ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง ผู้ออกแบบโลโก้ชะลอม APEC 2022 นักออกแบบสร้างสรรค์แห่งปี

งานใหญ่ปลายปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่าง APEC 2022 (APEC Economic Leaders Meeting) จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม โดยไทยถูกชื่นชมจากแขกที่มาร่วมงานถึงการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เปิดบ้านตอนรับแขกบ้านแขกเมืองได้สมศักดิ์ศรี สร้างความประทับใจให้กับผู้นำหลาย ๆ ประเทศอย่างมาก

ภาพรวมที่ออกมาสวยงามน่าชื่นชม แต่ก็แฝงไปด้วยความท้าทายเช่นกัน เพราะในฐานะเจ้าบ้านแล้ว เราต้องทำให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่หัวข้อการประชุม คอนเซปต์การประชุม สถานที่ประชุม ที่พักของผู้นำระดับโลก อาหารที่จะนำขึ้นโต๊ะรับรองเหล่าผู้นำ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเรื่อง ‘โลโก้’ ของการประชุม ที่กลายเป็นภาพจำชัดเจนว่า ประเทศไทย คือ เจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 หนนี้

หลายคนอาจจะมองว่า ‘ก็แค่โลโก้’ จะมีความสำคัญขนาดไหน? แต่ต้องขอบอกเลยว่ากว่าจะได้โลโก้ที่ใช้อย่างเป็นทางการนั้น ไม่ได้ง่ายเลย!! เพราะมีการประกวด คัดเลือก กว่าจะได้มา โดยโลโก้ที่เราได้เห็นในงานนี้นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ ‘นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา อายุ 21 ปี ซึ่งใช้ความพยายามและความสามารถเอาชนะผู้ร่วมประกวดเกือบ 600 คน

ชวนนท์ ได้บอกเล่าว่า “ช้าง วัด หรือยักษ์ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย แต่ผมมองว่ามันธรรมดาเกินไป และอยากคิดนอกกรอบ และไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อย ๆ จึงนึกถึง ‘ชะลอม’ ขึ้นมา”

นอกจากนี้ ชวนนท์ ยังเล่าอีกว่า “เรานึกถึงต้มยํากุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย หรือรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจในไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมานานคืออะไร ผมนึกถึงชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ มันจักสานขึ้นจากไม้ไผ่และเป็นงานฝีมือที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์การประชุมฯ ในปีนี้” 

ชวนนท์ใช้เวลาราว ๆ 3 เดือนในการปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายออกมาเป็นโลโก้ที่เรา ๆ ได้เห็นกัน และแฝงไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง โดนชะลอมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจะมีช่องว่าง 21 ช่อง ซึ่งสื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจของ APEC ส่วนตัวปลายชะลอมที่ชี้ขึ้นฟ้าก็ต้องการสื่อถึงการเติบโตของ APEC

เท่านั้นยังไม่พอ สีสันต่าง ๆ ที่ประกอบอยู่ในโลโก้ก็มีความหมายที่ลึกซึ้งเช่นกัน ได้แก่…

- สีน้ำเงิน สื่อถึงการเปิดกว้าง การเปิดการค้าอำนวยความสะดวก
- สีชมพู สื่อถึงการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง
- สีเขียว สื่อถึงความสมดุล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล

ซึ่งทั้ง 3 สีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมฯ ในปีนี้ด้วย คือ ‘เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ (Open. Connect. Balance.)

นอกจาก ชวนนท์ จะสามารถรังสรรค์โลโก้สำหรับการประชุม APEC ได้แล้ว เขายังเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวหันมาสนใจชะลอมมากขึ้น และมีบางคนได้มาเรียนรู้วิธีทำชะลอมด้วย 

ดังนั้นโลโก้ชะลอม จึงไม่เป็นเพียงแค่โลโก้ธรรมดา หากแต่ได้ซ่อนนัยแฝงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย ทั้งจากความตั้งใจของผู้ออกแบบที่อยากปลุกให้สิ่งดีงามนี้คงคู่สังคมไทย และสะท้อนความตั้งใจของเจ้าภาพผู้จัดงาน APEC 2022 อย่างรัฐบาลไทย ที่ส่งสัญลักษณ์แทนข้อความอันทรงความหมาย ‘เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ต่อไปให้ทุก ๆ ชาติไม่ลืม ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ ให้ถูกขับเคลื่อนต่อไปในครั้งหน้า ๆ อีกด้วย

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”