ถอดสมการวันแรกแห่งปี ก่อน 1 มกราคมจะมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวโลก ก่อนวันปีใหม่ของชาวโลก จะเป็นวันปีใหม่ของชาวไทย

คนทั้งโลกรับรู้ว่า วันขึ้นปีใหม่ของโลกใบนี้ คือ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี แล้วท่านผู้อ่านรู้เหตุผลไหมว่า ทำไม?? วันปีใหม่ จึงต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม

‘วันขึ้นปีใหม่’ มีประวัติความเป็นมาที่ย้อนกลับไปนานมาก ๆ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้น (ของไทยเราก็เหมือนกัน สรุปเหมือนกันทั่วโลกเรื่องนี้) เชื่อกันว่าการนับปีใหม่ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ 4,000 กว่าปีก่อน ในยุคบาบิโลเนีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวบาบิโลเนียน ริเริ่มคิดค้นปฏิทินโดยคำนวณจากการเคลื่อนที่วงรอบของดวงจันทร์เป็นหลัก (หลักจันทรคติ) เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดให้เป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุกๆ 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติก (ชาวอาหรับเผ่าหนึ่ง) ได้นำปีปฏิทินของชาวบาบิโลเนียนมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายรอบเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากขึ้น และใช้กันมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาคของตนเอง ล่วงมาจนถึงสมัยของผู้ปกครองและนักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิโรมัน ‘จูเลียส ซีซาร์’ (Julius Caesar) ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณ 46 ปี ก่อนคริสตกาล ได้นำความคิดและหลักความเชื่อเรื่อง ‘จักรราศี’ ตามหลักสุริยคติของอียิปต์มาผสมผสานกับจันทรคติในแบบเดิม จนเกิดเป็น ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian calendar) คำว่า จูเลียน แปลว่า แห่งจูเลียส ซึ่งในละตินเรียกว่า Calendarium Iulianum สรุปก็ คือ ‘ปฏิทินของจูเลียส ซีซาร์’ นั่นแหละ 

โดยในหนึ่งปีบนปฏิทินของเขามี 365 วัน นอกจากนี้เดือนกุมภาพันธ์จะเพิ่มอธิกวารทุก ๆ สี่ปี ดังนั้นรอบปีโดยเฉลี่ยต่อสี่ปีของปฏิทินจูเลียนเท่ากับ 365.25 วัน ซึ่ง ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian calendar) มีความใกล้เคียงกับปฏิทินปัจจุบันเป็นอย่างมาก แต่เราไม่ได้ใช้ปฏิทินนี้ในปัจจุบันนะ 

อธิกวาร หรือ อธิกมาศ คือ ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมวันในเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน ซึ่งก็คือเดือนกุมภาพันธ์นั่นเอง เมื่อกำหนดวันเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ในทุก ๆ 4 ปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาเพราะวันใน ‘ปฏิทินจูเลียน’ ยังไม่ตรงตามฤดูกาลมากนัก คือเวลาในปฏิทินจะยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน (วุ่นวายจริงเชียว) 

นอกจากนี้ยังพบว่าในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินในทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และตกลงทางทิศตะวันตก ทำให้ทั่วโลกมีช่วงเวลา 12 ชั่วโมงเท่ากัน ซึ่งเรียกกันว่า วัน Equinox in March

ปฏิทินจูเลียน กำหนดวันที่ 1 มกราคมเป็นวันแรกของปี ซึ่งเดือนมกราคม (January) มาจากชื่อของ ‘เทพเจนัส’ (Janus) เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลง ‘เทพเจนัส’ มักปรากฏในลักษณะ ‘เทพสองใบหน้า’ คือหน้าหนึ่งมองไปยังอนาคต และอีกหน้าหนึ่งมองไปยังอดีตที่ผ่านมา โดยในวันนี้จะมีจัดให้มีการบูชายัญเทพเจนัส อีกทั้งยังมอบของขวัญให้แก่กัน ตกแต่งบ้านเรือนด้วยพวงดอกไม้ พร้อมจัดงานเลี้ยงฉลองร่วมกัน นี่จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของวันขึ้นปีใหม่ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ครั้งแรกของโลก 

