Tuesday, 17 September 2024
GoodsVoice

กสิกรไทย โชว์เหนือ เพิ่มพลัง ‘ตู้อัตโนมัติ’ เปิดบัญชีเงินฝากเคแบงก์ด่วน ณ ‘ตู้บุญเติม’ คิกออฟ!! เดินเครื่องขยายจุดบริการยืนยันตัวตน 1,312 ตู้

ธนาคารกสิกรไทย เดินหน้าขยายจุดบริการยืนยันตัวตน (K CHECK ID) เข้าถึงชุมชนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ (K-eSavings) บนแอป K PLUS โดยสามารถยืนยันตัวตนได้ที่ตู้บุญเติมทั่วประเทศ จำนวน 1,312 ตู้ ที่อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ตลอด 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2,000 ตู้

.

นับเป็นครั้งแรกของบริการยืนยันตัวตนที่ตู้อัตโนมัติ จากเดิมที่เคยยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากได้ ณ จุดบริการยืนยันตัวตน K CHECK ID ที่แบงกิ้งเอเย่นต์ในร้านค้า และศูนย์บริการต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 18,000 จุดทั่วประเทศ ทั้ง 7-Eleven บิ๊กซี ศรีสวัสดิ์ ซีเจซูเปอร์มาร์เก็ต จิฟฟี่ ศูนย์บริการดีแทค ไปรษณีย์ไทย เคอร์รี่ และโกลบอลเฮ้าส์ ซึ่งการเพิ่มจุดบริการยืนยันตัวตนจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น

.

6 ขั้นตอนง่ายๆ ยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ K-eSavings ที่ตู้บุญเติม

1.)ลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีเงินฝาก ให้ดาวน์โหลดแอป K PLUS และทำรายการ “เปิดบัญชีเงินฝาก K-eSavings” บนแอป พร้อมกรอกข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ เลือกยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน

2.)นำบัตรประชาชนมายืนยันตัวตนที่ตู้บุญเติม ที่มีสัญลักษณ์ “ยืนยันตัวตนได้ที่ตู้นี่” เลือกเมนู “ยืนยันตัวตน”  แล้วเลือกเมนู “ยืนยันตัวตนธนาคารกสิกรไทย”

3.)เสียบบัตรประชาชนที่ตู้บุญเติม เพื่อตรวจสอบข้อมูลจากบัตรประชาชนแบบเรียลไทม์

4.)รับบัตรประชาชนคืน ระบบแจ้งตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว

5.)ลูกค้าเข้าแอป K PLUS ถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนและเปรียบเทียบใบหน้าของผู้ใช้บริการด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition

6.)กดตกลงเพื่อยืนยันข้อมูล และเงื่อนไขการเปิดบัญชีเงินฝาก เมื่อจบขั้นตอน สามารถเริ่มต้นทำธุรกรรมต่างๆ ได้ทันทีผ่านแอป K PLUS หรือฝากและโอนเงินได้ที่ตู้บุญเติม ใกล้บ้าน ตลอด 24 ชั่วโมง

.

สำหรับบริการKBank Serviceผ่านตู้บุญเติม สามารถยืนยันตัวตนเปิดบัญชีเงินฝากที่ตู้บุญเติมที่มีสัญลักษณ์ “ยืนยันตัวตนได้ที่ตู้นี่” โดยสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์บน K PLUS ไม่ต้องไปสาขาธนาคาร

  • ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนที่ตู้บุญเติม
  • ไม่มีกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีเงินฝาก K-eSavings
  • ฝาก/โอนเงินที่ตู้บุญเติม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ มีค่าธรรมเนียม 30-70 บาทต่อรายการ

.

สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ (K-eSavings) เป็นบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดบัญชี เปิดบัญชีออนไลน์ผ่านแอป K PLUS สะดวกไม่ต้องมาสาขาธนาคาร ยืนยันตัวได้จุดบริการ K CHECK ID สามารถเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป

สรุปยอดจองรถยนต์มอเตอร์เอ็กซ์โป 13 วัน 33,753 คัน ดันเงินหมุนเวียน 4.9 หมื่นลบ. กวาดคนเข้างาน 1,186,387 คน ค่ายสามห่วงยังยืนหนึ่งโกย 5,445 คัน

ยอดตัวเลข 13 วันของการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 37 ตั้งแต่วันที่1-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ในส่วนของรถยนต์มียอดจองรวมที่ 33,753 คัน โดยยอดจอง 5 อันดับแรก คือโตโยต้า 5,445 คัน ฮอนด้า 4,508 คัน มาสด้า 4,018 คัน อีซูซุ 3,076คัน นิสสัน 2,666 คัน

