Tuesday, 13 May 2025
Lite

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวง ร.9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมทั้งทรงดนตรีเป็นครั้งแรกร่วมกับ 'อ.ส.วันศุกร์'

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา 15.30 น. นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ในดวงจิตของชาวเกษตรศาสตร์อย่างไม่มีวันลืม 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย จำนวน 9 ต้น บริเวณหน้าอาคารหอประชุม มก. 

ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วย อันนำมาสู่การเสด็จ 'เยี่ยมต้นนนทรี' ที่ทรงปลูก และ 'ทรงดนตรี' สืบเนื่องอีกหลายครั้งในปีต่อ ๆ มา 

การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นนนทรี ทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ทรงปลูกต้นนนทรีจำนวน 9 ต้น และทรงดนตรี

ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507

ครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2508

ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ‘พอล วอล์คเกอร์’ พระเอกตำนาน The Fast and The Furious เสียชีวิต

หากนึกถึงหนังสายความเร็วระดับตำนาน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ The Fast and The Furious และหากให้นึกต่อไป ภาพที่หลายคนจดจำได้ดี คือ 2 นักแสดงนำของเรื่อง วิน ดีเซล และ พอล วอล์คเกอร์

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน มีเหตุการณ์ช็อกแฟนหนัง เมื่อมีข่าวว่า พอล วอล์คเกอร์ เกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามรายงานข่าวแจ้งว่า เขากับเพื่อนได้ขึ้นไปทดลองรถ Porsche Carrera GT เพื่อทดสอบหมุนรถ แต่รถเกิดเสียหลักพุ่งชนกับต้นไม้ข้างทาง เพลิงลุกไหม้ทำให้พอลและเพื่อนเสียชีวิตทั้งคู่

จากข่าวช็อกนี้ ทำเอาแฟนหนังของเขาพากันเศร้าสลด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวละคร ‘ไบรอัน โอคอนเนอร์’ ในหนังฟาสต์ฯ นั้น เป็นตัวละครที่คนดูรักและติดตามกันมาตลอด การจากไปของเขาอย่างกระทันหัน จึงทำให้หนังที่ถูกสร้างภาคต่ออีกหลายภาคนั้น ต้องถูกนำมาพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ พระราชธิดาที่รัชกาล 5 ไม่ทรงโปรด

จากคราวที่แล้วที่ผมได้เล่าเรื่องของพระเจ้าลูกเธอที่ ‘ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ รักและสำคัญยิ่ง ทรงกรมเป็นถึง ‘กรมหลวง’ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร’ บทความนี้ผมจะมาเล่าถึงพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘ที่ไม่ทรงโปรด’ หรือ ทรงโปรดน้อยกันบ้าง ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับพระองค์มีน้อยมาก แม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์โต แต่ก็ไม่ได้รับการยกย่องอะไรนัก พระราชธิดาพระองค์นั้นคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระองค์เจ้าผ่อง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก่อนขึ้นครองราชย์) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (มรว.แข พึ่งบุญ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 ขณะนั้นพระบิดาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วนพระมารดาเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบิดา ขณะพระบิดามีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา ส่วนพระมารดามีอายุมากกว่าพระบิดาประมาณ 3 ปี 

ซึ่งความสัมพันธ์ในครั้งนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบ จนเมื่อประสูติเป็นพระธิดา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ซึ่งเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปราน ได้อุ้มพระกุมารีขึ้นให้ทอดพระเนตรเป็นการกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อตรัสถามว่าพระกุมารีนี้เป็นธิดาของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมิได้ทูลตอบทันที กลับกราบทูลเลี่ยง ๆ ให้ทอดพระเนตรเองว่า พระกุมารีนั้นพระพักตร์เหมือนผู้ใด จึงตรัสว่า “เหมือนแม่เพย” คือสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง 

'พระองค์เจ้าผ่องประไพ' ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงอาภัพมาก ๆ เพราะพระองค์อาศัยอยู่ในตำหนักเก่า ๆ ต่างจากตำหนักของเจ้าน้อง ๆ ที่มีขนาดใหญ่โตหรูหรา เล่ากันว่าพระองค์เป็นพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่เก็บตัวอยู่แต่ในพระตำหนัก แทบจะไม่ได้ย่างก้าวออกจากประตูพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันสิ้นพระชนม์เลย อย่าเพิ่งดราม่านะ!!! มาลองมาดูปัจจัยที่น่าจะทำให้ไม่ทรงโปรดกันก่อน

