Tuesday, 30 April 2024
Isan

นครพนม - เร่งตรวจหาเชื้อผู้ไปเที่ยวสถานบันเทิงร่วมกับผู้ป่วยโควิดรายที่ 16

วันที่ 17 เมษายน 2564 ที่บริเวณศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด ภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมได้มีประกาศให้ผู้ที่ไปใช้บริการสถานบริการ 3 แห่ง ประกอบด้วย AEC PUB นครพนมตะวันนา 2004 และ HOME 108 ระหว่างวันที่ 3-12 เมษายน 2564 ให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดระหว่างวันที่ 17 - 22 เมษายน 2564

ภายหลังจากที่มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายที่ 16 ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านอาหารชื่อดังในนครพนม ที่หลังปิดร้านอาหารของตนเองแล้วไปสังสรรค์ต่อกับเพื่อนที่สถานบันเทิงดังกล่าว แม้ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่จะมีการระดมสรรพกำลังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูง ที่เป็นพนักงานให้บริการทั้งหมดทันที รวมทั้งสิ้น 207 คน ไปแล้ว อีกทั้งมีการสั่งประกาศปิดร้านเป็นเวลา 14 วัน

แต่เมื่อผลตรวจเริ่มทยอยออกมาพบว่ามีพนักงานติดเชื้อ 8 ราย และประชาชนที่มาเที่ยวสถานบันเทิงเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 16 ป่วยติดเชื้อ 1 รายประกอบกับการสอบสวนโรคยังพบว่าพนักงานในสถานบันเทิงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ มีความหย่อนยานในมาตรการป้องกัน เช่น ไม่สวมถุงมือแล้วไปหยิบจับอาหาร หรือรับแก้วเหล้าจากนักเที่ยวมาชงให้แขก และมีการสลับเปลี่ยนโต๊ะทำหน้าที่ ทำให้ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวมีโอกาสเสี่ยงสูงในการสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น สามารถตรวจได้หลังจากได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 5 -7 วัน ซึ่งจากการคำนวณตามหลักระบาดวิทยาจะอยู่ประมาณช่วง 3-12 เมษายน ดังนั้นจึงได้มีการประกาศให้ประชาชนกลุ่มที่ไปเที่ยวในสถานบันเทิงตามทามไลน์ของผู้ป่วยรายที่ 16 เข้าตรวจหาเชื้อเพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกัน ส่วนวิธีการตรวจนั้นเจ้าหน้าที่เลือกที่จะใช้การตรวจแบบ RT-PCR (การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส) เนื่องจากมีความไว ความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3 – 5 ชั่วโมง ที่สำคัญคือสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสปริมาณน้อย ๆ ในรูปแบบของสารพันธุกรรมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตายตรวจจับได้หมด โดยสามารถตรวจได้จากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธีนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนที่อยู่ในกลุ่มนี้จำนวนมากที่มารับบริการ ซึ่งถ้าเราใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test จะทราบผลใน 15 นาที แต่ถ้ามีผลเป็นบวก เราก็ต้องมาตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT- PCR เพื่อความแม่นยำอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หลายรอบอีกทั้งประชาชนที่มารับบริการก็ต้องเสียเวลาเพิ่ม ซึ่งเราพยายามที่จะทำให้จบโดยเร็วเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ไวที่สุด

สำหรับการตรวจในครั้งนี้ผู้ที่มารับบริการจะได้รับบัตรคิว จากนั้นมานั่งรอที่เก้าอี้ภายในเต้นท์ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ เมื่อได้คิวก็เข้ารับการลงทะเบียน ซักประวัติ และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อ ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที ก็จะเสร็จสิ้นขั้นตอน หลังจากนั้นแต่ละคนแยกย้ายกันกับบ้านไปเฝ้าระวังและกักตัวเองรอฟังข่าวผลตรวจ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โทรไปแจ้งภายหลังผลออกให้ได้ทราบ

