‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ พระราชธิดาที่รัชกาล 5 ไม่ทรงโปรด

จากคราวที่แล้วที่ผมได้เล่าเรื่องของพระเจ้าลูกเธอที่ ‘ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5’ รักและสำคัญยิ่ง ทรงกรมเป็นถึง ‘กรมหลวง’ คือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร’ บทความนี้ผมจะมาเล่าถึงพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘ที่ไม่ทรงโปรด’ หรือ ทรงโปรดน้อยกันบ้าง ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับพระองค์มีน้อยมาก แม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์โต แต่ก็ไม่ได้รับการยกย่องอะไรนัก พระราชธิดาพระองค์นั้นคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ’ 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระองค์เจ้าผ่อง เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก่อนขึ้นครองราชย์) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (มรว.แข พึ่งบุญ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410 ขณะนั้นพระบิดาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ส่วนพระมารดาเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบิดา ขณะพระบิดามีพระชนมายุเพียง 14-15 พรรษา ส่วนพระมารดามีอายุมากกว่าพระบิดาประมาณ 3 ปี 

ซึ่งความสัมพันธ์ในครั้งนั้น พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบ จนเมื่อประสูติเป็นพระธิดา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ซึ่งเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปราน ได้อุ้มพระกุมารีขึ้นให้ทอดพระเนตรเป็นการกราบทูลให้ทรงทราบ เมื่อตรัสถามว่าพระกุมารีนี้เป็นธิดาของใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมิได้ทูลตอบทันที กลับกราบทูลเลี่ยง ๆ ให้ทอดพระเนตรเองว่า พระกุมารีนั้นพระพักตร์เหมือนผู้ใด จึงตรัสว่า “เหมือนแม่เพย” คือสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง 

'พระองค์เจ้าผ่องประไพ' ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงอาภัพมาก ๆ เพราะพระองค์อาศัยอยู่ในตำหนักเก่า ๆ ต่างจากตำหนักของเจ้าน้อง ๆ ที่มีขนาดใหญ่โตหรูหรา เล่ากันว่าพระองค์เป็นพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่เก็บตัวอยู่แต่ในพระตำหนัก แทบจะไม่ได้ย่างก้าวออกจากประตูพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันสิ้นพระชนม์เลย อย่าเพิ่งดราม่านะ!!! มาลองมาดูปัจจัยที่น่าจะทำให้ไม่ทรงโปรดกันก่อน

เริ่มจากการที่พระมารดาเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข มีปัญหากับพระบิดาโดยสาเหตุมาจากเมื่อ พระองค์เจ้าผ่องฯ  ขณะทรงพระเยาว์ประชวรหวัด พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ฯ เยี่ยมพระธิดา ตรัสถามเจ้าจอมมารดาแข ถึงพระอาการประชวรของพระธิดาถึง 3 ครั้ง เจ้าจอมมารดาแขก็มิได้ทูลตอบ จึงทรงพิโรธมิได้ตรัสด้วยอีกต่อไป และโปรดมอบพระองค์เจ้าผ่อง ฯให้ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร” หรือ “ทูลกระหม่อมแก้ว” เป็นผู้ทรงอภิบาลพระราชธิดาแทน เมื่อไม่ทรงโปรดเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข จึงน่าจะทำให้ไม่ได้ทรงมีความใกล้ชิดกับพระราชธิดาพระองค์นี้ (เรื่องนี้เกิดจากรพระมารดา แต่กระทบพระธิดานะ !!! ) 

เหตุต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าผ่องฯ มีพระชนมายุ 6 พรรษา รัชกาลที่ 5 ทรงลาผนวช ในวันที่เสด็จออกผนวชนั้นพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการก็ต่างพากันมาหมอบเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมชาววัง แต่รัชกาลที่5 ทรงรับสั่งให้ทุกคนยืนเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่ง ดังนั้นบรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการจึงพากันยืนเข้าเฝ้า แต่ทว่า พระองค์เจ้าผ่องฯ ผู้เป็นเด็กที่ยึดมั่นตามโบราณประเพณีจึงไม่ยอมยืนขึ้น ยังคงหมอบกราบอยู่ รัชกาลที่ 5 เห็นดังนั้นก็ทรงกริ้ว ถึงกับเสด็จฯ ไปดึงพระเมาลี (จุกผม) ให้ยืน แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็มิทรงยืน เหตุนี้พระพุทธเจ้าหลวงจึงน่าจะไม่โปรดพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มากนัก ถึงแม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกก็ตาม อันนี้ว่ากันว่าคือการยึดมั่นของพระองค์ที่ทรงมีอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ด้วยพระอัธยาศัยเงียบขรึมเก็บพระองค์ ไม่โปรดปรานการสังสรรค์กับผู้ใด เล่าลือกันว่าทรง “ดื้อเงียบ” หากทรงไม่พอพระทัยสิ่งใดแล้วจะไม่ทรงปฏิบัติเด็ดขาด แม้จะทรงถูกกริ้วหรือถูกลงโทษก็ทรงเงียบเฉย จึงทำให้ไม่ทรงสนิทชิดเชื้อกับผู้ใดรวมทั้งพระบรมราชชนก นอกจากพระอุปนิสัย ก็ว่ากันว่าพระองค์ไม่ได้ทรงฉลาดนัก อีกทั้งพระโฉมไม่ค่อยงาม 

