Monday, 12 May 2025
Lite

เปิดฤกษ์วันไหว้ขนมบัวลอย 07.19 - 17.56 น. ตรง 22 พฤหัสบดี มีทั้ง 'เหมายัน' และ 'ตังโจ่ย'

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เงยหน้ามองสิ่งที่แขวนอยู่ตรงฝาผนังแทบทุกบ้าน 'ปฏิทิน' รายเดือนพิมพ์สองสี (แดง - น้ำเงิน) บนกระดาษปอนด์ขาว แสดงตารางวันเต็มแผ่น (หน้า) ละเดือน แต่ละวันระบุข้างขึ้นข้างแรม (ทางจันทรคติ) วันธรรมสวนะ (วันพระ) และวันสำคัญต่างๆ ตลอดทั้งปี ยิ่งเฉพาะช่องวันที่ 1 และ 16 จะมีตัวเลขยึกยือไว้ให้ส่องตีความกันด้วย

นิวาสสถานบ้านใดมีปฏิทินแบบที่กล่าวมาก็จะสังเกตเห็นว่า วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565 นี้ (แรม 14 ค่ำ เดือน 1) ซ่อนความสำคัญอยู่สองนัยยะ หนึ่ง คือเป็น 'วันเหมายัน' (อ่านออกเสียง เห - มา - ยัน) ตามความเชื่ออย่างฮินดูคติ พร้อมกันนี้ตำราดาราศาสตร์ฝรั่งยังเรียกวันนี้ว่า 'Winter Solstice' (วินเทอร์ ซอลส์ทิซ) ส่วนไทยบ้านเราบอกต่อๆ กันมา 'ตะวันอ้อมข้าว' ซึ่งความหมายโดยรวมก็คือ…

"...วันที่แกนโลกทางซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือ (รวมถึงประเทศไทยเรา) มีกลางวันสั้น และกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี" นั่นเอง

อีกหนึ่งนัยยะแบบบูรพาวิถี จะถือเอา 22 ธันวาคม ของทุกปี (แต่บางปีก็ก่อนหน้าหนึ่งวัน) เป็น 'วันไหว้ขนมบัวลอย' หรือ 'เทศกาลตังโจ่ย' (冬至) อันหมายถึง 'เทศกาลเหมันตฤดู' จุดเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นเทศกาลสุดท้ายของชาวไทยเชื้อสายจีนในรอบหนึ่งปีปฏิทินผ่านมา

ในเทศกาลนี้จะมีการทำ 'ขนมบัวลอย' หรือ 'ขนมอี๋' มาไหว้คารวะฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย (เจ้าที่เจ้าทาง) เพื่อขอบคุณที่ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตของสมาชิกของแต่ละครอบครัวสามารถดำเนินมาอย่างราบรื่นตลอดสามร้อยหกสิบห้าวัน และยังเพื่อขอพรให้ช่วยคุ้มครองทุกๆ คนต่อไป

ขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ที่ใช้ในการไหว้ ทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำสุกจนเข้าที่ ปั้นเป็นเม็ดกลมเล็ก นิยมผสมสีชมพูหรือสีขาว โดยทรง 'กลม' ของขนมนั้นหมายถึง 'ความกลมเกลียว' กันในหมู่ญาติพี่น้อง ส่วนสีชมพูก็คือความโชคดี โดยของสักการะอื่นๆ ก็ประกอบด้วย กระถางธูป, เทียนแดง 1 คู่, ธูป 3 (หรือห้า) ดอก, ผลไม้, น้ำชา 5 ถ้วย วางพร้อมขนมบัวลอย 5 ถ้วย

ทั้งนี้ตามหลักของปฏิทินจีนเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย จะไม่ได้ระบุวันอย่างตายตัว แต่จะยึดเอาวันซึ่งตรงกับเดือน 11 หรือเดือนธันวาคม หรือ 'เกี๋ยวง๊วย' แต่ตามปฏิทินทางสากล (สุริยคติ) วันตังโจ่ยจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม ของทุกปีพอดี

23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ‘นายพลโตโจ’ อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นถูกแขวนคอ ในความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม

วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2491 อดีตนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่น ‘โตโจ ฮิเดกิ’ ถูกประหารชีวิต ด้วยการแขวนคอ ในฐานะอาชญากรสงคราม

โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) คือนักการทหารและนักบริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เขาได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1 ในปี 1928 (พ.ศ. 2471) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปราบกลุ่มกบฏ 'ยังเติร์ก' ในปี 1936 (พ.ศ. 2479) ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียในปีต่อมา

