Saturday, 10 May 2025
Isan

สุรินทร์ - รพ.สุรินทร์ ส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณด้านหน้าอาคาร 100 ปี  โรงพยาบาลสุรินทร์ นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ โดยนายแพทย์ ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ ร่วมส่งและให้กำลังใจอย่างพร้อมเพียง พร้อมได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมในความเสียสละของนางฟ้าชุดขาวทั้ง 4 คน ที่ไปทำหน้าที่แทนชาวสุรินทร์ ในการช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ด้วยเป็นภารกิจสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ พร้อมอวยพรและมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจทั้ง 4 คน แทนชาวสุรินทร์ทุกคน

ด้าน นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 4 คน ที่ส่งไป ประกอบด้วย

1.นางสาววาสนา คำปาละ

2.นางสาวน้ำทิพย์ จานนอก 

3.นางสาวปาริชาติ โกดหอม และ

4.นางสาวรัชนีกร แก้วคูณ

โดยปฏิบัติภารกิจระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสุรินทร์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยได้เตรียมเวชภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาในการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว และหลังจากปฏิบัติงานครบตามกำหนด คณะเดินทางกลับมา จะให้มีการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคฯ ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

ขอนแก่น – จัดให้เปิดโรงแรมกักตัวคนกลับจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ขอเพียงส่งเสียงมา !! เทศบาลฯพร้อมทันทีด้วยระบบการบริการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ใครดื้อส่งต่อกองร้อย อส.ทั้งครอบครัว

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 14 ก.ค.2564 นายพงศ์ธร  พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ พร้อมด้วย นายวินัย  ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ ,พ.ต.ท.จิรัฐเกรียติ  ศรวิเศษ หัวหน้า สภ.ย่อยพระลับ และนายปัญญา  พระวงศ์  ผอ.รพ.สต.ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง,เทศาล,ตำรวจ และ อสม. ในเขต ต.พระลับ เข้าทำการตรวจเยี่ยมผู้ที่เข้ารับการกักตัวที่โรงแรมฮอไรซั่น ซึ่งตั้งอยู่ ริม ถ.เลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ปากทางเข้า บ.ผือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายหลังจากเทศบาลฯได้กำหนดให้โรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่กักตัว 14 วัน ของคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับพื้นที่โดยที่ขณะนี้มีผู้ทีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้มและเข้าสู่การกักตัวของเทศบาลฯแล้วรวม 5 ราย

นายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ กล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลฯได้ขานรับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและทางจังหวัดในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง,รพ.สต.ตำรวจ และ เทศบาลฯ ในการจัดระบบด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งวันนี้ได้ทำทันที ด้วยการให้บุคลากรด่านหน้าใช้อำนาจตาม พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ และประกาศของจังหวัด ในการกักตัวคนที่เข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม 14 วัน ซึ่งคนพระลับ จากนี้ไปหากจะเดินทางกลับมาที่บ้านจะต้องรายงานให้กับครอบครัวได้รับทราบ และให้ครอบครัวแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือ เทศบาลฯในการเข้าสู่ระบบส่งต่อด้านสาธารณสุข เพื่อเข้ารับการกักตัว โดยขอย้ำว่าเป็นการกักตัวไม่ใช่การรักษาตัว

“ขณะนี้คนในชุมชนเข้าใจและรับทราบถึงแนวทางที่เทศบาลฯได้จัดทำขึ้นแล้ว โดยเป็นการกักตัว ไม่ใช่การรักษาตัว ซึ่งในการรักษาตัวนั้นหากคนในครอบครัวยืนยันติดเชื้อจากพื้นที่ใดและต้องการกลับบ้านมารักษาตัวที่ขอนแก่น ขอให้แจ้งผ่านระบบสาธารณสุขและ โรงพยาบาลให้ถูกต้อง ขณะที่คนที่จะเดินทางกลับมาที่บ้าน โดยเดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยง นั้นขณะนี้เทศบาลฯได้ปรานงานร่วมโรงแรมฮอไรซั่น ในการกำหนดให้ห้องพัก 13 ห้อง เป็นห้องพักสำหรับการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในระบบสาธารณสุขของเทศบาลฯ โดยในการกักตัว 14 วันนั้นเทศบาลฯจะดูแลอาหาร 3 มื้อ รวมไปถึงการจัดรถรับและส่ง อีกทั้ง รพ.สต.จะจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.มาประจำเพื่อตรวจติดตามอาการ และมีกำลังตำรวจและ อปพร.เฝ้าประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ออกจากสถานที่กักตัวเด็ดขาด โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเบิกจ่ายตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีในระยะที่ 1 เราได้ใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพระลับพร้อมรับคนพระลับด้วยกันเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง สะดวก สบาย ปลอดภัยและใกล้บ้าน”

