Monday, 12 May 2025
Lite

ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง ผู้ออกแบบโลโก้ชะลอม APEC 2022 นักออกแบบสร้างสรรค์แห่งปี

งานใหญ่ปลายปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่าง APEC 2022 (APEC Economic Leaders Meeting) จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม โดยไทยถูกชื่นชมจากแขกที่มาร่วมงานถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เปิดบ้านตอนรับแขกบ้านแขกเมืองได้สมศักดิ์ศรี สร้างความประทับใจให้กับผู้นำหลาย ๆ ประเทศอย่างมาก

ภาพรวมที่ออกมาสวยงามน่าชื่นชม แต่ก็แฝงไปด้วยความท้าทายเช่นกัน เพราะในฐานะเจ้าบ้านแล้ว เราต้องทำให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่หัวข้อการประชุม คอนเซปต์การประชุม สถานที่ประชุม ที่พักของผู้นำระดับโลก อาหารที่จะนำขึ้นโต๊ะรับรองเหล่าผู้นำ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเรื่อง ‘โลโก้’ ของการประชุม ที่กลายเป็นภาพจำชัดเจนว่า ประเทศไทย คือ เจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 หนนี้

หลายคนอาจจะมองว่า ‘ก็แค่โลโก้’ จะมีความสำคัญขนาดไหน? แต่ต้องขอบอกเลยว่ากว่าจะได้โลโก้ที่ใช้อย่างเป็นทางการนั้น ไม่ได้ง่ายเลย!! เพราะมีการประกวด คัดเลือก กว่าจะได้มา โดยโลโก้ที่เราได้เห็นในงานนี้นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ ‘นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา อายุ 21 ปี ซึ่งใช้ความพยายามและความสามารถเอาชนะผู้ร่วมประกวดเกือบ 600 คน

ชวนนท์ ได้บอกเล่าว่า “ช้าง วัด หรือยักษ์ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย แต่ผมมองว่ามันธรรมดาเกินไป และอยากคิดนอกกรอบ และไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อย ๆ จึงนึกถึง ‘ชะลอม’ ขึ้นมา”

นอกจากนี้ ชวนนท์ ยังเล่าอีกว่า “เรานึกถึงต้มยํากุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย หรือรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจในไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานานคืออะไร ผมนึกถึงชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ มันจักสานขึ้นจากไม้ไผ่และเป็นงานฝีมือที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์การประชุมฯ ในปีนี้” 

ชวนนท์ใช้เวลาราว ๆ 3 เดือนในการปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายออกมาเป็นโลโก้ที่เรา ๆ ได้เห็นกัน และแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง โดนชะลอมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจะมีช่องว่าง 21 ช่อง ซึ่งสื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจของ APEC ส่วนตัวปลายชะลอมที่ชี้ขึ้นฟ้าก็ต้องการสื่อถึงการเติบโตของ APEC

บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ จิตอาสาแห่งปี

กลายเป็นภาพคุ้นชินไปแล้ว ที่แทบทุกเหตุการณ์อุทกภัย หรือเหตุเภทภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อใด คนไทยมักจะได้เห็นนักแสดงใจบุญที่ชื่อ ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ เข้าอุทิศตัวช่วยเหลือชาวบ้านแบบไม่มีเหน็ดเหนื่อย ลุยเป็นลุย เปียกเป็นเปียก

ตลอดระยะมากกว่า 30 ปี คุณบิณฑ์ ทำงานช่วยเหลือสังคมมามากมาย ตั้งแต่เก็บศพ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งตึกถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ แม้จะต้องเผชิญคำครหาจากผู้ไม่หวังดีว่า ทำเพราะอยากมีชื่อเสียง หรือหวังผลทางการเมือง แต่ คุณบิณฑ์ ก็ไม่เคยท้อ และให้การกระทำลบคำสบประมาทเหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ความเป็น ‘ทองแท้ไม่กลัวไฟ’ จนเดี๋ยวนี้ถึงขั้นผู้ประสบภัยต่าง ๆ ที่ได้เจอคุณบิณฑ์มาช่วยเหลือยังติดปากกันเป็นแถวว่า “คิดว่าบิณฑ์จะไม่มาพื้นที่นี่แล้ว”

