Tuesday, 13 May 2025
Lite

BZ4X รถ EV คันแรกจากค่ายโตโยต้า พร้อมบุกตลาดไทย ในราคาเปิดตัว 1,836,000 บาท

โตโยต้า ไม่ยอมน้อยหน้าค่ายอื่น เปิดศึกชิงพื้นที่รถอีวี ด้วยการเปิดตัว Toyota bZ4X รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน 100 % คันแรกของค่าย 

BZ4X เป็นรถแนว SUV ขับเคลื่อน 4 ล้อ 4WD กับขุมกำลัง 218 แรงม้า แรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 337 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ของรถ เร่งแรงได้ดั่งใจ เหยียบ 0-100 กม. ได้ภายใน 6.9 วินาที วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 411 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง กับแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 71.4 kWh รองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ AC สูงสุด 6.6 kW และการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC สูงสุด 150 kW นั่นทำให้การใช้ Fast Charge อัดประจุจาก 0 – 80% ได้ภายในเวลา 30 นาที  

แบตเตอรี่ลูกนี้ ทางค่ายโตโยต้า ก็ได้เคลมไว้ว่า สามารถเก็บประจุไฟได้มากถึง 90% แม้จะใช้งานไปแล้วมากกว่า 10 ปีก็ตาม นอกจากนี้แบตเตอรี่ก็ยังมีฉนวนหุ้มระบบไฟฟ้าแรงดันสูงกันน้ำถึง 3 ชั้น และระบบล็อคที่ข้อต่อสายไฟ 2 ชั้น ทำให้ผู้ขับขี่สามารถขับลุยไปได้อย่างปลอดภัย

พวงมาลัยเป็นพาวเวอร์ไฟฟ้าหุ้มหนัง EPS (Electric Power Steering) รัศมีวงเลี้ยวแคบสุดที่ 5.7 ม. ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง สูง-ต่ำ และใกล้-ไกล รวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่ด้วย ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงที่พวงมาลัย

‘LISA’ พาเพลง ‘LALISA’ คว้า ‘Best K-Pop’ จากงาน ‘2022 MTV Europe Music Awards’

ต้องบอกว่างานประกาศรางวัล MTV Europe Music Awards หรือ MTV EMA ปีนี้ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าไทยเรา 6 ชั่วโมง ศิลปินเคป็อปจากเกาหลีใต้ผงาดกวาดกันไปหลายรางวัลกันเลย

เริ่มจาก 4 สาว ‘แบล็กพิงก์’ (BLACKPINK) พวกเธอผ่านเข้าชิง 4 สาขาซึ่งมากที่สุดในบรรดาศิลปินกลุ่มปีนี้ และสมหวังคว้าไปได้ 2 รางวัลนั่นคือรางวัล Best K-Pop แก่ ‘ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล’ (Lisa) สมาชิกชาวไทยและน้องเล็กของวง ที่สร้างประวัติศาสตร์กวาดรางวัลนี้ทั้งเวที MTV EMA และ MTV VMA ที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม และเป็นศิลปินเดี่ยวเคป็อปในรอบ 10 ปี ที่คว้ารางวัลเวทีนี้ถัดจาก ‘ไซ’ (Psy) เจ้าของเพลง Gangnam Style

นอกจากนี้ BLACKPINK ยังคว้ารางวัล Best Metaverse Performance จากผลงาน BLACKPINK X (PUBG) 2022 In-Game Concert: [The Virtual] ซึ่งพวกเธอคว้ารางวัลเดียวกันนี้ได้ที่งาน MTV VMA ที่สหรัฐก่อนหน้านี้ด้วย

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 การเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันนี้เมื่อ 89 ปีที่แล้ว เกิดการเลือกตั้งแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเลือกตั้งที่เรียกว่า 'เลือกตั้งทางอ้อม' ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวอีกด้วย

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบล ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เพื่อให้ได้ผู้แทนตำบล ซึ่งผู้แทนตำบลนี้จะเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน

ภายหลังทางการได้ดำเนินการเลือกผู้แทนตำบลเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ดำเนินการเลือกผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามกำหนด ผลการเลือกผู้แทนปรากฏว่าได้ผู้แทนราษฎร 78 คน

เรื่องรักนักเรียนนายร้อย ตอนที่ 6 อาหารมื้อพิเศษ

>> ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว 
กรกฎและจ้ำถูกกักบริเวณเนื่องจากเจอผงแป้งประหลาดในหอพัก พวกเขาจึงต้องอยู่ที่โรงเรียนต่อ โดยที่เพื่อนๆ คนอื่นได้กลับบ้าน กรกฎจึงตกลงกับจ้ำว่า หากพ้นจากการกักบริเวณแล้วจะต้องไปหาเขมิกาและสาวิตรีที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

เรื่องเล่าทั่วไปเกี่ยวกับนักเรียนนายร้อย ในตอนเช้าของทุกวันหลังจากนักเรียนนายร้อยรับประทานอาหารเช้าแล้วก็จะมาเข้าแถว และกล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเดินแถวไปเรียน และในตอนเย็นหลังจากเรียนเสร็จแล้ว ก็จะมาเข้าแถวเพื่อเดินแถวกลับมาที่ที่พัก ซึ่งประกอบด้วยโรงนอน และที่ทำงานของนายทหารปกครอง รวมๆ เรียกว่า 'กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์'

จากวันที่ได้รับโทษต้องถูกกักบริเวณให้อยู่ในโรงเรียนเสาร์อาทิตย์ หลังจากนั้น จ้ำและกรกฎจะสลับกันลงมารวมแถวเป็นคนสุดท้ายเพื่อตรวจดูว่า มีผงแป้งตกอยู่ในห้องอีกหรือไม่ หรือมีใครแอบเอาแป้งมาโรยในห้องอีก

สัปดาห์นี้ผ่านไป โดยราบรื่น กรกฎและจ้ำได้กลับบ้านและจะได้ทำตามแผนที่วางไว้ 

....แผนที่จะไปหาสองสาวพยาบาลตำรวจนั่นเอง

เช้าวันเสาร์ ทั้งสองเดินทางด้วยรถเมล์สาย 29 จากอนุสาวรีย์ไปมาบุญครอง เมื่อรถเมล์มาจอดที่ป้ายตรงข้ามามาบุญครอง ทั้งสองก็เดินตัดผ่านสยามสแควร์ไปที่ข้ามถนนอังรีดูนังต์ไปที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจทันที

ระหว่างเดินไป ทั้งสองก็อมยิ้มไปตลอดทาง แม้แดดจะร้อน และต้องเดินไกลมากแค่ไหน แต่ก็ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย

จ้ำนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าจะได้เจอกับสาวิตรี แต่ทางฝั่งกรกฎกลับใจตุ้มๆ ต่อมๆ ต้องลุ้นว่าจะเจอกับเขมิกาหรือเปล่า

ทั้งสองเดินไปหยุดหน้าวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ แล้วมองหน้ากัน จากนั้นพยักหน้าและเดินเข้าไปด้านใน (ท่าทางเหมือนโจรปล้นธนาคาร อย่างไงอย่างงั้นเลย)

ทั้งสองไปพบนักศึกษาพยาบาลที่เข้าเวร เพื่อแจ้งชื่อนักศึกษาพยาบาลที่ต้องการจะพบ ทั้งสองต้องเซ็นชื่อก่อนที่จะพบกับสองสาว 

จ้ำสังเกตท่าทางเพื่อนเห็นว่ามือสั่นแปลกๆ จึงกระซิบถาม

“กรกฎเป็นอะไรวะมือสั่นๆ”

“ไม่เป็นไร” กรกฎรีบตอบปฏิเสธ แต่จริงๆ แล้วในใจเต้นระรัว ตอนที่จรดปากกากับกระดาษแล้วเขียนชื่อ 'เขมิกา'

เมื่อเซ็นชื่อเสร็จ ทั้งสองก็รอให้ประกาศเรียกชื่อสองสาว ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก แต่ในความรู้สึกของกรกฎนั้นรู้สึกว่า นานมาก...มากแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน 

