Tuesday, 21 May 2024
Isan

นครพนม - ผบ.ร.3 พัน.3 ส่งมอบน้ำใจเพื่อเป็นกำลังใจให้นักรบชุดขาว – อัศวินเสื้อกาวน์ เป็นชุดป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับ สสอ.เมือง และโรงพยาบาลจังหวัดนครพนมฟรี !!

ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวิกฤตไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย สะท้อนถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยต้องรับมือกับภาระที่ยิ่งใหญ่กับสถานการณ์ระบาดเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องสูญเสียไปมากกว่านี้ โดยต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจตรวจรักษา เฝ้าระวัง ตลอดจนควบคุมการระบาดของโรคให้ส่งผลกระทบกับคนไทยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความเสียสละ ความอดทนของคุณหมอ พยาบาล 


ในวันนี้นั้น เพื่อเป็นการทำงานอย่างอุทิศตนอย่างหนักของแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่เราได้เห็นได้รับรู้ทุกวัน เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาพี่น้องประชาชนชาวไทยให้ดีที่สุด ทางด้านกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 นำทีมโดย พันโท ศรณณัฐ  นวลมณี  ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 (ผบ.ร.3 พัน.3) ได้นำนายทหารฝ่ายอำนวยการ เข้ามอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจคัดกรองหาเชื้อ Covid-19 อาทิ ชุด PPE  หน้ากาก N95 ถุงมือยางทางการแพทย์  Face shield  เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มอบให้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม  (สสอ.เมือง จ.นครพนม) และโรงพยาบาลนครพนม  พร้อมทั้งมอบอาหารปรุงสุกและ เครื่องดื่ม ให้บุคลากรทางการแพทย์  ผู้ซึ่งเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤต Covid-19 อย่างปลอดภัย 
การกระทำครั้งนี้เพื่อส่งมอบน้ำใจเพื่อเป็นกำลังใจให้บุคคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่อุตส่าห์ทำงานหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงในอนาคต ให้ฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 3 พร้อมยืนเคียงข้างในทุกโอกาส


ภาพ/ข่าว  ขอบพระคุณภาพจาก ร.3 พัน.3 / ไทบ้าน  นิวส์ (พรพิพัฒน์  เพ็ชรสังหาร)
 

ขอนแก่น - เราชนะรอบสอง คึกคักชาวขอนแก่น รูดปี๊ด...ช๊อปปิ้งข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น แน่นทุกร้าน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการใช้จ่ายตามโครงการเราชนะ รอบที่ 2 ภายหลังจากที่รัฐบาลได้โอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์วันแรกวันนี้พร้อมกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะที่ร้านเต็มสิบ ซึ่งตั้งอยู่ ถ.กสิกรทุ่งสร้าง ตรงข้าม มทบ.23 เขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง และเข้าร่วมโครงการเราชนะ ตามที่รัฐบาลกำหนด  พบว่ามีประชาชน พ่อค้า แม่ค้า เดินทางมาซื้อหาสินค้ากันอย่างคึกคัก

นางสุกานดา นาคะปักษิณ เจ้าของร้านเต็มสิบ กล่าวว่า วันแรกของการใช้จ่ายตามโครงการเราชนะวันแรกันนี้ในรอบที่ 2 นั้น พบว่าตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะและได้รับเงินโอนงวดแรก 1,000 บาท ทยอยกันเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง  แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากลูกค้าได้ห่างหายไปนานหลังจากที่เงินตามโครกาเราชนะหมดไปจากรอบแรก

"หลังจากการเงินเราชนะรอบแรกหมดลงประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมาลูกค้าลดลงอย่างชัดเจน แต่แล้ววันนี้หลังจากที่มีการโอนเงินเข้าลูกค้าที่เคยมาใช้บริการก็ได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งจากการที่สอบถามผู้ที่มาใช้สิทธิทุกคนรู้สึกดีใจ และยิ้มได้ จากการที่ได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลที่จะนำมาใช้จ่ายในการเลือกซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ในร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะสามารถช่วยลดค่าครองชีพจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้อย่างมาก"