อันที่จริงการที่เราได้เห็น คุณบิณฑ์ ออกมาตามหน้าสื่อในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องราวการช่วยเหลือที่เพิ่งเกิดขึ้น และการที่เข้ามาช่วยเหลือของเขาไม่ใช่เรื่องที่นึกอยากช่วยก็เข้ามาช่วย แต่พร้อมช่วยทุกเหตุการณ์ที่สามารถทำได้ ภายใต้พันธะผูกพันตั้งแต่สมัยครั้นตัวเขายังเป็นเด็ก เนื่องจากเขาฝังใจเรื่องของการช่วยเหลือคนมาตั้งแต่วัยเยาว์ เหตุเพราะสมัยเป็นเด็กต่างจังหวัด เขาต้องคอยรับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่เอาเสื้อผ้า, สมุด, ดินสอมาแจก เขารู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณ และหวังว่าหากมีโอกาสก็อยากตอบแทนสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคม เหมือนที่เคยได้รับบ้าง

แล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อเกิดเหตุตึกถล่มหน้าโรงหนังเอเธนส์ ปี 2533 หลังเห็นข่าวจากหน้าจอโทรทัศน์ว่า มูลนิธิต่าง ๆ ต้องการแรงคนด่วนที่สุด เขาจึงตรงดิ่งไปยังจุดเกิดเหตุ ช่วยขุดช่วยเจาะตั้งแต่ 2 ทุ่มยันเที่ยงคืนกระทั่งพบผู้ประสบภัยคนแรก (ในขณะนั้นเขาเป็นพระเอกภาพยนตร์แล้ว)

คุณบิณฑ์รีบเดินทางไปที่นั่น และเมื่อมาถึงอาสาสมัครของมูลนิธิทั้งสองกำลังช่วยกันขุด เพื่อช่วยคน ตอนนั้นเขาเองก็เพิ่งเล่นหนัง ร่างกายแข็งแรง ก็เลยเดินเข้าไปขอเครื่องมือมาช่วยขุดหาคนเจ็บและผู้เสียชีวิต ขุดตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน จนเจอผู้ได้รับบาดเจ็บคนแรก ตั้งแต่นั้นมาทางมูลนิธิร่วมกตัญญูก็เอาชุดมาให้ใส่ แม้วันนี้เจ้าตัวจะไม่ได้ทำงานในนามมูลนิธิร่วมกตัญญู แต่ก็ยังคงทำงานในฐานะจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่คว้าคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ ผู้ว่าฯ แห่งปี

ปี 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำให้หมายเลข 8 ที่ปักเสื้อเขาไว้นั้น สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการกวาดคะแนนเสียงชาวกรุงเทพฯ ไปกว่า 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา

ชัชชาติ ในวัย 55 ปี ทำลายสถิติที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้จากการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน และก่อนหน้านี้ คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งปี 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน

คะแนนของผู้ว่าฯ ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนี้ ตามรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 23 พ.ค. 2565 หลังจากนับคะแนนครบ 100% ทิ้งขาดคู่แข่ง 5 อันดับแรก ขนาดนี้ นำคะแนนมามัดรวมกันยังไม่สามารถเอาชนะเขาได้

โปรจีน อาฒยา ฐิติกุล นักกีฬาหญิงยอดเยี่ยมแห่งปี

ปี 2565 นับเป็นปีทองของ ‘โปรจีน’ อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟมหัศจรรย์ ที่ผงาดขึ้นมือ 1 นักกอล์ฟหญิงโลก ในวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น จากการจัดอันดับโลกนักกอล์ฟหญิงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับ ‘โปรจีน’ อาฒยา เป็นคนไทยคนที่ 2 ต่อจาก ‘โปรเม’ เอรียา จุฑานุกาล ที่ขึ้นมือ 1 โลก และนับเป็นนักกอล์ฟหญิงที่อายุน้อยสุดเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์ ที่สามารถก้าวขึ้นมาติดอันดับ 1 ของโลก โดยคนที่อายุน้อยที่สุด คือ ลิเดีย โค ที่ขึ้นมือ 1 โลก ในวัย 17 ปี 9 เดือน 9 วัน

ย้อนเส้นทางความสำเร็จของ ‘โปรจีน’ เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2546 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในวัยเด็กน้องจีน เป็นโรคภูมิแพ้ ทางครอบครัวจึงให้ฝึกเล่นกีฬาเพื่อสร้างภูมิต้านทาน โดยให้เลือกระหว่างกอล์ฟกับเทนนิส ซึ่งเป็นกีฬาที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต ในเวลานั้น น้องจีน ตัดสินใจเลือกเล่นกอล์ฟซึ่งเป็นกีฬาที่คิดเองว่าอาจจะดูเหนื่อยน้อยกว่าเทนนิส จึงได้หัดเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ

ชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากที่สามารถคว้าแชมป์กอล์ฟรายการเลดีส์ ยูโรเปี้ยน ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2017 ในตอนนั้นทำให้ น้องจีน เป็นนักกอล์ฟที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกที่ชนะการแข่งขันกอล์ฟอาชีพในวัยเพียง 14 ปี 4 เดือน 19 วันเท่านั้น

จากนั้นในปีเดียวกัน น้องจีน อาฒยา ได้เหรียญทอง 2 เหรียญ จากการแข่งขันกอล์ฟ ประเภทบุคคลหญิงและทีมหญิง ในกีฬาซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย และได้เหรียญทอง จากการแข่งขันกอล์ฟประเภททีมผสมในโอลิมปิกเยาชนฤดูร้อน 2018 ที่ประเทศอาร์เจนตินาด้วย

ในปีถัดมา น้องจีน ยังชนะการแข่งขันกอล์ฟอาชีพรายการที่ 2 ในขณะที่ยังเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่น ด้วยการคว้าแชมป์ศึกเลดีส์ ยูโรเปี้ยน ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิพ 2019 เป็นการชนะการแข่งขันรายการนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี โดยในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น

30 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ญี่ปุ่นเปิดรถไฟใต้ดินสายกินซะ เส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย

วันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2470 ญี่ปุ่นเปิดการจราจรรถไฟใต้ดินสายกินซะในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย วันที่ 30 ธ.ค.ของทุกปีจึงเป็นวันครบรอบสถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรก

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) - ญี่ปุ่นเปิดการจราจรรถไฟใต้ดินสายกิงซะในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในทวีปเอเชีย

โตเกียวเมโทรสายกินซะ (ญี่ปุ่น: 銀座線 โรมาจิ: Ginza-sen) หรือ สาย 3 กินซะ (ญี่ปุ่น: 3号線銀座線 โรมาจิ: 3-gōsen Ginza-sen) เป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายหนึ่งของบริษัทโตเกียวเมโทร ในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีความยาวทั้งสิ้น 14.3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตชิบุยะ มินะโตะ ชิโยะดะ และไทโต

สัญลักษณ์ของโตเกียวเมโทรสายกินซะที่ปรากฏบนแผนที่หรือป้ายบอกทางจะใช้สีส้ม และตัวอักษรภาษาอังกฤษ 'G'

โดยรถไฟใต้ดินสายกินซะเริ่มต้นขึ้น เมื่อนักธุรกิจนามว่า โนะริสึงุ ฮะยะกะวะ ได้เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1914 ได้เห็นกิจการรถไฟใต้ดินลอนดอน จึงเกิดความคิดว่าโตเกียวจะต้องมีรถไฟใต้ดินเป็นของตัวเอง เขาจึงก่อตั้งบริษัทรถไฟใต้ดินโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京地下鉄道 โรมาจิ: Tōkyō Chika Tetsudō) ขึ้นในปี ค.ศ. 1920 และเริ่มก่อสร้างในอีก 5 ปีต่อมา

เส้นทางระหว่างอุเอะโนะและอะซะกุซะได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1927 ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรกในซีกโลกตะวันออก ทันทีที่เปิดให้บริการได้รับความนิยมจากผู้โดยสารมาก เพราะสามารถลดระยะเวลาในการรอรถไฟจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียงแค่ 5 นาที

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1930 ได้ขยายเส้นทางออกไปอีก 1.7 กิโลเมตร จนถึงสถานีมันเซบะชิ ซึ่งต่อมาสถานีนี้ถูกยกเลิกในอีก 1 ปีต่อมา เมื่อขยายเส้นทางออกไปอีก 500 เมตร จนถึงสถานีคันดะ การก่อสร้างชะงักลงช่วงหนึ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ แต่สุดท้ายสามารถขยายเส้นทางได้จนถึงสถานีชิมบะชิตามแผนการที่วางไว้

31 ธันวาคม พ.ศ.2549 เหตุระเบิดป่วนกรุง 9 จุด สร้างความแตกตื่นคืนข้ามปี

ย้อนกลับไปคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ได้เกิดเหตุระเบิดป่วนเมือง ที่สร้างความแตกตื่นให้กับชาวกรุงเทพในคืนข้ามปี

โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีการวางระเบิดในกรุงเทพถึง 9 จุด ประกอบด้วย

