Saturday, 10 May 2025
Isan

ยโสธร - Kick off การป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 พ.ค.64 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดการรณรงค์ Kick off การป้องกัน กำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ที่ฟาร์มโคขุนหนองแหน ตำบลหนองแหน อำเภอกุดชุม โดยมี นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร นายสรวิศ สมพงษ์ นายอำเภอกุดชุม จ.ส.ต.พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายเทอดศักดิ์ สมภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน นายทรงศักดิ์ วงษ์สุพรรณ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ นายดำรงศักดิ์ หงษ์ทะนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ ข้าร่วมงาน

นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค การจัดกิจกรรม ประกอบด้วย การปล่อยขบวนรถหน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและพ่นยากำจัดแมลง  ปล่อยขบวนรถหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคลัมปี สกิน แก่เกษตรกรโดยงดการเคลื่อนย้ายสัตว์ และขอให้เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรค พร้อมทั้งมอบสารกำจัดแมลง น้ำส้มควันไม้ ชุดเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์  แร่ธาตุก้อน วิตามิน บำรุงสุขภาพสัตว์ มอบหญ้าแห้งอาหารสัตว์

ทั้งนี้การเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่บ้านหนองแหน หมู่ 1 ,3, 7 ซึ่งมีเกษตรกรเลี้ยงสัตว์รวม 8 คอก โค 14 ตัว องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน ได้สนับสนุนพ่นยาไล่แมลงที่เป็นพาหนะนำชื้อโรคพร้อมปศุสัตว์อำเภอกุดชุม เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค

สำหรับโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่พบในโค กระบือ  เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยแมลงดูดเลือดเป็นพาหนะนำโรคและไม่ติดต่อสู่คน สัตย์ป่วยจะมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีตุ่นนูนแข็งขึ้นตามลำตัว ต่อน้ำเหลือโต ขณะนี้มีการแพร่ระบาดทั่วประเทศ 41 จังหวัด ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบระบาดใน 17 จังหวัด โดยจังหวัดยโสธร พบารระบาดใน 9 อำเภอ 58 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 563 ราย ซึ่งมีสัตว์เลี้ยง รวม 160,236 ตัว มีสัตว์ป่วยรวม 875 ตัว  ยังคงป่วย 768 ตัว และได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดชนิดลัมบีสกิน ในโค เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถกำจัดโรคลัมปี สกิน ให้หมดไปได้อย่างแน่นอน และขอให้เชื่อมั่นว่า โรคนี้ รักษาหาย เนื้อกินได้ ไม่ติดคน


ภาพ/ข่าว  สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดยโสธร

ขอนแก่น - สหกรณ์โคนมจี้รัฐ ทบทวนสิทธิ์การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับสหกรณ์มากขึ้น หวั่นนมล้นตลาด หลังพบเอกชนรายใหญ่เจาะตลาดนมโรงเรียนและนมพาณิชย์มากขึ้น เฉพาะที่ขอนแก่นนมคงค้างมากถึงวันละเกือบ10 ตัน วอนทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่สหกรณ์โคมนม จ.ขอนแก่น นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด  พร้อมด้วย นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด นำคณะกรรมการสหกรณ์โคมนมแห่งประเทศไทย และสหกรณ์โคนมขอนแก่น ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันดื่มนมโลกประจำปี 2564 แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มนมกันอย่างแพร่หลาย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่  ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมประชุมเพื่อรับทราบถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกขณะนี้มีอยู่กว่า 174 ราย แต่ละวันมีการส่งน้ำนมโคดิบให้กับสหกรณ์วันละ ประมาณ 42 ตัน ในราคารับประกันการซื้อที่ กิโลกรัมละ 17.50 บาท ซึ่งสหกรณ์ได้ทำการคัดคุณภาพและผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างเพื่อส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มแยกเป็นกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ อาทิ  อสค.,ซีพี ,บริษัทเอกชนตามสัญญาคู่ค้า วันละ ประมาณ 20 ตัน และอีกส่วนคือส่งจำหน่ายให้กับ กลุ่มนมโรงเรียนวันละ 22 ตัน แต่ปัญหาที่พบคือการส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มนมโรงเรียนนั้นมีการรับซื้อวันละ 15 ตัน ทำให้นมของสหกรณ์คงค้างอยู่ในสต๊อกมากถึงวันละ 7  ตัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดสรรโควต้า ซึ่งสหกรณ์โคนมขอนแก่นอยู่ในกลุ่ม 3 ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบนโดยมีผู้ประกอบการทั้งในส่วนของสหกรณ์และบริษัทเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยมีการรับซื้อน้ำนมจากผู้ประกอการดังกล่าววันละ 166 ตัน ในรูปแบบของการจัดสรรโควต้า

“ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น นั้นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การจัดสรรโควต้าของกลุ่มนมโรงเรียน ที่ประกาศให้กลุ่มที่ 3 รับซื้อวันละ 166 ตัน แต่ก็มีการจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มบริษัทเอกชน จนทำให้ขณะนี้น้ำนมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่นคงค้างอยู่ในสต็อกแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมที่อาจจะต้องปล่อยทิ้งน้ำนมทั้งหมดไป”

ขณะที่ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม 3 ของสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย พบว่ามีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น และ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จึงต้องมีการประชุมด่วนหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเพราะหากปล่อยทิ้งไว้เข้ามารับฟัง รับทราบ หรือแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็จะส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆอย่างมาก ทุกภาคส่วนกำลังกำหนดแนวทางและพากันก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยกันโดยเร็ว ดังนั้นการจะออกมาเทนมทิ้งหรือการกระทำใด ๆ นั้นควรไม่มีเกิดขึ้น

“เราต้องหาทางออกและได้ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้นั้นแต่ละสหกรณ์นั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการเลื่อนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกแห่ง ทำให้การบริโภคนมลดลง จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ด้วยการดื่มนมทุกวัน ขณะที่คณะทำงานเมื่อได้ข้อสรุปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลเพื่อได้รับทราบจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและชัดเจนต่อไปอย่างเร่งด่วน”

กาฬสินธุ์ – คิกออฟปูพรหม ฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง หยุดเชื้อเพื่อชาติ

จังหวัดกาฬสินธุ์คิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนแอสตริเซเนก้ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 วันเดียวพบผู้ป่วย 8 ราย

เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า)  นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์  นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกันเปิดการคิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนรอบสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แอสตร้าเซเนก้า สำหรับประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง พร้อมตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจกลุ่มแพทย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน

โดยบรรยากาศในช่วงเช้ามีบรรดาลูกหลานได้พาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเสี่ยง ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 เดินทางมารับการฉีดวัคซีนกันจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ คอยอำนวยความสะดวก ทั้งการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ วัดความดัน ซักประวัติ ตรวจสุขภาพความพร้อมก่อนการฉีดวัคซีน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปัจจุบัน ยังคงมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชน “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการเสียชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนคนไทย ให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.กาฬสินธุ์ มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค อยู่ประมาณ 240,000 คน โดยในเขตอำเภอเมือง มีผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 120,000 คน ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่จองสิทธิฉีดและขึ้นทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ในเดือนมิถุนายน 2564 ส่วนการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่น ๆ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของโรงพยาบาล  และทยอยฉีดตามลำดับการจอง ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ จ.กาฬสินธุ์ได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า (Astrazeneca) จำนวน 3600 โดส โดยจัดสรรในเขตพื้นที่อำเภอเมือง 1000 โดส ที่เหลือได้กระจายไปยังอำเภอต่าง ๆ

ด้าน นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลไว้ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางหลังเก่า อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์คอยอำนวยความสะดวกและบริการ ทั้งการตรวจสุขภาพประเมินก่อนฉีด และสังเกตอาการหลังฉีด ซึ่งสามารถรองรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ประมาณวันละ 1,000 คน และในวันนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนสูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ ได้รายงานสถานการณ์โรคในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่ม 8 ราย โดยมีผู้ป่วยสะสมรวม 129 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 99 ราย กำลังรักษาอยู่ 26 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายล่าสุด อยู่ในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ 7 ราย และอ.ยางตลาดอีก 1 ราย


