Monday, 12 May 2025
Lite

9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

วันนี้เมื่อ 93 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า 'สะพานพระพุทธยอดฟ้า' โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2471 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อปี พ.ศ. 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปีด้วย จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6

เจ้าชายนักประดิษฐ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ผู้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

เมื่อช่วงปีใหม่ผมมีโอกาสได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวิถีของชาวพุทธ โดยได้ไปสักการะ 'พระพุทธอังคีรส' ประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คำว่า 'อังคีรส' มีความหมายว่า 'มีพระรัศมีเปล่งออกมาจากพระวรกาย'

พระพุทธรูปองค์นี้ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ด้วยกะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415 ซึ่งใต้ฐานบัลลังก์ของ 'พระพุทธอังคีรส' นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พุทธลักษณะของ 'พระพุทธอังคีรส' ประกอบด้วยพระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก ไม่มีอุษณีษะ (ปุ่มด้านบนศรีษะ) มีพระรัศมีขนาดใหญ่เป็นเปลว พระกรรณสั้นเหมือนมนุษย์ปกติ ไม่ยาวเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป การครองจีวรห่มเฉียง มีริ้วแบบธรรมชาติ สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่เหมือนผ้าสังฆาฏิที่ใช้จริงแบบพระสงฆ์ทั่วไป นักวิชาการให้ความเห็นกันไว้ว่านี่คือพระพุทธรูปที่มีลักษณะ 'เทวดาครึ่งมนุษย์' ที่งดงาม ไร้ที่ติ ถึงตรงนี้ใครกันหนอ ? คือผู้ปั้นและหล่อ 'พระพุทธอังคีรส' องค์นี้ 

'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' พระองค์คือช่างปั้นและช่างหล่อท่านที่ผมสงสัยนั่นเอง พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของ 'พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์' ต้นราชสกุล 'ดวงจักร' เมื่อแรกประสูติ ทรงพระนามว่า 'หม่อมเจ้าดิศ' พระบิดาของพระองค์นั้น ทรงกำกับ 'กรมช่างหล่อ' (เป็น DNA จากพ่อสู่ลูกแน่ ๆ อันนี้ผมคิดเองนะ) ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว' โดย 'ช่างหล่อ' เป็นหนึ่งในกลุ่ม 'ช่างหลวง' ที่เรียกกันว่า 'ช่างสิบหมู่' 

โดย 'ช่างหล่อ' มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการหล่อโลหะ เช่น การหล่อกลองมโหระทึก หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ การหล่อพระพุทธรูปโลหะทำได้โดยการใช้ขี้ผึ้งทำเป็นหุ่นแล้วละลายขี้ผึ้งจนเกิดที่ว่างในแม่พิมพ์ แล้วจึงเทโลหะหรือทองที่กำลังหลอมละลายเข้าแทนที่ จะได้เป็นรูปหล่อโลหะสำริด เรียกวิธีนี้ว่า 'ไล่ขี้ผึ้ง' ซึ่งก็คืองานวิจิตรศิลป ประเภทงานประติมากรรมนั่นเอง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก ๆ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเชื่อได้ว่า 'พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' คงจะได้เรียนรู้ ศึกษา และสั่งสมประสบการณ์ จาก 'พระบิดา' ของพระองค์นั่นเอง 

ผมคงไม่เล่าพระประวัติของพระองค์มากนัก แต่จะเล่าถึงความสามารถของพระองค์และงานปั้นที่พระองค์ได้ทรงปั้นไว้ดีกว่า 