จุดที่ 1. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกิดระเบิด 2 ครั้ง เวลาประมาณ 18.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 17 คน และเสียชีวิต 2 คน โดยระเบิดถูกวางไว้ที่บริเวณป้ายจอดรถประจำทางหน้าห้างเซนเตอร์วัน

จุดที่ 2. แยก ณ ระนอง คลองเตย ระเบิดถูกซุกไว้ในถังขยะใกล้ศาลเจ้าจีน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน เสียชีวิต 1 คน

จุดที่ 3. แยกสะพานควาย ระเบิดถูกวางไว้ที่ป้อมตำรวจบริเวณสี่แยก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน

จุดที่ 4. ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ เขตประเวศ ระเบิดถูกพบในขณะที่ยังไม่ทำงานบริเวณชั้น 1 ของศูนย์การค้า หลังจากตรวจพบได้ย้ายระเบิดไปยังลานจอดรถและเกิดระเบิดขึ้น แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่สั่งปิดห้างฯชั่วคราว

จุดที่ 5. แยกแคราย บริเวณป้อมตำรวจ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

1 มกราคม พ.ศ. 2552 ครบรอบ 13 ปี ‘ไฟไหม้ซานติก้าผับ’ โศกนาฏกรรมรับปีใหม่ที่ยากจะลืม

เช้าวันแรกของปีที่ควรจะมีแต่ความสดชื่นและเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง แต่ทว่าในวันนี้เมื่อราว 13 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมกลางดึกในคืนวันเคาท์ดาวน์ ต่อเนื่องถึงเช้าวันแรกของปี พ.ศ. 2552

เกิดเหตุเพลิงไหม้ ‘ซานติก้าผับ’ ย่านเอกมัย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 66 คน ต้นเหตุของโศกนาฎกรรมครั้งนั้น เกิดขึ้นภายหลังการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ได้ไม่กี่นาที เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ลุกลามไปทั่วอย่างรวดเร็ว ชั่วเวลาไม่นาน ภายในร้านกลายเป็นทะเลเพลิง ผู้คนนับร้อยต่างพากันวิ่งหนีเปลวไฟที่โหมกระหน่ำอย่างรวดเร็ว โชคร้ายที่ทางออกของร้านนั้นคับแคบ และมีประตูทางออกไม่กี่ทาง ส่งผลให้มีผู้คนเบียดเสียดเหยียบล้มทับกัน ในที่สุดก็สำลักควัน และเสียชีวิตอยู่ภายในร้านนับได้ในขณะนั้น 66 ชีวิต

สำหรับซานติก้าผับได้เปิดทำการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เป็นอาคารเดี่ยวในพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตรปลูกอยู่ในพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ยกระดับ 3 ชั้น เป็น ชั้น1 ชั้น 2 และชั้นใต้ดิน ซานติก้าผับ มีประตูทางออก 4 ประตู โดยแบ่งเป็น ประตูทางออกสำหรับบุคคลสำคัญ และ ประตูทางออกสำหรับออกไปสูบบุหรี่ ประตูทางออกหลัก 2 ประตู

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เจ้าพ่อแฉแห่งปี

ชื่อของนาย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเสี่ยอ่างจอมแฉ กระหึ่มปังขึ้นมาอีกครั้ง หลังหวิดวางมวย สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการสันติบาล หน้า สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 เหตุตัวตึงวงการแฉรายนี้ ได้เปิดโปงข้อมูลกลุ่มทุนจีนสีเทาในประเทศไทย ที่ขยายวงไปแตะทั่วแทบวงสังคมในบ้านเราจนประชาชนต่างให้ความสนใจ 

อันที่จริง ตัวตึงแห่งวงการแฉคนนี้ ทำหน้าที่โดดเด่นมาทั้งปี แต่ซีรีส์ภาคต่อก็คงไม่พ้นกรณีการแฉทุนจีนธุรกิจสีเทา ที่พาคนไทยลากผ่านไปพบปกเงื่อนงำแบบยกโขลง ตั้งแต่การแฉ ปาร์ตี้ผับหรู จินหลิง ยานนาวา ที่เปิดเกินเวลา มียาเสพติดเกลื่อน โดยมีทุนจีนธุรกิจสีเทาหัวโจกหลัก 

การเปิดข้อมูลสำคัญ มี 5 กลุ่มมาเฟียจีน ภายใต้หัวหน้าแก๊งที่ชื่อ ‘เจ้าเหว่ย’ แห่งอาณาจักร ‘คิงส์โรมัน’ ซ่องสุมกระทำความผิดในไทย 