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น - ทหารพันธุ์ดี ค่ายสีหราชเดโชไชย รับมอบไก่พันธุ์ประดู่หางดำ และกบพันธุ์ทุ่งกุลา พระราชทานจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นำไปกระจายพันธุ์ แจกจ่าย และช่วยเหลือประชาชน

กองทัพบกได้ดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดีมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่หน่วยทหารทั่วประเทศ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ และเพาะพันธุ์สัตว์ เพื่อการบริโภคให้กับกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนประชาชนรอบค่าย ตามแนวทางพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 64 พ.อ.ณรงค์ วิชญาณวรวุฒิ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 เป็นประธานพิธีรับมอบไก่พันธุ์ประดู่หางดำ และกบพันธุ์ทุ่งกุลา พระราชทาน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการทหารพันธุ์ดี ณ กองร้อยเครื่องยิงหนัก กรมทหารราบที่ 8 ค่ายสีหราชเดโชไชย ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พิธีรับมอบไก่พันธุ์ประดู่หางดำ และกบพันธุ์ทุ่งกุลา พระราชทานฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วยไก่พันธุ์ประดู่หางดำ จำนวน 50 ตัว และกบพันธุ์ทุ่งกุลา จำนวน 2,020 ตัว ให้กับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการทหารพันธุ์ดี กรมทหารราบที่ 8 เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับกำลังพล,ครอบครัว และทหารกองประจำการ รวมถึงให้นำไปขยายพันธุ์ และสามารถนำไปเป็นอาหารและจำหน่ายได้ตามแนวเกษตรพอเพียง พอมี พอกิน และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ขยายผลสู่ประชาชนรอบค่าย ในโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนที่อยู่รอบค่ายฯ มาศึกษา นำไปปฏิบัติใช้ในชุมชนต่อไป

กาฬสินธุ์ – ฝนตกสะสมท่วมถนน ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ทำนาข้าวชาวนาช้ำ

อิทธิพลของฝนต้นฤดูที่ตกลงมาต่อเนื่อง 3 วัน ส่งผลให้เกิดการสะสมของปริมาณน้ำตามแหล่งเก็บน้ำ รวมทั้งคลองระบายน้ำในชุมชน และแปลงนาของเกษตรกร โดยเฉพาะเขตตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์  ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมถนนสายหลักระยะทางยาวกว่า 100 เมตร และนาข้าวที่เพิ่งหว่านจมอยู่ใต้น้ำ ชาวนาต้องหาเครื่องสูบน้ำออกก่อนเน่าเสียหาย

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบ หลังฝนต้นฤดูตกลงมาต่อเนื่อง 3 วัน ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าถนนสายหลักของ ต.ดอนสมบูรณ์ อ.ยางตลาด บริเวณหน้า อบต.ดอนสมบูรณ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานาง ได้เกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร ลึก 30-50 ซม. รถเล็กบางคันผ่านไม่ได้ ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่จึงเลี่ยงไปใช้เส้นทางจราจรสายอื่น ขณะที่บริเวณแปลงนาในเขต ต.ดอนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนากำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว พบว่าได้เกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง จึงต้องหาเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออก ก่อนที่เมล็ดพันธุ์ข้าวจะเน่าเสียหาย

นายนาคินทร์ ภูจ่าพล ผู้ใหญ่บ้านดอนยานาง ต.ดอนสมบูรณ์กล่าวว่า ฝนที่ตกติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ถึงแม้จะไม่ตกหนัก แต่ก็ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำฝนเกิดการสะสม โดยตามร่างระบายน้ำในชุมชน และตามคูคลองระบายไม่ทัน จึงทำให้เกิดการเอ่อท่วม และท่วมขังดังกล่าว ทั้งนี้ ได้ประกาศเตือนชาวบ้าน ให้ระมัดระวังอันตรายและอุบัติเหตุ จากภาวะน้ำท่วม เช่น อุบัติเหตุ งูพิษ แมลงมีพิษ รวมทั้งห้ามลงไปแช่น้ำ เนื่องจากอาจจะเหยียบตะปู เศษแก้วหรือวัสดุแหลมคม ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคบาดทะยัก และสารเคมีที่เจือปนอยู่ในน้ำ ที่อาจะซึมเข้าสู่ร่างกายได้รับอันตรายได้