นางสุกานดา กล่าวต่ออีกว่า จากการสังเกตุพบว่าส่วนมากคนมาซื้อของนั้นจะซื้อกลุ่มสินค้าบริโภค ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง อาหารแช่แข็ง ข้าวสาร ไข่ไก่ และน้ำมันพืช เป็นหลักเพื่อนำกลับไปปรุงอาหารในครอบครัว แต่ที่ขายดีเป็นพิเศาวันนี้คือกลุ่มอาหารสดแช่เย็นเพราะจะได้เก็บไว้อีกหลายวัน และที่สำคัญการที่รัฐบาลโอนเงินเข้ามาในช่วงวันนี้และเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมอย่างมาก เพราะเข้าสุ่ช่วงสิ้นเดือน ที่ทุกคนเงินเดือนเริ่มหมด จึงสามารถนำเงินที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลมาใช้จ่ายได้ในช่วงนี้

กาฬสินธุ์ - รณรงค์อสม.สร้างความเข้าใจชาวบ้าน เร่งฉีดวัคซีนบุคลากรด่านหน้า

“วันเพ็ญ เศรษฐรักษา” ที่ปรึกษารมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินสายนำ อสม.เคาะประตูบ้านรณรงค์ให้ความรู้และเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอยางตลาดเร่งฉีดวัคซีนบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่หอประชุมเทศบาลตำบลโคกศรี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประจักษ์ ภูแลขำ นายกเทศมนตรีตำบลโคกศรี นายสุวิทย์ ภูมิ่งศรี นายกเทศมนตรีตำบลอุ่มเม่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอยางตลาด ลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับอสม.และร่วมกันเดินเคาะประตูบ้านประชาชนใน ต.โคกศรี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป เพื่อรณรงค์เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พร้อมระดมแรงศรัทธาจากหลายภาคส่วนจัดผ้าป่ารับมอบประกันภัยโควิดให้กับอสม.ในพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

จากนั้นนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด นายประสิทธิชัย กัลยาสนธิ สาธารณสุขอำเภอยางตลาด เข้าเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ รพ.สต.เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 250 คน พร้อมมอบอาหาร และน้ำดื่มให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีน ที่หอประชุม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับ อสม.มาอย่างต่อเนื่องหลายตำบลใน อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย และอ.ร่องคำ พบว่า อสม.และประชาชนมีความเข้าใจในประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รับทราบถึงความปลอดภัย มีความตื่นตัวต้องการที่จะลงทะเบียนฉีดวัคซีนมากขึ้น หลายคนพร้อมที่จะฉีด เพื่อป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19ให้กับตนเอง ซึ่งตนเองพร้อมคณะ รวมทั้งอสม.จะยังคงลงพื้นที่เคาะประตูบ้านรณรงค์กับประชาชนให้ครบทุกตำบลและหมู่บ้านต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้านนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า และมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ อ.ยางตลาด จำนวน 250 คน โดยการฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อตัวเรา ชุมชนของเรา และประเทศไทยให้รอดพ้นจากสถานการณ์โควิด-19ในครั้งนี้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ (20 พ.ค. 64) ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย  รวมมีผู้ป่วยสะสม 102 ราย หายป่วยสะสม 68 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 33 ราย และเสียชีวิต 1 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – เยียวยาชาวบ้านประสบภัยพายุหัวเดียว ถล่มบ้านพังเสียหาย

ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชน ในเขตตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังได้รับความเสียหายถูกพายุพัดบ้านเรือนเสียหาย 60 หลังคาเรือน พร้อมนำถุงยังชีพ ไข่ไก่ ช่วยเหลือเบื้องต้น และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านเว่อ หมู่ 2 และบ้านร่มเย็น หมู่ 15 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือนชาวบ้าน หลังจากถูกพายุ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียวพัดพังเสียหายหลายสิบหลังคาเรือน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 นางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 นำสำรวจและให้ข้อมูล จากนั้นได้นำถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค ไข่ไก่ไปมอบให้กับครัวเรือนที่ประสบวาตภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบภัยและลดภาระค่าครองชีพช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19 ที่วัดโพธิ์ชัยบ้านเว่อ-บ้านร่มเย็น

นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านเว่อและบ้านร่มเย็นว่าเกิดเหตุวาตภัย พัดบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะที่ปรึกษารมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงในสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้อง ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้มาให้กำลังใจ พร้อมจัดหาถุงยังชีพ ประกอบด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และไข่ไก่ นำมามอบให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะลดรายจ่ายด้านค่าครองชีพ ในช่วงประสบสถานการณ์โควิด-19  ในส่วนการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ ก็จะได้ร่วมกับฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ท้องที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าให้ความช่วยเหลือในโอกาสต่อไป

ด้านนางพชรพรรณ วังกะฮาต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มเย็น หมู่ 15 กล่าวว่า เหตุวาตภัยพัดบ้านเรือนดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งพายุที่เกิดขึ้นนั้นมาในลักษณะของลมพายุหมุน ชาวบ้านเรียกว่าพายุหัวเดียว พัดพุ่งมาในแนวตรง ประมาณ 20 นาที มีฝนและลูกเห็บตกมาด้วย นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงที่สุดในชีวิตที่ประสบมา ซึ่งบ้านเรือนของตนที่เพิ่งสร้างเสร็จ ก็ได้รับความเสียหายด้วย โดยความรุนแรงของลมได้พัดเอาตัวบ้านจนสั่นสะเทือน หลังคาเปิด เสาบ้านหัก สังกะสีปลิวว่อนไปกลางกลางทุ่งนา ประเมินความเสียหายเบื้องต้น 1 แสนบาททีเดียว

ขณะที่นายทรงวุฒิ ภูฉายา ผู้ใหญ่บ้านเว่อ หมู่ 2 กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ร่วมกับผู้นำชุมชน สำรวจความเสียหาย และขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสำรวจนอกจากบ้านเรือนชาวบ้านจะได้รับความเสียหายจำนวน 60 หลังคาเรือนแล้ว ยังพบว่าหลังคาศาลาวัด หลังคาอาคารเรียน ยังได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งนี้ ได้รายงานความเสียหายไปยังเทศบาลตำบลบัวบาน และนายอำเภอยางตลาด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาในลำดับต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณนางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการมอบถุงยังชีพ ไข่ไก่ และให้กำลังใจชาวบ้านในครั้งนี้

สุรินทร์ - โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาดูแลสุขภาพ ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน

พร้อมเดินเคาะประตูบ้าน รณรงค์วัคซีนโควิด รับมือปูพรมฉีดประชาชน 1 มิถุนายนนี้ ในพื้นที่ชายแดน

วันที่  24 พฤษภาคม 2564 พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาดูแลสุขภาพ การแจกจ่ายยา การให้ความรู้การลงทะเบียนและขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด -19 และการคัดกรองสุขภาวะทางจิต ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานป้องกันชายแดนรักษาอธิปไตยของชาติ ณ กองพันทหารปืนใหญ่สนามที่ 62 ทหารปืนใหญ่กองกำลังสุรนารี จำนวน 300 นาย  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ

จากนั้นพันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ ได้เดินเท้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ รณรงค์ให้ข้อมูลการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเคาะประตูบ้าน ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน

โดยนำหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนแนวชายแดน ที่บ้านหนองแวง หมู่ที่ 15 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว การดูแลตนเองกับครอบครัวให้ปลอดภัย และ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้คนในชุมชนเข้าใจและคลายกังวลว่า การฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดไว้ 

นายอุดม จันทนันท์ ชาวบ้านหนองแวง กล่าวว่า หลังจากได้ฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่แล้วรู้สึกคลายกังวล และพร้อมที่จะลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิวัคซีนเพื่อร่วมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนในพื้นที่ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า   