ทั้งนี้ในแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจได้เพียงวันละ 500 คน ณ จุดให้บริการศาลาประชาคมยงใจยุทธ ดังนั้นผู้ที่อยู่ต่างอำเภอ ของจังหวัดนครพนมที่เดินทางไปสถานบันเทิงดังกล่าว สามารถไปตรวจที่โรงพยายาบาลประจำอำเภอได้ด้วยเช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

กาฬสินธุ์ - “อ.ยักษ์ แม่โจ้” ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาระดับประเทศ เยี่ยมและแนะนำวิธีปลูกกัญชาแก่วิสาหกิจชุมชนฯ ผู้ปลูกกัญชาถูกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 ที่วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ จ.กาฬสินธุ์ ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จังหวัดกำแพงเพชร, นางพรรณี ดวงจันทร์ทิพย์ เจ้าพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมอาคารปลูกกัญชาถูกกฎหมายของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดย มี น.ส.สุภาพร คำยุธา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนฯ และนักวิชาการ ของวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่พร้อมสมาชิก ให้การต้อนรับ

ดร.อานนท์ สุทน ผอ.ศูนย์สาธิตแม่โจ้เกษตรศิลป์ จ.กำแพงเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชาระดับประเทศได้ให้คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนแนวทางการปลูกกัญชากับ นายนิมิตร รอดภัย ที่ปรึกษา-นักวิชาการของวิสาหกิจชุมชนฯ ที่จำเป็นต้องมีการเตรียมดินพร้อมกับการดูแลต้นและบำรุงรากให้มีความแข็งแรง ก่อนที่ลำต้นจะเติบโตมากขึ้น

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ต้นกัญชาที่ปลูกแห่งนี้เป็นพันธุ์หางกระรอก ซึ่งตามแผนงานการปลูกจะมีอายุประมาณ 3 เดือนที่ต้องพร้อมต่อการเก็บเกี่ยว ดังนั้นในการดูแลรวมไปถึงการให้ปุ๋ย จำเป็นต้องมีระบบและเป็นเวลา จนกว่าที่ลำต้นจะเติบโตในช่วง 1 เดือนแรก

“ผมไม่ต้องการให้เกษตรกรผู้รับอนุญาตถูกต้อง จะต้องมาเสียเวลาในการดูแล เพราะต้นกัญชาสามารถที่จะทำให้เจริญเติบโตได้ สิ่งสำคัญขณะนี้ผู้ได้รับใบอนุญาตถูกต้องสามารถปลูกได้เพียง 50 ต้นที่ถือว่าน้อยมาก แต่หากสามารถดูแลและทำให้มีใบกัญชาได้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะทำให้เกษตรกรวิสาหกิจผู้ปลูกกัญชามีรายได้ในจุดนี้ และในอนาคตกระบวนการแลกเปลี่ยนก็จะเกิดขึ้นอยู่ตลอด ขอให้วิสาหกิจฯ มีความมั่นใจและพัฒนาตามที่แนะนำ”

สำหรับวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจใหม่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับอนุญาตถูกต้อง เป็นหนึ่งในสามแห่งของจังหวัดกาฬสินธุ์  รับใบอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และได้ทำการปลูกลงดินเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ที่คาดว่าผลผลิตจะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

19 จังหวัด - มูลนิธิมาดามแป้ง เริ่มเปิด “ครัวมาดาม” ส่งข้าวกล่องแทนกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ 19 แห่งทั่วประเทศ

มูลนิธิมาดามแป้ง ชวนแฟนบอลไทย ส่งกำลังใจ ร่วมเปิดครัวมาดาม ปรุงอาหารจากครัวชุมชน ส่งไปยังโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลสนาม เริ่มต้น 19 แห่ง เพื่อมอบกำลังใจและตอบแทนน้ำใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังวิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงอีกครั้ง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักทุกจังหวัด จนมีแนวโน้มเข้าขั้นวิกฤตระลอก 3 ของประเทศ “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดยมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิ และประธานสโมสรการท่าเรือ จึงออกมาชวนแฟนบอลไทย สานต่อโครงการครัวมาดาม ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักทั้งสองครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ร่วมกับอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศออกตั้งโรงครัว ตั้งเป้าส่งข้าวกล่องให้ได้ 28,500 กล่องตลอดเดือนเมษายนนี้ โดยเริ่มต้นแล้วในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลสนาม 19 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ, อยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, นครราชสีมา ขอนแก่น, สระแก้ว, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สงขลา, นราธิวาส, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์ และชลบุรี

ด้าน มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง และประธานสโมสรการท่าเรือ ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ผ่านครัวมาดามว่า “แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้จะหนักหนา นับเป็นวิกฤตที่อยู่กับเราอย่างยาวนาน และสร้างความยากลำบากให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนในวงการกีฬาหลายคนก็ได้รับผลกระทบ ครัวมาดามกลับมาเสมอในยามเกิดภัย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนในสังคมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ซึ่งต้องขอขอบคุณอาสากล้าใหม่ในชุมชนต่าง ๆ ที่ร่วมกันตั้งครัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ครัวมาดามไปได้เร็วเท่าทันช่วงเวลาที่ยากลำบากในหน้างานทั้ง 19 แห่งทั่วประเทศ”

“สุดท้ายแล้ว ด้วยพลังความร่วมแรงร่วมใจของพวกเราคนไทย จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แป้งขอเป็นหนึ่งกำลังใจเล็ก ๆ ให้กับทีมคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่กำลังทำงานอย่างหนักช่วยเราคนไทยให้ผ่านความยากลำบากนี้ในเร็ววันนะคะ” นางนวลพรรณ กล่าวปิดท้าย

สำหรับครัวมาดามครั้งนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อกำลังใจนี้ ด้วยการร่วมบริจาคสมทบทุนข้าวกล่อง กล่องละ 50 บาท เลขบัญชี 092-2-61340-0 ธ.กสิกรไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิมาดามแป้ง เพื่อโครงการสร้างสังคมแห่งการให้ เพื่อเติมพลังให้บุคลากรด่านหน้าทั่วประเทศ และกระจายกำลังใจนี้ออกไปให้ไกลที่สุด

ศรีสะเกษ – นายอำเภอ ศรีรัตนะ สั่งงดจัดงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ ประจำปี 64 ไม่มีกำหนด เลี่ยงโควิด-19

เมื่อวันที่ 19  เมษายน 2564  นายภัทรนันท์ บุญมานัด นายอำเภอศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อำเภอศรีรัตนะ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 143,350 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 130,343 ไร่ มีครัวเรือนทั้งหมด 9,141 ครัวเรือน ครัวเรือนทำการเกษตร 7,406 ครัวเรือน ซึ่งอำเภอศรีรัตนะ เป็นหนึ่งในกลุ่มอำเภอที่มีศักยภาพการผลิต ข้าว พืชสวน พืชไร่ โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน เป็นพืชที่สำคัญ และปลูกในดินภูเขาไฟ มีพื้นที่ปลูกกว่า 1,300 ไร่/ปี ปริมาณผลผลิตกว่า 3,600 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า กว่า 16 ล้านบาท

ซึ่งในทุก ๆ ปีทางอำเภอได้มีการจัดกิจกรรมงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางตลาด เพื่อเปิดโอกาสในการพบกันโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและกลุ่มผู้ซื้อสินค้าเกษตร และยังเป็นการสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งการติดเชื้อในประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการบังคับใช้มาตรการและปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่ควบคุม

เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง และเพื่อให้การควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น อ.ศรีรัตนะ จึงขอแจ้งเลื่อนการจัดงานข้าวโพดหวานภูเขาไฟและของดีศรีรัตนะ ประจำปี 2564 ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ


ข่าว/ภาพ  บุญทัน ธุศรีวรรณ  ศรีสะเกษ

ขอนแก่น - ว่าที่มิสแกรนด์ แถลงข่าวประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 ก้าวสู่เวทีอันดับ 1 แห่งภาคอีสาน กองประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 เปิดตัวผู้เข้าประกวดทั้ง 26 คน ตัวแทนจาก 26 อำเภอ

