Tuesday, 13 May 2025
Lite

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก แผ่นดินไทย ใช้เป็นทางผ่านไปตีพม่าและมลายู

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่น ‘ยกพลขึ้นบก’ เข้าไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อขอผ่านไปตีพม่าและมลายูของอังกฤษ จนเกิดปะทะกับทหาร ตำรวจและยุวชนทหารไทย 

การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานีและบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่น การรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล ร่วมตระหนักต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

9 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล หรือ วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหภาพสากล (The United Nation : UN) ที่มีมติเห็นชอบอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 

จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ UN จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น 'วันต่อต้าน คอร์รัปชันสากล' 

ในขณะที่การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีนั้น เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างรัฐบาล, สำนักงาน ป.ป.ช., องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการแก้ไข ปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่องและปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้แนวคิด 'Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต' 

10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ วันสำคัญของระบบการปกครองไทย

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ ในหลวง รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทยเชิงการเมืองการปกครอง เมื่อคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

‘เต๋อ เรวัต’ ผู้มีพระคุณ พลิกชีวิต ‘ก๊อท จักรพันธ์’ ‘ให้โอกาส-ผลักดัน’ จนกลายเป็น ‘เจ้าชายลูกทุ่ง’

เรียกว่าทำแฟน ๆ ช็อกหนักเลยทีเดียว หลังจากที่ ‘ก๊อท จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ’ ประกาศลาขาดจากแกรมมี่ ที่อยู่มานานกว่า 30 ปี พร้อมลั่น ถือว่าที่ผ่านมา ตนได้ตอบแทนบุญคุณ ‘เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์’ แล้ว โดย ‘ก๊อท จักรพันธ์’ ได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมว่า…

"โปรเจ็กต์นิวคันทรี่ ผมสู้มาสามปีนะคับ ผมทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ดนตรีโน้ตแรกยันถ่ายทำตัดต่อ เสร็จส่งคุณ คุณไม่ต้องทำอะไรเลย ??? แค่ลงระบบ………"

"คุณบอกผมพลิกวงการลูกทุ่ง ??? ฝากคุณช่วยพลิกวงการคนทำงาน ของคุณหน่อยนะคับ ผมถือว่าผมได้ตอบแทนคุณพี่เต๋อแล้ว ลาขาดคับ GMMGRAMMY"

ซึ่งถ้าคนที่ไม่ได้เป็นเอฟซีเจ้าตัว อาจไม่รู้ว่า ‘เต๋อ เรวัต’ มีบุญคุณอะไร ทำไม ก๊อท ถึงได้ลั่นประโยคนี้ออกมา

ย้อนกลับไปสมัยที่ก๊อท ยังไม่มีชื่อเสียง ชีวิตต้องทำงานหลายอย่าง ทั้งเซลส์แมน พนักงานเสิร์ฟ นักร้องคาเฟ่ การร้องเพลงก็เป็นความฝันที่หวังว่าสักวันจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝันสักที เรียกว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่ต่อมาชีวิตของก๊อท จักรพันธ์ ก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเขาได้มีโอกาสเจอกับ ‘เต๋อ เรวัต’ ชายผู้ก่อตั้งแกรมมี่ โดยเต๋อ เรวัตถึงขั้นประกาศว่าก๊อทจะต้องโด่งดังในอนาคต รวมทั้ง ‘ออกทุน’ เพื่อให้ก๊อท จักรพันธ์ ได้ศึกษาและพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เจ้าตัวร่ำเรียนอย่างหนัก ลบคำสบประมาทต่าง ๆ ออกไป 

กระทั่งวันที่ฝันได้เป็นจริง ‘ก๊อท จักรพันธ์’ ได้ออกอัลบั้ม เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ออกในซีรีส์ ‘แม่ไม้เพลงไทย’ ในปี 2533

เรื่องรักนักเรียนนายร้อย ตอนที่ 9 อยากให้มันมีปาฏิหาริย์

>> พูดคุย
เรื่องเล่าชีวิตนักเรียนนายร้อย เมื่อเรียนจบจะมีพิธีโยนกระเป๋า เป็นพิธีสุดท้าย ซึ่งเป็นการแสดงออกว่าจะไม่มีการเรียนในโรงเรียนนายร้อยอีกต่อไป...

>> ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว
กรกฎอกหักและเศร้าเป็นอย่างมาก เมื่อเขมิกาเขียนจดหมายมาตัดความสัมพันธ์ เขาเอาแต่คิดหาวิธีที่จะได้กลับไปคุยกับเขมิกาเหมือนเดิม แต่ว่า...ความหวังมันริบหรี่จริงๆ 

หลังจากได้รับจดหมายตัดสัมพันธ์ได้ไม่นานนัก ก็มีกิจกรรมนอกโรงเรียนอีกครั้ง อาจารย์ให้ไปช่วยจัดแถวให้นักเรียนนักศึกษาพยาบาลเหล่าทัพในการแข่งขันกีฬา พอรู้แบบนี้ กรกฎก็รีบคว้าโอกาสไว้ จึงสมัครไปทำงานทันที

งานนี้จัดที่สนามกีฬาศุภชลาสัย ที่ๆ นักเรียนนายร้อยคุ้นเคยเป็นอย่างดี

...ด้านหลังสนามศุภฯ บริเวณลานจอดรถ นักเรียนนายร้อยที่มาช่วยงานแต่งชุดวอร์มสีดำ แถบเหลืองแดง ยืนล้อมเป็นวงกลมเพื่อฟังคำชี้แจงการทำงานจากอาจารย์ หลังจากอาจารย์แบ่งมอบงานจบแล้ว 
ก็เป็นการประสานงานระหว่างสตาฟฟ์ของนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

เหมือนมีปาฎิหาริย์กลุ่มสตาฟฟ์นั้นมีเขมิการวมอยู่ด้วย เธอเดินเข้ามาประสานงานกับกลุ่มของกรกฎ นี่คือปาฏิหาริย์ครั้งที่หนึ่ง

กรกฎหวังว่าจะได้พูดคุยทำความเข้าใจกับเขมิกา หวังให้มีปาฎิหาริย์ครั้งที่สอง 

ปาฏิหาริย์ครั้งที่สามที่หวังคือจะได้ปรับความเข้าใจกับเขมิกา

แต่ผิดคาด เขมิกามาในชุดวอร์มใบหน้าของเธอเรียบเฉย ไม่มีรอยยิ้ม และแววตาของเธอไม่เป็นประกายสดใสเหมือนเก่า

“สวัสดีครับ ผมจะขอคุยด้วยเป็นการส่วนตัวได้ไหมครับ” กรกฎพูดในจังหวะที่คุยงานจบแล้ว

“เราไม่มีอะไรต้องคุยกัน ทุกอย่างจบแล้ว” เขมิกาพูดด้วยเสียงเรียบ แม้น้ำเสียงพูดนั้นไม่ใช่มีดแต่มันบาดลึกไปในใจของกรกฎ ตามด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า

“แค่นี้นะ”

ถึงตอนนี้กรกฎรู้แล้วว่า ปาฏิหาริย์ครั้งที่สามนั้นไม่มีจริง เขาทำได้แค่ปล่อยให้เขมิกาเดินจากไป...

กรกฎทำงานตามที่ได้รับมอบ ตอนนี้เขามองไม่เห็นใครเลย แม้จะมีนักเรียนพยาบาลเป็นพันคนในสนามศุภฯ แต่สายตาของเขามองหาแต่เขมิกาเพียงคนเดียวเท่านั้น

กรกฎต้องหอบใจช้ำๆ ของเขากลับมาที่โรงเรียน ไม่ว่าจะทำอะไร เขาก็คิดถึงแต่เขมิกา ยิ่งคิดถึงยิ่งเศร้า และเมื่อยิ่งเศร้าก็ยิ่งคิดถึง วนอยู่แบบนี้