ผ่านจากยุค ‘จูเลียส ซีซาร์’ (Julius Caesar) กับ ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian calendar) ก็มาถึงยุค พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 (Pope Gregory XIII) พบว่าในปี ค.ศ. 1582 (พ.ศ. 2125) วัน Equinox in March กลับปรากฏขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม เหมือนเดิม จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการคิดค้นปฏิทินเกรกอเรียนขึ้นใช้แทน เนื่องจากปีในปฏิทินจูเลียน ซึ่งยาวนาน 365.25 วัน นั้นนานกว่าปีฤดูกาลจริง คือ 365.2425 วันอยู่เล็กน้อย ทำให้วันที่มีเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน Equinox in March ของแต่ละปี ขยับเร็วขึ้นทีละเล็กน้อย และเมื่อมีความต้องการให้ ‘วันอีสเตอร์’ วันที่ พระเยซูคริสต์ทรงคืนพระชนม์หลังจากที่ทรงถูกตรึงบนกางเขน ได้ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม จึงจำเป็นต้องจัดการดัดแปลงปฏิทินจูเลียนเสียใหม่ (ต้องการคงวันสำคัญไว้พี่แกเล่นคิดปฏิทินแทนเลย เอาสิ !!) 

ปฏิทินแบบใหม่ที่คิดค้นขึ้นนี้เรียกว่า ‘ปฏิทินเกรกอเรียน’ (Gregorian calendar) ตามชื่อพระสันตะปาปา เกรกอรี่ ซึ่งส่งผลให้ประเทศที่นับถือคาทอลิก รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในยุโรปปรับเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียนกันแทบจะทั้งหมด และปฏิทินตัวนี้แหละ คือ ปฏิทินสากลของโลกยุคปัจจุบัน (พอแล้ว !!! อย่าเปลี่ยนอีกเลย) จากฝั่งยุโรปก็กระจายไปทั่วโลกด้วยการขยายอาณานิคม การขยายอิทธิพล การเดินทางเพื่อการค้า ของชาวยุโรปไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก แน่นอนรวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย แรกเริ่มได้ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ ในเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนโบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน และเดือนอ้ายก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นเดือนแรก ก็นับไปสิ เดือนอ้าย ถัดไปก็เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ฯลฯ แบบไทยแท้ๆ ตามปฏิทิน ‘จันทรคติ’ ซึ่งมีความหมายถึงการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ เริ่มปีนักษัตรใหม่ ตั้งแต่ลอยกระทง ในเดือน 12 ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินสากลตาม ‘สุริยคติ’ จะอยู่ประมาณ ‘หลังกลางเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม’ ซึ่งสอดคล้องตามคติทางพุทธศาสนา ที่ถือให้ช่วงเหมันต์ หรือฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปีนั่นเอง อีกนัยที่กำหนดเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี เพราะในระยะเวลาระหว่างนั้นอยู่ในฤดูหนาว คือพ้นจากฤดูฝนที่อากาศมืดมัวมาเป็นสว่างสดใส เปรียบเสมือนเวลายามค่ำผ่านพ้นมาสู่เวลาเช้า จึงได้นับเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี

จากนั้นผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ไม่แน่ใจ ประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้ง แต่ยังยึดหลักการนับวันตามปฏิทิน ‘จันทรคติ’ เช่นเดิม โดยปรากฏในบันทึกกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 1901 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้เดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่แล้ว แต่มีกำหนดต่างออกไปว่า ในเดือน 4 จะมีพิธีสิ้นปี หมายถึงตรุษ และในเดือน 5 มีการพระราชพิธีเผด็จศก ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่นั่นเอง 

สรุป คือเปลี่ยนการนับปีใหม่ โดยเอาเดือนห้ามาเป็นต้นปี ซึ่งการนับแบบนี้ ท่านว่าเราได้รับคติมาจากพราหมณ์ซึ่งใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยมีโหรประจำราชสำนักเป็นผู้คำนวณ โดยมีวันสำคัญ 3 วันคือ ‘วันมหาสงกรานต์, วันเนา และวันเถลิงศก’ แต่ก็มีปัญหาอีก เพราะในสมัยโบราณ วันสงกรานต์ไม่ตรงกับในสมัยนี้ ฉะนั้นในสมัยโบราณเมื่อใครต้องการจะรู้ว่าวันสงกรานต์เป็นวันใด วันขึ้นปีใหม่เถลิงศกคือวันไหน? ก็ต้องคอยฟังประกาศของทางราชการ หรือต้องการรู้ว่านางสงกรานต์ชื่ออะไร? ถืออะไร? ก็ต้องเข้าไปดูประกาศหรือภาพเขียนในพระบรมมหาราชวังจึงจะรู้ (สนุกจริงๆ)

