15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 การเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันนี้เมื่อ 89 ปีที่แล้ว เกิดการเลือกตั้งแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเลือกตั้งที่เรียกว่า 'เลือกตั้งทางอ้อม' ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวอีกด้วย

พระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบล ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เพื่อให้ได้ผู้แทนตำบล ซึ่งผู้แทนตำบลนี้จะเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คนต่อราษฎร 200,000 คน

ภายหลังทางการได้ดำเนินการเลือกผู้แทนตำบลเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ดำเนินการเลือกผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามกำหนด ผลการเลือกผู้แทนปรากฏว่าได้ผู้แทนราษฎร 78 คน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ จนกลายมาเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเวลาต่อมา คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

ข้อมูลราษฎรไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,278,231 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,773,532 คน จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด คือ เพชรบุรี จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน ภายหลังการเลือกตั้งได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาล โดยเสียงส่วนมากเลือกให้พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 2


ที่มา : https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-election-01.html