...เขาภาวนาให้มีปาฏิหาริย์อีกสักครั้ง ถึงแม้ว่ามันจะน้อยมากๆ ก็ตาม

มิวสิค “~เก็บเธอไว้ ข้างในจนลึกสุดใจ ได้คิดถึงเธอทุกคราว ~ เมื่อวันที่เหงาจับใจ ไม่มีใคร ฉันยังมีเธอ~”

ต่างชาติผู้แสนดี ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ พระยากัลยาณไมตรี ชาวอเมริกัน ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัชกาลที่ 7

หากผมจะเล่าเรื่องเกี่ยว ‘รัฐธรรมนูญ’ ผมแทบไม่ได้นึกถึงเรื่องราวของวันที่ 10 ธันวาคม เลยสักนิดเดียว แต่ผมกลับไปคิดถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ ‘ชาวต่างชาติผู้หนึ่ง’ ที่พิสูจน์ได้ถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการพระราชทาน ‘รัฐธรรมนูญ’ ให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยขณะนั้นพระองค์ทรงปรึกษาผู้รู้อย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง เพื่อกลั่นกรอง ให้เกิด ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่เข้าใจบริบท เข้าใจเงื่อนไขที่เหมาะสมกับสยามที่สุดในห้วงเวลานั้น แต่ทว่าร่างในครั้งนั้นกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะการชิงสุกก่อนห่ามของ ‘คณะราษฎร’ ผู้เห็นแก่ตน ผู้ไม่เคยคิดถึงบริบทอะไรนอกจากพวกตน อำนาจปกครอง และการล้มเจ้า...

เกริ่นมาซะยาว !!! กลับมาที่ ‘ชาวต่างชาติ’ คนนั้น ผู้ที่มีส่วนร่วมในการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ฉบับรัชกาลที่ 7 เรามารู้จัก ‘พระยากัลยาณไมตรี’ คนที่ 2 ของสยาม Dr.Francis B.Sayre / ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ กันดีกว่า

ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เซาธ์เบธเลเฮม ในเพนซิลเวเนีย เรียนจบด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เริ่มงานด้านกฎหมายด้วยการเป็นผู้ช่วยอัยการแห่งนิวยอร์กเคาตี เขาได้พบรักกับ ‘เจสซี’ ลูกสาวของ วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐฯ และแต่งงานกันที่ทำเนียบขาวในปี พ.ศ. 2456 ก่อนที่เขาจะออกไปเป็นอาจารย์สอนที่ฮาร์วาร์ดในปี พ.ศ. 2460 และจบดอกเตอร์ในปีถัดมา (ขอเล่าเป็น พ.ศ. นะครับ จะได้ไม่ต้องสลับระหว่างไทยกับเทศ) 

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2466 เขาได้รับข้อเสนอจากคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ให้ไปเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินสยาม ด้วยความอยากเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เขาจึงตอบตกลงและเข้ามารับราชการในสยาม ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยเข้ามาอยู่ในบังคับบัญชาของ ‘พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์’ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

เขาเล่าถึง ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ในอัตชีวประวัติของเขาว่า ..... “ข้าพเจ้ามีความสนิทสนมกับองค์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเป็นอย่างดีเยี่ยมทีเดียว สามารถถวายจดหมายส่วนตัวโดยตรงก็บ่อย ๆ พระองค์จะทรงอักษรตอบด้วยฝีพระหัตถ์เอง ซึ่งบางทีก็ยาวตั้ง 12 หรือ 15 หน้ากระดาษ พระองค์ทรงภาษาอังกฤษอย่างดีเลิศ เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น ทรงโปรดปรานวรรณกรรมเชกสเปียร์มาก เคยมีพระราชปรารถนาจะแปลบทละครเชกสเปียร์ออกเป็นภาษาไทย”

ภารกิจสำคัญของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 คือการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบและไม่เป็นธรรมของชาติตะวันตก ในสมัยจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยเฉพาะ ‘สนธิสัญญาเบอร์นี’ ในรัชกาลที่ 3 และ ‘สนธิสัญญาเบาริ่ง’ ที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประเทศสยามมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายจุด

แม้ว่าผลจากการเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องสัญญาให้สยาม แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน เพราะสนธิสัญญาที่ยกเลิกมีเพียงกับคู่สงครามอย่างเยอรมนีและออสเตรียเพราะพ่ายแพ้ แต่กับฝ่ายสัมพันธมิตรมีเพียงสหรัฐฯ ที่เห็นชอบกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม แต่กับชาติพันธมิตรอื่น ๆ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส กับ อังกฤษ การเจรจาการแก้ไขสนธิสัญญาเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองชาติต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่ 

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้งให้ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้แทนประเทศสยามไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับชาติต่าง ๆ ในยุโรป โดยเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2467 ด้วยความสามารถทางการทูตและกฎหมาย เขาสามารถโน้มน้าวให้ชาติต่าง ๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นการสละสิทธิพิเศษทีมีอยู่ในสนธิสัญญาเก่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้สำเร็จลุล่วง 

จากคุณงามความดีในครั้งนี้ ของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ในฐานะผู้ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘พระยากัลยาณไมตรี’ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ถือศักดินา 1,000 นับเป็นคนที่ 2 ต่อจากพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) กระทั่งในปีต้นปี พ.ศ. 2468 ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการของสยาม และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสัมพันธ์อันดีต่อกัน 

ภายหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เขากลับมาช่วยราชการอีกครั้ง ด้วยมิตรไมตรีอันดีต่อสยาม เขาจึงเดินทางกลับมาไทยในปี พ.ศ. 2469 ดังที่เขากล่าวในอัตชีวประวัติว่า…

“...ผมไม่อาจลืมสยาม ใจผมยังคงนึกถึงตะวันออกไกลอยู่เสมอ ในเดือนพฤศจิกายน 1925 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งผมเคยถวายงานรับใช้ได้เสด็จสวรรคต บัลลังก์ของพระองค์สืบทอดถึงเจ้าฟ้าประชาธิปก ผู้เป็นอนุชา...และพระเจ้าอยู่หัวประชาธิปกก็ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้ผมกลับไปยังสยาม แม้ผมไม่อาจละทิ้งงานที่ฮาร์วาร์ดได้ ในช่วงวันหยุดซัมเมอร์ปี 1926 ผมก็เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อสนทนาและถวายคำปรึกษาตามพระราชประสงค์ถึงการ ‘ปฏิรูปธรรมนูญการปกครอง’ ซึ่งมีการเรียกร้องกันมาก...”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาใช้ในประเทศในปี พ.ศ. 2469 โดยมี ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

โดยก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชหัตถเลขาเป็นคำถามถึง ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ จำนวน 9 ข้อ โดยคำถาม 4 ข้อแรกนั้น ว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในข้อ 3 ความว่า…

“หากประเทศนี้จำเป็นต้องมีระบบรัฐสภาเข้าสักวันหนึ่ง การปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล - แซกซัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่?” โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า “ในคำถามที่ 3 นั้นข้าพเจ้าเองยังไม่แน่ใจนัก”

และคำถามข้อ 4 ทรงตั้งคำถามว่า “ประเทศนี้พร้อมหรือยัง? ที่จะมีการปกครองในระบบผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน?” โดยทรงให้พระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า “ส่วนคำถามที่ 4 โดยความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่” เหตุผลที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยดังนี้ เพราะมีเหตุผลหลายประการ ซึ่งตรงกับที่ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ได้ถวายความเห็นกลับมา หลังจากที่ได้อ่านแล้ว ความว่า…

“...ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพิจารณาให้มีระบบรัฐสภาโดยสมาชิกมีที่มาจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ในสยาม ณ เวลานี้ ระบบรัฐสภาที่สามารถทำงานได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษา หากปราศจากการควบคุมอย่างชาญฉลาดโดยประชาชนแล้ว องค์กรเช่นนี้ย่อมเสื่อมทรามลงกลายเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จอำนาจเป็นแน่ จนกว่าประชาชนทั่วไปในสยามจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ มันคงอันตรายเกินไปที่จะตั้งรัฐสภาภายใต้การควบคุมของประชาชน ด้วยเหตุนี้มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่อำนาจเด็ดขาดจะต้องอยู่กับสถาบันกษัตริย์ต่อไป...”

อ่านมาถึงตรงนี้คุณว่า ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ วิเคราะห์ได้ตรงไหมล่ะ? ‘คณะราษฎร’ สนใจเรื่องการศึกษาของผู้ลงคะแนนเสียงไหม? รัฐบาลหลังจากนั้นเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จการอำนาจจริงไหม? ลองคิดตามดูนะ อันนี้แล้วแต่ความคิดของท่านผู้อ่าน ผมไม่ก้าวล่วง 

นอกจากนี้ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ยังได้แนบร่างรัฐธรรมนูญ 12 มาตรา ‘Outline of Preliminary Draft’ หรือเค้าโครงเบื้องต้นว่าด้วยโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น โดยข้อแรกมีความว่า…

“...อำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์” และข้อสอง “พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารงานของรัฐบาล และเป็นผู้ซึ่งอาจถูกถอดจากตำแหน่งได้ทุกเวลาโดยพระมหากษัตริย์…” (แปลจาก: Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy)

ร่างธรรมนูญการปกครองตามข้อเสนอของเขา จึงมีลักษณะเป็นการยืนยันรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น 

เก่งผิดยุค ‘ชู เปรียญ’ ปริญญาเอกคนแรกแห่งสยาม กับตัวตนที่เลือนหาย เพราะแต่งตำรายากผิดยุค

พูดถึงทุนเล่าเรียนหลวง หลายคนคงคิดถึงทุนเล่าเรียนหลวงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปีละ 9 ทุน โดยทุนเล่าเรียนหลวงมีข้อกำหนดเดียว คือ ให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานในประเทศไทยเท่ากับระยะเวลาที่ไปศึกษา โดยไม่จำเป็นว่าต้องทำงานให้กับภาครัฐ ซึ่งไม่เหมือนกับทุนการศึกษาของไทยอื่น ๆ 

แต่คุณรู้ไหม? ว่าจริง ๆ แล้วทุนพระราชทานในสมัยรัตนโกสินทร์มีมาตั้งแต่รัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยครั้งนั้นได้ส่งคนไปศึกษาวิชาการเดินเรือที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งสามัญชน ชื่อ ‘นายฉุน’ ไปเล่าเรียน 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทางราชการก็ได้ส่งนักเรียนทุนคือ ‘นายทด บุนนาค’ และ ‘นายเทศ บุนนาค’ ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งไปพร้อมกับคณะทูตไทยเมื่อ พ.ศ. 2400 นอกจากนักเรียนแล้ว ราชการยังส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาชีพเฉพาะ เช่น การพิมพ์ และการซ่อมนาฬิกา โดยส่งข้าราชการไปดูงานในต่างประเทศทางด้านการปกครองและบำรุงบ้านเมืองที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2404 ด้วย

ครั้นลุมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทางราชการได้ส่งนักเรียนไทยจำนวน 206 คน ไปศึกษาในประเทศที่เป็นต้นแบบของวิชาการแต่ละด้าน เช่น อังกฤษ, เยอรมัน, ออสเตรีย, ฮังการี, เดนมาร์ก และฝรั่งเศส โดยเน้นให้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, คณิตศาสตร์ และวิชาตามที่นักเรียนถนัด เช่น วิชาทหารบก, ทหารเรือ, การทูต, กฎหมาย, แพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น (ก็มีความดราม่ากันไปแต่ละค่ายการศึกษา) 

โดยในสมัยนี้ เริ่มมีการแบ่งนักเรียนทุนเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนตามความต้องการของกระทรวง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนด้วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วย 

มาถึงตรงนี้ผมก็จะขออนุญาตเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของ ดร.คนแรกของคนไทย โดยปริญญาเอกรายนี้คือ ‘นายชู เปรียญ’ ผู้สำเร็จการศึกษา Ph.D. ทางด้านการศึกษาจากประเทศเยอรมนี 

นายชู เปรียญ เริ่มการศึกษาตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ สอบได้เป็นเปรียญสามประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร จนถึงพ.ศ. 2429 ได้ลาสิกขา แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบโดยมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจบแล้วก็ได้สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนวิชาการศึกษาที่ประเทศเยอรมนี (เก่งนะเนี่ย) 

โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศเยอรมัน ตั้งแต่ขั้น B.A. มาถึงการศึกษาชั้น M.A. แล้วศึกษาต่อจนจบ Ph.D. ทางการศึกษา เมื่อนายชู เปรียญ สำเร็จการศึกษาชั้น Ph.D. นั้นว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นเต้นมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเลี้ยงพระราชทานแก่นายชู เปรียญ พร้อมกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากเยอรมันอีก 2 คน ในโอกาสนั้นโปรดพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเกียรติยศ

การนี้มีบันทึกไว้ใน ‘หนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440)’ แต่งโดยพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ผู้ตามเสด็จและทำหน้าที่จดบันทึกการเดินทาง เขียนไว้ตอนหนึ่งความว่า…

“...วันที่ 10 มิถุนายน ร.ศ. 116 ขณะ รัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เวลาบ่าย เมื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว พระยาศรีสุริยราชวราวัตรก็ได้...นำนายชู เปรียญ ซึ่งมาส่งเสด็จฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ นายชูคนนี้เป็นนักเรียนที่เล่าเรียนในเยอรมันสอบไล่ได้ดีแล้ว และได้ประกาศนียบัตรเป็น ‘ดอกเตอร์ออฟฟิลอซโซฟี่’ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เล่าเรียนถึงได้รับประกาศนียบัตรชั้นนี้ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้วเสด็จขึ้น...”

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วในปี พ.ศ. 2440 มีหลักฐานบันทึกว่า ‘นายชู เปรียญ’ ได้กลับมาสยามและเข้ารับราชการ โดยพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรับหน้าที่เป็น ‘พนักงานตรวจแต่งตำราเรียน’ ก่อนที่จะย้ายไปเป็น ‘ผู้ดูการพิพิธภัณฑ์’ (Curator) ในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งในตอนนั้นการพิพิธภัณฑ์กำลังเริ่มต้นขึ้นในสยาม โดยมีการลงข่าวไว้ใน ‘หนังสือพิมพ์สยามไมตรีรายสัปดาห์’ ฉบับวันอังคารที่ 14 ธันวาคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ความว่า...

“...เราได้ทราบข่าวว่า นายชู เปรียญ ซึ่งเป็นนักเรียน ได้ไปเล่าเรียนศึกษาวิชาสอบไล่ได้เป็นนายศิลปชั้นสกลวิทยาลัย ในกรุงเยอรมนีนั้นกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว จะได้มีตำแหน่งรับราชการในกรมศึกษาธิการ รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 2 ชั่งในชั้นแรกๆ..."

สำหรับบันทึกอื่น ๆ เกี่ยวกับการรับราชการของดอกเตอร์คนแรกของไทย ปรากฏว่า ‘นายชู เปรียญ’ ได้เคยแต่งหนังสือและเคยทำงานในกรมพิพิธภัณฑ์ ในช่วงที่ ‘เจ้าพระยาภาสกรวงศ์’ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ 14 มกราคม ร.ศ. 117 ทูลฯ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ความว่า ‘เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์’ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่ โดยท่าน (เจ้าพระยาภาสกรฯ) ได้ให้นายชู มาเป็น ‘กุเรเตอร์’ (Curator) ในพิพิธภัณฑ์ 

และได้แนะนำตัวนายชู เพิ่มเติมว่า เดิมทำการในกรมศึกษาธิการ เป็นพนักงานตรวจแต่งตำราเรียน ซึ่งขณะนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนมาดูอาทิตย์ละ 2 หน โดยมี ‘ผู้ที่มาดูน้อย นอกจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฉัตรมงคล ซึ่งผู้ที่มาดูนับหมื่นแต่ชอบดูส่วนแนชุรัล ฮีสตอรี (Natural History) ยิ่งกว่าสิ่งอื่น’ (แสดงว่าน่าจะเหมาะกับการที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหนัก ๆ เพราะนายชู น่าจะเป็นนักวิชาการเต็มตัว เน้นทำวิจัยทางวิชาการว่างั้นเถอะ) 

ตำแหน่ง ‘ผู้ดูการพิพิธภัณฑ์’ (Curator) ในสมัยก่อนอย่าดูถูกว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่สูงมากนะครับ ถ้าเรามาคิดถึงสภาพสังคมในยุคนั้นที่เพิ่งเริ่มจัดการศึกษา ผู้ที่มีหน้าที่ ‘ดูการพิพิธภัณฑ์’ ก่อนหน้านายชู (ไม่นับ ‘เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์’ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ที่ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด) คือ นายราชารัตยานุหาร (พร บุนนาค) ซึ่งต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ 

เรื่องรักนักเรียนนายร้อย ตอนที่ 10 เก็บเธอไว้ ข้างในจนลึกสุดใจ (อวสาน)

>> พูดคุย
ที่โรงเรียนนายร้อยจะมีคำกลอนที่ติดไว้ที่ผนังของโรงเรียนว่า ‘เรียน รัก รู้ รบ เจนจบ หมดสิ้น คืออัศวิน จปร.’ เป็นคำที่นักเรียนนายร้อยทุกคนสามารถท่องได้ โดยคำแปลแบบสรุปว่า เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยแล้วต้องรู้ทุกเรื่อง

>> ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว
กรกฎได้มีโอกาสเจอเขมิการะหว่างไปทำกิจกรรมที่สนามศุภชลาสัย ทว่า เขาไม่มีโอกาสได้คุยกับเธอได้มากอย่างที่ใจหวัง และเขมิกาก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมคุยด้วย นั่นจึงทำให้กรกฎรู้ว่า…ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง

เวลาผ่านไป กรกฎและเพื่อน ๆ ก็ขึ้นปีห้า กันแล้ว เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกเลย ในขณะเดียวกันเขมิกากับสาวิตรีก็เรียนจบแล้วและกำลังจะรับพระราชทานปริญญาบัตร

ดังคำเขาว่า เวลาจะเยียวยาทุกอย่างเอง ตอนนี้ความเศร้าเสียใจจากอาการอกหักของกรกฎ ค่อย ๆ เลือนหายไป เขาไม่ได้คิดถึงเขมิกาจนกินไม่ได้นอนไม่หลับอีกแล้ว กรกฎกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนตอนที่ไม่รู้จักเขมิกาได้แล้ว

ที่ห้องนอนของนักเรียนนายร้อย 

จ้ำเดินเข้ามาหากรกฎพร้อมกับเอ่ยถาม

“กบ เอ้ย กรกฎ จะฝากอะไรไปให้เขมิกาไหม พอดีอาทิตย์นี้เพื่อนจะไปงานรับปริญญาสาวิตรีนะ น่าจะได้เจอกันแน่ๆ อยากฝากอะไรไหม?”

พอได้ฟังแบบนั้น กรกฎก็บอกกลับไปว่า “ฝากให้ช่วยซื้อดอกกุหลาบสีเหลืองให้เธอหนึ่งช่อ และบอกว่าจากกรกฎ”

จ้ำได้ยินแบบนั้นก็เอียงคอถามด้วยความสงสัย “มีความหมายอะไรหรือเปล่าวะ สีเหลืองเนี่ย?” 

กรกฎนิ่งไม่ตอบ จ้ำจึงเอ่ยถึงความหมายของสีดอกกุหลาบตามที่เขารู้มา

“แบบว่ากุหลาบสีดำรักอมตะ กุหลาบสีขาวรักบริสุทธิ์…”

พอเห็นเพื่อนกำลังจะร่ายยาว กรกฎก็รีบตัดบททันที

“ไม่มีอะไร พอดีเพื่อนเกิดวันจันทร์ ก็วันจันทร์สีเหลืองไง” เหมือนจ้ำจะไม่เชื่อในสิ่งที่กรกฎบอก ไม่ใช่ไม่เชื่อว่าเกิดวันจันทร์ แต่ไม่เชื่อว่าความหมายของดอกกุหลาบสีเหลืองจะมีแค่นี้ต่างหาก แต่ว่าจ้ำก็ไม่ได้ถามเซ้าซี้ต่อ เพราะรู้ทั้งรู้ว่ากรกฎอกหักมา และกลัวว่าจะยังทำใจไม่ได้