ขณะที่นายวินัย ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ กล่า;ว่า ในระยะที่ 1 ได้กำหนดไว้ที่ 13 ห้องของโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งหากมีคนต้องเข้ารับการกักตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ชุมชนได้กำหนดพื้นที่รองรับเพิ่มเติมอีกหลายจุด ประกอบด้วยที่ ศาลาการเปรียญวัดบ้านสว่างหนองไฮ ซึ่งรับคนได้ 20 คน,วัดป่าแสงอรุณ รับคนได้ 15 คน,ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ.โนนสวรรค์ รับคนได้ 10 คน และ ที่โรงเรียนบ้านผือ รับคนได้ 15 คน โดยทุกจุดได้ผ่านการประชาคมและเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการในด้านต่าง ๆ ไว้ในภาพรวมแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้คนพระลับ ดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อเข้าสู่การกักตัวตามระบบที่วางเอาไว้ หากตรวจพบว่าลักลอบเข้าพื้นที่โดยไม่แจ้งให้รับทราบ ทางเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวส่งต่อไปยัง กองร้อย อส.ขอนแก่น สถานที่ที่จังหวัดกำหนดเป็นจุดกักตัวกลางของจังหวัดตามขั้นตอนต่อไปและในการส่งต่อนั้นจะต้องไปทั้งครอบครัวเนื่องจากทุกคนมีการสัมผัสและจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดแล้ว

กาฬสินธุ์ – ขอบคุณ ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ’ ชนะความจน ชุมชนมีรายได้สู้ภัยโควิด

มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยชาวบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้ที่ดินสาธารณะประจำหมู่บ้านปลูกพืชหลากหลาย จัดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ สู้ภัยโควิด-19

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่แปลงเกษตรบ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเจ้าของแปลงผักสวนครัว ร่วมกันรดน้ำและกำจัดวัชพืชในแปลงผักสวนครัวของตน ซึ่งมีหลายชนิดหลายรุ่น ทั้งที่เพิ่งเพาะปลูก กำลังเจริญเติบโต และใกล้อายุเก็บเกี่ยว

นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า พื้นที่ที่นำชาวบ้านจัดทำเป็นแปลงผักปลูกพืชหลากหลายนี้ คือหนองบัวน้อยซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 42 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หนองประมาณ 30  ไร่ อีกส่วนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าและจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชผักของชาวบ้าน โดยได้จัดสรรให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการครัวเรือนละ 6 x 40 เมตร ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จึงทำการประชาคมหมู่บ้านเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน หรือผู้ที่ต้องการจะปลูกผักสวนครัวเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยปลูกกินเองในครัวเรือนและขายในชุมชน เน้นความปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ 38 ครัวเรือน ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมให้องค์ความรู้กับชาวบ้าน ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

นายสมควร กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ใช้ในแปลงพืชหลากหลายนั้น ได้น้ำจากหนองน้ำสาธารณะ  ซึ่งเป็นระบบสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ค่าไฟเดือนละประมาณ 1,000 บาท ชาวบ้านที่ปลูกผักเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย บางครั้งไฟดับหรือไฟไม่พอ ก็เป็นอุปสรรคในการรดผัก ทั้งนี้ ผักที่ปลูกมีทั้งในแปลงดิน และไฮโดรโปรนิกส์ เช่น ผักบุ้ง ผักชี หอม กระเทียม คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา โหระพา สลัด ฟักทอง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ฝรั่ง กล้วย และพืชผักตามฤดูกาลต่างๆ มีผลผลิตเก็บกิน ซื้อขายตลอดปี ทั้งขายตามตลาดชุมชน ส่งขายที่โรงพยาบาลยางตลาด และมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักสวนครัวไว้กินเอง และมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท

ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา ผู้ช่วย ผญบ.หนองบัวน้อย หมู่ 3 กล่าวว่า จากการที่มีชาวบ้านมาใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกผักเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาหารในครัวเรือนมากขึ้น ถึงแท้น้ำในบ่อหนองบัวน้อยจะเพียงพอตลอดปี แต่ระบบการจ่ายน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าบางครั้งน้ำไม่เพียงพอ ผู้นำชุมชนและสมาชิกผู้ปลูกพืชหลากหลายจึงได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสามารถสำรองน้ำไว้ในถังสูงและมีน้ำใช้ในแปลงพืชผักอย่างเพียงพอ

นางสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่มปลูกพืชหลากหลายมาหลายด้าน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพเสริมและรายได้เข้าครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญแทบจะมีรายจ่าย มีแต่รายได้เข้ามา ซึ่งแต่เดิมในภาวะปกติ มีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยวันละ 250-300 บาท แต่ในช่วงนี้ที่ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลาดชุมชนและแหล่งรับซื้อปิดตัวลง รายได้จากการขายผักลดลงเหลือเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านหนองบัวน้อย มีอาชีพ มีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ - ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมเกราะป้องกันให้นักรบชุดขาว ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีนายสนั่น พงศ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากทุกหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดหาโดยทางจังหวัด ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อ “โควิด” จ.กาฬสินธุ์  เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบการระบาดครอบคลุมไปทั้ง 18 อำเภอ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยชนิด N95  ชุดป้องกันร่างกาย Cover ALL  เสื้อกาวน์ชนิดกั้นน้ำ  ถุงมือยาง ถุงมือไนไตร  แว่นตาครอบแบบใส รวมไปถึงชุดตรวจบริเวณโพรงจมูกและช่องปากในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะสามารถให้นักรบชุดขาวมีความปลอดภัย และสามารถตรวจหาป้องกันได้อย่างมีคุณภาพ

ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดหาอุปกรณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์และตรงความต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว และนับจากนี้ก็จะทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล มีอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากในขณะนี้ยังพบว่ามีพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ในอนาคตจะมีการผลักดันโรงพยาบาลสนามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และที่เดินทางมารักษาตัวมีกว่า 30 รายต่อวัน ทำให้ทีมแพทย์พยาบาล อสม.รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยต่างๆ ต้องทำงานกันอย่างหนัก ขณะที่ในกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ก็มีการนำน้ำดื่ม อาหารไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่างๆ เช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 59 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 12 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 42 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2  ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 3 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงถึง 735 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 467 ราย รักษาหายแล้ว 264 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 4 ราย

ร้อยเอ็ด - รองแม่ทัพภาค 2 นำ พสบ.ทภ.2 รุ่น 2 เยี่ยม รพ.สนาม ร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด พล.ต.สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก หน่วยมณฑลทหารบกที่ 27 กองพันเสนารักษ์ที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 โดยมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปและนำตรวจนำตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรประจำโรงพยาบาล

จากนั้น พล.ต.สวราชย์ แสงผล นางธนชนก สุริยเดชสกุล และนายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ ผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 2 รุ่นที่ 2 (พสบ.ทภ.2 รุ่น2) ได้มอบเสื้อและพัดลม เพื่อใช้ในกิจกรรมโรงพยาบาลสนามโดยมีนายแพทย์อัศราวุธ ใจหาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสมเด็จ และผู้อำนวยการสนามแห่งที่ 3 เป็นผู้รับมอบ

พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามกองทัพบกมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อจากแห่งที่ 1 ที่หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด และแห่งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเข้ารับการรักษาได้ จำนวน 100 เตียง โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลศรีสมเด็จ โรงพยาบาลจังหาร โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ค่ายโสกเชือก) หน่วยเสนารักษ์ หมุนเวียนมาปฏิบัติงาน

พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการของโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 นี้ จะใช้อาคารรับผู้ป่วย 2 อาคาร อาคารละ 50 เตียง ใช้บุคคลากรจากโรงพยาบาลอำเภอศรีสมเด็จ ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกองพันเสนารักษ์ที่ 6 จัดวางระบบการดูแลผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด, Video call, และเครื่องขยายเสียง ไม่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง มีการกำหนดเขตหวงห้าม เส้นทางการนำส่งผู้ป่วยชัดเจนเพื่อให้ปลอดภัยต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วยที่อาศัยอยู่ภายในค่าย ในการนี้รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาคจากภาคส่วนต่างๆสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

"ภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามแผนการดูแลผู้ติดเชื้อที่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ (Home Isolation) ของหน่วยในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยสามารถดำเนินการดูแลกำลังพลและครอบครัวให้ปลอดภัยตามมาตรการพิทักษ์พลด้วย" พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย

ขอนแก่น – บุคลากรทางการแพทย์นับหมื่นคน เตรียมบูสเตอร์วัคซีนต้นเดือน ส.ค. ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามกำหนด ไม่สลับสูตร แม้หลายคนจะขอยกเลิกการฉีดก็ตาม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 ก.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการของการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับบุลากรทางการแพทย์ ที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มด่านหน้าของการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19  โดยที่เข็มแรกที่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดนั้นคือในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งแผนการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ขอนแก่นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 22,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้กับแต่ละจังหวัด ตามแนวทางการที่กำหนดโดยมี แผนการกระตุ้นที่ชัดเจนคือการใช้แอสตร้าเซเนเก้าบูสอีก 1 เข็ม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ซึ่งทุกคนที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว2 เข็มจะต้องเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ถึจะสามารถเข้ารับการบูสเตอร์โดสได้

“ขณะนี้ขอนแก่นได้เตรียมวัคซีนชิโนแวค 1 คนต่อ 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจพบว่าหลายคนยังคงยืนยันขอรับการฉีดตามแผนเดิม ดังนั้นการบริหรจัดการวัคซีนในจังหวัด ที่กำหนดไว้คือภายในเดือน ก.ย. คนขอนแก่นจะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมประชากรร้อยละ 70จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่สิ่งที่พบในขณะนี้คือ เริ่มมีการขอผลัดหรือขอเลื่อนการรับวัคซีนออกไป โดยเฉพาะกับการรับวัคซีนชิโนแวคเข็มที่ 1ดังนั้นทีมแพทย์จะต้องแนะนำและทำความเข้าใจกับประชาชนตามแผนงานที่กำหนด คือการให้ผู้ที่ได้รับการยืนยันการเข้ารับวัคซีนได้เข้ารับวัคซีนตามที่กำหนด  คือรับวัคซีนชิโนแวค เข็มที่ 1 เมื่อครบ 3 สัปดาห์ก็ให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามที่กำหนด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”

นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากทุกคนยอมรับเฉพาะแนวทางการฉีดชิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ก็จะทำให้วัคซีนชิโนแวคจะเหลือ ได้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันนี้ขอนแก่นมีวัคซีนชิโนแวคอยู่ประมาณ 10,000  โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่จะเตรียมสำหรับการฉีดให้กับเข็มที่  2 ที่จะเข้าสู่ช่วงการฉีดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. อีกทั้งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนอีกประมาณ 22,000 โดส ในระยะนี้ หากนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 1 อย่างเดียว ก็ยังไม่ทราบว่าหากนำแอสตร้าเซเนก้า มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้นั้น จะทำอย่างไร และบางคนก็ปฎิเสธที่จะรับชิโนแวคทั้ง 2 เข็ม ซึ่งก็มีเกิดขึ้นแล้ว เช่นกัน

“ดังนั้นหน่วยบริการวัคซีนของทุกพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจ ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดวันนี้ คือวัคซีนทุกคนจะต้องได้รับได้เร็วที่สุด และปฎิบัติตัวด้วยความเข้าใจดำเนินการตามแผนงานที่ฝ่ายสาธารณสุขและแพทย์กำหนด  การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ไม่มีการป้องกันเป็นิส่งที่ไม่สมควรทำ อย่างไรก็ตามสำหรับการบูสเตอร์วัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดหากนับรวมระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 และระห่างในภาพรวมนั้น ชุดแรกที่จะได้รับการบูสเตอร์วัคซีนก็จะสามารถเข้ารับการฉีดได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.”