บุรีรัมย์ - ชาวบ้านสุดช้ำ กล่าวทั้งน้ำตา หวังพึ่งบารมี “ย่าโม” ใช้หนี้แล้ว แต่ไม่ได้ที่นาคืน

สุนีนากร พนิรัมย์ อายุ 35 ปี และพี่สาว ภัทรพร พนิรัมย์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านแซว หมู่ที่ 6 ตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ หมดที่พึ่ง หลังศาลฏีกา จังหวัดบุรีรัมย์ ตัดสินให้แพ้คดี เสียพื้นที่นา นส. 3 ก. 33 ไร่ให้กับนายทุน เดินทางมากราบไหว้ทั้งน้ำตา ขอบารมีคุณย่าโม ช่วยเหลือ

นางสาวสุนีนากร พนิรัมย์ อายุ 35 ปี กล่าวทั้งน้ำตาว่า พ่อเคยเอาที่ไปขายฝากกับนายทุน 2 หมื่นบาท เมื่อปี 2520 และได้ไปไถ่ถอนมาเมื่อปี 2553 ด้วยวงเงินถึง 2 แสนบาท แต่นายทุนยังไม่ยอมคืนเอกสารที่นา อ้างแต่ว่ายังไม่ว่าง ต่อมาคุณพ่อได้มาเสียชีวิต เมื่อปี 2555 นายทุนรายนี้กัลับมาเดินเรื่องออกโฉนดเป็นของตัวเอง พวกเราจึงมาทำเรื่องคัดค้าน จึงเกิดเป็นคดีความ โดยในศาลชั้นต้น ให้เราชนะ แต่ในศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา กับให้นายทุนชนะ โดยอ้างแต่เพียงว่า ฝ่ายเราไม่มีมูล

ทุกวันนี้เลยหมดหนทางจะไป ไม่รู้จะเดินหน้าไปพึ่งใคร จึงเดินทางมาที่จังหวัดนครราชสีมา หวังพึ่งบารมีคุณย่าโม ช่วยเหลือ เพราะไม่เข้าใจว่า เงินก็ได้ไปแล้ว ทำไมยังมายึดที่นากันด้วย ที่นาต้อง 33 ไร่ ทำไมมายึดไปหมด ไม่เหลือที่ทำกินไว้ให้เขาบ้าง


ภาพ/ข่าว  นันทวัฒน์ อุ่มพิมาย นครราชสีมา

นครราชสีมา - ตำรวจทางหลวงโคราช นำคาราวานปันสุข รุดช่วยเหลือน้องเก้า เด็กสู้ชีวิตลำพัง เก็บของเก่าขาย มอบทุนการศึกษา สิ่งของ รวมถึงส่งกำลังใจ หมอ-พยาบาล 4 โรงพยาบาล สู้โควิดไปด้วยกัน รวมแล้ว 25 โรงพยาบาลทั่วโคราช

วันนี้ 10 มิถุนายน เวลา 10.00 น. พ.ต.ท.วิษณุ คำโนนม่วง สารวัตรตำรวจทางหลวงนครราชสีมา เป็นตัวแทน พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก.ร่วมกับ จิตอาสา 904 ร่วมกับ จิตอาสาตำรวจทางหลวงนครราชสีมา กรรมการหอการค้าโคราช ชมรมฮักเขาใหญ่ และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว 

ร่วมกันจัดกิจกรรม คาราวานปันสุข เติมพลังใจ หมอ-พยาบาล 4 โรงพยาบาล ครั้งที่ 5 โดยเริ่มมอบสิ่งของให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลประทาย โรงพยาบาลสีดา โรงพยาบาลบัวลาย และโรงพยาบาลแก้งสนามนาง รวม 4 โรงพยาบาล 4 อำเภอ

โดยมีการนำอาหารกล่อง น้ำดื่ม ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้ ทยอยมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสโควิด สำหรับกิจกรรมคาราวานครั้งนี้ ได้ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลไปแล้ว 21 โรงพยาบาล โดยรวมทั้งวันนี้ 25 โรงพยาบาลแล้ว

ภายหลัง พ.ต.ท.วิษณุ คำโนนม่วง สารวัตรตำรวจทางหลวงนครราชสีมา พร้อมคณะคาราวาน เป็นตัวแทน พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก.ร่วมกับ จิตอาสา 904 เดินทางไปเยี่ยม นายตะวัน มุสิกา หรือน้องเก้า อายุ 16 ปี พักอยู่บ้านเลขที่ 9849/1 ถนนหัวหนอง 5 ต.บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ที่สู้ชีวิตเพียงลำพังด้วยการเก็บของเก่าขาย หลังจากพ่อกับแม่ได้เสียชีวิตไปแล้ว น้องเก้า ก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ สภาพทรุดโทรม มานานกว่า 1 ปี ปัจจุบันนี้ น้องเก้า ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคบัวใหญ่ ชั้นปีที่ 1 สาขาช่างยนต์ อาศัยออกเก็บของเก่าขายเลี้ยงตัวเองตามที่เสนอข่าวในโลกโซเชี่ยล

โดยน้องเก้า รู้สึกดีใจ พร้อมกล่าวขอบคุณ ทุกคนที่ได้ช่วยเหลือตนเอง โดยน้องเก้าได้ยกมือไหว้ขอบคุณ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคเงินช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษาให้น้องเก้าแล้ว จำนวน 300,000 บาท ซึ่งน้องเก้าสัญญาว่า จะตั้งใจเรียน เป็นคนดี และจะใช้จ่ายเงินที่บริจาคให้อย่างประหยัด เพื่อเป็นทุนในการเรียนต่อจนจบ หากใครที่ต้องการจะสนับสนุนช่วยเหลือน้องเก้า สามารถโทรศัพท์สอบถามเพื่อนบ้านของน้องเก้าได้ที่เบอร์ 062-369-4639

ชัยภูมิ - นายกอบจ.ชัยภูมิ เปิดโครงการอบรมให้ความรู้ แก่บุคลากรหน่วยงานหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. นายอร่าม โล่ห์วีระ นานก อบจ.ชัยภูมิ (ประธานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ) ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการอบรมให้ความรู้ แก่บุคลากรหน่วยงานหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2564 ณ ห้องประชุมพระยาภักดีชุมพล ชั้น 3 สำนักงาน อบจ.ชัยภูมิ

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวนมาก กอร์ปกับประกาศจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เรื่องขอความร่วมมือประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ชะลอการจัดกิจกรรมทางสังคมและงดการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ที่มีคนจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อให้การปฏิบัติราชการตามโครงการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุน งบประมาณกองทุน ฟื้นฟูสมรรถภาพ จังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยบรรลุวัตถุประสงค์เป็นไปตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิจึงได้จัดทำการอบรมดังนี้

1.อบรมให้ความรู้แนวทางการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ

2. อบรมให้ความรู้บทบาทหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

3. อบรมให้ความรู้วิชาการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ

โดยมีหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ ประจำปีงบประมาณ 2564 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการผู้สูงอายุจำนวน 15 โครงการ จำนวน 15 คน หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ ด้านการแพทย์และกายอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ จำนวน 15 โครงการ จำนวน 15 คน และหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 18 หลัง จำนวน 14 หน่วยงาน จำนวน 14 คน


ภาพ/ข่าว  อรรถดิษฐ์ จันตะเสน จ.ชัยภูมิ

มุกดาหาร - “อุ๊บ” เชื่อตำรวจออกหมายจับถูกตัว แจงไม่ได้เป็นนกสองหัว ยังเป็นคนเดิมที่ยืนอยู่กับความถูกต้อง

นายวิริยะ พงษ์อาจหาญ หรือ “อุ๊บ วิริยะ” นักปั้นดารามือทอง อดีตกัลยาณมิตรของลุงพล ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจแม่และพ่อน้องชมพู่ที่จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า วันนี้มาให้กำลังใจพ่อและแม่น้องชมพู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ให้กำลังใจมาโดยตลอด เคยมาที่กกกอกแล้วกว่า 10 ครั้ง ทุกครั้งที่มาก็จะมาเยี่ยมทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายพ่อแม่น้องชมพู่และลุงพล แต่ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่ายที่ถูกต้อง ฝ่ายที่เรารู้สึกมีความสุขกับการที่จะมาพบปะเยี่ยมเยียน วันนี้ถือว่าเป็นวันดีวันหนึ่งเนื่องจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และทีมทนายความที่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวแม่น้องชมพู่ ในส่วนตัวขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นนกสองหัวไปฝ่ายนู้นทีฝ่ายนี้ที ยังเป็นคนเดิมที่ยืนอยู่กับความถูกต้อง

อุ๊บ วิริยะ กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าขอออกหมายจับถูกต้องแล้วเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเก็บรวบรวมหลักฐานมาเป็นระยะเวลาถึง 1 ปี ถ้าหลักฐานไม่หนักแน่นจนชี้ชัดมัดตัวคนร้ายได้ก็คงไม่มีหมายจับออกมา เราเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของตำรวจว่ามีความถูกต้อง จากการมาที่กกกอกกว่า 10 ครั้ง และติดตามข่าวจากทุกสื่อ ทุกโซเชียล ทำให้สามารถวิเคราะห์แยกแยะออกได้ว่าใครดีใครชั่ว ใครที่กระทำความผิดมันก็เห็นชัดจากพฤติกรรมของคนบางคนที่แสดงออกมาให้เราเห็น ฉายาคน 2 ซิมเป็นเรื่องจริงล้านเปอร์เซ็นต์ และน่ากลัว ตั้งแต่เกิดมา 62 ปี ในชีวิตนี้ไม่เคยเจอคนแบบนี้ และเมื่อมาเจอก็ทำให้คิดว่าคนเราเป็นไปได้ขนาดนี้เชียวหรือ น่ากลัว อยู่ห่างไกลไว้เป็นดีที่สุด


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย จ.มุกดาหาร

ยโสธร – ผู้ว่าฯ ส่งทีมแพทย์ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ อิมแพคเมืองทองธานี มอบช่อดอกไม้ และกล่าวชื่นชมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีส่งทีมปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 11– 28 มิถุนายน 2564 นี้  โดยมี นายธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสื่อมวลชน ร่วมในพิธีครั้งนี้ ณ บริเวณลานจอดรถสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร  

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้มอบช่อดอกไม้ และกล่าวชื่นชมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้ง 8 คน ในความเสียสละและความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถ  และชวนให้ชาวยโสธรร่วมเป็นกำลังใจในการไปปฏิบัติหน้าที่ของทีมครั้งนี้ และร่วมใจกันฝากส่งพลังกาย พลังใจให้ทีมไปดูแลรักษา และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้หายเป็นปกติทุกคน สำหรับทีมปฏิบัติการทางการแพทย์จังหวัดยโสธร เป็นเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลยโสธรทั้งหมด ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย 

1.แพทย์หญิงธันยนันท์ ศรีธัญรัตน์ นายแพทย์ชำนาญการ เป็นหัวหน้าทีม 

2.เภสัชกรหญิงภาวินี วารีขัน เภสัชกรปฏิบัติการ 

3.เภสัชกรหญิงณัฐธิดา ดีเพชร เภสัชกรปฏิบัติการ   

4.นางมะลิวรรณ แสนสุข พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ   

5.นางเนตรชนก สิทธิบุรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  

6.นางสาวณัฐพร ประสงค์ศิลป์ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ  

7.นางรัตติยา  ยั่งยืน  พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ   

8.นางสาวอารยา  เนติวัชรเวช พยาบาลวิชาชีพ 

โดยได้มีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่แก่ทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการดูแลป้องกันตนเองด้วย 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานีตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ และเป็นการช่วยให้โรงพยาบาลในเขต กทม. มีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มที่ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา เบื้องต้นรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,200 คน สามารถเพิ่มเตียงได้ 3,000 – 5,000 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ทั้งจากในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสายด่วนต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจร ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต   โยจังหวัดยโสธรมีความภูมิใจ ที่เราได้มีส่วนร่วมไปปฏิบัติหน้าที่ในช่วง 11 – 28  มิถุนายน 2564  ถือเป็นความเสียสละที่ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์จะได้ทั้งกุศลบุญและประสบการณ์ที่ดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดยโสธร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top