กาฬสินธุ์ – น้องโวลต์มอบเงินบริจาค 1.2 ล้าน เข้ากองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์รับมอบเงินบริจาคจากน้องโวลต์จำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจนจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนมีความประพฤติดี เรียนเก่ง แต่ฐานะทางบ้านยากจน พร้อมกระจายทุนจำนวน 50,000 บาทต่อคนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด 18 อำเภอ

จากกรณีนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ฐานะทางบ้านยากจน จึงทำการเปิดรับบริจาค เพื่อเป็นทุนการศึกษาเรียน และมีผู้ใจบุญบริจาครวมเป็น 3.7 ล้านบาท และได้ปิดบัญชี แต่กลับมีกระแสข่าวดราม่าในสื่อออนไลน์และโลกโซเซียลว่า “จนทิพย์” ซึ่งน้องโวลต์ได้ชี้แจงว่าได้ทำงานเก็บเงินตั้งแต่ ม.3 ซื้อมาด้วยตัวเอง เพราะจำเป็นต้องใช้และสิ่งของบางอย่างไม่ได้มีราคาแพง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก็พบว่ายากจน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลเงินที่ได้รับการบริจาค และมติจัดสรรเป็นเงินในการศึกษาและน้องโวลต์ต้องการที่จะบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการศึกษาให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมโปงลาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ดร.เพิ่มพูล พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายเทอดเกียรติ ขันธ์พิมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือ น้องโวลต์ ประชุมร่วมกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน มีนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์กล่าวรายงานแจงรายละเอียดสรุปมติจากการประชุมของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเงินบริจาคจากผู้ใจบุญที่โอนผ่านบัญชีน้องโวลต์

โดยคณะกรรมการมีมติจัดสรรดังนี้ 1. เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน 6 ปี จำนวน 1.7 ล้านบาท 2. ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา จำนวน  8 แสนบาท ซึ่งเพียงพอแล้วกับการเรียน และ 3.มอบให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 1.2 ล้านบาท ตามความตั้งใจของน้องโวลต์

จากนั้นนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนรับมอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาทจากน้องโวลต์ พร้อมมอบนโยบายและกล่าวขอบคุณผู้ใจบุญที่บริจาคเงิน และขอบคุณในกุศลเจตนาที่ดีของน้องโวลต์ที่มีความประสงค์มอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุน เพื่อการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีนโยบายที่จะจัดต้องกองทุนเพื่อการศึกษามุ่งหวังให้กับนักเรียนที่เรียนดีประพฤติดีแต่ฐานะทางบ้านยากจนให้คลอบคุมทั้ง 18 อำเภอ จำนวนทุนละ 50,000 บาท ต่อคน ต่อปี ตามหลักสูตรที่ผู้ได้รับทุนเข้าเรียนโดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียน แต่ต้องมีความประพฤติที่ดี มีผลการศึกษาต่อเทอมที่ดี เพื่อพิจารณามอบทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต่อไปได้ให้แต่ละอำเภอจัดตั้งกองทุนเป็นการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยๆ 18 ทุน ตามความสามารถศักยภาพของแต่ละอำเภอ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทุนการศึกษานั้นต้องเป็นเด็กที่เรียนดี แต่ฐานะทางบ้านยากจนตามสาขานั้นๆตามหลักสูตรที่ได้เข้าเรียนส่งทุนการศึกษาให้ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร หลักสูตรละ 50,000 ต่อคน ต่อปี ในแต่ละอำเภอต่างๆสามรถระดมทุน ทำเป็นผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณีของโวลต์ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคเกินกว่าความต้องการนั้น น้องโวลต์ก็มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กระจายไปในแต่ละอำเภอ ขึ้นอยู่กับความพร้อมความสามารถของผู้ได้รับทุนจะเรียนสาขาวิชาใดๆก็แล้วแต่ โดยจะมีคณะกรรมการไปเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกมอบให้กับผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และจะเตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เรียนต่อในสาขาวิชาเฉพาะทางและให้แต่ละอำเภอเป็นผู้ติดตามผลของการศึกษาในรูปของคณะกรรมการต่อไป อย่างไรก็ตามขอขอบคุณคณะกรรมการที่กำกับดูแลในส่วนทุนการศึกษาของน้องโวลต์ทุกท่านที่ทำให้เกิดผลดีอันเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ต่อไป

