวัคซีนคนในนิคมฯ ให้ได้โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมตลอดจนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยเพิ่มการเฝ้าระวังและกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของไทย โดยนิคมอุตสาหกรรมถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นแหล่งสร้างรายได้อันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจของไทย และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สินค้าต่าง ๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นมีบุคลากรในโรงงานและเจ้าหน้าที่ของ กนอ. ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคน ที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในจำนวนนี้มีบุคลากรประมาณ 5 แสนคน ที่ยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาทเอง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทราบว่ารัฐบาลได้มีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น กนอ.จะขออาสาทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานเพื่อให้ได้วัคซีนจากภาครัฐมาโดยเร็ว 

ทั้งนี้ กนอ.จะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเร่งหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในทุกช่องทาง ที่สำคัญคือ ได้มีการหารือกับ ส.อ.ท.และเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยได้เสนอให้ใช้พื้นที่ของ กนอ. ที่มีอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโดยศักยภาพของ กนอ. แล้วมีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่และบุคลากร สามารถจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถเตรียมการฉีดวัคซีนได้ทันที

“การได้รับวัคซีนสำหรับคนที่ทำงานในนิคมฯ ต่าง ๆ โดยเร็ว จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากอยากได้วัคซีนไปฉีดให้กับแรงงาน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจะเกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิต จนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้ จึงพร้อมที่จะจ่ายค่าวัคซีนเอง โดยทางผู้ประกอบการได้สอบถามเข้ามาเพราะอยากให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนทางเลือกให้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากบุคลากรในภาคการผลิตมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคลากรในด้านอื่น ๆ ดังนั้น หากมีการร่วมมือร่วมใจให้แรงงานได้รับวัคซีนให้มากที่สุด จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาการระบาดในประเทศและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้” นายวีริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กนอ.ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่า มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือน เม.ย. 64 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 298 ราย หายป่วยแล้ว 12 ราย และยังเหลือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา ทั้งสิ้น 286 ราย ซึ่งทาง กนอ. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดการติดเชื้อภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ ให้ตัวเลขการติดเชื้อเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top