ขณะที่ยอดจองรถจักรยานยนต์รวมอยู่ที่ 4,946 คัน โดย ยามาฮ่าครองยอดแชมป์ยอดจองสูงที่สุด 1,033 คัน ฮอนด้า 911คัน จีพีเอ็กซ์ 702 คัน เวสป้า 458 คัน คาวาซากิ 383 คัน

ส่วนราคาเฉลี่ยของรถที่ขายได้ในงานปีนี้ คือ 1,424,811 บาท และราคาเฉลี่ยของรถจักรยานยนต์ 230,140 บาท โดยตลอดการจัดงานมีเงินหมุนเวียนภายในงานราว 4.9 หมื่นล้านบาท ผู้เข้าชมงานจำนวน 1,186,387 คน

ททท. เคาะ 9 เส้นทางคนโสดเที่ยวทั่วประเทศ นำร่อง 3 เส้นทาง ‘โสดสายมู - โสดสายแซ่บ - โสดสายชิลล์’ ดีเดย์ 15 ธันวาคม ปูพรม ‘จอง’ ทริปสลัดคาน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ร่วมกับบริษัท ไดรฟ์ดิจิทัล จำกัด และแอปพลิเคชัน Tinder ทำเส้นทางคนโสด ซิงเกิล เจอร์นี่ย์ #อย่าล้อเล่นกับความเหงา ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศสไตล์คนโสด คนเดียวก็เที่ยวได้ ด้วยความหลากหลายสไตล์การท่องเที่ยว โสดซีซั่นทั่วประเทศ 9 เส้นทาง คือ

.

1.) แม่ฮ่องสอน

2.) เชียงใหม่

3.) เชียงราย

4.) ลพบุรี-สระบุรี

5.) อุดรธานี-เลย ชุมพร-สุราษฎร์ธานี

6.) ภูเก็ต

7.) พัทยา

8.) พระนครศรีอยุธยา

9.) และกรุงเทพฯ

.

โดยนำร่อง 3 เส้นทาง คือ โสดสายมู ล่องเรือ ไหว้พระ หารัก, โสดสายแซ่บ ซีเคร็ด ไอแลนด์ เกาะลับไม่ห่างรัก และโสดสายชิลล์ รถไฟขบวนสุดท้าย ซึ่งเริ่มเปิดจองตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2563 นี้

.

สำหรับเส้นทางนำร่องแรก คือ โสดสายมู ล่องเรือ ไหว้พระ หารัก โดยททท. ร่วมกับบริษัท แกรนด์เพิร์ล จำกัด จัดทริปล่องเรือ ขอพร ไหว้พระ 9 วัด กับหมอช้าง “ทศพร ศรีตุลา” เล่าถึงเคล็ดลับการไหว้พระขอพร และดินเนอร์กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จำนวนจำกัด 100 คน ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถลุ้นเข้าร่วมทริปผ่านกิจกรรมของพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ได้แก่  แฟนเพจ Sneakout แอปพลิเคชัน Tinder

ส่วนเส้นทางที่ 2 โสดสายแซ่บ เกาะลับไม่ห่างรัก ร่วมกับ เลิฟ อันดามัน จัดปาร์ตี้ริมทะเล ชมคอนเสิร์ต ณ เกาะไข่ จังหวัดภูเก็ต ราคาพิเศษ 222 บาท สำหรับ 50 คนแรก ในวันที่ 9 ม.ค.64 และเส้นทางโสดสายชิลล์ รถไฟขบวนสุดท้าย ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปิดโบกี้รถไฟลอยน้ำ เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี (วันเดียวกลับ) ชมวิว ถ่ายรูป และรับประทานอาหารกลางเขื่อน ราคาพิเศษ 555 บาท สำหรับ 50 คนแรก ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2564

ทีเส็บ ดันโครงการ 'ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า'​ ปลุกตลาดไมซ์คึกคัก​ ฝ่าโควิด-19 คาดปีหน้าโตประมาณ 3.5% สร้างรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า การจัดโครงการ 'ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า' รณรงค์ให้องค์กรเอกชนเร่งจัดประชุมสัมมนาและให้รางวัลพนักงานเดินทางในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้นนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก 
.
ขณะนี้มีองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการตลอดระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 20 ตุลาคม 2563 จำนวน 1,049 กลุ่ม คิดเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น 62,555 คน กระจายการจัดงานไปยัง 50 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ก่อให้เกิดรายได้แก่ธุรกิจประมาณ 130 ล้านบาท
.
“โครงการฯ นี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่านการจัดประชุมสัมมนาและกิจกรรมไมซ์ในประเทศ ขณะที่ตลาดไมซ์ต่างประเทศยังไม่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมในไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 19 อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2564 นี้ ตลาดไมซ์จะเติบโตประมาณ 3.5% สร้างรายได้กว่า 30,000 ล้าน จากจำนวนนักเดินทางไมซ์ในประเทศประมาณ 10 ล้านคน” จิรุตถ์กล่าว

