คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า ‘โครงการหลวง’ กันมายาวนาน ซึ่งวันนี้เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ถือเป็นวันแรกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้ง ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ ขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาอย่างยั่งยืน

ที่มาของ ‘โครงการหลวง’ เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใย และมีพระราชปณิธานอยากให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘โครงการหลวง’ ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการสร้างรายได้ โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2512

โดยในช่วงระยะแรกนั้น ถูกจัดเป็นโครงการอาสาสมัคร ที่ได้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กองทัพอากาศ ฯลฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงการให้เติบโต รุดหน้า และขยายออกไปในวงกว้าง

กระทั่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการหลวงจดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิโครงการหลวง’ โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง

นับจนถึงวันนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ยังคงสืบสานพระราชปณิธานต่อไป โดยปัจจุบันได้ขยายโครงการออกไปใน 8 จังหวัดภาคเหนือ มีสถานีวิจัย 4 สถานี และมีศูนย์พัฒนาโครงการอีกกว่า 21 แห่ง รวมทั้งมีหมู่บ้านในเขตปฏิบัติการอีกกว่า 267 หมู่บ้าน ซึ่งผลผลิตจากโครงการหลวง อาทิ ผลไม้ พืชผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ‘ดอยคำ’ ก็จัดเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง

เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือความมุ่งหวังให้ชุมชนโครงการหลวงเติบโตอย่างมีคุณภาพ และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: http://www.royalprojectthailand.com/about