Tuesday, 21 May 2024
Isan

กาฬสินธุ์ – เห็ดเผาะหายากคนแห่เข้าป่า เก็บได้กินปีละครั้ง ราคาพุ่งกิโลกรัมละ 500 บาท

ผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งบรรยากาศการเก็บเห็ดเผาะในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านในพื้นที่และต่างจังหวัด แห่เข้ามาหาเก็บไปเป็นอาหารจำนวนมาก คนเก็บเยอะกว่าเห็ด และกลายเป็นของป่าหายากได้กินปีละครั้ง จึงทำให้ราคาแพงถึง ก.ก.ละ 400-500 บาท

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพของประชาชนทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้า และผู้บริโภคทั่วไป ที่ต่างปรับตัวเพื่อเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในส่วนของการหาอาหารยังชีพ ในสภาวะที่ตลาดในเมือง และตลาดนัดหลายแห่งปิดตัวลง ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงพบว่าตามแหล่งน้ำ ป่าธรรมชาติ มีชาวบ้านออกหาอาหารตามฤดูเป็นจำนวนมาก เช่นที่บริเวณป่าดงระแนงพื้นที่รอยต่อหลายตำบลของ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พบว่ามีชาวบ้านในพื้นที่และต่างจังหวัด แห่เข้ามาหาเก็บไปเป็นอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะเห็ดเผาะ มีคนเก็บเยอะกว่าเห็ด และกลายเป็นของป่าหายาก เพราะมีปีละครั้งจึงทำให้ราคาแพงถึง ก.ก.ละ 400-500 บาท

นายศักดิ์กล ทองขันธ์ อายุ 68 ปี ชาวบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้จะพบว่าประชาชนอกหาอาหารตามธรรมชาติ เช่น ลงจับปลาตามแหล่งน้ำ และเข้าป่าหาแหย่ไข่มดแดง เก็บเห็ด ดอกกระเจียว และผักหวานป่า ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล เพื่อนำมาประกบอาหารในครัวเรือน ทดแทนการเข้าไปหาซื้อตามท้องตลาดในเมือง และตลาดนัด ซึ่งเสี่ยงต่อการได้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ยังเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนชดเชยการซื้ออาหารจากร้านค้า และบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารในช่วงนี้เป็นอย่างดี

ด้านนายนิรันดร์  วันยุทธิ์ อายุ 38 ปี  บ้านเลขที่ 41 หมู่ 2 บ้านดอกเจี้ย ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นฤดูฝนซึ่งเห็ดเผาะจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตนและเพื่อนบ้าน ได้เดินทางข้ามจังหวัดมาหาเก็บเห็ดเผาะที่บริเวณป่าดงระแนง ซึ่งเห็ดเพาะของที่นี่ จะมีรสชาติกรอบ หอม นุ่ม มัน อร่อยกว่าเห็ดจากป่าดงต่าง ๆ จึงพบว่ามีชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างอำเภอ ต่างจังหวัด นำอุปกรณ์สำหรับหาเก็บเห็ดเผาะที่เกิดอยู่ใต้ผิวดิน โดยจับกลุ่มกันเข้ามาหาเป็นจำนวนมาก

นายนิรันดร์กล่าวอีกว่า เห็ดเผาะถือเป็นของป่าหายาก จะเกิดปีละครั้งและระยะสั้น ๆ หรืออย่างนานไม่เกิน 1 เดือนในช่วงเริ่มต้นฤดูฝนเท่านั้น พอเห็ดเผาะเกิดทีจึงมีชาวบ้านเข้ามาหาเก็บไปประกอบอาหาร ซึ่งสามารถปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น นึ่ง แกง ห่อหมก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งตลาดหลายแห่งปิด และผู้คนไม่กล้าเข้าไปหาซื้ออาหารตามท้องตลาด จึงพบว่าพากันแห่เข้ามาเก็บเห็ดเผาะเป็นจำนวนมาก ทำให้เผาะที่หายากอยู่แล้ว หายากกว่าเดิมอีก ทำให้มีการซื้อขายกันในราคาที่สูงถึง ก.ก.ละ 400 บาท หรือหากนำไปขายต่อราคา ก.ก.ละ 500 บาททีเดียว สำหรับตนจะไม่ขาย เพราะหายาก เมื่อเก็บได้แล้วจะนำไปประกอบอาหาร หรือหากได้มากๆก็จะเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อถนอมไว้กินนาน ๆ

บึงกาฬ – อากาศร้อนอบอ้าว เห็ดระโงกผุดขึ้นใต้ต้นยางนา ชาวบ้านพากันเก็บขายกิโลละ 300 บาท