ด้านนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณทุกท่านที่บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในคณะแพทย์ ตนจะใช้เงินที่บริจาคมาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และตามที่คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเห็นชอบและทุกการใช้จ่ายจะผ่านคณะกรรมการทั้งหมด และจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อมอบให้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งต่อไปยังน้องๆเพื่อนๆที่ประพฤติดีเรียนดี แต่มีฐานะยากจนที่ลำบากเหมือนกับตน ส่งต่อความสุขด้วยการมอบเงินเพื่อเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้จบตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่บริจาคเงินมาและกลับมาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป

ขอนแก่น - แม่ค้าอาหารทะเลขอนแก่นเผย 'เราชนะ'รอบใหม่ยอดขายลดลง คาดยอดเงินน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเลือกซื้อสินค้าอาหารทะเลสดภายในโซนอาหารทะเล ตลาดรถไฟ หน้าสถานีรถไฟ เขตเทศลบาลนครขอนแก่น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้โอนเงิน โครงการเราชนะ,บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ตามมาตร 33 ของผู้ประกันตนงวดแรกเสร็จสิ้นแล้วไปเมื่อวันที่ 20 และ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา รายละ 1,000 บาท โดยบรรยากาศโดยทั่วไปพบว่ามีประชาชนเข้ามาใช้จ่ายตามสิทธิ์ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง

นางชลธิชา นามมูลตรี เจ้าของร้านลูกยายหลวย ตลาดรถไฟขอนแก่น กล่าวว่า ปกติร้านเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.30 – 19.30 น. ซึ่งหลังจากที่ชาวขอนแก่นที่ได้รับสิทธิ์ได้รับการโอนเงินมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.พบว่ามีการมาจับจ่ายซื้ออาหารทะเลที่ร้านจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติ โดยส่วนใหญ่จะมาซื้อในช่วงเย็นหลังเลิกงาน แต่ก็พบว่ามีพฤติกรรมการซื้อที่ต่างจากโครงการเราชนะครั้งที่ผ่านมาที่รับเงิน 7,000 และ 4,000 บาท

"เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ซื้อจำนวนลดน้อยลง เพราะวงเงินที่ได้เพียงครั้งละ 1,000 บาท ทำให้การบริหารจัดการต้องเป็นไปอย่างรัดกุม และคาดว่าส่วยใหญ่น่าจะเก็บไว้ใช้ซื้อสิ่งของใช้จำเป็น อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี แม้ว่ารอบแรกจะมียอดซื้อผ่านโครงการเราชนะหลายหมื่นบาทต่อวัน แต่มาครั้งนี้มียอดผ่านเราชนะหลักพันต่อวันซึ่งก็ยังคงจัดว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยพ่อค้า-แม่ค้าและผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก"

ขอนแก่น - กกต.รับรอง “ธีระศักดิ์-พงศ์ธร-โกเมศ” นั่งนายกเล็กขอนแก่นแล้ว หลังมติรับรองเพิ่มเติมภายในระยะเวลา 60 วัน ตามกฎหมาย คาดสัปดาห์หน้าแถลงนโยบายต่อสภาพ และเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนทันที

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่  28 พ.ค.2564ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งถึง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดขอนแก่น เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมตามกรอบระยะเวลาการพิจาณาภายใน 60 วัน หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง เพื่อให้ กกต.ขอนแก่น ดำเนินการแจ้งทางจังหวัดและเทศบาลต่าง ๆ ได้รับทราบและดำเนินการตามระเบียบและข้อบังคับในด่านต่าง ๆ ต่อไปท่ามกลางความสนใจจากนักการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นอย่างมาก เนื่องจากการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมในรอบที่ 2 เป็นที่น่าจะตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่ต่างติดตามความคืบหน้าในการประกาศรับรองจาก กกต.มาอย่างต่อเนื่อง