ส่วนระหว่างรอก็มีสาวๆ เพื่อนพยาบาลตำรวจหลายคนต่างมาออกันที่หน้าประตู ไม่ใช่เพราะมาดูดาราหรอกนะ แต่มาดูจ้ำและกรกฎต่างหาก พวกเธอต่างยกมือปิดปาก แล้วหัวเราะเสียงดังคิกๆ กัน

“จ้ำ กูเขินว่ะ” กรกฎเห็นแบบนั้นก็รู้สึกเขิน เลยกระซิบบอก “มองเราไม่พอ แอบหัวเราะกันอีก”

“เขินอะไรวะ มึงก็ส่งตาหวานไป แล้วเก๊กหน้าหล่อไว้ ไอ้ห่า เราผู้ชายนะโว้ย” จ้ำบอก แล้วหันไปมองไปที่กลุ่มสาวๆ ก่อนจะยิ้มส่งไปให้หนึ่งที

ไม่นานสิ่งที่รอคอยนับศตวรรษ เอ้ย หลายนาที ก็ปรากฏตัวออกมา กรกฎและจ้ำยิ้มทักทายสองสาวด้วยความสุขเต็มใบหน้า 

และเพื่อไม่ให้รู้สึกเขินอายเหล่าพยาบาลสาวที่เดินผ่านไปมา จ้ำและกรกฎก็เลยชวนสาวิตรีและเขมิกาไปทานอาหารกลางวันที่ร้านแถวสยามสแควร์

ผู้อ่านเดาว่า...พวกเขาจะทานอะไรกันครับ ?

'สุกี้โคคา' ?

ไม่ใช่ครับ ร้านตรงหัวมุมสยามสแควร์ซอย 7 ด้านใน ถ้าผม เอ้ย กรกฎจำไม่ผิดน่าจะชื่อร้าน 'เรือนคุณแม่' นี่แหละ

พอมาถึงทั้ง 4 คนก็พากันขึ้นไปบนชั้นสอง จ้ำและสาวิตรี สั่งอาหารมาทานกันอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนาน

ส่วนกรกฎนั้น นั่งมองหน้าเขมิกาและปล่อยให้เขมิกาเป็นคนสั่งอาหารให้ โดยเขานั้น ไม่รู้สึกหิวเลยแม้แต่น้อย

ตำราแพทย์ต้องเขียนเรื่องการทำงานของกระเพาะขึ้นมาใหม่แล้วแหละ เพราะว่าตอนนี้หัวใจของกรกฎทำหน้าที่แทนกระเพาะอาหารไปแล้ว เพราะตอนนี้เขารู้สึกอิ่มเอมเพราะคว่มสุขที่ล้นหัวใจ

มิวสิก “~จะบอกว่ารัก เธอจะซึ้งหรือเปล่า อยากเอ่ยเรื่องราวที่มันยังค้างคาใจ ~ ได้แต่ถอนใจเก็บเอาไว้ไม่กล้าบอกเธอ ~”

ช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านไปไว แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ทั้งจ้ำและกรกฎกลับมาเรียนด้วยหัวใจที่พองโต ทุกอย่างเป็นสีชมพูไปหมด

ชักศึกเข้าบ้าน!! เรื่องป่วนสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ปฐมเหตุแห่งการยกเลิกวังหน้า

ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ที่ดีงาม และพร้อมที่จะต่อยอดในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อในเรื่องเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่ม กำลัง ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ ด้วยการ จะประท้วงในการจัดประชุมครั้งนี้ จะชุมนุมเพื่อให้สะท้อนปัญหาของพวกตัวเอง (ปัญหาที่ใครต่อใครเขาก็ไม่เดือดร้อนนะยกเว้นไอ้พวกกลุ่มนี้) 