ในเวลาที่ ในหลวง ร. 5 เสด็จฯ ไปที่ใด พระราชโอรสและพระราชธิดาต่างๆ ก็จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จอยู่เสมอๆ แต่มีเพียงพระองค์เจ้าผ่องฯ ที่ไม่เคยได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปไหนเลย อย่างคราวสร้างพระราชวังดุสิต บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็ได้รับพระราชทานตำหนักใหญ่น้อยอยู่ในพระราชวังดุสิต แต่พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็ไม่เคยได้รับพระราชทานตำหนักในพระราชวังดุสิต และพระองค์ก็พอพระทัยที่จะประทับอยู่แต่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวังนั่นเอง ทำให้ห่างเหินกับพระราชบิดาจนกระทั่งสวรรคต 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการ ‘ตรัสอย่างตรงไปตรงมา’ อย่างที่เรียกกันว่า ‘ขวานผ่าซาก’ จนเป็นที่กล่าวขวัญร่ำลือกันถึงพระอัธยาศัยนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งการไป ‘ตากอากาศ’ กำลังเป็นที่นิยมของสังคมชั้นสูงในสมัยนั้น พระองค์เจ้าผ่องก็มิเคยเสด็จฯ ด้วย เมื่อมีพระญาติตรัสถามว่า ไม่เสด็จไปทรงตากอากาศบ้างหรือ ? ก็จะทรงตอบว่า “ไปตากอากาศ ฉันก็เห็นพวกเธอตายกันโครมๆ” ซึ่งก็เป็นการตรัสที่มีส่วนของความจริง เพราะทรงเป็นพระราชนารีที่มีพระชนมายุยืนยาวมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ก็นะ ถามเฉยๆ อ่ะ)

ส่วนการยึดมั่นในขนบดั้งเดิมก็มีตัวอย่างที่ฟังแล้วก็อึ้งๆ เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นเวลาที่เจ้าพระยารามราฆพ (เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ซึ่งเป็นสกุลของเจ้าจอมมารดาแข พระมารดา) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานและมีอำนาจสูงในแผ่นดิน พระองค์เจ้าผ่องก็ไม่ทรงสนิทสนมด้วย แม้เจ้าพระยารามราฆพ จะทูลเชิญให้เสด็จเป็นเกียรติยศ ณ บ้านของท่าน ก็ทรงปฏิเสธ เพราะทรงยึดถือขนบประเพณีเก่าที่ว่าขุนนางจะต้องเป็นฝ่ายมาเฝ้าเจ้านาย การที่เจ้านายจะเสด็จไปบ้านขุนนางนั้นเป็นการไม่ควร เสื่อมเสียพระเกียรติยศ แม้ลงเอยจะยอมเสด็จ ฯ แต่นั่นก็คือเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ไม่ยอมเสด็จฯ ไปอีก หรืออย่างพิธีถวายน้ำสงกรานต์พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ประจำปี ก็จะเสด็จฯ ไปถวายตามพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ ตามลำดับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ทรงคำนึงถึงความสะดวกหรือระยะทางใกล้ไกล (สุดจริงๆ) 

แต่กระนั้นแม้ว่า ร.5 จะทรงโปรดน้อย แต่เหตุการณ์ประทับใจของความเป็น พ่อ-ลูก ก็มีอยู่เล็กๆ เล่ากันว่าครั้งที่โปรดฯ พระราชทานที่ดินสวนนอกให้เจ้าจอมมารดาและพระราชธิดาบางพระองค์ไป แต่สำหรับพระองค์เจ้าผ่องฯ นั้นโปรดฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ 100 ชั่งสำหรับเป็นทุนเลี้ยงพระชนมชีพ ด้วยทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระอัธยาศัยของพระราชธิดา ประกอบกับที่ทรงมีพระราชดำริว่าพระราชธิดาไม่ทรงคุ้นเคยกับชีวิตนอกพระบรมมหาราชวังและไม่มีมารดาคอยดูแล เกรงจะทรงได้รับอันตราย (ก็คือทรงตระหนักแล้วว่าพระธิดาพระองค์นี้ไม่ออกจากพระบรมมหาราชวังแน่ๆ) 