ตำแหน่งหน้าที่ของ โตโจ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา ในปี 1938 (พ.ศ. 2481) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสงคราม และเขาก็ได้เป็นหัวแรงสำคัญที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีของกลุ่มอักษะสำเร็จในปี 1940 (พ.ศ. 2483) ปีเดียวกันกับที่เข้าได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามเต็มตัว จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปี เขาก็ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ฟูมิมาโระ โคโนเอะ โดยยังยึดเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามต่อไป

โตโจ นอกจากจะเป็นข้าราชการที่ได้ชื่อเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขายังเป็นนักการทหารที่มีนโยบายก้าวร้าวที่สุดในบรรดาผู้นำญี่ปุ่น เขาคือผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามกับสหรัฐฯ ด้วยการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) ซึ่งเบื้องต้นได้ทำให้ญี่ปุ่นขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก

หัวเมืองใหญ่อย่าประมาท เมื่อ PM2.5 มาตามคาด วอนคนไทยอย่าเที่ยวปีใหม่เพลิน จนลืมป้องกันตัว

ช่วงปลายปีแบบนี้ แถมอากาศหนาวเป็นใจ คนไทยเลยแห่เที่ยวแห่ฉลองกันอย่างสนุกสนาน โดยลืมว่าฤดูหนาวแบบนี้แหละที่มักเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เราหลงลืมไปว่ามักมาเยือนตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ 

แต่หนักสุดเห็นจะเป็นกรุงเทพฯ นี่แหละ เพราะมีรายงานข่าวจากสำนักสิ่งแวดล้อมว่า พบฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นคือพบฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ เขตทวีวัฒนา, เขตหนองแขม, เขตหนองจอก และเขตปทุมวัน โดยตรวจวัดได้ระหว่าง 30-53 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดย PM2.5 ค่ามาตรฐาน เฉลี่ย 24 ชม. ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. แต่ 4 พื้นที่นี้มีค่ามาตรฐานเกินคือ 53 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จึงต้องเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้ระวังสุขภาพและสวมหน้ากากป้องกัน  

ทั้งนี้ในวันที่ 24 ธ.ค. 65 เป็นช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังทั้งพื้นที่ กทม. เนื่องจากสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำ ประกอบสภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ  เพื่อความไม่ประมาท จึงควรเริ่มเฝ้าระวังตั้งแต่เย็นวันที่ 23 ธ.ค. 65

ทบทวนตัวเองก่อนปีใหม่ ตั้งคำถามซักฟอกใจ นำ 'ชีวิต' มุ่ง 'วิถีแห่งความสุข' ตามสูตรของตัวเอง

คำถามหนึ่งที่เป็นคำถามสำคัญและนับเป็นคำถามอมตะในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ นั่นคือใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีทันสมัย เปลี่ยนโลกและสังคมว่องไวเลื่อนไหลตลอดเวลา กระแสความเจริญทางเทคโนโลยีที่ดูเหมือนย่อโลกใบนี้ให้เล็กลง กลับกลายเป็นว่ากลับกักขังเราในกรอบหน้าจอแคบ ๆ ที่รับรู้ทุกสิ่งอย่างทุกเรื่องราว แต่ไม่สัมผัสเต็มเปี่ยมกับสิ่งใด เปลี่ยวเหงาทั้งที่อยู่ท่ามกลางฝูงชน ลึก ๆ แล้วรู้สึกว่าชีวิตยังไม่เติมเต็ม ตอบไม่ได้ว่าความสุขคืออะไร และมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

ช่วงปลายปีเช่นนี้ถือเป็นช่วงพิจารณาชีวิต เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะมองไปข้างหน้า และหันกลับมามองข้างหลัง เพื่อถามตัวเองว่าจากนี้จะเดินไปสู่ทิศทางใด จะใช้ชีวิตแบบไหนในอนาคต  

ยิ่งใกล้สิ้นปีแต่ละหน ยิ่งต้องหันมาทบทวนตัวเอง โดยใช้ 'ดวงตาภายใน' มองตน ว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้สร้างประโยชน์อะไรต่อโลกใบนี้บ้าง เคยกระทำผิดพลาดบาดใจใครไปบ้าง ช้าไปไหมที่จะขอโทษใครบางคน และสายไปหรือยังในการปรับปรุงตัวเอง

