24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ประเทศไทย ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนนานาชาติ

วันนี้สำหรับชาวคริสต์ ถือเป็นวันคริสต์มาสอีฟ แต่สำหรับประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 82 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 เป็นวันที่ทางการประกาศให้วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม เป็นครั้งแรก

แรกเริ่มเดิมที เมืองสยามของเรากำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย โดยคำว่าเดือนอ้าย หมายถึงเดือน 1 หากนับตามปฏิทินจันทรคติไทย มักจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดใหม่ให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน กระทั่งเวลาผันผ่านมาจนถึง วันที่ 24 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคม

โดยมีเหตุผล 4 ประการคือ 1. เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ 2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ 3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก และ 4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

และนับจากประกาศดังกล่าว ก็ทำให้ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่จวบจนปัจจุบัน