เริ่มต้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ 4 ซึ่งในช่วงนั้น ฝรั่งเศสและอังกฤษ พยายามหาทางจะยึดครองสยามให้ได้ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤติก็เกิดเหตุพลิกผันที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างอัศจรรย์ พระองค์จึงทรงดำริว่า เป็นไปได้ว่าน่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาสยามอยู่ จึงสมควรจะสร้างรูปสมมติของเทพยดาองค์นั้นขึ้นเพื่อสักการบูชา จึงได้มีพระบรมราชโองการ ให้ 'พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ' เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น 'หม่อมเจ้าดิศ' รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ได้เป็นนายช่างเอกออกแบบเทพยดาองค์หนึ่ง ตามพระราชดำริของพระองค์ ซึ่งใช้คติ 'มเหศักดิ์' หรือเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมืองมาจินตนาการแล้วปั้นขึ้นเป็น 'เทวรูปยืน' ทรงเครื่องต้น พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในท่าประทานพร มีขนาดสูง 8 นิ้ว หรือ 20 เซนติเมตร เป็นที่พอพระราชหฤทัยของ ร.4 เป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นแล้วถวายพระนามว่า 'พระสยามเทวาธิราช'

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1946 ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมากจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่างๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

‘คำสาป-อาถรรพ์’ ของ ‘วังหน้า’ สมัยรัตนโกสินทร์ สู่ปัจฉิมบท ยกเลิก ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’

‘วังหน้า’ หรือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ เป็นชื่อสถานที่และตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองจนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งสำคัญนี้ เนื่องจากกรณีขัดแย้งและไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เป็นเครื่องมือให้ฝรั่งชาตินักล่าอาณานิคมมาใช้ในการครอบงำและวุ่นวายในสยาม แต่กระนั้นเรื่องราวของ ‘วังหน้า’ ก็มีความน่าสนใจ ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าสู่กันอ่านและผมขออนุญาตเล่าเรื่องราวเฉพาะ ‘วังหน้า’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ดังนี้นะครับ 

“...ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข...” คำสาปแช่งนี้เป็นคำเล่าลือว่าออกมาจากพระโอษฐ์ของ ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มีพระนามเดิมว่า ‘บุญมา’ ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยรับราชการอยู่ใน ‘กรมมหาดเล็ก’ ตำแหน่ง ‘นายสุจินดาหุ้มแพร’ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ทรงหนีภัยสงครามไปร่วมทัพกับ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ร่วมกอบกู้บ้านเมืองจนได้เอกราช พระองค์ขึ้นชื่อว่าเป็นทหารเอกและมีบารมีมาก แถมเป็นผู้ชักนำพี่ชายของตนคือ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ซึ่งขณะนั้นเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี มาเข้าร่วมกองทัพจนได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในกาลต่อมาได้ เรียกว่า ‘มีบารมีจนพี่ชายต้องเกรงใจ’

เมื่อได้รับการสถาปนาพระองค์ได้รับพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมือง เพื่อสร้างเป็น ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ และพระองค์ยังทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย ถ้าเทียบขนาด ‘วังหลวง’ กับ ‘วังหน้า’ ในตอนนั้นต้องบอกว่า ‘ใหญ่’ เกือบจะเท่ากัน แล้วคุณรู้ไหม ? ว่าทำไม ? วังหน้าถึงต้องอยู่หน้าวังหลวง ว่ากันว่าการวางตำแหน่งแบบนี้ยึดตามหลักพิชัยสงครามเมื่อไปออกศึก ที่จะแบ่งเป็นทัพหน้า ทัพหลวง โดยเมื่อข้าศึกมาประชิด ทัพหน้าจะเป็นด่านแรกที่ปะทะดังนั้นบทบาทของผู้ครองวังหน้าจึงยิ่งใหญ่และสำคัญมาก ๆ (เหมาะกับนักรบอย่าง ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ มาก ๆ ) 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ทรงสร้าง ‘พระบวรราชวัง’ นี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนม์ชีพ แต่หลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี ก็ด้วยประชวรพระโรคนิ่ว เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง เล่ากันว่าในวันที่พระองค์ ทรงใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อรัชกาลที่ 1 ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป แต่ไม่ทราบคำขอนั้นเป็นอย่างไร จึงได้เกิดคำสาปแช่งที่เป็นเรื่องเล่าตามที่ผมได้กล่าวไว้ในข้างต้น 

‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ สวรรคตขณะพระชนมายุ 60 พรรษา ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ ตั้ง ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร’ (กาลต่อมาคือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ที่สอง

ครั้งนั้น ‘เจ้าคุณจอมแว่น พระสนมเอก’ ได้กราบฯ ทูลขอให้เชิญเสด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ไปประทับ ณ พระบวรราชวังแทน แต่รัชกาลที่ 1 ไม่ทรงเห็นด้วย อาจเพราะทรงรำลึกถึงคำสาปแช่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นหนักเป็นหนา” จึงโปรดเกล้า ให้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม จนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จฯประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นเพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ได้สืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์คือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 

‘พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ‘สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์’ เป็น ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่าง ‘วังหลวง’ และ ‘วังหน้า’ เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 และ วังหน้าพระองค์นี้ ทรงสนิทกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วังหน้าเองก็เสด็จฯ เข้าวังหลวง เพื่อทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้าฯ ไม่ได้ขาด ‘กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์’ ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็สวรรคตในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360 โดยมีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในรัชสมัยของพระองค์อีก

‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ว่างเว้นเจ้าของมา 7 ปี กระทั่ง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ‘กรมหมื่นศักดิพลเสพ’ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา (เป็นอารุ่นเล็กที่อายุพอ ๆ กัน) บวรราชาภิเษกเป็น ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ครองวังหน้าต่อ สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดกลัวกันนั้น น่าจะไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ ด้วยพระองค์ทรงอภิเษกกับ ‘พระองค์เจ้าดาราวดี’ พระราชธิดาใน ‘กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท’ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย แต่กระนั้นก็ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้มีพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาลที่ 3 

‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ได้ทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง โดยมีการถือปูนเสริมไม้และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงขนานนามว่า ‘พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย’ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

ครั้นในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช ‘เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ เป็น ‘วังหน้า’ แต่แตกต่างด้วยการแก้เคล็ดก่อนตั้งด้วยว่า ‘กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ มี ‘พระชะตากล้า’ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งและมี ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเษก’ ขึ้นเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’  (ซึ่งผมจะนำมาเล่าแยกในบทความลำดับต่อ ๆ ไปนะครับ) 

11 มกราคม พ.ศ. 2465 ‘Leonard Thompson’ มนุษย์คนแรก ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

วันนี้ เมื่อ 101 ปีก่อน Leonard Thompson เป็นมนุษย์คนแรกของโลก ที่ได้รับการฉีด ‘อินซูลิน’ รักษาโรคเบาหวาน

ในปี ค.ศ. 1889 นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski พบสาเหตุของโรคเบาหวานโดยบังเอิญ จากการทดลองตัดตับอ่อนของสุนัขออกไปเพื่อดูว่าสุนัขจะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อไม่มีอวัยวะนี้

ปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดของสุนัขสูงขึ้น และสุนัขมีอาการของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำหนักลด นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองยังพบอีกว่า ตับอ่อนทำงานผลิตสารอีกชนิดที่ไม่ได้หลั่งออกไปตามท่อสู่ลำไส้ แต่หลั่งออกไปสู่ร่างกายตามกระแสเลือด การค้นพบนี้ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในเรื่องของฮอร์โมนขึ้น