ฝนไม่ตกมาหลายวันประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าว เห็ดระโงกทั้งสีขาวและเหลืองผุดขึ้นมาจากดิน ชาวบ้านเก็บไปทำอาหารเหลือก็ขายกิโลกรัมละ 300 บาทสร้างรายได้ช่วงโควิดระบาด

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 9 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านคำสมบูรณ์ หมู่ที่ 3 ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬว่า  ชาวบ้านหาดคำสมบูรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยไวรัสโควิด 19 หลังจากมีนักท่องเที่ยวพาลูกหลานมาเล่นน้ำคลายร้อน กลับไปทำงานแล้วมีไทม์ไลน์บอกว่ามาเที่ยวหาดคำสมบูรณ์ ทำเอานักท่องเที่ยวคนอื่นไม่กล้ามาที่นี่อีก ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องเล่นต่าง ๆ ในน้ำต่างซบเซา และกำลังฟื้นตัวดีขึ้น

แต่ชาวบ้านอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นชาวสวนยางพารา หลังกรีดยางเสร็จก็จะพากันออกไปเก็บเห็ด ที่เกิดขึ้นตามป่าธรรมชาติ หรือที่ขึ้นตามใต้ต้นยางนาและต้นก่อ หรือเกาลักไทยที่ปลูกไว้ เนื่องจากหลายวันมาแล้วฟ้าฝนไม่ตกลงมาเลย อากาศจึงร้อนอบอ้าวทำให้พื้นดินร้อนไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เห็ดหลายชนิดผุดขึ้นจากดิน โดยเฉพาะเห็ดระโงกเหลืองและเห็ดระโงกขาว ชาวบ้านจึงเก็บไปทำอาหารส่วนที่เหลือก็นำไปขายกิโลกรัมละ 300 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวในช่วงโควิดระบาดหนักรอบ 3 ซึ่งพอถึงฤดูฝนเห็ดก็จะเกิดขึ้นมาให้เก็บแบบนี้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม สภาพพื้นดินที่เป็นดินทรายปนดินเหนียวจะเป็นสภาพดินที่เหมาะกับเห็ดระโงกเป็นอย่างดี

น.ส มธุศร พันธุ์สุวรรรณ์ อายุ 25 ปี บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 3 ต.บึงโขงหลง กล่าวว่าเมื่อก่อนเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 62 ได้กลับมาอยู่บ้าน ช่วยพ่อทำการเกษตร เช่น เพาะต้นยางนาผสมเชื้อเห็ดขาย พร้อมกับปลูกต้นยางนาไว้ตามหัวไร่ปลายนาและที่ว่างเปล่าภายในสวนของตัวเอง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน มีทั้งต้นยางนาและต้นก่อ โดยไม่ต้องหว่านหัวเชื้อ ปลูกไว้ 2-3 ปีก็ได้เก็บผลผลิตซึ่งเป็นเห็ดระโงกผุดขึ้นมาตามพื้นดิน ออกดอกมีทั้งแบบตูมคือออกมาใหม่ แต่พอสายๆ เห็ดก็จะบาน ก็เก็บเอามาจำหน่ายให้กับชาวบ้านที่ต้องการบริโภค ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท วันหนึ่งๆ เห็ดก็จะออกอยู่ประมาณ 3-4 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับครอบครัววันละ 1 พันกว่าบาทแบ่งเบาภาระช่วงโควิด-19 ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และคนในหมู่บ้านคำสมบูรณ์จะนิยมปลูกต้นยางนาไว้ขายเห็ดระโงก ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 10 กว่ารายแล้ว


ภาพ/ข่าว เกรียงไกร  พรมจันทร์

ศรีสะเกษ - พิษโควิด "หมอลำสุนันทา" งานหด ต้องเปลี่ยนอาชีพมาปิ้งหมูนมสด ทำปลาเผาขาย หารายได้เลี้ยงครอบครัว

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 64  ที่สำนักงานหมอลำแม่บุญโฮม ตั้งอยู่เลขที่ 73/1 หมู่ 11 ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นสำนักงานหมอลำที่มีหมอลำและดนตรีมาสังกัดอยู่หลายคณะด้วยกัน ทั้งคณะลำเรื่องต่อกลอน หมอลำเซิ้ง หมอลำหมู่ หมอลำทรง หรือหมอลำผีฟ้า หมอลำพื้น หมอลำผญา และหมอลำเพลิน ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสานและมักจะมีการจ้างหมอลำไปแสดงตามงานประเพณีต่าง ๆ เป็นประจำอยู่เสมอ 

ปรากฏว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มานานร่วม 2 ปีแล้ว ทำให้บรรดาหมอลำที่มีอยู่ในสังกัดได้รับผลกระทบมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า บรรดาเจ้าภาพที่มาจ้างหมอลำเอาไว้ได้พากันยกเลิกงานจ้างหมอลำทั้งหมด  เพราะเกรงว่า หากมีการจัดงานแล้วจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

บรรดาหมอลำต้องพากันเปลี่ยนอาชีพไปทำมาหากินอาชีพอื่นจนหมดสิ้น จนแทบจะทำให้อาชีพหมอลำสูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว  เพราะว่า บรรดาหมอลำหากยังคงรอรับงานอีกต่อไปก็คงจะไม่มีรายได้อะไรมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว

นางละมุล  พรหมมา อายุ  43 ปี  หมอลำกลอนชื่อดังของ จ.ศรีสะเกษ ในชื่อการแสดงคือ หมอลำสุนันทาไก่แก้ว เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา  งานจ้างหมอลำของตนจะเยอะมาก เดือนละประมาณ 5 – 6 งาน และหมอลำคนอื่นก็จะมีงานจ้างเข้ามาคิวแน่นมากเช่นกัน มีรายได้ต่อเดือน เดือนละ 20,000 – 30,000 บาท แต่ว่าหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บรรดาเจ้าภาพพากันยกเลิกงานจ้างหมอลำกันหมด  ส่งผลให้บรรดาหมอลำทุกคนต้องพากันเปลี่ยนอาชีพไปทำไร่ไถนา และรับจ้างทั่วไปเพื่อให้ได้เงินมาประทังชีวิต 

ส่วนตนนั้นยังคงปักหลักอยู่ที่สำนักงานแห่งนี้ แต่ว่าได้เปลี่ยนอาชีพจากการเป็นหมอลำมาทำหมูปิ้งนมสด ข้าวเหนียว ข้าวจี่ ตับย่าง หมูยอ น่องไก่ ทำปลาเผาขาย รวมทั้งรับทำข้าวกล่องด้วย เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ที่จะต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คน คนโตเรียนมหาวิทยาลัย  ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนระดับมัธยมศึกษา มีรายได้วันละ 500-1,000 บาท บางวันก็ขายไม่ได้ 

โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีเงินเหลือเล็กน้อยพอได้ใช้จ่ายในครอบครัว  หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หมดสิ้นไปแล้วตนก็จะกลับมารับงานเป็นหมอลำเช่นเดิมต่อไป เนื่องจากว่า ตนมีความชื่นชอบในอาชีพหมอลำมากนั่นเอง    


ภาพ / ข่าว ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

กาฬสินธุ์ – อดีตพยาบาลสาว สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ผันชีวิตทำเกษตรรายได้เดือนละแสน

อดีตพยาบาลสาวชาวอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ลาออกจากงานผันชีวิตมาทำเกษตรผสมผสาน สร้างอาชีพสู้ภัยโควิด-19 ทั้งเลี้ยงไก่ดำ ปลูกผักหวาน ปลูกไผ่ เลี้ยงด้วงขายสร้างรายได้เดือนละแสน

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีอดีตพยาบาลสาวได้ลาออกจากงานกลับมาบ้าน เพื่อมาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงลงพื้นที่ไปที่บ้านเลขที่ 252 บ้านโนนสำราญ ม.5 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.ธัญลักษณ์ มหัทธนยศนันท์  อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตพยาบาลที่ลาออกมาทำการเกษตรและเปิดเป็นฟาร์มการเกษตร ชื่อพรเจริญฟาร์ม

โดย น.ส.ธัญลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ตนทำงานเป็นพยาบาลโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ซึ่งในระหว่างที่ยังทำงานประจำอยู่ก็ได้ลองลงมือทำการเกษตร โดยการปลูกพืชก่อนเป็นอันดับแรกเช่น ปลูกกล้วย ผักหวาน ปลูกไผ่สายพันธุ์ต่างๆ ไว้ที่สวนของตนเองที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะเดินทางกลับมาดูแลสวนทุกๆวันหยุด จาก จ.ชลบุรี-มาที่ อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ทำลักษณะนี้อยู่ประมาณ 2 ปี พบว่า การปลูกพืชอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ และรายได้ที่เข้ามายังน้อยมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยศึกษาการเลี้ยงไก่ดำเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้อย่างแน่นอน อีกทั้งหลังจากที่ทำงานมาหลายปีตนเองก็รู้สึกว่าเหนื่อยแล้วกับการทำงานที่ทำอยู่ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาทำเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงที่บ้าน

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจึงลงมือทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างจริงจัง โดยมีพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งทำนา 2 ไร่ สระน้ำเลี้ยงปลา 1 ไร่ ปลูกไผ่ 1 ไร่ ส่วนที่เหลือทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง ทั้งเลี้ยงไก่ดำ KU ภูพาน ขายลูกอายุ 21วัน ตัวละ 50 บาท อายุ 1 เดือนขายตัวละ 70 บาท อายุ 2 เดือนขายตัวละ 150บาท  ไก่ดำชำแระขายกิโลกรัมละ180 บาท โดยก็มีลูกค้าประจำทั้งต่างจังหวัดและแถวๆใกล้บ้าน ปลูกผักหวานเก็บยอดขาย กิโลกรัมละ 300 บาท และบางครั้งก็จำหน่ายเมล็ดด้วย ปลูกไผ่กิมซุงตัดหน่อขายโดยการชั่งเป็นกิโลกรัมๆละ50บาท เลี้ยงด้วงสาคูขายปลีก กิโลกรัมละ 250 บาท ราคาส่งกิโลกรัมละ 200 บาท

นอกจากนี้ยังเลี้ยงหนูนาหรือหนูพุกขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจะขายเป็นชุด โดยหนูอายุ 3-4 เดือนตัวผู้ 1 ตัวและตัวเมีย 2 ตัว จะขายอยู่ที่ราคา 1,000บาท และขายเป็นหนูเนื้อกิโลกรัมละ 200-250บาท และตอนนี้กำลังวางแผนที่จะเลี้ยงหอยเชอรี่กับปลาไหลเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีรายได้ให้เข้ามาตลอดทั้งปี

น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงสัตว์ที่ทำอยู่นั้น นอกจากจะเป็นสร้างอาชีพให้กับตนเองมีงานทำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว อาชีพนี้ยังลดความเสี่ยงในการทำงานในสถานที่ที่มีผู้คนแอดอัดด้วย อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวในการสู้ภัยโควิด-19  เฉลี่ยประมาณ 100,000บาท ต่อเดือน ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเก็บเดือนละประมาณ 70,000-80,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่มากพอสมควรในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งจะเห็นว่าอาชีพการเกษตรนั้นยังมีเสน่ห์ มีอนาคต และสามารถสร้างรายได้แบบยั่งยืน เฉพาะในยุคโควิดระบาด หากเปลี่ยนวิธีคิด อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ต้องการสอบถาม หรืองต้องการเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม ก็สามารถสอบถามได้ทาง Facebook  ไก่ดำ ไก่บ้าน พรเจริญฟาร์ม หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 097-0821444

กาฬสินธุ์ - เขื่อนลำปาวน้ำลด ชาวบ้านนำสัตว์ไปเลี้ยงแทนทุ่งนา เพื่อเพียงพอหน้าแล้ง

ผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาพที่เคยเป็นท้องน้ำเกิดสันดอน และกลายเป็นแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์บริเวณกว้าง ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย เข้าไปเลี้ยง ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ขอความร่วมมือประชาชนในช่วงหยุดการส่งน้ำ ช่วยกันบำรุงรักษาคูคลองละใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงเริ่มต้นเดือนแรกของฤดูฝน พบว่าเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและยังไม่ตกลงมาตามดูกาล ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยเฉพาะเขื่อนลำปาวเกิดการระเหยและลดระดับลงอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำไหลลงเขื่อน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพียง 455 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23 % จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ผลจากระดับน้ำในเขื่อนลำปาวลดลงดังกล่าว ทำให้บริเวณท้ายเขื่อนและริมฝั่ง รวมทั้งส่วนที่เคยเป็นผืนน้ำในฤดูฝน เกิดสันดอนและกลายเป็นทุ่งหญ้า ให้ชาวบ้านต้อนฝูงวัว ควาย ลงไปเลี้ยง บางส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงปลูกพืชเป็นอาชีพเสริมในฤดูแล้งอีกด้วย

ขณะที่นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า ทางโครงการฯ ได้ทำการหยุดส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรรมการบริการจัดการน้ำ และดำเนินการตามปฏิทินปฏิบัติ  เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรม โดยหลังจากหยุดส่งน้ำแล้วก็จะมีการซ่อมแซมคลองส่งน้ำและดูแลขุดลอกตะกอนดิน เพื่อเตรียมความพร้อมของคลองไว้สำหรับการส่งน้ำเพาะปลูกข้าวฤดูฝน ที่จะดำเนินการส่งน้ำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564

นายฤาชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน อย่างไรก็ตาม อยากจะขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ได้ร่วมกันใช้อย่างอย่างประหยัด เนื่องจากฝนยังทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เช่น ชาวนา ชาวประมง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ที่ใช้น้ำจากคลองสายเล็กหรือคลองไส้ไก่ ในช่วงที่ทางโครงการหยุดส่งน้ำดังกล่าว ก็ให้ช่วยกันซ่อมแซมคูคลอง เพื่อน้ำจะได้ไหลสะดวกในช่วงทำการระบายน้ำในโอกาสต่อไป ในขณะเดียวกันทางโครงการได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ออกสำรวจตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะให้ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำอย่างทั่วถึง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น - โรงแรมขอนแก่นโอด โควิดระบาดระลอก 3 ใครจะยื้อไหว เปิดให้บริการก็ไม่มีคนมาพัก ประกาศขายก็คงไม่มีใครมาซื้อ วอนรัฐกำหนดมาตรการชัดเจนช่วยเหลือผู้ประกอบการ “ชาติชาย” ระบุ เงินกองทุนประกันสังคมควรงัดออกมาใช้ได้แล้ว

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 12 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวและการใช้บริการของสถานประกอบการต่างๆเป็นไปอย่างเงียบเหงา อันมีผลมาจากการประกาศขอความร่วมมือจากรัฐบาลในการให้บริการในเวลาที่จำกัด และงดการเดินทางในระยะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดตัว ขณะที่โรงแรมที่ยังคงเปิดให้บริการก็ไม่มีผู้เข้าพัก เนื่องจากการเดินทางข้ามจังหวัดหรือการท่องเที่ยวในระยะนี้ไม่มีเกิดขึ้น รวมไปถึงการจัดการประชุมสัมมนาต่าง ๆ ได้ลดจำนวนลง

นายชาติชาย  โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในระลอกที่ 3 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งในการระบาดระลอกที่ 2 ถ้าจำได้เกิดขึ้นช่วงใกล้ช่วงปีใหม่ ขณะที่ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในมุมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการ ในช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่ทุกคนต้องเตรียมสรรพกำลังรองรับนักท่องเที่ยวและการเดินทาง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบเร่งด่วน ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ต้นทุนในด้านต่างๆ การจ้างงาน ที่มีอยู่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ อย่างที่โรงแรมโฆษะ มวยกำลังจะขึ้นชก ก็ถูกน็อคตั้งแต่ยังไม่ชก ซึ่งก็เข้าใจในสถานการณ์ดังนั้นวันนี้สิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤติเหตุการณ์นั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายที่ยังคงไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานใดที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือ แม้รัฐบาลจะกำหนดการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในโครงการเราชนะ หรือ ตามมาตร 33 มาแล้วก็ตาม

“เม็ดเงินที่รัฐจัดสรรในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สามารถที่จะกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่มาวันนี้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมนั้นมืดสนิท เพราะแม้เปิดให้บริการแต่ก็ไม่มีคนเข้าพัก ร้านอาหารหากเปิดคนก็มาใช้บริการน้อยมาก และต้องใช้บริการในช่วงเวลาที่จำกัด ทุกคนต่างต้องปรับกลยุทธิ์ในด้านต่างๆเพื่อความอยู่รอด โรงแรมหลายแห่งปลดพนักงานบางส่วน บางแห่ง ทำงานคนละ 15 วัน บางแห่งจ่ายเงินเดือนในอัตราร้อยละ 70 ตามแนวทางที่ใครจะทำได้และไม่ขัดต่อกฎหมาย และหากจะประกาศปล่อยขาย ตามที่เจ้าของกิจการได้พูดคุยกันหลายแห่งก็ไม่มีใครที่จะมาซื้อในระยะนี้จากสภาพเหตุการณ์ที่ทุกคนก็ทราบดีว่าเป็นอย่างไร”

นายชาติชาย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงแรงงานต้องออกมามีบทบาทและแสดงความชัดเจนในการช่วยเหลือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้า ได้มีการส่งสมทบทุกเดือน ที่ต้องออกมาเป้นโยบายหรือข้อกำหนดให้กับสถานประกอบการต่างๆได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าว เนื่องจากการจะเข้าถึงสถาบันการเงินตามนโยบายที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดนั้นผู้ประกอบการบางคนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีภาวะเงินกู้ในสัดส่วนที่มากอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อวันนี้สถานประกอบการไม่สามารถเปิดได้ หรือเปิดก็ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงต้องแบกรับภาวะต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านต่างๆเพื่อคงสภาพของกิจการ รวมไปถึงค่าจ้างพักงานที่ต้องจ้าง จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเงินกองทุนประกันสังคม ที่นายจ้างส่งจ่ายทุกเดือนได้กลับคืนมาให้กับนายจ้างบ้างในเงื่อนไขและระเบียบที่รัฐกำหนดไว้

บุรีรัมย์ - พิธีเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” จังหวัดบุรีรัมย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จัดตั้ง “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” ณ โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในระหว่างวันที่ 11 – 20 พฤษภาคม 2564 เพื่อประกอบอาหารปรุงสุกใหม่สำหรับนำไปมอบให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

โดยในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) เวลา 10.00 น. พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด “ครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย” มอบอาหารพระราชทาน จำนวน 3,500 ชุด ให้แก่นายอำเภอและผู้แทนชุมชน แบ่งเป็นอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 1,500 ชุด และอำเภอคูเมือง 2,000 ชุด ณ โดมสวนรมย์บุรี 200 ปี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ และผู้พิการ ในพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เพื่อมอบอาหารพระราชทาน น้ำดื่ม และชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19 ยังความปลาบปลื้มแก่ประชาชนที่ได้รับอาหารพระราชทานและต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

อาหารปรุงสุกใหม่จากครัวพระราชทาน อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย จะแจกจ่ายไปยังประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการครัวที่เน้นความสะอาด ถูกสุขลักษณะ ประกอบอาหารปรุงสดใหม่ สะอาด โดยเน้นให้ผู้ประกอบอาหารแต่งกายตามมาตรฐาน คือ สวมหมวกคลุมผม สวมผ้ากันเปื้อน สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารพระราชทานที่มีการจัดระเบียบการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงิน 99 บาท ในโครงการ “พลังใจ 99 บาท ก้าวผ่านวิกฤต COVID-19” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักกันตน ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และไร้ที่พึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สถานีกาชาด เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ด้วยการสแกน QR CODE ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารในระบบ E-DONATION หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักสีลม ชื่อบัญชี "สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 001-1-34567-0 หรือธนาคารกรุงไทย สาขาสุรวงศ์ ชื่อบัญชี "สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 023-6-06799-0 สอบถามเพิ่มเติมโทร.1664

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำพิธีไหว้ผีปู่ตา จุดบั้งไฟไล่โรคร้ายโควิด

ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกันประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ขอให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้าย โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ให้สูญหายไปจากโลกนี้

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณดอนปู่ตาบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 และนายบรรเจิด สุธรรมมา พ่อขะจ้ำ หรือปราชญ์ชาวบ้าน นำชาวบ้านประกอบพิธีกราบไหว้เลี้ยงผีปู่ตา และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษตามประเพณีวิถีชีวิตของคนอีสาน เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนถึงฤดูทำนา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ชาวบ้านรอดพ้นจากวิกฤติโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคโควิด-19  โดยทุกคนที่เข้าร่วมพิธีต้องสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ อสม. ได้ตั้งจุดคัดกรอง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า การประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ และบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รุกขเทวา ที่สถิตอยู่ ณ บริเวณดอนปู่ตาก็เพื่อขอให้ปกปักรักษาสรรพชีวิต และพืชพันธุ์ธัญญาหาร ให้อุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ถือเป็นการสืบสานประเพณีวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่มีการสืบทอดให้อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านตูม ก็ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะนำใบมะพร้าวมาทำเป็นสัญลักษณ์ แทนทรัพย์สินสิ่งของ เช่น บ้านเลขที่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน โดยเขียนเลขที่บ้าน ทะเบียนรถ เลขที่โฉนด นส 3 ก. มาสักการบูชาที่ศาลปู่ตา จากนั้นวางไว้ในบริเวณพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อให้ผีปู่ตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา

ด้านนายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 กล่าวว่า พิธีเลี้ยงผีปู่ตา หรือปู่หอเหนือ บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านตูมร่วมกันจัดขึ้นดังกล่าว ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีก่อนแยกย้ายกันลงมือทำนา ทั้งนี้หลังจากร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวง ด้วยไก่ต้ม เหล้าขาว และเครื่องบวงสรวงต่างๆแล้ว ชาวบ้านก็จะร่วมกันแห่บั้งไฟไปรอบๆศาลปู่ตา 3 รอบ จากนั้นทำการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายฟ้าฝน

นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) กล่าวอีกว่า เนื่องจากในช่วงนี้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอำเภอยางตลาดมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน จ.กาฬสินธุ์มาถึง 34 ราย จากจำนวนสะสมทั้งจังหวัด 94 ราย ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะหายดีแล้ว แต่โรคนี้ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ในหลายภูมิภาค และอาจจะแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นในการประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ตาในครั้งนี้ นอกจากชาวบ้านได้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายแล้วยังจุดบั้งไฟขับไล่โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทำให้มีผู้ได้รับเชื้อเจ็บป่วย  และเสียชีวิตให้หนีหายไป

อย่างไรก็ตามสำหรับจากการจุดบั้งไฟขับไล่โควิด-19 และเสี่ยงทายฟ้าฝนครั้งนี้ พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้านทำนายจากการที่บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นไปบนท้องฟ้าว่า ฝนฟ้าจะดี มีตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ และอาจจะเกิดภาวะอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งชาวบ้านจะได้อธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งขับไล่โรคติดเชื้อโควิด-19 สูญหายไปจากสังคมไทยอีกด้วย

(สัมภาษณ์ นายสเตรสฉัน (สะ-เตรด-ฉัน) ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่19)

นครพนม - นรข.นครพนม บูรณาการหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ยึดกัญชา 188 กก. วางทิ้งริมฝั่งแม่น้ำโขง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่สโมสรทหารสัญญาบัตร หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง นครพนม น.อ.ฤทธิ์ นาทวงษ์ ผบ.นรข.เขตนครพนม พร้อมด้วย พ.อ.วิทธิพงศ์ อรรคคำ รอง ผบ.บก.ควบคุมที่ 1 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี พ.ต.อ.จตุรงค์ มหิทธิโชติ ผกก.สส.ภ.จว.นครพนม พ.ต.ท.อัศรายุทธ ทองลอง สว.ส.รน.กก.10 บก.รน. ตำรวจน้ำนครพนม นายประพันธ์ศักดิ์ บุตรรัตต์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารปกครอง และนายจักรพงศ์ เที่ยงภักดิ์ ปลัดอำเภองานป้องกัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดกัญชาจำนวน 188 แท่ง/กิโลกรัม ภายหลังชาวบ้านแจ้งว่าจะมีขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่

จากเมื่อวันที่ 10  พฤษภาคม 2564 นรข.เขตนครพนม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าจะมีการลักลอบลำเลียงและซุกซ่อนยาเสพติดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านตอนท้ายเมืองลงไปในตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จึงได้มีการรายงานผู้บังคับบัญชาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผน โดย น.ท.วรภัทร แสงสุวรรณ หัวหน้า สน.เรือเขตนครพนม ได้นำกำลังพลร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองนครพนมลาดตระเวนและซุ่มตรวจการณ์ ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งใช้อยู่ 2 วัน กระทั่งเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 5.45 น. ในขณะที่ชุดลาดตระเวนทางบกเดินลาดตระเวนริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ได้ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกระสอบสีดำ จำนวน 4 กระสอบวางอยู่ใกล้กับสวนสมุนไพรบ้านท่าค้อ จึงได้มีการส่งสัญญาณและวางกำลังซุ่มอยู่บริเวณดังกล่าวจนเวลาผ่านไป 4 ชั่วโมงก็ไม่มีผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ที่มีวัตถุต้องสงสัยวางเจ้าหน้าที่จึงได้ตัดสินใจเข้าทำการตรวจสอบ

ขณะเดียวกันชุดลาดตระเวนทางน้ำก็ได้ตรวจพบกระสอบสีดำลอยอยู่ในน้ำในบริเวณใกล้เคียงกันอีก 1 กระสอบ เจ้าหน้าที่จึงได้นำของกลางทั้งหมดมารวมกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าวัตถุภายในกระสอบเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 (กัญชา) จำนวน 188  แท่ง/กิโลกรัม จึงได้ร่วมกันทำบันทึกตรวจยึดไว้เป็นหลักฐานพร้อมนำของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม เพื่อติดตามสืบสวนสอบสวนหาขบวนการผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผสข.นครพนม

กาฬสินธุ์ – สยบดราม่า “จนทิพย์” น้องโวลต์ เด็กเก่งสอบติดแพทย์ ชี้แจงว่าจนจริง สิ่งของที่มีมาจากการทำงานเก็บเงินซื้อ

เปิดใจ “น้องโวลต์” นักเรียนเก่งสอบติดแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังเจอกระแสดราม่า “จนทิพย์” ระบุสิ่งของเครื่องใช้ที่เห็นทุกอย่างได้มาจากการทำงานตั้งแต่เรียนม.3เก็บเงินซื้อ เพื่อใช้ในการศึกษา พร้อมชี้แจงและขอบคุณผู้ใจบุญ ขณะที่นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พ่อปลูกผักขายจนจริง พร้อมตั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษาดูแลบัญชีเบิกจ่ายค่าเล่าเรียน 

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวและโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวของนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี นักเรียนโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่สอบติดแพทย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ฐานะทางบ้านยากจน พ่อปลูกพืชผักขาย โดยมีการเปิดรับบริจาค กระทั่งนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบมีผู้ใจบุญบริจาครวมจำนวนเงินกว่า 2,700,000 บาท และได้ปิดรับบริจาคไปแล้ว เนื่องจากเพียงพอสำหรับการเรียนแพทย์แล้วนั้น

ทั้งนี้ต่อมาเรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากในโลกออน์ไลน์มีการจับโป๊ะภาพจากคลิปวีดีโอต่าง ๆ ของน้องโวลต์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีชาวเน็ตจับผิดเห็นไอแพดโปร ซึ่งมีราคากว่า 25,000 บาท นอกจากนี้ยังมีแอปเปิ้ล เพนซิล ขวดน้ำหอมดิออร์ยี่ห้อหรู รถยนต์ อินเตอร์เน็ตไวไฟ การจัดฟัน มีการตั้งข้อสงสัยว่าจนจริงหรือไม่ กระทั่งมีข้อความ “จนทิพย์” เป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ มีการพูดคุยกันมากว่า 2 แสนครั้ง รวมทั้งโลกออนไลน์มีการพูดคุยกันจำนวนมาก

ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและให้เข้าเยี่ยมครอบครัวนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี ที่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 9 บ้านหามแห ต.โพนทอง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์อีกครั้ง หลังมีกระแสดราม่า โดยพบครอบครัวน้องโวลต์อาศัยอยู่บ้านพัก ลักษณะเพิงหมาแหงนมุงสังกะสี ปลูกสร้างอยู่กลางสวนท้ายหมู่บ้านเหมือนเดิม โดยน้องโวลต์ พร้อมด้วยนายธนวุฒิ เหล่าบุบผา อายุ 53 ปี พ่อน้องโวลต์ และครอบครัว รอให้ข้อมูล

นางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ อายุ 18 ปี กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณผู้ใจบุญที่ช่วยกันบริจาคเงินให้กับตนทุกท่าน ไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ใจบุญบริจาคเงินจำนวนมากขนาดนี้ ซึ่งยืนยันว่าตนจะนำไปเป็นทุนการศึกษาในการเรียนแพทย์ เพราะอยากเป็นหมอมารักษาคน และจะทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

นางสาวณัฐวดี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีกระแสดราม่าจนทิพย์ บอกว่าครอบครัวของตนไม่จนจริงนั้น ที่จริงแล้วไม่อยากพูด แต่เมื่อมีกระแสมีก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการจัดฟัน ตนทำงานพาดไทม์หลังเลิกเรียนหารายได้พิเศษมาตั้งแต่ ม.3 ซึ่งตอนนั้นฟันมีปัญหาได้ไปพบแพทย์แนะนำให้จัดฟันและรักษาไปด้วยเริ่มทำตอนม.4 ตอนนั้นพอมีเงินเก็บจากการทำงานจึงตัดสินใจรักษา เรื่องที่ 2 ไอแพด ตนทำงานเก็บพาดไทม์เช่นกัน พยายามเก็บหอมรอมริบประมาณ 1 ปีเศษ จึงซื้อมาใช้เพื่อค้นคว้าข้อมูลในการเรียน ส่วนอินเตอร์เน็ตไวไฟก็เป็นของพี่ชายที่ติดตั้งไว้ทำงานมีค่ารายเดือน 600 บาท พี่ชายเป็นคนชำระ

 นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีน้ำหอมนั้นตนซื้อมาในอินเตอร์เน็ตมือสอง ราคา 300 บาท มีน้ำหอมเหลือก้นขวด เอามาตั้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ใช้ ส่วนรถยนต์นั้นไม่ใช้ของครอบตน เป็นรถยนต์ของน้า ซื้อให้ลูกสะใภ้ใช้ ซึ่งหลังเกิดกระแสครั้งนี้ตนก็รู้สึกเสียใจ เพาะสิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นความจริง ครอบครัวยากจนจริง ๆ ตนต้องทำงานหาเงินเรียนมาตั้งแต่ ม.3 ไม่อยากขอเงินพ่อ แม่อย่างเดียว และอยากให้ครอบครัวดีขึ้น กระทั่งมีความสนใจอยากเรียนแพทย์และอยากเป็นหมอ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนก็ได้ปิดบัญชีแล้ว และยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

ด้านนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากการตรวจสอบล่าสุดสอบครอบครัวนี้ค่อนข้างยากจน พ่อปลูกผักขาย ส่วนแม่ไม่มีอาชีพ ขณะที่น้องโวลต์นั้นก็เป็นเด็กเรียนเก่งขยัน อย่างไรก็ตามล่าสุดพบว่ามีผู้บริจาคเข้ามา รวมจำนวน 3,795,000 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ปิดรับจาคและปิดบัญชีแล้ว โดยเบื้องต้นได้ให้น้องไปทำแผนค่าใช้จ่ายเรียนแพทย์ 6 ปีมาว่า มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และจะตั้งเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาในการเบิกไปใช้จ่าย ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้แยกบัญชีออกมาเป็นทุนไว้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางต่อไป เพื่อให้เงินบริจาคเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ใจบุญและความตั้งใจของน้องโวลต์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top