รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr เผยแพร่มุมมองระดับความเข้าใจของวัคซีน ผ่านคำ 3 คำ อย่าง ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’ ที่หลายคน อาจจะเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป ว่า...
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr เผยแพร่มุมมองระดับความเข้าใจของวัคซีน ผ่านคำ 3 คำ อย่าง ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’ ที่หลายคน อาจจะเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป ว่า...
เวลาใครโดนโจมตีเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะเวลารัฐบาลถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี เรามักได้ยินคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ เช่น ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ เสมอ
ยิ่งระยะนี้ กำลังอยู่ในช่วงรอฉีดวัคซีน ‘โควิด’ ก็จะยิ่งได้ยินประโยคว่า วัคซีนยี่ห้อนั้นมี ‘ประสิทธิภาพ’ สูงกว่ายี่ห้อนี้บ่อยครั้ง
เชื่อไหมว่า คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ เป็นคำที่ใช้กันมากโดยที่มีคนน้อยมากที่รู้ว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ คืออะไร ดังนั้นจึงใช้คำนี้อย่างผิด ๆ กันไปทั่วประเทศ
คำ 3 คำที่ใช้เรากันแบบสับสนปนเป จนแยกกันไม่ค่อยจะออกคือ…
1.) ประสิทธิภาพ หรือ efficiency
2.) ประสิทธิผล หรือ effectiveness
3.) คุณภาพ หรือ quality
ทั้ง 3 คำมีความหมายที่แตกต่างกัน
คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ หรือ ‘efficiency’ ตามพจนานุกรมของ Merriam Webster นิยามความหมายไว้ว่า : capable of producing desired results with little or no waste แปลเป็นไทยได้ว่า สามารถทำให้บรรลุผลที่ตามต้องการ โดยมีความสูญเปล่าน้อย หรือไม่มีเลย
ส่วน ‘ประสิทธิผล’ หรือ ‘effectiveness’ นิยามว่า : producing a desired effect แปลเป็นไทยได้ว่า การบรรลุผลที่ตั้งหวังไว้
ขณะที่ ‘คุณภาพ’ หรือ ‘quality’ นิยามว่า : degree of excellence แปลเป็นไทยได้ว่า : ระดับความเป็นเลิศ
ฉะนั้น ‘ประสิทธิภาพ’ จึงไม่ใช่ ‘คุณภาพ’ และไม่ใช่ ‘ประสิทธิผล’
เพราะ ‘ประสิทธิภาพ’ หมายถึง การใช้ทรัพยากรแบบไม่สิ้นเปลือง มีความสูญเปล่าน้อย หรือไม่มีเลย หากใช้ทรัพยากรน้อย ขณะที่ ‘ประสิทธิผล’ หมายถึง การทำได้หรือบรรลุผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และ ‘คุณภาพ’ จะหมายถึงความเป็นเลิศ เช่น สมรรถนะของรถยนต์ ความเชื่อถือได้หรือ reliability ของสินค้า
รศ.หริรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า งานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิผล’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ก็ได้ หากเราทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่งานที่เราทำมีความสิ้นเปลืองมาก ใช้เวลานานมาก เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน งานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิผล’ แต่ไม่มี ‘คุณภาพ’ ก็ได้ หากเราตั้งเป้าหมายไว้ต่ำแล้วบรรลุได้ เช่น ถ้าเราเรียนปริญญาตรี ตั้งเป้าหมายว่าขอแค่ให้เรียนจบก็พอ ผลลัพธ์ออกมา คือ เราเรียนจบ แต่ได้เกรดเฉลี่ยแค่ 2.0 แปลว่างานของเรามีประสิทธิผลแต่ไม่มีคุณภาพ
หรือความจริงงานชิ้นหนึ่งอาจมี ‘ประสิทธิภาพ’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิผล’ ก็ได้ เช่น ถ้าแพทย์ผ่าตัด ผ่าตัดอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เรียบร้อย แต่คนไข้ยังคงเสียชีวิต แปลว่ามี ‘ประสิทธิภาพ’ แต่ไม่มี ‘ประสิทธิผล’
โดยทั่วไปหากเราจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพงานชนิดเดียวกัน เราควรเปรียบเทียบงานที่มีประสิทธิผล และคุณภาพเท่ากันด้วย แล้วจึงไปเปรียบเทียบประสิทธิภาพว่างานชิ้นใดมีประสิทธิภาพสูงกว่ากัน
การคำนวณหาประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีค่ามาตรฐาน แล้วนำผลที่วัดได้จริง เปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน
ตัวอย่างเช่น เราควรทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จเรียบร้อยได้ในเวลา 5 วัน นี่คือค่ามาตรฐาน หากเราใช้เวลาทำงานจริงเสร็จใน 5 วัน เท่ากับว่าเรามีประสิทธิภาพ 5/5 = 1.0 หรือ 100% หากเราใช้เวลาเกินไปเป็น 8 วัน ประสิทธิภาพเราจะเหลือเพียง 5/8 = 0.625 หรือ 62.5 % เท่านั้น
สำหรับวัคซีนโควิด เขาวัดกันด้วย ‘ประสิทธิผล’ ที่เขาใช้คำว่า ‘efficacy’ ซึ่งก็แปลว่าประสิทธิผลนั่นเอง เช่น การบอกว่าวัคซีนยี่ห้อหนึ่งมี efficacy ป้องกันโรคได้ 90% จึงไม่เกี่ยวกับ ‘ประสิทธิภาพ’ เลย แต่หมายถึงว่า หากเราฉีดแล้วไปสัมผัสกับเชื้อ เรามีโอกาสที่จะติดเชื้อ แล้วมีอันตรายเพียง 10% หรือได้ผลคือไม่มีอันตรายถึง 90% แปลว่าที่หลายคนแปลคำว่า ประสิทธิผล (efficacy) เป็นประสิทธิภาพนั้น เป็นการแปลที่ผิด
หากจะบอกว่าวัคซีนยี่ห้อใดมี ‘ประสิทธิภาพสูง’ จึงต้องยกให้ Johnson & Johnson เพราะฉีดเพียง dose เดียวพอเลย แปลว่าใช้ทรัพยากรน้อย คือปริมาณยาน้อย ใช้เวลาน้อย แรงงานน้อย
หวังอย่างยิ่งว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมีความกระจ่างนะครับระหว่างความหมายคำว่า ‘ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ’
แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า บทความชิ้นนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะสังคมเรา ใช้ความเคยชินเป็นใหญ่ เคยใช้มาอย่างไรก็จะใช้ต่อไปอย่างนั้น เรื่องผิด ๆ เมื่อทำกันมาก ๆ ใช้กันมาก ๆ เข้า บ่อย ๆ เข้า จึงกลายเป็นเรื่องถูกไปเสียได้ ในบ้านนี้เมืองนี้
เอาแค่ให้เข้าใจกระจ่างก็พอ ส่วนจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตามอัธยาศัยก็แล้วกัน นะครับ