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

บึงกาฬ - มท.2 มอบหน้ากาก 1.4 ล้านชิ้น ให้ทุกครอบครัวป้องกันโควิด-19

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 18 ก.ค. ที่บริเวณโถงด้านหน้าศาลากลาง จ.บึงกาฬ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เดินทางมาเป็นผู้แทนในการมอบหน้ากากอนามัยให้กับจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 1,400,000 ชิ้น โดยมีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกครัวเรือน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบน้ำใจ และความปรารถนาดีให้ชาวบึงกาฬได้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี กล่าวว่า สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จ.บึงกาฬ ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ควบคุมดูแลได้ มีผู้ติดเชื้อเข้ามาบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อคนไม่สบายใจเกิดเจ็บไข้ขึ้นมา ตามปกติก็ต้องการกลับไปรักษาตัวที่บ้าน จึงไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร ทางจังหวัดบึงกาฬก็มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะรองรับพี่น้องของเราซึ่งต้องการจะกลับมารักษาตัวที่บ้าน พร้อมจะเป็นกำลังใจให้กันและกัน แต่ก็ต้องขอความร่วมมือว่า ผู้ที่จะกลับมาก็ต้องแจ้งให้กับผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ทราบก่อน เป็นข้อมูลว่ามีใครบ้างที่เข้าออกในพื้นที่ เพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สำหรับหน้ากากอนามัยที่ได้นำมามอบให้กับพี่น้องชาวบึงกาฬในวันนี้ ตนได้แจ้งข่าวกับเพื่อนและคนที่รู้จักว่าต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบความห่วงใยและความปรารถนาดีให้แก่ชาวจังหวัดบึงกาฬทุกคน เป็นกำลังใจให้กันและกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเมื่อทุกคนทราบข่าวก็ต้องการร่วมในธารน้ำใจนี้ จึงเกิดเป็นการส่งมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 1,400,000 ชิ้นให้กับชาว จ.บึงกาฬ

สำหรับหน้ากากอนามัยจำนวน 1,400,000 ชิ้น จะถูกกระจายให้แต่ละอำเภอ ดังนี้ อ.เมืองบึงกาฬ 340,000 ชิ้น/ อ.พรเจริญ 140,000 ชิ้น/ อ.โซ่พิสัย 230,000 ชิ้น/ อ.เซกา 285,000 ชิ้น/ อ.ปากคาด 120,000 ชิ้น/ อ.บึงโขงหลง 115,000 ชิ้น/ อ.ศรีวิไล 125,000 ชิ้น และอ.บุ่งคล้า 45,000 ชิ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ยังได้กล่าวให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่กำลังทำงานอย่างหนักกับภารกิจควบคุมโรค และประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการที่คนไทยเรามีน้ำใจให้แก่กัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร พรมจันทร์ / บึงกาฬ

ขอนแก่น - พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 104 ราย ทำให้ยอดรวมสะสมของการระบาดระลอก 3 ทะลุ 1,614 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯสั่งเข้มทุกมาตรการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเข้มงวด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 ก.ค.2564 ที่สถานีรถไฟขอนแก่น นายพิชัย วันตา ป้องกันจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นายธีระศักดิ์  ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และนายศักดิ์นรินทร์ แสงอรุณ นายสถานีรถไฟขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายการสาธารณสุข จากสำนักงานสาธรณสุข จ.ขอนแก่น ,เทศบาลนครขอนแก่น,ฝ่ายปกครองและการรถไฟแห่งประเทศไทย ทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมากับขบวนรถไฟท้องถิ่นขบวนที่ 412 ชุมทางแก่งคอย จ.สระบุรี-ขอนแก่น ตามาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดนิทางมากับระบบขนส่งมวลชน โดยที่สถานีรถไฟขอนแกน ได้กำหนดจุดการลงจากรถ จากบริเวณชานชาลาชั้น 2 มายังอาคารผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 เพียง 1 ช่องทางยกเว้นผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่สามารถใช้ลิฟต์ขนส่งได้ ซึ่งเมื่อทุกคนลงมาถึง ชั้น 1 จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจคัดกรองเบื้อต้นจากเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการลงประวัติการเดินทางผ่านคิวอาร์โค้ดไทยชนะ และการลงทะเบียนผ่านระบบที่จังหวัดกำหนด เพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจติดตามผู้ที่เดินทาเข่ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น อย่างเข้มงวด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในวันนี้ขอนแก่น มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 104 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมจากการระบาดระลอกที่ 3 จำนวนทั้งสิ้น 1,614 ราย ในจำนวนนี้ยังคงอยู่ในการรักษาของโรงพยาบาลต่าง ๆ 896 ราย รักษาหายขาดและแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านได้ 709 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 9 ราย ดังนั้นทุกมาตรการที่ รัฐบาล,ศบค.และจังหวัดกำหนดจะต้องดำเนินการไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่ด่านตรวจหลัดของจังหวัดที่ อ.บ้านไผ่ และ อ.ชุมแพ จะทำการตรวจคัดกรองและตรวจสอบเอกสารประจำตัวของแต่ละคนว่ามีการดำเนินการตามประกาศ หรือได้รับวัคซีน หรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงตามที่ ศบค.กำหนดอย่างไร รวมไปถึงที่สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และสนามบิน ที่เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบการเดินทางเข้าและออกจังหวัดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องต่อไป

