Tuesday, 30 April 2024
Isan

กองทัพภาคที่ 2 มอบทุนการศึกษา ‘พี่ทหารสานฝัน’ เอนทรานซ์สู่รั้วมหาวิทยาลัย

วันที่ 24 มีนาคม 2564 พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช ผบ.นฝ.นศท.มทบ.26 เป็นผู้แทนพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางมาเป็นประธาน โครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ มอบทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีนางสารภี เลไธสง ผู้อำนวยการโรงเรียนนางรองพิทยาคม กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ ณ ศูนย์สื่อและเทคโนโลยี โรงเรียนนางรองพิทยาคม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

กองทัพภาคที่ 2 ได้เล็งเห็นความสำคัญการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จึงสานต่อโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ โดยสนับสนุนคอร์สเรียน ‘ภาษาอังกฤษครูนะ ออนไลน์ คอร์ส Entrance’ จำนวน 5 ทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย

พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช กล่าวว่า พิธีมอบทุนโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ ในครั้งนี้ ซึ่งมีพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานโครงการ และ อาจารย์ศักดิ์ครินช์ จงหาญ หรือ ครูนะ เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะทางภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และเป็นส่วนในการสร้างขวัญกำลังใจ ให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ขอชื่นชมผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับทุน ให้รักษามาตรฐานการเรียน การสร้างความดี มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะช่วยเหลือสังคมเมื่อมีโอกาส

ภาพ/ข่าว  สมพุด เกตขจร (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์)

ชาวบ้านครวญเข้าไปหาของป่าไม่พอกิน วอนลุงตู่ ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า

ชาวบ้านชายแดนไทยเขมร วอนลุงตู่ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า สะอื้นครวญทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าได้แทบไม่พอกินอยู่แล้ว หากขยายพื้นที่อนุรักษ์ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่าเลี้ยงครอบครัวได้  ควรให้อยู่กันแบบเดิมต่อไป

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนหลังจากที่มีข่าวว่า ขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอขอให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยได้ดำเนินการผนวกพื้นที่ป่าไม้ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าตามมติ ครม.ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

ซึ่งในบริเวณ ต.ไพรพัฒนา มีสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมายเช่น จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำ จุดชมวิวผาพญากูปรี อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ เป็นต้น และมีหมู่บ้านต่าง ๆ อีกประมาณ 8 หมู่บ้าน โดยพบว่าชาวบ้านได้มีการปลูกสวนยาง ทำไร่ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ จำนวนมาก และมีการสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นมาก มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนหลายพันคนด้วยกัน เมื่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องผนวกเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านต่างพากันตื่นตกใจเนื่องจากว่า จะทำให้ชาวบ้านที่เคยเข้าไปหาของป่าและทำมาหากินกับป่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกรงว่า บ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่อาจจะต้องถูกรื้อถอนออกไป และไม่ทราบว่าจะต้องพากันไปอาศัยทำมาหากินที่ใด

นางจิ๋ม พรหมงาม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 227 หมู่ 8 บ้านแซรไปร ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงมาเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า วันนี้ตนออกจากบ้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงในป่าตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เขต ต.ไพรพัฒนา ปรากฏว่า จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายได้ไข่มดแดงและแม่เป้งมดแดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะนำเอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ซึ่งหากว่า มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ขณะนี้ชาวบ้านอย่างพวกตนได้รับความลำบากในการทำมาหากินมากอยู่แล้ว  หากมีการขยายเขตอนุรักษ์ก็ยิ่งจะทำให้ทำมาหากินลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า หากเข้าไปหาของป่าเก็บเห็ดเก็บของป่าต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปดำเนินคดี จะทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

ตนจึงขอกราบวิงวอนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. ขอได้โปรดอย่าให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าหรือว่า ขยายพื้นที่ป่า ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขอความเมตตาจากลุงตู่ นายก รมต.ขวัญใจชาวบ้านผู้ยากไร้ได้โปรดให้ความช่วยเหลือพวกตนด้วย

ด้าน นางสำราญ ผิวนวล  อายุ  59 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้  ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอาชีพเก็บของป่าเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า ตนกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแซรไปร ที่คาดว่าจะถูกผนวกเข้าไปเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2527 ขณะนั้นตนมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น จนกระทั่งขณะนี้ตนมีอายุ 59 ปีแล้ว มีญาติพี่น้องและลูกหลานจำนวนมาก พวกตนมีอาชีพเข้าไปหาเก็บผักหวาน ผักกระโดน ผักอีฮีน เก็บเห็ด แมงจีนูน เป็นต้น ตามแต่จะหาเก็บได้นำเอาของป่ามาขายเป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวพอประทังชีวิตให้รอดพ้นไปได้ ตนและครอบครัวญาติพี่น้องทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหรือเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

เนื่องจากว่า จะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะว่า เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปเก็บหาของป่า ที่เป็นการดำรงชีพตามปกติได้ จะทำให้พวกตนในพื้นที่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ตนขอกราบวิงวอนลุงตู่ นายก รมต. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนผู้ยากไร้ ขอได้โปรดกรุณาช่วยเหลือพวกตนด้วย พวกตนไม่ต้องการให้เขตพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เพราะว่าหากพวกตนเข้าไปหาของป่าจะต้องถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก

ภาพ/ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

นักท่องเที่ยว แห่เลือกซื้อผ้าทอโบราณ 200 ปีศรีพิงพวย ย้อมด้วยดินภูเขาไฟ เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมสุรินทร์ - ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่หมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ  น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าคุณภาพ แหล่งกำเนิดผ้าทอศรีลาวา ดินภูเขาไฟ เป็นผ้าทออัตลักษณ์ของศรีสะเกษ เพื่อเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แพรพรรณที่งดงาม มีการเก็บรักษาผ้าโบราณกว่า 200 ปี การทอผ้าไม่ได้ใช้กระสวย แต่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง ต่างกับการใช้กระสวย ความพิเศษของมันคือบรรจุเส้นไหมใส่หลอดได้เยอะกว่ากระสวยและชมการย้อมผ้าดินภูเขาไฟด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาในครั้งนี้เป็นนักธุรกิจและข้าราชการบำนาญ ต่างพากันเลือกซื้อผ้าทอไปไว้ใช้และฝากเป็นที่ระลึกแก่ญาติพี่น้องและผู้ที่รักเคารพนับถือคนละหลายชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าโบราณเป็นอย่างดียิ่ง โดยมี นายพนมกร สังข์แก้ว และเพื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ได้มาที่นี่อีกครั้งเพื่อต่อยอดวาระจังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขับเคลื่อนผ้าทอมือ "ธานี ผ้าศรี...แส่ว" ที่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้นำร่องไว้ กลุ่มทอผ้าบ้านพิงพวย ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ  เป็นสถานที่ธรรมชาติที่ร่มเย็น มีเสน่ห์ ที่ทุกคนสามารถมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าโบราณที่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง นักท่องเที่ยวได้ชมพิพิธภัณฑ์ผ้า 200 ปีที่หายากที่จัดไว้ในห้องแอร์ ได้พบกับหนุ่มเยาวชนกลุ่มทอผ้าที่มีอนาคตในมิติของผ้าทออัตลักษณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรม DIY ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้   กลุ่มนี้เป็นกลุ่มศิลปินสมัยใหม่ที่ผลิตผ้าแบบมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีสโลแกนว่าหากจะอยากได้ผ้าทอสวยต้องรอหน่อยอย่าเร่ง  เพราะมีงานจากกรุงเทพสั่งทอตลอดมา 6 ปีแล้ว เป็นลูกค้ากลุ่ม High end ที่ต้องการให้ผลิตผ้าทอให้ดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร  ตนได้เสนอให้เพิ่มหมู่บ้านทอผ้านี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของ อพท.ด้วยจะได้เชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางสายไหม  ใครมาที่หมู่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ก็เชื่อมต่อมาดูผ้าโบราณที่ศรีพิงพวย ศรีสะเกษ  

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์  กล่าวว่า ตนได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำนักท่องเที่ยวกลุ่มรักผ้าไหมจากกรุงเทพฯมาเที่ยวสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยในวันนี้ได้นำมาเยี่ยมชมหมู่บ้านผ้าทอโบราณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบผ้าไหมและได้อุดหนุนผ้าทอโบราณของศรีรัตนะจำนวนมาก ซึ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาด ปีงบประมาณ 2564 โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งได้รับการประสานจากชมรมรักไหมสุรินทร์ (Facebook Group : รักไหมสุรินทร์)กำหนดเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ภาพรวม : กระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล แผนงาน : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสคุณค่า วันธรรมดา

ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ตนจึงได้นำเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบน เป็นกลุ่มศักยภาพ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากกรุงเทพ เดินทางสำรวจศักยภาพ และท่องเที่ยวช้อป ชุมชนทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเชื่อมโยงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจเฉพาะงานทอผ้าไหมพรีเมี่ยม และงานอาร์ต งานคราฟท์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเขียวสุรินทร์ ถนนวิถีวัฒนธรรมมารีหนองแคน ชุมชนทอผ้าไหมบ้านแขม อ.อุทุมพรพิสัย ชุมชนพิงพวย อ.ศรีรัตนะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว สิมวัดไพรบึง อ.ไพรบึง ศิลปญวน พระพุทธเจดีย์ใหญ่ไพรบึง ศิลปะลาว เหมือนปลี พระโบราณ ศิลปญวน วัดบ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ  เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ อ.กันทรลักษ์ รับตะวัน 3 แผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กราบไหว้ขอพรสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา จุดชมวิวผาพญากูปรี อ.ภูสิงห์ ตนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเที่ยวอีสานวันธรรมดาที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และคิดถึงท่องเที่ยวเมืองรองต้องสุรินทร์ศรีสะเกษ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

จ.อุบลฯ และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจ ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัด

จังหวัดอุบลราชธานี และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัด สร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจจังหวัดในภาพรวม

วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการท้องถิ่น สื่อมวลชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี คือ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดอุบลฯ มีแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. นอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน การประปา การคมนาคมทางน้ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนอุบลฯและประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสิรินธร จึงเป็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมความสวยงามของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกในไทย สอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้าด้วยกัน โดยนำนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) มาช่วยประเมินผลและสั่งการให้โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน และช่วยเสริมระบบผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้น ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแรกของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนมิถุนายน 2564

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แห่งใหม่ เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ประมาณปลายปี 2564 นี้ โดย กฟผ. จัดเตรียมจุดจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านขายของที่ระลึก ร้านเช่าจักรยาน จุดบริการรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว บริเวณจอดแพท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ศรีสะเกษ!! สั่งปิดสำนักสงฆ์สอนญาติโยมลามกเสพเมถุน ปฏิบัติธรรมสุดเพี้ยนมุดน้ำกลั้นหายใจสู่ทางบรรลุ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่พักสงฆ์ป่าเนื้อนาบุญ ตโพธิ์ศรี อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ต.ส้นติ เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายเทเวศน์ มีศรี นายอำเภอปรางค์คู่ พ.ต.อ.พิทักษ์ จันทร์อบ ผกก.สภ.ปรางค์กู่ นางณภัค  เทียนชัย ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ น่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าทำการจับกุมตัว พระกรันยา ถาวรธมโม สังกัดวัดถ้ำสระพงษ์ ต.ปรือใหญ่ อ. ขุขันธ์  จ.ศรีสะเกษ

หลังคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด  โดย พระวินัยเมธี) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุด) ออกแถลงการณ์การสอขอธิกรณ์ เรื่องการระงับอธิกรณ์ พระกวันยา ถาวรธมโม ที่พักสงฆ์เนื้อนาบุญ สอนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ซึ่งค่าสอนที่ได้สั่งสอนอบรมสั่งสอน แก่ศิษยานุศิษย์นั้นเป็นศาสอนหรืออุบายธรรมที่ผิดเพี้ยนไป จากพระธรรมคำสอนที่ทรงตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว  ซึ่งพระกรันยา ถาวรธมโม ได้อบรมให้ศิษยานุศิษย์ด้วยการกล่าววาจาเทศนาให้น้อมไปในทางเสพกามคุณและการสอนศิษยานุศิษย์ ให้เชื่อว่าการปฏิบัติธรรมสมาธิด้วยการกลั้นลมหายใจดำน้ำในตุ่ม จะช่วยให้บรรลุมรรคผลได้ และคารใช้วาจาแนะนำบอกล่าวอุบายแก่ศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรม ให้เป็นคู่รักกันได้ถ้าตนเองไม่มีคู่รัก

