Saturday, 10 May 2025
NewsFeed

รมว.สุชาติ สั่ง ปูพรมตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่แรงงานในโรงงาน 7 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในสถานประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบายตู้ตรวจโรคไปให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ถึงสถานประกอบการ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพิ่มจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผมได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ทราบผลภายใต้ 24 – 48 ชั่วโมง ซึ่งหากตรวจพบเชื้อก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยลูกจ้างในสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

"ผมได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ " นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

กองทัพอากาศจัดเที่ยวบินพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อ COVID-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนและถังบรรจุก๊าซออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์ เพื่อพระราชทานสำหรับช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ณ สาธารณรัฐอินเดีย

กองทัพอากาศได้จัดเที่ยวบินพิเศษเชิญสิ่งของพระราชทานดังกล่าว โดยจัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (A 340-500) จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเชิญเครื่องผลิตออกซิเจนและถังบรรจุก๊าซออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์พระราชทาน ในการช่วยเหลือชาวอินเดียที่ประสบภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไปยังสถานเอกอัครรราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย กำหนดเดินทางในวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เวลา 07.00 น. เดินทางไปกลับในวันเดียวกัน (สำรองวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2564)

พร้อมกันนี้ได้รวบรวมสิ่งของช่วยเหลือชาวอินเดียจาก สมาคมอินเดียในประเทศไทย, หอการค้าไทยอินเดียและสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีอินเดียในประเทศไทย โดยสิ่งของที่ลำเลียงไปช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งหมด ประกอบด้วย เครื่องผลิตออกซิเจน 70 เครื่อง ถังออกซิเจน 300 ถัง และอุปกรณ์ควบคุมปริมาณออกซิเจน 200 ชุด

โดยในการเดินทางกลับจะนำข้าราชการของสถานเอกอัครราชทูตที่ติดเชื้อ COVID-19 กลับมารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย และรับคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยตามที่ได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติและสนับสนุนแพทย์และพยาบาลในการปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย

สปสช.พร้อมเยียวยา! ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิดทุกคน

ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมีอาการไม่พึงประสงค์ แม้จะพบในสัดส่วนที่น้อย รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกกรณี

ล่าสุด บอร์ด สปสช. แจ้งว่าพร้อมช่วยเหลือดูแลคนไทยทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการ และบุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

โดยจะเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้คนไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเขต สปสช. ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาอัตราช่วยเหลือเยียวยาภายใน 5 วัน


ที่มา : https://www.facebook.com/154553218343826/posts/1169099976889140/

พาณิชย์ คุมเดลิเวอรี่ สั่งห้ามขึ้นค่าบริการช่วงโควิด 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว 

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บค่าเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

กรมการค้าภายใน ถกแพลตฟอร์ม ‘เดลิเวอรี่’ ทั้งส่งอาหารและขายสินค้าออนไลน์ ห้ามขึ้นค่าบริการ หวั่นซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชนช่วงไวรัสโควิดระบาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บแค่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯ ได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

‘เขตเศรษฐกิจเชียงของ’ เชื่อมต่อ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว)’ เพิ่มศักยภาพการค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง เป้าหมายสร้างมูลค่าการค้า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงการ โครงสร้างพื้นฐาน และ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการปี 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งร่วมมือกันใน 5 สาขาสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน รัฐบาลได้พัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากร เพื่อช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการโลจิสติกส์ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้

ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ มีเป้าหมาย คือ

1.) เชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce: CBEC)

2.) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียน ผ่านเส้นทาง R3A (ที่เชื่อมระหว่าง จีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญ เช่น อ.เชียงของ บ้านห้วยทราย บ่อเต็น บ่อหาน และคุนหมิง) และเขตการค้าเสรีคุณหมิง และ

3.) ยกระดับการค้าสู่พื้นที่จีนตอนเหนือ และยุโรปในอนาคตต่อไป เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ติดกับ ด่านพรมแดนเชียงของ เพื่อเป็นประตูการค้าที่สำคัญบนแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)