โดยมีผู้สนับสนุนเป็นทุนจากต่างชาติ และ / หรือ อาจจะเป็นคนในชาติที่เป็นทาสตะวันตก ตั้งใจสร้างสถานการณ์ต่างๆ พร้อมด้วย ‘การข่าวปลอม’ และ ‘การข่าวป่วน’ ของพวกเขา ที่วางแผนไว้เพื่อให้การประท้วงของพวกเขาไปอยู่ในสายตาของสื่อต่างชาติที่มาทำข่าว APEC 2022 ทั้งยังพร้อมทำทุกอย่างเพื่อด้อยค่าประเทศตัวเอง ให้เกิดขึ้นในสายตาของชาติอื่นๆ 

พูดถึงเหตุการณ์ที่ไปดึงเอาต่างชาติเข้ามายุ่มย่ามในบ้านเมืองเรา มีอยู่เหตุการณ์ป่วนหนึ่งในสมัยอดีต ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ในกาลต่อมามีการยกเลิกตำแหน่งเรียกว่า ‘วังหน้า’ หรือ ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ กันเลยทีเดียว 

เรื่องป่วนที่จะเล่าในครั้งนี้ เป็นเรื่องใหญ่ของแผ่นดินที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก อังกฤษและฝรั่งเศส กำลังคุกคามประเทศรอบข้างสยาม และกำลังจ้องมองสยามอย่างตาเป็นมัน

เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีตัวละครสำคัญเป็นทหารอังกฤษตกงาน เพราะพนันม้าจนหมดตัวจากอินเดีย ชื่อ ร้อยเอก ‘โทมัส ยอร์ช น็อกซ์’ เขาเดินทางมาสยามเพื่อหางาน โดยตามเพื่อนชาติเดียวกันมาก็คือ ‘ร้อยเอกอิมเปย์’ ซึ่งเข้ามาสอนทหารวังหลวงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  ส่วนตัว ‘ร้อยเอก น๊อกซ์’ นั้นเขาได้เข้าไปสมัครเป็นคนฝึกทหารของวังหน้าในรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเผอิญพอพูดภาษาไทยได้ประมาณนึง ก็เลยเถิดได้ไปเป็นล่ามให้สถานทูตอังกฤษ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นถึงทูต (คุณพระ !!!! ) 

นอกจากนี้ ยังมีอาชีพเสริมเป็นสื่อมวลชนสายเสี้ยมกึ่งปลุกปั่น (อันนี้ผมตั้งเอง) เขียนคอลัมน์ของตัวเองไปลงหนังสือพิมพ์ในยุโรป โดยเขียนเชียร์วังหน้าอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู (ก็นายจ้างเก่าเขาน่ะนะ) ว่าเก่งกว่าวังหลวงมาก เวลาวังหลวงออกว่าราชการก็ต้องให้วังหน้าชักใยอยู่เบื้องหลัง (จินตนาการตามข้อนี้ นี่มันเมืองจีนหรือไง? มีซูสีไทเฮาผู้ชายว่าการอยู่หลังม่านยังงี้ บ้าบอที่สุด !!!!) 

พอเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งขึ้นครองราชย์ เมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 โดยในขณะนั้น พระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงได้แต่งตั้ง ‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)’ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกลุ่มผู้สำเร็จราชการได้ตั้ง พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศฯ โอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขึ้นเป็น ‘กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ’ ซึ่งในตอนนั้นวังหน้ายังมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับ ‘ร้อยเอก น็อกซ์’ กงสุลอังกฤษลูกจ้างเก่าเป็นอย่างดี 

มาถึงจุดหลักของเรื่องราวนี้ ในกาลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุนิติภาวะสามารถว่าราชการด้วยพระองค์เองได้แล้วประมาณ 2 ปี ก็มีมือดีทิ้ง ‘บัตรสนเท่ห์’ (จดหมายไร้ชื่อคนส่ง) เตือนให้วังหน้าระวังตัว เพราะว่ากำลังจะถูกลอบปลงพระชนม์ !!!! บรรดาขุนนางวังหน้าก็บ้าจี้ เชื่อตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนั้น ก็เลยเร่งเกณฑ์ผู้คน ทั้งข้าทาสบริวาร ทั้งทหารและพลเรือนจากทั่วสารทิศเข้ามาเตรียมพร้อม 

