Monday, 12 May 2025
Lite

‘หนึ่งคนว่าย หลายคนให้’ ปันน้ำใจ ‘พี่น้องชาวไทย’ สู่ ‘พี่น้องชาวลาว’

หลายครั้งหลายคราที่เราได้เห็นคนในวงการบันเทิงออกมาทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น ‘บิณฑ์ บันลือฤทธิ์’ ที่อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะไฟไหม้ น้ำท่วม และทุกเรื่องที่ช่วยได้ก็จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างสุดกำลัง หรือแม้แต่ ‘พี่ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย’ ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาจัดกิจกรรมวิ่งการกุศลเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือโรงพยาบาล และยังมีคนในรวมถึงบุคคลในวงการบันเทิงอีกหลายท่านที่ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่สังคมไทยต่างภาคภูมิใจในจิตอาสาของพวกเขาทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ถ้าจะให้พูดถึงจิตอาสาอีกคนในวงการบันเทิงที่สร้างกระแสสะเทือนสังคมได้สุด ๆ ก็คงหนีไม่พ้น ‘โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์’ นักร้อง-นักแสดงชื่อดัง ที่ได้ออกมาประกาศโครงการว่ายน้ำข้ามโขง เพื่อระดมทุนซื้อเครื่องมือแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว ภายใต้ชื่อโครงการ ‘One Man & The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้’ โดยตั้งเป้ารับยอดบริจาคไว้ที่ 17 ล้านบาท

หลังจากที่ประกาศโครงการออกไป กระแสตอบรับก็มีทั้งดีทั้งร้ายปะปนกันไป มีบางคนที่ไม่สนับสนุนการว่ายน้ำข้ามโขงในครั้งนี้เพราะมองว่าอันตรายเกินไป อีกทั้งจะกลายเป็นภาระให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องระดมคนมาดูแล บางคนก็สนับสนุนเป็นอย่างดีเพราะเชื่อมั่นในฝีมือและความตั้งใจของโตโน่

กราดยิงหนองบัวลำภู โศกนาฏกรรม ทำคนไทยหัวใจสลาย

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ได้ถูกจารึกไว้ให้เป็นอีกหนึ่งวันสุดสลดที่คนไทยทุกคนแทบหัวใจแตกสลาย เมื่อเกิดเหตุเศร้ากราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างน้อยเกือบ 50 ราย ก่อนผู้ก่อเหตุจะยิงตัวตายพร้อมลูกและภรรยาในเวลาต่อมา 

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ก็มีรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหนองบัวลำภู เพื่อทรงเยี่ยมผู้บาดเจ็บและให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการส่วนพระองค์ 

ทั้ง 2 พระองค์ ทรงทุกข์ใจ กับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก ๆ นั่นจึงทำให้ทรงประสงค์ไปเยี่ยมราษฎรทันที พร้อมทั้งรับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

สำหรับลำดับเหตุการณ์โศกนาฏรรมครั้งนี้จะพบว่า คนร้ายเป็นตำรวจนอกราชการ อายุ 34 ปี ตำแหน่งสุดท้ายในทางราชการ คือ ผบ.หมู่ (งานป้องกันและปราบปราม) สภ.นาวัง ก่อนถูกจับกุมตัวพร้อมของกลางยาบ้า ทำให้ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อ 17 มิ.ย. 2565

‘พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9’ ศูนย์รวมใจแห่งใหม่ที่ในหลวง ร.10 พระราชทานเพื่อปวงชน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 หรือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 หรือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งอยู่ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต มีขนาดความสูงถึง 7.7 เมตร หรือขนาด 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ถนนศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยมมีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

ทั้งนี้ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เขตดุสิต มีชื่อเต็มว่า ‘อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ มีพื้นที่ทั้งหมด 297 ไร่ เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสามแยกนางเลิ้ง ล้อมรอบด้วยถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 5 และถนนพิษณุโลก ในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต

4 มกราคม ของทุกปี ‘วันทหารม้า’ สดุดีวีรกรรมพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อสู้กับทหารพม่าบนหลังม้า ณ บ้านพรานนก

วันทหารม้า ตรงกับวันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำกำลังทหารตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่ทหารพม่ารวบรวมกำลังไล่ติดตามมาถึง ณ บ้านพรานนก อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัยจำนวน 4 นาย ได้ทำการรบบนหลังม้าต่อสู้กับทหารพม่าจำนวน 30 นายจนได้รับชัยชนะ

โดยตลอดการรบในครั้งนั้นชาวบ้านได้จัดส่งข้าวเม่าให้เป็นเสบียงและส่งธนูให้แก่ทหารใช้เป็นอาวุธ กองทหารได้ปะทะกับพม่าที่คลองแห่งหนึ่ง จนเมื่อพระยาตากตีทหารพม่าแตกพ่าย จึงตั้งชื่อคลองว่า ‘คลองชนะ’ ฝ่ายทหารพม่าได้ติดตามไปอย่างกระชั้นชิดตลอดระยะทางที่หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากต้องต่อสู้กับพม่าถึง 4 ครั้ง แต่กองทหารพม่าก็ไม่ยอมลดละ และไล่ตามไปทันที่บ้านโพธิ์สังหาร ซึ่งมีหญิงสาวชาวบ้านชื่อนางโพ ได้ช่วยรบกับพม่าจนเสียชีวิต โดยภายหลังจากพระยาตากกู้ชาติได้แล้วจึงได้ระลึกถึงกลับมาตั้งชื่อหมู่บ้านโพธิ์สังหาร เป็นหมู่บ้านโพสาวหาญและยังใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