การดำเนินชีวิตไม่มีผิดถูกก็จริง แต่บางย่างก้าวของเราอาจทำให้ฝุ่น หรือเม็ดกรวดกระเด็นกระทบใครบ้างก็ได้

เบื่อไหมกับการเวียนว่ายกลางทะเลข่าวสารข้อมูลที่เต็มไปด้วยเสียงก่นด่าระหว่างผู้เห็นต่าง กี่ปีแล้วที่วนเวียนอยู่ ณ จุดนี้ สิ่งนี้คือสาระสำคัญในชีวิตหรือไม่ ในที่สุดมักลงท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรถึงจะมีความสุข"

หากถามศิลปินว่าความสุขในชีวิตคืออะไร อาจจะได้คำตอบแบบ อัลแบร์ กามู นักเขียนรางวัลโนเบลและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้คือ “อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะเยอทะยาน ทำงานสร้างสรรค์ และรักใครสักคน”

ภาษิตของคนทำจริง “กริยา เจ กริยาเถนัง จะทำสิ่งไร ควรทำจริง” สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญจาก ‘เสด็จเตี่ย’ 

ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจกับลูกเรือ เรือหลวงสุโขทัย ทหารเรือผู้เดินทางไปร่วมกับเรือ และผู้สูญเสียทุก ๆ ท่านนะครับ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างมีความผูกพันกับทหารเรืออยู่มาก เพราะผมมีเพื่อนที่เป็นทหารเรือและเพื่อนที่มีภูมิลำเนาอยู่ ณ ถิ่นทหารเรืออย่างสัตหีบอยู่มากโข จึงค่อนข้างเศร้าที่ได้ฟังข่าวการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย และรำลึกถึงเพื่อน ๆ ทหารเรือที่ได้จากไป และอยากจะขอทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ว่าอย่าได้ปรามาสทหารเรือไทยเลยครับ เพราะพวกเขาปกป้องอธิปไตยเพื่อพวกเราคนไทยทุกคน และพวกเขาก็ทุกข์กับการสูญเสียเพื่อนทหารอันเป็นที่รักเช่นเดียวกัน 

เรื่องนี้ผมเขียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งปกติจะมีวันที่ 19 ที่มีความสำคัญกับลูกประดู่และผมอยู่ 2 วัน วันแรกคือ วันที่ 19 พฤษภาคม ‘วันอาภากร’ วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ และอีกวันคือวันที่ 19 ธันวาคม ‘วันอาภากรรำลึก’ คือวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ แน่นอนที่ผมยกวันสำคัญ 2 วันนี้มา เพราะผมอยากจะเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ พลเรือเอก พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’ 

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค เป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในทวีปยุโรป โดยเสด็จฯ ไปคราวเดียวกับ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ’ (รัชกาลที่ 6 ในกาลต่อมา) ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จฯ กลับสยามเมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงมีความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการพัฒนากองทัพเรือสยามให้สามารถเกรียงไกรเทียบเท่าอารยประเทศ โดยปรับปรุงกองทัพเรือใหม่ในทุก ๆ ด้าน เน้นหนักวิทยาการสมัยใหม่ และการฝึกเพื่อการเป็นนายทหารเรือที่เก่งกาจไม่แพ้ใครในโลก 

ถึงตรงนี้บอกก่อนผมไม่ได้จะมาเล่าเรื่องราวของพระองค์เป็นหลักนะครับ เพราะพระประวัติของพระองค์นั้นมีคนเล่าสู่กันฟังอยู่มากมายแล้ว อ้าว!!! เกริ่นมาอย่างยาวแล้วจะไปเล่าเรื่องอะไรล่ะ? ก็จะมาเล่าถึง ‘ภาษิต’ และการ ‘ทำจริง’ ของพระองค์ เพราะทั้ง 2 วันสำคัญที่ผมเกริ่นมาข้างต้น จะยกเอา ‘ภาษิต’ และการ ‘ทำจริง’ มา ‘รำลึก’ ถึงพระองค์ท่าน

“กริยา เจ กริยาเถนัง จะทำสิ่งไร ควรทำจริง” คือ ‘ภาษิต’ นั้น โดยปรากฏอยู่บนตราประจำพระองค์ ซึ่งเป็นตราประจำราชสกุล ‘อาภากร’ คือ ตราสุริยมณฑล มีสุริยเทพบุตร อยู่บนราชรถเทียมสิงห์ แล้วคุณเชื่อไหม? ตราประจำองค์นี้ได้มาเมื่อพระองค์ถูกปลดจากราชการทหารเรือ!!!! และผู้ที่พระราชทานตราประจำพระองค์นี่ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ปลดพระองค์จากทหารเรือนั่นเอง!!! ด้วยสาเหตุคือทรง “ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้าน…” แต่ในท้ายที่สุดมูลเหตุที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยในคราวนั้น พบคำตอบที่ชัดเจนใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2” ว่า... 

“เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา” เนื่องจาก ‘เสด็จเตี่ย’ อยากต่อรองสวัสดิการต่าง ๆ ให้ทหารเรือ แต่เมื่อท้ายที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยความว่า “ใน พ.ศ. 2454 นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเข้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิมบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนข้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่ แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่” ซึ่งด้วยความ ‘ทำจริง’ ของทั้งในหลวงรัชกาลที่ 6 และ ‘เสด็จในกรม’ ทำให้เกิดตราประจำองค์ในระหว่างถูกปลดจากการเป็นทหารเรือขึ้นนั่นเอง 

ตราประจำพระองค์นี้ ‘เสด็จในกรม’ ได้มาหลังจากทรงถูกปลด 3 เดือน โดยการที่ได้มานั้น พระองค์ได้ทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองเสือป่า ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงใฝ่พระราชหฤทัย ที่จะได้ฝึกฝนข้าราชการพลเรือนให้มีความรู้วิชาทหาร และมีวินัย จนกระทั่งได้รับพระราชทานธงประจำพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริและทรงออกแบบธงประจำตัวนายเสือป่าชั้นสัญญาบัตรพระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งธงประจำพระองค์ของ ‘เสด็จในกรม’ มีพื้นธงสีแดงชาดตามวันประสูติ คือวันอาทิตย์ ลายในธงเป็นรูปสุริยมณฑล คือรูปพระอาทิตย์ ซึ่งงานช่างอย่างไทยเขียนเป็นรูปราชรถเทียมสิงห์อยู่ภายในวงกลม

ทำไม? ต้องเป็น ‘รูปสุริยมณฑล’ สันนิษฐานได้จากพระนาม ‘อาภากร’ อันมีความหมายว่า ‘พระอาทิตย์’ และมีนัยถึงการที่ทรงสืบสายสกุลจากราชนิกุลบุนนาคในสมเด็จพระเจ้ายาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถือตราประจำตัวเป็นตราสุริยมณฑลเช่นกัน และจากพระนามของพระองค์ ‘อาภากรเกียรติวงศ์’ ซึ่งแปลว่า ‘ผู้เกิดในวงศ์ตะวันอันมีเกียรติ’ ซึ่งในช่วงชีวิตของพระองค์ พระองค์ก็เปรียบดังดวงตะวันของเหล่าทหารเรือ 

ส่วน ‘กยิรา เจ กยิราเถนํ’ ออกเสียงอ่านว่า ‘กะ ยิ รา เจ กะ ยิ รา เถ นัง’ เป็นวรรคหนึ่งของคาถาภาษาบาลีซึ่งมีเต็ม ๆ 4 วรรค (1 บาท) ข้อความเต็มทั้ง 4 บาท มีดังนี้

กยิรา เจ กยิราเถนํ           ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม
สิถิโล หิ ปริ พ พฺ าโช      สว ภิยฺโย อากิรเต รชํ

คาถานี้เป็นพระพุทธพจน์มีปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ถ้อยคำที่ใครคนหนึ่งแต่งขึ้นในภายหลังข้อความนี้ เป็นถ้อยคำที่หยิบยกมาจากพระไตรปิฎก ภาษาบาลีนิยมเขียนแยกเป็นคำ ๆ คาถาประจำพระองค์ จึงต้องแยกเป็นคำ ๆ คือต้องเขียนว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ แต่คาถาประจำพระองค์เท่าที่ปรากฏมักเขียนต่าง ๆ กัน อาทิ เขียนติดกันไปหมดเป็น กยิราเจกยิราเถนํ / แยกเป็น 2 วรรค คือเป็น กยิราเจ กยิราเถนํ มีบางแห่งแยกเป็น 3 วรรคเหมือนกัน แต่เป็น กยิราเจ กยิรา เถนํ ซึ่งไม่ถูกหลักการเขียนภาษาบาลี ซึ่งคาถา / ภาษิตนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงยกมาประกอบตราสุริยมณฑล โดยทรงคำนึงถึงพระบุคลิกของ ‘พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากร’ เป็นสำคัญ

นอกจากภาษิตประกอบตราประจำพระองค์แล้วนั้น ‘เสด็จเตี่ย’ ยังได้ทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนสอนใจ กยิราเจ กยิราเถนํ

“จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง” ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้…

ทำงานทำจริงเจ้า               จงทำ                Work While you Work
ระหว่างเล่นควรจำ                  เล่นแท้              Play While you Play
หนทางเช่นนี้นำ                     เป็นสุข              That is the Way 
ก่อให้เกิดรื่นเริงแม้                  นับถือทวีคูณ        To be cheerful and gay 
ทุกสิ่งทำเช่นนั้น               ควรตรอง           All that you do 
โดยแน่สุดทำนอง                  ที่รู้                      Do With  your might 
สิ่งใดทำเป็นลอง                   ครึ่งครึ่ง               Things done by half 
สิ่งนั้นไม่ควรกู้                     ก่อให้เป็นจริง      Are never done right

“ตอกตะปูลงตรง นะเจ้าเด็ก        เสียงเป๊กตีตรง ลงที่หัว
เมื่อเจ้าตีเหล็กนะ เจ้าอย่ากลัว        ตีเมื่อตัวเหล็กยังแดง เป็นแสงไฟ
เมื่องานมีที่ต้องทำ นะเจ้าเด็ก        เป็นข้อเอกทำจริง ไม่ทิ้งไถล
ที่เขาขึ้นยอดได้ สบายใจ        ก็เพราะได้ปีนเดิน ขึ้นเนินมา
ถ้าเด็กใดยืนแช อยู่แต่ล่าง        แหงนคว้างมองแล สู่เวหา
จะขึ้นได้อย่างไร นะลูกยา        ทำแต่ท่าแต่ไม่ลอง ทำนองปีน
ถึงหกล้มหกลุก นะลูกแก้ว        อย่างทำแซ่วเสียใจ ไม่ถวิล
ลองเถิดลองอีกนะ อย่าราคิน        ที่สุดสิ้นเจ้าคงสม อารมณ์เอย." 

ตัวอย่างการ ‘ทำจริง’ ที่ยกตัวอย่างได้ถนัด ก็เช่นครั้งที่พระองค์ถูกปลดจากทหารเรือประจำการแล้วทรงมาเป็น ‘หมอพร’ ครั้งนั้นก็ทรงจริงจังกับการเป็นหมอพร ด้วยการทรงศึกษาวิชาแพทย์ทั้งของไทยและฝรั่ง ทรงนำความรู้ทั้ง 2 แบบมาผสมผสานและทดลอง ทำจริงจนเขียนตำรับยา ตำรับการรักษาได้ ทรงรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไปได้จริง โดยไม่คิดเงิน รักษาอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยการ ‘ทำจริง’ ทำให้ผู้คนที่ พาลนึกไปว่าพระองค์เปรียบเหมือน ‘เทวดา’ ที่ลงมาโปรดมนุษย์ในโลกมากกว่าจะเป็นเจ้านาย จึงพร้อมใจขานนามพระองค์ว่า ‘หมอพรเทวดา’

24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนนานาชาติ

วันนี้สำหรับชาวคริสต์ ถือเป็นวันคริสต์มาสอีฟ แต่สำหรับประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 82 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เป็นวันที่ทางการประกาศให้วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นครั้งแรก

แรกเริ่มเดิมที เมืองสยามของเรากำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย โดยคำว่าเดือนอ้าย หมายถึงเดือน 1 หากนับตามปฏิทินจันทรคติไทย มักจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดใหม่ให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน กระทั่งเวลาผันผ่านมาจนถึง วันที่ 24 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคม

ถอดสมการวันแรกแห่งปี ก่อน 1 มกราคมจะมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวโลก ก่อนวันปีใหม่ของชาวโลก จะเป็นวันปีใหม่ของชาวไทย

คนทั้งโลกรับรู้ว่า วันขึ้นปีใหม่ของโลกใบนี้ คือ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี แล้วท่านผู้อ่านรู้เหตุผลไหมว่า ทำไม?? วันปีใหม่ จึงต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม

‘วันขึ้นปีใหม่’ มีประวัติความเป็นมาที่ย้อนกลับไปนานมาก ๆ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้น (ของไทยเราก็เหมือนกัน สรุปเหมือนกันทั่วโลกเรื่องนี้) เชื่อกันว่าการนับปีใหม่ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ 4,000 กว่าปีก่อน ในยุคบาบิโลเนีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวบาบิโลเนียน ริเริ่มคิดค้นปฏิทินโดยคำนวณจากการเคลื่อนที่วงรอบของดวงจันทร์เป็นหลัก (หลักจันทรคติ) เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดให้เป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุกๆ 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติก (ชาวอาหรับเผ่าหนึ่ง) ได้นำปีปฏิทินของชาวบาบิโลเนียนมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายรอบเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากขึ้น และใช้กันมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาคของตนเอง ล่วงมาจนถึงสมัยของผู้ปกครองและนักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิโรมัน ‘จูเลียส ซีซาร์’ (Julius Caesar) ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณ 46 ปี ก่อนคริสตกาล ได้นำความคิดและหลักความเชื่อเรื่อง ‘จักรราศี’ ตามหลักสุริยคติของอียิปต์มาผสมผสานกับจันทรคติในแบบเดิม จนเกิดเป็น ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian calendar) คำว่า จูเลียน แปลว่า แห่งจูเลียส ซึ่งในละตินเรียกว่า Calendarium Iulianum สรุปก็ คือ ‘ปฏิทินของจูเลียส ซีซาร์’ นั่นแหละ 

โดยในหนึ่งปีบนปฏิทินของเขามี 365 วัน นอกจากนี้เดือนกุมภาพันธ์จะเพิ่มอธิกวารทุก ๆ สี่ปี ดังนั้นรอบปีโดยเฉลี่ยต่อสี่ปีของปฏิทินจูเลียนเท่ากับ 365.25 วัน ซึ่ง ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian calendar) มีความใกล้เคียงกับปฏิทินปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่เราไม่ได้ใช้ปฏิทินนี้ในปัจจุบันนะ 

อธิกวาร หรือ อธิกมาศ คือ ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมวันในเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน ซึ่งก็คือเดือนกุมภาพันธ์นั่นเอง เมื่อกำหนดวันเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ในทุก ๆ 4 ปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาเพราะวันใน ‘ปฏิทินจูเลียน’ ยังไม่ตรงตามฤดูกาลมากนัก คือเวลาในปฏิทินจะยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน (วุ่นวายจริงเชียว) 

‘ปัญ BNK48’ สาวน้อยมากความสามารถ ทั้ง ‘เรียน-เต้น-แร็ป’ โอตะปลื้มทั้งประเทศ

เรียกว่ากลายเป็นอดีตสมาชิกของ BNK48 ไปซะแล้ว สำหรับสายน้อยมากความสามารถอย่าง ปัญ ปัญสิกรณ์ ติยะกร หรือที่เคยเรียกติดปากว่า ปัญ BNK48 ถึงแม้จะเป็นอดีตสมาชิก แต่ก็อยากนำเรื่องของสาวคนนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเชื่อว่าน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนเลย

สำหรับ ปัญ BNK48 นั้นเธอเป็นสมาชิกรุ่นที่ 1 ของ BNK48 และเป็นกัปตันทีมบีทรี (BIII) อีกด้วย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา เธอได้ประกาศจบการศึกษาไปพร้อมๆ กับเพื่อนๆ อีก 17 คน ได้แก่ พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (โมบายล์), วรัทยา ดีสมเลิศ (ไข่มุก), เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์), สุชญา แสนโคต (จิ๊บ), วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ (ก่อน), พิชญาภา นาถา (น้ำใส), พัศชนันท์ เจียจิรโชติ (อร), ณปภัช วรพฤทธานนท์ (จ๋า), กุลจิราณัฐ วรรักษา (เจน), กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล (เนย), อิสราภา ธวัชภักดี (ตาหวาน), รินรดา อินทร์ไธสง (เปี่ยม), มิลิน ดอกเทียน (น้ำหนึ่ง), จิรดาภา อินทจักร (ปูเป้), กรภัทร์ นิลประภา (เคท), ปณิศา ศรีละเลิง (มายด์) และ ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ (แก้ว)

โดยปัญมีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมเกิน 1 ล้านคน และได้รับขนานนามว่า ‘น้องหลาม’ เนื่องจากเวลาเธอยิ้มจะดูละม้ายคล้ายฉลากในอนิเมะ อีกทั้งเธอยังมีเสน่ห์ที่ทำให้เหล่าโอตะใจละลาย ใครๆ ก็ต่างบอกว่าเธอน่ารัก สดใส และเปี่ยมล้นไปด้วยพลังงานด้านบวกอยู่เสมอ