ฝ่ายวังหลวงพอเห็นแบบนั้น ก็ไม่ไว้ใจสถานการณ์เหมือนกัน เลยเตรียมกำลังไว้เงียบๆ เหมือนกัน (คุณพร้อมผมก็พร้อมว่างั้นเถอะ) แต่จะเงียบยังไง ฝ่ายวังหน้าก็รู้จนได้ และแล้วการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายก็เกิดขึ้นกันอย่างเปิดเผย จากบัตรสนเท่ห์แผ่นเดียวกำลังจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟซะแล้ว 

ในช่วงที่สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายตามความเชื่อของคนเสี้ยมและคนโดนเสี้ยม คือในคืนหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ใกล้กับตึกเก็บดินระเบิดและอาวุธต่างๆ เคราะห์ดีมากที่มีผู้พบเห็นเสียก่อนและดับไฟได้ทัน หากลุกลามลุกไหม้ไปนอกจากจะสร้างความเสียหายจากการระเบิดเพราะดินดำ ก็อาจจะลามขึ้นไปห้องเก็บพระมหาพิชัยมงกุฎและสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินอื่นๆ ทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

เมื่อเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนี้ กรมพระราชวังบวรฯ ก็ร้อนตัว (ซึ่งจริงๆ ยังไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะอะไร? จะร้อนตัวเพื่อ?) ก็เกรงจะเกิดภัยกับพระองค์ (ขุนนางของพระองค์นั่นแหละเสี้ยมจนเรื่องไม่จริงจะกลายเป็นเรื่องจริงอยู่แล้ว) จึงเสด็จลี้ภัยไปที่บ้านกงสุลอังกฤษทันที ตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญ เพราะนี่คือโอกาสที่เปิดช่องให้ 2 กงสุล คืออังกฤษและฝรั่งเศสถือโอกาสสอดแทรกเข้ามาเพื่อหยิบยื่นความหวังดีประสงค์ร้ายแทบจะในทันที โดยเฉพาะอังกฤษ 

โดยชาติตะวันตกเสนอให้แบ่งประเทศสยามออกเป็นส่วนๆ จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน (ตูจะทะเลาะกันเอง พวกเอ็งยุ่งอะไรด้วยฟะ?) คนที่ถูกใจเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นไอ้คนทิ้งบัตรสนเท่ห์และไอ้พวกนักเสี้ยมนั่นแหละ (คล้ายๆ กับปัจจุบันไหมคุณว่า) และไม่เพียงแค่นำเสนอความคิด แต่อังกฤษยังทะลึ่งมีใบบอกไปถึงผู้สำเร็จราชการเมืองสิงคโปร์ให้เข้ามาช่วยเจรจา (มาเจรจาอะไร?) โดย ‘เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก’ ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ ได้เดินทางเข้ามาแทบจะทันที 

แต่ตรงนี้ผมคงต้องกราบแทบฝ่าละอองธุลีพระบาทองค์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ไว้หนึ่งคำรบ เพราะพระองค์ไม่ปล่อยให้ เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ได้ไปยุ่งเหยิงอะไรกับเรื่องการแบ่งเค้กเมืองสยาม พระองค์ชิงจัดการต้อนรับผู้สำเร็จราชการอย่างสมเกียรติและได้พูดคุยอย่างเปิดเผยเป็นกันเอง ก่อนปิดท้ายด้วยการรับสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “กรณีนี้เป็นเพียงความขัดแย้งในราชตระกูล พระองค์สามารถจัดการเองได้” (ชาติอื่นไม่น่าจะต้องมายุ่งว่างั้น) 

พอจัดการเรื่องของ ‘เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก’ เรียบร้อยแล้ว ทรงวิตกว่าเรื่องจะลามต่อไปอีก จึงส่งเรือเร็วไปรับ ‘สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)’ ผู้ใหญ่ของแผ่นดิน ซึ่งเกษียณจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการไปพักอยู่ที่บ้านสวนราชบุรี ให้เข้ามาปรึกษาเพื่อช่วยกันแก้ไขสถานการณ์ โดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ไม่รอช้า ไปเข้าเฝ้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีข้อแสดงความจริงใจในพระราชหฤทัยถึง ‘กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ ความว่า... 