หลังจากนั้น Frederick Banting ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาผู้สนใจเรื่องเบาหวาน เขาอ่านพบงานวิจัยของ Joseph von Mering และ Oskar Minkowski ซึ่งพบว่าตับอ่อนเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน Frederick Banting ตั้งสมมติฐานว่า หากผูกท่อน้ำย่อยของตับอ่อนไม่ให้หลั่งออกมา น้ำย่อยจะไหลกลับไปที่ตับอ่อนทำให้ตับอ่อนอักเสบและเซลล์ที่สร้างน้ำย่อยสลายไป ก็จะเหลือแต่เซลล์ที่สร้างสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และจะทำให้การสกัดเอาสารนี้ออกมาได้ผลดีขึ้น และเริ่มทำการทดลองกับสุนัขตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ด้วยการขออนุญาต ศาสตราจารย์ John Macleod เพื่อใช้ห้องทดลองเล็กของมหาวิทยาลัยโตรอนโต โดยมี Charles Best-นักศึกษาแพทย์ เป็นผู้ช่วย และ James Collip-นักชีวเคมี เป็นที่ปรึกษา

‘BLACKPINK’ สร้างประวัติศาสตร์วงการ K-pop โชว์บนเวที ‘Coachella 2023’ ในฐานะ Headliners

BLACKPINK สร้างประวัติศาสตร์เป็นศิลปินหญิง K-pop กลุ่มแรก ขึ้นโชว์บนเวที Coachella 2023 ในฐานะ Headliners

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 66) เทศกาลดนตรีชื่อดังของสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยรายชื่อศิลปินที่จะเข้าร่วมในปี 2023 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมี 4 สาววงแบล็กพิงก์ (BLACKPINK) ลิซ่า, จีซู, เจนนี่ และโรเซ่, Bad Bunny และ Frank Ocean เป็นศิลปินชั้นนำ

ในขณะที่ BLACKPINK เคยขึ้นแสดงที่งาน Coachella ในปี 2019 ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่พวกเธอจะได้ขึ้นเวทีในฐานะผู้นำ ช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งทำให้ BLACKPINK เป็นศิลปินเคป็อป (K-POP) กลุ่มแรกที่ได้ขึ้นโชว์บนเวที Coachella 2023 ในฐานะ Headliners

12 มกราคม พ.ศ. 2566 ครบ 1 ปี การจากไป ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ฉายา ‘ราชาเพลงแหล่’

ครบรอบ 1 ปี การจากไปของราชาเพลงแหล่ ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ และศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือ พาน สกุลณี เกิดวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 (79 ปี)  ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1

ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า 'ไวพจน์ เพชรสุพรรณ' หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี 'รวมดาวกระจาย' ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง 'ให้พี่บวชเสียก่อน' และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง 'แบ่งสมบัติ' และ '21 มิถุนา ขอลาบวช' เป็นต้น

ร้องกันได้ยัง!! 'หน้าที่เด็ก' เวอร์ชัน 2023 เพลงแปลงเพื่อกลุ่มการเมือง ‘เยาวรุ่น’

เพจนักเขียนร้อยกรองชื่อดัง 'ภกฺติ' ได้เผยแพร่เนื้อร้องเพลง 'หน้าที่เด็ก' เวอร์ชัน 2023 มีเนื้อหาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคลั่งไคล้ลัทธิการเมือง หรือกลุ่ม ‘เยาวรุ่น’ (เยาวชน + วัยรุ่น) ซึ่งมักแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว บิดเบือนสิ่งดีในสังคมให้แปดเปื้อน 

โดยเพจ 'ภกฺติ' (ออกเสียงว่า ภักติ ซึ่งเป็นคำเดียวกับ ภักดี) ได้อิงมาจากทำนอง - คำร้องของ 'หน้าที่เด็ก' เพลงเดิม ซึ่งประพันธ์โดย 'ชอุ่ม ปัญจพรรค์' (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534) ทำนองโดย 'เอื้อ สุนทรสนาน' (บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง) มีวง 'สุนทราภรณ์' บรรเลงและบันทึกเสียง ซึ่งนับเป็นบทเพลงที่มีอายุยาวนานที่สุดเพลงหนึ่งของไทย ไว้ดังนี้...