หากใครเป็นโอตะหรือตามปัญมาตั้งแต่เดบิวต์ก็คงจะรับรู้ถึงตัวตนของปัญได้เป็นอย่างดี ตอนที่เธอมา Audition เป็นสมาชิกวง BNK48 นั้น เธอดูเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาแต่แท้จริงแล้วซุกซ่อนความสามารถไว้เหลือล้น ทั้งด้านการเรียน การร้อง และแร็ป อีกทั้งยังทำหน้าที่ในฐานเป็นสมาชิกของวง BNK48 ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

คราวนี้เรามารู้ประวัติคร่าวๆ ของปัญกันบ้างดีกว่า

​ปัญ จบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติแอ๊ดเวนต์รามคำแหง เมื่ออายุครบ 14 ปี ได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด โดยการสอบเทียบ GED 

เข้าสู่วงการบันเทิงครั้งแรกด้วยวัยเพียง 15 ปี ด้วยการแสดงหนังเรื่อง ‘เมย์ไหน.. ไฟแรงเฟร่อ’ จากค่าย GTH ที่ฉายในปี 2558 โดยในตอนนั้นได้รับบทเป็นนักแสดงสาว ม.2 ดาวรุ่งที่เป็นสมาชิกแก๊งเชียร์ลีดเดอร์ หลังจากปิดกองถ่ายก็ได้ไปออดิชั่นจนได้เป็นสมาชิกของ BNK48 รุ่นแรก 

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2560 ในระหว่างงานคอนเสิร์ตได้มีการประกาศตั้งทีม BIII โดยในทีมประกอบด้วยสมาชิก 24 คน (ในปัจจุบัน มีการแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีม BIII และทีม NV) ปัญก็ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมนี้ โดยความสามารถพิเศษของปัญคือ ด้านการเต้น ซึ่งเป็นการเต้นธรรมดา เต้นบัลเลต์ เต้น Hip-Hop โดยครูที่สอนเป็นคนเกาหลี ทำให้เต้นแนว K-Pop ได้ด้วย แถมยังสามารถร้องเพลงได้ทั้งไทย สากล และเกาหลี 

ปัญได้เปิดตัวในฐานะ Center ครั้งแรกในซิงเกิลที่ 5 ในชื่อเพลง ‘BNK Festival’ ในวันประกาศผลการเลือกตั้ง senbatsu general election ใน single ที่ 6 ซึ่งเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของ BNK48 เธอได้เสียงตอบรับด้วยคะแนนโหวตมากถึง 44,140 คะแนน ทำให้ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 9 กระทั่งได้เป็น senbatsu ใน single ที่ 6 ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘Beginner’ 

ต่อมาเธอได้เข้าร่วม Project LYRA (ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น QRRA) ที่ทาง BNK48 ร่วมกับค่ายเพลงระดับโลกอย่าง Universal music แต่ปัญก็ได้ประกาศยุติบทบาทจากการเป็นสมาชิกในงาน ‘Lyra Exclusive Party - Galaxy แห่งความคิดถึง’ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565

ส่วนด้านผลงานการแสดงก็มีซีรีส์เรื่อง One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ที่ออกอากาศผ่านทาง Line TV หลังจากนั้นเธอได้มีโอกาสร่วมงานพากย์เสียงภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดเป็นครั้งแรก โดยได้รับหน้าที่ให้พากย์เสียงตัวละครเอกหญิง ‘ชาร์ลี’ ที่รับบทโดย ‘เฮลีย์ สไตน์เฟลด์’

สำหรับผลงานส่งท้ายก่อนที่เธอจะยุติบทบาทจากการเป็นสมาชิก BNK48 เนื่องจากสิ้นสุดสัญญา คือ การได้แสดงภาพยนตร์ The Cheese Sister รวมถึงได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ชื่อ ‘ชีส’ เป็นเพลงจังหวะไม่ช้าไม่เร็วฟังสบาย ๆ นอกจากจะร้องเองแล้ว ยังเขียนเนื้อร้อง และทำดนตรีเองด้วย (เก่งสุดๆ) และถือเป็นครั้งแรกที่มีเพลงเดี่ยวออกมาให้ทุกคนได้ฟัง (เมื่อปล่อยออกมาแล้วทุกคนชอบ ก็ดีใจมากๆ)

25 ธันวาคม ‘วันคริสต์มาส’ ยึดถือเป็นวันประสูติของ ‘พระเยซู’ ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์

วันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคริสต์มาส วันสำคัญของคริสต์ศาสนิกชน ซึ่งยึดถือกันว่าเป็นวันเกิดของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์