โดยเป็นการพัฒนา สถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) รองรับกิจกรรมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R3A ให้เป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศสู่ภายในประเทศ รวมถึง เพื่อเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางถนนไปสู่ทางรถไฟ ซึ่งโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ระยะที่1 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565

ขณะที่ โครงการระยะที่ 2 ซึ่งครม.เพิ่งเห็นชอบเมื่อ 20 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการสร้างอาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า

ที่จะรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568

สำหรับ การค้าข้ามพรมแดนแม่โขง-ล้านช้าง จะเป็นตลาดสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกทั้งในกลุ่มประเทศสมาชิกและที่จะขยายไปยังจีนตอนเหนือและยุโรปในอนาคต

หากสามารถผลักดัน โครงการเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ เชื่อมต่อกับ เศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น (ลาว) ได้สำเร็จ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการที่จีนกำหนดให้สามารถขอรับสิทธิพิเศษสำหรับ CBEC ได้ (Positive Lists for CBEC) อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอาง ซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ70 ของอัตราภาษีปกติอีกด้วย

ที่มา : https://www.facebook.com/100003657944356/posts/2317383428393566/

โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารคืบหน้า ล่าสุด 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี สระบุรีและกาญจนบุรี พร้อมร่วมโครงการ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผย วันนี้ (7พ.ค.) ว่า การปฏิรูปภาคเกษตรแบบครบวงจรภายใต้ ‘5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ คืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการในหลายจังหวัด ขณะนี้มีจังหวัดเสนอตัวเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นใหม่ได้แก่กาญจนบุรี เพชรบุรี สระบุรี และร้อยเอ็ด

“จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่อำเภอท่ายางและแก่งกระจาน จะพัฒนาเป็นเขตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) จังหวัดกาญจนบุรีที่อำเภอท่าม่วงเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและเอสเอ็มอี มุ่งตลาด 7 ประเทศรอบอ่าวเบงกอล โดยเล็งทวายเป็นท่าเรือส่งออก การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมของทั้ง 2 จังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor) ส่วนสระบุรีจะพัฒนาเป็นซิลิคอนวัลเล่ย์เกษตรอาหารเน้นสตาร์ทอัพที่ spin-off จากผลงานวิจัยและพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC ในโมเดลเดียวกับการพัฒนาซิลิคอนวัลเลย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ล่าสุด นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมหารือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้อง Smart Room ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เข้าร่วมหารือ พร้อมได้ถ่ายทอดสัญญาการประชุมผ่านระบบ zoom meeting ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และมติจากการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (กรกอ.) เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารขึ้นมาโดยจะดําเนินการในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด โดยจะมีการเชื่อมโยงการนํานวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นการพัฒนาเกษตรกรในช่วงต้นทาง เพื่อยกระดับเกษตรกร ให้สามารถป้อนวัตถุดิบ การเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงปลายทาง

โดยจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายในการดำเนินการโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด ของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการหารือถึง แนวทางการจัดทําข้อมูลรายละเอียดศักยภาพของพื้นที่ และสินค้าเป้าหมาย พร้อมทั้งจัดทําแนวทางการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ต่อไป

โดยจะพิจารณาข้อเสนอของทุกจังหวัดที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมบรรจุในวาระการประชุมของอนุกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารก่อนนำเสนอต่อ กรกอ. ในการประชุมเดือนหน้า หากจังหวัดใดสนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถเสนอตัวมาได้ก่อนการประชุมสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ มติที่ประชุม กรกอ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564 ได้เห็นชอบโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ของผลผลิตการเกษตรโดยจะกระจายการลงทุน การสร้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลใหม่ของการพัฒนาประเทศ (New Development Balancing) ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่

1.) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

2.) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0

3.) ยุทธศาสตร์ ‘3’s’ (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน

4.) ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล ‘เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย’ และ