นอกจากนี้ยังสอนให้เชื่อว่าเมื่อบรรลุมรรคผลแล้วมีการร่วมกันจัดงานกิจกรรมการบันเทิ้งรื่นเริง ฟ้อนรำ ขับบรรเลงเพลงดนตรีภายในบริเวณอารามที่ถือว่าเป็นวัค จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ว่าพระกรันยา แนะนำสั่งสอนอบรมให้ศิษยานุศิษย์ได้เชื่อถือและปฏิบัติธรรมผิดเพี้ยนไปตามวาจาที่ตนได้สอนไว้และยังได้บันที่กลงไปในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

ข่าว/ภาพ   บุญทัน  ศรีสะเกษ

กองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน บุกศาลากลางจังหวัด พบผู้ว่าฯ เอาจริง กลุ่มจาบจ้วงสถาบัน พร้อมส่งบันทึกลับรายชื่อ 5 นักวิชาการชื่อดัง มข. หนุนหลังกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขอนแก่น

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น ได้กลุ่มคนขอนแกนปกป้องสถาบันและกลุ่มกองทัพประชาชนปกป้องสถาบัน ในเขต จ.ขอนแก่น จำนวนมาก พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลือง นำพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมทั้งธงชาติไทย รวมตัวกันร่วมร้องเพลงสดุดีจอมราชา พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ จำนวนมาก

น.ส.วรพรรณ  เบญจวรกุล แกนนำกลุ่มคนขอนแก่น ปกป้องสถาบัน กล่าวว่า การออกมารวมตัวกันครั้งนี้สำคัญที่สุดคือการยื่นจดหมายเปิดผลึกจากกองทัพประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และจากกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบัน ในการให้ทางจังหวัดในฐานะกำกับปกครองพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มงวดกับการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มที่แสดงออกถึงการใส่ร้าย จาบจ้วง ก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชัดเจน จากการชุมนุมในหลายครั้งที่ผ่านมา

“ เรามีการเข้าพบกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขอนแกนแล้วเพื่อให้ดำเนินการอย่างจริงจังกับกลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าว และวันนี้เรามาแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างสันติวิธีในการที่กลุ่มคนดังกล่าว โดยเฉพาะนักวิชาการ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความแตกแยกและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้เกิดการเข้าใจผิดอย่างมาก ถือเป็นบ่อนทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของความเป็นไทย และเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของชาติไทย "

ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขณะเดียวกันในการรวมตัวกันวันนี้ได้มีการส่งรายชื่อนักวิชาการ 5 คนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนการกระทำการดังกล่าวให้กับทางจังหวัดได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะที่การที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเปิดเผยว่า แนวร่วม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง จะออกมาเคลื่อนไหวนั้น ยอมรับว่าขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินหน้าไปด้วยความลำบาก ดังนั้นเมื่อกลุ่มดังกล่าวออกมาจะแสดงถึงความรุนแรงและก้าวร้าวและหวั่นจะเกิดจราจลหรือเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

ขณะที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ออกมาปกป้องสถาบัน และร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเอกสารที่ได้รับนั้นจะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ อย่างละเอียดต่อไป

คณะแพทยศาสตร์ มข. เปิดตัวแอพพลิเคชั่นครบ จบในที่เดียวตอบโจทย์ยุคไอที ที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทุกวัน สะดวก สบาย รวดเร็ว เพียงแค่ปลายนิ้ว

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 มี.ค.2564 ที่บริเวณชั้น 1 อาคารกัลยานิวัฒนานุสรณ์ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกันเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "MDKKU CARE แอพเดียวจบ ครบทุกบริการ"  ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มข. ได้จัดทำขึ้น ท่ามกลางความสนใจจากประชาชนที่มาขอรับบริการและประชาชนจำนวนมาก

รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน  รพ.ศรีนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลทีมีผู้ป่วยมาใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งการรักษาพยาบาลในแต่ละรายก็มีความยากง่ายแตกต่างกัน และมีผู้ป่วยที่มารอเข้ารับบริการทางการแพทย์และธุรกรรมต่าง ๆ เป็นเวลานาน แอปพลิเคชั่น "MDKKU CARE" ที่ รพ.ฯ ได้จัดทำขึ้นนั้น จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำนัดตรวจกับแพทย์ การทำประวัติกับโรงพยาบาล การเช็คอินก่อนเข้าตรวจผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งข้อดีของแอปพลิเคชันนี้จะช่วยลดขั้นตอนและลดเวลาในการรอรับบริการต่าง ๆ รวมทั้งการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันและตู้ชำระเงินอัตโนมัติ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ทำได้ง่าย สะดวกต่อการเข้ารับบริการของผู้ป่วย

" รพ.ฯ ได้รับความร่วมมืออันดีจากธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาแอปพลิเคชันร่วมกัน โดยมีความเชื่อมั่นว่าแอปพลิเคชัน MD KKU จะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทางการแพทย์และธุรกรรมทางการเงินร่วมกันได้เป็นอย่างดี MDKKU CARE  จะอำนวยความสะดวก ในการเข้ารับบริการ ของ ประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ตอบโจทย์ life style คนรุ่นใหม่ มีฟังก์ชั่นต่างๆมากมาย ซึ่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) พัฒนาแอปพลิเคชันที่จะตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินและธุรกรรมทางการแพทย์ ในแอปเดียว ภายใต้ชื่อ “MDKKU CARE”

รศ.นพ.อภิชาติ กล่าวต่ออีกว่า  MDKKU CARE นับว่านวัตกรรมครั้งสำคัญในโรงพยาบาล ที่สามารถทำธุรกรรมทางการแพทย์อย่าง นัดตรวจ เช็คอินก่อนพบแพทย์โดยไม่ต้องวางบัตร เลื่อนนัดด้วยตัวเอง ทำประวัติสร้างเวชระเบียนอย่างง่าย ผนวกกับการทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันอย่าง การจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน และตู้ชำระเงินอัตโนมัติ ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นตลอดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล

ขณะที่ นพ.ไพฑูรย์ ประฏิภาณวัตร  ผู้ช่วยฝ่ายศูนย์ความเป็นเลิศและศูนย์กลางบริการสุขภาพ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า  แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะเป็นการอำนวยความสะดวก ในการเข้ารับบริการ ของ ประชาชนที่มารับบริการ ซึ่งมีฟังก์ชั่น ใช้แทนบัตรผู้ป่วยแสดงรายการนัดพร้อมการแจ้งเตือนและสามารถตั้งการแจ้งเตือนได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเตือนล่วงหน้า 1 วันหรือ 1 สัปดาห์  เพื่อเพิ่มความสะดวกในการมารับบริการ และที่ห้องบัตรสามารถดูประวัติการรักษาครั้งล่าสุดและดูย้อนหลังได้ 6 เดือน แสดงรายการแพ้ยาที่บันทึกไว้ที่ รพ.ศรีนครินทร์ ระบบคิวห้องจ่ายยาจะแสดงบน แอพพลิเคชั่น  ตรวจสอบสิทธิการรักษาด้วยตนเอง เพื่อลดขั้นตอน และชำระค่าบริการผ่านแอพพลิเคชั่น โดยไม่ต้องรอคิวจ่ายเงิน ซึ่งเปิดให้ชำระได้ผ่านบัตรเครดิต ส่วนการชำระผ่านคิวอาร์โค้ด  และ โมบาย แบงค์กิ้ง กำลังอยู่ระหว่าง ขอเปิดบริการกับทางธนาคารอีกด้วย

บึงกาฬ - ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 เม.ย.ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย  จังหวัดบึงกาฬ นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ได้เปิดโครงการยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวภายใต้ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว  กิจกรรมส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ  มีผู้เข้าร่วมการอบรม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 42 คน วิทยากรอบรมให้ความรู้โดยนายสุทธิพงษ์  สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำในวงการศิลปะและอาหารระดับโลก

นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว กิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาหารพื้นบ้าน การจัดประดับตกแต่งสำรับอาหารพื้นบ้าน ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ สามารถเสริมสร้างมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหาร ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเพื่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนในโอกาสเทศกาลวันสงกรานต์ใกล้จะมาถึงนี้ และในโอกาสต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนในพื้นจะได้ลิ้มรสความอร่อย ถูกปาก สวยงาม เกิดความประทับใจและกลับมาเที่ยวอีกครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ

ด้านนายธนวณิช ชัยชนะ นายกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬมีนโยบายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดบึงกาฬ ถ้าหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น แพ็คเกจจิ้งก็ดี การผลิตก็ดี หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพ ทัดเทียมต่างชาติ หรือการถนอมอาหารให้สามรถเก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยวนำกลับไปได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์

นครพนม - ฤทธิ์พายุฤดูร้อนพัดถล่ม จ.นครพนม 5 อำเภอ เสียหายนับร้อยหลังคา

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 ได้เกิดพายุฤดูร้อนฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พัดพัดเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครพนม หลายอำเภอประกอบด้วย อ.เมืองนครพนม ธาตุพนม เรณูนคร นาแก และ อ.ปลาปาก ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านถูกแรงลมพัดได้รับความเสียหาย จำนวนหลายหลังเสาไฟฟ้า ล้มหลายสิบต้น รวมถึงโรงเรียนทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

เริ่มต้นที่อำเภอนาแก โดยนายพีรพล ลือล่านายอำเภอนาแกได้รายงานความเสียหายเบื้องต้น มีบ้านพังได้รับความเสียหาย 18 หลังคา พื้นที่ บ.ต้นแหน ต.นาแก จำนวน 10 หลัง บ.สร้างติ่ว ต.นาแก จำนวน 2 หลัง บ.โคกสะอาด ต.นาแก จำนวน 6 หลัง รวม 18 หลัง

อำเภอเรณูนคร ว่าที่ร.ต.ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร พื้นที่ ต.นางาม ในเบื้องต้น มีหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่หมู่ 8 บ้านโนนคำ ตำบลนางาม ลมพัดหลังคาเรือนเสียหายบางส่วนจำนวน 7 หลัง พื้นที่หมู่ 14 ตำบลนางามเสียหายบางส่วน 1 หลัง

ขณะที่อำเภอปลาปาก นายเชิดพันธ์ ผลวิเชียร ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.ชพ) รักษาราชการแทนนายอำเภอปลาปาก รายงานความเสียหาย รวมทั้งหมด 17 หลัง พื้นที่ ม.1 ต.หนองเทาใหญ่  1 หลัง ม.2 ต.หนองเทาใหญ่  6 หลัง ม.5 ต.หนองเทาใหญ่ 3 หลัง ม.8 ต.หนองเทาใหญ่  7 หลัง รวมทั้งหมด  17  หลัง

ส่วนที่อำเภอเมืองนครพนม นำโดยนายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอ ได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ ถูกพายุพัดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ประกอบด้วย บ้านกล้วย ม.7 ต.ขามเฒ่าต้นไม้หักทับโค ตาย1ตัว และที่ตำบลหนองญาติ เสียหายเล็กน้อยจำนวน 5 หลัง บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อจำนวน 22 หลังคา

ด้านอำเภอธาตุพนม โดยนายวรวิทย์ พิมพนิตย์  นายอำเภอธาตุพนมได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกพายุพัดเมื่อ 1 เม.ย.เช่นกันพื้นที่ บ้านคำผักแพว ม.8 ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม (ติดต่อเขต จ.มุกดาหาร) เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายรวม 6 หลัง (เสียหายหนัก 2 หลัง เล็กน้อย 4 หลัง) โดยนายอำเภอธาตุพนม พร้อมด้วยปลัดอำเภอ กำนัน ผญบ ช่างเทศบาลตำบลน้ำก่ำออกสำรวจความเสียหาย และให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมทั้งได้สั่งการให้เทศบาลตำบลน้ำก่ำ ดำเนินการนำวัสดุมาช่วยเหลือซ่อมแซม