* เด็กเอ๋ยเด็กดี
คิดให้ถ้วนถี่อย่าเอาอย่างมัน (ซ้ำ*)

หนึ่ง ชังชาติศาสนา
สอง ปากหมาและหน้ามั่น

สาม เถียงพ่อแม่ครูอาจารย์
สี่ วาจานั้นช่างกำเริบเสิบสาน

‘การยืนเคารพ’ จากประกาศของ ‘คณะราษฎร’ สู่ความย้อนแย้งแห่ง ‘เยาวรุ่น’ ที่ดันไม่ทำตาม

เมื่อหลายวันก่อนในงานคอนเสิร์ตของ BLACKPINK มีประเด็นดราม่าเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มี ‘คนบ้า’ คลั่งปฏิวัติคนหนึ่งออกมาห้อยโหนจนน่ารำคาญ พออ่านข้อความจากบุคคลท่านนั้นผมก็เลยรู้สึกถึงความย้อนแย้งที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอของบุคคลท่านนี้ เพราะจริงๆ คนที่บังคับให้คนต้องยืนตรงเคารพเพลงในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ กลุ่มบุคคลที่ ‘คนบ้า’ คลั่งปฏิวัติคนนี้เคารพซะเหลือเกิน นั่นก็คือ ‘คณะราษฎร’ และ 1 ในผู้ก่อการที่คลั่งการให้คนอื่นยืนเคารพตนและเพลงที่แต่งเพื่อตัวเองนั่นก็คือ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ แต่ก่อนจะไปเล่าเรื่อง ‘บ้าๆ’ ของผู้นำชาติพ้นภัย ผมขอเล่าเรื่องของเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ก่อนนะครับ 

จุดเริ่มต้นของบทเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ นั้น สืบเนื่องมาตั้งแต่ในสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการใช้เพลง ‘God Save the King’ ในการบรรเลงถวายความเคารพแด่องค์กษัตริย์ตามแบบอย่างธรรมเนียมการฝึกทหารจากทางฝั่งสหราชอาณาจักร 

ครั้นเมื่อถึงรัชสมัยของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 5 พระองค์ เสด็จฯ ติดต่อกับต่างแดนสม่ำเสมอ โดยเฉพาะชาติอาณานิคม เช่น การเสด็จประพาสเกาะชวาและเมืองสิงคโปร์ในช่วงปี พ.ศ. 2414 ทหารที่นั่นก็ได้ใช้เพลง God Save the King บรรเลงเป็นเพลงพระเกียรติเพื่อรับเสด็จเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและซ้ำซ้อนกันนี้ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทยให้แต่งเพลงรับเสด็จขึ้นใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ซึ่งในช่วงแรก เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นใช้ ‘เพลงบุหลันลอยเลื่อน’ ที่มีการเรียบเรียงทำนองดนตรีขึ้นใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ ‘พระประดิษฐไพเราะ’ (มี ดุริยางกูร) ได้ดัดแปลงมาจากเพลงสรรเสริญนารายณ์ของเก่า ส่วนเนื้อร้องประพันธ์โดย ‘พระยาศรีสุนทรโวหาร’ (น้อย อาจารยางกูร) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปี พ.ศ. 2416 มีเนื้อเพลงว่า....

‘ความ สุขสมบัติ บริวาร . เจริญ พระปฏิภาณ ผ่องแผ้ว 
จง ยืนพระชนมาน . นับรอบ ร้อยแฮ . มี พระเกียรติเพริดแพร้ว . เล่ห์เพียงจันทร’

ต่อมาใน พ.ศ.2431 ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’ ทรงคิดจัดคอนเสิร์ต ขึ้นในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่หน้าศาลายุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) โดยมี ‘ปโยตร์ ชูรอฟสกี้’ นักประพันธ์ดนตรีชาวรัสเซียเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตก และ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์’ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบทำนองดังนี้…

...ข้าวรพุทธเจ้าเหล่าพิริย์ผลผลา . สมสมัยกาละปิติกมล . รวมนรจำเรียงพรรค์สรรดุริยพล
สฤติมณฑลทำสดุดีแด่นฤบาล . ผลพระคุณะรักษาพละนิกายะสุขสานต์
ขอบันดาลธ ประสงค์ใด . จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย . ดุจถวายไชยฉนี้ ฯ