แค่พูดถึงเขมิกาได้ด้วยท่าทางปกติ ก็ถือว่าเก่งแล้ว

“กับสาวิตรีเป็นอย่างไรบ้าง?” ห้องเงียบได้ไม่นาน กรกฎก็ถามจ้ำกลับบ้าน จ้ำยกยิ้มกว้างก่อนจะเอ่ยบอก

“ก็ดีนะ เราวางแผนจะแต่งงานกัน ตอนนี้ก็ไปดูที่แถวคลองสามไว้ จะซื้อร่วมกัน แล้วตอนนี้เราก็ฝากเงินในธนาคารใช้ชื่อร่วมกัน…” จ้ำเล่าด้วยท่าทางที่มีความสุขแบบสุดๆ ไม่แปลกหากจะมีความสุขขนาดนี้เพราะจ้ำก็ฝันเอาไว้เยอะว่าจะไปได้ด้วยดีกับสาวิตรี ซึ่งพอได้ยินแบบนั้นกรกฎก็ยกยิ้มแสดงความยินดีกับเพื่อน

เพื่อนได้ดี…เราต้องดีใจด้วย

แต่อย่างที่เรารู้กัน และมันคือสัจธรรมของโลกใบนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวัง

กรกฎเองก็เช่นกัน แม้จะชอบเขมิกาขนาดไหน หรือเขมิกาจะเป็นรักแรกและรักเดียวของเขา แต่ก็ไม่ได้สมหวังอย่างที่ใจนึก แต่กรกฎก็รู้สึกดีนะที่ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตเขา เขาได้รู้จักเขมิกาและเธอก็ทำให้โลกทั้งใบของกรกฎเป็นสีชมพู

แค่ช่วงเดียว…ก็ดีใจ

สิ่งที่เขมิกาคิดและพูดอาจจะถูกต้องก็ได้ การที่เธอไม่อยากคบกับกรกฎเพราะเธอไม่ต้องการเจอหน้าสุเทวาอีก เธอรู้อยู่เต็มอกว่าหากคบกับกรกฎต่อไป เธอต้องเจอสุเทวา และถึงแม้ทั้งคู่ดูจะเป็นเพื่อนที่ไม่ถูกหน้าชะตากัน แต่เพราะเรียนด้วยกัน ชั้นปีเดียวกัน วันไหนสักวันก็คงต้องกลับไปคบกันเหมือนเดิมนั่นแหละ

เขมิกาคิดถูกจริงๆ

เพราะหลังจากที่กรกฎไม่ได้ติดต่อกับเขมิกาแล้ว ชีวิตเขาก็วนเวียนอยู่แค่ในโรงเรียน และสุดท้าย กรกฎและสุเทวาก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน เพราะทั้งคู่ไม่ได้เป็นคู่แข่งหัวใจกันอีกแล้ว และเมื่อเวลาผ่านไป แล้วได้ลองย้อนกลับมานึกดู ทั้งกรกฎและสุเทวาก็อาจจะหัวเราะให้กับสิ่งที่เคยทำลงไปก็ได้

มิวสิก “ด้วยเหตุและผลที่มีมากมาย…เก็บเธอไว้ข้างในจนลึกสุดใจ ได้คิดถึงเธอทุกคราว…”

เพลงนี้ กรกฎขอมอบให้เขมิกา…

อวสาน

11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ในหลวง ร.10 ทรงนำประชาชนทุกหมู่เหล่า จัดกิจกรรม ‘ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad’

วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เป็นประธานจัดกิจกรรม ‘ปั่นเพื่อพ่อ Bike For Dad’

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐ เปรียบดุจพ่อของแผ่นดิน

โดยมีพระราชประสงค์จะจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และจัดแสดงโขนกลางแปลงพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและขบวนราบ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ท่าวาสุกรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top