“ขณะนี้การเดินทางด้วยขบวนรถไฟโดยสารที่ต้องจอดที่สถานีรถไฟขอนแกน คงเหลือเพียง 3 ขบวนต่อวันเท่านั้น ซึ่งจะมีผู้โดยสารลงที่สถานีขอนแก่นประมาณ 10-15 คน ต่อเที่ยวรถ ขณะที่การลงรถตามสถานีรถไฟระดับอำเภอมาตรการตรวจคัดกรองและตรวจสอบการเข้าเมือง ฝ่ายปกครอง จะสนธิกำลังร่วมฝ่ายสาธารณสุข ตำรวจและ อปท.ในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด ขณะที่หากพบผู้โดยสารมีไข้สูง หรือเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง เจ้าพนักงานประจำขบวนรถไฟจะประเมินสถานการณ์ และประสานงานร่วมสถานีปลายทางหรือสถานีรถไฟต่อไปในการจัดระบบรับผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ตามขั้นตอนที่ต้องปฎิบัติอย่างรัดกุมแล้ว”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอความร่วมมือทุกคนได้ช่วยเป็นหูเป็นตาและแจ้งข้อมูลการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งของ ศบค. และจังหวัด เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบและอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและสีแดงเข้ม หรือสีแดง จะต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ เพื่อที่จะสามารถตรวจติดตามสถานการณ์ หรือเข้ารับการควบคุมโรคหรือเข้ารับการรักษาตามที่จังหวัดได้กำหนดแนวทางหรือดำเนินการอยู่ในขณะนี้หากพบว่าฝืน ซึ่งนอกจากจะต้องมีความผิดแล้ว ทั้งครอบครัวก็จะต้องเข้ารับการกักตัวที่ กองร้อย อส.ที่ 1 ขอนแก่น ทันทีโดยไม่มีละเว้น

กาฬสินธุ์ - เปิดรพ.สนามแห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19 คืนถิ่น หลังพบประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนาจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม จ.กาฬสินธุ์ แห่งที่ 9 อำเภอหนองกุงศรี ซึ่งใช้บริเวณพื้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองกุงศรี เพื่อรองรับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับมาขอรับการรักษายังภูมิลำเนา สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเพิ่มได้อีก 100 เตียง โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พ่อค้า และประชาชนเข้าร่วมและมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนที่ติดเชื้อเดินทางขอกลับมารักษาในภูมิลำเนาจำนวนมาก ทั้งนี้ปัจจุบันอำเภอหนองกุงศรีพบผู้ติดเชื้อหลายสิบรายอยู่ระหว่างการรักษาที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลแม่ข่าย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่ดูแลที่ศูนย์กักกันตำบลอีกจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างขอกลับมารักษาอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดโรงพยาบาลสนามอำเภอขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่ขอเดินทางกลับมารักษา

โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพที่ 7 ใช้เป็นสถานที่ในการดูแล รักษา และเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยกลุ่มระดับสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อยภายในระยะเวลา 14 วัน หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยหายจากโรค และหากในระหว่างรักษาผู้ติดเชื้อมีการวิกฤติหรือเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลหลักได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 50 เตียง และสามารถขยายเตียงสูงสุด 100 เตียง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ อป.พร.ชรบ.และบุคลากรทางการแพทย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top