16 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 พบการระบาดครั้งแรกของ ‘โรคซาร์ส’ ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือรู้จักกันในชื่อ โรคซาร์ส (อังกฤษ: Severe Acute Respiratory Syndrome; SARS) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มี ไข้สูง ไอแห้ง หอบ หรือหายใจลำบาก 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้มีต้นกำเนิดมากจาก มณฑลกวางตุ้งของประเทศจีนเมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ระบาดไปที่ฮ่องกง และต่อมาที่เวียดนาม สิงคโปร์ และแคนาดา โดยต่อมามีผู้พบโรคนี้ในที่อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ ไต้หวันและเยอรมนี ในตอนที่โรคระบาดนี้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2546 มีผู้ติดเชื้อ 8,422 รายที่มีอัตราป่วยตาย (CFR) ร้อยละ 11

สำหรับกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส นั้น เป็นไวรัสโรคระบบหายใจที่มีต้นกำเนิดจากสัตว์ซึ่งมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome coronavirus; SARS-CoV หรือ SARS-CoV-1) สายจำเพาะแรกของสปีชีส์โคโรนาไวรัสซาร์สในโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARSr-CoV) กลุ่มอาการนี้ก่อให้เกิดการระบาดของโรคซาร์ส ในช่วงปลาย ปี พ.ศ.2560 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนสืบต้นตอไวรัสมาจากตัวอีเห็นข้างลาย ถึงค้างคาวมงกุฎ ในเขตเมืองชาติพันธุ์อี๋ซีหยาง มณฑลยูนนาน

17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ ก่อการรัฐประหารตัวเอง หลังไม่อาจคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้อีกต่อไป

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

การรัฐประหารในครั้งนี้ สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า 'นายกฯคนซื่อ' ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ

โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองครั้งนี้ว่า ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน 

จากนั้นคำสั่งของคณะรัฐประหารได้สั่งให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

คณะปฏิวัติได้ครองอำนาจมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ หรือ มีกฎหมายฉบับใด ๆ มารองรับ

นักศึกษาไทยชุบชีวิต 'ชะลอม' ผ่านผลงานโลโก้ APEC กระตุ้นความนิยมงานจักสานสู่สังคมไทยอีกครั้ง

ทราบหรือไม่ว่า โลโก้สามสีของการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Meeting) ปี 2022 ที่ปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่ง เป็นเมืองเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในสัปดาห์นี้นั้น เกิดจากฝีมือการออกแบบของนักศึกษาไทย วัย 21 ปี

ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ คนเก่งที่ว่า โดยเขาได้บอกเล่าถึงกระบวนการออกแบบโลโก้สําหรับการประชุมทางเศรษฐกิจระดับโลกกับสํานักข่าวซินหัวว่า ความท้าทายอยู่ที่จะผสมผสานอัตลักษณ์ ของเอเปคเข้ากับสัญลักษณ์ของไทยได้อย่างไร 

ชวนนท์ เผยว่า ช้าง วัด หรือยักษ์ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย แต่เขามองว่ามันธรรมดาเกินไปและอยากคิดนอก กรอบ และไม่อยากใช้สัญลักษณ์ที่ใช้กันบ่อย ๆ จึงนึกถึง 'ชะลอม' ขึ้นมา 

“เรานึกถึงต้มยํากุ้งเมื่อพูดถึงอาหารไทย หรือรถตุ๊กตุ๊กเมื่อพูดถึงการขนส่ง แล้วสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจในไทยที่อยู่คู่กับ คนไทยมานานคืออะไร ผมนึกถึงชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานกันมาแต่โบราณ มันจักสานขึ้นจากไม้ไผ่และเป็นงานฝีมือ ที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนความสมดุลของวิสัยทัศน์การประชุมฯ ในปีนี้” ชวนนท์กล่าว 