โดยประกาศรับรองครั้งนี้มีการประกาศรับรอง นายกและสมาชิกสภาเทศบาลฯ ในส่วนที่เหลือ อาทิ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ เป็นนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น,นายพงศ์ธร  พิศาพิทักษ์กุล เป็นนายกเทศมนตรีตำบลพระลับ,นายโกเมศ  ฑีฆธนานนท์ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่า,นายชัชวาล ธีรภานุ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป็ด,นายบุญแสง พรนิคม เป็นนายกเทศมนตรีตำบลโนนสะอาด,นายพนม เย็นสบาย เป็นนายกเทศมนตรีตำบลม่วงหวาน,นายชัยดี  รัตนปรีดา เป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านฝาง,นายฉิน วรปัญญาสถิต เป็นนายกเทศมนตรีตำบลภูเวียง และ นายเสาวฤทธิ์ คามกะสก เป็นนายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ไชย

นายอภินันท์  จันทร์อุปละ ผอ.กกต.ขอนแก่น กล่าวว่า กกต.จะทำหนังสือแจ้งถึงจังหวัดและเทศบาลฯ ที่เกี่ยวข้องในการประกาศรับทราบถึงมติจาก กกต.กลาง ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเลา 60 วัน หลังเสร็จสิ้นวันเลือกตั้ง โดยที่เทศบาลฯแต่ละแห่งจะทำหนังสือถึงจังหวัดเพื่อจัดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธานสภาเทศบาลและตำแหน่งอื่น ๆ สำหรับเทศบาลฯที่มีการรับรองครั้งแรกและไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ส่วนเทศบาลฯที่มีการรับรองเพิ่มเติม โดยเฉพาะเทศบาลฯที่มีการรับรองนายกเทศมนตรีฯ สภาเทศบาลฯจะจัดกาประชุมเพื่อให้นายกเทศมนตรีได้แถลงนโยบายเพื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

อำนาจเจริญ - รมช.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจโรคลัมปี-สกิน ระบาดโค-กระบือระบาดในพื้นที่ อำนาจเจริญรับปากจะนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงานรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคลัมปี-สกินระบาดในโค-กระบือ ที่บ้านโคกพระ หมู่ 3 ต. นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ. อำนาจเจริญ และมอบเวชภัณท์และอุปกรณ์การป้องและปล่อยขบวนรถในการรณรงค์ ป้องกันโรคระบาด เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ และรับปากว่าจะนำความเดือดร้อนจากเกษตรกรเข้า ครม.เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายทวีภัทร เหล่าบรรเทา สหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ บอกว่าขณะนี้ได้เกิดโรคลัมปีสกินหรือโรคตุ่มระบาดในโค ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ มาตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม 2564 ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ ทางสหกร์จึงได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคระบาด โดยเชิญ รมช.เกษตรและสหกรณ์มาหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ต่อไป

นางมนัญญา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากการรายงานของ ผวจ.สหกรณ์จังหวัดและ ปศุสัตว์จังหวัด ทราบว่าโรคระบาดในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ  ระบาดในครั้งนี้ประมาณ 1,000 ตัว  ตายตามที่ได้รับรายงานจำนวน 38 ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ตนรับปากว่าจะนำปัญหาดังกล่าวไปเสนอ ครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


ภาพ/ข่าว รมช.เกษตรติดตามสถานการณ์โรคระบาดโค-กระบือ / นายคู่  บุญมาศ 

ขอนแก่น - เปิดตัวน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 จากผลงานของนักเรียนชั้น ม.1 ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ ได้ใช้งานจริงในราคาไม่แพง