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ ห้องบอลรูมพรสราญ โรงแรมเฮือนต้นนุ่น ขอนแก่น  ได้มีถ่ายทอดสดแถลงข่าว มิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 พร้อมเปิดตัวผู้เข้าประกวดทั้ง 26 คน ตัวแทนจาก 26 อำเภอ อีกทั้ง เปิดตัวมงกุฎประจำตำแหน่งมิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 พร้อมผู้เข้ารอบชุดประจำชาติ 10 ผลงานสุดท้าย และเซอร์ไพร์สอีกมากมาย โดยมีนายณัทธภัทร มูลเหลา ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น พร้อมด้วยนายสิทธา  สมควรดี กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ้านาง (ไทยแลนด์) จำกัด คุณ ปพิชญา  ศรีประวัติกุล  กรรมการผู้จัดการโรงแรมเฮือนต้นนุ่น ร่วมแถลงการจัดงานการประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 โดยมี สาวงามผู้เข้าร่วมประกวด ทั้ง 26 อำเภอ ร่วมงาน

นายณัทธภัทร  มูลเหลา ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น กล่าวว่า ในฐานะของผู้จัดงานมีความมุ่งมั่น และมีความมั่นใจที่จะให้เวทีการประกวดนางงาม ของจังหวัดขอนแก่นได้เป็นที่รู้จักยกมาตรฐานยกระดับ ในการทำงานในเวทีนางงามมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมคนเดียวไม่อาจทำงานได้ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้ ต้องขอขอบพระคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกัน หรือแม้แต่ผู้สนับสนุนทุกๆท่าน เช่นแบรนด์เครื่องสำอางค์เจ้านาง รวมไปถึงสถานที่ที่จัดงาน ในการเก็บตัวผู้เข้าประกวด เช่นโรงแรมเฮือนต้นนุ่น ขอกราบขอบพระคุณครับ ส่วนน้องๆทุกคน ตอนสมัครมาประกวดก็จะต้องมีใบรับรองแพทย์ หรือผลการตรวจเลือดทุกคน ส่วนสาวงามก็จะมีอำเภอละ 1 คน รวม 26 คน 26 อำเภอผ่านทาง Facebook : Miss Grand Thailand เวลา 16.00 น. เป็นต้นไปจะคว้ามงกุฏโดยในวันนี้เป็นการเปิดตัวสาวงามผู้เข้าประกวดจาก 26 อำเภอ และจะเก็บตัวทำกิจกรรม 6-9 พฤษภาคม 64 การคัดเลือกว่าใครจะได้เป็นมิสแกรนด์ขอนแก่นก็ต้องเป็นวันที่ 9 พ.ค.2564

ด้าน นายสิทธา  สมควรดี กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ้านาง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทเจ้าของแบรนด์เจ้านางได้เล็งเห็นศักยภาพของคนขอนแก่น ได้ทำความสวยความงามในด้าน ของตัวเองว่าตัวเองชอบความสวยความงามด้านไหน เราจึงได้สร้างโปรเจคขึ้นมา คือให้น้องๆที่เข้าประกวดได้ทำ การนวดไทยผ่านแอป tiktok และได้ทำ Present ว่าตัวเองได้ทำพรีเซนต์สินค้าตัวไหน ของแบรนด์เจ้านางแล้วเราก็จะจับพิเศษตัวนี้แหละ ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งถ้าใครทำพรีเซนต์ แล้วมีคนเข้าไปดู คุณชอบคนชื่นชม และกดไลค์ กดแชร์ เป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการตัดสิน ผ่านและก็จะ Contact ส่งไปให้น้อง เพื่อที่จะเข้าไปในรอบตัดสินได้เลย

ส่วน คุณปพิชญา ศรีประวัติกุล  กรรมการผู้จัดการโรงแรมเฮือนต้นนุ่น  กล่าวว่า ทางโรงแรมเรือนต้นนุ่นก็รู้สึกยินดีที่ได้ ต้อนรับคณะกองประกวดมิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 ในครั้งนี้ ในการป้องกันมาตรการ covid ทางโรงแรมเราก็ได้ เว้นระยะที่นั่งสำหรับทุกท่าน และก็ได้มีการตรวจสอบและติดตามข่าวของสาธารณสุขอยู่เป็นประจำ ก่อนที่เราจะมีการจัดงานขึ้น ส่วนงานในวันนี้เราก็มีการเซฟตี้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยศักยภาพของทางโรงแรมเราก็สามารถต้อนรับคณะจัดประชุมฯ หรือจัดงานต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ เมืองไมซ์ซิตี้ ของขอนแก่นเรา. Cr.ถ่ายทอดสดแถลงข่าว มิสแกรนด์ขอนแก่น 2021 https://www.facebook.com/watch/?v=488233545858141