ต่อมาได้ทรงแก้และทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ในงานพระราชพิธีสรง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ’ ดังนี้…

ข้าวรพุทธเจ้า . เอามโนและสิรกราน . นบพระภูมิบาลบุญดิเรก . เอกบรมจักริน . พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง . เย็นศิราเพราะพระบริบาล . ผลพระคุณ ธ รักษา . ปวงประชาเป็นศุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด . จงสฤษดิ์ดังสิทธิ์ดังหวังวรหฤทัย . ดุจถวายไชย ฉนี้ ฯ

จนมาถึง ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 6 เด็กๆมักจะร้อง...ฉนี้...ชะนี ไปโดยมาก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนคำท้ายเป็น...ไชโย มาตั้งแต่บัดนั้น

ส่วนธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์หรือโรงมหรสพในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เช่นกัน โดยในยุคหนังเงียบ ต้องมีแตรวงหรือวงเครื่องสายผสมบรรเลงประกอบการฉายอยู่แล้ว และจะบรรเลงเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ถวายความเคารพเมื่อฉายจบหรือจบการแสดง โดยถือว่าเป็นสัญญาณปิดโรง ซึ่งแรกๆ คงบรรเลงอย่างเดียว ต่อมาจึงฉายกระจกพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นบนจอด้วย จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกโรงภาพยนตร์และโรงมหรสพในประเทศไทย โดยไม่มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด ย้ำนะครับ ‘ไม่มีกฎหมายบังคับ’ !!!

ส่วนเยาวรุ่นที่ ‘เห่าหอน’ เมื่อเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ บรรเลงขึ้นและไม่เท่ที่ต้องยืนเคารพ เพราะการยืนเคารพคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งบังคับโดยองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย คุณจะไม่ยืนเขาก็ได้ไม่มีใครว่าอะไร เพียงแต่คุณอาจจะเป็นคนที่โคตร ‘ไม่รู้ภาษา’ และ ‘ไม่มีการศึกษา’ เอาซะเลย สมแล้วที่ถูกจูงจมูกไปไหนก็ได้โดยง่าย 

เรื่องระเบียบต้อง ‘ยืนเคารพ’ นั้นมาเกิดในช่วง 3 ปี หลังปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎร โดย ‘พระยาพหลฯ’ หัวหน้าคณะราษฎรได้ทำให้การยืนเคารพเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ ในโรงภาพยนตร์เป็น ‘ระเบียบ’ ที่ต้องปฏิบัติตาม (แต่ยังไม่เป็นกฎหมาย) ซึ่ง ‘คณะราษฎรเป็นคนประกาศ’ นะครับ ย้ำ!!! 

ส่วนปฐมเหตุแห่งการ ‘บังคับยืนเคารพ’ โดยใช้ ‘กฎหมาย’ มาจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ผู้เป็นฮีโร่ของเยาวรุ่นพวกนี้ ซึ่งนายทหารและนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ถึง 8 สมัย รวมระยะเวลากว่า 15 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด เป็นผู้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อวันที่ 8 กันยายน พุทธศักราช 2482 โดยมีเนื้อความว่า.....

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติพึงได้รับการเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้ (ขออนุญาตแปลงเนื้อความเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน)

1. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับหรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

2. เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบ หรือตามประเพณีนิยม

3. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

4. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใดๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม

5. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดังกล่าวในข้อ 1–2–3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ประกาศมา ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

13 มกราคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันการบินแห่งชาติ’ จุดเริ่มต้นการบินของไทย

วันที่ 13 มกราคม 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวัน ‘การบินแห่งชาติ’ 

วันการบินแห่งชาตินั้น เริ่มต้นมาจากปี พ.ศ. 2454 ที่ จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top