Sunday, 30 June 2024
Lite

ย้อนเวลากลับไปในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อมีข่าวประกาศอย่างเป็นทางการ ‘เรื่องการยุติการปะทะกันของไทย - ลาว ณ สมรภูมิบ้านร่มเกล้า’ เป็นผลให้เกิดความสงบสุขกลับคืนมา ระหว่างพี่น้องสองฝั่งโขง

กล่าวถึง ‘สมรภูมิบ้านร่วมเกล้า’ เป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เหตุที่มาของการรบกันครั้งนี้ เกิดจากกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาว เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ ซึ่งสืบย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งไทยทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส

เมื่อเวลาผ่านมา หลังจากฝรั่งเศสคืนเอกราชให้ประเทศลาว พื้นที่บริเวณนี้ (บ้านร่มเกล้า) จึงกลายเป็นพรมแดนที่มีความทับซ้อนกันระหว่างไทยและลาว จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันเรื่อยมา

กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบ เป็นที่มาของ ‘ยุทธการบ้านร่มเกล้า’ ทหารฝ่ายไทยและฝ่ายลาวเกิดการปะทะกันอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก

การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30–40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร

ในเวลาต่อมา ประเทศไทยและประเทศลาว ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - ลาว (JBC) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อปักปันพรมแดนซึ่งมีความยาว 1,810 กิโลเมตร นับถึงวันนี้ ยังคงมีการจัดการประชุม JBC ไทย - ลาว กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อพูดคุย หารือ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นที่ตั้ง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

คนไทยรู้จักขุนนางผู้กล้า ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ กันเป็นอย่างดี โดยอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานของท่านนั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งวันนี้เป็นวันครบรอบ 52 ปี ที่มีการเปิด ‘อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก’ ขึ้น เพื่อเป็นที่สักการะและระลึกถึงเกียรติยศของขุนนางผู้นี้

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2288 โดยศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ทองดี

ต่อมานายทองดีเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงพิชัยอาสา’ ก่อนจะมีบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น โดยเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และตำแหน่งสูงสุดคือ เป็น ‘พระยาพิชัย’ ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย

ครั้งหนึ่งข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ จึงเป็นที่มาของสมญานาม ‘พระยาพิชัยดาบหัก’

พระยาพิชัยดาบหัก เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ รวมถึงความรักและหวงแหนในแผ่นดิน ด้วยเกียรติยศเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ของท่าน ที่ตั้งประดิษฐานไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณงามความดี ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี คุณความดีก็จะยังคงอยู่สืบไป


ที่มา: http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/19524

การนับวัน เดือน ปี โดยลงท้ายด้วย ‘พุทธศักราช’ ถือเป็นความคุ้นเคยของคนไทยตลอดมา แต่หากถามว่า จุดเริ่มต้นที่มีการใช้การกำหนดปีด้วย ‘พุทธศักราช’ หรือ ‘พ.ศ.’ นั้น มีความเป็นมากว่า 109 ปีแล้ว

โดยก่อนหน้าที่จะมีการใช้พุทธศักราช ประเทศไทยใช้รัตนโกสินทร์ศก หรือ รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) มากว่า 24 ปี (พ.ศ. 2432 – 2455) ทั้งนี้ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ถูกกำหนดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มนับจากปีที่มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง คือ พ.ศ. 2325 ให้นับเป็นรัตนโกสินทร์ศก 1 หรือ ร.ศ. 1

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 (พ.ศ. 2455) ให้ใช้ ‘พระพุทธศักราช’ ในราชการทั่วไป โดยถือเอาวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้การนับปีแบบพุทธศักราชอยู่หลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยใช้หลักเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี ต่างจากประเทศศรีลังกาและเมียนมา ที่เริ่มนับปีพุทธศักราช ตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงทำให้พุทธศักราชของศรีลังกาและเมียนมา เร็วกว่าของประเทศไทย 1 ปี

นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโครงการสร้างเขื่อนต่าง ๆ อยู่มากมาย และในวันนี้เมื่อ 35 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบเชิงเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง สามารถบรรเทาน้ำหลากเข้าท่วมเมืองเชียงใหม่ มากไปกว่านั้น ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างประโยชน์แก่ชาวประมงน้ำจืดด้วยอีกทาง

และเนื่องจากเป็นเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 26.5 ล้านลูกบาสก์เมตร และมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 24.5 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ใช้เวลาในการก่อสร้างกว่า 8 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2528 กระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ และนับถึงวันนี้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังคงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร และรวมถึงประชาชนที่สามารถเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจยังเขื่อนแห่งนี้ เนื่องจากถูกประยุกต์ให้มีที่พัก และมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