เริ่มแล้ว!! บีทีเอส เขียวเหนือวิ่งยาวยัน​ 'คูคต'​ สตาร์ทบ่ายโมง​ 16 ธันวาคม 2563 พร้อม​ 'จอดแล้วจร'​ 2​ จุด 'สถานีแยก คปอ.'​ และ 'สถานีคูคต' ฟรีจอด 1,755 คัน

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งว่า บริษัทจะปรับรูปแบบการเดินรถไฟฟ้า เพื่อรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายใหม่สายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต​ เพิ่มอีก 7 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 59 สถานีสายหยุด สถานีสะพานใหม่ สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

โดยบริษัทฯ จะจัดรูปแบบการเดินรถ และแบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วงหลักดังนี้

1.) ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น. และช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 – 20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ การให้บริการระหว่างสถานีหมอชิต (N8) ถึงสถานีสำโรง (E15) จะมีความถี่ระหว่างขบวน 2 นาที 40 วินาที

ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถสังเกตจากป้ายด้านหน้า และด้านข้างขบวนรถ เสียงประกาศบนชั้นชานชาลา ในขบวนรถ และจอประกาศบนสถานี

2.) ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. และเวลา 20.00 น. จนถึงเวลาปิดให้บริการ ในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ รถทุกขบวนจะวิ่งตั้งแต่สถานีเคหะฯ ถึงสถานีคูคต โดยจะมีความถี่ 6 นาที 30 วินาที

ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีลมนั้น รูปแบบและความถี่ในการเดินรถยังคงเหมือนเดิม โดยช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น จะมีความถี่ของการเดินรถ 3 นาที 45 วินาที

นอกจากนี้ยังมีการทดลองเปิดให้บริการฟรีอาคารจอดแล้วจร​ 'สถานีแยก คปอ.'​ และ 'สถานีคูคต'​ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ในวันและเวลาเดียวกันอีกด้วย​ โดยทั้ง 2 แห่ง สามารถจอดรถได้ จำนวน 1,755 คัน

ส่วนสาเหตุที่เปิดใช้ฟรี เนื่องจากทางกทม. ยังไม่เก็บค่าโดยสาร ทาง รฟม.จึงยังไม่เก็บค่าจอดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

รัฐมั่นใจ !! หนี้สาธารณะ 7.8ล้านล้านบาท เอาอยู่!! ชี้อยู่ในกรอบวินัยคลัง ไม่หลุด 60% ต่อ GDP

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือน ระหว่างเดือนเม.ย. - ก.ย.63 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้ โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.63 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับ 49.53% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 60%

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวน 7,848,155 ล้านบาท คิดเป็น 49.34% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 41.10% เนื่องจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างขีดความสามารถของประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับหนี้สาธารณะจำนวน 7,848,155 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รัฐบาลโดยตรงจำนวน 6,267,230.04 ล้านบาท คิดเป็น 79.86% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเงินกู้ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินโดยมีรัฐบาลค้ำประกัน

ขณะที่หนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง คือหนี้ที่หน่วยงานเป็นผู้รับภาระหรือมีแหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้มีจำนวน 1,580,925.84 ล้านบาท คิดเป็น 20.14% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด

โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับ 49.53% ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 60%

เตือนแล้วนะ!! '16-12-2020' ห้ามป่วย - ห้ามตาย - ห้ามพลาด!! 'คนละครึ่ง' เฟส 2 ล็อคเวลา 06.00 น. – 23.00 น. ครบ 5 ล้านสิทธิ์ ปิดเครื่องลูกเดียว

ถึงเวลาของคนที่ไม่ทันเฟสแรกกับโครงการคนละครึ่ง เพราะพรุ่งนี้ได้เวลาของเฟส 2 ที่เปิดให้ลงทะเบียนกันได้แล้ว

กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ระบบการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 พร้อมเปิดรับลงทะเบียนสำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน ในวันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563

โดยคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนจะต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่ใช่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 23.00 น. จนกว่าจะครบ 5 ล้านสิทธิ โดยผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช่สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะแรกสามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ได้ สำหรับผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งกลุ่มเดิมสามารถกดปุ่มยืนยันการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้มีขั้นตอนเช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่งระยะแรก คือ