จาก 'มกร' ความทรงจำเลือนลางกาลก่อน สู่ 'มังกร' ผู้ครอบครองความเชื่อปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีชื่อเดือน 'มกราคม' มีรากศัพท์มาจากคำว่า 'มกร' ตามความเชื่อแบบฮินดูคติ แต่ทำไมปัจจุบันจึงเพี้ยนเป็น 'มังกร' ซึ่งคือภูมิปัญญาของบูรพาวิถี ไยความเชื่อจากสองรากเหง้าที่ตั้งห่างกันเกินกว่า 7,500 กิโลเมตร จึงเดินทางมาบรรจบรวมกันเป็นหนึ่ง ณ ดินแดนสยามแห่งนี้

ในเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีต่างประเทศ (ตะวันออก) แห่งราชบัณฑิตยสถาน เคยอธิบายไว้ว่า "คนไทยเรามักสับสนระหว่างคำว่า 'มกร' กับ 'มังกร' แม้จนถึงปัจจุบันเราก็ชอบคิดว่า มกร หรือ มังกร เป็นสัตว์ในเทพนิยายชนิดเดียวกัน แต่ถ้าหากดูตามหลักฐานดั้งเดิม คนไทยสมัยโบราณย่อมจะรู้จัก 'มกร' มาก่อน"

มกร (ออกเสียงว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน) คำจากภาษาสันสกฤต ตามพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้ความหมายว่า "...เป็นสัตว์ตามจินตนาการของช่างอินเดียโบราณ มีลักษณะต่างๆ กันไป เช่น ในสมัยแรกส่วนหัวคล้ายจระเข้ มีจะงอยปากงอไปทางด้านหลังคล้ายงวงช้างขนาดสั้น มีฟันแหลมคม มีขาคล้ายสิงโตหรือสุนัข ท่อนหางทำเป็นอย่างหางปลา"

"คนโบราณจินตนาการกันว่า มกร คือจระเข้มีงวง มีสี่ขา โดยจากหลักฐานพบเห็นได้ตามรูปสลักบนปราสาทหินแถบนี้ บนทับหลังก็พบบ่อย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ก็มี โดยมกรอาจผสมผสานกับสัตว์ตำนานชนิดอื่น เช่น มกรคายนาคบนศิลปะแบบถาลาบริวัต หรือประทับยืนบนแท่นแล้วคายวงโค้งออกมาจากปาก มกร ยุคถาลาบริวัตนี้ตัวจะกลมๆ ป้อมๆ น่ารัก" รศ.ศานติ กล่าว

ช่างศิลป์โบราณต่างจินตนาการว่าทั้ง มกร และ มังกร คือเทพเจ้าแห่งท้องทะเล (น้ำ) โดยรวมจับเอาลักษณะของสัตว์หลากหลายชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดย 'มกร' มีส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง ลำตัวและหางเหมือนปลา ยุคหลังๆ ยังเพิ่มลักษณะของสัตว์อื่นๆ ปะปนตามมาอีกหลายชนิด ตามแต่จินตนาการของช่าง เช่น สิงโต แพะ กวาง นาค มังกร ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสัตว์ซึ่งมีความหมายทางมงคลทั้งสิ้น

ส่วน 'มังกร' ตามปรากฎของพจนานุกรมประเทศจีน (ปัจจุบัน) ให้ความหมายไว้ว่า "...มังกรเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะหัวคล้ายหัวอูฐ มีเขาคล้ายเขากวาง ดวงตาคล้ายกับดวงตาของกระต่ายป่า หูคล้ายหูวัว มีปีกเหมือนนกอินทรี มีลำคอยาวคล้ายงู ช่วงท้องมีลักษณะคล้ายกบ รูปร่างของมันคล้ายกับปลาตัวใหญ่ เท้าคล้ายกับเท้าเสือ เสียงของมันคล้ายเสียง (ตี) ฆ้อง เมื่อมันหายใจ ลมหายใจของมันมีลักษณะคล้ายเมฆ ซึ่งบางครั้งก็ออกมาเป็นฝน แต่บางครั้งก็เป็นเปลวไฟ”

5 มกราคม พ.ศ. 2452 วันพิราลัย ‘เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์’ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 8

วันนี้เมื่อ 113 ปีก่อน คือวันพิราลัย ‘เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์’ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 หลังประชวรด้วยโรคปอด

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยสุริยะ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะแม จ.ศ. 1221 (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2402) เป็นโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 กับแม่เจ้ารินคำ ณ ลำพูน และเป็นนัดดา (หลานปู่) ในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง) นครเชียงใหม่ และราชนัดดา (หลานตา) ในเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6