วันแรกก็ฟาดกันมันส์ฝุดๆ!! สำหรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจระลอกใหม่ 10 รัฐมนตรี คู่ดาวเด่นของวันนี้ ขอยกให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี .. ลุงตู่ ปะทะ ลุงตู่ (ชื่อเล่นเหมือนกัน)

วันแรกก็ฟาดกันมันส์ฝุดๆ!! สำหรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจระลอกใหม่ 10 รัฐมนตรี คู่ดาวเด่นของวันนี้ ขอยกให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ลุงตู่ ปะทะ ลุงตู่ (ชื่อเล่นเหมือนกัน)                                             

ประเด็นร้อนที่เปิดฉากฉะ เอ้ย! เปิดฉากโต้กัน เป็นเรื่องการปราบปรามบ่อนการพนัน โดยเป็นทางหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้กล่าวหาทำนองว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์แต่งตั้งข้าราชการไปแสวงหาประโยชน์ สมคบคิดกับเจ้าของบ่อนการพนัน และหล่นประโยคโดนๆ ว่า...

“พล.อ. ประยุทธ์ เคยบอกว่า 100 นายกฯ ก็ปราบบ่อนไม่ได้ ซึ่งแค่บ่อนการพนันแค่นี้ก็หมดปัญญา ถึงกับพูดออกมาว่า 100 นายกฯ ก็ทำไม่ได้”

ต่อมา เป็นทางนายกรัฐมนตรีขึ้นมาร่ายยาวโต้ตอบบ้าง แต่ไฮไลท์เผ็ด ๆ อยู่ที่ช่วงท้าย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้โต้แย้งในเรื่องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวหาว่าตนพูดว่า ‘100 นายกฯ ก็แก้ปัญหาไม่ได้’ งานนี้เลยหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา เปิดคลิปเสียงเมื่อครั้งที่ตนเองเคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ มีใจความว่า...

“ผมพูดว่า ไม่มีใครทำได้สำเร็จเพียงคนเดียว ต่อให้ร้อยนายกฯ ก็ทำไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าใครจะเก่งกาจสามารถแค่ไหนก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น”

เคลียร์ให้ฟังกันชัด ๆ พร้อมทิ้งท้ายแบบขิงๆ อีกด้วยว่า...อย่าบิดเบือน!!

ประโยคเผ็ดร้อนของ ‘รองนายกฯ อนุทิน vs ส.ส. วิโรจน์ ‘ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประจำวันที่ 17 ก.พ. 2564

เข้าสู่วันที่สอง ความเผ็ดร้อนของ ‘ศึกซักฟอกระลอกใหม่ 10 รัฐมนตรี’ ก็ไม่ได้ลดดีกรีลงแต่อย่างใด โดยซีนร้อน ๆ ของวันนี้ ต้องยกให้กับการปะทะกันทางประโยคของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยเป็นทางฝั่งของนายวิโรจน์ ที่เปิดประเด็นเรื่องราวการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด -19 ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีความผิดพลาด ก่อนที่ช่วงท้ายจะซัดแรง ๆ ด้วยประโยคที่ว่า...

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทินชาญวีรกูล วัน ๆ มีแต่ทำตัวหิวแสง กระหายแฟลช เสี้ยนไมโครโฟน มักใหญ่ใฝ่สูงหมายจะเอาเงินภาษีของประชาชนไปสร้างซีนให้กับตนเอง คุยโม้คุยโต โง่แล้วอยากนอนเตียง เอาชีวิตของราษฎรไปขึ้นเขียง เอาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนไปเสี่ยงกับบริษัทเอกชนที่เพิ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ประชาชนเขาหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะวัคซีน แต่สุดท้ายต้องสิ้นอนาคตได้ฟอร์มาลีนมาแทน

คนคู่นี้ แค่เดินเฉียดเงาผมยังรู้สึกรังเกียจ แค่คิดว่าต้องหายใจเอาอากาศร่วมกันกับคนสองคนนี้ ก็รู้สึกขยะแขยง ผมจึงไม่อาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้อีกต่อไป และไม่อาจไว้วางใจ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลูกกระจ๊อก สมุนคู่ใจ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเช่นกัน”

งานนี้เมื่อถึงคิวของนายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้ขึ้นมากล่าวโต้แย้ง ก็เริ่มต้นด้วยประโยคเชือดเฉือนที่ว่า...”สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ผมได้เจอบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็น ส.ส. ในสภา มากล่าวโกหก ให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ท่ามกลางโรคระบาดที่ร้ายแรง แทนที่จะให้กำลังใจ กลับนำข้อมูลทางโซเชี่ยล ไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ในสภา เมื่อสักครู่ คุณบอกว่าผมน่ารังเกียจ แต่เดินเจอหน้ากันหน้าห้องน้ำ เข้ามากราบแทบอก และถ้าผมเอาแอลกอฮอล์ฉีดตรงที่เนคไท คุณจะรู้สึกอย่างไร”

ต่อมา ในช่วงท้าย นายอนุทิน ยังได้ตั้งคำถามกับคำว่า ‘น่ารังเกียจ’ ที่นายวิโรจน์ได้กล่าวหา โดยขยายความให้เห็นภาพว่า...