การตั้ง ‘กลุ่มบริษัทศูนย์เหรียญ’ ที่เหมือน ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ ไปจนถึง ‘ผับศูนย์เหรียญ’ ขยายผลไปยังพิกัดและแหล่งซ่องสุมใหม่ของนายทุนจีนเทา รวมไปถึงเบื้องหลังของ ‘ตู้ห่าว’ และเปิดยุทธการชำแหละทรัพย์สิน ข้อมูลนอมินี กระบวนการฟอกเงิน และผู้เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ทุนจีนสีเทาเหล่านี้ 

สำหรับ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นบุตรคนสุดท้อง มีพี่น้อง 8 คน ชาย 5 คน หญิง 3 คน ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ฮ่องกง ก่อนจะย้ายมาประเทศไทยอาศัยอยู่และเติบโต ในย่านเยาวราช โดยครอบครัวทำธุรกิจนำเข้าและผลิตแบรนด์กางเกงยีนส์ฮาร่า ที่ตอนนี้ผู้พี่ชายดูแลกิจการอยู่

ดีกรีด้านการศึกษาของ ชูวิทย์ ก็ไม่เบา เขาได้เข้าเรียนประถมศึกษา ในโรงเรียนสหพาณิชย์เข้าศึกษาต่อมัธยมต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และ มัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นศึกษาต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และเคยเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโกแต่ไม่สำเร็จการศึกษา และหลังจากนั้นได้ศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์

ชูวิทย์ เริ่มก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจ ด้วยการเริ่มทำบ้านจัดสรร และเปิดร้านอาบอบนวดชื่อ ‘วิคตอเรีย ซีเคร็ท’ ขยายกิจการจนเป็นเจ้าของทั้งหมด 6 แห่ง ในเครือเดวิสกรุ๊ป ก่อนไปก่อตั้ง ‘มูลนิธิต้นตระกูลกมลวิศิษฎ์’ จนกระทั่งออกมาแฉเรื่อง การรีดไถ รับส่วย ของตำรวจ จนได้รับฉายา เสี่ยอ่างและจอมแฉ

นอกจากนี้แล้ว ชูวิทย์ยังเป็นเจ้าของโรงแรม The Davis Bangkok Hotel ที่ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท 24  ขนาด 7 ไร่โดยเฉพาะที่ดินคาดว่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท เพราะสุขุมวิท ซอย 24 เป็นซอยที่ติดอันดับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในเมืองไทย ก่อนหน้านี้ อาชู เคยเป็นเจ้าของ สวนชูวิทย์ ปากซอยสุขุมวิท 10 จุดที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจ บาร์เบียร์ ซึ่งหลังจากมีปัญหา ชูวิทย์ก็เปลี่ยนจุดมุ่งหมายการสร้าง ไปเป็นสวนสาธารณะ และยกให้เป็นสวนสำหรับประชาชนคนกรุงเทพ และเป็นที่ทำการพรรครักประเทศไทย ของตัวเอง ก่อนที่ในปัจจุบัน จะเปลี่ยนเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ เพื่อใช้สอยหลายรูปแบบ

2 มกราคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์

ครบรอบ 14 ปี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นพระธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงแนะนำให้ทรงงานเป็นครู จึงทรงเป็นสมเด็จอาจารย์ ทรงสอนภาษาฝรั่งเศสในหลายมหาวิทยาลัย และตามเสด็สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์

3 มกราคม พ.ศ. 2458 ในหลวง ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

วันนี้ครบรอบ 107 ปี พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์) โดยต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

ในวันนั้นพระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ ผู้ที่มาชุมนุมอยู่ในงานพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ ในวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พระพุทธศักราช 2458 ความว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีเหตุติดขัด"

"ซึ่งการยังจะดำเนินไปไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยรู้ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้วจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเราเป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์ อันใหญ่และถาวรเช่นนี้”

“ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราจะได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้ส่วนการที่ดำเนินไปได้จนเป็นรูปถึงเพียงนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะของกรรมการผู้ได้รับมอบเป็นหน้าที่ผู้อำนวยการ ประกอบกับความอุตสาหะแห่งบรรดาผู้มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์สั่งสอนในโรงเรียนนี้ ของกรรมการที่ได้รับมอบหน้าที่ไปจากเราให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจงได้รับความขอบใจของเราแล้ว"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top