เมื่อถึง พ.ศ. 2432 ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น “เจ้าราชบุตร” และได้ช่วยราชการพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระบิดา ในช่วงเวลาที่รับราชการอยู่ได้ทำหน้าที่ด้านการบ้านการเมือง

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ได้รับรับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็น “เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร วรฤทธิเดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิศิษฐ์สัตยธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี” เจ้านครเชียงใหม่

6 มกราคม พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี

วันนี้เมื่อ 84 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาล และพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี หลังจากการสร้างแล้วเสร็จ จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้

โดยในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ โรงพยาบาลอานันทมหิดล สามารถให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยไม่เกิน 200 เตียง ตัวอาคารของโรงพยาบาลไม่สามารถสร้างเสริมให้ครบตามแผนได้ เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงมีเพียงอาคารศัลยกรรม 1 หลัง อายุรกรรม 1 หลัง และสูตินรีเวชกรรม 1 หลัง เท่านั้น

7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต ‘กษัตริย์วังหน้า’ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้เมื่อ 157 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เสมอด้วยรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ 

เนื่องมาจากในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงมีพระเชษฐาร่วมพระราชมารดารวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าราชกุมาร, เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระองค์เป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อย

เมื่อพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 ก่อนบรมราชาภิเษกได้ 10 วัน เจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จตามสมเด็จพระราชบิดามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา จึงได้มีการพระราชพิธีโสกันต์อย่างธรรมเนียมสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า หลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อศึกษาศีลธรรมและพระศาสนา เมื่อพระองค์ลาผนวชทรงได้ศึกษาวิชาตามแบบแผนราชสกุลที่จัดให้เจ้านายเรียน

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง 

'Born Pink World Tour' ที่สนามศุภชลาศัย ไม่คู่ควรกับ BLACKPINK ขนาดนั้นเชียวหรือ?

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงก่อนการมาถึงของ 'BLACKPINK' เพื่อ 'Born Pink World Tour' ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 - 8 มกราคม พ.ศ. 2566 นี้ โดยประเด็นพูดถึงบนโลกออนไลน์นั้นก็คือสถานที่จัดงาน - สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ (The National Stadium of Thailand) ระดับตำนานของประเทศไทย ที่แสดงความคิดเห็นเชิงติเตียนว่าไม่เหมาะสมด้วยข้อความระบายอารมณ์ต่าง ๆ นานา

แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต 'สนามศุภชลาศัย' ได้ถูกใช้เพื่องานกิจกรรมอันหลากหลายทั้งระดับชาติ อาทิ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ งานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (เคานต์ดาวน์) งานระดับนานาชาติ เช่น กีฬาซีเกมส์, มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ฟุตบอลโลก (หญิง) รวมถึงงานระดับศรัทธามหาชนกับพิธีบูชามหามิสซา เนื่องในวโรกาสที่ 'สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส' เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อสี่ปีก่อน

แต่ใช่ว่าสนามศุภฯ จะรับงานจับฉ่ายรายตลาดนัดก็หาไม่ เพราะขนาดร็อกกรุ๊ปทรงเสน่ห์อันดับหนึ่งของโลก 'Bon Jovi' ยังจำใจต้องไปกางเวทีเล่นที่สนามกีฬากองทัพบก หรือแม้แต่อัจฉริยะดนตรีอย่าง 'ฟิล คอลลินส์' ก็ยังอับปัญญาหาทางเข้าสนามศุภชลาศัยไม่เจอ จนต้องระเห็จไปโชว์ที่สนามเดียวกัน ด้วยคำปฏิเสธ "ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่" สั้น ๆ ประโยคเดียว

จะมีก็เพียง 'King of Pop' ผู้ล่วงลับ กับอภิมหาโปรเจกต์ 'MICHAEL JACKSON DANGEROUS WORLD TOUR LIVE IN BANGKOK 1993' เท่านั้น ที่ลอดผ่านซุ้มประตูเข้ามาจัดแสดงดนตรีลือลั่นโลกครั้งนั้นได้ (24 และ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2536)

ขอนอกเรื่องหน่อย เพราะคำว่า "โรคเลื่อน" เกิดขึ้นและได้รับความนิยมก็ช่วงคอนเสิร์ต ไมเคิล แจ็คสัน นี่เอง โดยเดิมกำหนดวันแสดงไว้ 2 รอบ 24 - 25 สิงหาคม แต่พอคอนเสิร์ตรอบแรกจบลง ราชาเพลงป็อป (ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานที่ไทย) ถูกกล่าวหาจากสำนักงานตำรวจ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหากระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก โดยเจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นบ้านพักของเขา จึงเป็นที่มาของการเลื่อนโชว์อีกสองครั้งสองคราในช่วงเวลาสองวัน โดยสื่อมวลชนไทยนำท่าเต้น ‘ลูบเป้า’ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มาผูกโยงเข้ากับคำ ‘โรคเลื่อน’ แฝงนัยถึงอวัยวะบางชิ้นซึ่งมิได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร

๘ มกราคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ทรงพระเจริญ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

8 มกราคม พ.ศ. 2530 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top