1.) ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.คอม โดยกรอกข้อมูลชื่อ - สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

2.) รอรับ SMS แจ้งผลการลงทะเบียน

และ 3.) ติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และยืนยันตัวตน และเมื่อดำเนินการครบก็สามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับสิทธิเงินร่วมจ่ายจากรัฐร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,500 บาท

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม พ.ศ.2564 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น. ซึ่งผู้ได้รับสิทธิจะต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ตนได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิหรือวันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายตามโครงการ มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก

สำหรับผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งกลุ่มเดิมสามารถกดปุ่มยืนยันการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยจะใช้จ่ายวงเงิน 3,000 บาทเดิม ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564 และใช้จ่ายวงเงินเพิ่มอีก 500 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม พ.ศ.2564

ซึ่งปุ่มยืนยันการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จะปรากฏเตือนบนหน้าแอปพลิเคชันทุกครั้งจนกว่าผู้ได้รับสิทธิเดิมจะกดยืนยันรับสิทธิ และปุ่มดังกล่าวจะไม่มีวันหมดอายุ (แผนภาพตัวอย่างปุ่มยืนยันการเข้าร่วมโครงการสำหรับผู้ได้รับสิทธิเดิมปรากฏตามด้านล่าง)

LPN Wisdom คาดตลาดอสังหาฯ ปี 2564 มีแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่เติบโต 5-10% ประมาณ 72,000 -80,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000-315,000 ล้านบาท แต่ “กำลังซื้อ” ที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ 3-5%

เมื่อเทียบกับปี 2563 ผลจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง ความเสี่ยงการว่างงานเพิ่ม และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)(LPN)

กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า ตลาดอสังหาฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ประมาณ 72,000 -80,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000-315,000 ล้านบาท ในปี 2564 หรือคิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 10-20% เมื่อเทียบกับโครงการที่เปิดตัวใหม่ประมาณ 65,000 หน่วยในปี 2563

ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวของโครงการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ 285,000-300,000 ล้านบาทในปี 2563

“ผู้ประกอบการอสังหาฯ ทยอยเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ของปี 2563 เนื่องจากจำนวนสินค้าคงเหลือที่พร้อมขาย มีแนวโน้มลดลง ผลจากการออกแคมเปญทางการตลาดที่กระตุ้นกำลังซื้อตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และต่อเนื่องมาไตรมาส 3 ของปี 2563 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายบริษัทต้องทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ในปลายไตรมาส 4 และจะต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ที่จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีสินค้าพร้อมขายที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าในปี 2564 และสร้างรายได้ต่อเนื่องในปี 2565-2566”

ในขณะที่กำลังซื้ออสังหาฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 ถึงแม้เศรษฐกิจในปี 2564 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการคาดการณ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5-4.5% ในปี 2564 เทียบกับเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ติดลบประมาณ 7-8%

การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2564 เทียบกับปี 2563 แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว

ในขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแตะระดับเกือบ 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2564

โดยในปี 2563 มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 50-60% สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 2 - 3 ล้านบาท ส่วนที่อยู่อาศัยในระดับราคา 5-7 ล้านบาท มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 30 - 40% ขณะที่กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 10-15%

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเลิกจ้างพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากอัตราการว่างงานเฉลี่ยที่ 1.9% หรือ 740,000 คน

ในปี 2563 คาดว่าจะแตะระดับ 2 - 3% หรือประมาณ 2 ล้านคน ในปี 2564 ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการหยุดพักชำระหนี้ (Debt Holiday) ที่สถาบันการเงินผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการที่หมดอายุไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายมีแผนปรับลดเงินเดือน หรืออาจปรับลดพนักงานต่อเนื่องในปี 2564 ทำให้กลุ่มผู้ซื้อบางกลุ่มยังคงชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยเนื่องจากไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต

ทำให้แนวโน้มกำลังซื้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จะยังคงชะลอตัว แต่คาดว่ากำลังซื้อน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เริ่มควบคุมได้ผลจากความสามารถในการผลิตวัคซีนและนำมาใช้ได้อย่างทั่วถึงในช่วงกลางปี 2564

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ LPN Wisdom คาดว่ากำลังซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะทรงตัวใกล้เคียง หรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% เมื่อเทียบกับปี 2563

จากผลการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม)ของปี 2563 มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 58,087 หน่วย ลดลง 36% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2562 ที่มีจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 90,935 หน่วย ขณะที่มีอัตราการขายโครงการใหม่ที่เปิดตัวในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 19% ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายทั้งหมด ลดลง

เมื่อเทียบกับอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 26% ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายในปี 2562 โดย 65% ของจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ทั้งหมดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 เป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ โดยระดับราคาที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเป็นทาวน์เฮ้าส์ที่ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อหน่วย และที่เหลือ 35% เป็นคอนโดมิเนียม โดยระดับราคาคอนโดมิเนียมที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเป็นระดับราคาที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ในขณะที่มูลค่าของการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 231,111 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในระยะเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 354,268 ล้านบาท

“จากผลการสำรวจดังล่าว LPN Wisdom คาดว่า บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในปี 2564 ในขณะที่คอนโดมิเนียม ที่อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้าทั้งสายเก่า ส่วนต่อขยายสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายใหม่ อย่างสายสีชมพู และสายสีเหลือง ในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในปี 2564” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เผยผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2563 ขยายตัว 12.6% เพิ่มขึ้น 1,183 ร้าน ยอดรวม 4,094 ร้านทั่วประเทศ แต่พบมีร้านที่ปิดกิจการ 726 ร้าน สูงสุดรอบ 14 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจปี พ.ศ.2550 ปัจจัยหลักมาจากพิษโควิด-19

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2563 พบว่า ยอดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่ปิดตัวลงในปี พ.ศ.2563 มีจำนวนมากถึง 726 ร้าน สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจปี พ.ศ.2550 โดยมีสาเหตุจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ร้านค้า

นอกจากนี้ เจโทรยังได้สอบถามข้อมูลร้านอาหาร 40 แห่ง พบว่ามียอดขายลดลงเหลือ 0 - 30% จากยอดขายช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการสอบถามข้อมูลร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ในไทยช่วงไตรมาส 3 พบว่า มียอดขายเหลือเพียง 30 - 85%

แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 4,094 ร้าน โดยมียอดเปิดเพิ่มขึ้น 1,183 ร้าน หรือ 12.6% จากปีก่อน โดยประเภทร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ร้านอาหารประเภทซูชิ โดยเฉพาะร้านซูชิแฟรนไชส์ ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นร้านของคนไทย มีทั้งเป็นร้านแบบสาขาเดียว และเป็นร้านที่มีหลายสาขา

ทั้งนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย มีกระจายอยู่เปิดในกรุงเทพฯ มากสุดถึง 2,105 ร้าน ตามด้วยชลบุรี และนนทบุรี เท่ากันที่ 256 ร้าน เชียงใหม่ 162 ร้าน สมุทรปราการ 129 ร้าน ปทุมธานี 102 ร้าน ภูเก็ต 69 ร้าน สงขลา 68 ร้าน นครราชสีมา 63 ร้าน และนครปฐม 56 ร้าน

จากการที่กระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. จำนวน 5 ล้านสิทธินั้น มีผู้ลงทะเบียนครบ 5 ล้านสิทธิ

เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่แต่พบปัญหาการส่งข้อความรหัสยืนยัน OTP ทำให้มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ระบบการลงทะเบียนบน www.คนละครึ่ง.com นั้น ไม่มีปัญหาใด ๆ แต่พบปัญหาการส่งข้อความรหัสยืนยัน OTP ทำให้มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนได้ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือดีแทค ส่วนแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง ที่มีปัญหาแอพล่มนั้น ขณะนี้มีประชาชนบางส่วนกลับมาใช้ได้ตามปกติแล้ว

ล่าสุด ดีแทคได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวระบุว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ระบบบางส่วนของดีแทค ซึ่งรวมถึงระบบ 1678 call center, dtac application, การรับข้อความรหัส OTP การชำระเงิน เติมเงินขัดข้อง ทำให้ลูกค้าของดีแทคไม่สามารถใช้บริการดังกล่าวได้ ซึ่งขณะนี้ มีบริการจ่ายเงิน เติมเงิน IVR, USSD, OTP ที่สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติแล้ว ในขณะที่อาจยังมีบางบริการ ซึ่งรวมถึงดีแทคแอพพลิเคชั่นยังคงขัดข้องอยู่ ซึ่งดีแทคกำลังเร่งแก้ไขระบบเพื่อให้กลับมาให้บริการได้ครบทุกบริการโดยเร็วที่สุด

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในเวลา 14.30 น.ตัวแทนดีแทคจะเข้าชี้แจงกรณีระบบลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งล่ม ต่อคณะกรรมการ กสทช.ที่สำนักงาน กสทช.

ดีแทคเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและผลกระทบต่อลูกค้า และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ทั้งนี้ ดีแทคพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศมาตรการชดเชยให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top