“คนสองคนที่ท่านบอกว่าน่ารังเกียจ ไม่ควรเข้าใกล้ ไอ้สองคนนี้ล่ะครับ ทำให้ อสม.เข้มแข็งขึ้น ไอ้สองคนนี้ล่ะครับ ทำให้มีโครงการสามหมอ ทำให้ระบบสาธารณสุขมีการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ มีความสะดวกในการให้บริการพี่น้องประชาชน สองคนนี้แหละครับ เปิดคลีนิคบริการผู้สูงอายุ เพราะว่าประเทศไทยเราเข้าสู่ยุคผุ้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เราเตรียมไว้พร้อม

สองคนนี้และครับ จัดหาเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ถึง 7 เครื่อง บริษัทผู้ผลิตยังงงไปหมดว่า สั่งทีเดียวได้ยังไงตั้ง 7 เครื่อง เพื่อให้บริการผู้ป่วยมะเร็งทั่วประทศไทย ที่จะไม่ต้องลำบากเดินทาง เข้าคิว เขาจะได้รักษาตรงเวลา ทันเวลา และไม่ต้องทนทุกข์ทรมานให้มากขึ้น ยุคนี้กระทรวงสาธารณสุข ทำให้คนไทยเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่ง ทุกโรงพยาบาล ในโรคทั่วไป ที่ไม่ต้องใช้เทคนิคพิเศษ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่

สิ่งที่เราเคยกังวล เคยประสบ เราเคยลำบากในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิดระลอกแรก ยาก็ไม่มี หน้ากากก็ไม่พอ ชุดพีพีอีก็หาไม่ได้ วันนี้ หน้ากากผลิตเอง ไม่มีใครฉวยโอกาสขึ้นราคาได้อีกต่อไป ยา มีมากเกินพอ ที่จะให้การรักษาดูแลผู้ที่ติดเชื้อโควิด 

สุดท้าย การที่มีโรงงานผลิตวัคซีน อยู่ในประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนนี้ ที่จะเป็นศูนย์การผลิตวัคซีนต่อต้านโควิด แล้วฟีดไปในภูมิภาคนี้ อยู่ในสัญญาที่ทางบริษัทวัคซีนให้ไว้กับรัฐบาลไทย และให้ไว้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ มันเป็นความน่าภาคภูมิใจครับ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาก่นด่า หรือพูดอะไรที่เป็นการลดขวัญกำลังใจคนทำงาน

ผมเรียนว่า สิ่งที่ผมได้แจ้งมานี้ ถ้าท่านยังบอกว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และตัวกระผมเอง มีความน่ารังเกียจ ไม่ควรเดินเข้ากระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ต้องยอมล่ะครับ แต่ประเด็นคือ ท่านโกหกจนนาทีสุดท้ายมากกว่า

ท่านบอกว่า กระผมไปที่ไหน ท่านนายกฯ ไปที่ไหน มีแต่คนยี๊ มีแต่คนไม่เอาด้วย มีแต่คนรังเกียจ ผมว่ามันตรงข้ามจริง ๆ ครับ ผมก็คนหนึ่งล่ะ ที่รังเกียจกิริยาเช่นนี้ อายุยังน้อย เราทำงานสร้างสรรค์ ทำงานเพื่อบ้านเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ขอให้เป็นผู้แทนของราษฎร ดูแลทุกข์สุขของราษฎร เรื่องส่วนตัวค่อยว่ากัน”

ร่ายยาวแบบจัดหนัก จัดเต็ม ถ้ายังไม่เคลียร์ สงสัยต้องนัดเจอกัน ‘หน้าห้องน้ำ’ อีกสักที!

วันนี้เป็นวันสำคัญของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนเก่าแก่ของประเทศไทย โดยเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนวัดบวรนิเวศขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยที่มาของโรงเรียนวัดบวรนิเวศนั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง ‘วิทยาลัย’ ขึ้นในวัดบวรนิเวศ โดยพระราชทานนามว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ทั้งนี้เบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 แผนก คือ ส่วนที่ใช้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และอีกส่วนจัดตั้งเป็นโรงเรียน โดยให้เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาลัยแห่งนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนวัดบวรนิเวศ’ โดยในยุคแรกเริ่ม ได้เชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรณาณวโรรส มาทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนพระองค์แรก ต่อมาการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามลำดับ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชประสงค์ให้ขยายการศึกษาให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงถือได้ว่า โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นโรงเรียนสาธิตในการใช้หลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จวบจนเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 6 โรงเรียนวัดบวรนิเวศก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่เพาะบ่มความรู้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน นอกจากจะเป็นที่ระลึกแก่ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส อาคารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีกด้วย