ภาพ/ข่าว ศูนย์ข่าวขอนแก่น

สุรินทร์ - ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีสั่งคุมเข้ม แนวชายแดน 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง ตามนโยบาย ผบ.ทบ.ในการป้องกันการระบาดของโควิด-19

วันที่ 19 เมษายน 2564 พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อมอบนโนบาย "มาตรการพิทักษ์พล" ของกองทัพมาใช้ควบคุมโควิดโดยกำหนดให้กำลังพลปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันกำลังพลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการแพร่กระจายเชื้อ 

โดยเฉพาะมาตรการป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดย ที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ หน่วยประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่เข้มงวดในการสวมแมสตลอดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 จึงสั่งการให้กำลังพลในสังกัดเพิ่มการลาดตระเวน ตลอดแนวชายแดน 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง 24 ชั่วโมง

โดยเฉพาะมีการตั้งจุดตรวจตามช่องทางธรรมชาติ โดยมีการประสานกับทหารฝ่ายกัมพูชาอย่างใกล้ชิดผ่านช่องทางไลน์และช่องทางวีทีซี  ในการร่วมกันลาดตระเวนแบบคู่ขนาน  เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง  ทั้งนี้ พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ยังกล่าวต่อไปอีกว่า  ในส่วนของการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนนั้น ผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดในพื้นที่อีสานตอนล่าง ได้ส่งรายชื่อและจัดลำดับความเร่งด่วนให้กองกำลังป้องกันชายแดนไว้แล้ว หากได้รับวัคซีนมาอย่างเพียงพอ ก็จะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนทันที เนื่องจากถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุด


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า 

อุดรธานี - โรงแรมอุดร พร้อมส่งมอบให้แพทย์พยาบาลกักตัวสู้โควิด ยินดีให้ใช้สถานที่โดยไม่คิดมูลค่า

วันที่ 19 เมษายน 2564เวลา 14.30 น.  ที่โรงแรมวีธรา บูธีค โฮเต็ล ถ.อุดรดุษฎี เทศบาลนครอุดรธานี คณะเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เดินทางมาดูห้องพักของโรงแรม ที่จะใช้เป็นสถานที่กักตัว ของบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ที่อยู่ในสภาพเป็นผู้เสี่ยงสูง หลังจากบุคคลากรในห้องผ่าตัดติดเชื้อโควิด-19 และมีอุปสรรคจะกลับไปกักตัวที่บ้านได้ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เร็วที่สุด โดยทาง นายณณชัย ทีฆธนานนท์ เจ้าโรงแรมของยินดีให้ใช้สถานที่โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งนางวรนันท์ ทีฆธนานนท์ และ นายกิตติภูมิ ทีฆธนานนท์ ภรรยาและบุตรชายนายณณชัยฯ ให้การต้อนรับและพาตรวจห้องพัก

โดยทางคณะได้ตรวจดูสภาพโรงแรม สูง 5 ชั้น 60 ห้อง ที่ประกอบการมาได้เพียง 8 ปี ประกอบด้วย ล็อบบี้,ห้องอาหาร,ห้องประชุม 1,2,3,ห้องพักแบบเตียงคู่ เตียงเดียว มีเครื่องปรับอากาศ ห้องน้ำในตัว และลานจอดรถ ที่กว้างขวาง ก่อนจะมาร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

ตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี บอกว่า วันนี้มาตรวจดูความพร้อมของทางโรงแรม ที่พบว่าพร้อมที่จะทำการรับตัวบุคคลากรทางการแพทย์ ของทางโรงพยาบาล ที่จะมาใช้เป็นสานที่กักตัว ซึ่งบุคคลากรที่จะมากักตัว ผ่านการตรวจหาเชื้อแล้วไม่มี แต่ยังคงต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งผู้ที่มากักตัวที่นี่ไม่สะดวกที่จะกลับไปกักตัวเองที่บ้าน ซึ่งดูแล้วทางโรงแรมมีความพร้อมทุกอย่าง ที่จะสามารถให้บุคคลากรที่ถูกกักตัวมากักตัวที่นี่ ซึ่งคาดว่าจะมีการรับมอบพื้นที่พรุ่งนี้ และน่าจะมีบุคคลากรชุดแรกเข้ามากักตัวประมาณ 50 คนก่อน

ด้าน นายกิตติภูมิ ทีฆธนานนท์ บอกว่า ทางครอบครัวยินดีที่จะใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัวบุคคลากรทางการแพทย์ของทางโรงพาบาลศูนย์อุดรธานี ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ทางครอบครัวก็ยินดีให้ทางราชการ ใช้โรงแรมเป็นสถานที่ที่ให้บุคคลากรทางการแพทย์ ใช้เป็นที่พักมาแล้ว เป็นการช่วยเหลือชาวอุดรธานีทางหนึ่ง


ภาพ/ข่าว  นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

ขอนแก่น - รพ.ศรีนครินทร์ เสริมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มหลังเตียงผู้ป่วยเต็ม ยืนยันสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่และครอบคลุมผู้ติดเชื้อทุกระดับ พร้อมนำหุ่นยนต์ทดแทนบุคลากรมาใช้ในการส่งอาหาร

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 20 เม.ย.2564 ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.  เปิดเผยว่า การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของทางโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในสังกัดชอง มข. ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ที่ในขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องทะลุกว่า 200 ราย ทำให้เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆที่เตรียมสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเริ่มเต็ม ซึ่ง รพ.ศรีนครินทร์มีห้องความดันลบทั้งหมด 8 ห้อง เตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับหนัก-วิกฤติ ซึ่งมีเตียงผู้ป่วยอยู่ 5 เตียงขณะนี้ก็เต็มเช่นเดียวกัน

"ในส่วนของเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับหนักและวิกฤตินั้น ทางโรงพยาบาลได้เพิ่มเตียงอีก 5 เตียง ซึ่งจะเพียงพอในการดูและผู้ป่วยในระดับหนัก-วิกฤติ ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง ภายใต้การบริหารจัดการรับมือสถานการณ์ในระดับสูงสุด ซึ่งในเรื่องของเตียงผู้ป่วยขณะนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยทุกระดับได้ทั้งหมด"

ขณะที่ รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า ในแผนของการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทางโรงพยาบาลได้มีแผนเตรียมพร้อมรับในทุกระดับตั้งแต่ระดับน้อยไม่แสดงอาการไปจนถึงระดับหนักถึงขั้นวิกฤติ แต่จะเน้นในการรักษาผู้ติดเชื้อภาวะวิกฤติเป็นหลักเหมือนกับที่โรงพยาบาลขอนแก่น เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์การแพทย์และบุคลากร ซึ่งการดูแลผู้ป่วยหนักจะแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยระดับอื่น ๆ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอื่น ๆ เยอะ ทั้งชุดป้องกันที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยในระดับที่สูง และต้องใช้อุปกรณ์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วอย่างดี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้มีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โรงพยาบาลจึงต้องช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการในระดับน้อยถึงปานกลางด้วย ทำให้มีการแบ่งสัดส่วนของจำนวนเตียงผู้ป่วยให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

"ขณะนี้เรามีตั้งแต่ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยรอผลตรวจ โดยจัดโซนภายในตึกสามารถรองรับได้จำนวน 14 คน คนไข้ที่มีอาการปานกลางจัดโซนไว้ให้ 2 ตึก สามารถรองรับได้จำนวน 20 คน ส่วนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นแล้วเป็นอาการคงที่จะย้ายไปอีกตึกหนึ่งและรอกลับบ้านซึ่งรองรับได้16 คนและกำลังพิจารณาหาหอผู้ป่วยรองรับอีก 12 เตียง ในส่วนของคนไข้หนักซึ่งเป็นภารกิจหลักของเราสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 5 คน ขณะนี้จำนวนเตียงเต็มแล้วทั้ง 5 เตียง แต่เร็ว ๆ นี้จะสามารถส่งผู้ติดเชื้ออาการหนักที่ทำการรักษาหายแล้วกลับบ้าน 1 ราย ก็จะทำให้เตียงหนักว่าง 1 เตียง ทำให้ตอนนี้ทางโรงพยาบาลได้ทำการจัดสรรหาหอผู้ป่วยรองรับผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอีก โดยใช้หอผู้ป่วยจำนวน 1 ตึกซึ่งจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้ออาการหนักจนถึงขั้นวิกฤติได้อีก 5 เตียง โดยวันนี้จะเริ่มเข้าไปทำการปรับเปลี่ยนทันทีตามความเหมาะสมและได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข"

ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรงพยาบาล ได้นำหุ่นยนต์มาช่วยในเรื่องของการส่งอาหารและยาให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระดับสูงสุด ส่วนบุคลากรของ รพ.ศรีนครินทร์ ในช่วงของการระบาดระลอกที่ 3 นี้ภายหลังจากพบแพทย์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 คน ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในโรงพยาบาลและตัวผู้ป่วยด้วย เนื่องจากบุคลกรทางการแพทย์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกันในหลายๆ แผนก ต้องมีการปิดหอผู้ป่วยและตึกผ่าตัดเพื่อทำความสะอาด

ในขณะนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับ แพทย์ที่ติดเชื้อจำนวนเกือบ 600 คน ผู้ป่วยที่แพทย์ที่ติดเชื้อให้การรักษาอีกเกือบ 30 คน แต่ผลตรวจหาเชื้อของทุกคนเป็นลบ ทำให้มีความเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยต้องสงสัย และผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัด จะมีการนำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์มาเสริมโดยซักประวัติผู้ป่วยผ่านทางวีดีโอคอล การสวอบผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดทุกคนรวมถึงผู้ป่วยต้องสงสัยว่าติดเชื้อจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อความปลอดภัยต่อบุคลากรทางแพทย์ในระดับสูงสุด พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ให้เข้ากับสถานการณ์หากมีทีมแพทย์ติดเชื้อก็สามารถสับเปลี่ยนทีมแพทย์ยกชุดได้ทันที

นอกจากนี้ยังบริหารจัดการในส่วนของผู้ป่วยโดยการลดการให้บริการบางส่วนภายในโรงพยาบาล แต่จะให้การสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์และส่งยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์ ลดระยะเวลาของผู้ป่วยที่จะอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่จะรับยาภายหลังจากยื่นใบสั่งยาแล้วให้ไปที่อื่นทันทีและจะมีข้อความแจ้งมายังผู้ป่วยว่าขณะนี้สามารถรับยาได้แล้วจึงค่อยเดินทางมารับยากลับไป หรือผู้ป่วยบางรายที่กลัวไม่กล้าเดินทางมาโรงพยาบาลก็จะใช้วิธีการสอบถามอาการผ่านทางโทรศัพท์และจัดยาส่งไปให้ทางไปรษณีย์

ขอนแก่น - เร่งระบายน้ำบึงหนองโคตร รับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอย่างต่อเนื่องเพื่อ ป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจของเมือง ผู้ว่าฯ คาดปีนี้ฝนตกชุก เร่งเตรียมรับน้ำในทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 20 เม.ย 2564 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอนแก่น, เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลงพื้นที่ตรวจสภาพปริมาณน้ำเก็บกักและการบริหารจัดการน้ำที่สถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด  หลังจากที่ได้เริ่มพร่องน้ำลงสู่คลองร่องเหมือง มานานกว่า 1 สัปดาห์

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าขอนแก่น จะมีปริมาณฝนที่จะชุกกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ในขณะนี้จังหวัดได้มีการประสานไปยังเทศบาลตำบลบ้านเป็ด เดินเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำในบึงหนองโคตรลงอีก 3 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับน้ำ ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

" บึงหนองโคตรเป็นบึงขนาดใหญ่กว่า 800 ไร่ เป็นแก้มลิงในการรับน้ำจากชุมชนเมือง,ท่าอากาศยานขอนแก่น และกรมทหารราบที่ 8 ดังนั้น เมื่อพร่องน้ำได้ระดับ 3 เมตร จะทำให้รองรับน้ำได้ปริมาณมาก ซึ่งจะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้สั่งการไปให้ทุกอำเภอ ได้มีการสำรวจ และวางแผนในการเฝ้าระวังน้ำท่วมเช่นกัน"

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า เขตพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ได้วางแผนให้มีการพร่องน้ำออกจากคลองร่องเหมือง เพื่อให้น้ำไหลลงสู่บึงทุ่งสร้าง ก่อนที่จะมีการระบายต่อไปยังหนองอีเลิง และไหลลงสู่ห้วยพระคือ และแม่น้ำชี ในเขต ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ขณะเดียวกันสำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมวางเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 จุด รวม 9 เครื่อง  ตามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง เพื่อช่วยในกรระบายน้ำที่ท่วมขังผิวจราจร และพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะส่งผลน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน    

 

อย่างไรก็ตามสำหรับถนนมลิวรรณ ที่จะเริ่มมีการขยายผิวจราจร ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงทางเข้าท่าอากาศยานขอนแก่น แขวงทางหลวงที่ 1 ได่มีการมีการวางท่อระบายที่จะระบายจากชุมชนค่ายกรมทหารราบที่ 8 เพื่อให้น้ำไหลลงสู่บึงหนองโคตร จำนวน 3 จุด ซึ่งหากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะทำให้การระบายน้ำที่เคยท่วมขังชุมชนทางเข้ากรมทหารราบที่ 8 จะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ดีกว่าเดิมอีกด้วย

อำนาจเจริญ - สร้างขวัญกำลังใจ เป็นสิริมงคงในยามวิกฤต โรคระบาดโควิด-19 สรงน้ำพระบวงสรวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปัดเป่าให้อยู่ดีมีสุขลูกหลานไร่ภูย่านางในวงครอบครัว

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดจากเจ้าของไร่ภูย่านาง ว่าทุก ๆ ปีจะนำพาลูกหลานและคนทำสวนร่วม ทำพิธี ทำบุญไหว้บวงสรวงในห่วงเทศการสงกรานต์ให้ เจ้าที่พระภูมิเจ้าที่ แม่นางธรณี เจ้าป่าเจ้าเขาตามความเชื่อได้มาปกปักป้องคุ้มครองรักษา ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะในยามนี้ที่โรคระบาด covid19 จึงทำพิธี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้มาปกป้องคุ้มครอง ในพิธีเล็ก ๆ แต่ก็มีความสำคัญในความเชื่อกับสิ่งนี้โดยหมอสูตรพรามห์ ได้ป่าวสักเคเทวดา ได้มาคุ้มครองให้ ลูกหลานชาวไร่ ภููย่านาง ได้มีความสุขความอุดมสมบูรณ์ ก็ยังมีแม่พุทธรักษา เจ้าของในได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวอีกว่าไร่ภูย่านางแห่งนี่ยังได้ปลูกไม้พยุงเป็นไม้มงคลเพื่อพยุง ชีวิตพยุงครอบครัวพยุงบ้านเมือง ให้อยู่อุดมสมบูรณ์ และยังมีพืชเศรษฐกิจ ซึ่งทำรายได้คือไร่มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็น ผลไม้ปลูกง่ายสร้างรายไดได้ด้วยนำมาแปรรูปแล้วดื่มกินเพื่อ สุขภาพ กระปี้กระเป่า

เจ้าของสวนยังได้กล่าวผ่าน ผู้สื่อข่าวในตอนท้ายว่าเชิญชวนผู้ที่สนใจในด้านการปลูก ไร่มะม่วงหาวมะนาวโห่สามารถที่จะมาดูชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ


ภาพ /ข่าว  ประวัติ นิธตชะยศสกุล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top