เริ่มจากการที่พระมารดาเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข มีปัญหากับพระบิดาโดยสาเหตุมาจากเมื่อ พระองค์เจ้าผ่องฯ  ขณะทรงพระเยาว์ประชวรหวัด พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ฯ เยี่ยมพระธิดา ตรัสถามเจ้าจอมมารดาแข ถึงพระอาการประชวรของพระธิดาถึง 3 ครั้ง เจ้าจอมมารดาแขก็มิได้ทูลตอบ จึงทรงพิโรธมิได้ตรัสด้วยอีกต่อไป และโปรดมอบพระองค์เจ้าผ่อง ฯให้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร” หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” เป็นผู้ทรงอภิบาลพระราชธิดาแทน เมื่อไม่ทรงโปรดเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข จึงน่าจะทำให้ไม่ได้ทรงมีความใกล้ชิดกับพระราชธิดาพระองค์นี้ (เรื่องนี้เกิดจากรพระมารดา แต่กระทบพระธิดานะ !!! ) 

เหตุต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าผ่องฯ มีพระชนมายุ 6 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงลาผนวช ในวันที่เสด็จออกผนวชนั้นพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการก็ต่างพากันมาหมอบเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมชาววัง แต่รัชกาลที่5 ทรงรับสั่งให้ทุกคนยืนเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่ง ดังนั้นบรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการจึงพากันยืนเข้าเฝ้า แต่ทว่า พระองค์เจ้าผ่องฯ ผู้เป็นเด็กที่ยึดมั่นตามโบราณประเพณีจึงไม่ยอมยืนขึ้น ยังคงหมอบกราบอยู่ รัชกาลที่ 5 เห็นดังนั้นก็ทรงกริ้ว ถึงกับเสด็จฯ ไปดึงพระเมาลี (จุกผม) ให้ยืน แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็มิทรงยืน เหตุนี้พระพุทธเจ้าหลวงจึงน่าจะไม่โปรดพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มากนัก ถึงแม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกก็ตาม อันนี้ว่ากันว่าคือการยึดมั่นของพระองค์ที่ทรงมีอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ด้วยพระอัธยาศัยเงียบขรึมเก็บพระองค์ ไม่โปรดปรานการสังสรรค์กับผู้ใด เล่าลือกันว่าทรง “ดื้อเงียบ” หากทรงไม่พอพระทัยสิ่งใดแล้วจะไม่ทรงปฏิบัติเด็ดขาด แม้จะทรงถูกกริ้วหรือถูกลงโทษก็ทรงเงียบเฉย จึงทำให้ไม่ทรงสนิทชิดเชื้อกับผู้ใดรวมทั้งพระบรมราชชนก นอกจากพระอุปนิสัย ก็ว่ากันว่าพระองค์ไม่ได้ทรงฉลาดนัก อีกทั้งพระโฉมไม่ค่อยงาม 

ในเวลาที่ ในหลวง ร. 5 เสด็จฯ ไปที่ใด พระราชโอรสและพระราชธิดาต่างๆ ก็จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จอยู่เสมอๆ แต่มีเพียงพระองค์เจ้าผ่องฯ ที่ไม่เคยได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปไหนเลย อย่างคราวสร้างพระราชวังดุสิต บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็ได้รับพระราชทานตำหนักใหญ่น้อยอยู่ในพระราชวังดุสิต แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็ไม่เคยได้รับพระราชทานตำหนักในพระราชวังดุสิต และพระองค์ก็พอพระทัยที่จะประทับอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวังนั่นเอง ทำให้ห่างเหินกับพระราชบิดาจนกระทั่งสวรรคต 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการ ‘ตรัสอย่างตรงไปตรงมา’ อย่างที่เรียกกันว่า ‘ขวานผ่าซาก’ จนเป็นที่กล่าวขวัญร่ำลือกันถึงพระอัธยาศัยนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งการไป ‘ตากอากาศ’ กำลังเป็นที่นิยมของสังคมชั้นสูงในสมัยนั้น พระองค์เจ้าผ่องก็มิเคยเสด็จฯ ด้วย เมื่อมีพระญาติตรัสถามว่า ไม่เสด็จไปทรงตากอากาศบ้างหรือ ? ก็จะทรงตอบว่า “ไปตากอากาศ ฉันก็เห็นพวกเธอตายกันโครมๆ” ซึ่งก็เป็นการตรัสที่มีส่วนของความจริง เพราะทรงเป็นพระราชนารีที่มีพระชนมายุยืนยาวมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ก็นะ ถามเฉยๆ อ่ะ)