เรื่องต่อมามีอยู่ว่าคราวนี้พระองค์หญิงมีพระชนมายุราวๆ 40 พรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าหลวงมีหมายกำหนดการจะเสด็จฯ จากพระราชวังดุสิตมาวังหลวง ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จฯ กันอย่างแช่มชื่น พระองค์เจ้าผ่องฯ ก็เช่นกันพระองค์ทรงทำพัดจากขนนกขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อถึงวันเสด็จฯ ในหลวง ร.5 ก็ได้เสด็จฯ ไปตามลาดพระบาทพร้อม ทักทายเจ้านายที่ยืนต้อนรับโดยทั่วกัน และทรงทอดพระเนตรเห็นพระองค์เจ้าผ่องฯ ยังคงหมอบรอเฝ้าอยู่เช่นเดิม

ร.5 ไม่ได้ทรงตรัสว่าอะไร แต่หยุดแล้วรับเอาพัดขนนกไว้ พระองค์เจ้าผ่องฯ จึงรีบกราบไปแทบพระบาท พระพุทธเจ้าหลวงทรงรับสั่งถามว่า “ลูกหญิงอยากได้อะไร?” พระองค์เจ้าผ่องฯ จึงกราบทูลว่า "อยากได้ธำมรงค์ (แหวน) เพคะ” ร.5 ทรงตอบว่า “ได้แล้วพ่อจะให้" ซึ่งพระองค์พระราชทานพระธำมรงค์ฝังเพชรเม็ดงามมากๆ แก่พระราชธิดาตามพระประสงค์ พระองค์เจ้าผ่องฯ ทรงกราบอีกครั้งด้วยน้ำพระเนตรไหลคลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทเหมือนน้องๆ พระองค์อื่นเลย เจ้านายบางพระองค์ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นถึงกับพากันกลั้นน้ำพระเนตรไม่อยู่เลยทีเดียว

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอที่มีพระชนมายุยืน ทรงผ่านการเปลี่ยนแปลงของประเทศมาหลายต่อหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคงไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพราะส่งผลถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ว่ากันว่า ครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยล้วนหวั่นหวาดกับเหตุการณ์นี้ โดยมากจะไปทรงหลบภัยอยู่ ณ ที่ซึ่งคิดว่าปลอดภัย จนในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะในพระราชสำนักฝ่ายในแทบไม่มีเจ้านายประทับอยู่ แน่นอนว่า พระองค์เจ้าผ่องฯ ไม่ทรงคิดที่จะอพยพไปอยู่ ณ ที่ใด ยังคงทรงประทับอยู่ ณ พระตำหนักเดิม แม้พระญาติวงศ์จะทรงชักชวนให้อพยพหลบภัยก็ตรัสเพียงว่า “อยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกัน” ซึ่งในครั้งนั้นมี พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระชันษาสูงและทรงอ้วน เสด็จพระดำเนินไม่สะดวก ประทับอยู่ด้วยกันในพระราชสำนักฝ่ายใน

ในพระตำหนักของพระองค์ ทรงมีข้าหลวงอยู่ด้วยน้อยคน แต่ทรงเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องวิชาความรู้ ที่พระองค์ทรงสอนหนังสือข้าหลวงด้วยพระองค์เอง ในส่วนการทรงพระอักษรโดยมากจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา งานประดิษฐ์ที่ทรงโปรดมากคือ การประดิษฐ์ลูกปัดเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อทรงนำไปถวายสักการะพระบรมอัฐิ หรือพระบรมรูปของสมเด็จพระอัยกาและพระบรมราชชนก เรื่องการจับจ่ายใช้สอยทรัพย์ส่วนพระองค์ นอกจากเงินปี ก็ยังได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระราชบิดา ทรงใช้ทรัพย์อย่างระมัดระวัง โดยมากจะทรงใช้เนื่องในการกุศล บั้นปลายพระชนมชีพยังทรงมีทรัพย์เหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ทรงมีลายพระหัตถ์จดสั่งไว้อย่างละเอียดว่าส่วนใดทรงมีพระประสงค์ประทานแก่ผู้ใด แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลพิพากษาการแบ่งมรดก ก็นับว่า “เป็นคดีมรดกคดีแรกของพระบรมวงศานุวงศ์” (เอาไว้ค่อยมาเล่าเพิ่มเติมนะ) 

แม้พระองค์เจ้าผ่อง ฯ จะทรงเป็นพระราชนารีที่มีพระราชจริยาวัตรผิดแผกจากพระราชนารีในสมัยเดียวกัน พระราชบิดาอาจจะทรงโปรดน้อยจากหลายเหตุปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทรงประพฤติและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดพระชนมชีพ ก็คือการรักษาขนบประเพณีโบราณและพระเกียรติยศของความเป็นพระราชนารี อย่างที่ไม่มีผู้ใดเปรียบเหมือน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ ทรงมีพระชันษายืนยาวถึง 75 ปี ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager