เก่งผิดยุค ‘ชู เปรียญ’ ปริญญาเอกคนแรกแห่งสยาม กับตัวตนที่เลือนหาย เพราะแต่งตำรายากผิดยุค

พูดถึงทุนเล่าเรียนหลวง หลายคนคงคิดถึงทุนเล่าเรียนหลวงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานปีละ 9 ทุน โดยทุนเล่าเรียนหลวงมีข้อกำหนดเดียว คือ ให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานในประเทศไทยเท่ากับระยะเวลาที่ไปศึกษา โดยไม่จำเป็นว่าต้องทำงานให้กับภาครัฐ ซึ่งไม่เหมือนกับทุนการศึกษาของไทยอื่น ๆ 

แต่คุณรู้ไหม? ว่าจริง ๆ แล้วทุนพระราชทานในสมัยรัตนโกสินทร์มีมาตั้งแต่รัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยครั้งนั้นได้ส่งคนไปศึกษาวิชาการเดินเรือที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งสามัญชน ชื่อ ‘นายฉุน’ ไปเล่าเรียน 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทางราชการก็ได้ส่งนักเรียนทุนคือ ‘นายทด บุนนาค’ และ ‘นายเทศ บุนนาค’ ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งไปพร้อมกับคณะทูตไทยเมื่อ พ.ศ. 2400 นอกจากนักเรียนแล้ว ราชการยังส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาชีพเฉพาะ เช่น การพิมพ์ และการซ่อมนาฬิกา โดยส่งข้าราชการไปดูงานในต่างประเทศทางด้านการปกครองและบำรุงบ้านเมืองที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2404 ด้วย

ครั้นลุมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทางราชการได้ส่งนักเรียนไทยจำนวน 206 คน ไปศึกษาในประเทศที่เป็นต้นแบบของวิชาการแต่ละด้าน เช่น อังกฤษ, เยอรมัน, ออสเตรีย, ฮังการี, เดนมาร์ก และฝรั่งเศส โดยเน้นให้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, คณิตศาสตร์ และวิชาตามที่นักเรียนถนัด เช่น วิชาทหารบก, ทหารเรือ, การทูต, กฎหมาย, แพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น (ก็มีความดราม่ากันไปแต่ละค่ายการศึกษา) 

โดยในสมัยนี้ เริ่มมีการแบ่งนักเรียนทุนเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนตามความต้องการของกระทรวง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนด้วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วย 

มาถึงตรงนี้ผมก็จะขออนุญาตเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของ ดร.คนแรกของคนไทย โดยปริญญาเอกรายนี้คือ ‘นายชู เปรียญ’ ผู้สำเร็จการศึกษา Ph.D. ทางด้านการศึกษาจากประเทศเยอรมนี 

นายชู เปรียญ เริ่มการศึกษาตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ สอบได้เป็นเปรียญสามประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร จนถึงพ.ศ. 2429 ได้ลาสิกขา แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบโดยมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เมื่อจบแล้วก็ได้สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนวิชาการศึกษาที่ประเทศเยอรมนี (เก่งนะเนี่ย) 

โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศเยอรมัน ตั้งแต่ขั้น B.A. มาถึงการศึกษาชั้น M.A. แล้วศึกษาต่อจนจบ Ph.D. ทางการศึกษา เมื่อนายชู เปรียญ สำเร็จการศึกษาชั้น Ph.D. นั้นว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นเต้นมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเลี้ยงพระราชทานแก่นายชู เปรียญ พร้อมกับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากเยอรมันอีก 2 คน ในโอกาสนั้นโปรดพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเกียรติยศ

การนี้มีบันทึกไว้ใน ‘หนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440)’ แต่งโดยพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ผู้ตามเสด็จและทำหน้าที่จดบันทึกการเดินทาง เขียนไว้ตอนหนึ่งความว่า…

“...วันที่ 10 มิถุนายน ร.ศ. 116 ขณะ รัชกาลที่ 5 ประทับอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เวลาบ่าย เมื่อเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว พระยาศรีสุริยราชวราวัตรก็ได้...นำนายชู เปรียญ ซึ่งมาส่งเสด็จฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ นายชูคนนี้เป็นนักเรียนที่เล่าเรียนในเยอรมันสอบไล่ได้ดีแล้ว และได้ประกาศนียบัตรเป็น ‘ดอกเตอร์ออฟฟิลอซโซฟี่’ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เล่าเรียนถึงได้รับประกาศนียบัตรชั้นนี้ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้วเสด็จขึ้น...”

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วในปี พ.ศ. 2440 มีหลักฐานบันทึกว่า ‘นายชู เปรียญ’ ได้กลับมาสยามและเข้ารับราชการ โดยพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรับหน้าที่เป็น ‘พนักงานตรวจแต่งตำราเรียน’ ก่อนที่จะย้ายไปเป็น ‘ผู้ดูการพิพิธภัณฑ์’ (Curator) ในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งในตอนนั้นการพิพิธภัณฑ์กำลังเริ่มต้นขึ้นในสยาม โดยมีการลงข่าวไว้ใน ‘หนังสือพิมพ์สยามไมตรีรายสัปดาห์’ ฉบับวันอังคารที่ 14 ธันวาคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ความว่า...

“...เราได้ทราบข่าวว่า นายชู เปรียญ ซึ่งเป็นนักเรียน ได้ไปเล่าเรียนศึกษาวิชาสอบไล่ได้เป็นนายศิลปชั้นสกลวิทยาลัย ในกรุงเยอรมนีนั้นกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว จะได้มีตำแหน่งรับราชการในกรมศึกษาธิการ รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 2 ชั่งในชั้นแรกๆ..."

สำหรับบันทึกอื่น ๆ เกี่ยวกับการรับราชการของดอกเตอร์คนแรกของไทย ปรากฏว่า ‘นายชู เปรียญ’ ได้เคยแต่งหนังสือและเคยทำงานในกรมพิพิธภัณฑ์ ในช่วงที่ ‘เจ้าพระยาภาสกรวงศ์’ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีจดหมายพิมพ์ดีดลงวันที่ 14 มกราคม ร.ศ. 117 ทูลฯ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ ความว่า ‘เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์’ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด ถูกขังเร่งเงินหลวงอยู่ โดยท่าน (เจ้าพระยาภาสกรฯ) ได้ให้นายชู มาเป็น ‘กุเรเตอร์’ (Curator) ในพิพิธภัณฑ์ 

และได้แนะนำตัวนายชู เพิ่มเติมว่า เดิมทำการในกรมศึกษาธิการ เป็นพนักงานตรวจแต่งตำราเรียน ซึ่งขณะนั้นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนมาดูอาทิตย์ละ 2 หน โดยมี ‘ผู้ที่มาดูน้อย นอกจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาฉัตรมงคล ซึ่งผู้ที่มาดูนับหมื่นแต่ชอบดูส่วนแนชุรัล ฮีสตอรี (Natural History) ยิ่งกว่าสิ่งอื่น’ (แสดงว่าน่าจะเหมาะกับการที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหนัก ๆ เพราะนายชู น่าจะเป็นนักวิชาการเต็มตัว เน้นทำวิจัยทางวิชาการว่างั้นเถอะ) 

ตำแหน่ง ‘ผู้ดูการพิพิธภัณฑ์’ (Curator) ในสมัยก่อนอย่าดูถูกว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่สูงมากนะครับ ถ้าเรามาคิดถึงสภาพสังคมในยุคนั้นที่เพิ่งเริ่มจัดการศึกษา ผู้ที่มีหน้าที่ ‘ดูการพิพิธภัณฑ์’ ก่อนหน้านายชู (ไม่นับ ‘เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์’ (เพ่ง บุนนาค) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์ที่ขอลาออกจากตำแหน่งเพราะทำผิด) คือ นายราชารัตยานุหาร (พร บุนนาค) ซึ่งต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ 

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเพิ่มเติมอีกว่า “นายชู เปรียญ ตามที่สังเกตความรู้ เป็นดอกเตอร์ฟิโลโซฟีในการปราชญ์ แลเข้าใจอยู่ในทาง ‘แนชุรัล ฮิสตอรี’ (Natural History) ด้วย ตัวก็เต็มใจที่จะทำการนี้ยิ่งกว่าการทำการอยู่ในกรมศึกษาธิการ เพราะสังเกตดูในกรมศึกษาธิการจัดอยู่ข้างอังกฤษ ไม่สู้ถูกกับข้างเยอรมัน”  อันนี้ไม่รู้ข้ออ้างหรือเปล่านะ? แต่อย่างว่าสมัยนั้นมีเลือกข้างการศึกษานะครับ เหมือนที่ผมเคยเล่าไปเมื่อครั้ง ดร.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี จบเยอรมัน ก็มีคนไม่เข้าใจพระองค์ท่านอยู่มาก ยิ่งเรียนเศรษฐศาสตร์มายิ่งแล้วใหญ่ เมื่อตรวจตำราเรียนอยู่ แลได้ไปเลกเชอร์ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สอนเด็กนั้น ก็ว่านักเรียนไม่สู้จะเข้าใจนัก ไม่เหมือนอย่างนายสนั่น (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ‘ครูเทพ’ หรือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษานั่นเอง) ว่าง่าย ๆ คือเป็นคนสอนหนังสือไม่รู้เรื่อง 

ภายหลังเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ส่งสำเนาเล็กเชอร์ เรื่อง ‘เล็กเชอร์ ตำนานพงษาวดารโลก ตอน 1’ ซึ่ง นายชู เปรียญ เป็นผู้แต่ง นำขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งหลังจากที่ได้ทรงอ่านสำเนาเล็กเชอร์แล้วเสร็จ จึงทรงแจ้งเป็นหนังสือผ่านไปยัง กรมพระสมมตอมรพันธ์ ลงวันที่ 21 มกราคม ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ความว่า “ดี แต่ยากแก่ผู้ไม่มีความรู้” คือเขียนดีแต่เข้าใจยาก ก็น่าจะเขียนเองเข้าใจเอง เพราะสมัยนั้นการศึกษายังไม่ได้กระจายไปมากมายนัก จากสอนหนังสือไม่รู้เรื่อง ก็มาแต่งตำราที่เข้าใจยากเข้าไปอีก ดอกเตอร์คนแรกของไทย นี่น่าหนักใจแทนจริงๆ 

จากนั้นไม่นานเขาก็ย้ายไปเป็น ‘พนักงานแต่งตำรา’ ของกรมศึกษาหัวเมือง (กรมที่รับผิดชอบการศึกษาแก่เยาวชนตามหัวเมือง) ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่การรับผิดชอบในครั้งนี้มีผลตอบรับไม่ค่อยดีนัก โดยมีลายพระหัตถ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานแก่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “นายชู เปรียญแต่งตำราแล้วใช้ไม่ได้ จึงขอส่งตัวคืนให้กระทรวงมหาดไทย ไปทำราชการในแผนกอื่น” ย้ายอีกแล้ว !!! แต่งตำรายากเกินเข้าใจ ใช้ไม่ได้อีกแล้ว

โดยหลักฐานสุดท้ายที่ปรากฏคือ ดอกเตอร์ชู เปรียญ ย้ายกลับไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ต่อจากนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่า ลาออกจากราชการหรือถึงแก่กรรมเมื่อใด และไม่ปรากฏทายาทผู้สืบสกุลหรือหลักฐานเรื่องนามสกุลเลย 

เรื่องนายชู เปรียญ นี้ กว่าจะหาเอกสารหลักฐานมาปะติดปะต่อกันได้นั้นยากมาก เอกสารที่กล่าวถึงการรับราชการนั้นกระจัดกระจายแทรกอยู่ตามเอกสารเรื่องต่าง ๆ ไม่มีการบันทึกไว้เป็นเรื่องเฉพาะ ที่สำคัญ คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงพระนิพนธ์ประวัติบุคคลต่าง ๆ ไว้มาก และทรงเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายชู เปรียญ ก็มิได้ทรงพระนิพนธ์ถึงประวัตินายชู เปรียญ ไว้เลย

เป็นอันว่าเรื่องของ ดอกเตอร์ชู เปรียญ ก็จบลงตรงนี้ เสียดายจริง ๆ ที่คนเรียนเก่งระดับปริญญาเอกท่านนี้ไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองร่ำเรียนมา ได้อย่างเป็นรูปธรรมเลย เรียนมากถ่ายทอดไม่ได้ก็จบกัน 

สำหรับนามสกุล ‘เปรียญ’ นี้เป็นการเรียกขานเนื่องจากนายชู ได้ศึกษาบาลีจนเป็นเปรียญแต่ไม่ถึงขึ้น ‘มหา’ ไม่ได้เป็นนามสกุลที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด 


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager