Saturday, 10 May 2025
Isan

ขอนแก่น - ชาวขอนแกนยืนรอต่อคิวลุ้นรับทองคำ จากการฉีดวัคซีนแน่นห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่จัดเก้าอี้ให้นั่งอยู่กับที่ ลดการสัมผัสและเว้นระยะห่าง พร้อมส่งทีมแพทย์-พยาบาล ตรวจคัดกรองและให้บริการวัคซีนในทุกขั้นตอน

ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอพล จ.ขอนแก่น ตลอดทั้งวันมีประชาชนที่ได้รับการยืนยันการฉีดวัคซีนจาก รพ.พล ทยอยเดินทางมายืนยันตัวตนและเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามแผนการฉีดวัคซีนของ รพ.พล ที่ดำเนินการตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 20 ก.ค.ตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนจากสำนักงานสาธาณสุขจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรค จ.ขอนแก่นได้กำหนดไว้ โดยในวันนี้ไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. เป็นรอบคิวการฉีดวัคซีนของคนในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล ทำให้มีประชาชนที่ได้รับการยืนยันสิทธิ์ทยอยกันเดินทางมาฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง โดยมี นพ.ประวีร์  คำศรีสุข ผอ.รพ. และ นายกิตติโชติ  เตรียมวุฒิไกร นายกเทศมนตรีเมืองเมืองพล คอยกำกับควบคุมการฉีดวัคซีนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

ซึ่งในการจัดจุดฉีดวัคซีนของศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยหน่วยฉีดวัคซีนเครือข่ายบริการสุขภาพ อ.พล ซึ่งนอกจากการลงทะเบียนและการตรวจวัดความดัน และการตรวจคัดกรองตามระบบที่กำหนดแล้ว ภายหลังจากการพบแพทย์ จะเข้าสู่ขั้นตอนของการฉีด ซึ่งพบว่า ที่หน่วยฉีดแห่งนี้ ได้จัดให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ได้นั่งประจำที่ ตามแถวที่กำหนด แถวละ 11 คน โดยเมื่อครบจำนวนคนแล้ว ทีมแพทย์และพยาบาล จะทำการยืนยันตัวบุคคลในขั้นตอนสุดท้ายแล้วจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการฉีดแบบล้อลาก คือให้ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนนั้นได้นั่งอยู่กับที่ ตั้งแต่ขั้นตอนการยืนยันรายชื่อ การฉีดวัคซีน การให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน รวมไปถึงพักรอ 30 นาที และ ออกเอกสารนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ที่ทุกคนจะนั่งอยู๋กับที่โดยไม่ต้องขยับตัวไปไหน โดยมีทีมแพทย์ และพยาบาล คอยสังเกตอาการและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และเมื่อครบกำหนดพักรอ 30 นาที ทุกคนจะเดินผ่านจุดบริการของเทศบาลเมืองเมืองพล ในการร่วมลุ้นรับรางวัลทองคำหนัก 1 สลึง 3 เส้น ที่ผู้มีจิตศรัทธาและเทศบาลเมืองเมืองพล ได้จัดเตรียมไว้ สำหรับการร่วมรับโชคให้กับผู้ที่มารับการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลได้รณรงค์ให้คนไทยทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

นายกิตติโชติ  เตรียมเวชวุฒิไกร นายกเทศมนตรีเมืองเมืองพล กล่าวว่า ในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล มีประชากรกว่า 8,000 คน ซึ่งเป้าหมายของการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาล และ ทางจังหวัดกำหนดนั้นคือให้ได้ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าคนในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คนและในจำนวนนี้แยกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคประมาณ 3,000 คน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลได้กำหนดให้ อปท.และทุกพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ลงพื้นที่เชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่ได้มารับการฉีดวัคซีนกันให้มากที่สุด เทศบาลฯจึงร่วมกับผู้ใจบุญ แจกโชคให้กับผู้ที่มาฉีดวัคซีนด้วยการจับสลากทองคำ น้ำหนัก  1 สลึง  3 เส้นให้กับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค.

“ผู้ที่จะมาสิทธิ์ได้ลุ้นรับโชคนั้นจะต้องเป็นคนในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล และมีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลฯเท่านั้น โดยจำกัดให้เฉพาะกับผู้สูงอายุ คือเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนนั้นได้มารับวัคซีนตามที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ ดังนั้นวันนี้วันแรกของการฉีดวัคซีน รอบคิวของเทศบาลและพื้นที่ตำบลข้างเคียงทำให้มีประชาชนมายืนรอต่อคิวแบบ New Normal รับการฉีดวัคซีนกันตั้งแต่ช่วงเช้า”

นายกเทศมนตรีเมืองเมืองพล กล่าวต่ออีกว่า เมื่อผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วและเป็นคนในเขตเทศบาลเมืองเมืองพล และมีทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลฯเจ้าหน้าที่จะให้บัตรชิงโชค โดยที่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับบัตรที่มีต้นขั้วและเรียงลำดับหมายเลข จะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดเพื่อให้ส่งเอกสารชิงรางวัล ขณะที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับคูปองส่วนลดร้านอาหารในเขตเทศบาลฯที่มีเข้าร่วมกว่า 50 ร้าน ที่ทั้งลดแลกแจกแถมให้กับผู้ที่มาฉีดวัคซีนที่ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ครั้งสำคัญของคน อ.พล อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดการฉีดวัคซีนในวันที่ 9 ก.ค.แล้ว เจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบรายชื่อ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและเป็นคนในเขตเทศบาลฯได้ลุ้นรับทองคำที่เป็นรางวัลใหญ่ 3 รางวัล รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาได้มาร่วมบริจาค โดยจะทำการจับรางวัลในวันที่ 16 ก.ค.ที่จะถึงนี้

ชัยภูมิ – เลขาฯ นายก อบจ.ชัยภูมิ พร้อมชุดเฉพาะกิจนายก อบจ.ชัยภูมิ ลงพื้นที่ติดตามการขุดลอกสระสาธารณะกำจัดวัชพืช กักเก็บน้ำสำหรับใช้ทำน้ำประปา และเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการทำการเกษตร

6 กรกฏาคม 2564 นายอร่าม โล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ มอบหมายให้นายพงค์ศักดิ์ มังสังข์ เลขานุการนายก อบจ.ชัยภูมิ พร้อมด้วยชุดเฉพาะกิจ นายก อบจ.ชัยภูมิ ลงพื้นที่ติดตามการขุดลอกสระสาธารณะเพื่อกำจัดวัชพืชลำน้ำก่ำ ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหมื่นแสน ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ทำน้ำประปาและเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรต่อไป


ภาพ/ข่าว  อรรถดิษฐ์ จันตะเสน จ.ชัยภูมิ

ขอนแก่น - เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ” ระยะทาง 832 เมตร กฟภ. สนับสนุนงบกว่า 34 ล้านบาท แล้วเสร็จใน 300 วัน

ขอนแก่นได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 จังหวัดของไทย ได้โครงการนำสายสื่อสารลงดินเทิดพระเกียรติในหลวง ประจำปี 64 ถนนนิกรสำราญ ระยะทาง 832 เมตร กฟภ. สนับสนุนงบกว่า 34 ล้านบาท แล้วเสร็จใน 300 วัน

วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ณ บริเวณด้านหลังเจ้าปู่ครูเย็น (ภายในบริเวณศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่าขอนแก่น) ได้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อ “โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ” โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ สำนักการช่างเทศบาลนครขอนแก่น และประชาชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จำนวนประมาณ 120 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นายทูล หาวิชา ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรตินั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากกระทรวงมหาดไทยต้องการขับเคลื่อนโครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการสนับสนุนตามภารกิจของหน่วยงาน โดยจัดระเบียบสายสื่อสาร นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน รวมถึงเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม

ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย ที่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ และจังหวัดขอนแก่นได้คัดเลือกให้เส้นทางของถนนนิกรสำราญ (สี่แยกโรงเรียนสวนสนุก) ถึง ถนนโพธิสาร (ปากทางเข้าชุมชนโนนทัน) ระยะทางทั้งสิ้น 832 เมตร ด้วยเหตุผลเพราะเป็นเส้นทางที่ผ่านสถานที่สำคัญและสถานที่ท่องเที่ยว เช่น บึงแก่นนคร โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ พ่อเมืองคนแรกของจังหวัดขอนแก่น รวมไปถึงเป็นเส้นทางที่มีการจัดกิจกรรมบ่อย

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า สภาเมืองขอนแก่น มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์กับโครงการนี้ และขั้นตอนต่อไป คือ เทศบาลนครขอนแก่นจะได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับการไฟฟ้าส่วนหน่วยงานภูมิภาคจังหวัดขอนแก่นเพื่อดำเนินการตามแผนงานก่อสร้าง โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะได้ทำการรื้อถอนระบบไฟฟ้า สายสื่อสาร และสายสัญญาณต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนเสาไฟ ให้อยู่ในเคเบิลด้านในลงใต้ดิน ในส่วนของเทศบาลนครขอนแก่นจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง

โดยใช้งบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 34,566,445 บาท เมื่อนำสายเคเบิลลงดินแล้ว ประโยชน์ที่จะได้รับก็คือการปรับปรุงทัศนียภาพให้สวยงาม รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาระบบการจ่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นภายในเทศบาลนครขอนแก่น โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 300 วัน (เดือนกรกฎาคม 2564 – เดือนพฤษภาคม 2565) และผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับในช่วงก่อสร้างคือ การจราจร เนื่องจากแนวท่อร้อยสายและบ่อพักจะอยู่บนผิวจราจรจึงจำเป็นต้อง มีการปิดการจราจรช่องทางในบางช่วง , เสียงรบกวนซึ่งจากการก่อสร้างซึ่งแต่จะไม่เกินระดับความดังของเสียงตามที่กฎหมายกำหนด และฝุ่นละออง ซึ่งเกิดขึ้นจากการก่อสร้างซึ่งจะได้มีการควบคุมอย่างใกล้ชิดในระหว่างก่อสร้าง

ขอนแก่น - ม.ขอนแก่น หารือ ภาคเอกชน สกัดน้ำมันกัญชงและกัญชา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ศ.พญ.ผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ร่วมประชุมกับ นายจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ นักธุรกิจ เพื่อหารือข้อตกลงความร่วมมือ ด้านวิจัย วิชาการ สกัดกัญชง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ณ ห้องประชุม กาลปพฤกษ์ 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และดำเนินงานวิจัยพืชกัญชง และกัญชาแบบบูรณาการครบศาสตร์ จากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

เริ่มตั้งแต่ทีมคณะเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยด้านการปลูก ปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ ทีมคณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิจัยสกัดน้ำมันกัญชงและกัญชา วิเคราะห์สารองค์ประกอบสำคัญ ทีมจากคณะเภสัชศาสตร์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมรูปแบบ ขนาด ผลิตภัณฑ์ยา เพื่อส่งต่อให้ทีมคณะแพทยศาสตร์ นำไปวิจัยด้านคลินิกในผู้ป่วยเฉพาะโรค ยินดีที่จะร่วมหารือข้อตกลงเพื่อการนำสารสกัดกัญชงในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

สำหรับพื้นที่ปลูกอยู่ในบริเวณ คณะเกษตรศาสตร์ ปลูกระบบปิดในตู้คอนเทนเนอร์ ได้คะแนนในการปลูกเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม 100 คะแนนเต็มจากองค์การอาหารและยา สามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และสามารถรองรับนักวิจัย วิชาการ นักธุรกิจที่ต้องการสร้างข้อตกลงร่วม ที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย เพื่อใช้ประโยชน์พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษาหรือการใช้งานในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้

การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบริหารจัดการฟาร์มกัญชาของคุณทอมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และการบริหารจัดการฟาร์มกัญชงและกัญชาเพื่อการวิจัยการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขอนแก่น - พร้อมรับคนบ้านเดียวกันกลับภูมิลำเนาเข้ารักษาตัว เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ให้บริการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 8 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่โรงพยาบาลสนามขอนแก่นแห่งที่ 2 (พุทธมณฑลอีสาน) ถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ บ.เต่านอ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 โดยมีนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์  ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น นางพัฒนาวดี วิริยปิยะ ปลัด อบจ.ขอนแก่น และ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายแพทย์วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตามแผนบริหารจัดการด้านสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่นกำหนด

นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่นได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่นจึงมีมติเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ รพ.สิรินธร ที่ได้เริ่มรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนา ในเขต จ.ขอนแก่น เข้ารับการรักษาและดูอาการ ตามแผนระบบการส่งต่อผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา ซึ่ง อบจ.ขอนแก่น ได้จัดเตรียมอาหาร 3 มื้อต่อวัน ให้กับผู้ป่วย การจัดสถานที่ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมไปถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ 

โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2  ที่ พุทธมณฑลอีสาน แห่งนี้ มีเตียงรองรับผู้ป่วยรวมจำนวน 110 เตียง แยกเป็นชาย 32 เตียง หญิง 78 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำนวน 37 ราย ชาย 17 ราย หญิง 20 ราย คงเหลือจำนวนเตียงว่าง 61 เตียง ชาย 13 เตียง หญิง 58 เตียง โดยการดำเนินงานด้านการแพทย์นั้น รพ.สิรินธร ได้จัดกำลังบุคลากรทางการแพทย์มาปฎิบัติงานตลอดทั้ง 24 ชม. อบจ.ขอนแก่นได้จัดทีม รปภ. รักษาความปลอดภัย 24 ชม. และมอบหมายเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของทางจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ดี สำหรับชาวขอนแก่นที่ต้องการกลับบ้านเพื่อมารักษาตัว

จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นสามารถประสานงานมาได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หมายเลขโทรศัพท์  082-2839170 หรือพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรงผ่านระบบไลน์ ประสานโควิดขอนแก่น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานเพื่อสอบถามข้อมูลและจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมไปถึงการประสานงานร่วมกับคนในครอบครัวเพื่อที่จะประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่ถูกต้อง รัดกุม และลดการแพร่กระจายของเชื้อและให้คนบ้านเดียวกันได้กลับมารักษาอาการที่บ้านได้อย่างปลอดภัย

ขอนแก่น - “อีสาน โคตรซิ่ง” ใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์” หนุนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานสื่อสารผ่านนวัตกรรม

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับองค์กรเครือข่าย เปิดงาน “อีสานโคตรซิ่ง” ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เพื่อหวังหนุนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานสื่อสารผ่านนวัตกรรม นำสู่การสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชน

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จ.ขอนแก่น ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ผู้จัดงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ เปิดกิจกรรมใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Isan Crossing: อีสานโคตรซิ่ง” เพื่อสะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ เเละนวัตกรรม แสดงศักยภาพของบุคลากรและธุรกิจสร้างสรรค์ ผ่านผลงานที่เก็บเกี่ยวและได้รับแรงบันดาลใจจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม “อีสาน” อาทิ งานหัตถกรรม, การออกแบบผลิตภัณฑ์, ภาพยนตร์, ศิลปะ, ดนตรี และ อาหาร หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

โดยมุ่งเน้นส่งเสริม 3 อุตสาหกรรมหลักที่ชูอัตลักษณ์ถิ่นอีสาน ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน อุตสาหกรรมการออกแบบและงานฝีมือ และอุตสาหกรรมอาหารอีสาน ชวนชมผลงานจากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กว่า 200 รายการ ผ่าน 9 รูปแบบกิจกรรมไฮไลต์ ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น และ 19 จังหวัดภาคอีสาน โดยงานเทศกาลฯเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า อีสานเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์และภูมิปัญญาอันน่าทึ่ง ซึ่งหลายเรื่องเป็นที่รู้จักดีในระดับโลก เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 จึงเป็นเทศกาลที่แสดงถึงศักยภาพความสร้างสรรค์ของคนอีสานในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดของดีของเดิมของอีสาน ให้เข้ากับตลาดในยุคสมัยใหม่ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นที่ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ของภาคอีสาน และมีเป้าหมายการพัฒนาเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

พ.ต.ท.สมชาย โตเจริญ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ถือเป็นมิติใหม่ของชุมชนชาวขอนแก่นที่ได้ร่วมจัดงานเทศกาลฯ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสาน โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในขอนแก่น โดยเริ่มที่ย่านศรีจันทร์สร้างสรรค์ เพื่อปลุกย่านเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวา พร้อมพัฒนาชีวิตของผู้คนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ซึ่งเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความร่วมมือและการพัฒนาต่อยอดของคนอีสาน และคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนชุมชนและเศรษฐกิจอีสานให้เติบโตต่อไป