ชวนนท์ใช้เวลาราว 3 เดือน ปรับแต่งลักษณะของชะลอมจนกลายเป็นโลโก้รูปแบบสุดท้าย โดยไผ่ที่จักสานเข้าด้วยกัน ก่อตัวเป็นช่องว่าง 21 ช่อง สื่อถึงสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค ส่วนปลายชะลอมที่ชี้ขึ้นฟ้าสื่อถึงการเติบโตของเอเปค ส่วนสีต่าง ๆ อาทิ สีน้ำเงินอันเป็นสัญลักษณ์การอํานวยความสะดวก สีชมพูแห่งการเชื่อมโยง และสีเขียวที่ยั่งยืน ยัง สะท้อนหัวข้อการประชุมฯ ปีนี้ ได้แก่ 'เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล' (Open. Connect. Balance.) 

18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็น วันเกิดมิกกี้ เมาส์ ตัวการ์ตูนดังขวัญใจคนทั่วโลก

หลายคนคงรู้จัก ‘มิกกี้ เมาส์’ ตัวการ์ตูนขวัญใจของเด็ก ๆ และคนทั่วโลก วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของหนูการ์ตูนชื่อดังแห่งวอลท์ ดิสนีย์

มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวการ์ตูนของค่ายวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) โดยวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ และอับ ไอเวิร์กส เดิมทีพวกเขาเรียกมันว่า "มอร์ติเมอร์ เมาส์" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อตัวการ์ตูนนี้ใหม่เป็น มิกกี้ เมาส์ จากการแนะนำของภรรยาวอลท์ ดิสนีย์ เนื่องจากเธอเห็นว่ามันเป็นชื่อที่ดูจริงจังจนเกินไป

จุดกำเนิดของมิกกี้ เมาส์ เกิดขึ้นขณะที่วอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (ขณะนั้นอายุ 27 ปี) นั่งอยู่บนรถไฟระหว่างทางมุ่งสู่ลอสแอนเจลิส เขาลงมือสเกตช์ภาพคาแรกเตอร์หนูเล็ก ๆ สวมกางเกงสีแดงขึ้นมา โดยมี อับ ไอเวิร์กส ออกแบบรูปร่างลักษณะ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) มิกกี้ เมาส์ ก็ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังการ์ตูนเงียบที่ชื่อว่า Plane Crazy แต่ก่อนที่การ์ตูนเรื่องนี้จะออกฉาย ก็เริ่มมีการนำเสียงมาใส่ในภาพยนตร์ ทำให้มิกกี้ เมาส์ เป็นหนังการ์ตูนที่มีการใส่เสียงเรื่องแรกในโลก ในชื่อเรื่องว่า Steamboat Willie

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เมืองสุรินทร์ เยี่ยมพสกนิการภาคอีสาน เป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียง เหนืออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2498 และในวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้เสด็จฯโดยรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีอุทุมพรพิสัยถึงสถานีศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในเวลา 14.01 น. 

ที่สถานีศรีขรภูมิ ขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุด 3 นาทีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลเบิกนายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันบนรถไฟซึ่งองค์การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดถวาย 

ระหว่างทางจากสถานีศรีขรภูมิ ตามสถานีและหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มีราษฎรมาชุมนุมเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาทอย่างมากมายเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสถานีจังหวัดสุรินทร์ ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีสุรินทร์ในเวลา 14.45 น. มีข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน สมาชิกสภาจังหวัด ผู้แทนราษฎร นักเรียน และราษฎร เฝ้ารอรับเสด็จตั้งแต่สถานีรถไฟไปตลอดถนนธนสาร จนถึงศาลากลางจังหวัดเนืองแน่น 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟไปตามถนนธนสาร ถึงสี่แยกถนนหลักเมือง แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังศาลากลางจังหวัด จากนั้นเสด็จฯ ประทับที่หน้ามุขศาลากลางจังหวัด นายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม กราบบังคมทูลในนามของราษฎรชาวสุรินทร์ แสดงความปีติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top