โดยในเช้าวันนี้ 3 เม.ย.64 เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม จะได้นำสิ่งของ และถุงยังชีพ ไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยทุกอำเภอในครั้งนี้ โดยเหล่ากาชาดนครพนม ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครพนม จะได้ออกไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างเร่งด่วนต่อไป  


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส (ผสข.นครพนม)

นครพนม - ผู้ว่านครพนม ลมออกหู สั่งสอบผู้ประกอบการท่าทราย 10 ล้าน จ่อถอนใบอนุญาตขึ้นแบล็คลิส

ผู้ว่านครพนม เอาจริง สั่งสอบผู้ประกอบการท่าทราย บางรายฉวยโอกาสเลี่ยงจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น ติดต่อหลายปี พบมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ จับตากลุ่มเลี่ยงภาษี ทำรัฐเสียหาย ฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าส่งออกสิ่งของผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าว ยาเสพติด พบสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทันที ขึ้นแบล็คลิส ย้ำผู้ประกอบการอย่าเห็นแก่ได้ ต้องทำตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.นครพนม เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีปัญหากิจการดูดทรายในพื้นที่ จ.นครพนม ยอมรับว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหา มีผู้ประกอบการบางราย ที่ฉวยโอกาสขออนุญาตดูดทราย ทั้งนำเข้า ซึ่งเป็นส่วนที่ศุลกากรดูแลรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 เกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของจังหวัดนครพนม จะดูแลเรื่องความมั่นคง รวมถึงในมาตรา 9 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการขออนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ.2546 โดยเป็นการดูดทรายในราชอาณาจักร แต่จะต้องไม่เป็นพื้นที่มีเขื่อนป้องกันตลิ่ง

ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาต จากทางคณะกรรมการระดับจังหวัดทำการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต โดยมีอายุ ครั้งละ 1 ปี แต่ปัจจุบันยอมรับว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ประกอบการบางราย ฉวยโอกาสเลี่ยงจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น คือ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ติดต่อกันมาหลายปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบแก้ไข

ทั้งนี้การที่จังหวัดนครพนม เห็นชอบกับผู้ประกอบการในการทำกิจการดูดทราย เพราะมีทั้งผลดี และผลเสีย แยกเป็นผลดี คือ ทรายสะสมมากขึ้นทุกปี ทำให้เกาะสันดอนเกิดขึ้นเป็นพื้นที่กว้าง หากมีการดูดทรายจะเกิดประโยชน์ ลดปัญหาการเกิดสันดอนทรายกีดขวางทางน้ำ และส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจการค้า เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง ส่วนผลเสีย ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ประกอบการบางราย ฉวยโอกาสแฝงลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ในการนำเข้า ส่งออกของผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงต่างด้าว 

ล่าสุดได้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ในการลงพื้นที่ตรวจสอบดูแล ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากพบผู้ประกอบการบางรายกระทำผิดระเบียบขั้นตอน จะต้องดำเนินคดี ตามกฎหมายทันที เพราะผู้ประกอบการได้ประโยชน์มหาศาล แต่ละปี แต่กับมีการเลี่ยงภาษี เพราะทางจังหวัดไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบ ว่ามีการจ่ายชำระภาษีทุกปีให้ท้องถิ่น จนเกิดปัญหายืดเยื้อมานาน ทั้งที่ได้ประโยชน์มหาศาล 

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ จะต้องตรวจสอบ ทุกราย ซึ่งมีผู้ประกอบการ ยื่นขออนุญาต ประมาณกว่า 20 ราย ในพื้นที่ จ.นครพนม หากใครมีการเลี่ยงจ่ายภาษา จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต และขึ้นบัญชีแบล็คลิส ไม่มีการต่อใบอนุญาต รวมถึงเฝ้าตรวจสอบติดตามผู้ประกอบการบางรายที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินคดี และเพิกถอนใบอนุญาตทันทีหากตรวจสอบพบกระทำผิด 

ซึ่งที่ผ่านมา ยอมรับมีการปล่อยปะละเลยมานาน แต่ทางจังหวัดยินดีอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามกฎหมาย


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส (ผสข.นครพนม)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top