5.) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง!! 'กัญจนา ศิลปอาชา' เดินหน้าช่วยเหลือผู้พิการไทย ควักเงินล้าน​ หนุนผ่าน "องค์การคนพิการระดับชาติ"

'กัญจนา ศิลปอาชา'​ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มอบเงินช่วยเหลือคนพิการไทย ผ่าน 'องค์การคนพิการระดับชาติ'

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม  2564 ณ มูลนิธิออทิสติกไทย คุณกัญจนา ศิลปอาชา (คุณนา) ประธาน 'มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย'​ (มพพท) มอบเงินให้กับ 'มูลนิธิออทิสติกไทย'​ จำนวน 1​ ล้านบาท 'สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย' จำนวน 2 แสนบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท เพื่อดำเนินจัดถุงยังชีพมอบให้แก่คนพิการและครอบครัว โดยมอบหมายให้ 'สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศ' และ 'องค์การคนพิการระดับชาติ' รับหน้าที่ส่งมอบถุงยังชีพให้แก่คนพิการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม และเป็นพื้นที่ควบคุม ในช่วงสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จำนวนรวม 1,500 ชุด 

งานในครั้งนี้​ ได้​ คุณนิกร จำนง กรรมการมูลนิธิฯและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 'พรรคชาติไทยพัฒนา'​ เข้าร่วมเป็นเกียรติมอบเงิน​

รวมไปถึง อ.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยคุณสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย, คุณเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, คุณกิตติพงษ์ หาดทวายกาญจน์ กรรมการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, อ.ปราโมทย์ ธรรมสโรช, คุณกิจจาพร ชื่นบุญ มูลนิธิออทิสติกไทย, คุณธิติวัฒน์ สิทธิพูนปวีร์ ผู้แทนเครือข่าย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย, คุณชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย ที่ได้เข้าร่วมงานการรับบริจาคดังกล่าวด้วย

สำหรับ คุณกัญจนา ถือเป็นผู้ผลักดันและส่งเสริมสิทธิคนพิการมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2538 ในสมัยพรรคชาติไทย ฯพณฯบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 รับผิดชอบงานด้านการศึกษา ได้ริเริ่มนโยบาย 'คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน'​ ต่อมาจนกลายเป็นนโยบาย และสโลแกนระดับประเทศ เกิดการปฎิรูปการจัดการศึกษาคนพิการ มีการจัดสร้างศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับ 'นโยบายเรียนร่วม/เรียนรวม'​ ที่ให้คนพิการสามารถเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไปได้ ทำให้คนพิการจำนวนมากได้เรียนจากหลักปีละหมื่นคน เป็นปีละกว่าสี่แสนคน จนถึงปัจจุบัน

ท้ายนี้ 'ผู้นำคนพิการ' ได้เข้าขอบคุณ คุณกัญจนา  ศิลปอาชา คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ที่มอบโอกาส และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในการช่วยเหลือคนพิการต่อไป

"แม้เงินจำนวนดัวกล่าว อาจจะช่วยเหลือคนพิการ ที่มีมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศไม่ได้ครบทุกคน แต่อย่างน้อย ก็ยังเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใย จากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจ ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม มาร่วมกัน​ 'คนละไม้_คนละมือ'​ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่ สืบไป" กัญจนา​ กล่าว

ทยอยช่วยคนพิการ!! 'ภาครัฐ'​ ผนึก​ 'เอกชน'​ ขับเคลื่อนทีม 'เรามีเรา'​ ส่งมอบของบริจาค​ ช่วยคนพิการช่วงโควิดระบาดหนัก

ณ อาคาร 60 ปี บ้านราชวิถี กรมประชาสงเคราะห์ กรุงเทพมหานคร 'นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ'​ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)​ รับมอบแพมเพิส ถุงอเนกประสงค์ ถุงยังชีพ ข้าวสารและน้ำดื่ม พร้อมเงินบริจาค จากภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์​ (พม.) ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและความยากลำบากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในขณะนี้ 