จากนั้นมา จวบจนรัชสมัยของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5’ พระองค์ก็คงจะทรงพิจารณาเห็นความลำบากในการใช้วันเดือนปีแบบจันทรคตินี้อยู่เหมือนกัน จึงได้ทรงพระราชดำริหาทางแก้ไข และในที่สุดได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ ความว่า…

“ด้วยทรงพระราชดําริถึงวิธีนับวันเดือนปีที่ใช้กันอยู่ในสยามรัฐมณฑล และที่ใช้ในประเทศใหญ่น้อยเป็นอันมากในโลกนั้น เป็นวิธีต่างกันอยู่มาก คือกล่าวโดยย่อก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดําริ ว่า...(ความโดยย่อ) 

“ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีนับ ปี เดือน ตาม สุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้ เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปีตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานครบวร รัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยาบรมราชธานี นั้น เรียกว่า รัตนโกสินทรศก ใช้เลขปีในรัชกาลทับหลังศกด้วย…

“ข้อ 2 ปีหนึ่ง 12 เดือน มีชื่อตามราษีที่เดือนนั้นเกี่ยวข้องอยู่ มีลําดับดังนี้ เดือนที่ 1 ชื่อ เมษายนมี 30 วัน…วันในเดือนหนึ่งนั้นให้เรียกว่าวันที่ 1 วันที่ 2…

“ข้อ 3 ให้นับใช้วิธีนี้ในราชการ และการสารบาญชีทั้งปวง ตั้งแต่วันที่ 2 เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู ยังเป็นสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 นั้น เป็นวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108 ต่อไป แต่วิธีวันเดือนปีตามจันทรคติซึ่งเคยใช้มาในการกําหนดพระราชพิธีประจําเดือนต่าง ๆ ก็ดี แลใช้สังเกตเป็นวันกําหนดหยุดทำการก็ดี ให้คงใช้ตามเดิมนั้น ฯลฯ”

สรุปว่าในพระบรมราชโองการที่ประกาศนั้น ให้เลิกใช้จุลศักราชในทางราชการ เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก โดยเริ่มในปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432) เป็นต้นมา และเรียกชื่อเดือนว่าเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ ตามทางสุริยคติเป็นครั้งแรก รวมทั้งเรียกวันเป็นวันที่ 1 วันที่ 2 ฯลฯ ด้วย แต่ก็ยังให้ใช้วันเดือนปีตามจันทรคติคือวันขึ้นแรม เดือนอ้าย เดือนยี่ และปีชวด ฉลู หรือจุลศักราชต่อไปได้ เพราะเป็นหลักทางโหราศาสตร์ซึ่งราษฎรเคยใช้มาแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 นั้นเอง มีวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน ตามปฏิทินสุริยคติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก็ดูเหมือนจะถือกันเคร่งครัดเฉพาะในวงราชการงานเมืองเท่านั้น ส่วนประชาชนพลเมืองทั่ว ๆ ไป ยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ส่วน ‘รัตนโกสินทร์ศก’ ก็มายกเลิกในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 6 

จนมาถึงสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศ ให้เลิกยึดถือการคำนวณทางดาราศาสตร์ ซึ่งใช้กันมาเป็นเวลาหลายพันปี และออกพระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช 2483 โดยมีข้อความตอนหนึ่งในประกาศ ว่า…

“ขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2484 นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ” 

ประกาศมา ณ วันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 เป็นปีที่ 7 (ในรัชกาลที่ 8)

โดยได้กล่าวถึงเหตุผลสำคัญ 4 ประการ ที่เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ในครั้งนี้ คือ…

1. เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก     

4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

และจากประกาศเมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่นั้น ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่จวบจนปัจจุบัน


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager