Tuesday, 21 May 2024
Isan

ขอนแก่น - พร้อมใจส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกโอลิมปิก ด้วยการร่วมวิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ เส้นทางขอนแก่น-นครราชสีมา

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 13 พ.ค. 64 ที่ สนามกีฬาจังหวัดขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น  นำประชาชนชาวขอนแก่น   ร่วมกิจกรรมวิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ  ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ได้กำหนดจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 28 .ค. - 27 พ.ค.  ซึ่งเป็นการวิ่งระยะไกล ผ่าน 35 จังหวัด 61 วัน ทั่วทุกภูมิภาค รวมระยะทาง 4,606 กิโลเมตร โดยมีประชาชนชาวขอนแก่นให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ท่ามกลางมาตรการควบคุมและป้องกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

โดยที่ ผวจ.ขอนแก่น ได้เชิญธงชาติไทย จากแท่นพำนักจุดปล่อยด้านหน้าสนามกีฬากลาง จ.ขอนแก่น และนำวิ่งธงชาติไทย จากจุดปล่อยตัวประจำวัน ไปตาม ถ.เหล่านาดี เพื่อส่งต่อให้กับคณะนักวิ่งที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยศิลปิน  ดารา นักแสดง  คณะผู้บริหาร จากหน่วยงานราชการ และเอกชนรวมไปถึงประชาชนผู้ที่สนใจ ได้มีส่วนร่วมในการวิ่งส่งต่อธงชาติไทย คนละ 1 กิโลเมตร

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรม "FLAG OF NATION" วิ่งธงชาติไทย รวมใจสู่ชัยชนะ ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา คณะนักวิ่งได้วิ่งเข้าเขต จ.ขอนแก่น ผ่านทาง จ.เพชรบูรณ์และในวันนี้ขอนแก่นเป็นจุดปล่อยตัวเพื่อส่งต่อให้กับ จ.นครราชสีมา ตามแผนงานที่คณะทำงานได้กำหนดไว้ เพื่อส่งต่อกำลังใจไปถึงนักกีฬาทีมชาติไทย ที่จะเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2020 ผ่านการวิ่งคนละ 1 กิโลเมตร ต่อเนื่อง 61 วัน 35 จังหวัด ระยะทาง 4,606 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าระยะทางกรุงเทพฯ ไปยังกรุงโตเกียว

" กิจกรรมดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่ วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ จ.ขอนแก่น ซึ่งชาวขอนแก่นทุกคนพร้อมใจที่จะส่งกำลังใจให้กับทัพนักกีฬาไทยผ่านการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดูได้จากจำนวนนักวิ่งที่สมัครร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม รวมไปถึงการรอให้การต้อนรับในจุดแวะพักต่างๆ ที่ทุกคนต่างร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้ทัพนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Road To Tokyo 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังจะมาถึง"

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า การวิ่งครั้งนี้ขอนแก่น จัดอยู่ในลำดับที่ 27 จากจำนวนทั้งสิ้น 35 จังหวัด โดยขบวนธงชาติไทย ที่ออกวิ่งวันนี้นับเป็นกิโลเมตรที่ 1 ของจังหวัด นับรวมการจัดกิจกรรมเมือเข้าเขตตัวเมืองขอนแก่นอยู่ที่  3,544 กม. ของการจัดกิจกรรม  โดยในการวิ่งนั้นจะใช้เส้นทางขอนแก่น-บ้านแฮด-บ้านไผ่ สิ้นสุดที่ อ.พล จากนั้นจะส่งต่อให้กับ จ.นครราขสีมา ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

 

กาฬสินธุ์ – ชาวบ้านก่อเจดีย์ทราย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรพ้นวิกฤตโควิด-19

เจ้าคณะตำบลบัวบาน ร่วมกับคณะสงฆ์ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านตูม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สืบสานประเพณีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน โดยเซิ้งบั้งไฟเล็กขอฝนจากพญาแถน ผ่านพ้นวิกฤติแล้ง บันดาลฝนตกตามฤดูกาล พร้อมน้อมจิตอธิษฐานขอพรรอดพ้นวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววัน

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่โบราณสถานโนนบ้านเก่า บ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พระครูโพธิชยานุโยค เจ้าคณะตำบลบัวบาน นางละมุล ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 และนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อขะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ประกอบพิธีก่อเจดีย์ทราย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปู่หอใต้หอเหนือ โดยทำบุญเลี้ยงพระ เซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย ขอฝนจากพญาแถน  ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ก่อนถึงฤดูทำนา พร้อมขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวกาฬสินธุ์และชาวไทยทั่วประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยเร็ว

นางละมุล  ภักดีนอก ผญบ.บ้านตูม หมู่ 4 กล่าวว่า ในช่วงก่อนฤดูทำนาทุกปี หลังจากวันพืชมงคล ชาวบ้านตูมจะร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงปู่หอใต้หอเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ที่สถิตอยู่ ณ ดอนตาปู่และโบราณสถานโนนบ้านเก่า โดยมีการก่อเจดีย์ทราย โรยแป้ง ประดับด้วยริ้วธงหลากสี ทั้งนี้ เพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้ อธิษฐานขอพร พร้อมทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ให้ลูกหลานร่วมสืบสาน

ด้านนายบรรเจิด สุธรรมา พ่อจะจ้ำหรือปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า พิธีบวงสรวงปู่หอใต้หอเหนือ และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ โดยก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ตลอดจนพระภูมิเจ้าที่ ตามความเชื่อของชาวบ้าน เป็นวิถีชุมชนที่ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี โดยมีความเชื่อว่าการก่อเจดีย์ทราย เป็นการเริ่มต้นการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่เจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จตลอดไป ซึ่งเป็นความเชื่อที่ปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล นอกจากนี้ยังมีการเซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟ เพื่อเสี่ยงทายและขอฝนจากพญาแถน ทั้งนี้เพื่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากอาชีพหลักขางชาวบ้านคือการทำนาและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

อย่างไรก็ตาม ในขณะประกอบพิธีก่อเจดีย์ทรายและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธ์ดังกล่าว ชาวบ้านยังได้น้อมจิตอธิษฐาน ขอพรปู่หอใต้หอเหนือและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องคุ้มครองภัย ทั้งผู้คนและพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดู ผลผลิตข้าวได้มาก ราคาสูง อาชีพเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จ และภาวนาให้ชาวกาฬสินธุ์ และชาวไทยทั่วประเทศรอดพ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในเร็ววันอีกด้วย

ร้อยเอ็ด - ชป.6 ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เป็นวัลนะ 3 ล้าน ลบ.ม. และอีกใน 5 เขื่อนหลักภาคอีสานเติมน้ำลงแม่น้ำชี ช่วยเจือจางความเค็มการประปาเมืองร้อยเอ็ด คาด 2 วันเอาอยู่

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ค.2564 นายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 หรือ ชป.6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับรายงานว่าประชาชนเมืองร้อยเอ็ดได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำประปามีรสเค็มเป็นผลมาจากคลอไรด์ในน้ำสูง   ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้ประสานขอให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำชีเพื่อเจือจางค่าคอลไรด์ในแม่น้ำชีบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด ชป.6  จึงได้ประสานเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 1.1 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปลงแม่น้ำชีที่หน้าเขื่อนมหาสารคาม

" ขณะเดียวกันยังคงมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนลำปาวจังหวัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นวันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนในแม่น้ำชีตั้งแต่เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.86 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนร้อยเอ็ดระบายน้ำวันละ 4.21 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระดับน้ำเก็บกักของเขื่อนร้อยเอ็ด  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบสูบจ่ายน้ำดิบ"

นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจวัดค่าความเค็มบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด จุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคาขาร้อยเอ็ด เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.   ) พบค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่น้ำประปาในส่วนบ้านเรือนของประชาชนจะยังมีรสกร่อยเนื่องจากยังมีน้ำที่มีค่าความเค็มค้างในระบบเส้นท่อของการประปาต้องใช้เวลาในการผันน้ำออกจากเส้นท่อคาดว่าน้ำประปาจะกลับเข้าสู่สถานปกติภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตาม ชป.6 ได้ประสานงานร่วมกับการประปาส่วนภูมิสาขาร้อยเอ็ด เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำชีบริเวณจุดสูบน้ำดิบของการประปาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิด อีกด้วย

ขอนแก่น - กฟผ.และบริษัทในกลุ่มกฟผ. มอบเงินสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นางจิรประภา ศิริสูงเนิน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 
เป็นประธานรับมอบเงินจำนวน 1,900,000 บาท จากนายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายไวฑูรย์ เกียรติเฉลิมคุณ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง และนายสหชาติ พิลาออน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. เพื่อสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 5 โรงพยาบาล ได้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จำนวน 500,000 บาท โรงพยาบาลขอนแก่นจำนวน 500,000 บาท โรงพยาบาลชุมแพจำนวน 300,000 บาท โรงพยาบาลน้ำพองจำนวน 300,000 บาท และโรงพยาบาลสมเด็จพระเด็จพยุพราชกระนวนจำนวน 300,000 บาท 


นอกจากนี้ยังได้มอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่กดเจลแอลกอฮอล์แบบเท้าเหยียบพร้อมเจลแอลกอฮอล์ขนาด 450 มล.10 ชุด หน้ากากอนามัย 1,000 ชิ้น หมวกคลุมผม 1,000 ชิ้น ถุงมือยาง 1,000 ชิ้น ชุดกาวน์กันน้ำ 100 ชุด น้ำดื่ม 100 โหล ให้สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และน้ำดื่ม 100 โหลให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้ในการออกปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและเฝ้าระวัง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่นี้ กฟผ.และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้แก่ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ระดมเงินงบประมาณจำนวน 81 ล้านบาท เพื่อร่วมบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 149 โรงพยาบาล นำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของบุคลากรทางการแพทย์ และนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 กฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณรวม 400 ล้านบาทในการสนับสนุนการทำ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้กับโรงพยาบาล 300 โรงพยาบาล และชุมชนกว่า 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามแนวการดำเนินงานว่า กฟผ.เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต


 

ขอนแก่น - มข. คว้ารางวัล “เหรียญเงิน” ระดับนานาชาติ จาก “อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ณ สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์

“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” คว้ารางวัล “เหรียญเงิน” ระดับนานาชาติ จากผลงานประกวด 800 ชิ้น กว่า 40 ประเทศ ของการประกวดแข่งขัน Geneva Inventions ในงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์

โดย “อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” เป็นสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทีมวิจัยสหสาขาวิชาชีพจากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก เป็นหัวหน้าทีม โดยผลงานดังกล่าว มีจุดเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2561 ในรายวิชาโครงการวิจัยทางทันตกรรม ซึ่งรศ.พูนศักดิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย และนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ประกอบด้วย นทพ.วนิดา อัครโชติสกุล, นทพ.ชลนภา พัฒนภิรมย์ และนทพ.ธนาภรณ์ นีละกาญจน์ (ปัจจุบันทุกท่านสำเร็จการศึกษารับราชการเป็นทันตแพทย์แล้ว) สนใจออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมี รศ.ดร.สุรสิทธิ์ ปิยะศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา คณะแพทยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในลักษณะของทีมสหสาขาวิชาชีพ และต่อยอดด้วยการศึกษาเชิงคลินิกของ ทพญ.สุลาวัลย์ แววสง่า นักศึกษาหลังปริญญาหลักสูตรวุฒิบัตร สาขาทันตกรรมจัดฟัน โครงการวิจัยนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “Research Fantasia Season X” จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาผลงานนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการใช้งานในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ในโรงพยาบาลและสถานบริการทั่วประเทศ โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์นี้จาก สปสช.

ในปีพ.ศ. 2562 ผลงานนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม (National Innovation Awards for Social Contribution 2019) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปี พ.ศ.2563 ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ปี พ.ศ.2564 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดแข่งขัน ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ จนคว้ารางวัลระดับนานาชาติในครั้งนี้

รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การออกแบบอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ได้ทำการวิจัยร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเริ่มจากนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีได้ทำการศึกษาออกแบบพัฒนาเครื่องมือเป็นตัวต้นแบบ ตามมาด้วยการศึกษาวิจัยต่อยอดทางคลินิกโดยนักศึกษาหลังปริญญาในหลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาทันตกรรมจัดฟัน ได้ศึกษาผลของอุปกรณ์นี้ในเชิงคลินิก ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องติดตามผลการใช้งานในผู้ป่วยหลังใช้เครื่องมือนี้ในการผ่าตัดตกแต่งจมูกและริมฝีปาก โดยคณาจารย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย เดิมทีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ยังไม่มีการผลิตขึ้นมาในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,500 – 4,000 บาท ต่อชิ้น ซึ่งคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ 1 คนต้องใช้ประมาณ 3 ชิ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท เมื่ออุปกรณ์นี้สามารถผลิตได้สำเร็จจะทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและต้นทุนการผลิตถูกลง เฉลี่ยชิ้นละ 200-300 บาท ทำให้ค่าอุปกรณ์ในการรักษา ลดลงถึง 10 เท่า สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ผมขอขอบคุณ ผศ.ทพ. วัชรินทร์ หอวิจิตร ผศ.ดร.ทพ. เอกสิทธิ์ มโนสุดประสิทธิ์ อ.ดร.ทพญ. พุทธธิดา วังศรีมงคลและ คุณสุธีรา ประดับวงศ์ ที่มีส่วนช่วยเหลือในงานวิจัยและเตรียมการประกวดแข่งขัน ขอขอบพระคุณประธานมูลนิธิตะวันฉาย ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น รศ.(พิเศษ) ดร.ทพญ. สมใจ สาตราวาหะ และท่าน รศ.ดร.ทพญ. วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด”

“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (อย.) เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) จึงอนุมัติให้สถานพยาบาลทั่วทุกประเทศได้ใช้งาน และยังได้ส่งต่อไปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาอีกด้วย

กาฬสินธุ์ – คณะสงฆ์มอบสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของให้กับผู้ได้ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 
วันที่ 18 พ.ค.64 ที่วัดเวฬุวัน ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  พระครูสิทธิวราคม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) ตัวแทนคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และไข่ไก่สด ให้กับนายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์  เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวผู้ยากไร้ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งพื้นที่อ.สหัสขันธ์มี 1 หมู่บ้านที่ต้องกักตัวกว่า 29 ครัวเรือน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบครัว 5 ราย โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกิจกรรมตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ภายใต้การควบคุมตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 D-M-H-T-T-A  โดยจุดแรกที่นำไปมอบคือพื้นที่ ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์


พระครูสิทธิวราดม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) กล่าวว่า  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์  ในงบประมาณประจำปี 2564 ภายใต้โครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุฤดูร้อน สามเณร และบวชชีพราหมณ์ ภาคฤดูร้อน เป็นกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ทำร่วมกันโดยคณะสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ใน 8 ตำบล มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่สด นม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ  เป็นถุงพระทำจำนวน 100 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน  และเพื่อเป็นรักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดได้จำกัดจำนวนคนที่จะร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน มีจุดคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่าง และการบังคับสวมใส่แมสก์ 100% ภายในบริเวณวัด  ซึ่งประชาชนมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ มี 1หมู่บ้าน 29 ครัวเรือน ที่ยังต้องกักตัว แม้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 ราย จะรักษาหายและกลับมาอาศัยที่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนรอบข้าง จึงอยู่ในระหว่างการกักตัวต่ออีก 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่สีแดงเข้ม ที่จะต้องกักตัวอีกกว่า 60 ราย  นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ฐานะยากจน ที่จะต้องให้การดูแลในระยะนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์
 

ขอนแก่น - ผู้ว่าฯขอนแก่น สั่งเข้มทุกมาตรการป้องกันโควิด เรือนจำ-สถานพินิจ-ศูนย์ฝึกอบรมฯ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งจังหวัด ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงชัดเจน นักโทษแรกรับต้องกักกันตัวอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องฉีดวัคซีนให้ครบ ขณะที่ผู้คุมขังเริ่มทยอยรับ

 เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 พ.ค.2564 นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด มีพื้นที่ที่คุมขังผู้ต้องหาและสถานพินิจฯ รวมไปถึงศูนย์ฝึกอบรม ฯ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งหมด 5 แห่ง มีผู้ที่ถูกคุมขังกว่า 7,000 คน ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น,ผู้บัญชาการทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น,ผู้บัญชาการเรือนจำ อ.พล,ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองและเด็กและเยาวชนขอแก่นและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 ขอนแก่น ได้สรุปรายงานมาตรการคุมเข้มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อได้รับทราบแล้ว และที่สำคัญคณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามและเน้นย้ำในทุกมาตรการที่การ์ดห้ามตกแม้แต่วินาทีเดียวและให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ซึ่งพบว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานอยู่ภายใน 5 หน่วยงานได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 และมีการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันย่างเข้มงวด


 “ จากการระบาดของกลุ่มคัสเตอร์ที่คุมขังนักโทษในหลายจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงของการพักผ่อนยามค่ำคืนที่นอนชิดติดกันเนื่องจากสภาพพื้นที่ที่จำกัด ขณะที่พื้นที่ขอนแก่น มีผู้ที่ถูกคุมขังและถูกควบคุมตัวรวมกว่า 7,000 คน ดังนั้นมาตรการป้องกันและควบคุม ทุกแห่งมีการดำเนินการอย่างเข้มงวด มีการออกคำสั่งให้สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา,การเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอคอลหรือระบบไลน์ รถส่งสินค้าจากภายนอก จะต้องทำความสะอาดรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งเข้าและออกภายในเรือนจำทุกครั้ง โดยไม่อนุญาตให้คนขับจากภายนอกขับรถเข้าไปภายในเด็ดขาดเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าไปภายในเรือนจำ และที่สำคัญคือนักโทษแรกรับ จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด ตามระเบียบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดและมีการกักตัวจากเดิม 14 วันเป็น 21 วันตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด”


 ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า มาตรฐานด้านสุขอนามัยในพื้นที่คุมขัง และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆภายในเรือนจำและสถานที่ควบคุมทั้ง 5 แห่ง ได้เน้นย้ำในเรื่องของความสะอาดและการจัดจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือและจุดล้างมือ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่แผนเผชิญเหตุรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นคณะทำงานได้กำหนดแนวทางรับ-ส่งผู้ป่วยแบบเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลใกล้กับสถานที่ควบคุมเป็นจุดแรก รวมทั้งการจัดเตรียม รพ.สนาม แห่งที่ 2 พุทธมณฑลอีสานสำหรับการรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ยังคงไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำและสถานที่ควบคุมภายในจังหวัด แต่การป้องกันและควบคุมยังคงเป็นไปอย่างรัดกุมและมีการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำที่ขณะนี้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนไปแล้วบางส่วนอีกด้วย


 

กาฬสินธุ์ – ประกาศเขตโรคระบาดทั้งจังหวัด พบสัตว์ป่วยโรค ‘ลัมปีสกิน’ หลายอำเภอ

จังหวัดกาฬสินธุ์ประกาศเป็นพื้นที่เขตโรคระบาด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หลังพบโคและกระบือป่วยโรคลัมปีสกินหลายอำเภอ ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านทุ่งกระเดา หมู่ที่ 5 ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีโคและกระบือของเกษตรกรป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นกาแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน เบื้องต้นได้พบกับนางสมพร ปาวรี อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่1/1 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงโคและได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน


โดยนางสมพร กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาเริ่มมีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหมู่บ้านข้างเคียง และได้มีการระบาดมายังหมู่บ้านของตน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าโรคลัมปี สกิน จะติดต่อมายังวัวของตนเองได้เร็วขนาดนี้  โดยปกติแล้วตัวเองเลี้ยงวัวอยู่ 5 ตัว ปัจจุบันวัวติดโรคลัมปี สกินแล้ว 2 ตัว ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน และเป็นโรคลัมปี สกิน มาประมาณ 2-3วันแล้ว หลังจากที่รู้ว่าวัวทั้ง 2 แม่ลูกติดโรคระบาด ก็ได้ทำการแยกออกจากฝูงนำไปเลี้ยงไว้ที่อื่นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการติดไปยังวัวที่เหลือ


นางสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของโรคลัมปี สกินนั้น จะมีตุ่มขึ้นตามตัวของวัว แต่เบื้องต้นมีไม่มาก แต่มีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินหญ้า หรือแม้แต่น้ำก็ไม่กิน อีกทั้งยังมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวลว่าวัวที่ตัวเองเลี้ยงนั้นจะเสียชีวิตเหมือนกับวัวของคนอื่นที่เคยเป็นข่าว ทั้งนี้เบื้องต้นได้แจ้งไปยังปศุสัตว์อำเภอเขาวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล เพื่อทำการรักษาแล้ว แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แจ้งว่ายังไม่มีวัคซีนหรือยาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ได้แต่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยมาให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้พื้นที่อำเภอเขาวงได้มีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหลายตำบลแล้วเช่น ตำบลกุดปลาค้าว ตำบลคุ้มเก่า  ตำบลสระพัง หรือแม้กระทั่งในอำเภอติดกันอย่างอำเภอนาคู และอำเภอกุฉินารายณ์ก็มีสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยนำไปพิจารณาเป็นปัญหาเร่งด่วนด้วย


ขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เรื่องกำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วย จ.กาฬสินธุ์พบว่ามีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดในสัตว์(ชนิด) โคเนื้อป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด


ดังนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จึงออกประกาศไว้ดังนี้ 1.ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกินในสัตว์ชนิดโค กระบือ 2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว์แพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ


อย่างไรก็ตามล่าสุดทางนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ และอำเภอทั้ง 18 อำเภอ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรในการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว

ขอนแก่น – พล.ร.3 โดย ร.8 แสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทหารของหน่วย ที่สามารถผ่านการทดสอบ ผ่านเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) ได้สำเร็จ

ที่ค่ายสีหราชเดโชไชย ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ กรมยุทธศึกษาทหารบก (ยศ.ทบ.) ประกาศการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้าเป็น นักเรียนนายสิบทหารบก ประจำปีการศึกษา 2564 (นนส.ทบ.) ประจำปี 2564 นั้น มีกำลังพลของหน่วยกรมทหารราบที่ 8 ได้เข้ารับการทดสอบขั้นที่ 2 (ภาควิชาการ) จำนวน 4 นาย ที่สามารถผ่านการทดสอบผ่านเข้าศึกษา ณโรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฏ จ.ประจวบคีรีขันธ์  


ซึ่งก่อนเดินทางนั้นทางด้านกองพลทหารราบที่ 3 โดย กรมทหารราบที่ 8  พันเอก ณรงค์ วิชญาณวรวุฒิ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8(ผบ.ร.8) ได้แสดงความยินดีพร้อมทั้งได้มอบขวัญและกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทหารของหน่วย จำนวน 4 นาย ที่สามารถผ่านการทดสอบ ผ่านเข้าศึกษา ณโรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) และกล่าวให้โอวาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล โดยได้เน้นย้ำการใช้ความรู้ความสามารถที่หน่วย ไปปรับใช้ในชีวิตการเป็นนักเรียนให้เกิดประโยชน์ การปฏิบัติตัวในการเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก และตั้งใจศึกษาเรียนรู้ ให้มีมุ่งมั่นพยายามศึกษาหาความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับการศึกษานำมาต่อยอดความรู้สู่การเป็นกำลังพลหลักในการพัฒนาหน่วยทหารในกองทัพบก สร้างความภาคภูมิ ให้ตนเองและครอบครัว เป็นแบบอย่างความสำเร็จในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกและบรรจุ เป็นนายทหารประทวนสังกัดกองทัพบกของหน่วยต่าง ๆ รวมถึงการรับราชการทหารซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคง ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว ในอนาคตต่อไป


ภาพ/ข่าว  ขอบคุณภาพจาก ร.8 / ไทบ้าน  นิวส์ (พรพิพัฒน์  เพ็ชรสังหาร)
 

กาฬสินธุ์ – ส่งทีมนักรบชุดขาว เสริมทัพโรงพยาบาลบุษราคัมกรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ส่งทีมนักรบชุดขาวบุคลากรแพทย์ พยาบาล เข้าเสริมทัพสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้ว 68 ราย
เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณหน้าอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินหลังเก่า โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันส่งทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19


ทั้งนี้ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ได้เข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และร่วมมอบช่อดอกไม้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ นำโดยมีนายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นหัวหน้าทีม ในครั้งนี้


นายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ กล่าวว่า ทีมบุคลากรที่เดินทางไปสนับสนุนการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร ช่วยภัยโควิด-19 ครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 คน โดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทุกคนต่างเต็มใจและพร้อมที่จะเดินทางไปสนับสนุน การทำงาน เพื่อร่วมคลี่คลายสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว โดยยืนยันว่าจะนำความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาและประสบการณ์ที่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ไปร่วมกับทุกหน่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร อย่างเต็มความสามารถต่อไป


ด้านนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า บุคลากรของโรงพยาบาล รวมทั้งชาวกาฬสินธุ์จะเป็นกำลังใจ และขอให้ทุกคนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้มีกำลังใจ ซึ่งการที่เราเข้ามาอยู่ในหน่วยงานสาธารณสุข เราจะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ขอให้กำลังใจผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนทั่วประเทศ เราจะสู้ไปพร้อมกันและเราจะชนะไปพร้อมกัน ทีมกาฬสินธุ์ทุกคนมีขวัญกำลังใจ และมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มที่


ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  โดยผู้ป่วยเดิม 99 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยวันนี้ 2 ราย หายป่วยสะสม 68 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 31 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย โดยทางจังหวัดยังคงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้กักตัวในที่พำนัก 14 วัน หรือตามระยะเวลาพำนักที่น้อยกว่า และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ผอ.รพ.สต./กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) หรือ อสม.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top