ส่วนการยึดมั่นในขนบดั้งเดิมก็มีตัวอย่างที่ฟังแล้วก็อึ้งๆ เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นเวลาที่เจ้าพระยารามราฆพ (เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ซึ่งเป็นสกุลของเจ้าจอมมารดาแข พระมารดา) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานและมีอำนาจสูงในแผ่นดิน พระองค์เจ้าผ่องก็ไม่ทรงสนิทสนมด้วย แม้เจ้าพระยารามราฆพ จะทูลเชิญให้เสด็จเป็นเกียรติยศ ณ บ้านของท่าน ก็ทรงปฏิเสธ เพราะทรงยึดถือขนบประเพณีเก่าที่ว่าขุนนางจะต้องเป็นฝ่ายมาเฝ้าเจ้านาย การที่เจ้านายจะเสด็จไปบ้านขุนนางนั้นเป็นการไม่ควร เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้ลงเอยจะยอมเสด็จ ฯ แต่นั่นก็คือเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ไม่ยอมเสด็จฯ ไปอีก หรืออย่างพิธีถวายน้ำสงกรานต์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ประจำปี ก็จะเสด็จฯ ไปถวายตามพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ ตามลำดับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ทรงคำนึงถึงความสะดวกหรือระยะทางใกล้ไกล (สุดจริงๆ) 

แต่กระนั้นแม้ว่า ร.5 จะทรงโปรดน้อย แต่เหตุการณ์ประทับใจของความเป็น พ่อ-ลูก ก็มีอยู่เล็กๆ เล่ากันว่าครั้งที่โปรดฯ พระราชทานที่ดินสวนนอกให้เจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาบางพระองค์ไป แต่สำหรับพระองค์เจ้าผ่องฯ นั้นโปรดฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ 100 ชั่งสำหรับเป็นทุนเลี้ยงพระชนมชีพ ด้วยทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระอัธยาศัยของพระราชธิดา ประกอบกับที่ทรงมีพระราชดำริว่าพระราชธิดาไม่ทรงคุ้นเคยกับชีวิตนอกพระบรมมหาราชวังและไม่มีมารดาคอยดูแล เกรงจะทรงได้รับอันตราย (ก็คือทรงตระหนักแล้วว่าพระธิดาพระองค์นี้ไม่ออกจากพระบรมมหาราชวังแน่ๆ) 

1 ธันวาคม ‘วันดำรงราชานุภาพ’ รำลึกถึง ‘กรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

วันดำรงราชานุภาพ ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บุคคลไทยพระองค์แรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. และเป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารและพลเรือน เช่น เจ้าพนักงานใหญ่ ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมศึกษาธิการ (ตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี) องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร นายกราชบัณฑิตยสภา องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอภิรัฐมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านการศึกษา การปกครอง การต่างประเทศ การสาธารณสุข หลักรัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" และ "พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย" 

ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้ เมื่อ 14 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เวลา 12.00-13.32 น. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของพรรคพลังประชาชน นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว

3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ เมืองโบพาล อินเดีย ระเบิด โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตกว่า 15,000 คน

3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 ก๊าซเมทิลไอโซไซยาไนด์กว่า 40 ตัน รั่วไหลในโรงงานยาฆ่าแมลงที่เมืองโภปาล อินเดีย ก๊าซแพร่ไปในอากาศอย่างรวดเร็ว เสียชีวิตทันทีราว 3 พันคน ยอดรวมจากนั้นตาย 15,000 คน บาดเจ็บนับแสนคน 

ได้เกิดอุบัติเหตุโรงงานบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ที่เมืองโบพาล รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย เกิดระเบิดขึ้น จากนั้นสารเคมีก๊าซเมทิลไอโซไซยาไนด์กว่า 40 ตัน เกิดการรั่วไหล โดยก๊าซพิษได้แพร่กระจายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 3 พันคน โดยในสัปดาห์แรกมีผู้เสียชีวิตกว่า 8 พันคน และเจ็บป่วยกว่า 5 แสนคน ซึ่งต่อมามีรายงานว่าเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.5 หมื่นคน และผู้ที่รอดชีวิตแม้จะดูเหมือนโชคดีที่ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ก็โชคร้ายมากเพราะต้องเผชิญกับความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ มีลูก ลูกก็ป่วยออทิสติกหรือด้อยพัฒนาการบางประการ ซึ่งเหตุดังกล่าวนับเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการอุตสาหกรรม

เรื่องรักนักเรียนนายร้อย ตอนที่ 8 จดหมายตัดรัก

>> ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว 
ความรักของกรกฎกำลังไปด้วยดี ติดเพียงแค่มีสุเทวาคอยจ้องหาจังหวะเข้าหาเขมิกาตลอด 

>> พูดคุย
เรื่องเล่าชีวิตนักเรียนนายร้อยเมื่อเรียนจบชั้นปีที่ 5 แล้วก็จะติดยศ ว่าที่ร้อยตรี จากนั้นก็จะไปรับราชการในหน่วยทหารต่างๆ ทั่วประเทศ จนเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าพิธีรับพระราชทานกระบี่ ก็จะกลับเข้ามาทำพิธีดังกล่าว

ตอนนี้กรกฎและจ้ำขึ้นชั้นปีที่ 4 แล้ว เหลืออีก 1 ปีเท่านั้นก็จะเรียนจบ

...แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แต่กรกฎเล่าให้ผมฟังว่า เขาจำวันนี้วันที่ 5 ธันวาคม 2534 ได้แม่นยำราวกับเหตุการณ์เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวาน เพราะว่า เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้พบกับเขมิกาในใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม...

หลังจากนี้ เหตุการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป...

วันหนึ่ง พี่จามินทร์ รุ่นพี่ปีที่ 5 เรียกกรกฎเข้าไปพบในห้อง กรกฎรู้สึกผิดสังเกต เพราะปกติแล้วนักเรียนนายร้อยถูกเรียกไปพบมักเป็นเรื่องไม่ค่อยดี 

เมื่อกรกฎเข้าไป พี่จามินทร์ก็พูดกับกรกฎทันที

“น้องมีอะไรกับเขมิกาหรือเปล่า”

พี่จามินทร์พูดพร้อมชูจดหมายให้ดู 

“เขมิกา เขียนมาตัดพ้อต่อว่าน้องและส่งรูปของน้องมาในซองด้วย...”

กรกฎใจหายวาบ แต่ก็รีบตอบพี่จามินทร์ไป

“ไม่ทราบเหมือนกันครับ ผมยังไม่ได้อ่านจดหมายเลยครับ”

พี่จามินทร์ยื่นจดหมายให้พร้อมพูดปลอบ

"อย่าเพิ่งคิดอะไรไปมากนะ ค่อยหาวิธีแก้ปัญหากัน”

“ขอบคุณครับ” กรกฎตอบ พร้อมรับจดหมายแล้วรีบกลับมาที่ห้อง

พอมาถึงห้อง เขารีบเปิดอ่านจดหมายทันที

เนื้อความในจดหมาย บอกว่า

“สุเทวาเป็นคนไม่ดี ด่าว่าเพื่อนของเขมิกา และเอาเรื่องของเพื่อนเขมิกาไปเล่าในทางเสียหาย ทำให้พวกเขมิกาไม่สามารถรับได้ และในอนาคตต่อไปหากกรกฎและเขมิกาคบกันไปวันหนึ่งก็ต้องเจอกับสุเทวา ซื่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน จะทำให้มองหน้ากันไม่ติด ดังนั้นเราควรเลิกติดต่อกัน” (อ้าว แล้วมันเกี่ยวอะไรกับกรกฎด้วย)

นอกจากนี้ เขมิกายังส่งรูปถ่ายที่กรกฎเคยส่งไปให้ รวมถึงตัดภาพที่เคยถ่ายคู่กับเขมิกาออกไป เหลือเพียงภาพของกรกฎคืนมาเท่านั้น กรกฎมองรูปที่ขาดออกเหมือนหัวใจเขาถูกฉีกออกเช่นกัน (มันปวดร้าว)

4 ธันวาคม ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสิ่งแวดล้อมไทย

วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมไทย’ กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก เมื่อครั้งเสด็จออกให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลา ดุสิดาลัย พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เพื่อตรัสเตือนคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า

“วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าถ้าคำนวณดูน้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดี ถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลข เหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้วที่ใช้จริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่ อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ น้ำนี้จะต้องใช้ให้ดี คือ น้ำนั้นมีคุณอย่างที่เราใช้สำหรับบริโภค น้ำสำหรับการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด”

“น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลส่วนใหญ่ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กำลังมีมากขึ้นก็คือ น้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้น นี่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ แล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราจะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมา ก็กลายเป็นน้ำเน่าหมด เพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง”

“ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้ เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทย ‘ยังให้’ ใช้คำว่า ‘ยังให้’ ก็หมายความว่า ยังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ ไม่ใช่ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทรายก็ป้องกันได้ ทำได้”

5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 

5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย มีใจความสำคัญให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้ 

1. เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

2. เป็นวันชาติ 

3. เป็นวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top