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 31 พ.ค.2564 ที่โรงเรียนเมทนีดล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย  สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น นำคณะครูและนักเรียน ร่วมส่งมอบน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 ให้กับ พญ.ดวงพร  อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ประดิษฐ์และคิดค้นขึ้นสำหรับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มีการบรรจุรายวิชา เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคณะครูได้ให้โจทย์ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม.1 ในการคิดค้นและประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถใช้งานได้และสอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน นักเรียนจึงได้เสนอแผนงานในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นจึงได้ประสานงานร่วมกันกับหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการวางแผนประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม

“น้องใบหม่อน เป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่นักเรียนได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความสูง 165 ซม. และขนาดความกว้าง 40 ซม. โดยด้านบนส่วนหัวจะเป็นที่ตั้งของกล้องและระบบรับสัญญา บริเวณลำตัวจะติดตั้งหลอดรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติเศษในการฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมี 5-7 เมตร ขณะที่ช่วงล่างก่อนถึงฐานล้อ มีการติดตั้งกล่องใส่สิ่งของ ที่สามารถรับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 3 กม. ระบบพลังงานใช้แบตเตอรี่รองรับไฟบ้านทั่วไป โดยใช้เวลาชาร์จ 2 ชม. ต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 ชม. ระบบรับ-ส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟที่สามารถส่งสัญญาณได้ถึงกันระยะทางกว่า 300 เมตร ซึ่งเมื่อได้รูปแบบแล้วจึงวางแผนในการจัดหาอุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ อย่างครบถ้วนและเข้าสู่ขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามคำแนะนำของคณาจารย์ โดยนักเรียนได้ใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถทีจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีสำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ส่งมอบให้กับ รพ.ภูเวียง และวันนี้ตัวที่ 2 ได้ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ โดยได้มีการสาธิตและสอนการใช้งานกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนยินดีที่จะดูแลรักษาและซ่อมบำรุงให้กับหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวตลอดระยะเวลาของการใช้งานที่โรงพยาบาลอีกด้วย”

ด.ช.ณัฎฐ์  นาคบรรพต  จิตร์โต นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในวงการการแพทย์ ที่มีบางพื้นที่นำมาใช้ในการเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ราคาสูงถึงตัวละกว่า 5 ล้านบาท ทำให้เพื่อนๆร่วมชั้นเรียน ซึ่งขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ ความสามารถ นำเอาแนวความคิดมาประสานกับเทคนิคทางวิชาการวิทยาศาสตร์ จนกลายมาเป็นน้องใบหม่อน ในราคาต้นทุนตัวละ 30,000 บาทที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนใช้เวลาในการประดิษฐ์เพียง 2 วัน ซึ่งข้อดีของน้องใบหม่อนนี้นั้นสามารถหมุนได้ 360 องศา มีขนาดความกว้างที่พอดี ที่สามารถเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้แทบทั้งหมด รัศมีการฉายรังสี ยูวีซี ได้กว้างและไกลถึง 5-7 เมตร ซึ่งสามารถที่จะทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องพักผู้ป่วย หรือห้องปฎิบัติการได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังคงสามารถใช้ในการรับส่งของ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ด้วยการติดตั้งกล่องด้านล่างช่วงฐานล้อ และบริเวณตัวหุ่นยนต์มีการติดตั้งชั้นสำหรับการใส่สิ่งของ หรือยา หรือแฟ้มผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก โดย รพ.ชุมแพ ทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 23 ราย ซึ่งขณะนี้บางส่วนหายขาดจาดโรคและบางส่วนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานโดยเฉพาะกับการที่จะช่วยในเรื่องของการทำความสะอาดห้องผู้ป่วยหรือ ห้องปฎิบัติการต่าง ๆ ด้วยระบบรังสียูวีซี รวมทั้งการรับ-ส่งสิ่งของ เวชภัณฑ์ยา หรือการติดต่อกับผู้ป่วยกับทีมแพทย์ ที่จากนี้ไปจะสามารถดำเนินการได้อย่าง สะดวก คล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากผลงานของนักเรียนในครั้งนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top