ด้านนายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น เปิดเผยว่า เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 จะสร้างประสบการณ์ร่วมและปลูกฝังแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน คนในชุมชน และประชาชนที่สนใจ ด้วยกิจกรรมถ่ายทอดประโยชน์ของการออกแบบ กระตุ้นความคิด และการพัฒนาทักษะ ณ 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ศรีจันทร์ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สาขาขอนแก่น ในย่านกังสดาล ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยการจัดเทศกาลฯ ครั้งนี้ ได้มีการออกแบบรูปแบบการจัดงานเพื่อให้สอดรับชีวิตวิถีใหม่ โดยปฎิบัติตามมาตรการเข้าชมงานและหลักเกณฑ์การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วยมาตรฐาน SHA พร้อมทั้งมีกิจกรรมบางส่วนให้สามารถเข้าร่วมทางออนไลน์ เพื่อตอบรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อุบลราชธานี- นิพนธ์ ลุยแจกโฉนดที่ดิน “อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ” สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ในโครงการ“มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” ขอบคุณ ทุกฝ่ายช่วยดูแลรักษาชีวิตประชาชนจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ศาลาประชาคม บ้านนาสีดาน้อย ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 30 แปลง ตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  นายอำเภอชานุมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ตำบลตำบลชานุมานร่วมในพิธี ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดตามหลัก D-M-H-T-T-A  ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการป้องกันโรคโควิด-19

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และนโยบายของกรมที่ดินในการที่จะเร่งรัดในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนที่ถือครองที่ดินอยู่ และได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นมายาวนาน และที่ดินนั้นไม่ใช่ที่ดินของรัฐในประเภทต่างๆ ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ลงนามประกาศเดินสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินหนังสือสำคัญของทางราชการแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้วจำนวน 50 จังหวัด การมอบโฉนดที่ดิน ตามโครงการ "มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน" ให้กับประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ  จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สามารถนำโฉนดที่ดินไปประกอบการพัฒนาในอาชีพของตนเอง เพิ่มผลผลิต และรายได้ ซึ่งเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจของตนเอง

จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางต่อไปมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน บ้านหนองแสง ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามโครงการ “ มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุข คลายทุกข์ให้ประชาชน” อีก จำนวน 30 แปลง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินยืนยันว่านโยบายการเดินออกสำรวจโฉนดที่ดินก็จะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยให้พี่น้องประชาชน ได้สามารถเข้าถึงการมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเองถือว่าเป็นความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรที่ดินของชาติ สร้างความมั่นใจ ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ดินของทางราชการ โดยโครงการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะเอาที่ดินของรัฐ ที่ประชาชนทำมาหากินอยู่แล้วมาจัดให้กับประชาชน แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ก็ถือว่าประชาชนเข้าทำกินโดยชอบ เพราะมีกฎหมายให้ดำเนินการได้ ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์โดยกรรมสิทธิ์ที่เป็นนส.3 และนส.3ก ให้ออกเป็นโฉนดเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ ยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันดูแลป้องกันสถานการณ์โควิด ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกท่านได้ช่วยกันทำงานอย่างหนักแข่งกับเวลาเพื่อดูแลรักษาชีวิตประชาชนไท่ให้เหิดการสูญเสีย ซึ่งตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ขอนแก่น - ประกาศชัดเศรษฐกิจขอนแก่นต้องรอด นำบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจตบเท้า เข้ารับการฉีดวัคซีนทางเลือกคึกคัก "ชาญณรงค์" กำชับผู้ประกอบการทุกแห่งปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 13 รพ.ราชพฤกษ์ ถ.มิตรภาพ เขตเทศบาลนครขอนแก่น สถานที่ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนทางเลือกสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ใน เขต จ.ขอนแก่น ตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับการยืนยันรับวัคซีนทางเลือกจากหอการค้า จ.ขอนแก่น ทยอยกันมารายงานตัวและเข้ารับการฉีดวัคซีน "ชิโนฟาร์ม" วัคซีนทางเลือกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการจัดสรรให้กับหอการค้า จ.ขอนแก่น จำนวน 2,400 โดส โดยมีกำหนดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.)