พร้อมส่งต่อความห่วงใยมอบสิ่งของบริจาคจำนวน 300 ชุด ให้กับองค์กรคนพิการ 7 แห่ง ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ปกครองออทิสซึม (ไทย), สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย, สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย, สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้กับคนพิการที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ต่อไป

นอกจากนี้ ทาง พก. ยังได้จัดให้มีคณะทำงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ชื่อ 'ทีมเรามีเรา'​ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์, นักพัฒนาสังคม และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งเป็นบุคลากรของ พก. จำนวน 15 ทีม เพื่อรับแจ้งเหตุ ประสานส่งต่อ และดำเนินการช่วยเหลือคนพิการที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค โดยประสานงานผ่านศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดทั่วประเทศ 

อธิบดี พก. กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานประกอบด้วย 

1) การเฝ้าระวังและคัดกรองข่าวสารคนพิการที่ต้องการความช่วยเหลือ จากสื่อออนไลน์ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 และสายด่วนคนพิการ รวมทั้งได้รับการประสานงานจากภาคีเครือข่าย  

2) การประสานงาน โดยการประสานข้อมูล (Fact Finding) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น จึงให้ความช่วยเหลือ 

และ 3) การติดตามผลให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ มีการแบ่งคนพิการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่... 

กลุ่มแรก คนพิการที่ติดเชื้อ ช่วยเหลือโดยการประสานหาโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel  

กลุ่มที่ 2 คนพิการที่อยู่ในครอบครัว ที่มีคนติดเชื้อ ช่วยเหลือโดยประสานตรวจเชื้อ และความช่วยเหลืออื่นๆ 

และกลุ่มที่ 3 คนพิการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีความวิตกกังวล ช่วยเหลือโดยให้คำปรึกษาคลายกังวล และแนะนำการปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ทาง​ พม. และ​ พก. ยังได้แสดงความขอบคุณเครือข่ายและพันธมิตรในการขับเคลื่อนภารกิจงานครั้งนี้ และหากพบคนพิการที่มีภาวะความเสี่ยงจาก COVID - 19 ติดต่อ 1300 / 1479 หรือ ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ 

นอกจากนี้​ หากมีความประสงค์จะร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับคนพิการในหน่วยงานสังกัด พก. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยงานทั้ง 22 แห่ง ทั่วประเทศ โทร 0 2354 3388 และ 1479 หรือเว็บไซต์ www.dep.go.th และ เฟสบุ๊กกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

'ตำรวจสอบสวนกลาง'​ ไม่ทอดทิ้งประชาชน และห่วงใย มอบน้ำใจแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.อก.บช.ก. พ.ต.อ.ณัฐกร ประภายนต์ รอง ผบก.อก.บช.ก. และ​ พ.ต.อ.ณัฐพล ลิปิพันธ์​ ผกก.ฝอ.5.บก.อก.บช.ก.

ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.ฝอ.5 บก.อก.บช.ก. พร้อมกำลังพลจิตอาสา บก.อก.บช.ก. เป็นตัวแทน ร่วมกันมอบวัตถุดิบประกอบอาหาร เครื่องดื่ม โดยการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา (มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ)  

ซึ่งประกอบด้วย... 

1.ข้าวสาร จำนวน 220 กิโลกรัม
2.น้ำดื่ม จำนวน 100 แพค 
3.ไข่ไก่สด จำนวน1,000 ฟอง
4.หน้ากากอนามัย จำนวน 2,500 ชิ้น
5.เอทิลแอลกอฮอล์ จำนวน 60 ลิตร

โดยมี ซิสเตอร์ภาวิณี พิชัยศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา  พร้อมคณะเป็นผู้รับมอบ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี
http://www.cib.police.go.th/2016/news.php?id=882


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top