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 128 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนวัดบวรริเวศได้เปิดการเรียนการสอนตลอดมา และเหนือสิ่งอื่นใด คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ออกสู่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถูกยกให้เป็นวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่ง นั่นคือ วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งที่มาของวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยพระองค์ทรงได้รับการสรรเสริญว่า มีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมต่าง ๆ หลายสาขา เพื่อเป็นการเชิดูพระเกียรติคุณ วันนี้จึงถูกยกให้เป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ ร่วมด้วยอีกวันหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี พระองค์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า ฉิม พระราชสมภพเมื่อวันพุธขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 โดยทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และขึ้นเสวยราชสมบัติในช่วงปีพ.ศ. 2352 - 2367

ตลอดการขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับการยกย่องว่า เป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี โดยทรงโปรดการแต่งบทกลอน และมีเครื่องดนตรีชิ้นโปรด นั่นคือ ซอสามสาย และทรงเคยพระราชนิพนธ์บทเพลงที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ เพลงบุหลันลอยเลื่อน

ด้วยพระปรีชาสามารถอันเปี่ยมล้น ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการส่งเสริม และทำนุบำรุงศิลปกรรมของชาติ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ธรรมเนียมหนึ่งในวันศิลปินแห่งชาตินั้น คือการประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 และมีการประกาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูทรัพยากรบุคคลทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติ รวมถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้ดำรงอยู่ และสืบต่อไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยนั่นเอง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki

https://hilight.kapook.com/view/56456

https://www.m-culture.go.th/chiangmai/ewt_news.php?nid=631&filename=index

แม้วันนี้จะมี ‘สื่อ’ เกิดขึ้นมากมาย แต่หนึ่งในสื่อที่ยังมีความนิยม และทรงพลัง ต่อผู้คนในทุกระดับ นั่นก็คือ สื่อวิทยุ ซึ่งวันนี้ มีความพิเศษสำหรับแวดวงการกระจายเสียงทางวิทยุของเมืองไทย เพราะถูกยกให้เป็น ‘วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ’

ย้อนเวลากลับไปราว 91 ปีก่อน วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดการส่งวิทยุไปสู่ประชาชน โดยผู้ที่เป็นผู้บุกเบิกการกระจายเสียงทางวิทยุในเวลานั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และการคมนาคม ในสมัยรัชกาลที่ 7

เริ่มต้น ท่านได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่ตึกทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ โดยใช้ชื่อสถานีว่า 4 พีเจ (4PJ) ต่อมา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ก็ได้ทรงเปิดการกระจายเสียงวิทยุสู่พสกนิกรเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า ‘สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท’ ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่งกว่า 2.5 กิโลวัตต์

โดยพิธีเปิดสถานีในวันนั้น เป็นการอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล กระจายเสียงไปสู่พสกนิกรให้ได้รับฟัง ในเวลาต่อมา จึงจัดตั้งให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

จวบจนถึงปัจจุบัน กิจการวิทยุกระจายเสียงได้พัฒนาแพร่หลายขึ้นเป็นลำดับ จนกลายมาเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงวันนี้ การกระจายเสียงจากวิทยุก็ยังคงมีความสำคัญ แม้จะผันผ่านไปตามกาลเวลา แต่เสน่ห์และคุณค่าก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า ‘โครงการหลวง’ กันมายาวนาน ซึ่งวันนี้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้ง ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ ขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาอย่างยั่งยืน

ที่มาของ ‘โครงการหลวง’ เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใย และมีพระราชปณิธานอยากให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘โครงการหลวง’ ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2512

โดยในช่วงระยะแรกนั้น ถูกจัดเป็นโครงการอาสาสมัคร ที่ได้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กองทัพอากาศ ฯลฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงการให้เติบโต รุดหน้า และขยายออกไปในวงกว้าง

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการหลวงจดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง

นับจนถึงวันนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ยังคงสืบสานพระราชปณิธานต่อไป โดยปัจจุบันได้ขยายโครงการออกไปใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มีสถานีวิจัย 4 สถานี และมีศูนย์พัฒนาโครงการอีกกว่า 21 แห่ง รวมทั้งมีหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการอีกกว่า 267 หมู่บ้าน ซึ่งผลผลิตจากโครงการหลวง อาทิ ผลไม้ พืชผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ‘ดอยคำ’ ก็จัดเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง

เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือความมุ่งหวังให้ชุมชนโครงการหลวงเติบโตอย่างมีคุณภาพ และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: http://www.royalprojectthailand.com/about


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top