วันคริสต์มาส ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เป็นเทศกาลทางศาสนาเพื่อรำลึกวันประสูติของ พระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์ ที่พวกเขาเชื่อกันว่าพระองค์เป็นโอรสของเทพแห่งพระอาทิตย์ โดยคำว่า คริสต์มาส มาจากคำว่า ‘Mass of Christ’ หรือ ‘พิธีมิสซาของพระคริสต์’

โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณในปี ค.ศ. 1038 ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas สำหรับประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซ่าร์ ออกัสตัสแห่งโรมัน ทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็ขานรับนโยบาย อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุว่าพระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

 

หวนรำลึก 'จอร์จ ไมเคิล' ยอดนักประพันธ์เพลง ผู้เนรมิต 'Last Christmas'

"คริสต์มาสเมื่อปีกลายฉันมอบใจไว้ให้เธอ
ไม่แน่อาจพลั้งเผลอ ด้วยตัวเธอทิ้งมันไป
ครานี้ได้โปรดเถิด…หยุดน้ำตาฉันได้ไหม
เชื่อกันอย่างมั่นไว้จะเก็บให้คนสำคัญ"

ท่อนหนึ่งของ 'Last Christmas' ที่ผู้เขียนขออนุญาตดำน้ำแปลจากต้นฉบับ...

"Last Christmas I gave you my heart
But the very next day you gave it away
This year, to save me from tears
I'll give it to someone special."

หลังจากซิงเกิล 'Last Christmas' จากอัลบั้ม 'Music from the Edge of Heaven' (1984) ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะตั้งแต่ 1984 เพลงซึ่งประพันธ์โดยนักร้องนำ 'จอร์จ ไมเคิล' (George Michael) หนึ่งจากสองของดูโอแบนด์ ที่มี 'แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์' (Andrew Ridgeley) เป็นคู่หูในนามวง 'แวม!' (WHAM! - ห้ามลืมอัศเจรีย์!) ก็ทะยานขึ้นสู่ Top Chart Singles UK แทบทันที และแม้จะครองอันดับ 2 ติดต่อกันถึง 5 สัปดาห์ ก็รองเพียงแค่ 'Do They Know It's Christmas?' ของแบนเอด (Band Aid) ซึ่งจอร์จก็มีส่วนลงแรงร่วม

และนั่นคือเพลงการกุศลเพื่อโครงการช่วยเหลือทวีปแอฟริกา

โลกดนตรีในยุค 80's ก่อนถูกครอบครองจากอิทธิพลอเมริกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นทุกวันนี้ ช่างเปี่ยมด้วยความหลากหลายทางเนื้อหา อารมณ์ และการแสดงออก (Performance) มีพังก์แบบไอริช มีฮาร์ดร็อคอย่างสวีเดน มี World Music เข้มขลังจากญี่ปุ่นหรืออินเดียคอยขับกล่อม นานาล้วนมีให้คอเพลงจับจ่ายใช้สอยตามรสนิยม

ดูโอกรุ๊ป LGBT จากลอนดอนก็เช่นกัน

ในปี พ.ศ. 2541 หลังไมเคิลถูกตำรวจจับที่สหรัฐฯ ด้วยข้อหากระทำการลามกอนาจารในห้องน้ำสาธารณะเมืองเบเวอร์ลีฮิลส์ แคลิฟอร์เนีย ทำให้เขาตัดสินใจเปิดเผยว่าตนคือ 'ชายรักชาย' หลังจากถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องรสนิยมทางเพศของเขามานานหลายปี ผ่านเพลง ‘Outside’ ในชุดตำรวจแสนก๋ากั่นบนฟิล์มมิวสิควิดีโอ ซึ่งเรื่องนี้ผู้สันทัดกรณีในวงการวิจารณ์ว่า "นี่อาจเป็นครั้งแรกของแวดวงบันเทิงที่ศิลปินกล้าก้าวออกมาล้อเลียนตนเองได้อย่างแสบสัน"

นักร้องลูกครึ่งอังกฤษ - กรีก ผู้มีใบหน้าหล่อเหลาราวรูปสลัก ใช้ชีวิตทั้งด้านการงานและส่วนตัวอย่าง 'คุ้มค่า' สุดๆ เขาคบหาผู้คนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าหญิงไดอาน่า จนถึงยามรักษาความปลอดภัยหน้าบริษัท ซึ่งนั่นอาจเป็นวัตถุดิบชั้นดีกับการทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ - ผู้แต่งเพลง ‘Jesus To A Child’ เพลงที่อุทิศให้กับคู่ชีวิตผู้จากไปด้วยอาการติดเชื้อ HIV


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top