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หอการค้าขอนแก่น จัดอยุ่ในกลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญา ซึ่งในระดับจังหวัดยอมรับว่าองค์กรภาคธุรกิจเอกชนนั้นมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการได้รับการจัดสรรวัคซีนจากหน่วยงานภาครัฐอาจจะไม่ทั่วถึงเนื่องจากจะต้องใช้กับบุคลากรด่านหน้า แต่ตามการจัดสรรวัคซีนของทางจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ และทันทีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ให้องค์กรเอกชนได้ดำเนินการตามนโยบายและระเบียบที่กำหนด หอการค้าขอนแก่น จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกในชุดแรก ซึ่งได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 2,400 โดส สำหรับการฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ 1,200 คน

"วรรคซีนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะช่วยเราได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องออกเดินทางติดต่อหรือ ต้อนรับลูกค้า ต้องติดต่อส่วนราชการ หรือเดินทางไปต่างประเทศ กลุ่มนี้จึงมีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยง หอการค้าจึงได้ติดต่อและขอรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ด้วยการดำเนินการในส่วนของทุนภาคเอกชน  ในลักษณะการบริจาคให้กับทางสถาบัน และนำมาจัดสรรให้กับองค์กรสมาชิกของหอการค้า เพื่อให้ทุกคนได้ มีส่วนร่วมและการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสนับสนุนให้ประชาชนคนขอนแก่นและคนไทยทั้งประเทศได้รับเร็วขึ้น เพราะเราต้องต่อสู้กับโควิดไปอีกนาน"

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า เมื่อคนจำนวนมากได้รับวัคซีนมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่เข้มข้น แต่โจทย์ที่สำคัญคือเมื่อมีคนเดินทางเยอะขึ้น จังหวัดจะต้องรับแขกหรือรับการประชุมสัมมนา หรือจัดงานขนาดใหญ่ เช่นที่ขอนแก่น ซึ่งเราเป็นจังหวัดแห่งการประชุม สัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบกับการที่ขอนแก่นเป้นเมืองแห่งการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับที่ชัดเจน  ซึ่งการที่ภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นแล้ววันนี้ จะเป็นภาพแห่งความเข้มแข็ง ที่เราทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

"เมื่อถึงวันที่เรามีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นในกลุ่มก้อนขนาดเล็กและสะสมจนครบทั้ง 70% ของประชากรชาวขอนแก่น หรือประมาณ 1.2 ล้านคน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน ซึ่งหากเราพูดถึงเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือเฉพาะย่านการค้าและย่านที่มีการจัดประชุมสัมมนา ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนที่อยู่ในระดับปลอดภัยและตัดการแพร่กระจายได้  ซึ่งทำให้คนที่จะเดินทางเข้ามาติดต่อนั้นได้มั่นใจว่าขอนแก่นปลอดภัย ขณะที่คนที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัด ก็ได้รับการฉีดวัคซีแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามชุดแรกจำนวน 2,400 โดส ซึ่งจะฉีดให้กับคน 1,200 คน  ซึ่งในชุดที่ 2 เราจะสำรวจว่าต้องการวัคซีนอยู่เท่าไหร่ เน้นหนักไปในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะพ่อค้ารายเล็ก ที่รัฐอาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเราก็จะพยายามดูแลเข้าไปจนถึงจุดนี้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในด่านหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการในระยะนี้มีภาวะเสี่ยงมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานแล้วก็การรับเชื้อที่เร็วกว่าเดิม ดูได้จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในเขต จ.ขอนแก่น ที่มีมากขึ้น ทำให้การเรารณรงค์ให้ทุกคนระมัดระวังและป้องกัน รวมทั้งการปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน เพราะเราอาจจะเลี่ยงไม่ได้และอาจจะเป็นเรื่องที่หนีไม่ได้ เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ต่อไปและทุกคนต้องปลอดภัย เข้มแข็ง และปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด"

กาฬสินธุ์ – โควิดพุ่งต่อเนื่อง ขยายเวลาปิดโรงเรียนอีก 14 วัน เตรียมตั้งรพ.สนามเพิ่ม

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาฬสินธุ์มีมติขยายเวลาปิดโรงเรียนและสถานศึกษางดเรียนออนไซต์อีก 14 วัน พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มรองรับผู้ป่วย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อที่กลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มสูงทุกวัน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ และกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม หลังปัจจุบันพบมีผู้ป่วยติดเชื้อกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงทุกวัน และล่าสุดวันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึงจำนวน 40 ราย ส่วนใหญ่กลับจากพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่แพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงไปอยู่ที่ 548 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 349 ราย หายป่วยแล้ว 195 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 4 รายเท่าเดิม โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมประชุม   

โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์มีมติขยายเวลางดจัดการเรียนการสอนแบบนั่งเรียน หรือออนไซต์ ปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทั้งจังหวัดอีก 14 วัน จากเดิมได้ประกาศปิดมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 13 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มผลตั้งแต่วันที่ 14-27 กรกฎาคม 2564  โดยให้จัดการเรียนการสอนให้รูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ที่ประชุมยังได้เตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 120 เตียง โดยเบื้องต้นจะใช้หอประชุมเอนกประสงค์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ให้แต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอ จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หลังจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งรองรับผู้ป่วยเต็มแล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบลจำนวน 135 ตำบลจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มโดยแห่งที่ 3 จะเปิดในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จำนวน 120 เตียง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลนามนและโรงพยาบาลสมเด็จ และในขณะนี้พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 อำเภอกมลาไสย ที่โรงเรียนกมลาไสย แห่งที่ 5 ที่โรงเรียนโนนสวรรค์ อำเภอกุฉินารายณ์ แห่งที่ 6 หอประชุมอำเภอท่าคันโท แห่งที่ 7 หอประชุมอำเภอยางตลาด แห่งที่ 8 หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามให้ครบ18 อำเภอ ภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งหมดกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด -19 จังหวัดกาฬสินธุ์

นายทรงพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 ตามคำสั่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉบับที่ 29 โดยขยายเวลาปิดการเรียนแบบ On-site ออกไปอีก 14 วันเริ่มวันที่ 14 - 27 กรกฎาคม 2564 งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การประชุมสัมมนา จัดได้ไม่เกิน 50 คน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด จะต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม.เพื่อทำการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19

กาฬสินธุ์ – พลังบวรร่วมสร้างโรงพยาบาลสนาม รับคนสหัสขันธ์กลับบ้าน

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ พร้อมผู้มีจิตศรัทธาและภาครัฐ ร่วมมือสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 50 เตียง รอรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมตั้งศูนย์พักคอย ก่อนเข้า LQ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยพระครูสิริพัฒนนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เข้าตรวจเยี่ยมจุดปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยใช้หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 50 เตียง โดยคณะสงฆ์ และประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์  โดยตั้งเป้าจะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการไม่หนักมาก เข้ามารักษาได้วันที่ 19 ก.ค. 2564 

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพระเทพมงคลวชิรมุณี หรือหลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) พระครูกัลลยา ณ ทิวากร เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ พระครูสิทธิวราคม ดร. วัดเวฬุวัน เจ้าคณะ อ.สหัสขันธ์ (ธ) พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) พระครูสิริพัฒนนิเทศก์  วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาครัฐ ร่วมระดมทุมก่อสร้าง และมอบของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ได้เลือกใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ ซึ่งผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าใจและรู้ถึงเหตุผล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์เกิดขึ้นจากพลัง “บวร” บ้าน/ชุมชน วัด และภาครัฐ โดยเฉพาะการที่ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ ที่เห็นชอบให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อ.สหัสขันธ์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19  ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ กลับมารักษาที่ภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อลดปัญหาเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 

นอกจากนี้ธารน้ำใจของคนสหัสขันธ์ยังล้นหลาม ได้ระดมทั้งทุนทรัพย์ แรงกาย และนำข้าวของเครื่องใช้สำคัญและจำเป็นในโรงพยาบาลสนามมาสมทบจำนวนมาก อย่างเช่นนายอำนวย พุ่มจำปา เจ้าของร้านถูกซุปเปอร์มาเก็ต ได้นำพัดลม 20 เครื่อง พร้อมน้ำดื่ม 50 แพ็ค / 600 ขวด มอบให้กับนายอำเภอสหัสขันธ์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนาม นายพิทักษ์ เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ร่วมบริจาคพัดลมอีก 10 เครื่อง ขณะที่เครื่องนอน 50 ชุด ร้านแม่ประกายเครื่องนอน ร้านนิโรจน์ค้าผ้า ร้านสุพจน์เครื่องนอน และร้านสุรพลเครื่องนอน ซึ่งเป็นญาติธรรมวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ร่วมบริจาคสมทบเข้าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนามมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ทั้งพัดลม และเครื่องนอน

สำหรับพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 11 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องรอให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มเปิดรับ เพื่อให้คนสหัสขันธ์ได้กลับบ้านเกิด ปลอดภัย 100%


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top